"เสี่ยโบ๊ท" : ทายาทตำนานโปรโมเตอร์ผู้กล้าใช้โครงสร้างฟุตบอลมาทำมวย

"เสี่ยโบ๊ท" : ทายาทตำนานโปรโมเตอร์ผู้กล้าใช้โครงสร้างฟุตบอลมาทำมวย

"เสี่ยโบ๊ท" : ทายาทตำนานโปรโมเตอร์ผู้กล้าใช้โครงสร้างฟุตบอลมาทำมวย
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

“ก็เราอายุน้อย เขามองว่าเรามันเด็กเหยียบขี้ไก่ไม่ฝ่อ ได้เป็นโปรโมเตอร์เพราะพ่อ ก็ต้องพิสูจน์ตัวเอง ทำดีเท่าพ่อ คือเสมอตัว ถ้าทำดีกว่าพ่อก็กำไร แต่ถ้าทำดีได้ไม่เท่าพ่อ มึงก็จบชีวิตในวงการมวย ไม่มีใครจดจำชื่อ”

ความสำเร็จ ไม่ใช่มรดกที่สามารถส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่นได้ เหมือนกับนามสกุล หรือ ทรัพย์สินเงินทอง เพราะสูตรของความสำเร็จเป็นสิ่งที่มนุษย์ทุกคนต้องสร้างมันขึ้นมาด้วยตัวเอง

ประโยคข้างต้น ได้รับการยืนยันเป็นอย่างดี ทันทีที่เราเดินทางมาถึงยัง “เพชรยินดี คิงดอม” สปอร์ตคอมเพล็กซ์ ขนาดใหญ่ ย่านจรัญสนิทวงศ์ กรุงเทพมหานครฯ

 

ทุกอย่างที่นี่ ดูทันสมัย หรูหรา มีสิ่งอำนวยความสะดวกครบครัน จนแทบไม่อยากเชื่อว่า สถานที่แห่งนี้ ถูกดัดแปลงมาจากค่ายมวยเพชรยินดี บ็อกซิ่ง โปรดักชั่น (เดิม) ที่เคยสร้างนักชกมวยไทย และมวยสากลอาชีพชื่อดังประดับวงการมากมาย

เพราะหลักฐานที่อยู่ตรงหน้า ช่างแตกต่างกับภาพจำในหัวที่ว่าค่ายมวยไทยต้องเป็น วิกสังกะสี คลุ้งไปด้วยกลิ่นกระสอบทราย และน้ำมันมวย

 1

ไม่กี่อึดใจ “โบ๊ท” ณัฐเดช วชิรรัตนวงศ์ ทายาทรุ่นสอง และผู้บริหารอาณาจักรมวยไทย เพชรยินดี ที่ลงทุนสร้าง สปอร์ต คอมเพล็กซ์ มูลค่ามากกว่า 100 ล้านบาท ออกมาต้อนรับเราตามเวลาที่นัดไว้ ก่อนเข้าสู่วงสนทนาอย่างออกรสออกชาติ เหมือนกับที่เราเคยเห็นเขาผ่านสื่อมาก่อนหน้านี้

หลายคนอาจรู้จักและจับจ้องเขา ในฐานะลูกชายของ “เสี่ยเน้า” วิรัตน์ วชิรรัตนวงศ์ ตำนานโปรโมเตอร์ของวงการกำปั้นเมืองไทย ผู้ก่อตั้งค่ายมวยเพชรยินดี ตั้งแต่ พ.ศ.2519 แต่เรากลับสนใจและอยากทำความรู้จักตัวตนที่แท้จริงของเขามากกว่าแค่เรื่องที่ว่า เขาเป็นลูกใคร?

 2

อย่างน้อยที่สุดที่ทุกคนควรรู้ ในวัย 31 ปี “โบ๊ท ณัฐเดช” สามารถทำในสิ่งที่ไม่เคยมี โปรโมเตอร์มวยไทยคนไหน ทำได้มาก่อน ด้วยการสร้างสถิติเก็บค่าเข้าชมมวยไทยในเวทีมาตรฐานได้สูงสุดตลอดกาล เป็นเงิน 4,534,200 บาท ในรายการฉลองวันครบรอบสนามมวยราชดำเนินปีที่ 73 เมื่อช่วงปลายปีที่ผ่านมา

อย่างที่เราบอกไปข้างต้น ความสำเร็จเป็นสิ่งที่ไม่สามารถส่งต่อกันได้ ทุกคนต่างต้องค้นหาสูตรสำเร็จของตัวเอง ซึ่งผู้ชายคนนี้ ก็ดูมีอะไรที่น่าค้นหา มากกว่าจะตัดสินหรือมองเขา จากแค่นามสกุล เพียงเท่านั้น

พ่อของคุณทำอาชีพอะไร?

“ตอนเด็กๆ เวลามีใครถามว่า ที่บ้านประกอบอาชีพอะไร ทุกคนก็จะสงสัยว่า ‘โปรโมเตอร์’ คืออะไร? มันเป็นอาชีพที่แปลกในสังคมไทยสำหรับคนทั่วไป มีไม่กี่คนหรอกที่ทำอาชีพนี้ แถมยังถูกมองว่าเป็นมาเฟีย พวกแก๊งอันธพาล เพราะเคยมีเหตุยิงกัน วางระเบิดในสนามมวย”

“แต่เราก็ไม่ได้รู้สึกว่ามันอันตรายนะ ตั้งแต่จำความได้ ทุกเย็นหลังเรียนเสร็จ พ่อก็พามาสนามมวย จนกลายเป็นกิจวัตรประจำวัน และทำให้เรารู้ตัวมาตั้งแต่เด็กเลยว่า โตขึ้นไปอยากทำอาชีพอะไร”

 3

หากย้อนกลับ 20 ปีที่แล้ว ภาพของเด็กชายวัยกำลังน่ารัก ที่วิ่งเล่นอย่างสนุกสนาน ภายในสนามมวยเวทีลุมพินี และราชดำเนิน เป็นภาพที่คุ้นตากันอย่างดีของ ผู้สื่อข่าว นักชก เซียนมวย แต่คงไม่มีใครล่วงรู้ว่า เด็กน้อยที่ทุกคนในสนามมวยเรียกกันว่า “น้องโบ๊ท” จะกลายมาเป็นผู้พลิกโฉมวงการมวยไทยในอีก 2 ทศวรรษต่อมา

แม้เขาจะเลือกเล่นกีฬาฟุตบอล มาตั้งแต่เด็ก จนถึงขั้นเคยมีชื่อติดเยาวชนทีมชาติไทย รุ่นอายุไม่เกิน 12 ปี ไปแข่งยังต่างประเทศ รวมถึงเล่นเคียงบ่าเคียงไหล่กับ ธีรศิลป์ แดงดา และ ศักรินทร์ จันทร์โยธา สองวันเดอร์คิดของวงการบอลไทยยุคนั้น

แต่ลึกๆในใจ ณัฐเดช กลับไม่ได้มีเป้าหมายอยากเป็นนักฟุตบอล ความฝันเพียงอย่างเดียวของณัฐเดช คือการสานต่ออาชีพโปรโมเตอร์มวยจาก วิรัตน์ วชิรรัตนวงศ์ ผู้เป็นพ่อ มาตั้งแต่แรกเริ่ม จนกระทั่งการไปเรียนต่อไฮสคูลในช่วงมัธยมปลายที่ประเทศออสเตรเลีย ได้สร้างความเชื่อมั่นให้ ณัฐเดช อีกมาก จากประโยคคำถามเดิมกับที่เคยตอบมาแล้ว ตอนอยู่เรียนที่เมืองไทยว่า “พ่อคุณทำอะไรอาชีพ?”

“เราก็ตอบเหมือนเดิมว่า พ่อเราเป็นโปรโมเตอร์ เชื่อไหม? ฝรั่งทุกคนรู้สึกตื่นเต้น บอกว่ามันเป็นอาชีพที่เท่ แตกต่างกับสายตาคนไทย เวลาเราบอกว่า พ่อเป็นโปรโมเตอร์มวย คนจะรู้สึกกลัวว่า พ่อเราจะเป็นนักเลงหรือเปล่า? มีลูกน้องเดินตามมาไหม?”

“ความจริงพ่อผม ไม่ใช่คนแบบนั้นเลย พ่อก็เป็นแค่คนธรรมดาคนหนึ่งที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับมวย ในสายตาพ่อแม่ของเพื่อนที่เป็นคนไทย คงไม่อยากให้มายุ่งกับเรามาก เพราะกลัวพ่อเรา แต่ตอนไปอยู่ออสเตรเลีย เขามองว่าครอบครัวเราเจ๋งนะ มีแต่เพื่อนอยากเข้ามาคุยกับเรา”

“มันทำให้ผมรู้สึกว่าตัวเองมาถูกทางแล้ว ตอนนั้นเราอยากทำให้ ค่ายมวยเพชรยินดี โกอินเตอร์ ไปอยู่ในระดับโลกให้ได้ เพราะในสายตาคนต่างชาติ เขามองว่า มวยไทย เป็นกีฬาที่โคตรเท่ เราน่าจะต่อยอดได้อย่างแน่นอน หลังจบไฮสคูล ผมก็มาเริ่มต้นทำงานที่ค่าย ในตำแหน่งผู้ช่วยโปรโมเตอร์ตอนอายุ 18 ปี”

 4

ณัฐเดช วชิรรัตนวงศ์ กลับมาช่วยงานครอบครัว พร้อมขอ เสี่ยเน้า ผู้เป็นพ่อ เริ่มทำหน้าที่ ประกบคู่มวยเองทุกคู่ ในวัย 18 ปี ไม่น่าเชื่อว่าเพียงครั้งแรก ในบทบาทผู้ช่วยโปรโมเตอร์ “โบ๊ท เพชรยินดี” สามารถเก็บเงินผู้ชมได้ถึง 1.7 ล้านบาท ทั้งที่เป็นรายการเล็กๆ ซึ่งปกติเก็บเงินได้อยู่ประมาณ 700,000 - 800,000 บาท

“ตอนนั้นพูดถึงความเก่งกาจยังไม่มีหรอก มีแต่ไฟ อยากลองจัดด้วยตัวเองสักครั้งหนึ่ง ไม่ได้เอามวยเอกของพ่อมาเลย ที่วิกลุมพินี แต่วันนั้นเหมือนโชคเป็นใจ หรืออะไรก็ไม่รู้ เก็บค่าตั๋วมาได้ 1.7 ล้านบาท มันยิ่งจุดไฟให้เราต้องไปต่อ ก็สะสมประสบการณ์มาเรื่อยๆ”

“เราผ่านทุกกระบวนการของการทำมวย เป็นผู้ช่วยโปรโมเตอร์ เป็นหัวหน้าคณะ โปรโมเตอร์ แม้แต่พี่เลี้ยงนักมวย ก็เคยเป็นมาแล้ว สอนมวยได้ ล่อเป้าเป็น เพราะเราอยู่กับมวยมาตั้งแต่เกิด เรารู้ทุกอย่าง ขาดอย่างเดียวที่ยังไม่เคยทำ คือ ลงไปชกเอง”

พ่อครับ ผมอยากเลิกทำมวย

สองปีหลังจากเริ่มเข้าสู่งานเบื้องหลังมวยไทยอาชีพ โบ๊ท ณัฐเดช ในวัย 20 ปี ตัดสินใจเดินหน้าเข้าสู่ความท้าทายครั้งใหญ่ ด้วยการรับช่วงต่อบริหารค่ายมวยไทย เพชรยินดี หลังจากผู้เป็นพ่อ วิรัตน์ วชิรรัตนวงศ์ วางมือจากการทำค่ายมวยไทย และหันไปทำมวยสากลอาชีพเพียงอย่างเดียว

 5

ณัฐเดช เริ่มต้นด้วยความยากลำบาก เพราะไม่เหลือนักชกมวยไทยในสังกัดแม้แต่คนเดียว เขาจึงผุดแนวคิดการทำค่ายมวย เพชรยินดี อะคาเดมี โดยมี สามเอ ไก่ย่างห้าดาว ที่ขอมาฝึกซ้อมกับค่ายเพชรยินดี เป็นนักมวยเบอร์แรก ในเวลาไม่กี่ปีต่อมา สามเอ สามารถขึ้นทำเนียบ “ยอดมวย” คว้ารางวัลนักมวยไทยยอดเยี่ยมประจำปี พ.ศ. 2554

จากนั้น “เพชรยินดี อะคาเดมี” กลายเป็นที่รู้จักในวงกว้าง สร้างนักมวยไทยฝีมือดีอีกหลายราย ขึ้นมาประดับวงการ อาทิ น้องโอ๋ ไก่ย่างห้าดาว, ประกายแสง ไก่ย่างห้าดาว, เพชรมรกต ว.สังข์ประไพ, ฉมวกทอง ไฟทเตอร์มวยไทย, ซุปเปอร์เล็ก ว.รัตนบัณฑิต, รุ่งกิจ หมอเบสกมลา, เพชรดำ ไก่ย่างห้าดาว, โยธิน เอฟ.เอ.กรุ๊ป รวมถึงสองดาวเด่นที่ฟอร์มร้อนแรงในปีที่ผ่านมาอย่าง แพรวพราว มวยเด็ด 789 และ ดีเซลเล็ก ว.วันชัย

แต่ที่น่าสนใจที่ เจ้าของค่ายรุ่นใหม่ เปิดเผยกับเราก็คือ แนวคิดในการสร้างนักชกสายเลือดใหม่ แบบอะคาเดมีนั้น ไม่ได้มีต้นตำรับมาจากค่ายมวยใด แต่เป็นแนวทางที่เขาได้มาจาก ระบบเยาวชนสโมสรฟุตบอล ที่นำเอาปรับใช้กับค่ายมวย

“ผมได้แนวคิดการสร้างอะคาเดมี มาจากทีมฟุตบอล เพราะผมมองว่าค่ายมวยก็เหมือนสโมสร ถ้าเราเอาแนวคิดการบริหารทีมกีฬาที่ประสบความสำเร็จ มาปรับปรุงใช้ เราก็จะพัฒนาไปต่อได้ อย่าคิดว่าตัวเก่งแล้ว ความคิดของเราดีที่สุด ผมไม่เคยคิดว่าตัวเองเก่งที่ดีสุด ดีที่สุด ทุกอย่างต้องพัฒนา ปรับปรุง และเปลี่ยนแปลงให้ทันโลกเสมอ”

“การซื้อนักมวยที่เก่งมาอยู่ในสังกัด แล้วต่อยชนะ แบบนั้นมันง่าย ค่ายมีหน้าที่แค่ทำให้นักมวยมีแรงขึ้นไปต่อยให้ชนะแค่นั้น แต่มันเป็นทางลัดสำหรับคนที่มีเงิน และไม่คิดอะไรมาก ก็แค่ลงทุน 10-20 ล้านบาท ตั้งค่ายมวยขึ้นมา ดึงคนเก่งเข้ามาอยู่ แต่สำหรับผม ผมอยากท้าทายตัวเองว่า นักมวยคนหนึ่งที่เราเห็นมาตั้งแต่เขาน้ำหนัก 40 กิโล ที่ไม่มีใครรู้จัก เราจะสามารถปั้นให้เขาเป็นยอดมวยได้ไหม”

 6

“ถามว่าเรามีเงินไหม เรามีนะ แต่เราอยากใช้เงินให้คุ้มค่าที่สุด เราจึงเอาเงินไปพัฒนาค่ายมวยให้มันมีทุกอย่างครบถ้วน ดีกว่าเอาเงินไปซื้อนักมวยอย่างเดียว แต่ค่ายมวยตัวเองก็ยังเป็นยิมเก่าๆ เราไม่อยากให้คนภายนอกรู้สึกว่ามวยไทยเป็นเรื่องที่ดูเชย มาดูที่ค่ายเราสิ ไม่มีอะไรล้าหลังเลยสักอย่าง”

“นั่นคือรูปแบบที่เราได้มาจากสโมสรฟุตบอล ที่ไม่จำเป็นต้องซื้อนักฟุตบอลตลอดเวลา อย่าง แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ทำไมเขาถึงปั้น มาร์คัส แรชฟอร์ด, เจสซี่ ลินการ์ด เด็กจากอะคาเดมีขึ้นมาสู่ทีมชุดใหญ่ได้ ผมมองว่านี่เป็นวิธีการที่ช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายเรา จึงเป็นที่มาของ เพชรยินดี อะคาเดมี”

เด็กหนุ่มวัย 20 ปี มีความเชื่อว่า การพัฒนาเยาวชนคือรากฐานที่ยั่งยืนของค่าย ถึงแม้ เพชรยินดี อะคาเดมี จะไม่เสียเงินในการซื้อนักมวยเก่งๆเข้ามา แต่พวกเขาก็ทุ่มงบประมาณ ลงไปกับการสร้างสาธารณูปโภค สิ่งอำนวยความสะดวก จ้างโค้ช เทรนเนอร์ฝีมือดีเข้ามาเสริมทัพถึง 12 คนในปัจจุบัน รวมถึงบิ๊ก โปรเจกต์ ในการเนรมิตสปอร์ต คอมเพล็กซ์ “เพชรยินดี คิงดอม”

แนวทางการทำอะคาเดมี มวยไทยอาชีพเป็นของตัวเองของเขา นับเป็นเรื่องใหม่มากสำหรับวงการมวยไทย จากเดิมที่เน้นการดึงเอามวยฝีมือดี จากค่ายเล็กมาอยู่ค่ายใหญ่ หรือซื้อมวยเด็กที่มีชื่อเสียงมาปั้นต่อ ที่สำคัญไม่มีอะไรการันตีได้เลยว่าความเชื่อที่ ณัฐเดช ลงทุนลงแรง จะประสบความสำเร็จ จนครั้งหนึ่งเขาเคยเกือบทิ้งทุกอย่างไว้เพียงข้างหลัง เพราะรู้สึกเหนื่อยกับสิ่งที่ตัวเองทำ

“การทำมวยก็เหมือนการทำทีมกีฬาทุกประเภท เราตั้งความหวังอยากเอาชนะทุกครั้งอยู่แล้ว ไม่มีใครทำมวยเพื่ออยากแพ้หรอก มวยไทยสอนอะไรในชีวิตผมหลายอย่าง มีครั้งหนึ่งผมไปสนามมวยด้วยความมั่นใจ เราชนะแน่ เพราะเราซ้อมโคตรดี แต่มันดันแพ้ ร้องไห้ เสียใจ บอกกับพ่อว่า ไม่เอาแล้ว จะเลิกทำมวย เพราะเหนื่อยมาก” ณัฐเดช เล่าถึงเหตุการณ์ที่เปลี่ยนชีวิตตน หลังจบไฟต์ที่ น้องโอ๋ ไก่ย่างห้าดาวยิม แพ้ เอฟ 16 ราชานนท์ เมื่อ 7 ปีก่อน

 7

“ปกตินักมวยก่อนชกไฟต์หนึ่ง จะใช้เวลาซ้อมประมาณ 30 วัน ผมอยู่กับเขาตั้งแต่วันที่ 1 ถึง 30 คิดดูว่า คนที่เรานั่งเฝ้าดูตลอดเวลา มั่นใจว่าดีกว่าทุกอย่าง เพราะฝีมือเราเหนือกว่า หน้าที่ของค่ายเหลือแค่ทำให้นักมวยมีแรงขึ้นไปชก ไม่หมดแรง แต่ไฟต์นั้นนักมวยหมดแรง ทั้งที่เราคุมเองมา 30 วันเต็ม มันถึงเฟลและผิดหวังมาก”

“เราคิดว่าพ่อคงปลอบเรา แต่พ่อก็พูดมาคำหนึ่งว่า ‘ถ้างั้นก็เลิกไปเลย พรุ่งนี้ก็ไปปิดค่าย’ เราก็งง ทำไมพ่อถึงพูดแบบนี้ จนมาฉุกคิดได้ด้วยคำพูดต่อมา ที่พ่อสอนว่า ‘แล้วลูกน้องอีก 30-40 ชีวิตจะอยู่กันยังไงต่อไป?’ มันจุดประกายให้เราเห็นว่า ตอนนี้เราไม่ได้อยู่ตัวคนเดียวนะ เรายังมีลูกน้องที่เป็นความหวังของครอบครัวพวกเขา รวมๆแล้วอีกประมาณ 100 ชีวิตที่อยู่ข้างหลังเรา ดังนั้นเราอ่อนแอไม่ได้ นั่นเป็นครั้งเดียวที่เคยร้องไห้ ตั้งแต่วันนั้นมาผมไม่เคยร้องไห้อีกเลย”

ความผิดหวังในวันนั้น ทำให้ โบ๊ท ณัฐเดช กลับมาแข็งแกร่งขึ้น เขาบอกกับเราว่า ทุกๆไฟต์ที่นักมวยในสังกัดแพ้ สิ่งที่เขาทำอย่างแรก คือ การหาสาเหตุ เพื่อนำไปแก้ไข และปรับปรุงให้นักชกเพชรยินดี อะคาเดมี ดีขึ้นกว่าเดิม

“มวยไทย มีความแตกต่างกับกีฬาชนิดอื่นๆ ตรงที่ต้องใช้แรง สมรรถภาพร่างกายที่ดี การกินอยู่ต้องดี การดูแลร่างกายต้องเกิน 100 เปอร์เซนต์ แค่ร้อยเปอร์เซนต์ยังไม่พอเลย หลักในการสร้างมวยของผม มี 3 ข้อ 1.กินให้พอ 2.นอนให้หลับ 3.ซ้อมให้ถึง”

“อย่างเรื่องอาหารการกิน เราไม่ให้กินตามใจปาก ต้องกินตามโปรแกรม ช่วงลดน้ำหนักทานอะไรได้บ้าง นำความรู้ด้านโภชนาการมาเสริม คุมน้ำหนักนักมวยให้ดี เพื่อไม่ให้นักมวยหมดแรง หรือเรื่องอย่างซ้อมให้ถึง ก็ต้องหาเทรนเนอร์ที่ดีกว่าเดิมเข้ามา ซึ่งก็เป็นวิธีการเดียวกับฟุตบอล คนที่เป็นโค้ช บางครั้งทัศนคติในการดูแลนักกีฬาสำคัญกว่าความเก่ง คุณจะทำอย่างไรให้นักกีฬาเชื่อฟังคุณ”

“อย่าลืมว่า นักมวยกับเทรนเนอร์ต้องอยู่ด้วยกัน 24 ชั่วโมง ทำอะไรผิดใจกันนิดเดียว ที่ลงทุนมาทั้งหมดพังได้ง่ายๆเลย เพราะภายในองค์กรไม่สามัคคีกัน ทัศนคติจึงเป็นอะไรที่สำคัญมาก ผมก็ต้องหาโค้ชที่อายุมาก มีประสบการณ์ มาคุมนักมวยอีก”

 8

ยิ่งกว่าไปนั้น ค่ายมวยเพชรยินดี อะคาเดมี ยังเป็นค่ายเดียวในไทยที่นำเอาเรื่องของ วิทยาศาสตร์การกีฬามาใช้อย่างเต็มรูปแบบ แม้ต้องเสียค่าใช้ตกปีละ 6 ล้านบาทเพื่อดูแลในส่วนนี้

โดยมี พีรภัทร ศิริเรือง นักวิทยาศาสตร์การกีฬา ที่เคยทำงานกับสโมสรฟุตบอล คาร์ดิฟฟ์ ซิตี้ ในพรีเมียร์ลีก อังกฤษ มาดูแลผ่านเครื่องไม้เครื่องมือ เทคโนโลยี และองค์ความรู้ มาใช้เพื่อยกระดับนักมวยในค่ายให้มีมาตรฐานสูงขึ้นไปอีก

“จริงๆ ตั้งแต่วันแรกที่ผมอยากทำแบบนี้ ก็ไม่มีใครเห็นด้วยหรอก แม้แต่พ่อเรา เพราะเขารู้สึกว่ามันสิ้นเปลือง สมัยที่เขาทำค่าย ไม่เห็นต้องใช้เลย ก็ทำมวยประสบความสำเร็จ แต่เราคิดในมุมที่ว่า โลกเปลี่ยนไปแล้ว ต้องปรับตัวให้ทัน ผมกันเงินส่วนหนึ่งจากงบประมาณ ซึ่งถือว่าเยอะมากตกเดือนละ 5 แสนบาท เพื่อเอามาใช้ในส่วนนี้ คนอื่นอาจมองว่ามันไม่จำเป็น แต่เราอยากยกระดับมาตรฐานค่ายมวยเราให้ดีขึ้น ที่เหลืออยู่ที่นักมวยไปต่อยอดเองบนเวที”

“ไม่มีค่ายไหนทำแบบเราหรอก ที่มาเช็คสภาพความฟิต อัตราการเต้นของหัวใจก่อนขึ้นชก อย่างเรื่องอาการบาดเจ็บ ถ้าเป็นในอดีต นักมวยเจ็บขาทำยังไง? ไปหาหมอนวดแผนโบราณ แต่ถ้าเป็นนักมวยเรา เราส่งสแกน MRI การที่เรานำเอาวิทยาศาสตร์การกีฬามาใช้ เราไม่ได้ต้องการทำเพราะอยากเป็นค่ายมวยไทยแห่งเดียวที่ใช้ แต่เราอยากทำเพื่อเป็นตัวอย่าง ให้คนในวงการได้เห็นความสำคัญของวิทยาศาสตร์การกีฬา”

การเปลี่ยนแปลงความเชื่อแบบเก่าๆ จากคนรุ่นใหม่

นอกเหนือจากบทบาทผู้บริหารค่ายมวยเพชรยินดีที่เจ้าตัวทำมาตั้งแต่อายุ 20 ปี อีกหนึ่งโอกาสที่เข้ามาหา ณัฐเดช อย่างรวดเร็ว คือการได้ทำหน้าที่โปรโมเตอร์มวยไทย ให้กับเวทีมวยราชดำเนิน ด้วยวัยเพียง 25 ปี ภายหลังจาก “เสี่ยเน้า วิรัตน์” ประกาศอำลาการเป็นโปรโมเตอร์อย่างเป็นทางการ เมื่อปี พ.ศ. 2558

 9

อย่างไรก็ดี แนวคิดใหม่ สด แกะกล่องของเขา รวมถึงสิ่งที่เขาอยากเปลี่ยนแปลงวงการมวยไทย ก็เป็นเรื่องที่เขาต้องใช้เวลา ยิ่งโดยเฉพาะความเชื่อเก่าๆ และการที่มวยไทยมีเรื่องของการพนันเข้ามาเกี่ยวข้อง จนโปรโมเตอร์หนุ่มรายนี้มองว่า เสน่ห์ของมวยไทยและพฤติกรรมการชกกำลังเปลี่ยนไป

“เกมการชกเป็นไปตามการพนันมากเกินไป เราขาดเสน่ห์ที่ดึงดูดให้คนดูมวยประทับใจ ผู้ชมไม่เพิ่มขึ้น มีแต่หายไปเรื่อยๆ เซียนมวยมีผลมากนะ ถือเป็นแรงกดดันของนักมวย ดูได้จากวิธีการชกในอดีตกับปัจจุบัน เปลี่ยนไปมาก เมื่อก่อนเรามีนักมวยหมัดหนักเต็มไปหมด ใส่กันตั้งแต่ยกแรก แต่สมัยนี้ไม่มีแล้ว ทุกคนหันไปโฟกัสเรื่องการตีเข่าให้แข็งแรง สองยกแรกยังไม่ทำอะไรเลย จ้องกันไปจ้องกันมา เพราะต้องคุมแรงไว้ใส่ยก 4-5 เพื่อหวังผลชนะการพนันบนล็อก”

“เมื่อไหร่ที่อิงเรื่องการพนันมาก ก็จะลืมเรื่องการชกมวยออกมาให้คนดูประทับใจ  มวยไทยในอดีต เขาไม่ได้ชกเพื่อการพนันนะ สมัย อภิเดช ศิษย์หิรัญ, สำราญศักดิ์ เมืองสุรินทร์ เขาชกเพื่อหวังให้คนดูประทับใจ บางครั้งแพ้ แต่คนดูปรบมือให้ เพราะชกได้เต็มที่ ต่อยโคตรดีเลย แต่เป็นยุคนี้ ถ้าแพ้คุณโดนซ้ำเติม ด่ายับ ยิ่งวันไหน คุณไปเสร่อใช้ศอกกลับ เข่าลอย ใช้อาวุธมวยไทยที่เขาไม่ค่อยใช้กัน แล้วพลาด คุณโดนเซียนมวยเหยียบซ้ำเติมตาย เพราะเขาเล่นคุณ เขาก็มองว่าไม่จำเป็นต้องทำ เพราะมันพลาดได้”

“นี่คือสิ่งที่เปลี่ยนไป ระหว่างยุคก่อนกับยุคปัจุบัน ผมกล้าพูดว่า เซียนมวย ก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ศิลปะของมวยไทยมันหายไป ฝรั่งที่เข้ามาดูมวยไทย เขาไม่เห็นต้องสนใจเลยว่า นักมวยคนนี้คุมแรงไว้หรือเปล่า เขาชื่นชอบคนที่ต่อยแล้วสร้างความประทับใจได้ เขาชอบนักกีฬาอย่าง (คอเนอร์) แม็กเกรเกอร์ ที่มีจุดขาย ต่อยสนุก นี่เป็นสิ่งที่ฝรั่งมอง กีฬามวยไทยอีกแบบหนึ่ง แต่เซียนมวยคนไทยมองไม่เหมือนเขา”

ในวันที่หลายคนหลงลืมและไม่ให้ความสำคัญกับอาวุธมวยไทยบางอย่าง เพียงเพราะอาจไม่ได้มาซึ่งผลการพนัน “โบ๊ท เพชรยินดี” เลือกทำในสิ่งที่ตรงข้ามกับความเชื่อนี้ ด้วยการว่าจ้างผู้ฝึกสอนจากค่ายของ ฟลอยด์ เมย์เวทเธอร์ จูเนียร์ มาสอนนักมวยในสังกัด เพื่อหวังให้นักมวยภายใต้การดูแลของตน สามารถใช้อาวุธมวยไทยได้อย่างครบเครื่อง

นอกจากนี้ ในฐานะโปรโมเตอร์มวยไทย เขายังถูกผู้คนในวงการกำปั้นอาชีพ แสดงความไม่เห็นด้วย ที่เจ้าตัวออกมายกมือสนับสนุนการจัดศิลปะการต่อสู้แบบผสมผสาน หรือ MMA ขึ้นในประเทศไทย ไม่เพียงเท่านั้น เขายังส่งนักมวยของ เพชรยินดี อะคาเดมี ไปต่อยรายการเหล่านี้อีกด้วย

“เรื่อง MMA ผมก็โดนด่าอีก (หัวเราะ) มีคนมาด่าว่า ‘มึงบ้าหรือเปล่า? เป็นโปรโมเตอร์มวยไทย แต่ไปสนับสนุน MMA ได้อย่างไร? เดี๋ยว MMA ก็กลืนมวยไทยหรอก ก็เพราะเราคิดอยู่แค่นี้ โลกเขาไปถึงไหนแล้ว ทำไมเขาต่อย MMA กันได้ทั่วโลก แต่ในเมืองไทยห้ามต่อย?”

“ผมไม่ได้สร้างมวย เพื่อรอต่อยแค่ในประเทศ แต่เรายังมีรายการอย่าง ONE Championship และรายการในต่างประเทศอีกด้วย เราจะสร้างไอดอลฮีโร่มวยไทยให้กับโลกนี้ มากกว่าแค่ทำมวยมาเพื่อหวังผลแพ้-ชนะ บนล็อกเวทีมวยลุมพินี, ราชดำเนิน”

“แล้วการที่ผมพานักมวยไทยไปต่อย ก็ต่อยในกติกามวยไทย ไม่ใช่กติกา MMA แค่เปลี่ยนจากเวทีมาเป็นในกรง 8 เหลี่ยม และใส่นวมแบบ MMA เราไปต่อยเพราะกติกานี้เราสู้ได้ เรามีโอกาสชนะ คุณต่อยลุมพินี ราชดำเนินเป็น 10 ปี ยังไม่รู้เลยว่าจะดังเท่าต่อย ONE Championship ครั้งเดียวหรือเปล่า เพราะรายการเขาถ่ายทอดสดไปทั่วโลก”

 10

ณัฐเดช อธิบายถึงเหตุผลที่ออกมาสนับสนุน MMA ได้อย่างน่าสนใจ เพราะเขาเชื่อมั่นว่า มวยไทย ยังคงเป็นศิลปะการต่อสู้แบบยืนที่ดีสุดในโลก ซึ่งในฐานะเจ้าของค่าย เขาสามารถเลือกส่งนักมวยไปชกในกติกาที่เหมาะสมได้

หากนักมวยไทยไปสร้างชื่อเสียงในรายการนี้ ผลที่ตามมา คือ วงการมวยไทย ได้รับผลพลอยที่ดีไปด้วย จากเดิมที่ภาพลักษณ์มวยไทย เป็นกีฬาการต่อสู้ที่ต่างชาติให้การยอมรับเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว และบางครั้งการปิดกั้น อาจทำให้วงการหมัดมวยไทย เสียโอกาสสำคัญไป

“คุณเอานักกีฬา MMA ที่เก่งสุด มาต่อยกับนักมวยไทย ในกติกามวยไทย ยังไงก็สู้นักมวยไทยไม่ได้ ทุกสิ่งทุกอย่างต้องแยกกันให้ออกก็จะไม่มีปัญหา ถามว่ายุคนี้ คนไทยที่ชอบ MMA มีเยอะไหม ผมเชื่อว่ามีเยอะมาก โดยเฉพาะเด็กรุ่นใหม่”

“แต่มันเป็นสังคมที่ไม่ถูกเปิดออกมา เพราะถูกครอบงำความคิดโดยผู้ใหญ่บางคนว่า ‘อย่านะ (เน้นเสียง) อย่าไปสนับสนุน MMA ถ้าสนับสนุนเท่ากับขายชาตินะ’ ทั้งที่มันคนละประเด็นเลย ถามหน่อย ทำไมนักชก MMA ต้องมาซ้อมมวยไทย ก็เพราะว่า มวยไทยเป็นศิลปะการต่อสู้แบบยืนสู้ที่ดีสุดในโลกไง แบบนอนก็คือยูยิตสู มันแยกกันชัดเจนอยู่แล้ว”

“ถ้าเราได้ลูกค้าที่เป็นต่างชาติ มาซ้อมมวยไทยเยอะๆ เราไม่วินเหรอ นี่คือมุมมองแบบธุรกิจ ของบางอย่างถ้าเราเปลี่ยนความคิดนิดเดียว เราก็มีโอกาสต่อยอดได้อีกมหาศาล”

จากเด็กหนุ่มที่เคยผุดไอเดีย นำเอา แสนชัย ยอดมวย 2 พ.ศ. มาต่อยกับนักมวย 2 คน ที่เรียกเสียงฮือฮาไปทั่วประเทศ หรือการดึง สมรักษ์ คำสิงห์ กลับมาชกมวยไทยอีกครั้งกับ จอมโหด เกียรติอดิศักดิ์ มาถึงปัจจุบัน เขายังไม่หยุดไอเดียในการขยายความนิยมต่อกีฬามวยไทย แก่ผู้คนในวงกว้าง

“มวยไทย เอนเตอร์เทน” เป็นแนวคิดใหม่ ที่เขาต้องการสร้างขึ้นมาเพื่อตอบโจทย์คนดูทั่วประเทศไทย ไม่ว่าจะเพศ อายุ อาชีพใด ก็สามารถเข้าถึงและชมได้ โดยไม่ต้องเอี่ยวกับการพนัน ผ่านการถ่ายทอดสด ที่ฉายให้เห็นความอลังการ แสง สี เสียง รวมถึงความตั้งใจที่อยากสร้างรายการมวยให้ยั่งยืน มากกว่าแค่สร้างกระแสเพียงชั่วคราว

“ที่ผ่านมาไม่ใช่แค่ผมคนเดียวที่คิด เพียงแต่ยังไม่มีใครทำประสบความสำเร็จ แฟนมวยก็คงได้เห็นผ่านทางทีวีกันมาแล้ว คงไม่ต้องเอ่ยชื่อรายการ ที่เตะหมู ฆ่าหมา เอาฝรั่งมากระทืบ แต่เราไม่อยากได้รายการแบบนั้น เพราะไม่ได้สร้างรากฐานให้รายการอะไรเลย ได้มาแค่ดาราประดับช่อง มันเป็นหลักการเดียวกับการสร้างละคร มีพระเอก นางเอก แล้วถ้าดาราคุณเลิกเล่น รายการคุณจบไหม ก็จบ ทำไมไม่สร้างให้คนติดตามเพราะรายการคุณน่าสนใจ ไม่ใช่เพราะสนใจพระเอก นางเอก”

“นั่นเป็นสิ่งที่ผมพยายามทำอยู่ แต่ผมคนเดียวคงไม่สามารถทำได้ ถ้าไม่ได้รับโอกาสจากผู้ใหญ่ และมีคนช่วยสนับสนุน ซึ่งมันมาจากการที่เราตั้งใจทำงานจริง ทัศนคติถึงสำคัญกับทุกอาชีพ ถ้าโลกเปลี่ยน คุณก็ต้องเปลี่ยนตาม เมื่อก่อนคุณคิดไหมว่าจะมีคน อ่านบทความออนไลน์ แต่ดูเดี๋ยวนี้สิ หนังสือพิมพ์ ต้องปิดตัวลง ถ้าไม่อยากปรับตัว คุณก็เป็นเต่าล้านปี อยากเป็นไหมละ? ถ้าไม่อยากเป็น บางครั้งก็ต้องกล้าที่จะเปลี่ยนแปลง”

ด้วยตัวตน และความจริงใจ

“ผมโชคดีมากที่ได้รับการสนับสนุนที่ดีจากคุณพ่อ เพราะถ้าพ่อห้ามไม่ให้ทำอะไรเลย ทุกอย่างก็คงไม่เป็นแบบนี้ แม้บางไอเดีย ท่านอาจไม่เห็นด้วย แต่ท่านก็ไม่เคยห้าม พ่อให้โอกาสผมลองทำในสิงที่ผมเชื่อทุกอย่าง ถ้าทำแล้วโอเค เขาก็แฮปปี้”

 11

“พ่อผมเป็นคนจริงใจ ผมได้สิ่งนี้มาจากพ่อ ผมเป็นคนเปิดเผยทุกอย่าง ไม่มีอะไรแอบแฝงทั้งนั้น อย่างที่สอง ผมได้ความรักในความเป็นมวยไทยมาจากพ่อ  พ่อไม่เคยยอมให้ใครมาทำร้ายมวยไทย มวยล้ม มวยต้มคนดู อะไรที่ไม่ดีของมวยไทย พ่อไม่เคยยอมให้เกิดขึ้นในศึก เพชรยินดี เลย นี่คือ สิ่งที่พ่อรัก และปลูกฝังผมมาตลอด”

“อย่างที่สามคือ ความเป็นมรดก ที่ส่งต่อมา โดยไม่เคยบอกว่า เราต้องทำมวยต่อนะ แต่เรารับรู้ได้ด้วยตัวเอง ว่านี่เป็นสิ่งที่พ่อใช้เวลาสร้างมาทั้งชีวิต เราก็ต้องสานต่อให้ดีที่สุด”

ความจริงใจ ความรัก และความตั้งใจทำงาน คือ มรดกสุดล้ำค่าที่ วิรัตน์ วชิรรัตนวงศ์ มอบให้บุตรชายคนโต ผ่านสิ่งที่ตัวเองสร้างมาตลอดชีวิต ในเส้นทางการเป็น โปรโมเตอร์มวยอาชีพ ซึ่งอาจมีค่าจะมากกว่าทรัพย์สินเสียอีก

มรดกทางสายเลือดมวยไทยทั้งหมด จากผู้เป็นพ่อ ได้รับการสานต่อ และถูกนำไปต่อยอด จนทำให้ เพชรยินดี กลายเป็น อาณาจักรมวยอาชีพที่ยั่งยืน และได้รับการยอมรับ โดยเฉพาะความสามารถในการดึงเอานักมวยต่างศึก ต่างสาย มาต่อยได้หลายคู่ และทำให้เวทีมวย กลับมาตื่นตัวอีกครั้ง จนทำลายสถิติยอดจำหน่ายตั๋วได้มากสุดตลอดกาลของวงการมวยไทยอาชีพ

“มวยไทยเป็นกีฬาที่เหมือนจะถูกลืม สื่อก็ไม่ค่อยเอา ใครๆก็ไม่เอา ต้องอยู่ด้วยตัวเอง เมื่อก่อนในยุคที่ฟุตบอลยังไม่บูม มวยเงินแสน มีเป็นร้อยคน แต่ทุกวันนี้มานับสิมี 30-40 คนไหม แล้วแต่ละศึกมีมวยแม่เหล็กแค่ 10 กว่าคน ก็ต่อยวนซ้ำไปซ้ำมา คิดว่าคนดูเบื่อไหมละ”

“ผมมีความคิดตั้งแต่วันแรกที่เป็นโปรโมเตอร์แล้วว่า มวยไทยต้องเป็นหนึ่งเดียวให้ได้ ไม่ใช่มวยไทยเพชรยินดี มวยไทยเกียรติเพชร มวยไทยวันทรงชัย มวยไทยก็คือมวยไทย คนในวงการต้องเป็นหนึ่งเดียว นักมวยควรต้องต่อยอดไปได้ทุกศึก”

“ผมรู้ว่า ลูกค้าเขาอยากดูอะไร เขาอยากดูคู่มวยในฝัน อยากเห็นมวยที่ถูกคู่ ไม่ใช่มวยที่ซ้ำซากจำเจ เขาอยากเห็น วันทรงชัย ต่อย เกียรติเพชร, เกียรติเพชร ต่อย เพชรยินดี, เพชรยินดี ต่อยกับ วันทรงชัย แต่คนรุ่นพ่อเขา ไม่มองตรงนี้ ต่างคนต่างจัดกันเอง เพราะว่ามันเป็นเรื่องของศักดิ์ศรี แต่ผมไม่มีศักดิ์ศรีแบบนั้น วิธีการของผม คือเดินเข้าไปขอตรงๆเลย”

 12

ถึงกระนั้น การสร้างความเชื่อใจให้ โปรโมเตอร์ท่านอื่น ที่มีทั้ง เงิน บารมี และประสบการณ์ เชื่อใจโปรโมเตอร์คราวลูกเช่นเขา จัดมวยต่างศึกได้ ก็ไม่ใช่เรื่องที่ง่าย แถมเขายังกล้าเสี่ยงลงทุนในมูลค่าที่สูง เพื่อแลกกับประสบการณ์แปลกใหม่ของผู้ชม

“ทุกอย่างอยู่ที่ความพอใจ ผมใช้การแสดงความจริงใจให้ผู้ใหญ่เห็น ที่ผมเอามวยคุณมา ผมให้ค่าตัวตามที่คุณต้องการ คุณจะเรียกแพงกว่าที่คุณจ่าย ผมก็จ่ายได้ เพราะนั่นคือ การลงทุนของผม ถ้าอยากได้นักมวยเขามาในจัดรายการตัวเอง เราก็ต้องยอมเขา ถูกต้องไหม”

“สมมุติค่าตัวนักมวยอาจอยู่ที่ 50,000 บาท แต่เขาเรียกมา 120,000 บาท คุณกล้าจ่ายไหม ผมกล้าจ่าย ทำไมอ่ะ ก็ผมอยากจัด นั่นคือความบ้าระห่าของผมทำไง ไม่มีใครเขาทำกัน เมื่อก่อนพ่อผมด่าทุกวันเรื่องนี้ ‘มึงจัดแบบนี้ทำไมวะ? จัดแล้วได้อะไร?’ พอผู้ใหญ่เขาเห็นว่า เราทำด้วยความจริงใจ ครั้งที่สอง สาม ก็คุยง่ายขึ้น”

“ไม่ใช่เราไปขอเขาลดค่าตัวจาก 50,000 บาท เหลือ 40,000 บาท แล้วเอามวยเขามาเตะอีก เขาก็ไม่ยอมให้เราอยู่แล้ว นักมวยต่างศึกที่เขาปล่อยมา เขาก็ต้องมองว่า นักมวยเขาเหนือกว่าเรา ได้ค่าตัวเพิ่มขึ้นด้วย ทำไมเขาจะไม่ให้เรา รายการมวยก็มี ไม่ต้องหารายการให้นักมวยตัวเอง เราทำอย่างไรก็ได้ให้ทุกฝ่าย วิน-วิน”

“ทุกอย่างไม่ได้สำเร็จได้ในช่วงเวลาแค่ไม่กี่เดือน ผมเป็นโปรโมเตอร์มาปีนี้เข้าปีที่ 6 ต้องบอกเลยว่า 2 ปีแรก ล้มลุกคลุกคลาน เพราะว่าพ่อเลิกเป็นโปรโมเตอร์ ไม่มีแบ็กอัพหนุนหลัง แต่เราฉีกทุกอย่าง ฉีกทุกกฎเกณฑ์ อะไรที่เขาไม่เคยทำ เราทำหมด”

ล้มลุกคลุกคลานนี่อธิบายให้ฟังได้ไหมว่าขนาดไหน? เราถามณัฐเดช เขาหันศีรษะไปทางด้านข้าง และพูดว่า “ก็ถามเขาดูสิ” - เขาที่ว่าก็คือ เสี่ยเน้า วิรัตน์ ที่มายืนมองดูลูกชายขณะกำลังถูกสัมภาษณ์

“ก็เราอายุน้อย คนเขามองว่า เราเป็นเด็กเหยีบบขี้ไก่ไม่ฝ่อ ที่ได้มาเป็นโปรโมเตอร์ เพราะพ่อคงอยากเป็นมั้ง เหมือนมรดกที่พ่อมอบให้มาทำแทน ทุกคนก็คงคิดว่าเราเป็นแบบนั้นอยู่แล้ว”

“เราก็ต้องพิสูจน์ตัวเอง ถ้าทำดีได้เท่าพ่อ ถือว่าเสมอตัว ทำดีกว่าพ่อ ก็เป็นกำไร แต่หากทำได้ไม่เท่าพ่อ มึงก็จบชีวิตในวงการมวย ก็ไม่มีใครจดจำชื่อคุณ คุณอยากเป็นที่จดจำของผู้คนไหมล่ะ? ก็ต้องทำให้เหนือกว่าพ่อ” คำตอบของเขาเสียงดังฟังชัดกับความรู้สึกที่บอกกับเราถึงสิ่งที่ต้องผ่านพ้นมา

 13

ครั้งหนึ่งเขายอมรับกับเราว่า เขาไม่ใช่คนที่แฟนมวยชื่นชอบมากนัก เพราะหลายคนไม่รู้จักตัวตนที่แท้จริงของเขา และพากันตัดสินไปว่า เขาเป็นคนแบบไหน นิสัยเป็นอย่างไร และดูไม่น่าคบหา ช่องทางหนึ่งที่เขาเลือกทำเพื่อติดต่อ สื่อสาร ลดช่องว่างระหว่างโปรโมเตอร์กับแฟนมวย ก็คือ โซเชียลมีเดีย ทุกประเภท

เขาใช้สื่อออนไลน์แบบเต็มที่ ทั้ง เฟซบุค ยูทูบ อินสตาแกรม แถมยังไลฟ์เฟซบุคเพื่อพูดคุยกับแฟนหมัดมวย และคนทั่วไปทุกสัปดาห์ สิ่งนี้ได้เปลี่ยนความคิดของแฟนมวย ที่ไม่อยากเข้าใกล้ กลายเป็นสนใจ และอยากขอถ่ายรูป กล้ามาขอจับมือ และพูดคุยด้วย รวมถึงเขายังใช้มันเป็นช่องทางรับฟังเสียงจากแฟนมวย ถึงความต้องการที่แท้จริง ที่อยากได้จากตัวเขา

“โชเชียลมีเดีย ลดช่วงว่างระหว่างคนดูกับโปรโมเตอร์มวย เมื่อก่อนคนดูไม่มีทางที่โปรโมเตอร์ได้สื่อสารถามแฟนมวยว่าเขาอยากดูมวยคู่ไหน เขาอยากบอกอะไร เขาต้องการอะไรจากคุณ ไลฟ์เฟซบุค มันตอบโจทย์นี้ได้ดีี่สุด ที่เราจะได้คุยกับแฟนมวย ซึ่งเป็นลูกค้าเรา ทำให้งานเราง่ายขึ้น ก็รู้แล้วว่าลูกค้าเขาอยากดูมวยแบบไหน ถ้าทำแล้วเขาจะมาดู ทำไมเราไม่ทำอ่ะ?”

“รู้ไหมว่าเมื่อก่อน ตอนไม่มีไลฟ์เฟซบุค คนหมั่นไส้ผมเยอะมากนะ คิดว่าผมคงต้องเก็ก ต้องกร่าง ต้องนักเลง วางมาด เพราะมีพ่อเป็นเสี่ยเน้า แต่พอผมผมไลฟ์เฟซบุค ผมใช้โซเชียลมีเดีย ทุกคนได้รู้จักตัวตน ไม่มีใครกลัวผมเลย เพราะเขารู้ว่าตัวตนผมเป็นคนอย่างไร”

 14

แม้จะลงมือทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงหลายอย่างในวงการมวยไทยอาชีพ แต่ในมุมของ ณัฐเดช เขากลับรู้สึกว่าปัญหาบางอย่างยังไม่เคยได้รับการแก้ไข โดยเฉพาะความเหลื่อมล้ำอันเกิดจากการขาดสนับสนุน และไม่มีคนที่เป็นปากเสียงให้กับพวกเขา ทำให้เขาตัดสินใจเข้าสู่สนามการเมือง ในฐานะสมาชิกปาร์ตี้ลิสต์ พรรคภูมิใจไทย ลำดับที่ 27  

“การกีฬาแห่งประเทศไทย มีสมาคม 70 กว่าแห่ง เขามีการจัดอันดับการพัฒนาองค์กรทุกปี รู้ไหมว่า สมาคมกีฬามวยฯ รั้งอันดับสุดท้ายของ กกท. ห่วยไหม? แล้วเป็นแบบนี้มา 26 ปี ที่ไม่ถูกพัฒนา มันเป็นอะไรที่น่าอนาถใจของคนที่ทำงานและรักมวยไทย”

“เมื่อก่อนเคยคิดว่า ภาครัฐทอดทิ้งมวยไทย แต่ความจริงรัฐเขาพร้อมช่วยสนับสนุนอยู่แล้ว เพียงแต่มันมีขั้นตอนว่า งบประมาณจากรัฐต้องส่งผ่านหน่วยงานใด ผมไม่เคยคิดจะลงเลือกตั้งมาก่อน เพราะรู้สึกเป็นเรื่องไกลตัว แต่มันไม่มีใครไปเชื่อมโยงเอางบประมาณพวกนี้ มาลงให้ถึงคนที่ทำเขาทำมวยจริงๆ นักมวยบาดเจ็บ ป่วย ล้มตายไม่เคยได้เงินจากสมาคม ทำไมค่ายมวยต่างจังหวัดต้องปิดตัว ความเจริญมากระจุกอยู่กรุงเทพหมด เพราะมันเกิดความเหลื่อมล้ำไง”

“เขาคงมองว่า มวยเป็นกีฬาคนจน คิดจะทำอะไรกับเขาก็ได้ เพราะเขาเป็นคนจนไม่มีปากไม่มีเสียง คิดจะออกกฏหมายตัดตอนมวยเด็ก ยังบล็อกไม่ให้คนในวงการมวยเข้าไปมีส่วนรวมเลย เขาเคยห็นความเป็นอยู่ของค่ายมวยต่างจังหวัดไหม บางทีต้องเตะกระสอบทรายเก่าๆ เตะต้นกล้วย ไม่มีสนามมวย ต้องซ้อมกลางดิน  ทำไมไม่คิดช่วยเขา ไม่ต้องมากหรอก แค่ค่ายละ 50,000 บาท สำหรับค่ายต่างจังหวัด ห้าหมื่นเขาก็ดีใจมากแล้ว เราอยากให้เขาเลิกมองว่ามวยไทย เป็นกีฬารากหญ้า แต่อยากให้มองว่า มันเป็นกีฬาที่สร้างอาชีพ”

ไม่ว่าคุณจะจดจำชายคนนี้ในชื่อ “น้องโบ๊ท” “หนุ่มโบ๊ท” “เสี่ยโบ๊ท” หรือ “โบ๊ทลูกเสียเน้า” แต่สิ่งหนึ่งไม่อาจปฏิเสธได้เลยก็คือ ความเชื่อที่แรงกล้า บวกกับการลงมือทำอย่างจริงจัง เป็นส่วนที่น่าจดจำที่สุด หากนึกถึงผู้ชายที่ประสบความสำเร็จเส้นทางอาชีพ ตั้งแต่อายุเพิ่งเลข 3 ต้นๆ เช่นเขา

 15

“ผมภูมิใจที่ตัวเองยังรักษาตัวตนไว้ได้ ตั้งแต่วันแรกจนถึงวันนี้ เราเคยเป็นอย่างไร เราก็ยังเป็นแบบนั้น และดีใจที่หลายคนที่เคยมีภาพจำว่า เราเป็นลูกเสี่ยเน้า อยู่ในร่มเงาพ่อ วันนี้เขามองว่าเราเป็น โบ๊ท ที่เป็นโบ๊ทจริงๆ”

“ผมอยากให้ทุกคนจดจำภาพผม ในความเป็น โบ๊ท เพชรยินดี มากกว่าภาพของ โบ๊ท ลูกเสี่ยเน้า ถ้าจะรักผม ชอบผม เกลียดผม ก็ขอให้เป็นเพราะตัวผม ไม่ใช่เพราะผมเป็นลูกเสี่ยเน้า ทุกอย่างที่ผมทำมาตลอดชีวิต มันเกิดขึ้นจากตัวตนของผมจริงๆ ที่มีความจริงใจต่อคนดูมวย ต่อวงการมวยไทย และผมจะทำมันให้ดีขึ้นต่อไปอย่างไม่สิ้นสุด”

อัลบั้มภาพ 15 ภาพ

อัลบั้มภาพ 15 ภาพ ของ "เสี่ยโบ๊ท" : ทายาทตำนานโปรโมเตอร์ผู้กล้าใช้โครงสร้างฟุตบอลมาทำมวย

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook