ญี่ปุ่นนี่เขาญี่ปุ่นจริงๆ : เหตุผลทางวัฒนธรรมที่ช่วยคนแดนอาทิตย์อุทัยรักกีฬาแบบยั่งยืน
คำที่ถูกค้นบ่อย
    Sanook//s.isanook.com/sr/0/images/logo-new-sanook.png60060
    //s.isanook.com/sp/0/ud/172/861607/e.jpgญี่ปุ่นนี่เขาญี่ปุ่นจริงๆ : เหตุผลทางวัฒนธรรมที่ช่วยคนแดนอาทิตย์อุทัยรักกีฬาแบบยั่งยืน

    ญี่ปุ่นนี่เขาญี่ปุ่นจริงๆ : เหตุผลทางวัฒนธรรมที่ช่วยคนแดนอาทิตย์อุทัยรักกีฬาแบบยั่งยืน

    2019-02-27T09:55:00+07:00
    แชร์เรื่องนี้

    ภาพอัฒจันทร์ที่ย้อมไปด้วยสีแดงในสนามไซตามะ สเตเดียม ของ อุราวะ เรดส์ หรือซัปโปโร โดม ของ ฮอกไกโด คอนซาโดเล ซัปโปโร ที่มีผู้คนเข้ามาชมกันอย่างคับคั่งเกือบทุกครั้ง สะท้อนให้เห็นความชื่นชอบในกีฬาของญี่ปุ่นได้เป็นอย่างดี

    ปี 2017 อัลบิเร็กซ์ นีงาตะ ทีมเล็กๆจากจังหวัดนีงาตะ มีอันต้องร่วงตกชั้นลงไปเล่นในเจ 2 แต่แทบไม่น่าเชื่อว่าพวกเขาจะมียอดผู้ชมในสนามบิ๊ก สวอน สเตเดียม เฉลี่ยสูงถึง 22,034 คน หรือ เวนท์ฟอเรต์ โคฟุ ที่มีที่ตั้งสนามยามานาชิ แบงค์ จูโอ สเตเดียม อยู่ในเขตชนบท กลับมียอดผู้ชมเกินกว่าหนึ่งหมื่นคนในปีเดียวกัน

    กระทั่งฟุตบอลอินเตอร์ไฮ และเบสบอลโคชิเอ็ง ที่เป็นเพียงแค่กีฬาสมัครเล่น ก็ต่างมีผู้คนพากันแย่งชิงตั๋วเข้าไปชมเกมการแข่งขันกันจนเต็มความจุ ซึ่งโคชิเอ็งครั้งล่าสุด มียอดผู้คนเข้ามาชมเกมในสนามรวมทั้งสิ้นกว่าเกินกว่า 1 ล้านคนเลยทีเดียว   

    ตัดภาพมาที่ไทยลีก ลีกอาชีพที่พูดได้ว่าเป็นเบอร์หนึ่งของอาเซียน และเป็นกีฬาที่ได้รับความนิยมมากที่สุดของประเทศ กลับมีภาพคนดูที่เริ่มลดลง กลายเป็นกระแสที่ชั่วครั้งชั่วคราวและไม่ยั่งยืน

    อะไรที่ทำให้สองประเทศที่ต่างมีกีฬาอาชีพเหมือนกัน แต่แตกต่างกันขนาดนี้ Main Stand ขอพาหาคำตอบพร้อมกัน

    ปลูกฝังการเล่นกีฬาตั้งแต่เด็ก

    ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่ให้ความสำคัญกับการศึกษา โดยหนึ่งในยุทธศาสตร์สำคัญของพวกเขาคือการศึกษาแบบ จิ-โตคุ-ไท ที่เน้นจริยธรรมและสุขภาพไปพร้อมกับความรู้ นั่นก็คือการมีความรู้ที่ดี (จิ) เปี่ยมไปด้วยคุณธรรม (โตคุ) และ ร่างกายแข็งแรง (ไท)

    ทำให้ที่โรงเรียนนอกจากจะมีชั่วโมงพละอาทิตย์ละ 3 ครั้งแล้ว พวกเขายังมีกิจกรรมชมรมให้เลือกทำหลังเลิกเรียน และชมรมกีฬาก็เป็นหนึ่งในชมรมที่ได้รับความนิยม ไม่ว่าจะเป็น เบสบอล, ฟุตบอล, วอลเลย์บอล, เคนโด, ยิงธนู ฯลฯ    

     1

    กิจกรรมชมรมกีฬาของโรงเรียนญี่ปุ่นมีความจริงจังพอสมควร มีการซ้อมเช้าและเย็นเป็นประจำทุกวัน และเป็นการฝึกซ้อมกันเอง โดยมีรุ่นพี่เป็นคนควบคุม ในขณะที่โค้ช หรืออาจารย์ที่ปรึกษาจะเป็นผู้ดูแลในภาพรวม

    นอกจากชมรมกีฬาของโรงเรียนแล้ว ในกีฬาบางประเภทอย่างฟุตบอล พวกเขายังสามารถเข้าร่วมสโมสรท้องถิ่น เพื่อฝึกซ้อมในวันเสาร์อาทิตย์ หรือร่วมแข่งขันกับสโมสรทั้งในท้องที่เดียวกัน หรือเดินทางไปแข่งในต่างพื้นที่ได้อีกด้วย  

    “ตั้งแต่ฉันและครอบครัวย้ายมาอยู่โตเกียวสิ่งที่พบเห็นได้บ่อยๆคือเวลาเย็นหลังจากเลิกเรียนมักเห็นเด็กใส่ชุดกีฬาหรือถืออุปกรณ์กีฬาเดินไปยังสถานที่เรียนและซ้อมกีฬา” คุณซากุระเมืองร้อนกล่าวในบทความ สังคมญี่ปุ่น…สังคมแห่งการเล่นกีฬา

    “เด็กที่นี่ถูกปลูกฝังให้อยู่กับเกมส์กีฬาตั้งแต่เล็กๆ ทั้งกีฬาที่เป็นทีมหรือกีฬาเดี่ยวๆ เด็กชายจำนวนไม่น้อยเล่นฟุตบอลและเบสบอลดังนั้นวันหยุดเสาร์-อาทิตย์มักมีการแข่งขันให้เด็กลงสนามตามที่ต่างๆ”

     2

    ทั้งนี้กีฬา ก็ไม่ใช่สำหรับเด็กหรือวัยรุ่นเท่านั้น ผู้ใหญ่หรือผู้สูงอายุ ก็มีการรวมกลุ่มเล่นกีฬาในยามว่างอยู่เสมอ ภาพของกลุ่มชายวันเกษียณ ที่จับกลุ่มกันเล่นเบสบอลในวันสุดสัปดาห์ ก็เป็นเรื่องที่ไม่ได้แปลกตามากนักในประเทศญี่ปุ่น

    อีกสิ่งหนึ่งที่ตอกย้ำการให้ความสำคัญเรื่องกีฬาของชาวญี่ปุ่นคือ วันกีฬาแห่งชาติ ซึ่งเป็นวันที่ระลึกในการเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก 1964 ที่จะมีขึ้นในทุกวันทร์ที่ 2 ของเดือนตุลาคม ซึ่งในวันนั้นจะมีการแข่งขันกีฬาในโรงเรียนทั่วประเทศ หรือกิจกรรมกีฬานอกสถานที่ เพื่อส่งเสริมให้ผู้คนมีสุขภาพแข็งแรง

    สโมสรผูกสัมพันธ์ท้องถิ่น

    นอกจากโรงเรียนจะปลูกฝังการเล่นกีฬาแล้ว สโมสรกีฬาอาชีพในท้องถิ่นก็มีส่วนไม่น้อยที่ช่วยให้เด็กหรือผู้คนซึมซับกีฬามากขึ้น

     3

    ที่เห็นได้ชัดคือสโมสรฟุตบอลหรือฟุตซอล พวกเขาพยายามจัดกิจกรรมอย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างสายสัมพันธ์ระหว่างชุมชนกับสโมสร ไม่ว่าจะเป็นการส่งนักกีฬาไปเยี่ยมโรงเรียนประถม เพื่อพบปะพูดคุย และรับประทานอาหารร่วมกับเด็กๆในท้องถิ่น ตลอดจนเปิดคลินิกสอนการเล่นฟุตบอล หรือร่วมเล่นกีฬา ที่มักจะลงเอยด้วยความพ่ายแพ้ (อย่างตั้งใจ) และจากกันด้วยการแจกตั๋วฟรีให้แก่เด็กๆ

    “สโมสรต่างพยายามจัดกิจกรรมตอบแทนสังคม พาเราไปทำความรู้จักคนในเมือง กับเด็กๆ เพื่อให้ผู้คนซึบซับ”  เลิศชาย อิสราสุวิภากร พูดถึงประสบการณ์ตรงตอนไปค้าแข้งกับ ฟูจู แอธเลติกในลีกฟุตซอลของญี่ปุ่น

     4

    “อย่างเรื่องการแจกโปสเตอร์ เคยเห็นนักบอลไทยลีกมาเดินแจกใบปลิวด้วยตัวเองตามเมือง เพื่อเชิญชวนคนไปดูทีมไหม ไม่มีนะครับ แต่ที่ญี่ปุ่น เขาถือเป็นหลักการตลาดอย่างหนึ่ง ที่นักกีฬาต้องมาแจกเอง”

    “รวมถึงการเดินสายขอบคุณสปอนเซอร์ การพานักกีฬาไปเข้าวัด สวดมนต์  บางวันก็จะเปิดสนามฟุตซอล ให้เด็กท้องถิ่นในฟูจู เข้ามาเล่น เข้ามาทำกิจกรรมกับเรา เราก็สอนเด็กๆในสนาม เพื่อให้สโมสรมีความผูกพันกับท้องถิ่น และแฟนคลับ” อดีตนักฟุตซอลทีมชาติไทยกล่าว

    “แฟนเฟส” (Fan Fest) ก็เป็นอีกกิจกรรมที่เปิดโอกาสให้แฟนบอลได้มีโอกาสใกล้ชิดนักเตะของท้องถิ่น โดยจะเป็นลักษณะอีเวนท์ที่จัดขึ้นในที่สาธารณะ เช่นห้างสรรพสินค้าเพื่อให้แฟนบอลได้ร่วมถ่ายรูปและขอลายเซ็นนักเตะที่ชื่นชอบ หรือการประกาศตารางการซ้อมในเว็บไซต์ของสโมสร เพื่อให้แฟนบอลได้เข้ามาชมการซ้อมของทีม และได้พูดคุย, ถ่ายรูป หรือขอลายเซ็นนักเตะหลังการซ้อม

    ทั้งนี้ สโมสรยังเป็นโต้โผในการจัดกิจกรรมการกุศลในชุมชน ไม่ว่าจะเป็นการไปเยี่ยมโรงพยาบาล หรือการพานักเตะไปขอรับบริจาคในย่านการค้า ยามเกิดเหตุภัยภิบัติ ดั่งที่เราเห็น ธีรศิลป์ แดงดา กองหน้า ซานเฟรชเช ฮิโรชิมา พร้อมกับเพื่อนร่วมทีมออกเรี่ยไรเงินบริจาคเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมเมื่อช่วงปลายเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา

    นอกจากนี้สโมสรยังมีกิจกรรมที่เปิดโอกาสให้คนในท้องถิ่น ได้มีส่วนร่วมกับสโมสร ไม่ว่าจะเป็นการร่วมเป็นอาสาสมัครช่วยงานในวันที่มีเกมการแข่งขัน ที่ทำให้แฟนบอลได้สัมผัสเบื้องหลังของสโมสรอย่างใกล้ชิด ซึ่งถือเป็นการลดช่องว่างระหว่างคนในท้องถิ่นกับสโมสร หรือการเปิดให้ภาคธุรกิจในท้องถิ่น เข้ามาเป็นสปอนเซอร์ให้กับสโมสร ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือการที่ Shiroi Koibito ขนมชื่อดังของซัปโปโร ที่เป็นสปอนเซอร์คาดอกให้ คอนซาโดเล ซัปโปโร

    ส่วนของไทยเอง คงจะมีเพียง บุรีรัมย์ ยูไนเต็ด สโมสรเดียวที่มีกิจกรรมอย่างจริงจังในลักษณะนี้ ไม่ว่าจะเป็นการไปร่วมทำกิจกรรมในท้องถิ่น หรือการมีกฎบังคับให้นักเตะต้องถ่ายรูปและแจกลายเซ็นให้กับแฟนบอลซึ่งทำให้พวกเขากลายเป็นทีมที่แข็งแกร่งไปพร้อมกับฐานแฟนคลับที่เหนียวแน่น

    สื่อให้ความสำคัญกับกีฬา

    ญี่ปุ่นถือเป็นประเทศที่ผู้คนให้ความสนใจกับกีฬาประเทศหนึ่งในโลก เมื่อผลสำรวจจากรายการทีวีแห่งหนึ่งระบุว่า 3 ใน 4 ข่าวที่ถูกตีพิมพ์มากที่สุดบนหน้าหนังสือพิมพ์ในปี 2018 คือข่าวกีฬา ซึ่งก็คือ ฟุตบอลโลก 2018 ที่รัสเซีย, โอลิมปิกฤดูหนาวที่พยองชางและโคชิเอ็งครั้งที่ 100

    พวกเขามีองค์กรสื่อที่เข็มแข็ง นอกจากสื่อระดับประเทศแล้ว สื่อท้องถิ่นอย่างหนังสือพิมพ์ หรือช่องทีวี ก็มีคุณภาพและโปรดักชั่นไม่แพ้สื่อส่วนกลาง ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการประชาสัมพันธ์สโมสรของท้องถิ่นให้เป็นที่รู้จักในวงกว้าง

    ตัวอย่างเช่นจังหวัดไซตามะ ฐานที่มั่นของ อุราวะ เรดส์ พวกเขาจะมีรายการ เรดส์ทีวี ในช่องของท้องถิ่น ที่จะรวบรวมสกู๊ป ข่าวคราวการเคลื่อนไหว ตลอดจนผลการแข่งขันและไฮไลท์ของทีมไว้อย่างครบถ้วน

    และหากถ้าวันไหนทีมสามารถคว้าชัย หนังสือพิมพ์ท้องถิ่นก็จะอุทิศหน้าหนึ่งเกือบทั้งหน้าให้กับชัยชนะของสโมสร

    หรือกระทั่งกีฬาสมัครเล่นอย่าง เบสบอลโคชิเอ็ง หรือฟุตบอลอินเตอร์ไฮ  ก็ยังมีการถ่ายทอดสดการแข่งขันไปทั่วประเทศ หรือมีนิตยสารทำบทวิเคราะห์จุดเด่นจุดด้อยของแต่ละโรงเรียนออกวางจำหน่ายให้แฟนเลือกซื้อกัน  

    “สำหรับฟุตบอลรายการนี้(อินเตอร์ไฮ) โดยปกติแล้วตั้งแต่รอบ 16 ทีมสุดท้ายจนไปถึงรอบชิงชนะเลิศ ทุกๆ แมตช์จะมีถ่ายทอดสดผ่านทางโทรทัศน์ ซึ่งนั่นทำให้มันแฟนบอลทุกคนสามารถเข้าถึงได้ จนส่งผลให้ได้รับความนิยมมากขึ้นทั้งจากแฟนบอลทั่วประเทศ รวมทั้งสื่ออื่นๆ เช่นหนังสือพิมพ์ และสื่ออิเลคทรอนิกส์ต่างๆ เรียกได้ว่า นี่คือทัวร์นาเมนต์ระดับมัธยมที่มีแฟนบอลติดตามมากที่สุดในโลกแล้วก็ว่าได้” สก็อตต์ แม็คอินไทร์ กล่าวในบทความ รากฐานแห่งความสำเร็จ : เจาะลึกวงการฟุตบอลนักเรียนแดนซามูไร

    “ในร้านหนังสือแห่งหนึ่งในกรุงโตเกียว มีนักข่าวของเราได้เดินสำรวจตามชั้นวางนิตยสาร และพบว่า มีนิตยสารถึง 4 เล่นที่วิเคราะห์เจาะลึกถึงแผนการเล่นของแต่ละโรงเรียนแบบละเอียดยิบโดยเฉพาะ พร้อมทั้งยังมีส่วนคอลัมน์แนะนำนักเตะของแต่ละโรงเรียน รวมทั้งนักเตะที่น่าจับตามองของทัวร์นาเมนต์ด้วย และแน่นอนว่าทุกอย่างทำออกมาอย่างสวยงามน่าอ่านมากๆ”

    สนามกีฬาเป็นมิตรต่อทุกเพศทุกวัย

    ภาพของแฟนบอลสาวในสนามเจลีก กลายเป็นภาพที่คุ้นตาเป็นอย่างมากในช่วงหลัง และมันไม่ได้เป็นแค่สีสัน เพราะสามารถสะท้อนให้เห็นว่าสนามกีฬา ไม่ใช่เป็นสถานที่สำหรับผู้ชายหรือวัยรุ่นเท่านั้น

     5

    ปี 2010 เจลีกได้ออกนโยบายใหม่เกี่ยวกับสนามออกมา โดยคำนึงถึงความปลอดภัยเป็นสำคัญ และเน้นความปลอดภัยของผู้เข้าชมเป็นอันดับแรก

    พวกเขาได้ออกกฎใหม่หลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นการห้ามนำวัตถุบางอย่างเข้าสนามเช่น พลุไฟ หรือ ขวดเครื่องดื่ม หรือห้ามทำพฤติกรรมไม่เหมาะสมที่นำไปสู่ความรุนแรง เช่น ดูถูกด่าทอคู่แข่ง ทะเลาะวิวาท หรือ ขว้างของลงสนาม

    เจลีกยังได้กำหนดให้ทุกสนามมีสาธาณูปโภคครบตามเงื่อนไข ทั้ง เครื่องเป่ามือให้แห้งในห้องน้ำ, อาหารและเครื่องดื่มร้อน, โต๊ะหรือเคาท์เตอร์สำหรับรับประทานอาหาร และห้องสำหรับดูแลเด็กทารก

    “หกข้อห้ามสำคัญ 1. แสดงการดูถูกเหยียดหยาม 2.แสดงพฤติกรรมกรรมรุนแรง 3.ขว้างปาสิ่งของลงสนาม 4.ทำลายทรัพย์สิน 5.เข้าไปในพื้นที่หวงห้าม 6.สูบบุหรีบนอัฒจันทร์” ข้อห้ามที่ระบุไว้ผ่านหน้าเว็บไซต์ของอุราวะ เรดส์  

    สิ่งเหล่านี้มีขึ้นเพื่อให้สนามกลายเป็นสถานที่ที่ปลอดภัยและเป็นมิตร เป็นเสมือนที่พักผ่อนหย่อนใจเทียบได้กับสวนสาธารณะ ที่ทำให้ผู้คนสามารถจูงลูกจูงหลาน ชวนเพื่อนหรือแฟนเข้ามาชมเกมอย่างสบายใจ

    จึงไม่แปลกว่าในช่วงหลัง สนามฟุตบอลเจลีก จะเต็มไปด้วยคนทุกเพศทุกวัย ตั้งแต่เด็กตัวเล็ก, วัยรุ่น หรือแม้กระทั่งคนแก่ ที่มาจับกลุ่มพูดคุย รับประทานอาหารก่อนเกม และร่วมส่งเสียงเชียร์ในสนามไปพร้อมกัน

     6

    ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่มีการวางแผนในทุกด้าน เราจะเห็นว่าการสร้างอะไรก็ตามของเขา มักจะมีแม่บทหรือยุทธศาสตร์ชาติ ที่ประกอบไปด้วยการร่วมมือกันในทุกภาคส่วนมารองรับ  

    กีฬาเองก็เช่นกัน กระบวนการส่งเสริมให้คนรักและเล่นกีฬาของพวกเขา เริ่มตั้งแต่วัยเด็กที่มีการบรรจุไว้ในหลักสูตรการศึกษา โดยมีสโมสร, สื่อมวลชน หรือองค์กรจัดการแข่งขัน เป็นผู้สนับสนุนจนทำให้มันสัมฤทธิ์ผล

    ถึงเวลาแล้วหรือยังที่ประเทศของเราจะมาให้ความสำคัญในเรื่องนี้ ด้วยการมองกีฬาในหลากหลายมิติมากขึ้น ที่ไม่ใช่เป็นแค่การแข่งขันในสนาม ร่วมกันส่งเสริม ผลักดัน และทำให้คนทั่วไปมีอารมณ์ร่วมมากขึ้น สนับสนุนกันไปอย่างยั่งยืน

    ถึงตอนนั้นสนามกีฬาที่เต็มความจุแบบญี่ปุ่นอาจจะไม่ใช่แค่ความฝันก็ได้

    อัลบั้มภาพ 6 ภาพ

    อัลบั้มภาพ 6 ภาพ ของ ญี่ปุ่นนี่เขาญี่ปุ่นจริงๆ : เหตุผลทางวัฒนธรรมที่ช่วยคนแดนอาทิตย์อุทัยรักกีฬาแบบยั่งยืน