ลูกหนังในม่านฝุ่นพิษ : ผลกระทบจาก PM 2.5 ต่อไทยลีกฤดูกาล 2019

ลูกหนังในม่านฝุ่นพิษ : ผลกระทบจาก PM 2.5 ต่อไทยลีกฤดูกาล 2019

ลูกหนังในม่านฝุ่นพิษ : ผลกระทบจาก PM 2.5 ต่อไทยลีกฤดูกาล 2019
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ประชาชนในกรุงเทพและปริมณฑล ต่างต้องเผชิญกับวิกฤตมลพิษที่มีค่า PM 2.5 เกินมาตรฐานมาตั้งแต่ต้นเดือนมกราฯ และยังไม่มีทีท่าว่า ฝุ่นร้ายเหล่านี้จะหายไปเมื่อไหร่?

ในขณะที่ ไทยลีก จะเริ่มกลับมาเปิดฉากฟาดแข้งกันอีกครั้ง ในอีกไม่กี่วันข้างหน้านี้ ฟุตบอลลีกอาชีพยอดนิยมของคนไทย ก็เป็นอีกหนึ่งกิจกรรมทางกีฬา ได้รับผลกระทบเต็มๆ จากมลพิษทางอากาศที่เกิดขึ้น

เพราะหากไล่เรียงดูรายชื่อสโมสรจากลีกทั้ง 4 ระดับ พบว่า จำนวนไม่น้อย ตั้งอยู่ในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ โดยในไทยลีก 1-3 มีถึง 19 สโมสรจาก 61 ทีม

 

ส่วนในไทยลีก 4 เฉพาะแค่โซนกรุงเทพและปริมณฑลฯ มีทีมที่อยู่ในพื้นที่ดังกล่าวถึง 12 สโมสร นี่ยังไม่นับรวมสโมสรในลีกรากหญ้า จากจังหวัดสมุทรสาคร, นครปฐม, สระบุรี รวมถึง เชียงใหม่ ที่ค่ามลพิษทางอากาศ เฉลี่ยสูงมาเป็นเวลานาน

คำถามคือ คนในวงการลูกหนังไทย ทั้ง คนทำทีม นักฟุตบอล กองเชียร์ เจ้าของสโมสร ต้องรับมือกับ ฝุ่นพิษที่ส่งผลโดยตรงกับสุขภาพร่างกายอย่างไร? รวมถึงผลกระทบที่มีต่อ อุตสาหกรรมฟุตบอลอาชีพไทย มีมากน้อยเพียงไหน หากปัญหามลพิษทางอากาศ ยังไม่สามารถถูกจัดการได้ในเร็ววันนี้?

มองไม่เห็นแต่อันตรายส่งตรงเข้าร่างกาย

กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ องค์กรเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อม ได้เปิดเผยข้อมูลการเก็บสถิติระหว่างวันที่ 1-29 มกราคม 2019 พบว่าคนกรุงเทพฯ ตกอยู่ภายใต้สภาพอากาศ ที่มีค่ามลพิษฝุ่น PM 2.5 เกินมาตรฐานของไทย อยู่ที่ 9-21 วัน และเกินค่ามาตรฐานตามคำแนะนำของ WHO มากถึง 24-29 วัน

 1

ช่วงเวลาหนึ่งเดือนเต็มๆ นับตั้งแต่เปิดศักราชใหม่ ประชาชนหลายล้านคน ต้องดำเนินชีวิตอยู่ท่ามกลาง มลพิษฝุ่นละอองขนาดเล็กกว่า 2.5 ไมครอน (PM 2.5) ที่ไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า แต่ทะลุผ่านทางเดินหายใจ เข้าสู่ปอด หลอดเลือด และ เส้นเลือดฝอย ได้โดยตรง ซึ่งส่งผลเสียต่อร่างกายทั้งระยะกึ่งฉับพลัน และระยะยาว รวมถึงยังถูกจัดอยู่ในสารก่อมะเร็งประเภทที่ 1 อีกด้วย

เพราะฝุ่นละอองขนาดเล็ก จะสามารถลอยอยู่ในชั้นบรรยากาศได้นาน ต่างจากฝุ่นขนาดใหญ่ที่จะตกลงพื้น อีกทั้งฝุ่นพิษ PM 2.5 ที่ลอยในอากาศ ยังปนเปื้อนไปด้วยสารอื่นๆ  เช่น แคดเมียม ปรอท โลหะหนัก ไฮโดรคาร์บอน และสารก่อมะเร็งจำนวนมาก

หากมลพิษเหล่านี้เข้าไปสู่ร่างกายไม่ว่าจะมากหรือน้อย ก็ย่อมส่งผลกระทบ และเพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็น โรคเรื้อรังในระยะยาวได้ จากผลจากการศึกษาโดย Institute for Health and Evaluation มหาวิทยาลัยวอชิงตัน พบว่า มลพิษทางอากาศเป็นปัจจัยร่วมของการเกิดโรคต่างๆ เนื่องจากมีส่วนประกอบของสารเคมีหลายชนิด เช่น โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง โรคหลอดเลือดในสมอง โรคหัวใจขาดเลือด โรคมะเร็งปอด และโรคติดเชื้อเฉียบพลันระบบหายใจส่วนล่าง ก่อให้เกิดการตายก่อนวัยอันควรในประเทศไทย ประมาณ 50,000 รายต่อปี และมลพิษยังสามารถลอยข้ามพรมแดน ข้ามเมือง ข้ามจังหวัด และข้ามประเทศได้อย่างสบายๆ

 2

ยิ่งในปีนี้ที่ สถานการณ์ฝุ่นพิษมาเร็วกว่าทุกปี ตั้งแต่สัปดาห์แรกของเดือน มกราคม จากปกติที่ฝุ่น PM 2.5 จะเยอะขึ้นในช่วงกลางเดือนกุมภาพันธ์ เนื่องจากเป็นช่วงเวลาที่สภาพอากาศปิด แสงแดดส่องไม่ถึงพื้น ฝุ่นละอองขาดแรง ในการผลักให้ลอยตัวสูงขึ้นไป จนสะสมอยู่ในอากาศเรี่ยพื้นดิน ซึ่งเป็นระยะที่ใกล้ และส่งต่อร่างกายมนุษย์

ความเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ ในวันที่ท้องฟ้าถูกปกคลุมไปด้วยฝุ่นพิษ ตรงกับช่วงเวลาประจำที่ทุกสโมสรฟุตบอลอาชีพในไทย กำลังฝึกซ้อมปรีซีซั่น เพื่อเรียกความฟิต และสมรรถภาพร่างกายนักฟุตบอลให้สมบูรณ์มากสุด ก่อนฤดูกาลใหม่ 2019 จะเริ่มเปิดฉากขึ้น

ด้วยความที่ฟุตบอลเป็นกีฬาที่เล่นกลางแจ้ง ต้องอาศัยการฝึกซ้อมอย่างต่อเนื่อง ในสนามหญ้าแบบเปิด

อากาศที่มีเต็มไป มลพิษฝุ่น จึงเป็นสิ่งที่นักฟุตบอล และคนทำทีมต่างกังวลไม่น้อย และหวั่นวิตกถึงผลร้ายที่อาจเกิดขึ้นร่างกายตัวเอง หากสถานการณ์ยังไม่คลี่คลาย เมื่อฤดูกาลแข่งขันเปิดฉากขึ้น ในอีกแค่ไม่กี่วันข้างหน้านี้

กีฬาที่เลี่ยงไม่ได้

เพราะฟุตบอลเป็นกีฬาที่เลี่ยงไปเตะในอาคารปิดมิดชิด แบบชนิดกีฬาอื่นได้ยาก นายแพทย์ เอกภพ เพียรพิเศษ แพทย์ประจำทีมชาติไทย รุ่นอายุไม่เกิน 21 ปี และสโมสรเชียงราย ยูไนเต็ด จึงอธิบายถึงความเสี่ยงและอันตรายของ บรรดาพ่อค้าแข้ง ที่ต้องสูดรับอากาศเหล่านี้ ในระหว่างการฝึกซ้อม, วันแข่งขัน ช่วงปรีซีซั่น ย่อมมีมากกว่า คนทั่วไปที่ไม่ได้ออกกำลังกายกลางแจ้ง

 3

“นักกีฬากลางแจ้งทุกประเภทเป็นกลุ่มคนที่มีความเสี่ยงมาก หากต้องฝึกซ้อมหรือลงแข่งขัน ในสภาพอากาศที่มีมลพิษฝุ่น เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นกับร่างกายตอนออกกำลังกาย ช่วงที่กำลังเหนื่อย ก็คือ ปริมาณการหายใจจะลึกขึ้น ถี่ขึ้น ต่อหนึ่งรอบการหายใจ ฉะนั้นนักฟุตบอล รวมถึงคนที่ออกกำลังกายกลางแจ้งในช่วงนี้ ย่อมได้ปริมาณฝุ่นพิษที่มากกว่า คนที่หายใจโดยปกติ”

“ยิ่งเป็นช่วงปรีซีซั่น โปรแกรมการฝึกซ้อมของทุกสโมสร มีความเข้มข้นมากกว่าช่วงเวลาปกติ เพราะนักกีฬาต้องเรียกความฟิต จึงมีโอกาสสูงที่ผลกระทบจากมลพิษจะเข้าสู่ร่างกายพวกเขาในปริมาณที่มาก และถ้าหากดูฟุตบอลไทยยุคหลัง ก็จะเห็นว่าเป็นเกมที่ค่อนข้างเร็ว ใช้การเพรสซิ่งวิ่งกดดันคู่ต่อสู้ตลอดเวลา นักฟุตบอลต้องเคลื่อนที่เยอะขึ้น และใช้การหายใจที่เพิ่มขึ้นตาม”

เท่ากับว่านักฟุตบอลจำนวนมากในอุตสาหกรรมลูกหนังไทย กำลังตกอยู่ในภาวะเสี่ยงที่จะได้รับผลกระทบจากมลพิษฝุ่น เข้าสู่ร่างกาย จากการทำงาน

เหมือนกับหลายๆอาชีพที่ต้องใช้เวลาไม่น้อย อยู่ในที่กลางแจ้ง ทำให้การฝึกซ้อม และการใช้ชีวิตประจำวันของพวกเขายากขึ้นไปอีก จากเดิมที่สามารถโฟกัสกับการฝึกซ้อมเรียกความฟิต ช่วงปรีซีซั่นได้อย่างเต็มที่

นพพล พลคำ กองกลางจากสโมสรสมุทรปราการ ซิตี้ และ ดาบิด โรเชล่า นักเตะชาวสเปนของ การท่าเรือ เอฟซี เป็น 2 ผู้เล่นที่ค้าแข้ง อยู่ในทีมที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ ที่มีค่าฝุ่น PM 2.5 เกินมาตรฐาน เปิดใจกับเรา ถึงผลกระทบในวันที่ฝุ่นขนาดเล็ก เข้ามาทำให้ชีวิตประจำวัน และการฝึกซ้อมของพวกเขาไม่เหมือนเดิม

 4

“ผมคิดว่ามันเป็นปัญหาที่ใหญ่มาก จากค่ามลพิษที่พุ่งสูงขึ้น พวกเราควรต้องทำอะไรสักอย่างเพื่อแก้ไข และลดค่าฝุ่นพิษให้เบาบางลงกว่านี้” กัปตันทีมสิงห์เจ้าท่า กล่าวเริ่ม

“แน่นอนมันกระทบต่อชีวิตประจำวัน ซึ่งผมก็สวมใส่หน้ากากอนามัย เพื่อป้องกันตัวเองอยู่แล้ว แต่ในระหว่างการฝึกซ้อมและช่วงที่ต้องแข่งขันนั้นเป็นอะไรที่แตกต่างกันออกไป มันยากมากที่คุณจะฝึกซ้อม ลงเล่น ได้อย่างที่เคยทำ หากคุณรู้สึกว่า มีอะไรที่ผิดปกติบางอย่าง อยู่ในลำคอของคุณ ซึ่งมันมีต้นเหตุมาจากฝุ่นพิษเหล่านี้”

“ผมคิดว่าพวกเราทุกคนต้องมีจิตสำนึกเพื่อสังคมมากขึ้น รวมถึงหันมาเข้มงวด กับการควบคุมการปล่อยมลพิษสู่อากาศ ที่มีผลต่อชีวิตประจำวันของพวกเรา”

ด้าน มิดฟิลด์ชาวไทยวัย 23 ปี เผยว่า “ผมว่ามลพิษฝุ่นมีผลกระทบมากพอสมควร เกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ อย่างในตอนฝึกซ้อม บางครั้งผมรู้สึกหายใจไม่ค่อยสะดวกเหมือนเมื่อก่อน อากาศมันแห้งๆ ทำให้รู้สึกเหมือนขาดน้ำ ก็มีพูดคุยกับเพื่อนร่วมทีม บางคนก็มีอาการเจ็บคอ แสบจมูก คันตามร่างกาย”

“ช่วงนี้นักกีฬาก็ต้องหันมาดูแลตัวเองมากขึ้น พักผ่อนให้มากกว่าเดิม กินอาหารที่มีประโยชน์ อย่างในชีวิตประจำวัน เวลาออกไปไหนมาไหน ผมก็ใส่แมสก์ตลอด แต่ถ้าเป็นช่วงซ้อม บางครั้งถ้ารู้สึกไม่ไหวจริงๆ ก็จะใส่แมสก์บ้างเป็นบางที แต่ไม่ได้ใส่บ่อย เพราะใส่แล้วหายใจลำบากมาก”

ความกังวลดังกล่าวไม่ได้เกิดขึ้นแค่เฉพาะในหมู่นักฟุตบอลเท่านั้น บรรดาคนทำทีม รวมถึงผู้ฝึกสอน ของสโมสรที่อยู่ในพื้นที่ ที่มีค่าฝุ่น PM 2.5 เกินมาตรฐาน ต่างต้องหาวิธีการรับมือ และปรับเปลี่ยนโปรแกรมการฝึกซ้อมช่วงปรีซีซั่น ไปจนถึงย้ายสถานที่ฝึกซ้อม หนีฝุ่นพิษ เพื่อรักษาสุขภาพของนักเตะในทีม

 5

ไพโรจน์ บวรวัฒนดิลก เฮดโค้ช สโมสร เอสซีจี เมืองทอง ยูไนเต็ด ยอมรับว่า มลพิษทางอากาศดังกล่าวสร้างความกังวลให้แก่ตนอยู่แล้ว ในฐานะกุนซือที่ต้องคุมลูกทีมลงฝึกซ้อมในทุกๆวัน ช่วงก่อนเปิดฤดูกาล แต่ก็เชื่อว่าการศึกษาข้อมูลที่ดี และวางแผนอย่างรอบคอบในทุกๆวัน จะช่วยลดความเสี่ยงลงไปได้

“ผลกระทบต่อระบบหายใจมีอยู่แล้ว เพราะนักฟุตบอลต้องใช้ออกซิเจนมากในการฝึกซ้อม ช่วงนี้ผมก็ต้องทำงานหนักขึ้น คอยศึกษา ดูการแจ้งเตือนว่าเขตพื้นที่เราฝึกซ้อมอยู่ เป็นสีแดง (ค่า AQI เกิน 200) หรือยัง รวมถึงต้องดูช่วงเวลาด้วย ถ้าค่าฝุ่นละอองมันสูงมาก อาจต้องหยุดฝึกซ้อม ลดเวลาฝึกซ้อมให้สั้นลง หรือซ้อมให้เบาลง”

“ถ้ามันหนักมากก็ต้องมาประชุมคุย แต่เชื่อว่า ณ สถานการณ์ตอนนี้ ยังอยู่ในจุดที่สโมสรสามารถบริหารจัดการ รับมือได้ เพียงแต่ต้องประเมินสถานการณ์กันแบบ วันต่อวัน”

ส่วนการแก้ไขปัญหาเบื้องต้นในช่วงนี้ของผู้บริหารทีม ก็มีหลากหลายรูปแบบ บางสโมสร ก็ให้นักฟุตบอลสวมใส่หน้ากากอนามัย ย้ายสถานที่ฝึกซ้อม หรือลดชั่วโมงการฝึกซ้อม

ยกตัวอย่าง  สโมสรไทยยูเนียน สมุทรสาคร เลือกตัดสินใจย้ายไปเก็บตัวฝึกซ้อมชั่วคราวที่ กิเลน วัลเลย์ เขาใหญ่ จ.นครราชสีมา เนื่องจากสถานการณ์ค่าฝุ่นมลพิษ PM 2.5 ที่จังหวัดสมุทรสาคร พุ่งสูงขึ้นเกินค่ามาตรฐาน จนเคยเป็นอันดับ 1 ของประเทศ

ไปถึงขั้น การเลื่อนแข่งขัน การฟุตบอลระดับเยาวชนชิงแชมป์ระดับประเทศ “ไทยแลนด์ ยูธ ลีก” ในบริเวณเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล ระหว่างวันที่ 2-3 กุมภาพันธ์นี้ ทั้ง 4 รุ่นอายุ เลื่อนไปแข่งขันวันที่ 6 กุมภาพันธ์ แทน หากสถานการณ์กลับสู่สภาวะปกติ เนื่องจากเยาวชนที่อายุไม่ถึง 20 ปี เป็นกลุ่มที่เสี่ยงจะได้รับผลกระทบต่อร่างกายมากกว่าผู้ใหญ่

เรื่องนี้ นายแพทย์ เอกภพ เพียรพิเศษ ให้คำแนะนำสโมสรที่อยู่ในพื้นที่ มลพิษเกินค่ามาตรฐาน แต่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงการ หรือ ย้ายสถานที่การฝึกซ้อมได้  ควรต้องปรับเรื่องของช่วงเวลาการฝึกซ้อมประจำวัน, ความยาวนานของการฝึกซ้อม พร้อมกับเตือนว่า การให้นักฟุตบอล ใส่หน้ากากอนามัย โดยเฉพาะแบบ N95 นั่นเป็นอันตรายต่อนักเตะมากกว่าไม่ใส่

 6

“สโมสรจำเป็นต้องปรับเรื่องโปรแกรมการฝึกซ้อม อาจต้องเปลี่ยนไปซ้อมในช่วงเช้าตรู่แทน เพราะเป็นช่วงเวลาที่ค่าฝุ่นละอองไม่สูงมาก เนื่องจากรถยนต์ยังไม่ออกมาวิ่งตามท้องถนนเยอะ เพราะมลพิษฝุ่นขนาดเล็ก ส่วนหนึ่งมาจากควันรถดีเซล ถ้าเป็นการฝึกซ้อมช่วงเย็น แน่นอนว่าเป็นช่วงเวลาที่ไม่ดีนัก เนื่องจากฝุ่นถูกสะสมมาทั้งวัน”

“หรืออาจปรับการฝึกซ้อมในสนามกลางแจ้งน้อยลง เข้าห้องฟิตเนสมากขึ้น เปลี่ยนไปซ้อมในโรงยิมเป็นบางครั้ง ส่วนการใส่ แมสก์ออกกำลังกายนั้น เป็นเรื่องที่อันตราย โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าใส่แบบN95 เพราะอากาศที่เราหายใจเข้าไป ต้องใช้แรงหายใจมากขึ้นกว่าไม่ใส่หน้ากาก ทำให้เหนื่อยง่ายมาก และถ้าหายใจถี่ๆ สั้นๆ ตอนเหนื่อย ทำให้มีโอกาสที่ คาร์บอนไดออกไซด์ จะค้างอยู่ในแมสก์แล้วเราสูดเข้าไป ส่งผลให้เกิดภาวะขาดออกซิเจน หัวใจก็ทำงานหนักขึ้นครับ”

“แม้กระทั่งในภาวะอากาศปกติ มีความเชื่อผิดๆว่าการใส่ แมสก์ ออกกำลังกายจะช่วยฝึก anaerobic (การออกกำลังกายที่ไม่ใช้ออกซิเจน) ซึ่งถือว่าไม่จริงเช่นกัน อาจจะไม่ตายเพราะฝุ่น แต่จะตายเพราะขาดออกชิเจน นี่แหละครับ”

สนามและเกมลูกหนัง ที่ (อาจ) ไม่เหมือนเดิม

ปัญหามลพิษฝุ่น PM 2.5 ที่เกินค่ามาตรฐาน ไม่ได้สร้างความกังวล แค่เฉพาะ นักกีฬา ที่มีอาชีพลงไปเล่นฟุตบอลในสนาม หรือคนทำทีมที่ต้องดูแลหลายๆชีวิตในสโมสร แต่กองเชียร์ก็เป็นคนอีกกลุ่มที่ไม่อาจละเลยได้ และเป็นที่น่าสงสัยว่า ในสถานการณ์สภาพอากาศไม่ดีเช่นนี้ จะส่งผลต่อการออกมาเชียร์ฟุตบอลทีมรักของพวกเขาหรือไม่?

 7

“ชิโร ดราก้อน” หรือ ธีระยุทธ รัตนพันธ์ - ประธานแฟนคลับอุลตร้า ไฟร์ ดราก้อน แสดงความเห็นว่า ปัญหามลพิษทางอากาศส่งผลต่อสุขภาพ และชีวิตประจำวันของเจ้าตัวอยู่แล้ว

เนื่องจากเขาเริ่มระคายเคืองตา และคอ รวมถึงรู้สึกไม่ค่อยปลอดภัยต่อชีวิต แม้ส่วนตัว พร้อมที่จะใส่หน้ากากอนามัย มาเชียร์ทีม โปลิศ เทโร เอฟซี ในซีซั่นหน้า แต่ก็ยอมรับว่า มีความกังวลว่ายอดผู้ชมในสนามอาจลดลง หากปัญหามลพิษฝุ่น ยังไม่ถูกแก้ไขในช่วงฤดูกาลแข่งขันเปิด

“กองเชียร์อย่างพวกผมไม่ถอยอยู่แล้ว เพราะนักเตะยังสู้อยู่ แต่ด้วยสภาพอากาศก็ต้องยอมรับว่า สงสารเพื่อนๆกองเชียร์เหมือนกัน ในเกมที่ทีมเราแข่งในกรุงเทพฯ ก็คงรณรงค์ให้แฟนคลับใส่หน้ากากมาสนาม เข้าใจว่าหลายคนอาจรู้สึกอึดอัด หายใจลำบาก แต่สถานการณ์ฝุ่น ตอนนี้มันอันตรายจริงๆ”

“หากมลพิษฝุ่นยังสูงเกินค่ามาตรฐาน ผมคิดว่าจำนวนแฟนบอลที่เข้าสนามลดลง แน่นอน เพราะโดยปกติ คนที่ดูฟุตบอลเขาจะมากันเป็นครอบครัว เหมือนมาปิกนิกพบปะกันที่หน้าสนามก่อนเกม แต่ถ้าสภาวะอากาศยังเป็นเช่นนี้ ก็น่าเป็นห่วงอย่างยิ่งว่า ยอดคนดูในสนาม อาจจะลดลงไปอีก”

เช่นเดียวกับ กิระวิศว์ พิทยภูวนันท์ ประธานสโมสร ไทยยูเนียน สมุทรสาคร ที่ยอมรับว่าปัญหาฝุ่นพิษคงส่งผลให้คนในจังหวัดสมุทรสาคร มาชมเกมการแข่งขันน้อยลง เพราะเรื่องสุขภาพเป็นสิ่งสำคัญกว่า

 8

“มีผลอย่างแน่นอน หากปัญหายังไม่ได้รับการแก้ไข เพราะสุขภาพของประชาชนถือเป็นเรื่องใหญ่ หากเป็นสโมสรที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ค่าฝุ่นละอองไม่มาก ก็คงไม่มีผลเท่าไหร่ แต่ถ้าเป็นทีมอยู่ในพื้นที่ค่าฝุ่นเกินมาตรฐาน เรื่องจำนวนแฟนบอลลดลง เป็นอะไรที่น่ากังวลอยู่แล้ว”

“แต่จากการที่ได้พูดคุยกับหลายๆภาคส่วนในจังหวัดสมุทรสาคร ทุกฝ่ายก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ เพราะปัญหามลพิษทางอากาศ มีผู้ได้รับผลกระทบเป็นวงกว้าง หลากหลายสาขาอาชีพที่ทำงานกลางแจ้ง ไม่ใช่แค่นักฟุตบอล ที่เลี่ยงไม่ได้อยู่แล้ว” บิ๊กบอสทีมสำเภาผยอง เผย

นอกจากยอดผู้ชมที่อาจลดลงไปในฤดูกาล 2016 หากปัญหามลพิษฝุ่น กินระยะเวลานาน ในหลายๆพื้นที่ ข้อมูลอีกชุดจาก นายแพทย์ เอกภพ เพียรพิเศษ ได้บอกกับเราว่า ความสนุกของฟุตบอลไทยลีก 2019 อาจลดลงไปด้วย เนื่องจากสมรรถภาพของนักกีฬาดร็อปลงไป ในช่วงอากาศยังเป็นพิษเช่นนี้

“มีงานวิจัยชิ้นหนึ่งระบุว่า ถ้าการวัดค่าฝุ่นฯ แบ่งออกเป็น 4 สี ตามค่า AQI  หากยังไม่ถึงสีแดง (ค่า AQI 1-200) จะยังไม่ส่งผลต่อการออกกำลังกาย ความฟิต และสมรรถภาพร่างกายยังเหมือนเดิมปกติ”

“แต่ถ้าเมื่อไหร่ก็ตามที่พิษขึ้นไปถึงสีแดง (ค่า AQI เกิน 200) นักกีฬา ที่ออกกำลังกาย จะมีสมรรถภาพร่างกายที่ถดถอยลง ทำให้เหนื่อยง่ายขึ้น หายใจไม่ทัน ดังนั้นก็มีความเป็นไปได้ว่าในเกมฟุตบอลที่แข่งขัน ช่วงค่ามลพิษฝุ่นถึงสีแดง จะออกมาไม่สนุก เพราะสมรรถภาพนักเตะไม่เหมือนเดิม เกมจะดูเนือยๆ แฟนบอล กองเชียร์ ดูแล้วอาจรู้สึกไม่สนุกไปด้วย”

อีกด้านหนึ่ง ของฝ่ายที่ดูแลลีกอาชีพโดยตรง  “กรวีร์ ปริศนานันทกุล” รักษาการณ์เลขาธิการสมาคมฯ และรองประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายจัดการแข่งขัน บริษัท ไทยลีก จำกัด ออกเปิดเผยกับ Main Stand ว่าทางไทยลีกมีความกังวลต่อสถานการณ์เช่นกัน

 9

แต่ด้วยเงื่อนไข ข้อจำกัด ของตารางการแข่งขันที่มีการจัดล่วงหน้ามานาน ก่อนเกิดสภาวะมลพิษทางอากาศ รวมถึงปฏิทินของลีกที่ล็อกไว้ และเกี่ยวเนื่องกับการเตรียมทีมชาติไทย ทำให้การเลื่อนการแข่งขันในหลายๆรายการ เป็นแนวทางที่ไม่สามารถปฏิบัติได้ แต่พร้อมที่จะพิจารณา หากมีสโมสรสมาชิกได้รับผลกระทบ

“ไทยลีก เรามีความห่วงใยต่อสถานการณ์มลพิษฝุ่น ที่สโมสรสมาชิกจำนวนไม่น้อยกำลังเผชิญ แต่ต้องทำความเข้าใจว่า ฟุตบอลไทยลีก แตกต่างจากกีฬาอื่นๆในประเทศ มีข้อจำกัดมากพอสมควรในเรื่องของการขยับโปรแกรม เพราะปัญหามลพิษทางอากาศเป็นสิ่งที่อยู่เหนือการควบคุมขององค์กรฟุตบอล เราไม่สามารถเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศได้ด้วยตัวเอง”

“ที่ผ่านมาก็ยังไม่มีสโมสรไหน ได้ติดต่อ พูดคุย แจ้งถึงปัญหามลพิษทางอากาศกับเรา แต่อย่างไรก็ตาม เราคงมีการปรึกษากับสโมสรสมาชิกอีกครั้ง ถึงความพร้อมในจัดการแข่งขัน และปัญหาที่สมาชิกพบเจอ เช่น แมตช์แข่งขัน โปรแกรมการฝึกซ้อมในกรุงเทพและปริมณฑล มีผลกระทบต่อนักฟุตบอลมากเพียงใด? หรืออาจพิจารณาเป็นรายกรณี ในการโยกสลับไปเตะในต่างจังหวัดก่อน ก็ต้องหารือพูดคุยกับสโมสรกันอีกที”

ไม่ใช่แค่ เมืองไทย ที่เคยกำลังเผชิญกับปัญหามลพิษฝุ่น PM 2.5 เกินค่ามาตรฐาน ที่ประเทศจีน เมื่อปี 2013 ก็เคยประสบสภาวะเดียวกัน ในกรุงปักกิ่ง ซึ่งเป็นผลจากการขยายตัวของภาคอุตสาหกรรม ที่ใช้ถ่านหิน รวมถึงการเผาไหม้ของเครื่องยนต์ ฯ ซึ่งประชาชนต้องเผชิญอยู่กับมลพิษฝุ่นนี้นานถึง 6 เดือนเต็ม

จีน ใช้เวลาต่อสู้กับฝุ่นพิษที่เลวร้ายถึง 5 ปี กว่าจะได้ท้องฟ้าที่สดใสคืนกลับมา ซึ่งตลอดช่วงเวลานี้ ลีกฟุตบอลภายในประเทศ ยังคงทำการแข่งขันตามปกติ กระทั่งตัวเลขค่า PM 2.5 เริ่มค่อยๆลดลง จากมาตรการที่รัฐบาลกลางสั่งควบคุม จนเมื่อปี 2018 ที่ผ่านมา กรุงปักกิ่ง เหลือวันที่สภาพอากาศย่ำแย่แค่ 23 วันเท่านั้น

การหยุดลีก เลื่อนโปรแกรม อาจไม่ใช่แนวทางการแก้ไขปัญหาที่ดีนัก สำหรับลีกกีฬาอาชีพ ถึงกระนั้นก็ใช่ว่า การประกอบอาชีพนักกีฬาฟุตบอลในไทย จะต้องแลกมาด้วย ต้นทุน คือความเสี่ยงในการรับมลพิษฝุ่นเข้าสู่ร่างกาย?

เพราะชีวิตคนสำคัญที่สุด

“ฝุ่นพิษขนาด PM2.5 คือภัยร้ายที่มองไม่เห็น มลพิษทางอากาศไม่ควรเป็นต้นทุนชีวิตที่ประชาชนต้องแลก” ถ้อยคำหนึ่งในบทความของ กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งพูดแทนถึงปัญหาหนึ่ง ที่น่ากลัวไม่แพ้ฝุ่นพิษ คือ ความละเลยต่อสุขภาพประชาชน

 10

แม้ องค์การอนามัยโลก จะไม่สามารถระบุได้ถึงขีดจำกัดของความเข้มข้น (ของมลพิษฝุ่นละอองขนาดเล็กมาก) ที่เกี่ยวโยงกับผลกระทบด้านสุขภาพของมนุษย์ได้ แต่ก็มีคำแนะนำ จากองค์การอนามัยโลกที่จัดทำขึ้นในปี 2005 ว่าควรตั้งเป้าหมายให้ความเข้มข้นของฝุ่น PM2.5 อยู่ในระดับต่ำที่สุดเท่าที่จะทำได้

ปัจจุบัน ค่ามาตรฐานของไทย อยู่ที่ไม่เกิน 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ในขณะที่ จีน มีแผนจะลดค่ามาตรฐานให้เหลือ ไม่เกิน 35 ไมโครกรัม ในอีก 20 ปีข้างหน้า แม้จะยังไม่ได้ตามค่าความเข้มข้นของ องค์การอนามัยโลก ที่ต้องการให้ลดลงไม่เกิน 10 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร

“ตอนนี้เราตั้งไว้ว่าถ้าค่าฝุ่นอยู่ที่ระหว่าง 50-90 ให้เป็นหน้าที่รับผิดชอบของหน่วยงานกลาง แต่มอเตอร์ไซค์รับจ้าง แม่ค้า คนเดินถนน ไม่ต้องไปถึงค่านั้นหรอก แค่ 30 กว่าๆ ก็หนักแล้ว เพราะเขาต้องสูดมันตลอดทั้งวัน โดยเฉพาะนักเรียนที่ไปโรงเรียนตอนเช้า รวมถึง นักกีฬา”

“เพราะผลกระทบสุขภาพมันไม่ได้เริ่มต้นที่ค่า 90 บางทีมันกระทบตั้งแต่ค่าเกิน 25 ตอนนี้เวลาเตือนกลุ่มเสี่ยงเขาเตือนที่ค่า 51 ขึ้นไป มันเป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน ที่ถูกกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ เพราะทุกคนต้องหายใจ เรามีสิทธินี้นะ แต่เราต้องรับมลพิษเหล่านี้เข้ามาแบบไม่เต็มใจ” ธารา บัวคำศรี ผู้อำนวยการประจำประเทศไทย กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ให้สัมภาษณ์ผ่าน The Matter

คำสัมภาษณ์นี้ สะท้อนให้เห็นข้อมูลอีกด้านการเตือนภัยในไทย ที่เริ่มกำหนดตั้งค่าขั้นต่ำไว้สูง ทั้งที่ในความเป็นจริง ผลกระทบที่มีต่อร่างกาย เริ่มมีตั้งแต่ระดับความเข้มข้น 30 ไมโครกรัม

นั่นเท่ากับว่า นักฟุตบอล แฟนบอล คนในวงการลูกหนัง อาจต้องรับผลกระทบนี้ไปเป็นเวลานานพอสมควร แม้ในวันที่ค่าฝุ่น PM 2.5 ไม่ถึงมาตรฐาน 50 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร และยังไม่มีความชัดเจนใดๆออกมา ต่อวิธีการรับมือ

นายแพทย์ เอกภพ เพียรพิเศษ แพทย์ประจำทีมชาติไทย รุ่นอายุไม่เกิน 21 ปี และสโมสร ทิ้งท้ายในทำนองเดียวกันว่า การขาดความองค์ความรู้เฉพาะด้าน และการชี้แจง ทำความเข้าใจต่อสังคม เป็นปัญหาที่น่าเป็นห่วงของสังคมฟุตบอลไทย ซึ่งถึงเวลาแล้วที่ ผู้คนทั้งหลายในวงการ จะต้องตระหนักถึงความสำคัญในการดูแลรักษาพยาบาลชีวิตของมนุษย์

 11

“ปัญหาของบ้านเรา คือขาดองค์ความรู้ ความสนใจเรื่องพวกนี้โดยละเอียด และไม่ได้มองไปที่ระยะยาวว่า ปัญหาเหล่านี้จะต้องอยู่กับเราไปอีกกี่ปี เป็นการมองเพียงแค่ชอตสั้นๆ ในทุกๆวงการ ขาดการพูดคุยสื่อสารกันอย่างชัดเจน”

“ผมยังไม่เห็น องค์กรที่ดูแลฟุตบอลไทย ออกมาชี้แจง พูดคุย หรือให้ความรู้ คำแนะนำว่า สโมสรควรต้องปฏิบัติอย่างไร เชิญทีมแพทย์ที่เกี่ยวข้องมาพูดคุยกันดีไหม? แฟนบอล สโมสร คนทั้งหมดอยู่ในรอบๆวงการฟุตบอล ไม่มีใครให้คำแนะนำ การเตรียมความพร้อมแก่พวกเขา ทั้งที่เรื่องนี้มันเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับชีวิตโดยตรง”

“ที่ผ่านมาเราเห็นว่าผู้มีอำนาจ พยายามคิดหาหลายเรื่องๆที่ดี แต่เรื่องหนึ่งที่คนมักลืมกันเสมอคือ ‘ชีวิต’ นักฟุตบอลก็มีชีวิต แฟนบอลก็มีชีวิต เรื่องนี้จะถูกคิดถึงเป็นประเด็นท้ายสุด ผลการแข่งขันเป็นเรื่องแรกที่ถูกนึกถึง”

“ยกตัวอย่างง่ายๆ มาตรฐานการรักษาพยาบาลในแต่ละสนาม เคยมีใครลงไปดูไหม บางสนามผมเห็นเขาเรียกทีมกู้ภัยมาเป็นแพทย์สนาม 1 คันรถ จบ ซึ่งมันผิดหลักเกณฑ์การรักษาพยาบาล เพราะเราขาดความรู้ และวิธีปฏิบัติที่ถูกต้อง”

“ทุกวันนี้นักฟุตบอลค่าตัวไม่รู้กี่ล้านบาท คุณรู้ไหมว่าการได้รับการรักษาพยาบาลที่ผิดนิดเดียว อาจส่งผลเสียต่อชีวิตการค้าแข้งไปตลอด นักฟุตบอลวูบคาสนาม ช็อก หากไม่มีแผนรองรับ นั่นหมายถึงชีวิตเขานะครับ  แฟนบอลหลายพัน หลายหมื่นชีวิต ที่เข้ามาอยู่ในที่ที่เดียวกัน ถ้าเกิดอุบัติเหตุมา เขาเรียกอุบัติภัยหมู่นะครับ แต่บ้านเรายังขาดการเตรียมพร้อมในจุดนี้ เช่นกันกับเรื่องฝุ่นพิษ หลายคนพูดจะแก้ตรงนั้นตรงนี้ แต่มองข้ามเรื่องของชีวิตคนไป” นายแพทย์ เอกภพ กล่าว

 12

หากมนุษย์ คือ ทรัพยากรที่มีค่าสูงสุด ในอุตสาหกรรมลูกหนัง ทั้ง นักฟุตบอล, กองเชียร์, ผู้ฝึกสอน, ผู้บริหารทีม ฯ

บางครั้ง  เราอาจต้องเปลี่ยนมามองปัญหานี้ โดยเอาชีวิตและสุขภาพของผู้คน เป็นตัวตั้ง ตราบใดที่คุณภาพ ความปลอดภัยในชีวิต รวมถึงกระทั่งสิทธิ์ในการหายใจด้วยอากาศบริสุทธิ์ การได้รับการรักษาพยาบาลที่ดี ยังไม่เกิดขึ้น

นั่นอาจหมายถึงการที่เรากำลังทำร้ายทรัพยากรที่มีค่ามากไป โดยไม่รู้ตัว ผ่านรายละเอียดบางอย่างที่มองผ่านไป

อัลบั้มภาพ 12 ภาพ

อัลบั้มภาพ 12 ภาพ ของ ลูกหนังในม่านฝุ่นพิษ : ผลกระทบจาก PM 2.5 ต่อไทยลีกฤดูกาล 2019

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook