จากปากผู้เกี่ยวข้อง และงานวิจัย : ทฤษฎี “บอลล้มโค้ช” ...มีจริงหรือ?

จากปากผู้เกี่ยวข้อง และงานวิจัย : ทฤษฎี “บอลล้มโค้ช” ...มีจริงหรือ?

จากปากผู้เกี่ยวข้อง และงานวิจัย : ทฤษฎี “บอลล้มโค้ช” ...มีจริงหรือ?
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

เมื่อทีมฟุตบอลทำผลงานได้ไม่เป็นอย่างที่หวัง จนสุ่มเสี่ยงที่จะไม่บรรลุเป้าหมายที่วางไว้ หรืออาจเลวร้ายถึงขั้นเข้าสู่ภาวะวิกฤติ แน่นอนว่าหนึ่งในวิธีการที่ง่ายที่สุดในการแก้ไขสถานการณ์ก็คือ การเปลี่ยนโค้ช
 
จะว่าไป มันก็น่าแปลกอยู่อย่างที่เวลาเปลี่ยนโค้ชแล้ว ทีมส่วนใหญ่มักจะมีผลงานที่ดีขึ้น ยิ่งไปกว่านั้นในหลายทีม นักเตะต่างกลับมาทำผลงานดีเป็นที่น่าเชียร์ยิ่งกว่าแต่ก่อน

และนั่นนำมาสู่คำถามที่หลายคนสงสัยมานานว่า ทฤษฎี “บอลล้มโค้ช” นั้นมีจริงหรือไม่?

 
บอลล้มโค้ช?
เหตุการณ์ที่หลายคนให้คำนิยามว่า “บอลล้มโค้ช” เกิดขึ้นนับครั้งไม่ถ้วนในวงการลูกหนัง ไม่ว่าจะเป็นกุนซือโนเนม หรือผู้จัดการทีมดีกรีระดับโลก ต่างก็ประสบกับเหตุลักษณะนี้มาแล้วทั้งสิ้น

และเมื่อพูดถึงเรื่องราวเหล่านี้ ชื่อของ โชเซ่ มูรินโญ่ ก็ลอยมากระทบโสตประสาทของพวกเราอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยง เมื่อยอดกุนซือชาวโปรตุเกสรายนี้ดูเหมือนจะประสบกับเหตุที่ว่าอยู่บ่อยครั้ง โดย 3 ทีมล่าสุดในการคุมทีม ไม่ว่าจะเป็น เรอัล มาดริด, เชลซี (รอบสอง) และล่าสุดกับ แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด เจ้าตัวถูกอัปเปหิออกจากตำแหน่งทั้งหมด โดยเฉพาะสองทีมหลังที่การเปลี่ยนตัวกุนซือเกิดขึ้นในระหว่างฤดูกาลอีกด้วย

ไม่เพียงเท่านั้น เรื่องราวก่อนที่จะมาถึงจุดสิ้นสุดยังเป็นไปในทิศทางคล้ายคลึงกัน เมื่อความสัมพันธ์ระหว่างเขากับผู้เล่นของแต่ละสโมสรเป็นไปอย่างเลวร้ายถึงขีดสุด มูรินโญ่ตำหนิลูกทีมออกสื่อนับครั้งไม่ถ้วน ส่งผลให้นักเตะแต่ละคนดูจะเล่นกันไม่เต็มที่เหมือนเคย

และที่น่าสนใจก็คือ ผลงานของทีมที่ปลดมูรินโญ่ออก ดูจะดีกว่าในช่วงบั้นปลายของยุค “เดอะ สเปเชี่ยล วัน” ทั้งสิ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง แมนฯ ยูไนเต็ด เพราะนอกจากทีมปีศาจแดงในยุคของ โอเล่ กุนนาร์ โซลชา ตำนานซูเปอร์ซับจะคว้าชัยถึง 6 นัดรวดรวมทุกรายการแล้ว บรรยากาศในทีมและสไตล์การเล่นยังเปลี่ยนไป จากสไตล์การเล่นที่เน้นเกมรับและบรรยากาศในทีมที่ดูจะมีปัญหาไม่หยุดหย่อน กลับมาเป็นฟุตบอลเน้นเกมรุก และทุกคนกลับมาให้ใจเต็มร้อยอีกครั้ง

50578006_756911108004809_6048
สูญเสียห้องแต่งตัว
นิยามของเหตุการณ์แบบนี้ในประเทศไทยจากที่สื่อและแฟนบอลให้นั้นคือ “บอลล้มโค้ช” แต่สำหรับในต่างประเทศ เรื่องราวลักษณะนี้มักถูกเรียกว่า “lose the dressing room” หรือ “สูญเสียห้องแต่งตัว”

แม้นักเตะและกุนซือหลายรายมักปฏิเสธความเป็นไปได้เกี่ยวกับเรื่องนี้เวลาที่ทีมประสบปัญหาฟอร์มการเล่นย่ำแย่อย่างต่อเนื่อง แต่ เดวิด ฟาร์เรลล์ อดีตผู้ช่วยผู้จัดการทีม เซนต์ เมียร์เรน ในลีกสก็อตแลนด์ กลับกล้าที่จะยืนยันว่า การสูญเสียห้องแต่งตัวนั้นมีอยู่จริง จากการพบเจอกับประสบการณ์ลักษณะนี้มาแล้วทั้งในสมัยที่เป็นนักเตะและโค้ช

"การสูญเสียห้องแต่งตัว คือสถานการณ์ที่ผู้เล่นไม่ให้ความเคารพในตัวผู้จัดการทีมของพวกเขาอีกแล้ว มันทำให้พวกเขาไม่เชื่อในสิ่งที่ผู้จัดการทีมพูด หรือทิศทางที่เห็นว่าทีมกำลังมุ่งหน้าอีกต่อไป"

ขณะที่ บิ๊กจ๊ะ - สาธิต กรีกุล ผู้ประกาศข่าวและผู้บรรยายฟุตบอล สถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3 ได้ให้มุมมองเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า “ด้วยความเป็นมืออาชีพ ไม่มีนักเตะคนไหนหรอกที่จะกล้าบอกว่า ตัวเขาไม่เอาโค้ชคนนี้แล้ว แต่การกระทำต่างๆ มันจะฟ้องเองว่า เหตุการณ์เล่นไล่โค้ชกำลังเกิดขึ้นอยู่ในตอนนั้น ซึ่งหนึ่งในสัญญาณที่ชัดเจนคือ การที่นักเตะเล่นไม่เต็มที่ เล่นเนือยๆ กว่าที่เคยเป็นมา”

และสถานการณ์ที่มักนำไปสู่การสูญเสียห้องแต่งตัวอันเกิดขึ้นบ่อยครั้งที่สุดนั้นก็คือ ผลการแข่งขันอันย่ำแย่นั่นเอง

ไมเคิ่ล โอเว่น นักเตะรางวัลบัลลงดอร์คนล่าสุดของอังกฤษเคยเปิดใจกับ FourFourTwo ว่า "ถ้าทีมยังชนะ คุณได้ลงเล่นและมีความสุข ความคิดซึ่งเห็นด้วยกับสิ่งที่ผู้จัดการทีมได้ทำอยู่นั้นย่อมเกิดขึ้นเป็นธรรมดา แต่หากทีมคุณไม่ชนะนานๆ ขึ้นมาเมื่อไหร่ บางทีอาจจะมีคนโพล่งขึ้นมาระหว่างมื้อค่ำว่า 'เจ้านายเราเขาทำอะไรอยู่? ทำไมส่งหมอนั่นลงสนาม? ทำไมเอาแต่เล่นด้วยแท็คติกแบบนี้? และเมื่อนักเตะสูญเสียความเคารพที่มีต่อผู้จัดการทีมไป สถานการณ์มันก็จะเริ่มเขม็งเกลียวขึ้นทันทีเลยล่ะ"

50069645_2040813102638611_689
แม้ผลการแข่งขันจะเป็นปัจจัยสำคัญอันนำมาซึ่งการเล่นล้มโค้ช แต่บางครั้ง สัญญาณอันตรายก็อาจซ่อนตัวอยู่ตั้งแต่แรกหากผู้จัดการทีมซื้อใจผู้เล่นไม่ได้ เหมือนอย่างที่ ไบรอัน คลัฟ ตำนานกุนซือปากตะไกรเคยประสบสมัยคุม ลีดส์ ยูไนเต็ด เมื่อเขาบอกกับลูกทีมให้ลืมเรื่องราวสมัย ดอน เรวี่ กุนซือคนก่อนไปซะ  เหล่านักเตะที่ยังอาลัยอาวรณ์ในอดีตเจ้านายจึงเริ่มทำตัวแข็งข้อนับแต่นั้น จนที่สุดแล้ว เขาก็ถูกปลดในระยะเวลาเพียง 44 วันเท่านั้น

ขณะเดียวกัน แท็คติกที่กุนซือผู้นั้นใช้ ก็อาจนำมาซึ่งปัญหากับเหล่าผู้เล่นได้เช่นกัน ดังที่ โค้ชวัง - ธวัชชัย ดำรงอ่องตระกูล อดีตนักเตะทีมชาติไทย และหัวหน้าผู้ฝึกสอนของ พีที ประจวบ เอฟซี เผยกับทีมงาน Main Stand ว่า “บางครั้งกุนซือเขาก็มีแท็คติกที่เขาอยากใช้ แต่มันไม่สอดคล้องกับศักยภาพ รวมถึงทัศนคติของผู้เล่นในทีม เมื่อเป็นแบบนี้ผู้เล่นก็เลยไม่มีความสุข และส่งผลกลายเป็นต้นตอของปัญหาไปด้วย”

ไม่เพียงเท่านั้น ความสัมพันธ์ระหว่างผู้จัดการทีมกับนักเตะที่ไม่เหมือนเดิมก็นำมาซึ่งปรากฏการณ์นี้เช่นกัน อย่างที่ “บิ๊กจ๊ะ” เผยกับทีมงาน Main Stand ว่า “อย่างในกรณีของ แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด หนึ่งในนักเตะที่ถูกมองว่าเป็นหนึ่งในแกนนำการเล่นไล่โค้ชก็คือ ปอล ป็อกบา ที่ถูก โชเซ่ มูรินโญ่ ตำหนิออกสื่อบ่อยครั้งในช่วงต้นฤดูกาล 2018/19 การถูกเรียกว่า ‘ไวรัส’ ต่อหน้าสาธารณะ ปฏิเสธไม่ได้หรอกว่าทำให้มุมมองของป็อกบาที่มีกับเจ้านายของตัวเองเปลี่ยนไป ซึ่งเห็นได้จากผลงานในสนามที่เล่นไม่เต็มที่เหมือนเคย”

“แต่ก็อย่างที่พี่บอกว่า ไม่ค่อยมีนักเตะคนไหนหรอกที่จะออกมายอมรับด้วยตัวเองว่า เล่นไม่เต็มที่เพราะไม่ชอบโค้ชคนนี้จริงๆ บางครั้งเรื่องราวมันก็กลายเป็นความลับไปตลอดกาล หรือบางคนอาจจะออกมาแย้มหน่อยๆ หลังเรื่องราวผ่านไปแล้ว ซึ่งมันก็ทำให้เราเห็นภาพเองแหละว่า ในช่วงเวลานั้นๆ มันไม่โอเคจริงๆ”
 

mourinho_pogba
เปลี่ยนโค้ชแล้วทำไมฟอร์มดี?
เมื่อสถานการณ์ภายในทีมไม่โอเคเหมือนเคย ที่สุดแล้วทุกคนก็คงมองภาพออกว่าเกิดอะไรขึ้น เพราะแม้จะไม่มีการยอมรับว่ามีการเล่นไล่โค้ช แต่ทุกสิ่งที่ปรากฎทั้งในและนอกสนามก็ถือว่าตอบคำถามได้เกินพอ

และไม่ถึงกับต้องเป็นกูรูหรือวงในก็พอรู้ว่า เมื่อเกิดเหตุการณ์ทำนองนี้ สิ่งใดจะเกิดขึ้นในอีกไม่นาน ... ซึ่งฮีโร่ทีมชาติไทยในศึกเอเชี่ยนเกมส์ปี 1998 ที่กรุงเทพฯ กล่าวกับทางทีมงาน Main Stand ว่า

“ไม่ว่าจะมีสถานการณ์เล่นไล่โค้ชหรือไม่ แต่หากผลการแข่งขันไม่โอเค และภายในทีมมีปัญหาแบบนี้ ที่สุดแล้วมันก็ต้องมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ดีครับ เพราะหากปล่อยไว้ ภาพรวมของทีมก็จะแย่ลง จนอาจส่งผลถึงฟอร์มในสนามที่แย่ลงเรื่อยๆ และอาจเกินเยียวยา”

แน่นอน วิธีการแก้ปัญหาที่ง่ายที่สุดก็คือ การเปลี่ยนโค้ช เพราะกุนซือสามารถเปลี่ยนได้ตลอดเวลา ต่างจากนักเตะที่มีกรอบเวลาตลาดซื้อขายนักเตะบังคับอยู่ ขณะเดียวกัน การดร็อปนักเตะที่มีปัญหาอาจเป็นมาตรการระยะสั้นเพื่อแก้ไขสถานการณ์ได้ แต่หากมีหลายคน การเปลี่ยนทีมจำนวนมากขนาดนั้นก็ดูจะเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ยากในทางปฏิบัติอยู่ดี

และเมื่อการเปลี่ยนแปลงมาถึง ก็มีอีกสิ่งที่น่าสนใจ นั่นคือผลงานของทีมที่มีการเปลี่ยนแปลงโค้ชส่วนใหญ่มักจะดีขึ้น อย่างที่ แมนฯ ยูไนเต็ด กำลังอยู่ในช่วงฟอร์มร้อนแรงเกินห้ามใจ คว้าชัย 6 นัดรวดนั่นเอง

เรื่องดังกล่าวมีหลักฐานทางการวิจัยสนับสนุน โดย คาร์ลอส ลาโก-เปนญาส จากคณะศึกษาศาสตร์และวิทยาศาสตร์การกีฬา มหาวิทยาลัยบีโก้ ประเทศสเปน ได้ศึกษาข้อมูลจากเกมลาลีกาตั้งแต่ฤดูกาล 1997/98 ถึง 2006/07 พบว่า การเปลี่ยนโค้ช ส่งผลให้ผลงานในระยะสั้นของทีมที่มีการเปลี่ยนแปลงนั้นดี จากที่แทบเก็บคะแนนไม่ได้เลย ก็สามารถเก็บผลการแข่งขันที่ต้องการได้หลังมีเจ้านายคนใหม่

50610846_866203560406176_3084
แต่มันเป็นเช่นนั้นได้อย่างไรกันล่ะ?
เรื่องดังกล่าว โค้ชวัง กุนซือของทีมต่อพิฆาตให้ทรรศนะว่า "พอมีความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น นักเตะที่เดิมอาจจะอึดอัดกับรูปแบบการทำทีมของโค้ชคนเดิม ก็ต้องการที่จะพิสูจน์ตัวเองกับโค้ชคนใหม่ เมื่อนักเตะมีความกระหาย มันก็เป็นปัจจัยที่ช่วยเสริมให้ผลงานหลังการเปลี่ยนโค้ชในช่วงแรกดีขึ้น"

แม้การเปลี่ยนกุนซือ จะมีส่วนช่วยให้บรรยากาศภายในทีมที่เกิดความเปลี่ยนแปลงนั้นดีขึ้น และส่งผลให้ผลงานในระยะสั้นของทีมดีขึ้นก็จริง ถึงกระนั้น โค้ชวัง ซึ่งผ่านประสบการณ์บนเส้นทางลูกหนังมาอย่างโชกโชนทั้งในฐานะผู้เล่นและกุนซือก็ทิ้งท้ายเรื่องนี้กับเราว่า

“จริงอยู่ครับ ที่การเปลี่ยนโค้ชสามารถช่วยให้ทีมกลับมามีบรรยากาศที่ดีขึ้นได้ เพราะมันก็เหมือนกับการเซ็ทซีโร่สถานการณ์ทั้งหมดใหม่น่ะนะ แต่ที่สุดแล้ว เวลา และผลการแข่งขันในระยะยาวต่างหากที่จะบอกว่า การตัดสินใจเปลี่ยนแปลงกลางทางนั้นมันได้ผลหรือไม่”

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook