โลกเปลี่ยน : เหตุใดเด็กไทยรุ่นใหม่ถึงสนใจ "อาชีพเกมเมอร์" มากกว่านักกีฬาสนามจริง?

โลกเปลี่ยน : เหตุใดเด็กไทยรุ่นใหม่ถึงสนใจ "อาชีพเกมเมอร์" มากกว่านักกีฬาสนามจริง?

โลกเปลี่ยน : เหตุใดเด็กไทยรุ่นใหม่ถึงสนใจ "อาชีพเกมเมอร์" มากกว่านักกีฬาสนามจริง?
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

“โตขึ้นหนูอยากเป็นอะไร?” คำถามหนึ่งที่เราต่างเคยมีประสบการณ์ถูกถามถึงความฝัน และสิ่งที่สนใจในวัยเด็กของตัวเอง

แม้คำตอบ ในตอนเด็ก อาจไม่สามารถเป็นบทสรุปได้ว่า ชีวิตของพวกเขา ในตอนโต จะต้องเป็นแบบนั้นเสมอไป เพราะเมื่อกาลเวลาผ่าน ความฝัน ประสบการณ์ เป้าหมาย สภาพแวดล้อม เงื่อนไขต่างๆ อาจเปลี่ยนแปลงให้เด็กบางส่วนทำได้ตามฝัน และอีกส่วนไม่ได้มีชีวิตแบบนั้น

แต่อย่างน้อยที่สุดคำตอบเหล่านั้น สามารถชี้วัด และสะท้อนให้เห็นถึง สังคม พฤติกรรมที่เปลี่ยนไปของยุคสมัย โดยเฉพาะเมื่อเด็กๆ ใน เจเนอเรชั่น Z (เจน ซี) อันหมายถึงคนที่เกิดตั้งแต่ปี ค.ศ. 1998 เป็นต้นไป เริ่มเติบโตเข้าสู่สังคมโลก

เด็กรุ่นใหม่เหล่านี้ มีลักษณะเฉพาะตัว พฤติกรรม ประสบการณ์ ที่แตกต่างจาก คนเจเนอเรชั่น Millenniels หรือ เจน Me (เกิดระหว่าง ค.ศ.1982-1997 - เรียกว่า เจเนอเรชั่น Y ก็ได้เช่นกัน) และคน เจเนอเรชั่น X หรือ เจน เอ็กซ์ (เกิดระหว่าง ค.ศ.1965-1981) ซึ่งเป็นกลุ่มคนวัยทำงานหลักของโลกในปัจจุบัน

 

ยังรวมไปถึง เป้าหมายในชีวิต อาชีพในฝัน สิ่งที่สนใจ อาจไม่เหมือนกับพี่น้องท้องเดียวกัน ที่ถูกเลี้ยงดูด้วยพ่อแม่คนเดียวด้วยซ้ำ เพราะมีความคิด และต้องการเลือกในวิถีชีวิตที่แตกต่างกันออกไป จากผลสำรวจเด็กไทยที่มีอายุ 7-14 ปี (เกิดระหว่าง ค.ศ. 2004-2011) จำนวน 2,684 คน ของกลุ่มบริษัทอเด็คโก้ ประเทศไทย ประจำปี 2019

ปรากฎว่าอาชีพสายเกมเมอร์ กลายเป็น สายงานใหม่ที่เด็กไทย เจเนอเรชั่น Z ให้ความนิยม จนเข้ามา 5 อันดับแรกอาชีพในฝันของเด็กไทย ยิ่งไปกว่านั้น ในผลสำรวจด้วยกัน ยังเผย 5 อันดับแรกไอดอลของเด็กไทยประจำปีนี้ กลับไม่มีชื่อของ นักกีฬาอาชีพ แม้แต่คนเดียวติดอันดับ

สวนทางกับ โปรเพลเยอร์ eSports อย่าง กิตงาย (กฤษฎา ปิมลื้อ) และนักแคสต์เกมสาว แป้ง Zbing Z. (นัยรัตน์ ธนไวทย์โกเศส) ที่มีชื่อติดโผท็อป 5 ไอดอลของเด็กไทย ประจำ พ.ศ.นี้

คำถามคือ กีฬาอิเลกทรอนิกส์ จะเข้ามามีอิทธิพลต่อ เด็กไทยรุ่นใหม่ มากกว่า กีฬาแบบดั้งเดิม (Traditional Sports) หรือไม่? และเหตุใดเจนนี้ ถึงได้อินกับ eSports ในแบบที่พ่อแม่ผู้ปกครองต่างเจเนอเรชั่น เข้าไม่ถึง?

We Are Gen Z

เทคโนโลยี มีบทบาทต่อสังคมโลก ในยุคปัจจุบัน และเข้าถึงผู้ใช้งานหลากหลายเจเนอเรชั่น ทั้ง เจน X, Me และ Z แต่ด้วยสภาพแวดล้อมการเติบโตที่แตกต่างกัน เจน Z จึงมีพฤติกรรมหลายอย่างที่แตกต่างออกไปจาก เจน Me แม้จะเป็นช่วงวัยที่ติดกัน และอายุห่างกันแค่ไม่กี่ปี

 1

นั่นเพราะเจน Me ถูกเลี้ยงดูมาโดยกลุ่มคนยุค Baby Boomers ที่มีลักษณะ ชอบสิ่งที่มีคุณค่าทางจิตใจ และความรู้สึก มีความคิดเพ้อฝัน ชอบบุกเบิก สร้างสิ่งใหม่ ชอบการเดินทาง ท่องเที่ยว โตมากับการติดตาม สื่อมวลชน (Mass Media) เป็นหลัก

ขณะที่ เจน Z ถูกเลี้ยงดูมาโดยผู้ปกครองเจน X มองโลกตามความเป็นจริง เติบโตมากับโลกดิจิตอลที่ค่อนข้างสมบูรณ์แบบ ต่างจาก เจน Me บางส่วนที่ยังทันใช้ชีวิตแบบกึ่งอะนาล็อก กึ่งดิจิตอลอยู่

เด็กรุ่นใหม่ จึงมีลักษณะที่เป็นฝ่ายปรับตัวเข้าหาเทคโนโลยีมากกว่า เจน Me ที่มักเป็นฝ่ายคิดค้น อีกทั้งยังมีความสนใจต่อสิ่งใดสิ่งหนึ่งสั้นลงกว่าเดิม หากคอนเทนต์นั้นไม่ถูกกับจริต โดยช่องทางที่คนเจเนอเรชั่น Z รับสารเลือกเป็นหลัก ไม่ใช่ ทีวี เหมือนในอดีต แต่กลับเป็น บนจอ สมาร์ทโฟน แท็บเลต จอคอมพิวเตอร์

ในสหรัฐอเมริกา มีข้อมูลเปรียบเทียบพฤติกรรมการรับสื่อของ เด็กอายุ 8-15 กลุ่มตัวอย่าง ข้อมูลในปี 2013 มีเด็กรับชมทีวีสูงถึง 61 เปอร์เซนต์ แต่ปัจจุบันตัวเลขของเด็กช่วงวัยเดียวกัน ลดลงมาเหลือ 25 เปอร์เซนต์

ขณะที่การดูผ่านสตรีมมิ่งได้รับความนิยมมากขึ้น โดยเฉพาะ YouTube ที่เด็กช่วงวัยนี้ เลือกใช้บริการมากสุดอันดับ 1 ได้เข้ามามีอิทธิต่อต่อการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมเด็กยุคนี้  พวกเขาจะเลือกติดตามเฉพาะสิ่งที่ตัวเองสนใจ ผ่านแชนแนลต่างๆของ YouTube มากกว่าจะเปิดจอทีวี เพื่อรอชมรายการสักอย่าง หรือต้องมานั่งดูโฆษณาคั่นที่ไม่ใช่สิ่งที่พวกเขาสนใจ

วงการ eSports ไทยเติบโตอย่างรวดเร็วในช่วง 2-3 ปีหลังจากเหตุผลตรงนี้ เพราะรูปแบบของกีฬาอิเล็กทรอนิกส์ ตอบสนองและไปได้ดีกับ คนเจเนอเรชั่น Z อีกทั้งปรับตัวเข้ากับ พฤติกรรมการรับสื่อ และเข้ากันได้ดีกับ eSports ที่ปรับตัวให้เข้ากลุ่มคน เจน Z ได้ดีกว่ากีฬาดั้งเดิม และกลายเป็นฐานคนดูสำคัญของกีฬาอิเล็กทรอนิกส์

 2

ประการแรก eSports เป็นกีฬาที่อยู่ใกล้ตัวเด็กๆ อย่างที่เห็นกันว่า ต้นทุนการเล่นเกมในยุคนี้ ราคาถูกลงมากกว่าหลายปีก่อน ที่เกมมีข้อจำกัด ต้องเล่นผ่านเกมคอนโซล ตามร้านเกมส์ ดังนั้นค่ายเกมต่างๆ จึงพัฒนาเกมให้มีรูปแบบหลายแนว อยู่ในหลายๆแพลทฟอร์ม ทั้ง พีซี (เกมคอมพิวเตอร์) คอนโซล  และมือถือ

จุดเปลี่ยนแปลงสำคัญคือโครงข่ายอินเตอร์เน็ตความเร็วสูง และระบบออนไลน์ ได้เข้ามาทำให้การเล่นเกม ไม่เป็นเรื่องที่ลำพังอีกต่อไป

เพราะระบบออนไลน์ ทำให้เกมเป็น กิจกรรมที่ได้แข่งขัน เล่นร่วมกับผู้อื่น สามารถติดต่อสื่อสาร พูดคุยกันได้ รวมถึงสามารถศึกษาเทคนิคจาก โปรฯ เก่งๆ หรือผ่านการชม นักแคสต์เกม ที่มักสตรีมผ่านแชนแนล YouTube, Garena Live หรือแอพ Twitch โดยไม่ต้องเสียเงินไปซื้อหนังสือเพื่อดูสูตรเกม วิธีการเล่น แบบเด็ก เจน Me เคยซื้อกันมา  

ประการต่อมา eSports ไปได้สวยกับพฤติกรรมของคนเจน Z ที่มีความสนใจสั้นลง ต้องการรับชมอะไรที่มี ตื่นเต้น เร้าใจ ในเวลากระชั้นชิด การแข่งขันกีฬาแบบดั้งเดิม อาจเป็นการใช้เวลาที่นานไป และน่าเบื่อ เมื่อเทียบกับ eSports ที่มีเกมให้เลือกหลากหลายรูปแบบ ผู้ชมสามารถสนุกไปกับตัวเกม การได้เห็น ผู้เล่นแก้ใช้ไหวพริบแก้เกมกัน แถมภาพกราฟิกก็สวยงาม ตลอดจนระยะเวลาของการแข่งเกม eSports ใช้น้อยกว่ากีฬาแบบดั้งเดิมหลายประเภท เมื่อนำเปรียบเทียบกัน

ยกตัวอย่าง การแข่งขันเกมฟุตบอล PES “Thai E-League Pro” กับศึกลูกหนัง Thai League ถ้าเป็นฟุตบอลสนามจริง ต้องเตะกันภายในเวลา 90 นาที เมื่อรวมช่วงพักครึ่งและทดเวลาบาดเจ็บ

เท่ากับว่าการถ่ายทอดสดฟุตบอล 1 นัด จะใช้เวลาประมาณ 120 นาที แต่ถ้าเป็นในเกม PES 1 นัดจะใช้เวลาแข่งขันกันเพียงแค่ 20-25 นาทีเท่านั้น สามารถรู้ผลทันที แถมเกมยังรวดเร็วกว่าสนามจริง และการเล่นที่ตื่นตาตื่นใจกว่า แม้จะเป็นแค่การแข่งขันแบบเสมือนจริง (VR) ก็ตาม แต่คนเล่นก็ได้ใช้ทักษะการเล่นสูง ไม่ใชว่าใครก็สามารถทำได้ดี

 3

ในการสำรวจ “อาชีพในฝันเด็กไทย” ประจำปี 2019 โดย กลุ่มบริษัท อเด็คโค ไทยแลนด์ จึงมีเด็กจำนวนไม่น้อยตอบว่า อาชีพนักกีฬา eSports เป็นสาขาอาชีพที่พวกเขาสนใจ รวมถึงนักแคสต์เกม ที่เด็กเจน Z อยากเป็นมากกว่า อาชีพดารา นักแสดง ที่ไม่ติดโผด้วยซ้ำ

เหตุผลที่ นักแคสต์เกม มีอิทธิพลกับเด็กมากขนาดนั้น ก็สอดคล้องกับพฤติกรรมการใช้สื่อของกลุ่มตัวอย่าง ที่ระบุว่า เด็กไทย ถึง 94 เปอร์เซนต์ ชอบเข้าบริการ YouTube และกว่า 28 เปอร์เซนต์ ชอบการเล่นเกมส์, คอมพิวเตอร์ ไอดอลในดวงใจ จึงเป็นคนดังที่ประกอบอาชีพอยู่ในสื่อที่เขาสนใจ

นัยรัตน์ ธนไวทย์โกเศส หรือ “พี่แป้ง Zbing Z.” นักแคสต์เกมสาวเสียงใส คือบุคคลที่เด็กไทยเลือกเข้ามาติด 5 อันดับแรกในฐานะไอดอลของพวกเขา 2 ปีติดต่อกัน สำหรับคนทั่วไปในสังคมวงกว้าง ที่ไม่ได้ติดตามวงการเกมส์ อาจไม่เคยได้ยินชื่อของเธอด้วยซ้ำ เมื่อเทียบกับ ดารา นักแสดง ที่เป็นคนทั่วไป ต่อให้ไม่ติดตามภาพยนตร์ ละคร ก็คงพอได้ยินชื่อผ่านสื่อมวลชน

 4

แต่นั่นแทบไม่จำเป็นเลย สำหรับเธอ เพราะในแชนแนล YouTube ของ Zbing Z. มีผู้ติดตามมากกว่า 8 ล้านคน (ข้อมูล ณ 13 มกราคม 2019) ซึ่งในเมื่อเด็กเจน Z ถึง 94 เปอร์เซนต์ มีพฤติกรรมชอบการรับชมสื่อผ่าน YouTube ก็น่าทำให้เราถึงบางอ้อแล้วว่า ทำไมเธอถึงทรงอิทธิพลต่อเด็กไทยรุ่นใหม่

“การนั่งดูคนแคสต์เกมเล่น เปรียบเหมือนกับการนั่งดูเพื่อนเล่นเกม แชนแนลของแป้ง ไม่ใช่คนที่เล่นเกมเก่งมาก แต่ว่าเราให้เกมดูสนุกและตลก ให้เขามาดูแล้วรู้สึกผ่อนคลาย ที่เราทำอยู่ทุกวันนี้ เราต้องแคร์ความรู้สึกของคนอื่นด้วยว่า สิ่งที่เราพูดออกไป มีผลกระทบต่อน้องๆหรือเปล่า”

“เกมไหนที่มีความรุนแรงมากเกินไป เราควรต้องเตือนเขาไหม? สิ่งนี้เราควรจะบอกไหมว่า ดีหรือไมดี ไม่ควรเอาเป็นแบบอย่าง? พ่อแม่อาจไม่เข้าใจว่า งานเราเกี่ยวกับเกม มันจะได้เงินได้อย่างไร แต่พอทำได้ เขาก็เริ่มปรับความเข้าใจ อ่อ ลูกเราไม่ได้มาแค่เล่นเกมนะ มันมีกระบวนการอะไรที่มากกว่านั้น”

“เราไม่อยากให้มองว่า เกมทำให้เด็กก้าวร้าว แต่มันคือเทคโนโลยีใหม่ที่ทำให้เราผ่อนคลาย การเล่นเกมสอนเราเยอะมาก ช่วยเรื่องภาษา ฝึกทักษะ ทำให้เราเกิดความคิดสร้างสรรค์พัฒนาสติปัญญามากขึ้น” นัยรัตน์ ให้สัมภาษณ์กับ BBC Thai

ยิ่งไปกว่านั้น นักกีฬา eSports ก็ยังเป็นอีกหนึ่งสายงานอาชีพที่เด็กๆ เจน Z นิยมชมชอบมากกว่านักกีฬาแบบดั้งเดิม แม้ผลสำรวจในปี 2016-2017 นักเตะระดับโลกอย่าง คริสเตียโน โรนัลโด และ ลิโอเนล เมสซี จะมีชื่อติดโผ 5 อันดับบุคคลต้นแบบเด็กไทย แต่ปัจจุบัน นักกีฬาคนเดียวที่ติดทำเนียบไอดอลเด็กไทยประจำปีนี้ กลับเป็น นักกีฬา eSports นามว่า “กิตงาย”

 5

แม้คนทั่วไป ในเจเนอเรชั่นอื่นๆ จะพูดถึง และให้การยอมรับว่า คริสเตียโน โรนัลโด, ลิโอเนล เมสซี่ หรือแม้กระทั่ง ชนาธิป สรงกระสินธ์ ประสบความสำเร็จ มีชื่อเสียง โด่งดังเป็นที่รู้จักมากในไทย

แต่การที่เด็กไทย เลือก “กิตงาย” เป็นนักกีฬาที่พวกเขายกให้เป็นไอดอลมากสุดเหนือกว่า 3 บุคคลข้างต้นที่กล่าวมา

อาจมีเหตุผลสำคัญ มากจากการที่ แชนแนลผู้ติดตามของ กฤษฏา ปิมลื้อ หรือ กิตงาย มีผู้ติดตามทาง YouTube 1,924,443 ผู้ใช้งาน และทาง Garena อยู่ที่ 135.4 ผู้ติดตาม ตลอดจนฝีไม้ลายมือการเล่นที่สร้างแรงบันดาลใจ ให้เด็กอยากเก่งแบบเขา

 6

คุณธิดารัตน์ กาญจนวัฒน์ ผู้อำนวยการส่วนภูมิภาค – ไทยและเวียดนาม กลุ่มบริษัทอเด็คโก้ประเทศไทย แสดงความเห็นว่าถึงยุคสมัย และพฤติกรรมที่เปลี่ยนไป ผ่านผลการสำรวจปีนี้ “จากผลสำรวจในปีนี้ชี้ให้เห็นว่าเด็กไทยในยุคนี้มีความเป็น Digital Native อย่างเต็มตัว คุ้นเคยกับเทคโนโลยีมาตั้งแต่เกิดและใช้เทคโนโลยีในชีวิตประจำวันทุกวัน ซึ่งสะท้อนผ่านผลสำรวจที่พบว่าอาชีพอย่างเกมเมอร์และยูทูบเบอร์เริ่มเข้ามาติด Top 5 อาชีพในฝัน และติดโผไอดอลในดวงใจของเด็กไทย”

“มุมมองของเด็กไทยในยุคนี้ต่ออาชีพก็ค่อนข้างน่าสนใจ โดยส่วนใหญ่มองว่าอาชีพที่มีความสุขที่สุดคืออาชีพที่ได้ทำในสิ่งที่ชอบและถนัด และใช้เหตุผลนี้ในการเลือกอาชีพในฝัน ในปีนี้เราจะเห็นว่าเด็กไทยรู้จักอาชีพที่หลากหลายขึ้นตามความสนใจของแต่ละคน เราจะเห็นอาชีพแปลกใหม่เข้ามาในผลสำรวจ เช่น แร็ปเปอร์ นักบรรพชีวินวิทยา ยูทูบเบอร์ นักออกแบบท่าเต้น นักแข่งรถ นักแคสเกม นักดำน้ำ ผู้ประกอบการ ฯลฯ”

นิยามกีฬาที่เปลี่ยนไป?

อย่างที่ทราบกันดีว่า อเมริกันฟุตบอล เป็นกีฬายอดฮิตของชาวอเมริกา แต่เมื่อปีที่ผ่านมา NAB Show Dailynews ลงบทความตอนหนึ่งที่น่าสนใจ ชื่อว่า “เหตุใด eSports ถึงได้รับความนิยม ใกล้เคียง อเมริกันฟุตบอล ในกลุ่มคนเจน Z”

 7

บทความดังกล่าวอ้างอิงผลการสำรวจของ วอชิงตันโพสต์ และ ยูเอส-โลเวลล์ จากกลุ่มตัวอย่างเด็ก เยาวชน อายุ 14-21 ปี พบว่า 38 เปอร์เซนต์ บอกว่าตัวเขาคือแฟน eSports ซึ่งใกล้เคียงกับสัดส่วน 40 เปอร์เซนต์ ของเด็กเยาวชน ที่ตอบว่า เขาเป็นแฟนอเมริกันฟุตบอล

ผลสำรวจ ยังชี้ให้เห็นอีกว่า eSports ได้รับความนิยมในกลุ่มเด็กผู้ชาย มากถึง 89 เปอร์เซนต์ และเมื่อถูกถามว่าหากต้องใช้เวลาว่าง 1 ชั่วโมง พวกเขาจะเลือกทำอะไร มากถึง 78 เปอร์เซนต์ ตอบว่า จะขอนำเอาเวลาเหล่านี้ไป เล่น หรือดูวิดิโอ ไมก็ชมการถ่ายทอดสดกีฬา ซึ่งกีฬาที่พบว่า กลุ่มในวัย 14-17 ปี อยากดูมากสุด คือ การถ่ายทอดสด eSports ที่มีสัดส่วนมากถึง 41 เปอร์เซนต์

“ความนิยมต่อ eSports และเกมออนไลน์ในเด็กและเยาวชนอเมริกัน จัดเป็นกิจกรรมสันทนาการ ที่พวกเขารู้สึกได้มีส่วนร่วม นอกจากนี้ยังเป็นการเปลี่ยนแปลงความเชื่อเรื่องกีฬา ตามวิถีชีวิตแบบอเมริกันสมัยใหม่” ศาสตรจารย์ โจชัว ดิค ผู้อำนวยการศูนย์ยูเอส โลเวลล์ กล่าว

ชัดเจนว่า เทรนด์ของการชมกีฬาเด็กเจเนอเรชั่น Z เปลี่ยนไปและแตกต่างจากคนรุ่นพ่อรุ่นแม่พวกเขา เด็กเจน Z สนใจกีฬาหลากหลายกว่า เจน Me ที่แม้จะเปิดรับกีฬากว่าคนเจน X และ Baby Boomers มากแล้ว แต่ยังไม่เท่ากับ เด็กเจน Z

ที่สำคัญค่านิยมของเด็กผู้ชายเจน Z ต่อกีฬาก็ไม่เหมือนกับเจเนอเรชั่นอื่นๆ เมื่อพวกเขาต้องการกีฬาที่ตอบสนองถึงความเฉลียวฉลาดทางสติปัญญา มากกว่าแค่ใช้พละกำลังเท่านั้น นั่นทำให้ผลสำรวจ ออกมาว่า เด็กเจน Z สนใจกีฬารูปแบบอื่นๆ (Non-Traditonal Sports) ที่ไม่ใช่กีฬาดั้งเดิม มากถึง 56 เปอร์เซนต์

เนื่องจากเด็กสมัยใหม่ ให้คุณค่ากับกีฬาที่ไม่ใช่แบบดั้งเดิม โดยเฉพาะ eSports ที่ต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์สูงกว่า และเข้ามีอิทธิพลผ่านช่องทางสื่อ ที่พวกเขาติดตามอยู่แล้ว

 8

“คำจำกัดความเกี่ยวกับกีฬาของเรา แตกต่างจากคนรุ่นพ่อรุ่นแม่ ที่พวกเขาคิดว่ากีฬาต้องเป็นเรื่องของกีฬาแบบดั้งเดิมเท่านั้น เช่น บาสเกตบอล แต่พวกเขาไม่ได้มีประสบการณ์ และเติบโตมากกับกีฬารูปแบบใหม่ เหมือนกับเรา” เจฟฟรีย์ วัย 19 ปี เปิดเผยผ่าน Whistlesports

เช่นกันกับ อิชัค วัย 15 ที่ให้นิยามว่า “ฉันมองว่า eSports กลายเป็นกีฬากระแสหลักไปแล้ว ดูได้จากการที่ ESPN นำเสนอข่าวสาร บทสัมภาษณ์ บุคคลแถวหน้าของวงการ eSports ผ่านทีวี” 

กลับมาที่สังคมไทย ในอดีต ยังตีกรอบ การเล่นเกมส์ หรือความฝันอยากเป็นนักกีฬาอาชีพ ทั้งแบบ Pro Player ในสายเกมเมอร์ และนักกีฬาอาชีพ (Athlete) ในกีฬาดั้งเดิม ไว้ค่อนข้างแคบ อย่างเรื่องเกมส์ ถูกมองว่าเป็นกิจกรรมไร้สาระ ดูไม่ดี และน่าเป็นห่วงหากทราบว่าบุตรหลาน กำลังติดเกม

ส่วนอาชีพนักกีฬา ในสายกีฬาดั้งเดิม ก็ถูกมองว่าเป็นอาชีพที่ใช้แรง ไม่มีอนาคต เพราะอายุการใช้งานสั้น แถมรายได้น้อย อันเกิดจากโครงสร้างกีฬาอาชีพในเมืองไทย ในอดีตยังไม่มี

ผู้ปกครองที่เป็นกลุ่มคน Baby Boomers หรือเจน X ต้นๆ จึงไม่ค่อยเปิดรับ 2 อาชีพนี้สักเท่าไหร่ เมื่อเทียบกับอาชีพข้าราชการ, วิศวกร, หมอ, ครู ที่ดูมั่นคงกว่า

อาชีพในฝันของเด็กเจน Me จึงนิยมเลือกงานที่มีความมั่นคง เป็นอันดับ 1 มากกว่างานที่ตัวเองสนใจ ส่วน เจน Z เติบโตมาในยุคที่เทคโนโลยี พัฒนามาอย่างเต็มศักยภาพ มีอาชีพใหม่เกิดขึ้นมากมาย ส่วนบางชนิดกีฬามีลีกอาชีพที่แข็งแกร่ง ทำให้ผู้ปกครองเจน X เชื่อมั่น สนับสนุนลูกเล่นกีฬามากขึ้น

เหตุสำคัญมาจากการที่ Baby Boomers ที่เลี้ยงดู คนเจน Me มักใส่ความเชื่อ ความคิดเรื่องความมั่นคงในชีวิต อย่างน้อยที่สุดควรต้องเรียนให้จบ หางานที่มั่นคงทำ มากกว่าถามถึงความถนัดเฉพาะทาง คนเจน Me จึงให้ความสำคัญกับการเรียนให้จบ

ดังเห็นได้จาก นักกีฬาฟุตบอลอาชีพในไทยลีก ในปัจจุบัน ยังคงเตะฟุตบอลไปด้วย เรียนไปด้วย แม้จะมีรายได้จากการค้าแข้งที่สูงมากก็ตาม

ต่างจากคน เจน Z มีความเชื่อมั่นในตัวเองสูง มากกว่าคนเจเนอเรชั่นก่อนหน้านั้น เด็กหลายคนไม่คิดว่า การศึกษาเป็นจุดเริ่มต้นความสำเร็จเสมอไป หากพวกเขาค้นหาตัวเองเจอ มีแนวโน้มสูงที่เด็กรุ่นใหม่ จะลงมือทำเลย เพราะมีความเชื่อมั่นว่าจะประสบความสำเร็จ

เกมเมอร์ในไทย จำนวนไม่น้อย ไม่ได้ศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษา หรือต้องดร็อปการเรียนไว้ เพื่อเลือกเดินเส้นทางการเป็น นักกีฬา eSports อาชีพ

หนึ่งนรา ธีรมหานนท์ หรือ “23Savage” โปรเพลเยอร์เกม Dota 2 วัย 16 ปี จากทีม  MS Cerberus Dota 2 ตัดสินใจลาออกจากโรงเรียน มาเดินสายเกมเมอร์ เพราะมีความมุ่งมั่นสูงอยากประสบความสำเร็จในเส้นทางนี้ หรืออย่างในรายของ “07T” คมกฤช มะเดื่อทอง โปรเพลเยอร์เกม RoV จากทีม Bazaar Gaming เขาหันหลังให้กับการเรียนตั้งแต่ยังไม่จบ ป.6 ด้วยซ้ำ แต่ปัจจุบันเขากลายเป็น เกมเมอร์ที่มีรายได้หลักแสนบาทต่อเดือน

 9

เมื่อย้อนผลการสำรวจอาชีพในฝันของเด็กไทย รอบ 9 ปีที่ผ่านมา พบว่า อาชีพที่ดูมั่นคง ตามความเชื่อในอดีต ทั้ง วิศวกร, นักธุรกิจ, ข้าราชการ, ตำรวจ, นักบิน ฯ ไม่ได้อยู่ในโผ 5 อันดับแรกของเด็กไทย เจน Z ณ ปัจจุบันแล้ว  แต่ทว่า อาชีพนักกีฬา และอาชีพสายเกมเมอร์ กลับติด 2 ใน ท็อป 5 อาชีพในฝันของเด็ก

นั่นเป็นเหตุผลที่ว่า มหาวิทยาลัยเอกชนชั้นนำในไทย อย่าง ม.กรุงเทพ, ธุรกิจบัณฑิตย์, ศรีปทุม, หอการค้าไทย, รังสิต ขยับตัวเปิดหลักสูตรเกี่ยวกับ eSports เพื่อรองรับคนที่มีความสนใจในสายงานอาชีพนี้ ที่มีอนาคต และยังสามารถเติบโตไปได้อีกไกลมาก ไม่ใช่แค่ยึดติดอยู่กับแค่กีฬาดั้งเดิมเท่านั้น

รวมถึงลีกกีฬาดั้งเดิมชั้นโลกของหลายแห่ง เริ่มพยายามหาทางเชื่อมต่อตัวเองเข้ากลุ่มคนเจน Z ผ่านการถ่ายทอดสดในระบบสตรีมมิ่ง ยกตัวอย่าง NBA ที่เซ็นสัญญาบรรลุข้อตกลงกับ Twitch ในการสตรีมกีฬา หรือ Facebook ที่คว้าลิขสิทธิ์พรีเมียร์ลีก ถ่ายทอดสดในไทย ตั้งแต่ฤดูกาลหน้า เป็นต้นไป

“การที่ NBA ปรับตัวบรรลุข้อตกลงกับ Twitch ในการสตรีมกีฬา กำลังแสดงให้เห็น แม้แต่ลีกกีฬาดั้งเดิมที่ยิ่งใหญ่ของโลก ยังมีความพยายามจะเชื่อมต่อกับผู้บริโภคหลัก และแฟนๆ ในวัยเจน Z ผ่านวิดิโอสตรีมมิ่ง เพื่อลดระหว่างกีฬากับเด็กรุ่นใหม่ลงไป” แอนโธนี คาโปนิตี ผู้ร่วมก่อตั้ง Hashtag Sports กล่าวผ่าน KidSay

อาชีพที่มีอนาคต

ตามประมาณการตัวเลขของ Newzoo ระบุว่า นักกีฬา eSports จากทั่วโลก ทำรายได้มากถึง 696 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในรอบปีที่ผ่านมา หรือคิดเป็นเงินไทยประมาณ 22,213,536,000 บาท นับเป็นตัวเลขที่สูงมาก

ส่วนนักกีฬา eSports ไทย ที่ทำเงินรางวัลได้มากสุด ได้แก่ อนุชา จิรวงศ์ หรือ “JABZ” โปรเพลเยอร์วัย 20 ปี จากเกม Dota 2 ที่กวาดรายได้จากการแข่งขันไปถึง 321,458 ดอลลาร์สหรัฐฯ คิดเป็นเงินไทย 10,300,000 บาท ติดอันดับ 276 นักกีฬา eSports ที่ทำเงินได้มากสุดในโลก จากการจัดอันดับของ eSports earnings ซึ่งทั้งหมดยังไม่รวมรายได้ ทางอื่นที่เขาทำได้อีก นอกเหนือจากเงินรางวัลแข่งขัน

 10

ตัวเลขดังกล่าวเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เห็นว่า อาชีพสายเกมเมอร์ มีอนาคต เมื่อมูลค่าทางการตลาดเกิดขึ้น มีรายได้ มีสังกัด มีลีกอาชีพรองรับ รวมถึงชื่อเสียง

ซึ่งเด็กเจน Z ที่มีความชอบในการเล่น เกมส์ เป็นทุนเดิม ก็ย่อมรู้สึกว่าความฝันในการเป็น นักกีฬา eSports สามารถเป็นไปได้ ตามแบบอย่างความสำเร็จ ที่มีคนทำให้เห็นแล้ว ยิ่งไปกว่านั้น อาชีพนักกีฬา eSports ยังเข้ากับพฤติกรรมการทำงานของคนเจน Z มากกว่านักกีฬาแบบดั้งเดิม

ในขณะที่นักกีฬาแบบดั้งเดิม ต้องใช้ร่างกาย ฝึกฝน ทักษะกีฬา ความสามารถ ตั้งแต่อายุยังน้อย และกว่าจะสามารถเล่นในระดับสูง ในลีกอาชีพได้ต้องใช้เวลานานหลายปี ยกตัวอย่าง สโมสรหนึ่งในไทย เปิดคัดตัวเด็กเข้าอคาเดมี ตั้งแต่อายุ 10 ปีขึ้นไป

เท่ากับว่าเด็กคนนั้น อาจต้องเริ่มต้นเล่นฟุตบอลก่อนหน้านั้น อย่างน้อย 1-2 ปี เพื่อเรียนรู้พื้นฐานเบื้องต้น พัฒนาทักษะ เพื่อไปแข่งคัดตัวกับเด็กอีกหลายพันชีวิตในรุ่นราวคราวเดียวกัน

เมื่อได้เข้ามาอยู่ในอคาเดมี ก็ต้องผ่านการฝึกซ้อม เสริมสร้างร่างกายกล้ามเนื้อ และลงสนามจริง กว่าจะได้เล่นชุดใหญ่ บางคนอาจใช้เวลา 7 ปี 8 ปี 9 ปี ฯลฯ ขึ้นอยู่กับ เด็กคนนั้น พัฒนาด้านร่างกาย ทักษะ ความเข้าใจเกมได้มากแค่ไหน

 11

แต่กลับกัน eSports มีเกมให้เลือกหลากหลายชนิด และไม่ได้ยึดติดว่า ฝึกเล่นเกมนี้แล้ว จะต้องเล่นเกมนี้เสมอไป หากในช่วงที่เกมอื่น มีกระแสเกมมาแรง มีรางวัลสูงกว่า ก็มีโอกาสที่ผู้เล่นในเกมลักษณะคล้ายๆกัน จะย้ายไปเล่นเกมใหม่ ต่างจากกีฬาดั้งเดิม หากคนที่ฝึกเล่นฟุตบอลมาหลายปี ครั้นจะเปลี่ยนไปเล่น บาสเกตบอล ให้เก่งกาจคงเป็นไปได้ยาก แต่สิ่งนี้นักกีฬา eSports สามารถทำ และต่อยอดไปได้เรื่อยๆ

“เวลาออกงานแล้วเจอเด็กๆ ที่ชอบเรา เราจะบอกผู้ปกครองเด็กเสมอว่า ถ้าเห็นว่าเด็กมีพรสวรรค์ ก็ควรจะสนับสนุน เพราะที่บ้านผมพ่อแม่ก็สนับสนุนผมมาตลอด ผมอธิบายกับเด็กๆ บอกวิธีการดูว่า เขามีพรสวรรค์อย่างไร เช่น เล่นไปแล้ว 1,000 เกม อยู่อันดับไหน ถ้าติด 1 ใน 50 ได้ ก็ถือว่ามีพรสวรรค์”

“อีกอย่างคือประเทศไทย เป็นประเทศที่มีเด็กเล่นเกมเก่งเยอะมากๆ ส่วนเด็กจะได้รับการสนับสนุนหรือไม่ ก็ขึ้นอยู่กับตัวผู้ปกครอง ซึ่งผู้ปกครองควรจะดูแลอย่างใกล้ชิด ถือเป็นสิ่งสำคัญ”

“วงการอีสปอร์ตส์มันไม่สิ้นสุดครับ แต่สิ่งที่สิ้นสุดคือเกม คือเกมแต่ละเกมจะมีช่วงฮอตและดับไป แต่สิ่งที่เก็บเกี่ยวได้คือประสบการณ์ ซึ่งเราสามารถผันตัวไปเป็นโค้ช การเป็นสตรีมเมอร์  เราสามารถนำผลงานเราไปต่อยอดได้ ถ้าเรามีฐานแฟนคลับที่มากพอ” กิตงาย ให้สัมภาษณ์ผ่านช่อง 3 ถึงมุมมองของเขา ที่เห็นว่านี่เป็นอาชีพหนึ่งที่มีอนาคต

 12

นักวิเคราะห์ตลาดแรงงาน วิเคราะห์ว่า ในอนาคต ตำแหน่งงาน 2 ประเภท จะมีค่าตอบแทนสูงขึ้น คือ อาชีพที่ต้องใช้ความรู้ทางเทคนิค และอาชีพแบบไฮบริด อันหมายถึง อาชีพที่เกิดจากการควบรวมศาสตร์ ที่แตกต่างเข้าด้วยกันกลายเป็นอาชีพใหม่

งานลักษณะไฮบริดนี่เอง ที่เป็นอาชีพที่เข้ากับพฤติกรรมของเด็กเจน Z ที่ชอบทำงานหลายอย่าง (ตัวอย่าง นักกีฬา eSports ก็ควบงานนักแคสต์เกมด้วยเป็นรายได้อีกทาง) เพื่อให้สถานะทางการเงินมั่นคง โดยยึดถือว่าการสื่อสารกับการแก้ปัญหาคือทักษะสำคัญสำหรับพวกเขา

ซึ่งก็ตรงกับ คุณสมบัติของโปร เพลเยอร์ บนโลกเสมือนจริงที่ต้องใช้ทักษะเฉพาะทางในการควบคุมบังคับตัวละครในเกม ควบคู่ไปกับการแก้ปัญหา ภารกิจ ตามสถานการณ์ของเกมที่แปรผันได้ตลอดเวลา เช่นกันกับ นักแคสต์เกม ต้องมีทักษะการเล่นเกมในระดับหนึ่ง ผสมผสานกับการใช้ทักษะสื่อสาร  การเตรียมข้อมูลที่ดี โดย แป้ง Zbing Z. เปิดเผยว่าเธอใช้การเตรียมข้อมูลก่อนถ่ายคลิปครั้งหนึ่ง 6-8 ชั่วโมง และใช้เวลาเท่ากันในการตัดต่อหลังถ่ายทำเสร็จ เพื่อให้งานออกมาดีที่สุด

 13

“นอกจากนี้เราจะเห็นได้ว่าเด็กไทยมีความตื่นตัวต่อการพัฒนาทักษะ โดยเฉพาะทักษะภาษาต่างประเทศและทักษะทางเทคโนโลยี ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าส่งเสริม เพราะทักษะเหล่านี้เป็นทักษะสำคัญที่จะช่วยให้เด็กไทยสามารถรับมือกับความเปลี่ยนแปลงในอนาคต ทุกวันนี้โลกการทำงานเปลี่ยนแปลงเร็วมาก” ธิดารัตน์ กาญจนวัฒน์ ผู้อำนวยการส่วนภูมิภาค – ไทยและเวียดนาม กลุ่มบริษัทอเด็คโก้ประเทศไทย กล่าวเริ่ม

“ในอนาคตผู้คนราว 60% จะประกอบอาชีพที่ไม่ได้มีอยู่ในทุกวันนี้ ดังนั้นจึงเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่งที่ผู้ปกครอง สถาบันการศึกษา และภาครัฐ จะร่วมมือกันส่งเสริมเด็กตามพื้นฐานความชอบ ความถนัด พัฒนาทักษะที่จำเป็นสำหรับยุคดิจิตอล และนำเทคโนโลยีมาสนับสนุนการเรียนรู้ตลอดชีวิต เพื่อพัฒนาเด็กไทยให้เป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศชาติในยุคดิจิทัล”

การเติบโตของวงการ eSports นอกจากจะดึงดูดให้เด็กเจน Z หันมาเข้าอุตสาหกรรมนี้มากขึ้น ไม่ใช่สนใจเข้าไปอยู่ในอุตสาหกรรมกีฬาดั้งเดิม แบบลีกอาชีพ

มูลค่าการตลาด โอกาสในการทำธุรกิจ ยังหอมหวานเชื้อชวนให้ภาคธุรกิจ เอกชน หันมาลงไม่ว่าจะเป็น การเข้ามาผู้สนับสนุนทีม สนับสนุนลีก ตลอดจนการซื้อโฆษณาในช่วงถ่ายทอดสด จนถึงขั้นซื้อลิขสิทธิ์ไปถ่ายทอดสดเหมือนกีฬาทั่วไป

อย่างในปี 2018 ที่ผ่านมา การแข่งขัน LoL World Championship 2018 ในคู่ระหว่าง iG vs FNC ได้กลายเป็นแมตช์ที่มียอดผู้ชมสูงสุดในรอบปี ถึง 205,348,063 คน ขณะที่ตัวเลขผู้ใช้งาน Twitch แพลทฟอร์มผู้ให้บริการการสตรีมมิ่ง แก่เกมเมอร์รายใหญ่ของโลก เปิดเผยตัวเลขว่าในแต่ละวันมีผู้ใช้งานเข้าชมมากถึง 15 ล้านคนต่อวัน เฉลี่ยคนละ 106 นาที

 14

นั่นจึงเป็นเหตุผลที่ทำไม สินค้าต่างๆ มากกว่า 600 แบรนด์ถึงให้การสนับสนุนทีม eSports ในปัจจุบัน แม้แต่ทีมกีฬาดั้งเดิมหลายๆสโมสรในยุโรป รวมถึงในไทยอย่าง บุรีรัมย์ ยูไนเต็ด ก็ยังหันมาสร้างทีมกีฬาอิเลกทรอนิกส์ เพื่อเชื่อมโยงต่อตัวเอง และเข้าถึงกลุ่ม เจน Z

ทั้งหมดเป็นเรื่องราว ที่ทำให้เราเห็นภาพของยุคสมัยที่เปลี่ยนไป ผ่านภาพการเติบโตของวงการเกมเมอร์ และพฤติกรรมของเด็กรุ่นใหม่ เจเนอเรชั่น Z ที่พ่อแม่ผู้ปกครองอาจต้องทำความเข้าใจบุตรหลานใหม่ ว่าพวกเขาเติบโตมาในยุคสมัยที่โลกเปลี่ยนไปจากเดิมมากแล้ว บางความเชื่อ บางความปรารถนา อาจจะดีกว่า หากเด็กๆ ได้ฝึกฝนและเลือกทำในสิ่งที่พวกเรา โดยมีผู้ปกครองให้การสนับสนุน และดูแลด้วยความเข้าใจ

เพราะเด็กๆ เจเนอเรชั่นนี้ ไม่ได้คิดว่า การเล่นเกมเป็นกิจกรรมไร้อนาคตอีกต่อไป, หรือขาดความเชื่อมั่นในตัวเองว่า อาชีพในฝันของพวกเขาจะไม่สามารถเป็นจริงได้ ในยุคที่โอกาสเปิดกว้าง อย่างในปัจจุบัน

อัลบั้มภาพ 14 ภาพ

อัลบั้มภาพ 14 ภาพ ของ โลกเปลี่ยน : เหตุใดเด็กไทยรุ่นใหม่ถึงสนใจ "อาชีพเกมเมอร์" มากกว่านักกีฬาสนามจริง?

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook