"เทรนด์โลกกีฬา" ที่อาจเปลี่ยนไปในปี 2019

"เทรนด์โลกกีฬา" ที่อาจเปลี่ยนไปในปี 2019

"เทรนด์โลกกีฬา" ที่อาจเปลี่ยนไปในปี 2019
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ปฏิทินล่วงเวลาใกล้เข้าสู่ปีใหม่คราใด ทุกคนต่างก็คาดหวังว่าจะมีสิ่งใหม่ๆ เข้ามาในชีวิตกันทั้งสิ้น ซึ่งแน่นอน เราๆท่านๆต่างรอคอยมันด้วยความเชื่อที่ว่า ชีวิตจากนี้จะดีขึ้นกว่าปีที่ผ่านมา

ถึงกระนั้น สิ่งหนึ่งที่เราต้องยอมรับว่ามันเป็นสัจธรรมทุกครั้งเมื่อย่างเข้าสู่ปีใหม่คือ การเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของกระแส หรือ เทรนด์ ที่ไม่ว่าวงการใดก็เปลี่ยนแปลงทั้งนั้น ไม่เว้นแม้แต่วงการกีฬา

 

ปี 2019 ที่กำลังจะมาถึง เทรนด์ของโลกกีฬามีแนวโน้มเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร? วิถีชีวิตของคนรักกีฬาอย่างเราๆท่านๆ อาจเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรได้บ้าง? Main Stand รวมรวมข้อมูลจากหลายแหล่ง รวมถึงจาก นีลเส็น (Neilsen) บริษัทวิจัยการตลาดชื่อดังระดับโลกมานำเสนอ เพื่อให้ทุกท่านเตรียมพร้อมเข้าสู่ศักราชใหม่ไปด้วยกัน

ถึงเวลาสตรีมมิ่งเปลี่ยนชีวิตคนดูกีฬา

พูดถึงการชมกีฬา นอกจากการไปดูแบบสดๆ ถึงขอบสนามแล้ว การรับชมผ่านการถ่ายทอดสด หรือแม้แต่บันทึกเทปการแข่งขันผ่านหน้าจอทีวี ไม่ว่าจะฟรีทีวีหรือเคเบิ้ลทีวีก็ตามน่าจะเป็นสิ่งที่เราทุกคนต่างก็คุ้นเคยมาช้านาน

 1

ทว่าในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ก็ปฏิเสธไม่ได้เช่นกันว่า การรับชมผ่านการสตรีมมิ่ง (Streaming) ไม่ว่าจะผ่านคอมพิวเตอร์, สมาร์ทโฟน, แท็บเล็ต หรือแม้แต่สมาร์ททีวี เริ่มเป็นสิ่งที่ได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ เมื่อคุณสามารถดูได้ทุกที่ ทุกเวลา แถมภาพยังคมชัด และดีเลย์แทบไม่แตกต่างจากการชมผ่านทีวีปกติเลยแม้แต่น้อย

ซึ่งในเมืองไทย เราได้เห็นการรุกไล่ของสตรีมมิ่งในการดูกีฬาแล้วหลายรายการ ไม่ว่าจะเป็นการชมผ่านแอพลิเคชั่นต่างๆ รวมถึงศึกยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ ลีก ที่ DAZN (ดะโซน) ผู้ให้บริการสตรีมมิ่งสายกีฬาชั้นแนวหน้าซี้อลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสด ก่อนเปิดให้ชมแบบฟรีๆ ผ่านเว็บไซต์ Goal ที่อยู่เครือเดียวกันในฤดูกาลนี้

ก้าวสู่ปี 2019 DAZN หรือ ‘Netflix แห่งวงการกีฬา’ รวมถึงผู้ให้บริการรายอื่นๆ ก็เตรียมเปิดประสบการณ์ชมกีฬาลักษณะนี้ในกีฬาที่หลากหลายยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็นฟุตบอล, รถสูตรหนึ่ง หรือแม้กระทั่งมวยสากล แน่นอน หนึ่งในขาใหญ่ที่เตรียมลงสนามนี้อย่างเต็มตัวคงหนีไม่พ้น Facebook เครือข่ายสังคมออนไลน์อันดับ 1 ของโลก ที่เตรียมถ่ายทอดสดฟุตบอล พรีเมียร์ลีก ของอังกฤษ ลีกฟุตบอลยอดนิยมอันดับ 1 ของโลกตั้งแต่ฤดูกาล 2019/20 เป็นต้นไป

ไม่เพียงเท่านั้น เจ้าของลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสด รวมถึงลีกกีฬา และทีมกีฬา ยังมีแนวโน้มที่จะผลิตคอนเทนท์ต่างๆ ทั้งไฮไลท์การแข่งขัน รวมถึงบทสมภาษณ์ และฟีเจอร์อีกมากมาย มาเสิร์ฟแก่แฟนกีฬาผ่านสื่อสังคมออนไลน์ รวมถึงบนแอพลิเคชั่นของตนมากขึ้น ส่วนหนึ่งก็เพื่อหยุดยั้งขบวนการละเมิดลิขสิทธิ์ แต่ขณะเดียวกัน การทำคอนเทนท์ลักษณะนี้ ยังสามารถเข้าถึงตัวผู้บริโภค รวมถึงเป็นช่องทางสร้างรายได้ใหม่ได้อีกด้วยเช่นกัน

อีสปอร์ตส์ที่ว่าโต...จะโตอีกแค่ไหน?

ตลอดช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา การแข่งขันเกมที่หลายคนมองว่าเป็นเรื่องเล่นๆ ก็ไม่ใช่เรื่องเล่นอีกต่อไป เมื่ออุตสาหกรรมนี้ขยายตัวอย่างไม่หยุดยั้ง จนได้รับชื่อใหม่ว่า “อีสปอร์ตส์” ซึ่งมูลค่าทางการตลาดของมันในตอนนี้ทะยานเกือบแตะหลัก 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (33,000 ล้านบาท) เข้าไปทุกที

 2

สาเหตุส่วนหนึ่งที่ทำให้อีสปอร์ตส์เติบโตได้ถึงเพียงนี้ก็เพราะว่า นอกจากบริษัทผู้สร้างเกมจะโปรโมทอย่างหนักแล้ว ความหอมหวลของมันยังไปโดนใจบริษัทต่างๆ รวมถึงทีมกีฬาอาชีพที่ต้องการจับตลาดคนรุ่นใหม่ ซึ่งช่วยให้พวกเขาใกล้ชิดกับกลุ่มลูกค้านี้มากขึ้น

โดยในปี 2019 นี้ เราคงไม่ต้องถามกันอีกแล้วว่า “อีสปอร์ตส์จะโตกว่านี้อีกมั้ย?” เพราะไม่ว่าอย่างไรเสีย มันก็โตขึ้นแน่ๆ คำถามที่เหมาะสมกว่าจึงควรเป็นคำถามว่า “มันจะโตอีกแค่ไหน?” จะดีกว่า เพราะทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นบริษัทเกม, ทีมและลีกกีฬาอาชีพ รวมถึงผู้สนับสนุนอย่างบริษัทต่างๆ ก็พร้อมที่จะทุ่มงบสนับสนุนให้มากขึ้นกว่าเดิมอย่างไม่ต้องสงสัย ซึ่งแน่นอนว่า มันจะทำให้เส้นแบ่งระหว่างอีสปอร์ตส์ กับการแข่งขันกีฬาปกติจางลงเรื่อยๆ จนอาจเป็นหนึ่งในการแข่งขันกีฬาที่ทั้งโลกยอมรับได้ในอีกไม่นานจากนี้

และเรื่องดังกล่าวยังได้นำมาซึ่งอีกคำถามสำคัญในปี 2019 คือ “Dota 2” ที่ขึ้นแท่นเกมชิงเงินรางวัลสูงสุด โดยปีที่ผ่านมามีเงินรางวัลให้ชิงตามรายการต่างๆ สูงถึง 41 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (1,300 ล้านบาท) จะยังรักษาตำแหน่งดังกล่าวไว้ได้อีกหรือไม่? เมื่อ “Fortnite” ประกาศว่า ในปี 2019 พวกเขาต้องการให้เกมนี้มีอีเวนท์แข่งขันมากขึ้น รวมถึงเงินรางวัลรวมทุกรายการที่สูงถึงหลัก 100 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (3,300 ล้านบาท) เลยทีเดียว

การตลาดเพื่อความหลากหลายและบ่งบอกตัวตน

กีฬากับการตลาด คือสองสิ่งที่อยู่คู่กันอย่างไม่อาจแยกออก เมื่อต่างฝ่ายต่างมีส่วนช่วยส่งเสริมซึ่งกันและกัน ในการสร้างภาพลักษณ์จนกลายเป็นภาพจำ รวมถึงความผูกพันระหว่างแบรนด์สินค้ากับการแข่งขัน, ทีม หรือแม้กระทั่งนักกีฬา

 3

ทว่าในสภาพสังคมปัจจุบันที่มีความหลากหลายมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเพศ, แนวคิดทางการเมือง ฯลฯ การทำการตลาดของวงการกีฬาก็จำเป็นที่จะต้องตอบสนองความหลากหลายของกลุ่มคนเหล่านั้นด้วย ซึ่งเชื่อว่าหลายคนคงจะได้เห็นกันตลอดช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ที่วงการกีฬามักจะมีการกล่าวถึงเทศกาลสำคัญของคนเชื้อชาติ ศาสนา รวมถึงความเชื่อต่างๆ เพื่อให้ผู้ชมรู้สึกถึงความใกล้ชิดที่มีต่อกัน

ถึงกระนั้น ยังมีอีกแนวทางการทำการตลาดเกี่ยวกับกีฬาที่น่าสนใจ คือการเจาะตลาดกลุ่มลูกค้าเฉพาะไปเลย ด้วยการใช้พรีเซนเตอร์ หรือแนวทางการโฆษณาที่บ่งบอกตัวตนว่า คนที่ใช้สินค้าดังกล่าวมีตัวตนในลักษณะไหน

แม้การทำตลาดในลักษณะดังกล่าวอาจจะทำให้สูญเสียลูกค้าในกลุ่มที่มีความเชื่อไม่ตรงกัน แต่กลุ่มลูกค้าที่แบรนด์สินค้านั้นวางให้เป็นเป้าหมายและทำการตลาดโดยอิงกับคนกลุ่มนั้น ก็จะรู้สึกว่า แบรนด์ดังกล่าวคือสิ่งที่สะท้อนตัวตนที่แท้จริงของเขา ส่งผลให้เกิดความยินดีที่จะซื้อสินค้าหรือสนับสนุนอย่างเต็มใจ ยกตัวอย่างก็เช่น โฆษณาของ Nike ที่ใช้ โคลิน เคปเออร์นิก ผู้ปลุกกระแสคุกเข่าประท้วงการเหยียดสีผิว เชื้อชาติ และการปฏิบัติอันไม่เป็นธรรมของเจ้าหน้าที่รัฐไงล่ะ

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook