มิคุนิ เวิลด์ สเตเดียม : สนามฟุตบอลหมื่นล้านของทีมดิวิชั่น 3 ในญี่ปุ่น

มิคุนิ เวิลด์ สเตเดียม : สนามฟุตบอลหมื่นล้านของทีมดิวิชั่น 3 ในญี่ปุ่น

มิคุนิ เวิลด์ สเตเดียม : สนามฟุตบอลหมื่นล้านของทีมดิวิชั่น 3 ในญี่ปุ่น
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

บริเวณแหลมเล็กๆ ทางตอนเหนือของเกาะคิวชู ประเทศญี่ปุ่น มีสนามฟุตบอลขนาดย่อมแฝงตัวอยู่

สนามฟุตบอลแห่งนี้จุผู้คนได้ราว 15,300 คน มีอัฒจันทร์ครบทั้งสี่ด้าน แต่ด้านหนึ่งเปิดโล่งไร้หลังคาเผยให้เห็นทิวทัศน์ที่สวยงามของทะเลฝั่งช่องแคบคัมมง

ด้วยงบประมาณในการก่อสร้างที่สูงถึง 11,500 ล้านเยน (ราว 3,450 ล้านบาท) ทำให้อาจคิดว่าสนามฟุตบอลแห่งนี้น่าจะเป็นสนามของทีมในลีกสูงสุด แต่กลับกัน มันคือสนามเหย้าของ กิราวานซ์ คิตะคิวชู ทีมดิวิชั่น 3 หรือลีกอาชีพระดับต่ำสุดของญี่ปุ่น  

 

นี่คือ มิคุนิ เวิลด์ สเตเดียม สนามฟุตบอลที่มีวิวสวยที่สุดสนามหนึ่งในโลก

ริเวอร์ไซด์ สเตเดียม

ปี 2010 กลายปีที่ชื่นมื่นของแฟนบอล กิราวานซ์ คิตะคิวชู สโมสรที่เพิ่งก่อตั้งมาไม่ถึง 10 ปี หลังทีมรักของพวกเขาได้สิทธิ์เลื่อนชั้นขึ้นไปเล่นในเจลีกดิวิชั่น 2 ได้สำเร็จ ทั้งที่จบอันดับ 4  ของตาราง หลังทีมที่จบในอันดับเหนือพวกเขาไม่ผ่านเกณฑ์คลับไลเซนซ์ของเจลีก  

 1

การเลื่อนชั้นขึ้นมาเล่นในลีกอาชีพได้เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ ทำให้ ฮอนโจ แอธเลติก สเตเดียม รังเหย้าที่จุผู้คนได้ราว 10,000 คน คับแคบเกินไปสำหรับการเป็นสโมสรอาชีพ แผนการสร้างสนามใหม่จึงถูกเสนอขึ้นมา

แรกเริ่มเดิมที สโมสรตั้งใจที่จะปรับปรุงฮอนโจ สเตเดียม และเพิ่มความจุเป็น 10,202 คน แต่หลังจากพิจารณาอย่างถี่ถ้วนแล้ว สภาเมืองก็มีมติให้สร้างสนามใหม่ที่มีความจุอย่างน้อย 15,000 ที่นั่ง เพื่อให้ตรงตามเงื่อนไขการเป็นสโมสรเจลีกดิวิชั่น 1 เผื่อว่าวันหนึ่งพวกเขาจะได้ขึ้นไปสูดอากาศบนลีกสูงสุด

 2

“เราจะมอบความฝันและความประทับใจให้แก่ชาวเมือง เราจะสร้างสิ่งก่อสร้างที่เป็นหัวใจในการจัดการแข่งขันฟุตบอลและรักบี้ไม่ว่าในระดับสูงแค่ไหน ระดับอาชีพหรือสมัครเล่น เพื่อมอบโอกาสของ ‘กีฬาที่ดูได้’ และเชื่อมโยงไปสู่การสร้างเมืองคิตะคิวชูที่มีความกระปรี้กระเปร่าและความมั่งคั่ง” แถลงการณ์ของเมืองคิตะคิวชูผ่านหน้าเว็บไซต์อย่างเป็นทางการ

หลังควานหาพื้นที่ในการสร้างสนามทั่วทั้งคิวชู ทั้งทางบกหรือกระทั่งใช้โดรนบินสำรวจ สภาเมืองก็มีมติเลือกพื้นที่บริเวณโคคุระเหนือใกล้กับท่าเรือเป็นพื้นที่ในการสร้างสนาม

บริเวณดังกล่าวเคยเป็นที่จอดรถเก่าทางตอนเหนือของสถานีรถไฟโคคุระ โดยหวังที่จะให้สนามแห่งใหม่นี้กลายเป็นศูนย์กลางในการกระตุ้นเศรษฐกิจแห่งใหม่ของเมือง เนื่องจากพื้นที่ดังกล่าวมีคนสัญจรน้อยกว่าฝั่งใต้

 3

“มันไม่ใช่แค่เรื่องฟุตบอล แต่เราจะทำให้คนหนุ่มสาวมาอยู่ใจกลางเมือง โดยการสร้างสถานที่ที่จะมีคนพลุกพล่านแห่งใหม่ขึ้นมา มันจะกลายเป็นสถานที่สำคัญสำหรับเมืองนี้” เคนตะ คิตาฮาชิ นายกเทศมนตรีคิตะคิวชูในสมัยนั้นกล่าวกับ Sponichi

แม้ว่าบริเวณนี้จะไม่ใช่ตัวเลือกแรกในการสร้างสนาม แต่ก็เป็นพื้นที่ที่อยู่ใจกลางเมืองคิตะคิวชู และสะดวกในการเดินทางด้วยระบบขนส่งสาธารณะ และที่สำคัญมันยังตั้งอยู่ชิดติดกับแม่น้ำแบบสุดๆ

สนามกีฬาหมื่นล้าน

ด้วยที่ตั้งอยู่ในเขตท่าเรือ ทำให้พื้นที่สร้างสนามแห่งใหม่ของคิตะคิวชู ตั้งอยู่ใกล้กับช่องแคบคัมมง ที่เป็นเส้นแบ่งเขตเกาะคิวชูออกจากฮอนชู เกาะใหญ่ที่สุดของญี่ปุ่น และทำให้พวกเขากำลังจะมีสนามที่อยู่ติดกับทะเลมากที่สุดในแดนอาทิตย์อุทัย

 4

อย่างไรก็ดี แม้จะหาพื้นที่สร้างสนามได้แล้ว แต่อุปสรรคต่อมาคือค่าใช้จ่ายในการเนรมิตรสนามแห่งใหม่ก็เป็นจำนวนไม่น้อย เมื่อจากการประเมินกันว่าจะใช้เงินเป็นจำนวนสูงถึง 10,000 ล้านเยน

ด้วยความที่สโมสรญี่ปุ่น ไม่สามารถมีสนามเป็นของตัวเอง สนามส่วนใหญ่จึงเป็นกรรมสิทธิ์ของเมือง โดยสโมสรเป็นผู้เช่า ทำให้การสร้างสนามแห่งใหม่จึงกลายเป็นหน้าที่หลักของเมืองคิตะคิวชู ทั้งการวางแผน และการระดมทุน

โชคดีที่การสร้างสนามในครั้งนี้ได้รับการสนับสนุนเงินเป็นจำนวน 3,000 ล้านเยน (ราว 900 ล้านบาท) จาก TOTO บริษัทล็อตเตอรีด้านกีฬา และเป็นหนึ่งในผู้สนับสนุนหลักของเจลีก ทำให้ มิคุนิ เวิลด์ สเตเดียมกลายเป็น สนามฟุตบอลแห่งที่ 2 ต่อจาก ซุอิตะ ซิตี้ ฟุตบอล สเตเดียม ของกัมบะ โอซากา ที่ได้รับการช่วยเหลือทางการเงินจากพวกเขา

 5

หน้าที่ของเมืองคือการหาเงินเพิ่มอีก 7,000 ล้านเยน (ราว 2,100 ล้านบาท) ก่อนจะงอกขึ้นมาเป็น 8,500 ล้านเยน( ราว 2,550 ล้านบาท) เนื่องจากตอนแรกวางแผนไว้ว่าจะมีหลังคาฝั่งอัฒจันทร์หลักเพียงแค่ฝั่งเดียว ก่อนจะเปลี่ยนแผนเพิ่มหลังคาทางฝั่งทิศเหนือและทิศใต้เข้าไปด้วย

การหาเงินจำนวนขนาดนี้ภายในเวลาจำกัดการระดมทุนจากคนในชุมชนคือตัวหนึ่งในตัวเลือก และวิธีที่ดีที่สุดคือการออกพันธบัตรรัฐบาลท้องถิ่น ที่ทำให้ผู้คนในท้องถิ่นได้มีส่วนร่วมในการก่อสร้างสนาม

แม้ว่าในช่วงแรกจะมีการต่อต้าน เนื่องจากมองว่าการสร้างสนามกีฬาในราคาขนาดนี้ เป็นการลงทุนที่มากจนเกินไป และส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของเมือง แต่สุดท้ายพวกเขาก็สามารถรวบรวมเงินจนสามารถสร้างสนามได้สำเร็จ และเริ่มก่อสร้างอย่างเป็นทางการเดือนเมษายน 2015

ผ่านไป 2  ปีนับตั้งแต่เครื่องจักรเริ่มทำงาน สนามกีฬาแห่งใหม่ของเมืองก็เสร็จทันตามเวลาที่กำหนด และเปิดใช้งานภายใต้ชื่อ มิคุนิ เวิลด์ สเตเดียม หลัง มิคุนิ บริษัทด้านอสังหาริมทรัพย์ ซื้อสิทธิ์ในชื่อสนามด้วยมูลค่า 30 ล้านเยนต่อปีจนถึงปี 2020

ดิวิชั่น 3 แล้วไง

ราวกับโชคชะตาเล่นตลก เมื่อแผนก่อสร้างสนามใหม่ของพวกเขา เริ่มต้นในปีที่ กิราวานซ์ เลื่อนชั้นขึ้นไปเล่นในเจลีกดิวิชั่น 2 ด้วยความหวังที่จะใช้สนามในแห่งนี้ในลีกสูงสุด แต่ในปีที่สร้างสนามเสร็จ พวกเขากลับร่วงตกชั้นลงมาเล่นในเจลีกดิวิชั่น 3 แทน

 6

อย่างไรก็ดี ในเกมนัดเปิดฤดูกาลกับ เบลาบิตซ์ อาคิตะ และเป็นการใช้สนามมิคุนิ เวิลด์ สเตเดียมของ กิราวานซ์ อย่างเป็นทางการเป็นเกมแรก (ก่อนหน้านี้สนามทดลองใช้ใน เจแปน รักบี้ ดรีมแมตช์ ในเดือน กุมภาพันธ์) พวกเขากลับได้รับความสนใจอย่างล้นหลาม มีคนซื้อตั๋วเข้ามาจนเกือบเต็มความจุถึง14,935 คน กลายเป็นสถิติผู้ชมในสนามสูงสุดตลอดกาลของเจ3  

ด้วยพื้นที่ที่จำกัด มิคุนิ เวิลด์ สเตเดียม จึงถูกออกแบบมาอย่างเป็นเอกลักษณ์ มันมีอัฒจันทร์ที่แคบ เพื่อให้แฟนบอลมีโอกาสได้สัมผัสเกมและนักฟุตบอลอย่างใกล้ชิด โดยที่นั่งแถวหน้าสุดอัฒจันทร์หลัก ห่างจากสนามเพียงแค่ 8 เมตรเท่านั้น

ในขณะที่อัฒจันทร์ฝั่งตะวันออกเปิดโล่ง เผยให้เห็นทิวทัศน์ของช่องแคบคัมมง และอยู่ห่างจากน้ำเพียงไม่กี่เมตร ทำให้รู้สึกราวกับว่านั่งชมวิวอยู่ริมฝั่งทะเล และจากการที่อัฒจันทร์อยู่ใกล้น้ำ ทำให้สโมสรจำเป็นต้องออกกฎ “ห้ามตกปลา” ในพื้นสโมสรอีกด้วย   

 7

ในด้านวิศวกรรม พวกเขายังใช้เทคโนโลยีล่าสุดในการป้องกันแผ่นดินไหว และลมกรรโชกแรง ในขณะที่อัฒจันทร์ฝั่งตะวันตกได้มีการติดตั้งแผงพลังงานแสงอาทิตย์ และใช้หลอด LED เป็นหลักเพื่อประหยัดพลังงาน

 8

ความสวยงามของทิวทัศน์ในสนาม มิคุนิ เวิลด์ สเตเดียม ทำให้ผู้คนแวะเวียนอย่างไม่ขาดสาย ส่งผลให้ยอดแฟนบอลของ กิราวานซ์ เพิ่มขึ้นมาอย่างก้าวกระโดดจากปี 2016 ถึงปี 2017 ถึง 84.2 เปอร์เซ็นต์

จากสถิติเมื่อปี 2016 ที่ใช้สนามฮอนโจ สเตเดียม ที่มีความจุ 10,000 คน โลดแล่นอยู่ในเจ2 พวกเขามีแฟนบอลเฉลี่ยเพียงแค่ 3,224 คน น้อยที่สุดในเจ2 ซึ่งหากเปรียบเทียบกับทีมในเจ3 ในปีเดียวกัน ก็ยังอยู่เพียงแค่อันดับ 7 ของตาราง

ทว่าหลังย้ายมาเล่นในสนามใหม่ กิราวานซ์ ที่เป็นเพียงทีมในลีกระดับ 3 กลับมียอดผู้ชมเฉลี่ยสูงถึง  5,939 คน กลายเป็นทีมที่มียอดผู้ชมสูงสุดในเจ3 และมากกว่าบางทีมในเจ2 เสียอีก

มิคุนิ เวิลด์ สเตเดียม ตั้งอยู่ห่างจากสถานีรถไฟโคคุระเพียง 500 เมตร รวมไปถึงจุดจอดรถไฟชิงกันเซน และอยู่ใกล้กับศูนย์การค้า หอประชุมแห่งชาติ และสถานที่ท่องเที่ยวดังอย่างปราสาทโคคุระไม่ถึง 2 กิโลเมตร ทำให้รังเหย้าของกิราวานซ์ ถูกจัดให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวแนะนำในเมืองคิตะคิวชูของเว็บไซต์ชื่อดังอย่าง tripadvisor.com

 9

“การเดินทางไปสนามง่ายมาก จากสถานีรถไฟเดินไปไม่ถึง 10 นาที เป็นสนามที่สุดยอดมากจนรู้สึกอิจฉาคนที่อยู่ที่คิตะคิวชู” หนึ่งในคอมเมนต์ในเว็บไซต์ tripadvisor.com กล่าว

ไม่ได้เป็นแค่สนาม

อย่างที่ เคนตะ คิตาฮาชิ นายกเทศมนตรีของเมืองคิตะคิวชูกล่าวไว้ว่าสนามฟุตบอลไม่ใช่สถานที่จัดการแข่งขันเพียงอย่างเดียว แต่มันยังมีศักยภาพในด้านอื่นๆ เจลีกเองก็ตระหนักในเรื่องนี้ พวกเขาจึงให้สโมสรและองค์กรปกครองท้องถิ่นร่วมมือกันทำให้สนามดึงดูดผู้คนได้มากขึ้น

 10

“เราตระหนักถึงการสร้างชุมชนรอบๆสนาม (มิคุนิ เวิลด์ สเตเดียม)” ฮิโตชิ ซาโตะ ผู้จัดการกลุ่มพัฒนาสนามกีฬาเจลีกกล่าวในงานเปิดฤดูกาลเมื่อปี 2017

นอกจากมิคุนิ เวิลด์ ยังมีอีกหลายทีมในเจลีกที่มีแผนสร้างสนามใหม่ หรือบางทีมอาจจะเริ่มสร้างไปแล้ว ยกตัวอย่างเช่น อาริงาโตะ เซอร์วิช ยูเมะ สเตเดียม ของ เอฟซี อิมาบาริ ทีมจากจังหวัด เอฮิเมะ เกียวโต ซังงะ ที่เตรียมย้ายสนามไปเขต คาเมโอกะ หรือ สนามใหม่ในเมืองนาฮะ ของเอฟซี ริวกิว

ยิ่งไปกว่านั้นจากการรายงานของเจลีกระบุว่ายังมีอีกหลายเมืองที่กำลังพูดคุยเรื่องการสร้างสนามใหม่ ทั้ง อาคิตะ โอมิยะ (เมืองในจังหวัดไซตามะ) โยโกฮามา และ ซางามิฮาระ (เมืองในจังหวัดคานางาวะ) โคฟุ นาโงยา และ นางาซากิ

“ผมเชื่อว่าสนามแห่งใหม่จะมีประโยชน์ในวงกว้างแก่ชุมชนท้องถิ่น เช่นการสร้างโอกาสการสร้างงาน การเปิดตลาดผู้บริโภค มีการใช้ขนส่งสาธารณะมากขึ้น รวมไปถึงสร้างความกลมเกลียวในชุมชน และฟื้นฟูชุมชนเมือง” ผู้จัดการกลุ่มพัฒนาสนามกีฬาเจลีกกล่าว

 11

อย่างไรก็ดี นอกจากในแง่การใช้งาน เจลีกยังผลักดันให้สนามกลายเป็นสถานที่ที่ทุกคนสามารถพาครอบครัว หรือเพื่อนฝูงมาสนุกกัน ได้ทุกเพศทุกวัย ภายใต้แนวคิด “สนามที่เป็นมิตรกับทุกคน”

“เราต้องทำให้แน่ใจว่าสนามของเราปลอดภัย และเป็นสถานที่ที่พาครอบครัวมาได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งพื้นที่หลังประตู คุณสามารถพาเด็กเล็กๆมาชมเกมหลังประตู ซึ่งเป็นสิ่งที่ทำไม่ได้ในทุกประเทศ” มิตสึรุ มุราอิ ประธานเจลีกให้สัมภาษณ์กับ Japan Today

จากมิคุนิ เวิลด์ถึงสนามแห่งใหม่ที่กำลังสร้างขึ้น สนามในความหมายของเจลีก จึงไม่ได้มีฟังก์ชั่นในการใช้งานเพียงอย่างเดียว เพราะมันยังเป็นแหล่งกระจายรายได้ แหล่งสร้างงาน รวมไปถึงกลายเป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจราวกับเป็นสวนสาธารณะ เพื่อเป้าหมายที่สำคัญที่สุดนั่นก็คือความสุขของผู้คน

 12

“เราเชื่อว่าการสร้างสนามจะช่วยแก้ปัญหาชุมชนท้องถิ่น แต่ว่าการสร้างสนามไม่ใช่เป็นเป้าหมายสำคัญของเจลีก” ซาโตะกล่าว

“เป้าหมายของเราคือช่วยเหลือชุมชน และเริ่มต้นแผนร้อยปีของเรา เราเชื่อว่ามันจะทำให้ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่มีความสุขได้”

อัลบั้มภาพ 12 ภาพ

อัลบั้มภาพ 12 ภาพ ของ มิคุนิ เวิลด์ สเตเดียม : สนามฟุตบอลหมื่นล้านของทีมดิวิชั่น 3 ในญี่ปุ่น

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook