เพื่อนบ้านขาดทุน แต่เหตุใดเวียดนามกล้าทุ่มพันล้านจัดแข่ง F1?
กลายเป็นข่าวใหญ่สะเทือนทั้งภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ทันที เมื่อจู่ๆ ฟอร์มูล่า 1 หรือการแข่งขันรถสูตรหนึ่ง มอเตอร์สปอร์ตรายการที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลก บรรจุ เวียดนาม เป็นหนึ่งในสนามแข่งขันเก็บคะแนนสะสมชิงแชมป์โลก โดยจะเปิดฉากการแข่งขันครั้งแรกที่กรุงฮานอย เมืองหลวงของประเทศในปี 2020
การเปิดตัวประเทศสู่สายตาชาวโลกผ่านการแข่งขันกีฬาในครั้งนี้ ถือเป็นก้าวเดินที่น่าสนใจยิ่ง เพราะจากประวัติศาสตร์ F1 ในภูมิภาคนี้ที่ผ่านมา มีเพียง สิงคโปร์ ต้นตำรับไนท์เรซ แข่งตอนกลางคืนแห่งแรกเท่านั้นที่ยังยืนหยัดอยู่ได้ ส่วน มาเลเซีย ชาติแรกของอาเซียนที่ได้จัดแข่งรถสูตรหนึ่ง ประกาศถอนสมอไปแล้ว
ท่ามกลางความสำเร็จปนล้มเหลวที่เกิดขึ้นกับประเทศเพื่อนบ้าน เหตุใดดินแดนที่ถูกเรียกว่า ‘ปารีสแห่งตะวันออก’ ถึงกล้าเสี่ยง และ ‘เวียดนาม กรังด์ปรีซ์’ มีโอกาสไปในทิศทางไหน ระหว่างสำเร็จหรือล้มเหลวกัน?
ผลตอบรับที่สวนทาง
หากพูดถึงรถสูตรหนึ่งกับภูมิภาคอาเซียน สิงคโปร์ ประเทศที่เป็นเกาะเล็กๆ บริเวณแหลมมลายู น่าจะเป็นประเทศแรก รวมถึงอาจเป็นประเทศเดียวที่แฟนกีฬาความเร็วนึกถึงในตอนนี้
เพราะนับตั้งแต่การจัดแข่งขันครั้งแรกในปี 2008 สิงคโปร์ กรังด์ปรีซ์ ที่ปิดถนนบริเวณ มาริน่า เบย์ เป็นสนามแข่งขันในยามค่ำคืน ก็ถือเป็นหนึ่งในแลนด์มาร์กสำคัญบนปฏิทินรถสูตร 1 ในทุกปี จากจำนวนผู้ชมตลอด 3 วันของการแข่งขัน ศุกร์ เสาร์ อาทิตย์ ซึ่งสูงกว่า 200,000 คนในทุกครั้ง จนที่นี่กลายเป็นหนึ่งในจุดหมายของแฟนกีฬาความเร็วจากทั่วโลก
เชส แครี่ย์ ซีอีโอของ ลิเบอร์ตี้ มีเดีย เจ้าของลิขสิทธิ์การแข่งขันรถสูตรหนึ่ง ชื่นชมประเทศนี้ในตอนที่ต่อสัญญาการแข่งขันออกไปจนถึงปี 2021 เมื่อปีกลายว่า “สิงคโปร์คือต้นแบบของการแข่งขัน F1 ที่เราอยากให้เป็น”
สาเหตุที่ทำให้ผู้มีอำนาจสูงสุดแห่งการแข่งขันมอเตอร์สปอร์ตรายการใหญ่ที่สุดพูดเช่นนี้ก็เนื่องจาก สิงคโปร์ กรังด์ปรีซ์ ไม่ได้มีเพียงการแข่งขันรถสูตรหนึ่ง (ตลอดจนรายการซัพพอร์ต) เท่านั้น แต่ถือเป็นหนึ่งในเทศกาลใหญ่ของดินแดนแห่งนี้เลยทีเดียว โดยมีทั้งคอนเสิร์ตจากศิลปินระดับโลก รวมถึงกิจกรรมความบันเทิงในรูปแบบต่างๆ ตลอดทั้งสัปดาห์การแข่งขัน ชนิดที่แม้คุณจะไม่ใช่แฟนกีฬา ก็ยังสามารถหาอะไรทำได้ในเทศกาลแห่งความเร็วของดินแดนเมอร์ไลออน
ฝ่ายจัดการแข่งขัน สิงคโปร์ กรังด์ปรีซ์ ยังได้เปิดเผยตัวเลขที่น่าสนใจตลอด 10 ปีแรกของการจัดการแข่งขันด้วยว่า สามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศได้ราว 450,000 คน สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจจากการท่องเที่ยวได้สูงถึง 1.4 พันล้านดอลลาร์สิงคโปร์ (33,000 ล้านบาท) ยิ่งไปกว่านั้น การแข่งขัน F1 ได้ช่วยส่งเสริมธุรกิจภายในประเทศ เมื่อบริษัทซึ่งมีที่ตั้งในสิงคโปร์ มีส่วนร่วมในการจัดการแข่งขันมากถึง 90% ของบริษัททั้งหมดที่มีเอี่ยวในงานนี้
พูดถึงจุดนี้ หลายคนอาจสงสัยว่า ความจริงประเทศแรกในภูมิภาคอาเซียนที่จัดการแข่งขันรถสูตรหนึ่งคือ มาเลเซีย มิใช่หรือ? จริงอยู่ว่าที่กล่าวมานั้นถูกต้อง ทว่าในตอนนี้ ดินแดนเสือเหลืองไม่ได้เป็นหนึ่งในสนามแข่ง F1 อีกต่อไปแล้ว หลังจัดเป็นครั้งสุดท้ายเมื่อปี 2017 ที่ผ่านมา เนื่องจากยอดผู้ชมตลอด 3 วันมีแนวโน้มที่จะตกลงเรื่อยๆ ในทุกปี โดยเฉพาะในปี 2016 ที่ยอดผู้ชมรวมเหลือเพียงราว 88,000 คนเท่านั้น (แม้ยอดผู้ชม F1 ครั้งสั่งลาจะถีบตัวสูงขึ้นเป็นกว่า 110,000 คนก็ตาม)
แต่สิ่งที่น่าสนใจยิ่งกว่า คือมาเลเซีย ซึ่งจัดแข่งรถสูตรหนึ่งเป็นครั้งแรกเมื่อปี 1999 และใช้ เซปัง อินเตอร์เนชั่นแนล เซอร์กิต เป็นเวทีประลองความเร็วมาโดยตลอด ตัดสินใจที่จะไม่จัดแข่งต่อ ทั้งๆ ที่สัญญาซึ่งได้เซ็นกันไว้ในครั้งล่าสุด ระบุว่า มาเลเซียจะต้องจัดแข่งขันอีกหนึ่งครั้งในปีนี้ พูดให้เข้าใจง่ายๆ คือ พวกเขาขอฉีกสัญญา ยอมเจ็บแต่จบเท่านี้จะดีกว่า
นาจิบ ราซัก นายกรัฐมนตรีมาเลเซียในขณะนั้นยอมรับผ่านแถลงการณ์ว่า “สาเหตุที่รัฐบาลตัดสินใจไม่สนับสนุนการแข่งขันรถสูตรหนึ่ง เนื่องจากสิ่งที่ประเทศนี้ ได้รับกลับคืนมานั้นน้อย เมื่อเทียบกับต้นทุนในการจัดแข่งขันที่สูงขึ้นเรื่อยๆ”
ก่อนที่ ไครี่ จามาลุดดิน รัฐมนตรีกระทรวงเยาวชนและกีฬาในยุคของราซักจะชี้แจงเพิ่มเติมให้เห็นภาพว่า “ในช่วงแรกของการจัดแข่งขัน F1 ที่มาเลเซียถือเป็นประเด็นใหญ่ เมื่อที่นี่คือประเทศที่ 2 ของเอเชียที่ได้จัดแข่งขันต่อจากญี่ปุ่น แต่ด้วยปฏิทินการแข่งขันที่มีสนามมากขึ้น ถึงตอนนี้มาเลเซียไม่ใช่ประเทศที่มีความได้เปรียบอีกต่อไปแล้ว”
“และนั่นทำให้เราต้องตัดสินใจเลิกจัด F1 หรืออย่างน้อยที่สุด ก็ต้องพักไปช่วงใหญ่ๆ นั่นเอง”
ต้นทุนสูง ผลตอบแทน…?
จากคำพูดของอดีตผู้นำแดนเสือเหลืองที่กล่าวว่า F1 คือกีฬาที่ลงทุนสูง แต่ได้ผลตอบแทนไม่คุ้มสำหรับพวกเขา หลายคนอาจจะสงสัยว่า ค่าลิขสิทธิ์จัดแข่งขันมันสูงขนาดไหนกัน? ซึ่งข้อมูลจาก Formula Money เว็บไซต์ที่รวมรวมตัวเลขทางเศรษฐกิจของการแข่งขันรถสูตร 1 โดยเฉพาะชี้ให้เราเห็นว่า การจัดแข่ง F1 มีต้นทุนที่สูงมากๆ เลยทีเดียว
เริ่มแรกคือ ค่าลิขสิทธิ์เพื่อให้ได้จัดการแข่งขัน ซึ่งหากจัดแข่งเพียงปีเดียว ค่าลิขสิทธิ์ก็สูงถึง 31.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (1 พันล้านบาท) ยิ่งไปกว่านั้น ค่าลิขสิทธิ์ในปีต่อๆ ไปยังเพิ่มสูงขึ้นในอัตราก้าวหน้า โดยการเซ็นสัญญาจัดแข่งรถสูตรหนึ่งเป็นเวลา 10 ปี จะมีค่าลิขสิทธิ์สูงถึง 396.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (13,000 ล้านบาท) เลยทีเดียว
ยิ่งไปกว่านั้น การสร้างสนามแข่งขันตามมาตรฐาน FIA เกรด 1 ที่สามารถใช้จัดแข่งกีฬาความเร็ว 4 ล้อได้ทุกรายการ ยังมีต้นทุนที่สูงไม่แพ้กัน โดยต้องใช้งบประมาณสูงถึง 270 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (8,900 ล้านบาท) นอกจากนี้ ยังมีค่าใช้จ่ายในการจัดการแข่งขันอีกราว 15 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (495 ล้านบาท) ต่อปี เท่ากับว่า หากชาติใดต้องการจัดแข่ง F1 เป็นเวลา 10 ปีโดยสร้างสนามถาวร จะมีต้นทุนรวมอยู่ที่ 851.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (28,000 ล้านบาท)
ถึงตรงนี้คงมีคำถามว่า หากปิดถนนเพื่อทำเป็น สตรีท เซอร์กิต สนามแข่งขันชั่วคราวล่ะ ต้นทุนมันน่าจะถูกกว่าการสร้างสนามถาวร ซึ่งเมื่อสร้างเสร็จก็ต้องมีค่าบำรุงรักษาหรือไม่? ประเด็นก็คือ ข้อมูลของ Formula Money กลับให้มุมมองที่ต่างจากความเข้าใจเดิม
จริงอยู่ ข้อดีของการปิดถนนเพื่อแปลงเป็นสนามแข่งก็คือ ไม่มีความจำเป็นต้องสร้างสนามเป็นถาวรวัตถุ ถึงกระนั้น ก็ยังมีอีกหลายส่วนที่ต้องมีการสร้าง อย่างเช่นตึกที่เป็นศูนย์บัญชาการของการแข่งขัน ที่มีทั้งห้องควบคุม, ศูนย์พยาบาล, ศูนย์สื่อมวลชน รวมถึงพิท ซึ่งทีมแข่งจะต้องใช้เป็นสถานที่ทำรถ ไม่เพียงเท่านั้น ยังต้องมีการสร้างอัฒจันทร์ที่นั่งสำหรับผู้ชม, ปรับปรุงพื้นถนน รวมถึงวางแนวป้องกันต่างๆ ตามมาตรฐานอันสูงลิบของ F1 ซึ่งส่วนนี้ต้องใช้งบประมาณ 57.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (1,900 ล้านบาท) ต่อปี
ซึ่งเมื่อรวมค่าลิขสิทธิ์ กับงบประมาณในการปรับปรุงสนามที่ต้องทำทุกปีแล้ว หากประเทศใดต้องการจัดแข่ง F1 แบบสตรีท เซอร์กิต 10 ปี จะต้องใช้งบประมาณสูงถึง 971.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (32,000 ล้านบาท) เลยทีเดียว
ไม่ต้องสงสัยเลยว่า ต้นทุนการจัดการแข่งขันอันมหาศาล ทำให้หลายชาติยังต้องขยาด ไม่กล้าทุ่มงบเพื่อจัดการแข่งขันรถสูตรหนึ่งซึ่งหากมองในแง่ร้ายก็ไม่ต่างอะไรกับการ ‘ขี่ช้างจับตั๊กแตน’ เนวิน ชิดชอบ เจ้าของสนาม ช้าง อินเตอร์เนชั่นแนล เซอร์กิต สนามแข่งรถแห่งเดียวในไทยที่สามารถจัดแข่งได้ทั้ง F1 และ MotoGP มอเตอร์ไซค์ทางเรียบรายการที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลก ก็มองในภาพนี้เช่นกัน โดยพ่อใหญ่แห่งจังหวัดบุรีรัมย์เปิดใจกับทีมงาน Main Stand ในช่วงก่อนที่โมโตจีพีครั้งแรก ของไทยจะเปิดฉากว่า
“มีหลายคนถามพี่ว่า สร้างสนามแข่งระดับนี้ มีความคิดจะจัด F1 หรือไม่ สำหรับพี่ พี่ยังไม่คิดเลยนะ เพราะค่าลิขสิทธิ์ในการจัดแข่งขันมันสูงมาก ปีละ 1,000 ล้านบาท ส่วนโมโตจีพีแค่ปีละ 300 ล้านบาท ยิ่งไปกว่านั้น F1 มันยังดูไกลตัวไปสำหรับแฟนกีฬาชาวไทย เพราะรถที่ใช้แข่งมันถูกสร้างเฉพาะ แถมหน้าตายังไม่เหมือนรถที่ใช้ในชีวิตประจำวันเหมือนกับโมโตจีพี ยิ่งไปกว่านั้น คนไทยยังคุ้นเคยกับนักแข่งมอเตอร์ไซค์อย่าง วาเลนติโน่ รอสซี่, มาร์ก มาร์เกซ มากกว่าด้วย”
เหตุใดเวียดนามถึงกล้าเสี่ยง?
ลิขสิทธิ์จัดการแข่งขัน F1 ซึ่งสูงมาตั้งแต่ยุคที่ เบอร์นี่ เอ็คเคิ่ลสโตน ยังเป็นเจ้าพ่อวงการรถสูตรหนึ่ง กลายเป็นหนึ่งในปัญหาสำคัญของวงการ เพราะภาพลักษณ์ที่ปู่เบอร์นี่หมายให้ ‘ฟอร์มูล่า 1 เป็นกีฬาเกรดพรีเมี่ยม’ ทำให้คนส่วนใหญ่ของโลกเข้าไม่ถึงมัน ยิ่งไปกว่านั้น ตัวเลขที่ต้องจ่ายยังไม่สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจที่มีความผันผวนตลอดในทศวรรษที่ผ่านมา
ด้วยสาเหตุดังกล่าว เราจึงได้เห็นข่าวที่ฝ่ายจัดการแข่งขัน F1 ในหลายประเทศ ไม่มีเงินจ่ายค่าลิขสิทธิ์การแข่งขัน จนสนาม เนอร์เบิร์กริง ในประเทศเยอรมนี ต้องยอมโดนถอดจากปฏิทินการแข่งขันแม้จะสลับกันจัดกับสนาม ฮอคเค่นไฮม์ริง แบบปีเว้นปีก็ตาม (ซึ่งฝ่ายหลังก็ยอมจ่ายเพื่อให้ดินแดนอินทรีเหล็กได้จัดแข่งต่อไป) นอกจากนี้ สนามที่มีประวัติศาสตร์ยาวนานไม่แพ้กันอย่าง มอนซ่า ประเทศอิตาลี และ ซิลเวอร์สโตน ประเทศอังกฤษ ยังสุ่มเสี่ยงกับการไม่สามารถจัดแข่งขันได้ด้วยเหตุผลเดียวกัน โดยในจำนวนสนามแข่งขันที่ได้จัด F1 ทั้งหมด มีเพียง โมนาโก ที่เดียวซึ่งจ่ายค่าลิขสิทธิ์น้อยกว่าที่อื่นๆ เนื่องจากเป็นสนามที่เก่าแก่ที่สุดในปฏิทินการแข่งขันนั่นเอง
จากที่กล่าวมา ดูเหมือนว่ารถสูตร 1 ในยุคนี้จะกลายเป็นการแข่งขันที่ฝ่ายจัดของสนามต่างๆ เข้าเนื้อ ด้วยรายรับที่ไม่คุ้มค่ากับรายจ่ายเพื่อให้ได้มันมา จนมีเสียงเรียกร้องจากหลายฝ่ายให้ทาง ลิเบอร์ตี้ มีเดีย เจ้าของ F1 รายใหม่แก้ไขในส่วนนี้ เพื่อให้การแข่งขันเติบโตอย่างยั่งยืน แล้วเหตุใดเวียดนามถึงยอมเสี่ยงด้วยการทุ่มทุนมหาศาลกับการเป็นเจ้าภาพภายใต้สัญญา ‘หลายปี’ กัน?
ประกาศแรกคือ การเป็นเจ้าภาพรถสูตรหนึ่งในครั้งนี้ รัฐบาลเวียดนามไม่ต้องเสียงบประมาณแผ่นดินในการซื้อลิขสิทธิ์เลยแม้แต่ดองเดียว เนื่องจาก Vingroup กลุ่มทุนรายใหญ่ของประเทศที่ทำธุรกิจต่างๆ แบบครบวงจรเข้ามาเป็นผู้สนับสนุนหลักของการแข่งขัน ซึ่งคนที่อยู่เบื้องหลังนั้นก็ไม่ธรรมดา เพราะเขาคือ ฝ่าม เหญิต เหวื่อง มหาเศรษฐีอันดับ 1 ของประเทศซึ่งมีสินทรัพย์สูงถึง 1.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (56,000 ล้านบาท) เรื่องดังกล่าวจึงทำให้รัฐบาลเปิดไฟเขียวให้อย่างง่ายดายด้วยเช่นกัน
อีกเหตุผลสำคัญคือ เวียดนามถือเป็นประเทศที่มีการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจสูงที่สุดแห่งหนึ่งของโลก โดยแม้ GDP หรือ ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ ของประเทศแห่งนี้จะสูงเพียงอันดับ 6 ในภูมิภาค โดยตัวเลขในปี 2017 อยู่ที่ 221,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (7.3 ล้านล้านบาท) ทว่า IMF หรือ กองทุนการเงินระหว่างประเทศระบุว่า การเติบโตทางเศรษฐกิจของเวียดนามในรอบปีที่ผ่านมาสูงถึง 7.7% ซึ่งมากเป็นอันดับ 5 ของโลกเลยทีเดียว
ตัวเลขทางเศรษฐกิจที่นับวันมีแต่จะเติบโต ถือเป็นสัญญาณว่า พวกเขาพร้อมแล้วที่จะก้าวสู่การเป็นเสือเศรษฐกิจตัวใหม่ของเอเชีย เวียดนามจึงตัดสินใจเลือกการแข่งขันรถสูตรหนึ่งในการประกาศตัว ซึ่งก็เหมือนกับหลายชาติที่เลือกใช้การแข่งขันกีฬาในการเปิดตัวประเทศสู่สายตาชาวโลกนั่นเอง
จะปัง หรือพัง?
หากมองเผินๆ เวียดนาม เหมือนจะศึกษาโมเดลความสำเร็จของ สิงคโปร์ เพื่อนบ้านร่วมภูมิภาคในการเดินหมากนี้ เพราะดินแดนแห่งคาบสมุทรมลายูก็ใช้ F1 ในการเปิดประตูให้ชาวโลกได้รู้จัก และอย่างที่เราทราบ นี่ถือเป็นความสำเร็จอันงดงาม เพราะนอกจากจะสร้างรายได้ให้กับประเทศผ่านการท่องเที่ยวแล้ว รถสูตรหนึ่งยังเป็นเหมือนกระจกสะท้อนอีกตัวตนของดินแดนเมอร์ไลออนว่า ไม่ได้เป็นประเทศน่าเบื่อ มีแต่เรื่องธุรกิจอันจริงจังแต่เพียงอย่างเดียวเท่านั้น เพราะพวกเขาก็มีความบันเทิงอยู่ในตัวซ่อนอยู่เช่นกัน ยิ่งไปกว่านั้น สิงคโปร์ยังทำให้ประชาชนได้รับผลประโยชน์จากอีเวนท์ระดับโลกเช่นนี้อีกด้วย
อเล็กซ์ ยุง อดีตนักแข่ง F1 คนแรกและคนเดียวของมาเลเซีย ที่ปัจจุบันเป็นผู้บรรยายให้กับ ฟอกซ์ สปอร์ตส์ เอเชีย ได้เห็นความเปลี่ยนแปลงของการจัดแข่งขันรถสูตรหนึ่งในอาเซียนมาโดยตลอด และให้ทรรศนะเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า
“คือถ้าถามว่า F1 จะสามารถสร้างรายได้ให้กับประเทศนั้นๆ คุ้มค่ากับเม็ดเงินที่จ่ายไปหรือเปล่า? ก็อาจจะไม่ เพราะยังมีอีกหลายสิ่งที่สามารถทำเพื่อพัฒนาท้องถิ่นได้ อย่างไรก็ตาม การแข่งขันจะประสบความสำเร็จได้ คุณต้องสร้างอีเวนท์ให้มันน่าสนใจ หากมันไม่มีจิตวิญญาณ ไม่สร้างความโรแมนติกให้เกิดขึ้น มันก็เท่านั้น สิ่งสำคัญคือ คุณต้องรู้ว่ากำลังจะทำอะไร และรู้ด้วยว่าทำแบบไหนถึงจะเรียกเงินจากผู้ชมได้”
ดูเหมือนว่าฝ่ายจัดการแข่งขันของเวียดนามเองก็ทราบในเรื่องนี้อยู่เช่นกัน เพราะ เหงียน เวียด กวง รองประธานและซีอีโอของ Vingroup ผู้สนับสนุนหลัก F1 ในแดนเหงียนเผยว่า นี่จะเป็นการนำเสนอประเทศเวียดนามในภาพลักษณ์ใหม่ ซึ่งมีทั้งความทันสมัยและวัฒนธรรมอันเก่าแก่ พร้อมกับสัญญาว่า ประชาชนจะได้รับประโยชน์จากการแข่งขันแน่นอน
“ปรัชญาของเราที่ต้องการให้ประชาชนเวียดนามมีชีวิตที่ดีขึ้น คือสาเหตุสำคัญที่เรานำการแข่งขันรถสูตรหนึ่งมาที่ประเทศนี้ เพราะนอกจากประเทศจะมีรายได้จากการท่องเที่ยวแล้ว อีเวนท์เช่นนี้ยังจะสร้างงานให้กับชาวเวียดนามจำนวนมาก สาธารณูปโภคก็จะได้รับการพัฒนา ซึ่งจะเป็นการเปิดโอกาสให้อีเวนท์ระดับโลกรายการอื่นๆ ซึ่งยิ่งใหญ่กว่ามายังเวียดนามในอนาคต”
สำนักข่าว อัล จาซีรา ได้ลงพื้นที่สำรวจความเห็นของชาวบ้านทันทีที่มีการประกาศว่า เวียดนามจะเป็นหนึ่งในสังเวียนแข่งรถสูตรหนึ่ง ซึ่งความรู้สึกนั้นหลากหลาย โดย หวู่ เกา ชายผู้ทำงานในธุรกิจสตาร์ทอัพที่กรุงฮานอย สังเวียนแข่งขันเผยว่า “แน่นอน ผมตั้งตารอให้มันมาถึงเลยล่ะ แต่ต้องไม่ลืมว่า F1 เป็นกีฬาที่คนเวียดนามไม่ใคร่จะอินเท่าไหร่นัก และผมก็ไม่รู้ว่าฝ่ายจัดการแข่งขันจะทำได้ดีขนาดไหน ซึ่งหากบัตรเข้าชมการแข่งขันมีราคาแพง ผมว่าคนท้องถิ่นคงจะไม่แฮปปี้เป็นแน่”
ขณะที่ เดี๊ยบ เหงียน สตรีเจ้าของห้องพักที่ปล่อยเช่าในเว็บไซต์ Airbnb มองว่า “ตัวฉันเองก็ไม่ได้สนใจมันเท่าไหร่ แต่ก็คิดว่าน่าจะสนุกดีนะ และหากช่วยให้ธุรกิจของฉันได้ประโยชน์ มันก็ดีแหละค่ะ”
ฟอร์มูล่า 1 เผยว่าการแข่งขันครั้งแรกที่ประเทศเวียดนามจะเกิดขึ้นในเดือนเมษายน 2020 นั่นหมายความว่าฝ่ายจัดการแข่งขันยังมีเวลาอีกปีกว่าๆ สำหรับการเตรียมความพร้อมให้สมบูรณ์ เพื่อต้อนรับนักแข่ง ทีมแข่ง รวมถึงแฟนกีฬาความเร็ว และนักท่องเที่ยวจากทั่วทุกมุมโลกที่จะมาเยือนดินแดนแห่งนี้
แต่ ‘เวียดนาม กรังด์ปรีซ์’ จะประสบความสำเร็จ กลายเป็นแลนด์มาร์กแห่งใหม่ของโลกความเร็วเหมือนสิงคโปร์ หรือจะล้มเหลวต้องม้วนเสื่อแบบมาเลเซีย อีกไม่นานเกินรอคงได้ทราบกัน
อัลบั้มภาพ 11 ภาพ