ไม่ได้มีแค่ในมังงะ : กำเนิด "ซากุระงิ" ในชีวิตจริง

ไม่ได้มีแค่ในมังงะ : กำเนิด "ซากุระงิ" ในชีวิตจริง

ไม่ได้มีแค่ในมังงะ : กำเนิด "ซากุระงิ" ในชีวิตจริง
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

23 ปีก่อน เจอาร์ ซากุระงิ หรือในชื่อเดิมคือ เจอาร์ เฮนเดอร์สัน คือหนึ่งในสมาชิกของทีมบาสเกตบอลระดับมหาวิทยาลัยชื่อดังของสหรัฐอเมริกาอย่าง UCLA บรูอินส์ ซึ่งสามารถคว้าแชมป์ประเทศได้ในปี 1995

ซากุระงิ ฮานามิจิ พระเอกของเรื่อง SLAMDUNK อาจจะเริ่มรู้จักกับกีฬาบาสเกตบอลตอนเรียน ม.ปลาย ซึ่งต่างกับ เจอาร์ ที่โดนเอาลูกบาสยัดใส่มือตั้งแต่ 5 ขวบ แม้เส้นทางจะต่างกัน ทว่าอุปนิสัยใจคอ "ขี้โว, เพี้ยน, รักบาสเกตบอลตั้งแต่วินาทีที่แรกที่รู้จัก และจริงใจในทุกคำพูด" คือสิ่งที่ทั้ง ฮานามิจิ และ เจอาร์ เหมือนกันเป๊ะ จนเหมาะสมอย่างยิ่งที่ทั้งคู่จะใช้ชื่อนี้

"ผมไม่เคยคิดเหมือนกันว่าจะต้องมาเล่นในลีกบาสญี่ปุ่น เอาตามตรงผมไม่รู้ด้วยซ้ำว่าประเทศญี่ปุ่นมีลีกบาสเกตบอลด้วยในตอนแรก ดังนั้นจึงไม่เคยคิดแม้แต่น้อยว่าจะได้มาอยู่ที่นี่"

 

แม้ปากจะบอกอย่างนั้นแต่เขากลับช่วยทีมคว้าแชมป์ลีกมาแล้วถึง 6 สมัย รวมถึงคว้า MVP มาครองอีก 3 ครั้ง การจะบอกว่าอายุที่มากขึ้นทำให้ไฟในการเล่นของเขาลดลงคงเป็นเรื่องที่น่าตลกไม่น้อย และหากจะหาเหตุผลว่าทำไมเขาจึงทำผลงานในลีกญี่ปุ่นได้ดีนัก นั่นก็คงเป็นเพราะว่าเขามีความหลงใหลในกีฬาชนิดนี้มากจนแทบเป็นทุกอย่างของชีวิต

ในขณะที่คนจากโลกตะวันออกมองฝั่งตะวันตกว่าคือความศิวิไลซ์หรูหรา และคงเท่ไม่หยอกหากว่าได้ก้าวเข้าไปมีบทบาทและเป็นส่วนหนึ่งในความล้ำสมัยนั้น ทว่า เจอาร์ เฮนเดอร์สัน เลือกทำในสิ่งที่สวนทางกันอย่างสิ้นเชิง ชาวอเมริกันพันธุ์แท้รายนี้เปลี่ยนชื่อ, โอนสัญชาติ และเล่นบาสเกตบอลให้กับทีมชาติญี่ปุ่น เหตุใดอดีตเจ้าหนูมหัศจรรย์ของวงการบาสมหาวิทยาลัยของอเมริกา จึงกลายมาเป็นตำนานเสือเฒ่าในแดนอาทิตย์อุทัยได้ ติดตามพร้อมกับ Main Stand ได้ที่นี่

เมจิกบอย

"ถามว่าทำไมผมถึงเล่นบาสเกตบอลด้วยความสนุกได้จนถึงทุกวันนี้ ก็คงต้องยกเครดิตให้พ่อของผมล่ะ เขายัดลูกบาสใส่มือผมตั้งแต่ 5 ขวบ ผมใช้ชีวิตกับสนามที่มีพื้นเป็นปูนซีเมนต์ตั้งแต่ตอนนั้น พ่อบอกเสมอว่า ‘ลืมเรื่องอื่นไปให้หมด จงคิดเสมอว่า ตอนนี้ฉันจะทำให้ลูกลงไปในห่วงให้ได้’”

 1

เจอาร์ เฮนเดอร์สัน เติบโตมาในครอบครัวนักกีฬา พ่อเขาเป็นอดีตนักบาสและเป็นโค้ชทีมโรงเรียน ดังนั้นคนเป็นลูกจึงต้องเล่นบาสไปอย่างเลี่ยงไม่ได้ แต่สิ่งนี้เองที่ทำให้โตเร็วอย่างไม่น่าเชื่อ การกระโดด, วิ่ง, ยิง, รีบาวด์ ทำให้เขาได้ของแถมจากทักษะที่ฝึกหนักมาตลอด นั่นคือเขาสูงเพิ่มขึ้นเป็น 6 ฟุต 8 นิ้ว หรือ 203 เซนติเมตรภายในระยะเวลาอันรวดเร็ว

"ผมโตมากับการเดินทางไปแข่งบาสในที่ต่างๆ ตอนที่ผมยังเป็นวัยรุ่นผมจำได้ว่าต้องแข่งกับคนที่อายุมากกว่าตลอด ผมเดินทางไปทุกที่ที่เขาว่ากันว่ามียอดฝีมือซ่อนอยู่ใน ลอส แองเจลิส บาสเกตบอลสำหรับผมในช่วงนั้นถือว่าเป็นอะไรที่จิ๊บๆ มากเลย" เขาคุยโวย้อนกลับไปเมื่อพูดถึงเรื่องเก่าๆ ในวันที่เขาได้ฉายาว่า ‘เบบี้ เมจิก’ หรือเด็กมหัศจรรย์

เมื่อโตขึ้น เจอาร์ เฮนเดอร์สัน คือหนึ่งในสมาชิกของทีมบาสเกตบอลระดับมหาวิทยาลัยชื่อดังของสหรัฐอเมริกาอย่าง UCLA บรูอินส์ ซึ่งสามารถคว้าแชมป์ประเทศได้ในปี 1995

 2

การอยู่ในทีมชุดนั้นทำให้เขาถูกมองในฐานะดาวรุ่งที่จะก้าวมาเป็นสตาร์ในวงการ NBA เขาเติบโตตามกราฟมาตรฐานของนักบาสอเมริกัน หลังจากโดดเด่นในไฮสคูลและมหาวิทยาลัยก็ถูกดราฟท์เข้าสู่ทีม แวนคูเวอร์ กริซลี่ย์ส (ปัจจุบันย้ายรกรากไปอยู่เมือง เมมฟิส แล้ว) ในปี 1998

ในวันดราฟท์ปี 1998 เฮนเดอร์สัน อยู่ในอารมณ์เซ็งสุดขีดเพราะมีข่าวแว่วๆ มาว่าปีนี้ยังไม่ใช่ปีของเขา แต่พ่อแม่ของเขาก็เห่อลูกเหมือนกับพ่อแม่ทุกๆ คน เพราะชวนเพื่อนบ้านในละแวกนั้นมานั่งล้อมทีวีรอการถ่ายทอดสดอย่างใจจดใจจ่อ ขณะที่ เจอาร์ นอนเหงาทำตัวเป็นพระเอกเอ็มวีคนเดียวในห้องนอน

"วันนั้นผมไม่รู้เรื่องอะไรกับชาวบ้านเขาเลยนะ" เจอาร์ เล่าเรื่องความโก๊ะของเขาในวันที่จะได้เป็นนักบาสของ NBA แบบไม่รู้ตัว "แต่อยู่ๆ เพื่อนบ้านผมก็ร้องกันลั่นเลย ผมก็งงสิครับ พวกเขาดีใจอะไรกันเพราะตอนแรกผมทำใจไว้นานเเล้วยังไงปีนี้ผมก็ไม่โดนดราฟท์แน่ๆ"

ปีนั้น ไมเคิ่ล โอโลโวคันดี้ เจ้าของความสูง 7 ฟุตเป็นดราฟท์หมายเลข 1, วินซ์ คาร์เตอร์ เป็นอันดับ 5 และ เดิร์ก โนวิตซ์กี้ เป็นอันดับสิบ ขณะที่กลุ่มเชียร์เพื่อนบ้านไปเอ็นบีเอนั้นเกือบได้สัมผัสความกร่อยเปลืองป๊อปคอร์นฟรีอยู่แล้ว พวกเขาต้องนั่งลุ้นจนถึงดราฟท์ 2 รอบสุดท้ายของแต่ละทีมและเป็น แวนคูเวอร์ กริซลี่ย์ส ที่เลือก เจอาร์ เฮนเดอร์สัน ไปร่วมทีม นำมาซึ่งการเฮลั่นบ้านจนพระเอกเอ็มวีที่นอนเหงาประชดชีวิตอยู่ในห้องนอนต้องลุกออกมาดีใจกับพวกเพื่อนบ้านที่เขาเพิ่งบ่นไปเมื่อไม่กี่นาทีก่อน

ฝันร้ายที่ NBA

ตอนนั้น เจอาร์ เรียกได้ว่าผยองถึงขีดสุด เขาต้องเดินทางไปยังประเทศแคนาดา (ที่ตั้งของเมืองแวนคูเวอร์) เพื่อเซ็นสัญญาและรายงานตัว ซึ่งตอนนั้นตัวเขาเองเดินทางเข้าไปด้วยกิริยาที่เหมือนคนยังไม่หายตื่นเต้น เดี๋ยวก็ตัวสั่นมือไม้เหงื่อออกไปหมด อีกใจนึงก็ภูมิใจเดินขำก๊ากลั่นฮอลล์ทำเอาคนอื่นรอบข้างต้องมองมาที่เขาโดยไม่ได้นัดหมาย

 3

แม้จะเต็มไปด้วยความมั่นใจ แต่ฝันดีก็มีแค่ไม่กี่คืน เจอาร์ พบความต่างของระดับการเล่นที่เขาเจอ เขาโดนจับเล่นหลายตำแหน่งจนรวนไปหมด ไม่สามารถแย่งตำแหน่งใครในทีมได้เลย ดังนั้นจากที่เคยคิดว่ามันจะเป็นจุดเริ่มต้นชีวิตบาสเกตบอลที่แสนรุ่งโรจน์แต่มันกลับจบลงภายในระยะเวลาแค่ปีเดียว

"ผมถูกดราฟท์เข้าไปในฐานะเซนเตอร์ แต่ตอนเด็กๆ ผมเล่นเป็นการ์ดนะ ประเด็นก็คือ ในช่วงนั้นผมโดนจับลงเล่นครบทั้ง 5 ตำแหน่งในสนามเนื่องจากผู้เล่นไม่พอ แล้วตอนทัวร์นาเมนต์ชิงแชมป์ประเทศ ผมไปเล่นตำแหน่งเซนเตอร์พอดี แมวมองพอเห็นเข้าก็เลยใส่ในรายงานไป แบบนี้ผมก็ตายสิครับ”

"ตอนนั้นผมรู้นิดๆ แล้วว่าแย่แน่ๆ ตกนี่นั่งลำบากเข้าให้แล้วเรา แต่ตรงกันข้ามกันเลยกับพ่อของผม เขานี่แบบว่าโอ้โห เห็นอะไรก็ตื่นเต้นไปหมด ขณะที่ลึกๆ ในใจผมเกิดการต่อต้านแล้วล่ะ ได้แต่คิดในใจเมื่อไหร่จะหมดปีซักทีชีวิตบัดซบแบบนี้จะได้จบลง"

เขาอาจจะเป็นคนที่ตลกพูดจาโผงผาง แต่ เจอาร์ เปิดใจถึงเรื่องนี้เอาตอนช่วงอายุ 40 ปี หรือเกือบ 20 ปีให้หลัง ทำไมถึงเป็นเเบบนั้น อะไรทำให้เขาเก็บงำได้ตั้งหลายปี? … นั่นก็เพราะเขารู้สึกผิดหวังจนไม่อยากจะพูดถึงเรื่องเก่าๆนั่นเอง

แม้ว่าเป็นช่วงเวลาที่แจ้งเกิดไม่ได้ ทว่าสำหรับวงการบาสเกตบอลญี่ปุ่นเมื่อพูดว่า "หมอนี่เคยเล่น NBA มาก่อน" ก็เลี่ยงไม่ได้ที่เกิดปฎิกิริยาความว้าวตามมา โปรไฟล์ระดับนี้ถือเป็นเรื่องแปลกใหม่และใครต่อใครที่ได้คุยกับเขามักจะถามถึงเรื่องราวที่ กริซลี่ย์ส ซึ่งเขาเองก็บ่ายเบี่ยงตอบจนอายุถึง 40 ดังที่ได้กล่าวไว้นั่นแหละ

ไมเคิล ทากาฮาชิ ดอร์ซี่ย์ นักบาสลูกครึ่งญี่ปุ่นอเมริกันที่เคยอยู่ทีมเดียวกับ เจอาร์ ยังยอมรับว่าสถานะของเขาที่สนิทสนมกันยังไม่สามารถเปิดปากอดีตเด็กมหัศจรรย์ให้เล่าถึงวันเก่าๆ ได้

"เด็กๆ ในทีมชอบมากกับเรื่องที่เขาเคยเล่นให้ กริซลี่ย์ส แต่ เจอาร์ ไม่เคยเล่าเรื่องสมัย NBA เลยแม้แต่ครั้งเดียว แม้แต่เรื่องดีๆ สักนิดก็ยังไม่เคย" ดอร์ซี่ย์ กล่าว

ชีวิตใหม่ที่ดินเเดนอาทิตย์อุทัย

ชีวิตของ เจอาร์ เรียกว่าว้าวุ่นตลอดหลังจากโดนเขี่ยพ้นทีม ความเครียดเกิดขึ้นแบบไม่รู้ตัว เพราะเพื่อนๆรุ่นเดียวกันต่างไล่ล่าฝันใน NBA แต่เขากลับต้องมาเล่นในลีกที่มีศักยภาพต่ำกว่าอย่าง ฝรั่งเศส, เวเนซูเอล่า และ ฟิลิปปินส์  

 4

การเคยเดินไปถึงยอดแต่ต้องกลับมาเวียนว่ายที่ด้านล่างทำให้ช่วงชีวิตหลังจากนั้นของเขาเป็นไปแบบ วันต่อวัน หรือจะพูดให้เห็นภาพคือเป็นการทำงานแบบเช้าชามเย็นชามนั่นเอง

"ผมโคตรไม่แฮปปี้เลย" เจอาร์ เล่า "ผมมาจากทีมแชมป์ระดับประเทศ บาสเกตบอลจะสนุกและตื่นตาตื่นใจต่อเมื่อคุณเป็นฝ่ายชนะและได้เเข่งกับทีมที่ดีที่สุด"

"แต่นี่อะไรผมได้แชมป์ลีกง่ายดายเหลือเกิน ได้ MVP ด้วย แถมยังได้ค่าเหนื่อยระดับมากที่สุดในทีม ผมแค่มาซ้อมก็พอ ถึงช่วงแข่งจริงผมคิดจะทำแต้มตอนไหนผมก็ทำได้ ผมอยากกลับไปเล่น NBA อีกครั้งแต่ช่วงเวลานั้นสวนทางสุดขีดเลย ตอนนั้นสิ่งที่ผมบอกตัวเองได้คือ ‘อืม เอาก็เอา ที่ไหนก็ได้’”

มนุษย์ทุกคนล้วนต้องการที่ทางของตัวเอง เจอาร์ ก็เช่นกันชีวิตเเสนน่าเบื่อของเขากำลังจะเปลี่ยนไปแบบไม่รู้ตัวในวันที่เขาได้รับสัญญาจากทีมบาสในญี่ปุ่นอย่าง ไอซิน ซีฮอร์ส (ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็น ซีฮอร์ส มิคามิ) ทีมที่แทบจะไม่เป็นที่รู้จักในสายตาคนนอก ใครที่ไม่ดูบาสเกตบอลของญี่ปุ่นต่อให้ได้ยินชื่อทีมก็ยังไม่รู้เลยด้วยซ้ำว่ามันคือชื่อของอะไร แต่สำหรับ เจอาร์ ช่วงเวลาในเเดนซามูไรคือจุดเปลี่ยนให้เขากลับมาเป็นคนเดิมที่สนุกกับชีวิตอีกครั้ง

แม้ว่าสถานะของเขาจะเป็นเทพของลีกเหมือนกับตอนที่เล่นในที่อื่นๆ หลังจากออกจาก NBA แต่เขาค้นพบสิ่งที่แตกต่าง เมื่อสิ่งที่เคยดูถูกกลายเป็นสิ่งที่เขาตามหามาตลอดชีวิต

เจอาร์ ไม่เคยรู้อะไรเกี่ยวกับประเทศญี่ปุ่นเลยแม้แต่น้อย วัฒนธรรม, อาหาร และ บาสเกตบอล ทุกอย่างแปลกใหม่หมด แต่เขากลับค้นพบที่ญี่ปุ่นว่าผู้คนที่นี่ล้วนมีลักษณะไม่ต่างกับตัวเขาเลย

"วิถีชีวิตของคนญีปุ่นมันคือวิถีชีวิตของผมเเลย ผมแค่ดูแลตัวเองตั้งใจซ้อมและทุกอย่างก็ดีขึ้นมากอย่างไม่น่าเชื่อ ผมไม่รู้สึกว่ามีที่ไหนเหมาะกับผมมากกว่าที่อีกเเล้ว เชื่อไหมผมไม่เคยมีปัญหากับชีวิตที่ญี่ปุ่นเลยแม้แต่ครั้งเดียว ทุกคนที่นี่ให้การดูแลเเละเเคร์ผมมากยิ่งกว่าแค่นักกีฬาคนหนึ่ง เรื่องในสนามว่ายอดเยี่ยมแล้ว แต่เรื่องนอกสนามนี่สิที่มันสุดยอดยิ่งกว่า”

นิสัยใจคอปากร้ายใจดีของเขาเป็นที่ถูกใจ เขาเจอโค้ชที่ดีที่สุดที่ซีฮอร์ส คิมิคาซึ ซูซูกิ คือคนที่ทำให้เขาระเบิดฟอร์มแบบไม่มีใครหยุดอยู่ ทั้งสองคนมีความสัมพันธ์ประหนึ่งพ่อลูกเลยทีเดียว

ชีวิต 4 ปีที่ญี่ปุ่นผ่านไปอย่างราบรื่น รู้ตัวอีกที ‘โค้ชซูซูกิ’ ก็ถูกดันขึ้นจากสมาคมขึ้นมาเป็นโค้ชทีมบาสเกตบอลชายทีมชาติญี่ปุ่น ซูซูกิ ที่คืนชีพให้ เจอาร์ เริ่มภารกิจแรกหลังรับตำแหน่งนั่นคือการชวนให้เขาเป็นพลเมืองของญี่ปุ่นเต็มตัว

 5

เจอาร์ อยู่ในบ้านเช่าที่เมือง คาริยะ ที่อยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของโตเกียว โค้ชซูซูกิ มาเคาะประตูถึงบ้านและยื่นข้อเสนอที่ทำให้เขาต้องคิดหนัก

"ปวดหัวอยู่เหมือนกัน แต่ผมก็บอกว่า ได้! ผมจะลองดู ผมทำแบบนี้เพราะว่า ซูซูกิ คือคนที่มีบุญคุณกับผมและมันถูกต้องแล้วที่ผมจะต้องตอบแทนบุญคุณครั้งนี้ด้วยการเล่นให้ทีมชาติญี่ปุ่นและพาไปแข่งโอลิมปิกให้ได้"

ปัญหาก็คือ หนทางการขอสัญชาติญี่ปุ่นสำหรับชาวต่างชาตินั้นถือว่ายากยิ่ง จนตัวเขาคิดว่า คงเกิดขึ้นไม่ได้เสียแล้ว

"ผมไปนอนคิดไม่เว้นแต่ละวัน แต่การได้สัญชาติมันยากจนแทบเป็นไปไม่ได้เลย นอกจากจะหาเมียญี่ปุ่นสักคนให้จบเรื่องกันไป แต่น่าเสียดายที่มันไม่ได้เกิดขึ้น หรือพูดให้ตรงกว่าคือ มันเกิดขึ้นไม่ได้" ตอบแบบขำขันกันไปในสไตล์ เจอาร์

ที่เขาพูดแบบนั้นก็เนื่องจาก เขาแต่งงานกับหญิงอเมริกันไปแล้วแถมมีลูกด้วยกัน 1 คน ดังนั้นวิธีนี้จึงต้องพับเก็บไป เวลาผ่านไป 8 เดือนทำยังไงก็ไม่มีหนทางแจ้งเกิดในฐานะคนญี่ปุ่นเสียที

 6

เมื่อไม่มีทางลัดก็ต้องไปทางตรงสถานเดียว นั่นคือการยื่นเรื่องขอสัญชาติด้วยเงื่อนไขสุดโหดชนิดที่ว่าหากไม่ใช่คนมุ่งมั่นจริงแทบไม่มีทางเป็นไปได้ … บางครั้งความบ้ากับความมุ่งมั่นก็มีเส้นบางคั่นอยู่ เจอาร์ ตบโต๊ะดังฉาดและบอกกับ ซูซูกิ ว่า "เอาสิโค้ช เดี๋ยวผมทำให้ดู" หลังจากนั้นภารกิจนี้ก็ถูกทำให้เกิดขึ้นอย่างจริงจังเสีย

กำเนิดซากุระงิในโลกแห่งความจริง

ในปี 2006 เจอาร์ ให้ความสำคัญกับการโอนสัญชาติแบบเต็มร้อย เริ่มจากการเรียนรู้ พูด, อ่าน, เขียน ภาษาญี่ปุ่น เขาต้องจดจำตัวอักษรทั้งหมด 1,750 ตัวให้ได้ทั้งหมด และเข้าห้องสัมภาษณ์โดยห้ามหลุดพูดภาษาอื่น รวมถึงห้ามพูดภาษาญี่ปุ่นผิดแม้แต่คำเดียว นอกจากนี้ยังมีกระดาษข้อสอบอีกปึกใหญ่ให้ทดสอบทักษะทุกด้าน

 7

"ผมนั่งอ่านและเขียนภาษาญี่ปุ่นในระดับพื้นฐานได้ทั้งหมด ผมจ่ายค่าเรียนภาษาญี่ปุ่นมากโขไม่โดดเลยซักชั่วโมงเดียว และใช้ชีวิตประจำวันด้วยการคุยกับคนท้องถิ่นให้ได้มากที่สุด"

ยัง! ยังไม่พอ เพื่อเพิ่มโอกาสให้สำเร็จเเม้จะเพียงน้อยนิด เจอาร์ เชื่อว่าเขาจะต้องเปลี่ยนชื่อใหม่ เขาคิดว่า ใช่เเล้ว คนญี่ปุ่นบ้าอะไรชื่อ เจอาร์ เฮนเดอร์สัน ฟังเเล้วคันหูชะมัด และนี่คือที่มาของชื่อใหม่ที่เป็นภาษาญี่ปุ่นของเขา

แรกเริ่มเดิมทีไม่ค่อยมีใครเห็นด้วยเพราะการเปลี่ยนชื่อครั้งนี้เหมือนกับการเป็นชายสามโบสถ์ กล่าวคือเป็นคนหลักลอย คิดอะไรทีก็เปลี่ยนแปลงที ไม่สามารถจังรักภักดีกับอะไรได้ แต่ เจอาร์ ไม่สนเพราะเขาเชื่อว่าการกระทำของเขาจะเสียงดังกว่าคำพูด

หลายคนบอกว่าเขาทำไปเพราะมีเรื่องของเงินมาเกี่ยวข้องด้วย เพราะในฐานะชาวต่างชาติ เจอาร์ ต้องเสียภาษีถึงปีละประมาณ 180,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ แต่ถ้าเขาโอนสัญชาติได้เเล้วละก็เขาจะเสียภาษีน้อยลงเยอะนั่นหมายถึงว่าสัญญาฉบับต่อไปที่จะมาถึงจะทำให้เขารับทรัพย์มากขึ้นถึง 2 เท่า แต่เหนือสิ่งอื่นใดคือ ญี่ปุ่นเปรียบเสมือนบ้านของเขาไปแล้ว เขาเลิกนอนฝันร้ายถึงเรื่องตอนที่ล้มเหลวใน NBA และสะดุ้งตื่นกลางดึกเหมือนที่เคยโดนตามหลอกหลอนมาตลอด  

"ซากุระงิ" ที่แปลว่า "ต้นซากุระ" คือชื่อที่โป๊ะเช๊ะยิงเข้ากลางใจเขาอย่างแรงเลยทีเดียว

"ต้นซากุระคือสิ่งสำคัญของวัฒนธรรมญี่ปุ่น ที่สำคัญคือมันดันไปตรงกับชื่อพระเอกของการ์ตูนบาสเกตบอลที่ดีที่สุดในโลกอย่าง SLAMDUNK เด็กๆ อาจจะคิดแบบนั้น แต่ผมไม่ได้สนใจว่าใครจะว่ายังไง ชื่อนี้แหละส่งเสริมผมแน่นอน"

 8

ทุกสิ่งไม่ใช่เรื่องง่าย เจอาร์ ซากุระงิ ในฐานะประชากรญี่ปุ่นถูกถือกำเนิดขึ้นในปี 2007 ในที่สุดความพยายามโอนสัญชาติตลอด 4 ปีของเขาก็สำเร็จ ซึ่งถือว่าเป็นการปิดจ็อบที่ทันเวลาพอดีเป๊ะ เพราะที่สุดเเล้วช่วงเวลาสั้นๆ เพียง 1 ปีเขาก็พาญี่ปุ่นไปเล่น โอลิมปิก ปี 2008 ได้ในที่สุด

ทุกวันนี้ผ่านมาเเล้วกว่า 16 ปีที่เขาอาศัยและใช้ชีวิตอยู่ที่ประเทศญี่ปุ่น เมื่อถูกถามว่าเขาจะกลับไปอยู่ที่อเมริกาหรือไม่? เจอาร์ ซากุระงิ ตอบว่า "ไม่กลับเเล้ว ญี่ปุ่นคือบ้านของผม ผมจะอยู่ที่นี่ยาวเลย"

นอกจากจะไม่กลับบ้านเกิดแล้ว เขายังไม่ยอมเลิกเล่นอีกด้วย "ญี่ปุ่น ชีวิตดีๆ ที่ลงตัว" คือคำขวัญที่เหมาะกับ ซากุระงิ ชีวิตในสนามเป็นคนสำคัญ ชีวิตนอกสนามก็มีแต่คนรัก เมื่อชีวิตคนเราเจอสิ่งที่รักและชอบทำแล้ว ไม่มีเหตุผลอะไรที่จะต้องเลิกกลางคัน

"ผมยังมีความกระหายที่จะชนะ สิ่งที่อยู่ในความคิดของผมคือการเเข่งขัน ผมมองมันไปทีละเกมๆ ผมรักโค้ชซูซูกิและทุกๆ สิ่ง ผมชอบเล่นกับเพื่อนร่วมทีมทีมนี้ ได้เล่นกับผู้เล่นเหล่านี้"

การเป็นส่วนหนึ่งของทีมของ ซากุระงิ ไม่ได้อยู่ในฐานะพี่ใหญ่ที่มีแต่ชื่อเสียงและเอาเปรียบน้องๆ ในทีมเท่านั้น อายุจะไม่ใช่ปัญหาใหญ่หากรู้จักการปรับตัวและรูปแบบที่เหมาะกับตัวเอง

"เขาทำอะไรก็ดูเนียนตาไปหมด เคลื่อนที่ไปช้าๆ แต่ฉลาด นี่คือวิธีการปรับตัวที่ดีในวันที่อายุมากขึ้น ผมรู้สึกว่า ซากุระงิ จะเล่นได้จนถึงอายุ 50 นู่นแหละ" นี่คือปากคำจาก ดอร์ซี่ย์ เพื่อนร่วมทีมของเขา

แม้จะห่างจากบ้านเกิดกว่า 5,000 ไมล์ แต่การเรียนรู้วัฒนธรรมที่อ้อนน้อมถ่อมตน ทำให้ทุกวันนี้เขาจึงเป็นหนึ่งในคนที่น่าอิจฉาที่สุดในโลก

 9

"ที่สุดเเล้วเงินไม่ใช่ทุกอย่างในโลก ชื่อเสียงก็เหมือนกัน ไม่มีเหตุผลอะไรที่ต้องดิ้นรนหลังจากนี้" เจอาร์ ซากุระงิ อธิบายสัจธรรมชีวิตที่ได้ค้นพบก่อนใครหลายคนในวัยเพียง 40 ปี

แล้วคุณล่ะ พบที่ที่ใช่สำหรับตัวเองเเล้วหรือยัง?

อัลบั้มภาพ 9 ภาพ

อัลบั้มภาพ 9 ภาพ ของ ไม่ได้มีแค่ในมังงะ : กำเนิด "ซากุระงิ" ในชีวิตจริง

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook