แมทธิว ฮาร์ดิ้ง : บิ๊กบอสผู้ล่วงลับ และที่รักของแฟนเชลซี

แมทธิว ฮาร์ดิ้ง : บิ๊กบอสผู้ล่วงลับ และที่รักของแฟนเชลซี

แมทธิว ฮาร์ดิ้ง : บิ๊กบอสผู้ล่วงลับ และที่รักของแฟนเชลซี
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ย้อนกลับไป 20-30 ปีที่เเล้ว ณ กรุงลอนดอน เมืองหลวงของอังกฤษ เมืองแห่งฟุตบอลแห่งนี้มีหลายสโมสรอัดเเน่นแทบทุกถนนหนแห่ง ช่วงนั้นเป็นยุคที่ อาร์เซน่อล คือ "คิง ออฟ ลอนดอน" จากผลงานอันยอดเยี่ยมและมีแฟนบอลที่เป็นคนท้องถิ่นจำนวนมาก พวกร้านขายของที่ระลึกต่างๆ ก็แทบจะเป็นของทัพปืนโตทั้งนั้น รองลงมาก็จะปรากฎชื่อ ท็อตแน่ม ฮ็อทสเปอร์ และ เวสต์แฮม อยู่ในค่าเฉลี่ยที่เท่ากันๆ

คำถามคือแล้วเบอร์ 1 ของลอนดอน ณ ปัจจุบันอย่าง เชลซี ทำอะไรอยู่ในเวลานั้น? คำตอบง่ายๆ คือพวกเขากำลังรวบรวมพลังเงินและพลังสมองเพื่อพาทีมกลับมายืนอยู่จุดที่เคยอยู่และกลายเป็น "Pride of London" ให้ได้ ด้วยการบริหารของ 2 คู่หูต่างวัยที่กลายมาเป็นคู่กัดในภายหลังอย่าง เคน เบตส์ และ แมทธิว ฮาร์ดิ้ง

 

“พวกเขาไม่ถูกกัน” แต่ 2 ผู้บริหารที่ผิดใจกันขับเคลื่อนทีมสู่ยุคสมัยใหม่ได้อย่างไร? และเหตุใด ฮาร์ดิ้ง ผู้จากไปก่อนวัยอันควรด้วยเหตุเฮลิคอปเตอร์ตกในปี 1996 จึงเป็นเหมือนลมหายใจและส่วนหนึ่งในชีวิตของกองเชียร์ท้องถิ่น ติดตามเรื่องราวทั้งหมดได้ที่นี่

ชีวิตคือเรื่องราวของความหลงใหล

หากคุณหวังจะเห็นเรื่องราวของ แมทธิว ฮาร์ดิ้ง ในฐานะเศรษฐีผู้ร่ำรวยและมีอุดมการณ์ คุณคิดถูกแล้ว แต่มันถูกแค่ครึ่งเดียวเท่านั้น เพราะนอกจากทรัพย์สินมากมายชนิดที่ว่าใช้ได้ทั้งชาติก็ยังไม่หมดแล้ว เขายังมีความบ้าระห่ำในตัว และเปลี่ยนแปลงมันให้กลายเป็นความจริง

 1

ฮาร์ดิ้ง เกิดในตระกูลที่ร่ำรวย พ่อ-แม่ ส่งเรียนหนังสือที่มหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ด เพียงแต่ว่าเขาไม่ชอบเรียนหนังสือ ... วิชาเดียวที่เขาได้เกรดเอคือ ภาษาละติน ส่วนวิชาที่เหลือก็ลุ่มๆ ดอนๆ ตามประสาลูกเศรษฐีที่ถือสโลแกนว่า "เรียนไม่มากีฬาไม่ขาด"

ฮาร์ดิ้ง เป็นเด็กที่บ้าฟุตบอลระดับที่วันๆ ให้ดูแต่ฟุตบอลอย่างเดียวก็ยังได้ โดยเฉพาะเรื่องราวของทีมรักของเขาอย่าง "เชลซี" ทุกซอกทุกมุมของสโมสรแห่งนี้ ไม่มีสิ่งที่สามารถหลบซ่อนจากสายตาของเขาได้ เพื่อนๆ ของ ฮาร์ดิ้ง บอกเล่าความเข้าเส้นไว้ว่า หมอนี่บ้าในระดับที่มากกว่าการเข้าไปชมเกม 90 นาทีในสนาม ทุกครั้งที่เกมจบลงเขาจะฉลองชัยนอกสนามไปกับแฟนท้องถิ่นคนอื่นๆ ภาพของ ฮาร์ดิ้ง สวมเสื้อเชลซียุคคลาสสิกคือภาพที่คุ้นตามาก เขาจะเดินไปคุยกับแฟนบอลของทีมอย่างเต็มใจแม้ว่าคนๆ นั้นจะเป็นคนแปลกหน้าก็ตาม

ทักษะการเจรจาของเขานั้นเป็นเลิศ ว่ากันว่าหาก ฮาร์ดิ้ง ได้คุยกับใครเเล้วล่ะก็ คู่สนทนาจะตั้งใจฟังเขาอย่างเปิดใจและไม่รู้สึกอึดอัดแม้จะเป็นคนแปลกหน้าและเพิ่งได้คุยกันครั้งแรกก็ตาม การหายใจเข้า-ออก เปลี่ยนให้เขากลายเป็นที่นิยมชมชอบของแฟนบอลท้องถิ่นตั้งแต่ที่ยังไม่มียศมีตำแหน่งเลยด้วยซ้ำไป

อย่างไรก็ตามสถานการณ์ของเชลซี ในช่วงนั้น (ปี 1993) กำลังตกต่ำถึงขีดสุด จนแทบไม่น่าเชื่อว่าพวกเขามาอยู่ในสถานะยอดเยี่ยมทีม ณ ปัจจุบันได้อย่างไร?

ภายใต้การนำทีมของกุนซือ เอียน พอร์เตอร์ฟิลด์ พวกเขากำลังดิ้นรนสุดชีวิตเพื่อให้ได้อยู่ในพรีเมียร์ลีกต่อไป ณ ตอนนั้นแฟนบอลของเชลซี ส่ายหัวกับความไม่เอาไหน ในเมื่อความสำเร็จ=0 แถมอนาคตก็แสนมืดมน ทุกอย่างช่างดูสิ้นหวังจนกระทั่งมีใครบางคนตบเท้าขึ้นสู่หัวแถวและบอกว่า "มา ผมนี่แหละจะช่วยทีมเอง"

การเป็นแฟนเดนตาย บวกกับมีทรัพย์สินในมือถึง 170 ล้านปอนด์ ทำให้ ฮาร์ดี้ง ไม่มีความสุขมากนักกับสภาพทีมที่ยิ่งเล่นยิ่งสิ้นหวัง นั่นคือเหตุผลที่ให้คนหนุ่มผู้ไม่ชอบเรียนหนังสือแต่สนใจเรื่องของการทำธุรกิจกับฟุตบอล ได้หยิบสองสิ่งที่เขารักและรวมกัเนเพื่อสร้างให้เป็นศาสตร์ของการเป็นเจ้าของทีม

คลื่นลูกใหม่ ปะทะ ปู่โสมเฝ้าทรัพย์

เมื่อกายพร้อมใจพร้อม ส่วนเรื่องเงินก็พร้อมมาตั้งแต่เกิด จึงได้เวลาที่ ฮาร์ดิ้ง ติดต่อไปยัง เคน เบตส์ ประธานสโมสรที่ขึ้นชื่อเรื่องความเป็นผู้บริหารระดับเขี้ยวลากดิน และเมื่อมีคนรุ่นใหม่เดินเข้ามาเคาะประตูแล้วบอกว่าจะให้เงินลงทุนกับทีมราว 30 ล้านปอนด์ ... มีหรือที่ เบตส์ ผู้แก่พรรษาบนโลกลูกหนังจะปฏิเสธ

 2

ก่อนอื่นคงต้องเท้าความกันสักนิด เงินจำนวน 30 ล้านปอนด์เมื่อ 25 ปีที่แล้วนั้นถือว่าเป็นจำนวนที่ "โคตรเยอะ" เปรียบเทียบให้เข้าใจง่ายๆ คือ โรแบร์โต้ บาจโจ้ ผู้ยืนอยู่ในจุดสูงสุดของโลกฟุตบอลคล้ายๆ กับที่ โรนัลโด้ และ เมสซี่ ยืนอยู่ในตอนนี้ ยังมีค่าตัวเพียงแค่ 8 ล้านปอนด์เท่านั้น (ย้ายจาก ฟิออเรนติน่า ไป ยูเวนตุส)

เบตส์ ผู้ซื้อทีมเชลซีมาด้วยเงินเพียง 1 ปอนด์เมื่อปี 1982 ชอบใจเป็นอย่างมากกับการได้แรงเงินหนุนหลังครั้งนี้ เขาแต่งตั้งให้ ฮาร์ดิ้ง กลายเป็นผู้อำนวยการสโมสรทันที ซึ่งนอกจากเงินทุนที่มาพร้อมๆ กับตำแหน่งแล้ว ศรัทธาของแฟนบอลท้องถิ่นก็ทะยานสูงขึ้นในพริบตา พวกเขารู้ว่าเมื่อคนที่อยากเห็นทีมประสบความสำเร็จได้เข้าไปอยู่ในฝ่ายบริหาร ทิศทางของสโมสรจะเป็นไปในแบบที่พวกเขาอยากเห็น กล่าวคือ ฮาร์ดิ้ง กลายเป็นตัวแทนของเเฟนเชลซีทุกหมู่เหล่าที่มีอำนาจเด็ดขาดในห้องบอร์ดรูม

เชลซี เริ่มขยับจากทีมโซนท้ายตารางขึ้นสู่กลางตารางอย่างมั่นคง พวกเขาคือทีมระดับ "อินเตอร์" ที่ใช้นักเตะต่างชาติเป็นสัดส่วนแบบครึ่งต่อครึ่งทีมแรกของอังกฤษ ตลาดนักเตะทุกๆ ซัมเมอร์ในยุคของ ฮาร์ดิ้ง สร้างความตื่นเต้นให้แฟนบอลได้เสมอ นักะเตะอังกฤษและต่างชาติชื่อดังหลายคนตบเท้าเข้ามาเป็นสมาชิกของสิงห์บลูส์เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทีละนิดๆ ไม่ว่าจะเป็น เกล็น ฮอดเดิ้ล, รุด กุลลิท, เเดน เปเตรสคู, จานลูก้า วิอัลลี่, จานฟรังโก้ โซล่า, มาร์กแซล เดอไซญี่ และอีกมากมาย แน่นอนว่าทั้งหมดที่กล่าวคือชื่อแฟนเชลซีได้แต่ฝันเท่านั้นในยุคที่ เบตส์ ยังไม่ได้เงินจาก ฮาร์ดิ้ง ...

 3

ยิ่งนานวันเข้า ฮาร์ดิ้ง ก็เข้าไปยืนอยู่ในหัวใจของแฟนเชลซีมากขึ้นเรื่อยๆ ขณะที่ เบตส์ เองก็แทบกลายเป็นเสือกระดาษที่แฟนบอลไม่เห็นหัว เพราะตอนนั้นแฟนเชลซีทุกคนแทบจะชูมือสนับสนุน ฮาร์ดิ้ง ทั้งหมด ส่วน เบตส์ ไม่อาจลบภาพลักษณ์นายทุนหน้าเลือดที่ขูดรีดสโมสรในสายตาของแฟนบอลได้

นอกจากนั้น เขายังควักเงินส่วนตัวให้สโมสรยืมอีก 5 ล้านปอนด์เพื่อเอาไปต่อเติมอัฒจันทร์โซนเหนือของสนาม สแตมฟอร์ด บริดจ์ อีกด้วย ซึ่งเรื่องนี้กลายเป็นที่มาของการล่มสลายของทีมเวิร์คระหว่าง ฮาร์ดิ้ง กับ เบตส์ โดยที่ ฮาร์ดิ้ง ไม่รู้ตัว เมื่อ เบตส์ รับรู้ถึงบัลลังก์ที่เขานั่งอยู่ว่ามีการสั่นไหวเกิดขึ้นจากการกระทำดั่งพ่อพระของคนที่เขายกตำแหน่ง ผอ. ให้ สุดท้ายก็เชื่อฝังใจว่า ฮาร์ดิ้ง กำลังจะทำให้ภาพลักษณ์ของเขาแย่ลงไปเรื่อยๆ จนมีโอกาสทีจะทำให้เขาเสียเก้าอี้ประธานสโมสรไปในอนาคต

 4

ตกผลึกสู่สงครามที่โซนเหนือ

"ผู้ชายคนนี้ไม่เหมาะที่จะขับเคลื่อนสโมสรของผม" เบตส์ เปิดประเด็นต่อหน้าสื่อ แปลความได้ว่าเขากำลังจะกัน ฮาร์ดิ้ง ออกจากสโมสรที่กำลังเติบโตขึ้นเรื่อยๆ

 5

ก่อนหน้านี้ไม่กี่วัน เบตส์ ส่งจดหมายด้วยข้อความแกมบังคับจากตำแหน่งที่ใหญ่กว่าถึงฮาร์ดิ้งว่า ได้เวลาเเล้วที่คุณจะต้องถอนสิทธิ์จากการเป็นบอร์ดบริหารของทีม การกระทำของคุณนำมาซึ่งความอึดอัดใจของโต๊ะประชุมบอร์ดบริหาร

ณ เวลานั้น ฮาร์ดิ้ง ยังเดินทางไปทำธุรกิจที่มหานครนิวยอร์ก และหลังจากได้รับสารดังกล่าวเขาจึงรู้สึก "ทึ่ง" จากสิ่งที่ เบตส์ ได้แถลงและพูดถึงความเสียหายหากยังมีเขานั่งแท่นเป็นหนึ่งในผู้บริหารอยู่

"ผมไม่รู้นะว่านี่เป็นการต่อสู้หรือว่าสงคราม แต่มั่นใจได้เลยผมจะไม่แพ็คกระเป๋าและออกจากที่ของผมแน่นอน" ฮาร์ดิ้ง รู้ดีว่ามีกลุ่มคนใส่สูทนั่งโต๊ะกำลังตีความว่า 5 ล้านปอนด์ของเขากับสแตนด์ฝั่งเหนือคือจุดเริ่มต้นของการยึดอำนาจและขึ้นเป็นเบอร์ 1 อย่างถาวร นอกจากนี้เขายังทำเหมือนเดินนั่นคือการซื้อใจด้วยการแบ่งกำไรจากบริษัทส่วนตัวของเขา เพื่อออกค่าตั๋วให้กับแฟนเชลซีที่เข้ามาชมเกมในสนามเป็นจำนวน 3 ปอนด์ต่อ 1 ที่นั่ง

เบตส์ ปล่อยเรื่องนี้ไปไม่ได้ เขาปฎิเสธเงินจาก ฮาร์ดิ้ง ที่จะช่วยชำระหนี้ส่วนหนึ่งให้กับสโมสร โดยการให้เหตุผลว่า "หนี้ของสโมสรคือภาระการรับผิดชอบของทุกคนไม่ใช่ของใครเพียงคนเดียว"

งานนี้ไม่มีใครผิดใครถูกเพียงแต่ว่าเป็นการมองจากคนละมุมเท่านั้น ฮาร์ดี้ง มองว่าอยากให้ทีมเก่งประสบความสำเร็จก็ต้องซื้อสิ และในเมื่อมีเงินทำไมจะทำไม่ได้? ขณะที่ เบตส์ ก็ติดเบรกทุกประเด็นในบอร์ดรูม เขามองว่านี่คือการกระทำที่หวังผลได้แค่ในระยะสั้น สโมสรจะต้องมีรายได้ที่ครบวงจรทั้งจากการขายสินค้าลิขสิทธิ์ของสโมสร, การสร้างโรงแรม และร้านอาหาร ว่าง่ายๆ ก็คือการสร้างแบรนด์นอกสนามนั่นเอง

 6

เมื่อต่างฝ่ายต่างเชื่อกันคนละทฤษฎี ฮาร์ดิ้ง ผู้ร่ำรวยจึงคิดจะเดินเกม "ซื้อสโมสร" แต่ เบตส์ เองก็ทันเกมเหมือนกัน เขายืนยันว่าหากอยากจะได้ เชลซี ก็ต้องยื่นข้อเสนอก้อนโตระดับ 60 ล้านปอนด์ขึ้นไป แม้ ฮาร์ดิ้ง จะร่ำรวย ทว่าก็ยังไม่ถึงในระดับที่เหลือจนสามารถเปย์ได้ทุกอย่างเหมือนกับที่ แจ็ค วอล์คเกอร์ ซื้อและสร้าง แบล็คเบิร์น โรเวอร์ส ด้วยเงินสด 400 ล้านปอนด์ ดังนั้นการเป็นเจ้าของเพียงหนึ่งเดียวก็กลายเป็นแค่ฝันค้าง และตำแหน่งของเขาก็ตันที่รองประธานสโมสรเท่านั้น

ฮาร์ดิ้ง ตระหนักดีว่าหากเขายังไม่ยอมแพ้และพยายามที่จะกลายเป็นเจ้าของทีมได้สักวันต้องมีวันสำเร็จแน่ เมื่อแฟนบอลเปิดใจเชียร์เขาอย่างชัดเจน

วันที่สิงห์บลูส์ร่ำไห้

แม้ความเห็นจะไม่ตรงกันจนเป็นคลื่นใต้น้ำในห้องประชุมของบอร์ดบริหาร ทว่าการจัดการแบบแกครึ่งหนึ่งข้าครึ่งหนึงของ เบตส์ และ ฮาร์ดิ้ง ก็ถือว่าดำเนินต่อไปได้ดี เชลซี เป็นทีมที่มีมูลค่าในตลาดสูงขึ้นทุกปีแถมยังเข้าใกล้ความสำเร็จแรกไปเรื่อยๆ

 7

นี่คือสิ่งที่ ฮาร์ดิ้ง อยากจะเห็นมากที่สุด การเป็นแชมป์ในฐานะส่วนหนึ่งของสโมสรคือสิ่งที่เขาเฝ้ารอมาตั้งแต่เกิด ทว่ากลับมีเรื่องหนึ่งเกิดขึ้นเสียก่อน...

22 ตุลาคม 1996 ฮาร์ดิ้ง ตื่นเช้าเเละทำในสิ่งที่เขาทำเป็นประจำในช่วงแมตช์เดย์ของ เชลซี นั่นคือการไปเชียร์ทีมรักถึงสนาม แต่หนนี้ต่างออกไปนิดหน่อยเพราะคู่แข่งในเกมลีกคัพรอบ 3 คือ โบลตัน วันเดอเรอร์ส ซึ่งตั้งอยู่ทางเหนือของกรุงลอนดอนถึง 220 ไมล์ หรือ 350 กิโลเมตร ดังนั้นเพื่อความรวดเร็วและสะดวก ฮาร์ดิ้ง จึงเรียก เฮลิคอปเตอร์ ไว้หนึ่งลำเพื่อเดินทางไป "รีบ็อก สเตเดี้ยม" ตามประสาเศรษฐีนักธุรกิจที่เวลาเป็นเงินเป็นทอง

 8

หลังจบเกมซึ่งทีมสิงโตน้ำเงินครามถูกน็อกตกรอบด้วยสกอร์ 1-2 ฮาร์ดิ้ง และคณะทัวร์ได้จัดปาร์ตี้กันเล็กน้อยก่อนจะกลับสู่กรุงลอนดอน ทว่าเขาไม่ทันรู้ตัวว่าความพ่ายแพ้เกมนี้จะเป็นฟุตบอลเเมตช์สุดท้ายในชีวิต

เฮลิคอปเตอร์ที่ชื่อ "กระรอกแฝด" ของ ฮาร์ดิ้ง ในวันนั้น มีผู้โดยสารสี่คนได้แก่ โทนี่ เบอร์ดริดจ์ นักธุรกิจชื่อดังวัย 39 ปี, เรย์มอนด์ ดีน วัย 43, จอห์น บอลดี้ นักข่าววัย 47 ปี และตัวเขา บินขึ้นเหนือท้องฟ้าไม่นานก็เกิดเหตุขัดข้องขึ้น จน ไมเคิล กอสส์ นักบินในวันนั้นไม่สามารถควบคุมเครื่องลงจอดได้ ที่สุดแล้ว เครื่องก็กระเเทกพื้นดินในพื้นที่เกษตรย่าน เชสเชียร์ ก่อนจะเกิดระเบิดสนั่นหวั่นไหวและไฟลุกท่วม ฮาร์ดิ้ง ในวัย 42 ปีและผู้โดยสาร รวมถึงนักบินในวันนั้นเสียชีวิตทั้ง 5 คน

"มันเริ่มจากมีเสียงอะไรแปลกๆ ผมได้ยินเเล้วก็คิดในใจว่านี่มันไม่ใช่เสียงของเฮลิคอปเตอร์ปกติเเล้ว ... สองสามวินาทีเท่านั้นแหละเครื่องก็ระเบิด ท้องฟ้าเปลี่ยนเป็นสีดำและหลังจากนั้นทุกอย่างก็ไหม้วอดวายไฟท่วมไปหมดเลย" โคลิน ดัตตัน พยานผู้เห็นเหตุการณ์กล่าว

ด้านเจ้าหน้าที่ตำรวจเปิดเผยว่า การชึ้นบินในวันนั้นเป็นการฝืนต่อสภาพอากาศที่อาจก่อให้เกิดอันตรายได้ตามที่พยากรณ์อากาศได้แนะนำให้หลีกเลี่ยงการขึ้นบิน สำนักงานสืบสวนทางอากาศพบว่านักบินไม่สามารถควบคุมเครื่องบนความสูงเกินจำกัด ซึ่งจุดนี้ยังหาเหตุผลไม่ได้ว่าเหตุใด กอสส์ ผู้เป็นนักบินจึงทำเช่นนั้น จนทำให้เครื่องบันทึกข้อมูล (กล่องดำ) ไม่สามารถเก็บเหตุการบางส่วนได้

"การบินในระดับนี้จำเป็นต้องมีการวางแผนการบินที่ได้มาตรฐานและความถูกต้อง ซึ่งสถานการณ์นี้นักบินไม่มีประสบการณ์พอที่จะดำเนินการในสภาวะดังกล่าวได้" ผู้เชี่ยวชาญด้านการสืบสวนทางอากาศกล่าวกับ BBC หลังเกิดเหตุไม่กี่วัน

เรื่องราวการเสียชีวิตจากเหตุเฮลิคอปเตอร์ภายใต้ช่วงเวลาที่คลุมเครือระหว่างการแย่งอำนาจกันของทั้งสองฝั่ง รวมถึงหลักฐานที่ไม่สามารถชี้ชัดได้ว่าเป็นอุบัติเหตุหรือไม่ ทำให้เลี่ยงไม่ได้เลยกับเรื่องที่แฟนเชลซีบางส่วน รวมถึงบุคคลใกล้ชิดของทั้งสอง อย่าง เกรแฮม พาร์ ผู้บริหารระดับสูงของเครือแฟรนไชส์ร้านฟิชแอนด์ชิป แฮร์รี่ แรมสเดนส์ จะอดคิดไม่ได้ว่า เคน เบตส์ เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์นี้

 9

เพราะหนึ่งในเหตุผลสำคัญก็คือ ปากของเฒ่าเจ้าของทีมยังคงร้ายเหมือนเดิมเมื่อมีใครเอ่ยชื่อผู้วายชนม์ ทุกครั้งที่ เบตส์ เห็นเฮลิคอปเตอร์บินผ่านเขามักจะพูดเสมอว่า “โน่นไง ไอ้แมทธิว มันบินมาอีกคนแล้วนั่น” ถือเป็นการแสดงจุดยืนที่ชัดเจนว่า แม้ ฮาร์ดิ้ง ตายไปแล้วเขาก็ยังไม่ชอบขี้หน้าอยู่ดี

เบตส์ อาจจะเป็นคนปากร้ายแต่ครั้งหนึ่งเขากับ ฮาร์ดิ้ง ก็เกื้อกูลกันในฐานะหุ้นส่วนและทำให้ เชลซี ที่เป็นของส่วนรวมเดินทางไปข้างหน้า และเมื่อการสอบสวนไม่สามารถหาหลักฐานเชื่อมโยงได้ ที่สุดแล้วเขาก็คือผู้บริสุทธิ์ และคนผิดกลายเป็นบริษัทการบินที่ต้องโดนฟ้องร้องค่าเสียหายแทน

สิ่งที่ทุกคนสงสัยในตัวของประธานเฒ่าถูกพับเก็บเข้าลิ้นชักไปเมื่อการสอบสวนในภายหลังและกล่องดำในเครื่องได้เฉลยทั้งหมดว่า จู่ๆ ตัวนักบินก็เกิดความสับสน จนบังคับเครื่องบินโดยไม่ได้สังเกตสภาพแวดล้อมภายนอกก่อน นอกจากนี้เขายังไม่ได้มองหน้าปัดที่บอกว่าเฮลิคอปเตอร์กำลังอยู่ในภาวะดิ่งสู่พื้นดิน รู้ตัวอีกทีก็ไม่ทันเเล้ว…

เจ้าหน้าที่พิสูจน์หลักฐานในคดีดังกล่าวคือ จอห์น ฮิบเบิร์ต เขาได้ใช้ระยะเวลาสืบสวนอยู่สักพักก็ได้ข้อสรุปว่าเป็นอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นจากความประมาทโดยตรง กอสส์ อาจจะเคยเป็นนักกองทัพมาก่อนแต่ก็ไม่ได้รับการฝึกบินในสภาพอากาศที่ย่ำแย่ขนาดนี้ และอีกหนึ่งเหตุผลคือตัวนักบินเชื่อเซ้นส์และประสบการณ์ของตัวเองมากเกินไปกว่าที่จะเชื่อสิ่งที่บอกบนหน้าปัดเฮลิคอปเตอร์

"ถ้าเขามองไปที่หน้าปัดเเละเชื่อสิ่งที่เกิดขึ้น เขาจะเข้าใจว่าเฮลิคอปเตอร์ลำนี้อยู่ในสภาพการณ์ไหน และนั่นอาจจะไม่ก่อให้เกิดปัญหานี้เลยก็ได้ อย่างไรก็ตามนี่คือเรื่องที่นักบินส่วนใหญ่เป็น พวกเขามีความชำนาญและมักจะใช้เซ้นส์บอกตำแหน่งของเครื่อง" ฮิบเบิร์ต กล่าว

เหตุการณ์บินโดยไร้สมรรถภาพของ กอสส์ นำมาซึ่งการปฎิวัติการบินพลเรือนของอังกฤษเลยทีเดียว มีการออกหลักสูตรใหม่ที่สามารถครอบคลุมยังสถานการณ์ที่ควบคุมยากเช่นเหตุการณ์กระรอกแฝดครั้งนี้

หนึ่งเดือนหลังจากพิจารณาคดี รูธ ฮาร์ดิ้ง ภรรยาของ แมทธิว ก็ได้เปิดใจผ่านสื่อว่าแท้จริงแล้วสามีของเธอเป็นคนที่ไม่ชอบการขึ้นเครื่องบินเลย เพราะมันเสียเวลามากกว่าและสะดวกสบายน้อยกว่าเฮลิคอปเตอร์ส่วนตัว ทว่าด้วยความรีบนี้เองจึงนำมาซึ่งอุบัติเหตุที่ไม่มีใครอยากให้เกิด

 10

"แมทธิว ไม่ชอบขึ้นเครื่องบิน เราบินพร้อมกันครั้งแรกตอนอายุ 22 เขาจับมือฉันแน่นและบอกว่าไม่แฮปปี้กับสถานการณ์นี้เลย"  เธอเปิดใจหลังการจากไปของสามีครบรอบ 1 เดือน

“ฉันจำได้ดีเราขึ้นเครื่องบินกันบ่อยมาก ส่วนใหญ่ในเเมตช์เกมเยือนเรามักจะนั่งเครื่องบินลำเล็กไป ทว่ามันกินเวลานานและมีทางเลือกอย่างเฮลิคอปเตอร์ที่รวดเร็วกว่า ตรงนั้นฉันเข้าใจดีว่าทำไม แมทธิว จึงเลือกเส้นทางนี้ แต่ว่ากันตรงฉันก็ไม่อยากแนะนำใครให้บินโดยวิธีนี้เท่าไหร่นัก"

"บางครั้งฉันก็กลัวว่ามันจะรวดเร็วเกินไป เขาหวังว่าจะกลับมาถึงลอนดอนก่อนเช้ามืดเพราะเขามีประชุมช่วง 10 โมง" เธอเล่าทั้งหมดที่เธอรู้ และเป็นการเฉลยว่าเหตุใดเครื่องกระรอกแฝดจึงขึ้นบินกลางดึกในสภาพวิสัยทัศน์ที่ไม่ชัดเจนเช่นนี้

ความสำเร็จที่มาช้าเกินไป

การจากไปของ ฮาร์ดิ้ง คือเรื่องน่าเศร้า เขาลงทุนลงแรงไปมากมายทั้งหมดนี้เพื่อให้ทีมรักได้ชูถ้วยแชมป์ … สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นจริง ทว่ามันเกิดขึ้นหลังจากเขาจากโลกนี้ไปเพียง 7 เดือนเท่านั้น

 11

เชลซี เข้ารอบชิงชนะเลิศกับ มิดเดิลสโบรช์ ก่อนจะชนะไป 2-0 คว้าแชมป์ เอฟเอ คัพ และเป็นแชมป์แรกในรอบ 17 ปีที่แฟนบอลรอคอย มันคือแชมป์ที่ปลดแอกความทรมานกับสถานะทีมตัวประกอบของลอนดอน เรื่องนี้ทั้งแฟนบอลและนักเตะทุกคนในทีม เชลซี เวลานั้นต่างให้เครดิตกับ ฮาร์ดิ้ง ชายผู้มีหัวใจที่ยิ่งใหญ่มากกว่าเงินทอง 2 ปีบนตำแหน่งผู้บริหารเขาได้สร้างความเปลี่ยนครั้งยิ่งใหญ่ของสโมสรแห่งนี้

เราไม่อาจรู้ได้เลยว่าหาก ฮาร์ดิ้ง ยังอยู่ เชลซี ในตอนนี้จะเป็นอย่างไร แต่ช่วงเวลาหลังจากนั้น เคน เบตส์ ก็ได้เครดิตไปเต็มๆ ไม่ใช่ว่าเขาบริหารงานดีจน เชลซี กลายเป็นโคตรทีมแต่อย่างใด แต่เป็นเพราะเขาส่งทีมให้กับเจ้าของใหม่ที่ถูกคน เศรษฐีจากรัสเซียนามว่า โรมัน อบราโมวิช เข้ามาซื้อทีม ก่อนจะพา สิงห์บลูส์ ทะยานขึ้นเป็นทีมแนวหน้าของโลกในเวลานี้

ทุกอย่างล้วนมีที่มา บางครั้งการมีเงินอย่างเดียวก็ใช่ว่าทุกสิ่งจะสำเร็จได้ ฮาร์ดิ้ง มีทั้งพระเดชและพระคุณในเวลาเดียวกัน เขาทำให้แฟนเชลซีกลับมามีศรัทธาอีกครั้งและกล้าถึงอนาคตอันสดใส เขาคือคนที่แฟนเชลซีพูดได้เต็มปากว่าเป็นผู้บริหารที่เป็นพวกเดียวกับกองเชียร์

ทันทีที่อัฒจันทร์ฝั่งเหนือซึ่งเป็นฝั่งที่ ฮาร์ดิ้ง ลงทุนด้วยเงินของตัวเองเเล้วเสร็จ ทางสโมสรก็ตั้งชื่อว่า "แมทธิว ฮาร์ดิ้ง สแตนด์" เพื่อให้เกียรติและเป็นที่ระลึกกับการจากไปของชายผู้พร้อมทำทุกอย่างเพื่อให้ทีมเดินไปข้างหน้าได้อย่างองอาจ

 12

ในวันที่ครบครอบ 20 ปีของการจากไป บิ๊กบอสคนปัจจุบันอย่าง โรมัน อบราโมวิช ได้สั่งทำป้ายผ้าขนาดใหญ่ถึง 100 ฟุตมอบให้กับแฟนบอลผู้เข้ามาชมเกมในวันนั้น บนป้ายประดับข้อความว่า "แมทธิว ฮาร์ดิ้ง จะเป็นที่รักของเราแบบไม่มีวันลืม"

ขณะที่แฟนบอลของเชลซีเองก็เตรียมป้ายเเบนเนอร์ที่พวกเขาตั้งใจทำด้วยตัวเอง "แมทธิว ฮาร์ดิ้ง คือส่วนหนึ่งของพวกเราทุกคน"

 13

แบนเนอร์ดังกล่าวยังถูกติดอยู่ที่อัฒจันทร์ฝั่งเหนือของสนาม สแตมฟอร์ด บริดจ์ จนถึงทุกวันนี้ … บางครั้งการทำอะไรเพื่อคนอื่นก็มีค่าพอกับการมีชีวิตอยู่ และนั่นคือสาเหตุที่เรื่องราวของ ฮาร์ดิ้ง จะยังคงเป็นที่เชิดชูในหมู่แฟนบอลเชลซีไปตลอดกาล

อัลบั้มภาพ 13 ภาพ

อัลบั้มภาพ 13 ภาพ ของ แมทธิว ฮาร์ดิ้ง : บิ๊กบอสผู้ล่วงลับ และที่รักของแฟนเชลซี

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook