PFA THAILAND : แสงสว่างและความหวังใหม่ของนักฟุตบอลอาชีพไทย

PFA THAILAND : แสงสว่างและความหวังใหม่ของนักฟุตบอลอาชีพไทย

PFA THAILAND : แสงสว่างและความหวังใหม่ของนักฟุตบอลอาชีพไทย
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

“นักบอลโดนโกงเงินเดือน, สโมสรไม่จ่ายค่าเซ็นสัญญา, นักเตะถูกยกเลิกสัญญาไม่ได้รับความเป็นธรรม-ค่าชดเชย” คือ พาดหัวข่าวที่เราเห็นกันอยู่บ่อยครั้ง ในสังคมลูกหนังอาชีพบ้านเรา

อาชีพนักฟุตบอล มีสถานะเป็นเพียงแค่ “เบี้ยตัวหนึ่ง” บนกระดานอุตสาหกรรมฟุตบอลไทยขนาดใหญ่ ที่มีเงินสะพัดหลักพันล้านบาทต่อปี

แต่ก็ใช่ว่า เบี้ยทุกตัว จะสามารถูกเอารัดเอาเปรียบจากนายจ้างได้ และไม่มีสิทธิ์เรียกร้องใดๆ จากการเล่นกีฬาอาชีพ ที่พวกเขาเอาร่างกายเข้าปะทะ เพื่อแลกมาซึ่งค่าตอบแทน

หลายคน อาจรับรู้ว่าปัญหาดังกล่าวเกิดขึ้นมานานแล้ว บางคนอาจจะไม่เคยรู้ หรือบางคนรับรู้ แต่เลือกที่จะเพิกเฉย และปล่อยให้มันผ่านไป ราวกับปิดตาข้างหนึ่งอยู่ แม้ในวันที่ฟุตบอลไทยเป็นลีกอาชีพจริงๆแล้วก็ตาม

 

“สมาคมนักฟุตบอลอาชีพแห่งประเทศไทย” หรือ PFA Thailand จึงถือกำเนิดขึ้นมา จากการรวมตัวกันของบรรดาแข้งไทยลีกหัวก้าวหน้า ที่ต้องการเข้ามาทำให้ “เบี้ย” ตัวนี้ ไม่ต้องยอมจำนน เข้าตาจน อยู่เสมอไป

องค์กรนี้ จะเข้ามาบทบาทและประโยชน์ต่อ นักฟุตบอลอาชีพไทย อย่างไร? ตัวอย่างของ สหภาพแรงงานนักเตะอาชีพในต่างประเทศ มีอิทธิพล และสามารถต่อรองกับ ลีก, สโมสร ได้มากแค่ไหน, ถ้านักบอลไทยถูกเอาเปรียบพวกเขาจะช่วยเหลือได้อย่างไร?

เกิดขึ้นจากปัญหา  

ปัญหาของโลกแห่งการทำงาน ไม่ว่าจะยุคใดสมัยใด ก็คงหนีไม่พ้นเรื่องของ “นายจ้าง” กับ “ลูกจ้าง” เช่นเดียวกับฟุตบอลอาชีพ

 1

คล้อยหลัง 20 ปี การเกิดลีกครั้งแรกที่อังกฤษ ในปี ค.ศ. 1907 สมาคมนักฟุตบอลอาชีพ (Professional Footballers' Association) ก็ได้ถือกำเนิดขึ้นมาด้วยเช่นกัน นับเป็นสมาคมนักเตะอาชีพแห่งแรกของโลก ที่ปัจจุบันยังคงมีบทบาทอย่างมาก ต่อลีกระดับแม่เหล็กอย่าง พรีเมียร์ลีก อังกฤษ

ความจริงก่อนหน้านั้น เคยมีการจัดตั้ง สหภาพสมาคมนักฟุตบอล (Association Footballers’ Union) ขึ้นมา ในปี 1989  แต่ก็ได้ยุบไปในปี 1901

ก่อนมาลงตัวในชื่อ PFA อีก 6 ปีต่อมา โดยจุดประสงค์แรกเริ่มขององค์กรนี้ จัดตั้งขึ้นมาเพื่อต่อรองค่าเหนื่อยที่ไม่เป็นธรรม รวมถึงการช่วยเหลือการดำเนินการ ขอย้ายทีม ที่ในยุคนั้น นักเตะยังไม่สามารถย้ายทีมไปเล่นสโมสรอื่นได้ เนื่องจากติดสัญญาทาส

PFA อังกฤษ เข้ามามีบทบาทต่อโลกฟุตบอลอาชีพ ตั้งแต่ปี 1909 ที่พวกเขาถูก สมาคมฟุตบอลอังกฤษ สั่งเพิกถอนการรับรองสถานะ สมาคมนักฟุตบอลฯ จึงทำการประท้วงด้วยการให้นักเตะสไตรค์ไม่ลงแข่ง

จากนั้นในปี 1960 สมาคมนักฟุตบอลอาชีพอังกฤษฯ ดำเนินการต่อสู้เรียกร้องให้มีการยกเลิกเพดานค่าเหนื่อย และเรียกร้องให้สามารถย้ายทีมได้ ก่อนจะได้รับชัยชนะในการปลดเพดานเงินเดือนในปีต่อมา และสามารถเจรจายกเลิกกฎห้ามย้ายทีม ได้ในปี 1963

ไม่เพียงเท่านั้น ในปี 1974 สมาคมนักฟุตบอลอาชีพอังกฤษ ยังได้มีการจัดให้มอบรางวัลแก่นักเตะอาชีพ หรือที่รู้จักกันในชื่อ PFA Awards ผ่านการแจกรางวัลต่างๆ อาทิ นักฟุตบอลยอดเยี่ยม, นักฟุตบอลดาวรุ่งยอดเยี่ยม, Merit Award  (นักเตะผู้อุทิศตนแก่วงการฟุตบอล), ทีมยอดเยี่ยม

รวมไปถึง รางวัลที่มีแฟนบอลมีส่วนร่วมอย่าง นักฟุตบอลยอดเยี่ยมขวัญใจแฟนบอล และการเพิ่มรางวัลนักเตะหญิงยอดเยี่ยม, นักเตะหญิงดาวรุ่งยอดเยี่ยม ขึ้นมาในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา จนอาจกล่าวได้ว่า PFA ของอังกฤษ คือ ต้นแบบขององค์กรนักฟุตบอลอาชีพของโลกเลยก็ว่าได้

โดยปัจจุบัน สมาคมนักฟุตบอลอาชีพอังกฤษ ได้เป็นหนึ่งในสมาชิกเต็มของ สหพันธ์สมาคมนักฟุตบอลอาชีพนานาชาติ (FIFPro) ที่ก่อตั้งขึ้นในปี 1963 ซึ่งเป็นองค์กรใหญ่ของนักฟุตบอลอาชีพทั่วโลก ที่มีนักบอลราวๆ 65,000 คน จาก 60 ประเทศที่เป็นสมาชิกเต็ม, 5 ประเทศสมาชิกแคนดิเดต และ 6 ชาติสมาชิกสังเกตการณ์

 2

ซึ่ง FIFPro ก็ทำหน้าที่ดูแล รักษาผลประโยชน์ ในภาพกว้างของนักฟุตบอล รวมถึงการดำเนินการเชิงนโยบาย เพื่อไม่ให้ถูกเอารัดเอาเอาเปรียบมากเกินจาก โลกฟุตบอลที่เติบโตขึ้น มีมูลค่าสูงขึ้น และเป็นช่องทางให้มีผู้คนเข้ามาหาผลประโยชน์ผ่านนักฟุตบอลได้ จนนักเตะอาจไม่ได้รับความเป็นธรรม เช่น การเข้ามาจัดระบบเอเยนต์นักฟุตบอล

“ระบบการซื้อขายนักฟุตบอลทั่วโลก ทุกวันนี้มันล้มเหลวไปกว่า 99 เปอร์เซนต์ ล้มเหลวทั้งในแง่ของอุตสาหกรรมฟุตบอล รวมถึงล้มเหลวในของการเป็นเกมที่โลกรักมากที่สุดด้วย” ฟิลิป เพีย ประธานฟิฟโปรชาวฝรั่งเศส กล่าว

ปัญหาแบบไทยไทย

“ปัญหาพวกนี้มันมีนานมากแล้ว เพราะคนที่ทำทีมบางคนเขาอยากได้หน้า แต่ไม่อยากเสียเงิน ผลก็เลยมาตกที่ นักบอลไทย โดนเอาเปรียบ โกงเงิน จ่ายช้า ไม่จ่ายเงินบ้าง”  เทิดศักดิ์ ใจมั่น อดีตนักฟุตบอลไทย และรองประธานสมาคมนักฟุตบอลอาชีพแห่งประเทศไทย กล่าวเริ่ม

 3

“แต่ที่ผ่านมาพวกเขาทำได้แค่แจ้งกับสื่อให้ช่วยตีข่าว ช่วยทวงเงินให้ พอสโมสรอับอายเขาก็ไปแก้ต่างแล้วจ่ายเงินคืนบ้าง แต่ไม่เคยมีการแก้ปัญหาที่แท้จริง หรือมีองค์กรที่ช่วยเหลือพวกเขาเกิดขึ้นจริง บางคนไม่มีปากไม่มีเสียง ไม่มีเงินไปจ้างทนาย ก็ต้องยอมให้เขาเอาเปรียบ”

“แนวคิดนี้เกิดขึ้นจาก ตี๋ สินทวีชัย (หทัยรัตนกุล) เมื่อประมาณ 2-3 ปีที่แล้ว ที่เขาอยากรวบรวมพี่น้องนักฟุตบอลมาจัดตั้งองค์กรเพื่อดูแลตรงนี้ ถ้าเรามีสมาคมนักฟุตบอลฯ เวลานักเตะไทยโดนโกง หรือถูกเอาเปรียบ เราก็สามารถช่วยเหลือและฟ้องร้องไปยัง ฟีฟ่า ได้เลย ซึ่งสามารถพิจารณาโทษได้สูงสุดถึงขั้นยุบสโมสร”

 4

อดีตตำนานแข้งอาเซียน สะท้อนให้เห็นถึงปัญหาที่ฝังรากลึก ในสังคมฟุตบอลไทย ที่ไม่เคยมีองค์กรพิทักษ์สิทธิประโยชน์ของนักเตะเกิดขึ้นมาก่อน

ไม่ว่าจะเป็น กรณีของการค้างจ้างค่าเหนื่อย, ค่าตัว, ค่าเซ็นสัญญา, การยกเลิกสัญญาไม่เป็นธรรม, การจ่ายเงินไม่ครบตามสัญญา, การยุบทีม เปลี่ยนเจ้าของสโมสร การลอยแพนักฟุตบอล ฯ แม้กระทั่งสิทธิประโยชน์ในการเข้ารับการรักษาพยาบาล-การทำประกันชีวิต อุบัติเหตุ ที่ไม่สามารถเลือกได้ หรือถูกปล่อยปละละเลย

บ้างก็ถูกข่มขู่ว่า หากออกข่าว หรือเรียกร้องเงินส่วนนี้ จะไม่เซ็นใบโอนย้ายให้, จะถูกฟ้องกลับ ยิ่งโดยเฉพาะในยุคสมัยก่อนที่สื่อฟุตบอลไทย ยังอยู่ในวงจำกัดเท่านั้น ปัญหาแบบไทยไทย ก็เลยถูกจัดการในแบบไทยไทย ที่มักลงเอยด้วยการจำยอมของนักฟุตบอล

“อาชีพนักฟุตบอลจริงๆแล้วมันไม่ได้ยืดยาวหรอก ดังนั้นก่อนที่จะเลิกราไป พวกเราอยากทิ้งอะไรไว้ให้กับวงการฟุตบอล และน้องๆ นักฟุตบอลรุ่นต่อไป ด้วยการตั้งองค์กรนี้ขึ้นมา เพื่อรักษาผลประโยชน์ ไม่ให้เขาถูกเอาเปรียบ ไม่ได้ตั้งตัวขึ้นมาเป็นศัตรูกับสโมสร หรือเอเยนต์” อดุล หละโสะ กรรมการและเหรัญญิกสมาคมฯ เผย

 5

สำหรับ สมาคมนักฟุตบอลอาชีพแห่งประเทศไทย (PFA Thailand) มีคณะทำงานชุดแรก 12 ราย ประกอบด้วย สินทวีชัย หทัยรัตนกุล ตำแหน่งนายกสมาคมฯ เทิดศักดิ์ ใจมั่น, สุเชาว์ นุชนุ่ม, ปกเกล้า อนันต์ ตำแหน่งรองนายกสมาคมฯ

ธีรเทพ วิโนทัย ตำแหน่งกรรมการและเลขานุการสมาคมฯ อดุล หละโสะ ตำแหน่งกรรมการและเหรัญญิกสมาคมฯ เกริกฤทธิ์ ทวีกาญจน์, พิภพ อ่อนโม้, ดัสกร ทองเหลา, อนาวิน จูจีน, สุทธินันท์ พุกหอม และ สิโรจน์ ฉัตรทอง ตำแหน่งกรรมการสมาคม

 6

โดยในช่วงนี้อยู่ในแผนงานระยะแรก ในหาสมาชิก การสร้างความเข้าใจกับนักฟุตบอลอาชีพ และสโมสรต่างๆ รวมถึงประสานงานกับ สมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทย และ FIFPro เพื่อเตรียมพร้อมเข้าไปเป็นหนึ่งในชาติสมาชิก

“ที่ผ่านมา มีน้องๆนักฟุตบอลหลายคนโทรมาปรึกษาว่า เขาไม่ได้รับความเป็นธรรม ตั้งแต่การทำสัญญาที่ไม่ชัดเจน”

“ปกติแล้ว สโมสรจะต้องออกหนังสือสัญญาคนละ 1 ฉบับ ให้นักฟุตบอลถือด้วย แต่บางคนก็ไม่ได้ บางทีมก็เป็นการตกลงปากเปล่า บางครั้งในสัญญาเขียนว่าจะจ่ายเงินเดือนถึง เดือนธันวาคม แต่จ่ายจริงถึงแค่เดือนตุลาคม ที่ลีกปิดฤดูกาล ซึ่งไม่แฟร์กับนักฟุตบอล และกลายเป็นว่า แทนที่เขาจะมีสมาธิร้อยเปอร์เซนต์กับการเล่นในสนาม ก็ต้องมาพะวงเรื่องพวกนี้”

“จากการที่ผมไปศึกษาดูงานของ FIFPro และสมาคมนักฟุตบอลอาชีพฯ ชาติต่างๆ ก็เล็งเห็นว่า ในเมืองไทย ควรต้องมีสัญญากลาง ที่ก่อนการซื้อขาย เซ็นสัญญา สมาคมนักฟุตบอลอาชีพฯ จะสามารถเข้ามาตรวจสอบ โดยทีมนักกฏหมายเพื่อพิจารณาว่าสัญญาเหมาะสมไหม ซึ่งมันก็จะเป็นควบคุมสโมสรไปในตัวด้วยว่า เขาไม่สามารถเอาเปรียบนักฟุตบอลได้”

 7

“ซึ่งเราก็คงไปพูดคุยเรื่องนี้กับสมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทย อีกที รวมถึงการทำความเข้าใจกับสโมสรต่างๆ ผ่านการสัมมนาว่า เราต้องการให้สโมสรเข้าใจในจุดประสงค์ขององค์กรนักบอล โดยที่จะมี สโมสรชลบุรี เอฟซี เป็นทีมนำร่อง ในการเรื่องการทำสัญญากลาง เพื่อให้ทีมต่างๆเห็นว่า มันมีประโยชน์อย่างไรต่อตัวนักฟุตบอล ต่อสโมสร” อดุล หละโสะ กล่าว

เสียงที่ทุกคนได้ยิน

นอกเหนือจากเรื่องสัญญากลาง ที่สมาคมนักฟุตบอลอาชีพแห่งประเทศไทย ต้องการผลักดันให้เกิดขึ้น พวกเขายังพร้อมเข้ามาช่วยเหลือและดูแลแข้งไทย ทั้งที่เล่นอยู่ในประเทศ หรือต่างประเทศ ผ่านเครือข่าย สมาคมนักฟุตบอลอาชีพ ที่กระจายตัวอยู่ทั่วโลก

 8

“องค์กรเราจะทำหน้าที่ให้คำปรึกษาเรื่องกฏหมายกับ นักฟุตบอลที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมในเรื่องต่างๆ โดยที่สมาคมนักฟุตบอลฯ จะมีนักกฏหมายประจำ คอยช่วยเหลือพวกเขา รวมถึงเป็นตัวแทนส่งคำร้องของนักฟุตบอลสมาชิกไปยัง FIFA ได้อีกด้วย” อดุล หละโสะ เหรัญญิกสมาคมนักฟุตบอลฯ กล่าวเริ่ม

“ไม่ใช่แค่นักเตะไทย ยังรวมถึงนักบอลต่างชาติที่จะเข้ามาเล่นในไทย เช่น นักบอลญี่ปุ่น ที่เป็นสมาชิกของ JPFA (สมาคมนักฟุตบอลอาชีพญี่ปุ่น) ที่มาเล่นในไทย ทางสมาคมนักบอลของญี่ปุ่น ก็จะฝากให้เราดูแลผลประโยชน์ได้ด้วย”

 9

“เช่นกันกับ นักเตะไทยที่ไปเล่นต่างแดน เราก็จะสามารถฝากและทำงานร่วมกับ สมาคมนักฟุตบอลของประเทศนั้นๆได้อีกด้วย ซึ่งในส่วนนี้ เราก็ต้องไปทำให้นักบอลไทยเข้าใจก่อน และชักชวนให้มาร่วมเป็นสมาชิกขององค์กร”

สมาคมนักฟุตบอลอาชีพ จึงถือเป็นองค์กรที่มีบทบาท และความสำคัญไม่น้อยต่อระบบอาชีพฟุตบอลของโลก เพราะเมื่อไหร่ที่องค์กรของพวกเขาเข้มแข็งมากพอ เสียงที่่ไม่เคยมีใครฟังจากนักฟุตบอล ก็จะดังขึ้นมา ผ่านข้อเรียกร้อง จนทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงบางอย่างต่อฟุตบอลในประเทศนั้น

ยกตัวอย่าง สมาคมนักฟุตบอลอาชีพสเปน (AFE) เคยมีการสไตรค์ให้นักฟุตบอลหยุดงาน หลังถูกขึ้นภาษีอย่างไม่เป็นธรรมในปี 2009, ประท้วงหยุดงาน เพื่อทวงถามการันตีค่าเหนื่อย จากสโมสรที่ล้มละลายในปี 2011

หรือการประท้วงที่โด่งดังไปทั่วโลก ในเกม โคปา เดอ เรย์ รอบรองชนะเลิศ  ปี 2013 ระหว่าง ราซิงฯ เจอกับ โซเซียดัด ที่นักเตะตัวจริงของ ราซิง ยืนล้อมอยู่ที่วงกลมกลางสนาม โดยปฏิเสธจะเล่นเกมนัดนั้น ท่ามกลางเสียปรบมือของนักเตะตัวสำรองข้างสนาม และกองเชียร์ที่สนับสนุนการกระทำครั้งนี้

เนื่องจากนักเตะของราซิง ไม่ได้รับค่าเหนื่อยมานานหลายเดือน จนเกมดังกล่าวถูกยกเลิกไป และจบลงด้วยภาพที่ ผู้เล่นทั้งสองสโมสร สวมกอดกัน แม้การกระทำดังกล่าว จะทำให้ ราซิง ถูกปรับแพ้ด้วยสกอร์ 3-0 และตกรอบไปก็ตาม แต่ก็เป็นเอฟเฟกต์ที่สั่นสะเทือนวงการฟุตบอลสเปน ต่อปัญหาที่เกิดขึ้นกับนักฟุตบอล

 10

ในประเทศอิตาลี AIC (สมาคมนักฟุตบอลอาชีพอิตาลี) ก็เคยเรียกร้องสิทธิ์ในการพักผ่อนประจำสัปดาห์ของนักฟุตบอล, ข้อเรียกร้องให้ยกเลิก กฏห้ามย้ายทีม รวมถึงลดค่าปรับสูงสุดของนักเตะลงมาได้อีก 10 เปอร์เซนต์ จากเดิมที่ถูกปรับมากถึง 20 เปอร์เซนต์

นอกจากนั้นในปี 2011 นักเตะยังเคยหยุดงานประท้วง เนื่องจาก สมาคมนักฟุตบอลฯ กับสโมสรไม่สามารถบรรลุข้อตกลงร่วมกันได้ จากกรณี นักเตะที่เหลือสัญญา 1 ปี จะถูกบังคับให้ย้ายทีม จนลีกต้องการเปิดฤดูกาลออกไป

แม้กระทั่งในปี 2016 การตัดสินใจเลื่อนเวลาเตะออกไป 15 นาทีทั่วลีก เพื่อประท้วงที่ สตาฟฟ์โค้ชของ ปาร์มา ไม่ได้รับเงินค่าจ้าง

“ช่วงเวลาหนึ่งปี ที่ผมตกลงไปเล่นใน เซเรีย บี มีสโมสรถึง 2 ทีมที่ยุบทีม ต่อมาก็มีผู้เล่นที่ไม่ได้รับเงินเดือน ไม่มีระบบรองรับ ไม่มีแม้แต่ที่ๆจะไปฝึกซ้อมต่อ ในฐานะที่พวกเราโชคดีพอที่จะเล่นสโมสรใหญ่ๆ และได้เล่นให้ทีมชาติ เราก็ควรต้องนึกถึงคนที่พยายามมาถึงจุดที่เรายืนอยู่ว่า พวกเขาต้องผ่านอะไรมาบ้าง และอาจจะไม่ได้โชคดีเหมือนกับเรา”  จอร์โจ คิเอลลินี กล่าวเริ่มผ่านคลิปของ FIFPro

“การมีสมาคมนักฟุตบอลอาชีพฯ จึงเปรียบเสมือนเครื่องช่วยหายใจในการเป็นนักฟุตบอลอาชีพของใครอีกหลายคน ที่ต้องตกอยู่ในสถานการณ์ที่ยากลำบากในอาชีพนักฟุตบอล โดยเฉพาะนักเตะที่ค้าแข้งอยู่ในลีกรอง”

ไม่เพียงแค่การช่วยเหลือนักเตะในกรณีเกิดข้อพิพาทกับสโมสร แต่องค์กรนี้ยังปกป้องไปถึง การมาเล่นทีมชาติ โดย เมื่อไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา สมาคมนักฟุตบอลอาชีพเดนมาร์ก ทำการประท้วงด้วยการสั่งให้นักเตะที่เป็นสมาชิก ไม่ต้องไปเล่นทีมชาติ หลังตกลงสิทธิ์ทางการค้ากับสมาคมฟุตบอลเดนมาร์ก ไม่ได้

ทำให้ ทีมชาติเดนมาร์กชุดใหญ่ ต้องเรียกนักฟุตซอล และนักฟุตบอลจากดิวิชั่น 3 มาแข่งขันแทน ในเกมที่อุ่นเครื่องแพ้ สโลวะเกีย 3-0 ซึ่งทำให้ สมาคมฟุตบอลเดนมาร์ก ต้องรีบเจรจายุติข้อพิพาทชั่วคราว เพื่อไม่ให้กระทบกับการแข่งขันนัดต่อไป ในศึกเนชั่นส์ ลีก กับทีมชาติเวลส์

 11

“ในฐานะนักเตะอาชีพ เราต้องสนับสนุนการทำงานของ สมาคมนักฟุตบอลอาชีพฯ นี่คือองค์กรที่มีความสำคัญมาก ที่จะเป็นทางเลือกและที่พึ่งของนักฟุตบอลอาชีพ เพราะอาชีพของเรามีช่วงเวลาที่สั้น วันหนึ่งเราอาจจะอยู่ตกในสถานการณ์ที่ย่ำแย่ สมาคมนักฟุตบอลอาชีพฯ จึงเป็นสิ่งที่จำเป็นของพวกเราในการปกป้องสิทธิ์ต่างๆที่เราควรได้รับ” คริสเตียโน โรนัลโด กล่าวผ่านคลิปของ FIFPro

สำหรับทิศทางในอนาคตขององค์กรแข้งอาชีพไทย “อดุล หละโสะ” กรรมการและเลขาธิการ สมาคมนักฟุตบอลอาชีพแห่งประเทศไทย กล่าวผ่าน Main Stand ว่า นอกจากเรื่องของการดูแลเรื่องสัญญาว่าจ้าง และเรียกร้องความยุติธรรมแก่นักฟุตบอลแล้ว

สมาคมนักฟุตบอลฯ จะทำหน้าที่อีกส่วนหนึ่งในเรื่องการช่วยเหลือ นักเตะ หรือ อดีตนักฟุตบอลที่เลิกเล่นไปแล้ว ในการจัดอบรมต่างๆ การส่งเสริมอาชีพ สวัสดิการ สิทธิประโยชน์ที่ควรได้รับ รวมถึงการจัดกิจกรรมสาธารณะประโยชน์ และกิจกรรมการกุศลตอบแทนสังคม

ตัวอย่าง สมาคมนักฟุตบอลอาชีพของ ญี่ปุ่น และฝรั่งเศส  จะมีการจัดงานทดสอบฝีเท้าให้สำหรับนักฟุตบอลที่ยังไม่มีสังกัด รวมถึงการจัดการสถานที่ฝึกซ้อมให้แก่บรรดาแข้งที่หมดสัญญา และยังไม่สามารถหาทีมใหม่ได้ แบบฟรีๆ ในช่วงปิดฤดูกาล

สิทธิโชค ภาโส ที่เคยได้รับเซ็นสัญญากับ คาโงชิมา ยูไนเต็ด ในฤดูกาล 2017 ก็เป็นคนหนึ่งที่เดินทางไปร่วมงานทดสอบฝีเท้าในงาน JPFA Tryout ที่จัดขึ้นโดย สมาคมนักฟุตบอลอาชีพญี่ปุ่น

 12

นอกจากนี้ในหลายๆประเทศ สมาคมนักฟุตบอลอาชีพ ยังเข้ามามีบทบาทต่อสังคม ในการจัดโครงการสอนฟุตบอลแก่เยาวชน เด็กๆ รวมถึงการจัดกิจกรรมช่วยเหลือผู้ประสบภัยธรรมชาติ อีกด้วย ทั้งหมดคือภาพที่กำลังเกิดขึ้นในฟุตบอลอาชีพของไทย

ถึงเวลาแล้ว...ที่เสียงของ “เหล่าเบี้ยลูกหนัง”  จะดังและส่งไปถึงทุกๆคน ผ่านองค์กรที่ชื่อว่า สมาคมนักฟุตบอลอาชีพแห่งประเทศไทย

อัลบั้มภาพ 12 ภาพ

อัลบั้มภาพ 12 ภาพ ของ PFA THAILAND : แสงสว่างและความหวังใหม่ของนักฟุตบอลอาชีพไทย

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook