จากปากวีรบุรุษ : วิจารณ์ พลฤทธิ์ "ผมหายไปไหนมา 18 ปีเหรอ?"

จากปากวีรบุรุษ : วิจารณ์ พลฤทธิ์ "ผมหายไปไหนมา 18 ปีเหรอ?"

จากปากวีรบุรุษ : วิจารณ์ พลฤทธิ์ "ผมหายไปไหนมา 18 ปีเหรอ?"
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

หนึ่งในคำถามที่แฟนกีฬาชาวไทยสงสัยมากที่สุด ตลอด 18 ปีที่ผ่านมา นับตั้งแต่ความสำเร็จเหรียญทองโอลิมปิก เกมส์ 2000 ก็คือ “วิจารณ์ พลฤทธิ์ หายไปไหน?”

สารภาพตามตรงว่า ครั้งสุดท้ายที่ผู้เขียน พอจะนึกหน้าของ วีรบุรุษเหรียญทองโอลิมปิกคนที่ 2 ของประเทศไทยผู้นี้ออก น่าจะเป็นภาพฟุตเทจเก่าๆ ที่มักมีการฉายวนๆ ซ้ำๆ เมื่อหลายปีก่อน

เป็นฟุตเทจที่ ฮีโร่ร่างเล็กคนนี้ กระโดดดีใจราวกับเป็นเด็กน้อย โดยที่มือข้างหนึ่งถือพระบรมฉายาลักษณ์ ในหลวงรัชกาลที่ 9 ไว้ ภายหลังได้รับการชูมือบนเวที ในนัดชิงชนะเลิศ โอลิมปิก เกมส์ 2000 ที่นครซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย

เพราะหลังจากนั้นอีกหลายปีต่อมา วิจารณ์ พลฤทธิ์ หายไปจากแวดวงสังคม และพื้นที่หน้าสื่อ จนมีข่าวลือมากมายเกิดขึ้นกับตัวเขาว่า เป็นอยู่อย่างไร? และกำลังทำอะไรอยู่?

 

เมื่อเทียบกับฮีโร่เหรียญทองคนอื่นๆ อย่าง สมรักษ์ คำสิงห์, สมจิตร จงจอหอ รวมไปถึงอดีตนักมวยสากลอาชีพอย่าง เขาทราย กาแล็กซี, สามารถ พยัคฆ์อรุณ พวกเขาเหล่านี้ก็ยังคงปรากฏอยู่ตามหน้าสื่อบ่อยครั้ง จนเราคุ้นหน้าคุ้นตาเป็นอย่างดี

แต่กับ วิจารณ์ พลฤทธิ์ เขาเลือกที่จะมีวิถีชีวิตที่แตกต่างออกไป ทั้งที่ตัวเขา มีทุกอย่างเพียบพร้อม ไม่ว่าจะเป็น ชื่อเสียง เงินทอง เกียรติยศ นำมาซึ่งการตามหา “อดีตนักมวยอัจฉริยะรุ่นเล็ก” จนได้ข้อมูลว่าปัจจุบัน เขากลับมาอยู่แคมป์มวยสากลสมัครเล่นทีมชาติไทยอีกครั้ง ในฐานะผู้ช่วยผู้ฝึกสอน ทีมหญิง

2 ชั่วโมงครึ่งก่อนการฝึกซ้อมประจำวันในช่วงเย็น โค้ชวิจารณ์ พลฤทธิ์ เดินทางมาถึงที่เก็บตัวก่อนใครเพื่อน ภาพที่ผู้เขียนเคยจดจำเมื่อ 18 ปีก่อนกับตัวจริงที่อยู่ตรงหน้า อาจดูแตกต่างไปบ้างตามวัยที่เพิ่มขึ้น แต่สิ่งที่ยังไม่แตกต่างไปมากก็คือ บุคลิกของคนที่ขี้อาย พูดน้อย และดูเป็นคนที่ไม่ชอบออกสื่อมากนัก

นี่อาจเป็นการพูดคุยแทนผู้อ่านทุกคน ที่หากได้มานั่งอยู่ตรงนั้น เหมือนกับผู้เขียน ก็คงเปิดปากถาม วิจารณ์ พลฤทธิ์ ด้วยประโยคลักษณะเดียวกันว่า “18 ปีที่ผ่านมา คุณวิจารณ์ หายไปไหนมา?”

ยกที่ 1 : ความฝัน

“หลังจากได้เหรียญทองโอลิมปิก เกมส์ ในปี 2000 ผมก็มาทำงานรับราชการตำรวจเต็มตัว อยู่ในกรุงเทพฯ ประมาณ 7-8 ปี ก่อนจะขอย้ายกลับไปประจำอยู่ต่างจังหวัด ที่อุตรดิตถ์”

 1

“ชีวิตประจำวัน ถ้าเป็นจันทร์-ศุกร์ ก็ทำงานตำรวจเหมือนข้าราชการคนหนึ่ง ตกเย็นออกกำลังกาย ส่วนวันเสาร์-อาทิตย์ ก็ไปดูแลธุรกิจสวนส้ม ใช้เวลาอยู่กับครอบครัว ไม่ค่อยได้ออกไปไหน ไม่ได้ใช้ชีวิตหวือหวาอะไรครับ อยากอยู่แบบเงียบๆมากกว่า”

พันตำรวจโท วิจารณ์ พลฤทธิ์ ตอบคำถามแรกของเรา ด้วยท่าทีที่ดูสุภาพ เรียบร้อย เหมือนในทีวี โดยปัจจุบัน เจ้าตัวรับราชการในตำแหน่ง สารวัตรอำนวยการ (สว.อก.) สถานีตำรวจภูธรเมืองอุตรดิตถ์ และอยู่ที่นี่มาเป็นเวลาเกือบ 10 ปีแล้ว

วิถีชีวิตที่ไม่เร่งรีบในต่างจังหวัด บวกกับไลฟ์สไตล์ส่วนตัวที่ชื่นชอบความเรียบง่าย ดึงให้เขากลับมาอยู่ในบรรยากาศเดิมๆที่คุ้นเคยอีกครั้งในวัยเด็ก

วิจารณ์ เติบโตในครอบครัว ที่แม่ประกอบอาชีพทำสวนส้ม ส่วนคุณพ่อก็เคยเป็นควาญช้างดูแลช้างมาก่อน นั่นทำให้เขาชอบที่อยู่ท่ามกลางธรรมชาติมากกว่าที่ไหนๆ

แต่ถึงกระนั้น การรับราชการ ก็เป็นอีกหนึ่งในอาชีพ ที่เจ้าตัวเคยใฝ่ฝัน อยากมีหน้าที่การงานที่มั่นคง แต่สำหรับเด็กชายคนหนึ่งที่เริ่มชกมวยไทยตั้งแต่อายุ 10 ขวบ โดยมีค่าตัวชกมวยเดินสายครั้งแรก 50 บาท ดูเหมือนว่าสองสิ่งนี้จะห่างไกลกันพอสมควร

 2

“ผมมีคุณอา และพี่ชาย ที่เคยเป็นนักมวยที่พอมีชื่อเสียงตามต่างจังหวัดมาก่อน ก็เลยฝึกชกตามเขา และต่อยเดินสายมาประมาณ 30 กว่าครั้ง ก่อนเดินทางเข้ามาหาชกมวยในกรุงเทพฯ ตามพี่ชาย ด้วยความตั้งใจที่ว่า อยากจะเป็นแชมป์มวยไทยเวทีมาตรฐานที่กรุงเทพ สักครั้ง ควบคู่การเรียนหนังสือให้ดีด้วย”

“ผมมาชกมวยไทยในกรุงเทพ ตามเวทีต่างๆ อยู่ประมาณ 40 กว่าไฟต์ ก็ถือว่ามีชื่อเสียงอยู่ประมาณหนึ่ง เคยไปถึงจุดสูงสุดในการเป็นแชมป์มวยไทย เวทีราชดำเนิน รุ่นจูเนียร์แบนตัมเวท โดยไม่เสียเข็มขัดให้ใครเลย ก่อนจะตัดสินใจสละแชมป์ไป เพราะเป็นช่วงที่ผมเปลี่ยนไปต่อย มวยสากลสมัครเล่นแทน และกำลังจะได้เข้ารับราชการตำรวจ”

“การทำงานเป็นข้าราชการตำรวจ มันก็เป็นความฝันของเด็กต่างจังหวัดคนหนึ่งอย่างผม ที่เคยคิดไว้ว่า เมื่อโตขึ้นก็อยากจะเรียนสูงๆ มีอาชีพการงานที่ดี ซึ่งเป็นโอกาสที่เข้ามาหาผมพอดีในตอนนั้น”

ศรีสัชนาลัย ศศิประภายิม (แท็กซี่มิเตอร์) คือชื่อในวงการมวยไทยของ วิจารณ์ พลฤทธิ์ ที่ในเวลาต่อมา เจ้าตัวได้รับโอกาสที่ดี จากการสนับสุนนของ พ.ต.อ. เสวก ปิ่นสินชัย อดีตโปรโมเตอร์สนามมวยราชดำเนิน ที่ผลักดันให้เขามาชกมวยสากลสมัครเล่น ในสังกัดของ ตำรวจ รวมถึงการเข้ารับราชการตำรวจในยศแรกเริ่ม “สิบตำรวจตรี” สลับกับการต่อยมวยไทยอาชีพ

ต่อมาสโมสรโอสถสภา ได้ติดต่อไปยังค่ายมวยศศิประภายิม เพื่อขอตัว วิจารณ์ ไปชกมวยสากลชิงแชมป์ประเทศไทย ที่จังหวัดนครสวรรค์ เนื่องจากทาง ตำรวจ ไม่ได้ส่งแข่งขันรายการดังกล่าว

ผลก็คือ วิจารณ์ ตกรอบสอง แต่ใครจะไปคิดว่า ความพ่ายแพ้ในครั้งนั้น ได้กลายเป็นบันไดไปสู่การติดทีมชาติไทย

“ผมเซอร์ไพรส์ที่ถูกเรียกเข้าไปติดทีมชาติไทย ผมคิดว่าผู้ใหญ่คงมองเห็นว่า ผมเป็นนักมวยที่มีสายตา สเต็ปขา แขนที่ว่องไว และออกหมัดใช้ได้ แต่แพ้คราวนั้น เพราะผมไม่เคยมีประสบการณ์ในการชกมวยสากลมาก่อน ไม่ได้ฝึกซ้อมมาก่อน โค้ชเลยดึงผมเข้ามาเป็นตัวเลือกในทีมชาติ”

“3 ปีที่แล้ว ผมยังนั่งดูข่าวในทีวี เห็น พี่บาส สมรักษ์ คำสิงห์ ได้เหรียญทองโอลิมปิก กลับมาประเทศไทย มีขบวนแห่ต้อนรับอย่างยิ่งใหญ่ โด่งดังมาก ตอนนั้นผมยังชกมวยไทยอยู่ ก็คิดในใจของผมคนเดียวว่า”

“สักวันหนึ่งผมก็อยากจะเป็นแบบพี่บาสนะ แต่ก็ไม่รู้ว่าตัวเองจะมีวาสนาแบบนั้นไหม เพราะเส้นทางของผมมันไม่ใช่ ผมชกแต่มวยไทย และยังไม่รู้ด้วยว่าจะไปยืนอยู่ตรงจุดนั้นได้อย่างไร”

 3

“จนมีโอกาสได้มาเข้าแคมป์ทีมชาติ ได้มาเห็นคนเก่งๆ ได้เห็นพี่บาสซ้อม ต้องยอมรับเลยว่า แกเป็นนักมวยที่เก่งมากจริงๆ เป็นไอดอลผมคนหนึ่งก็ว่าได้”

“ที่สำคัญรุ่นผม (51 กิโลกรัม) มีแต่หินๆ ทั้งนั้น ทุกคนติดทีมชาติมาก่อนผม ทั้ง พี่ประมวนศักดิ์ (โพธิ์สุวรรณ) สมจิตร (จงจอหอ) วรพจน์ (เพชรขุ้ม) พอได้มาลงนวมจริง มาซ้อมด้วยกัน ก็เคยถามตัวเองเหมือนกันว่า เราจะไหวไหมหนอ?”

ยกที่ 2 : ความพยายาม

“ผมเป็นตัวเลือกสุดท้ายของทีมชาติมาตลอด เพราะเป็นนักมวยหน้าใหม่ แต่ผมก็อาศัยว่าตัวเองชอบสังเกต ชอบศึกษาคนที่เก่งๆว่า มีวิธีการชกอย่างไร จะแก้ทางยังไง ผมไม่รู้หรอกว่าโอกาสจะมาเมื่อไหร่ รู้แค่ว่าต้องตั้งใจฝึกซ้อม และเตรียมตัวให้พร้อมที่สุด ในเมื่อมีโอกาสได้มาอยู่ในแคมป์ทีมชาติแล้ว”

 4

ความสำเร็จของ วิจารณ์ พลฤทธิ์ ดูเหมือนจะเป็นเรื่องที่เป็น เทพนิยาย มากกว่า ความจริง...

เขาใช้เวลาเพียง 1 ปีกว่าๆ จากวันแรกที่เข้ามาเก็บตัวในแคมป์ขุนพลเสื้อกล้ามทีมชาติไทย และเป็นตัวเลือกลำดับสุดท้ายของรุ่นฟลายเวต วันหนึ่งเขาก็พุ่งพรวดไปถึงเหรียญทองโอลิมปิก และทำให้คนทั้งประเทศรู้จักชื่อเขาแบบจำขึ้นใจ

แต่หากมองตามความเป็นจริงแล้ว ความสำเร็จของเจ้าตัว ไม่ใช่เรื่องที่เกินจริงไปเลย เมื่อเทียบกับ หยาดเหงื่อ ความพยายามที่เจ้าตัวอุทิศให้กับมัน  แม้แต่ในวันที่ไม่มีใครซ้อมอยู่ในแคมป์ เขาก็ยังคงก้มหน้าก้มตาต่อยกระสอบทรายไม่หยุด ถึงเป็นได้เพียงแค่ตัวเลือกสำรองก็ตาม

“หลังจากซ้อมกับทีมชาติไปได้ 1 ปี มันเป็นจังหวะโอกาสที่พอดี ในตอนนั้นมีรายการมวยสากลสมัครเล่นชิงแชมป์โลก คาบเกี่ยวกับ ซีเกมส์ (ปี 1999) ที่บรูไน”

“ซึ่งทีมชาติก็ส่ง พี่ประมวนศักดิ์ ที่เป็นชุด A ไปต่อยรายการนั้น ส่วนผมได้ส้มหล่นไปชกซีเกมส์แทน แต่ไม่ได้ชกรุ่น 51 กิโลกรัมนะ ผมถูกดันไปต่อยรุ่น 54 กิโลกรัมที่ยังว่าง เพราะรุ่น 51 ยังมี วรพจน์ กับ สมจิตร ที่เบียดลุ้นกันอยู่”

“บังเอิญว่า ซีเกมส์หนนั้น ผมทำผลงานได้ดี ได้เหรียญทองกลับมา ผมรู้สึกภูมิใจอย่างมาก เพราะชีวิตนี้ไม่เคยไปแข่งต่างประเทศ ไม่เคยใส่เสื้อทีมชาติไทยมาก่อน ทั้งชีวิตชกมาแต่มวยไทย โดยเฉพาะการชกต่างประเทศ ที่ผมอยากหาโอกาสไปต่อยอีกเรื่อยๆ ผมจึงเริ่มตั้งเป้าหมายที่สูงขึ้น”

 5

อย่างไรก็ดี ด้วยความที่เป็น นักมวยหน้าใหม่ และอ่อนประสบการณ์ ทำให้ในรอบคัดเลือก โอลิมปิก เกมส์ 2000 ในช่วง 2 เลกแรก ไม่ปรากฏชื่อของ วิจารณ์ พลฤทธิ์ ในรุ่นฟลายเวต (51 กิโลกรัม)

แต่ก็เป็นอีกครั้งที่จังหวะชีวิต โชคชะตา บวกกับความมุมานะและพยายามของเจ้าตัว ผลิดอกออกผลอีกครั้ง เมื่อได้รับโอกาสให้เป็นตัวแทนทีมชาติไทย ไปคัดเลือก อลป. ในเลกที่ 3

“ต้องยอมรับว่าช่วงก่อน โอลิมปิก ผมเป็นแค่ตัวสำรองอันดับที่ 3 ของทีม ช่วง 2 เลกแรกในรอบคัดเลือก ทีมส่ง พี่ประมวนศักดิ์ กับ สมจิตร ไปคัด แต่ปรากฏว่าทั้งสองคนคัดไม่ผ่าน ความจริงถ้าหนึ่งในสองคนนี้ติด ผมก็คงไม่ได้ไปคว้าเหรียญทองในครั้งนั้นแล้ว (ยิ้ม)”

“พอถึงเลกสาม ตอนแรกโค้ชก็ยังลังเลอยู่ว่าจะส่งใครไปดี ยังไม่ได้เจาะจงมาว่าเป็นผมหรอก แต่จากการที่ผมไม่ได้ออกไปไหนเลย ซ้อมอยู่ตลอดในแคมป์ทีมชาติ โค้ชก็คงเห็นว่า สภาพร่างกายผมยังฟิต และฝึกซ้อมอยู่ เลยให้โอกาสผมไปคัดเลกสาม แล้วผมก็ทำสำเร็จได้สิทธิ์ไปแข่งโอลิมปิก ที่ซิดนีย์”

เจ้าของฉายา “อิคคิวซัง” ปรากฏชื่อในฐานะนักกีฬามวยสมัครเล่นทีมชาติไทย รุ่นฟลายเวต ในมหกรรมกีฬาโอลิมปิก เกมส์ ปี 2000 แต่ไม่ได้ถูกคาดหวัง และตั้งเป้าว่าจะเป็นผู้คว้าเหรียญทองคนต่อไป

ในเวลานั้น สื่อให้ความสนใจในการมาป้องกันแชมป์ของ สมรักษ์ คำสิงห์ มากกว่า รวมถึง พงษ์สิทธิ์ เวียงวิเศษ อีกหนึ่งกำปั้นตัวความหวังของไทย

ถึงแม้เขาจะถูกมองข้ามจากสื่อในฐานะนักมวยนอกสายตา และด้อยประสบการณ์ แต่นั่นไม่ได้ทำให้ความมั่นใจของเจ้าตัวลดลงไปเลย โดยเฉพาะเป้าหมายส่วนตัวที่ วิจารณ์ พลฤทธิ์ คิดใหญ่ไปถึงการหยิบเหรียญรางวัลโอลิมปิก กลับมายังมาตุภูมิ

“สื่อเขามองว่า ผมยังใหม่เกินไปสำหรับโอลิมปิก เพราะเพิ่งติดทีมชาติได้ปีกว่าๆ เอง สื่อและคนไทยก็คงไม่ได้คาดหวังอะไรในตัวผมมาก แม้กระทั่งก่อนจะชกกับ นักมวยคิวบา (มานูเอล มันติญา) ในรอบชิงเหรียญทองแดง (8 คนสุดท้าย) ผมอ่านหนังสือพิมพ์ไปเจอ เขาเขียนว่า เกมนี้ผมไม่น่าจะสู้คิวบาได้ เพราะผมไม่มีประสบการณ์”

“ผมเป็นมวยใหม่ก็จริง แต่ผมใหม่เฉพาะแค่การชกมวยสากลสมัครเล่น ผมไม่ได้ใหม่กับชกมวยไทย ซึ่งคนที่ผ่านมวยไทยมาได้ ต้องใจเกินร้อยอยู่แล้ว ในใจของผมลึกๆตอนนั้น จากการที่ผมได้ซ้อมกับทีมชาติมาโดยตลอด บวกกับสภาพร่างกาย และความมั่นใจที่มี ผมจึงเชื่อว่าตัวเอง ยังไงก็มีเหรียญติดมือแน่นอน เพียงแต่ไม่ได้บอกใคร ก็พยายามศึกษาคู่แข่ง และตั้งใจชกให้ดีที่สุด”

 6

เส้นทางของ วิจารณ์ พลฤทธิ์ ในการตะลุยโอลิมปิก เกมส์ หนแรกในชีวิต เริ่มต้นขึ้นด้วยการไล่ต้อน วาร์ดัน ซาการ์ยัน จากเยอรมัน ขาดลอย 18-2 คะแนน

จากนั้นในรอบ 16 คนสุดท้ายเขาผ่าน แอนดรูว์ คูเนอร์ จาก แคนาดา ไปได้ 11-7 เข้าไปพบกับ เต็ง 1 ของรุ่นฟลายเวตอย่าง มานูเอล มันติญา จากคิวบา ที่ วิจารณ์ เคยแพ้มาแล้วในการชกทัวร์นาเมนต์พิเศษ ไม่กี่เดือนก่อนหน้านี้

“ผมเคยแพ้นักมวยคิวบาคนนี้ ตอนชกที่บ้านเขา (ประเทศคิวบา) หลังจบเกมนั้น ผมบอกกับพี่พรชัย (ทองบุราณ) ว่า “ถ้าผมเจอเขาอีกในโอลิมปิก ผมมั่นใจว่า ผมแก้ทางและเอาชนะเขาได้แน่นอน ถ้าต่อยในประเทศที่เป็นกลาง สุดท้ายก็ได้มาเจอกันจริงๆในรอบชิงเหรียญทองแดง”

“หลายคนมองว่าเกมนั้น ผมสู้เขาไม่ได้แน่ เพราะผมตัวเล็กกว่า ใหม่กว่า แต่มันเป็นแมตช์ที่ผมขึ้นเวทีไปแบบไม่มีความกดดันเลย เพราะผมเป็นรองเขา ผมแพ้ก็ไม่เสียหาย แต่ถ้าเขาแพ้สิจะเสียหาย พอจบเกมผมชนะ คิวบาได้ สื่อก็ประโคมข่าวเลยว่า ผมมีลุ้นถึงเหรียญทองเลยนะ แต่เอาจริงๆ ไฟต์กับคิวบา หรือนัดชิงกับคาซัคฯ ผมไม่หนักใจเท่ากับรอบชิงเหรียญเงิน (4 คนสุดท้าย) ที่เจอกับ นักมวยยูเครนเลย เพราะเขาเป็นสไตล์ที่ผมแพ้ทาง”

 7

วลาดิเมียร์ ไซโดเรนโก นักชกจากยูเครน คือคู่ปรับคนสำคัญที่ขวางหน้า วิจารณ์ พลฤทธิ์ ก่อนถึงด่านสุดท้าย เนื่องจาก ไซโดเรนโก เป็นมวยสไตล์บล็อกหมัด แข็งแรง อีกทั้งยังไม่เคยเจอกันมาก่อน

หนึ่งคืนก่อนขึ้นชก วิจารณ์ เล่าว่าเขานั่งดูเทปอยู่ตั้งแต่เย็น จนถึงก่อนนอน เพื่อหาวิธีแก้ทาง และช่องทางในการโจมตี

เกมดำเนินไปอย่างสูสี ก่อนที่ วิจารณ์ จะเร่งเครื่องและบดเอาชนะไปได้ 14-11 ผ่านเข้าไปเจอกับ บูลัต ยูมาดิลอฟ นักมวยจากคาซัคสถาน ในการชิงชัยวันสุดท้าย ที่เขาได้รับความสนใจจากคนไทยทั่งประเทศ ในฐานะความหวังเหรียญทองคนสุดท้าย การแข่งขันโอลิมปิกเกมส์หนนี้

“ผมเคยชนะนักมวยคาซัคฯ คนนี้มาก่อน ในช่วงที่ทีมชาติคาซัคฯ มาเก็บตัวที่เมืองไทย ผมเคยไปลงนวมกับเขา และเอาชนะมาได้ ตอนนั้นทั้งสภาพร่างกาย จิตใจ โชคชะตา ทุกอย่างอยู่ข้างผมหมดแล้ว ผมเลยยิ่งมั่นใจมากขึ้นไปอีกว่า จะเอาชนะเขาได้อีกครั้ง”

“แต่ก็มีความตื่นเต้นและกดดันเล็กน้อย ตรงที่มันเป็นนัดชิงที่จัดขึ้นในวันสุดท้ายของโอลิมปิกพอดี ผมถือเป็นความหวังสุดท้ายของ ทีมชาติไทย ว่าจะได้เหรียญทองหรือไม่ เราจะพลาดไม่ได้นะ จนมาถึงวินาทีที่เขาประกาศว่า ผมชนะ โอ้โห ความรู้สึกตอนนั้นมันอธิบายไม่ถูก ดีใจ สุดยอดมาก”

 8

“ยิ่งตอนที่ได้ยินเพลงชาติไทยที่นั่น นี่คือเพลงชาติที่เพราะที่สุดในชีวิตของผมเลยก็ว่าได้” น้ำเสียงสั่นๆของ วิจารณ์ เมื่อพูดถึงประโยคนี้ บ่งบอกได้เป็นอย่างดีถึงความรู้สึกภาคภูมิใจในวันนั้น

ยกที่ 3 : ความจริง 

“ยอมรับว่าตั้งตัวไม่ถูก ก่อนมาถึงเมืองไทยก็เตรียมใจไว้บ้างแล้วนะ ว่าน่าจะมีการต้อนรับที่ใหญ่ แต่พอมาถึงวันนั้นจริงๆ ก็รู้สึกตื่นเต้นและมึนไปหมด” วีรบุรุษเหรียญทองซิดนีย์เกมส์ กล่าวถึงตอนที่เดินทางมาไทย

 9

“ลงมาจากสนามบิน เห็นผู้คนเต็มไปหมด มีผู้หลักผู้ใหญ่ในบ้านเมืองมารอต้อนรับเรา มีขบวนแห่รถ โอ้โห คนเยอะมากๆ ก็ต้องใช้เวลาปรับตัวอยู่พอสมควร เพราะปกติผมไม่ชอบออกสื่อ พูดไม่ค่อยเก่งอยู่แล้ว แต่ผมต้องเดินสายออกรายการทีวี ตั้งแต่เช้ายันมืดทุกวัน อยู่เป็นเดือน ไม่ได้หยุดเลย เดี๋ยวเขาเชิญไปโน่นไปนี่ จนอยากกลับมาสู่สภาวะปกติเร็วๆ เสียที (หัวเราะ)”

ในวัย 24 ปี วิจารณ์ พลฤทธิ์ เผชิญหน้ากับความเปลี่ยนแปลงมากมายจากความสำเร็จที่เขาทำได้ อย่างแรก เขากลายเป็นบุคคลสาธารณะที่ทุกคนรู้จัก ทั้งที่ก่อนหน้าโอลิมปิก เกมส์ จะเริ่มต้นขึ้น เขายังเป็นเพียงนักมวยที่ไม่ได้โด่งดังระดับประเทศเท่านี้มาก่อน

อย่างที่สอง เขาต้องรับมือกับความมีชื่อเสียง ความวุ่นวาย ที่ตรงข้ามกับนิสัยส่วนตัวที่รักความสงบ และชอบชีวิตที่เรียบง่าย รวมถึงอย่างสุดท้ายที่เขาต้องพบเจอกับคนที่เข้ามาหาหลากหลายรูปแบบ ทั้งหวังดี และไม่หวังดี แต่สุดท้าย เขาก็ผ่านช่วงเวลาดังกล่าวมาได้

“บางคนเข้ามาดีก็มี พวกไม่ดีก็มี บางคนมาขอตังค์ไปซื้อรถ มาขอยืมเงิน ส่งจดหมายมาหา โทรมาหา ถึงขนาดมีคนที่ไม่เคยรู้จักกันมาก่อน ไปตามหาบ้านเรา ผมก็ใช้วิธีการปฏิเสธไปว่า โอ๊ย ผมยังไม่ได้เงินรางวัลเลย แต่นั่นไม่ใช่เหตุผลหลักที่ทำให้ผมออกมาจากหน้าสื่อ เพื่อหนีคนพวกนี้ แต่เหตุผลหลักๆ เป็นเพราะผมชอบความเรียบง่าย ไม่ชอบเป็นข่าวอะไร อยากเข้าป่า อยากใช้ชีวิตอยู่กับธรรมชาติบ้าง”

“หลังจากได้เหรียญทองมา ผมกลับเข้ามาในแคมป์ทีมชาติอีกสักพักหนึ่ง แต่ด้วยน้ำหนักตัวที่เพิ่มขึ้น ทำให้ความฟิต จังหวะไม่เหมือนเดิม ประกอบกับช่วงนั้น สมจิตร เขาฟิตกว่า มีความกระหายมากกว่า ก็เลยตัดสินใจเลิกชกมาทำงานรับราชการเต็มตัวดีกว่า”

“ช่วงที่ยังอยู่ กทม. ก็ทำธุรกิจร้านผ้าไหม ควบคู่ไปด้วย แต่พอขอย้ายไปอยู่ต่างจังหวัด ก็เซ้งกิจการให้คนอื่นไปดูแล จากนั้นผมพยายามจะอยู่เงียบๆ ไม่ค่อยออกสื่อ ก็ใช้เวลาอยู่ประมาณ 4-5 ปี กว่าทุกอย่างจะกลับมาปกติ”

“เพราะในช่วง 4 ปีก่อนหน้านั้น พวกรายการทีวี ก็เชิญผมไปออกอยู่บ้าง และพูดถึงแต่เรื่องของผมอยู่ซ้ำๆ จนกระทั่ง มนัส มาได้เหรียญทอง ก็เหมือนมีคนมาแทนเรา แต่พูดตรงๆว่า ผมยังตื่นเต้นทุกครั้งที่ออกทีวีนะ ไม่ชินสักที (หัวเราะ)”

 10

ท้ายที่สุด วิจารณ์ พลฤทธิ์ ก็ได้ชีวิตที่ต้องการกลับคืนมา ทั้ง การมีครอบครัวที่สมบูรณ์แบบ ในการมีทายาทสมใจหวัง มีหน้าที่การทำงานที่ตนเองเคยใฝ่ฝัน รวมถึงความเป็นอยู่ที่ดี เช่นเดียวกับ ทรัพย์สินเงินทองที่ได้มาในช่วงที่โด่งดังสุดขีด ยังคงถูกเก็บรักษาไว้เป็นอย่างดี...

“ผมพยายามไม่ออกสื่อ มาใช้ชีวิตอยู่ตามต่างจังหวัด แต่เวลาเดินไปไหนมาไหน ชาวบ้าน คนทั่วไป เขายังจำผมได้นะ เข้ามาทักทาย ถามไถ่ว่า “วิจารณ์ช่วงนี้เป็นอย่างไรบ้าง เงียบไปเลยนะ ไม่เห็นออกสื่อเลย” ผมทำได้แค่ตอบไปว่า “ผมทำงานรับราชการ แล้วใช้ชีวิตอยู่กับครอบครัวครับ” ประมาณนี้”

“เรื่องเงินทองที่ได้มา ก็ยังเก็บไว้อยู่ เพราะปกติ ผมไม่เที่ยวเตร่ ไม่เล่นการพนัน ไม่กินเที่ยวอยู่แล้ว มีบางส่วนที่เอาไปซื้อบ้าน ซื้อรถ และที่ดินเก็บไว้เป็นสมบัติยามแก่เฒ่า หรือเป็นมรดกให้กับครอบครัว ยิ่งพอมาอยู่ต่างจังหวัด เงินเดือนที่ผมได้จากการรับราชการ ก็เพียงพอที่จะดำรงชีวิตอยู่ได้แล้ว พยายามไม่ใช้เงินเกินตัวครับ”

“เหตุผลหนึ่งที่ทำให้ผมคิดแบบนี้ได้ สมัยก่อน อาชีพนักมวย มีแต่คนดูถูกกันเยอะว่า “มันโง่” แก่ตัวไปก็ไม่มีบ้าน ไม่มีงาน ไม่มีเงิน โดนลูกเมียทิ้ง ช่วงที่ผมได้เหรียญทองกลับมา ก็มีคนแถวบ้านผมบางคน ดูถูกผมเหมือนกันว่า “มันได้เงินมา เดี๋ยวก็ใช้หมด” เอาผมไปเปรียบกับนักมวยไทยเก่าๆที่หมดตัว เป็นเรื่องที่ฝังใจผมมาจนถึงทุกวันนี้ ผมก็อยากพิสูจน์ให้เขาเห็นว่า นักมวยไม่ได้เป็นแบบนั้น”

“ผมไม่อยากให้ใครดูถูกนักมวย ผมสอนเด็กรุ่นใหม่ตลอดว่า ทำอะไรให้คิดด้วย ตัวอย่างมีให้เห็นแล้ว เวลาเขาด่า เขาด่าเหมารวมหมด ต้องช่วยกันรักษาชื่อเสียงของวงการเรา”

 11

“ทุกวันนี้สื่อจะนึกถึงผม ก็เฉพาะช่วงที่นักมวยมีปัญหาชีวิต มีปัญหาด้านการเงิน ก็จะมาถามว่า วิจารณ์ คิดอย่างไร ผมบอกไม่ได้หรอกว่า ใครผิด ใครถูก? คนเรามีวิถีชีวิตไม่เหมือนกัน บางคนใช้เงินเก่ง แต่เขาก็มีลู่ทางในการหาเงินของเขา ส่วนผมหาเงินไม่เก่ง ชอบอยู่เงียบๆ มันเปรียบเทียบกันไม่ได้หรอก”

“อย่างล่าสุดก็มีนักข่าวโทรมาถาม แต่เรื่องพี่บาส ว่าผมคิดเห็นอย่างไร? ส่วนตัวผมก็เจอแกบ่อย รักกันดี เวลาใครถามถึงแก ผมตอบอย่างเดียวว่า ผมเป็นกำลังใจให้แกตลอด ไม่ว่าจะเรื่องอะไรก็ตามในชีวิต”

ยกที่  4 : ความรัก

อาจจะไม่ได้มีชีวิตหรูหรา และมีชื่อเสียงอยู่ในแวดวงสังคมชั้นสูง ในตลอดหลายปีที่ผ่านมา แต่หากวัดกันที่ปริมาณความสุข ก็เชื่อได้เลยชีวิตในแบบของ วิจารณ์ พลฤทธิ์ ก็จัดเป็นชีวิตที่น่าอิจฉาไม่น้อย โดยเฉพาะการได้ใช้ชีวิต ตามแบบที่ตัวเองเป็น และคาดหวังไว้

 12

แต่เพราะความรักยังคงเป็นสิ่งหนึ่งหล่อเลี้ยงให้ ชีวิตยังดำเนินต่อไปได้ แม้จะมีหน้าที่การงาน ครอบครัว และความมั่นคง แต่ความรักในกีฬามวย ยังคงย้ำเตือน วิจารณ์ พลฤทธิ์ ให้หวนนึกถึงมันอยู่เสมอ…

ซึ่งมันก็เป็นปริมาณความรักที่มากพอ ที่จะทำให้เขายอมละทิ้งชีวิตที่แสนจะลงตัวทุกอย่างในต่างจังหวัด เพื่อกลับมารับใช้ชาติอีกครั้ง ในกีฬาที่มอบโอกาสมากมายในชีวิตแก่เขา อย่าง “มวยสากลสมัครเล่น”

“ผมยังติดตามวงการมวยอยู่นะ ปกติผมจะกลับมาทำมวยเป็นโค้ช ให้กับ ตำรวจ ในกีฬากองทัพไทยทุกปี แต่ยังไม่ได้ลงมาลึกเหมือนอย่างทุกวันนี้” วิจารณ์ กล่าวถึงจุดเปลี่ยนอีกครั้งในชีวิต

“จนกระทั่ง ภาคภูมิ แจ้งโพธิ์นาค อดีตนักชกทีมชาติรุ่นเดียวกับผม และเป็นเพื่อนสนิทกัน โทรมาชักชวนว่า “วิจารณ์ มาทำมวยหญิงด้วยกันไหม?” พอดี ฮวน ฟอนตาเนียล (อดีตเฮดโค้ชมวยสากลสมัครเล่นชาย ทีมชาติไทย) เขากำลังจะกลับมาทำทีม ผมแทบจะไม่ต้องตัดสินใจว่า จะกลับไปไหม ผมบอกภาคภูมิไปว่า ได้เลย ผมพร้อมเสมอ”

“ก่อนหน้านั้นที่อยู่ต่างจังหวัด ผมไม่ได้ยุ่งเกี่ยวกับมวยเท่าไหร่ บางทีก็เสียดายวิชาความรู้ สิ่งที่เรามีติดตัวเหมือนกันนะ แม้ว่าเราจะมีชีวิตแบบที่ต้องการ แต่มันก็ยังมีเรื่องนี้แหละที่ติดค้างในใจ”

“เคยคิดเหมือนกันว่า ถ้าวันหนึ่ง สมาคมฯ ยังมองเห็นความสามารถของผมอยู่ ผมก็อยากกลับไปช่วยให้ นักมวยทีมชาติไทยรุ่นใหม่ๆ ประสบความสำเร็จ ถ้ามีใครชวนมา เราไม่ปฏิเสธแน่นอน จะยอมกลับเข้ากรุงเทพอีกครั้ง” วิจารณ์ กล่าว

“จารณ์ ยูทำอะไรอยู่ตอนนี้” ประโยคทักทายแรกของ ฮวน ฟอนตาเนียล ถึงอดีตลูกศิษย์ที่ตัดสินใจคัมแบ็กกลับสู่ แคมป์เก็บตัวทีมชาติไทยอีกครั้ง ในรอบ 18 ปี บ่งบอกได้ดีถึงความสัมพันธ์และสายใยที่ทั้งคู่ยังมีให้แก่กัน

วิจารณ์ เผยต่อว่า ฟอนตาเนียล ถือเป็นหนึ่งในผู้มีพระคุณต่อตน ในสมัยที่เขาเป็นนักมวย ฟอนตาเนียล จะคอยเน้นย้ำเรื่องระเบียบวินัยเป็นอย่างดี และมีส่วนร่วมต่อการผลักดันให้เขา ไปถึงเหรียญทองโอลิมปิก เกมส์

ดังนั้นการมาร่วมงานในฐานะ ผู้ช่วยโค้ช จึงเป็นเรื่องที่เขารู้สึกยินดีอย่างยิ่ง ในการกลับมาทำงานกับกุนซือชาวคิวบาคนนี้

“พอเป็นโค้ชแล้ว มันแตกต่างกับนักมวยมาก คนเป็นโค้ชมีหน้าที่ต้องดูแลรับผิดชอบเด็กๆ จะไปไหนมาไหน ทำเล่นๆ เหมือนตอนเป็นนักมวยไม่ได้แล้ว ต้องมีเวลาให้กับลูกศิษย์อย่างเต็มที่ เดือนๆ หนึ่ง ผมจะได้กลับบ้านแค่ครั้งเดียวเท่านั้น เพื่อไปหาลูก ก็มาทำหน้าที่ตรงนี้ได้ประมาณ 7 เดือนแล้ว พร้อมๆกับ ภาคภูมิ”

“แต่ด้วยความที่ห่างกับแคมป์ทีมชาติไปนาน ก็ต้องมาเริ่มนับหนึ่งใหม่ ทำความรู้จัก ศึกษาลูกศิษย์ทุกคนว่าเป็นอย่างไร เพราะว่ามวยสมัยนี้กับยุคผม มันเปลี่ยนไปมาก ทั้ง สไตล์การชก รวมถึงการให้คะแนน”

“ขนาดซีเกมส์ ทุกวันนี้ยังยากเลยที่จะได้เหรียญ ก็ไม่รู้เหมือนกันว่า ประเทศอื่นเขาพัฒนาขึ้น หรือประเทศเราอยู่กับที่ นั่นก็เป็นเหตุผลหนึ่งที่ผมยิ่งอยากกลับมาทำทีมให้ประสบความสำเร็จ”

 13

จากกีฬาที่เคยผูกขาดความสำเร็จ ให้กับ ทัพนักกีฬาไทย ได้ในทุกๆสนามแข่งขัน ไม่ว่าจะระดับภูมิภาค ระดับทวีป ตลอดจนระดับโลก ที่มีฮีโร่มากมายเกิดขึ้นจาก มวยสากลสมัครเล่นในอดีต

แต่ในปัจจุบันด้วยกฏ กติกา รวมถึงพัฒนาการของชาติต่างๆ ก็ทำให้เห็นว่า ขุนพลเสื้อกล้ามทีมชาติไทย ประสบความสำเร็จลดลงไปมากในทุกๆระดับ นำมาซึ่งคำถามที่ว่า “กำปั้นทีมชาติไทย” กำลังถอยหลังออกจากการเป็น ชาติชั้นนำของโลกอยู่หรือไม่?

เรื่องนี้ในมุมมองของ วิจารณ์ พลฤทธิ์ เขาบอกว่า ปัญหาใหญ่ของ นักชกทีมชาติไทย ในเวทีมวยสากลสมัครเล่นโลก ก็คือเรื่องของออกหมัด ที่เจ้าตัวอยากจะเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาและยกระดับ มวยหญิงทีมชาติไทย ให้ประสบความสำเร็จเหมือนดั่งวันวาน

“มวย เป็นกีฬาที่คนไทยคาดหวังอยู่แล้วในทุกยุค ทุกสมัยว่า ต้องมีเหรียญกลับมาให้ได้ สมัยก่อน เรื่องการออกหมัด ถ้าต่อยเข้าเป้าได้ 1 คะแนน มีแต้มโชว์ ทุกคนบนเวทีรู้ว่า เรานำหรือตามอยู่ แต่สมัยนี้ เมื่อไม่มีคะแนนมาโชว์ นักมวยก็ต้องขยันต่อย ขยันออกหมัด จะยึดความคิดเดิมๆ ต่อยแบบสมัยก่อนไม่ได้แล้ว”

“สิ่งที่ผมอยากเห็นจากนักมวยทีมชาติไทย รุ่นใหม่ๆ ก็คือ ความขยันในการออกหมัด เพราะเรื่องแท็คติก สายตาของมวยไทยดีอยู่แล้ว เพียงแต่ต้องขยันออกหมัดมากกว่านี้ ซึ่งทาง ฮวน เขาก็จะเป็นคนดีไซน์ทุกอย่างอยู่แล้ว ผมก็จะทำหน้าที่เป็นผู้ช่วย คอยรับคำสั่งและดูแลนักมวยตามที่ได้รับมอบหมาย ถ้า ฮวน ต้องการข้อมูลอะไรก็จะมาปรึกษากัน”

โอลิมปิก เกมส์ 2020 คือเวทีใหญ่ที่ วิจารณ์ พลฤทธิ์ จะได้กลับไปเหยียบอีกครั้ง ในฐานะผู้ช่วยโค้ช ทีมหญิง

แม้ในวันที่หลายๆคนอาจเริ่มลดทอนความเชื่อมั่น และความคาดหวังจาก ขุนพลเสื้อกล้ามทีมชาติไทย แต่ในส่วนลึกของใจฮีโร่โอลิมปิกเกมส์ 2000 เขายังเชื่อมั่นเสมอว่า มวยสมัครเล่นทีมชาติไทย จะยังมีฮีโร่คนต่อๆไป เกิดขึ้นอีกแน่นอน

“ความสำเร็จที่ผมเคยทำได้นั้น เกิดมาจากความพยายาม ความตั้งใจ ในการฝึกซ้อม ศึกษาคู่ต่อสู้ รวมถึงการตั้งเป้าหมายว่า อยากจะไปถึงตรงไหน ผมดูเด็กบางคน เขาตั้งเป้าหมายในการชกว่า อยากติดทีมชาติ อยากรับราชการ อยากมีงานที่มั่นคง แต่ไม่เคยคิดว่าตัวเองจะไปเป็นฮีโร่ อยากได้เหรียญโอลิมปิก”

“ไม่กล้าที่จะฝันไปให้ไกล คิดว่าติดทีมชาติก็พอแล้ว ผมอยากให้ลองเปลี่ยนความคิด เพราะการติดทีมชาติเป็นเพียงแค่ก้าวแรกเท่านั้น คุณต้องวางเป้าหมายต่อไปในชีวิต ว่าจะยืนอยู่ตรงไหนในระดับโลก เด็กรุ่นใหม่ต้องกล้าที่จะฝันให้ไกล แล้วพยายามไปให้ถึงตรงนั้นให้ได้”

“ผมเชื่ออยู่ตลอดว่า มวยสากลสมัครเล่นของไทย จะยังมีฮีโร่คนต่อไป ไปเรื่อยๆ เท่าที่ดูอยู่ ผมว่าลูกศิษย์ผมหลายคน (ทีมมวยหญิง) มีโอกาสในโอลิมปิก อีก 2 ปีข้างหน้า ผมก็พยายามสร้างแรงบันดาลใจให้เขา ในฐานะของโค้ช ผมก็ยังหวังและเชื่อมั่นอยู่เสมอ”

 14

“ผมยังอยากไปฟังเพลงชาติไทยในโอลิมปิกอีกสักหน เชื่อผมเถอะ ไม่มีเพลงชาติไทยที่ไหนเพราะเท่ากับที่คุณฟังในโอลิมปิก เกมส์อีกแล้ว” วิจารณ์ ในวัย 42 ปี ทิ้งท้ายด้วยสีหน้าที่เต็มไปด้วยรอยยิ้ม

อัลบั้มภาพ 14 ภาพ

อัลบั้มภาพ 14 ภาพ ของ จากปากวีรบุรุษ : วิจารณ์ พลฤทธิ์ "ผมหายไปไหนมา 18 ปีเหรอ?"

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook