เคาท์ดาวน์ลอนดอนเกมส์

เคาท์ดาวน์ลอนดอนเกมส์

เคาท์ดาวน์ลอนดอนเกมส์
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

กลับมาพบกันอีกครั้งสำหรับ "เคาท์ดาวน์ลอนดอนเกมส์" ที่ครานี้ถูกสั่งย้ายมาอยู่หน้าสี ซึ่งคงจะสวยสดใสกว่าหลายๆ ตอนที่ผ่านมา โดยที่ผ่านมานั้น "ซูเปอร์แบงค์" ได้นำเสนอเนื้อหาสาระเกี่ยวกับนักกีฬาไทยไปบ้างแล้วพอสมควรถึง 7 ตอน

ซึ่งจากนี้ไป "ซูเปอร์แบงค์" ก็ยังคงประจำการเหมือนเดิม แถมยังจะมีนักเขียนมากความสามารถอีกหลายๆ ท่านมาร่วมแจมบนหน้ากระดาษแผ่นนี้ด้วย แฟนนานุแฟนคงต้องติดตามกันต่อไปว่าจะมีใครบ้าง

ย้อนกลับมาที่เนื้อหาสาระของฉบับนี้กันดีกว่า ตลอด 7 ตอนที่ผ่านมานั้น อย่างที่กล่าวไปข้างต้นผู้เขียนได้เสนอความเคลื่อนไหวของนักกีฬาไทยไปบ้างแล้วพอสมควร แต่สิ่งที่ผู้เขียนลืมไปอย่างสนิทใจ จนมีแฟนๆ ส่งจดหมายไฟฟ้า (อีเมลล์) มาแนะนำให้ผู้เขียนนำเรื่องของ "ประวัติหรือจุดเริ่มต้นกีฬาโอลิมปิก" มาให้ผู้อ่านหลายๆ ท่านได้ทราบบ้าง

ตรงนี้ "ซูเปอร์แบงค์" ขอขอบคุณแฟนที่เสนอสิ่งนี้มา ซึ่งผู้เขียนต้องกราบขออภัยที่ละเลยเรื่องนี้ไปแบบไม่ได้คิด เอาเป็นว่าฉบับนี้เป็นหน้าสีครั้งแรก จะจัดให้แฟนๆได้รับทราบแบบเต็มๆกันไปเลย

ก่อนอื่นต้องบอกก่อนว่าการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก เป็นการแข่งขันกีฬาหลายชนิด จากหลายประเทศทั่วโลก โดยจัดขึ้นทุก 4 ปี และมีการแบ่งออกเป็น โอลิมปิกฤดูร้อน และโอลิมปิกฤดูหนาว ซึ่ง "ลอนดอนเกมส์" ครั้งนี้เป็นการแข่งขันโอลิมปิกฤดูร้อน ครั้งที่ 30

หากจะพูดถึงจุดกำเนิด หรือจุดเริ่มต้นกีฬาโอลิมปิกนั้น ผู้เขียนต้องขออธิบายก่อนว่า กีฬาโอลิมปิก ได้ถูกแบ่งเป็น 2 สมัย คือสมัยโบราณ และสมัยใหม่ โดยการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกในสมัยโบราณนั้น เกิดขึ้นก่อนหน้าคริสตกาลกว่า 1,000 ปี

การแข่งขันได้ดำเนินการจัดบนยอดเขาโอลิมปัส ในประเทศกรีซ โดยนักกีฬาจะต้องเปลือยกายเข้าแข่งขัน เพื่อประกวดความสมส่วนของร่างกาย และยังมีการต่อสู้บางประเภท เช่น กีฬาจำพวกมวยปล้ำ เพื่อพิสูจน์ความแข็งแรง ผู้ชมมีแต่เพียงผู้ชาย ห้ามผู้หญิงเข้าชม

ดังนั้นผู้ชมจะต้องปีนขึ้นไปบนยอดเขา ครั้นต่อมามีผู้นิยมมากขึ้น สถานที่บนยอดเขาจึงคับแคบเกินไป ไม่เพียงพอที่จุทั้งผู้เล่น และผู้ชมได้ทั้งหมด

กระทั่งเมื่อ 776 ปีก่อนคริสตกาล ชาวกรีก ได้ย้ายที่แข่งขันลงมาที่เชิงเขาโอลิมปัส และได้ปรับปรุงการแข่งขันเสียใหม่ให้ดีขึ้น โดยให้ผู้เข้าแข่งขันสวมกางเกง พิธีการแข่งขันจัดอย่างเป็นระเบียบเป็นทางการ มีการบันทึกการแข่งขันอย่างชัดเจน มีจักรพรรดิมาเป็นองค์ประธาน อนุญาตให้สตรีเข้าชมการแข่งขันได้ แต่ไม่อนุญาตให้เข้าแข่งขัน

ประเภทของกรีฑาที่ใช้แข่งขันในครั้งแรก มี 5 ประเภท คือ วิ่ง, กระโดด, มวยปล้ำ, พุ่งแหลน และขว้างจักร ผู้เข้าแข่งขันคนหนึ่งๆ จะต้องเล่นทั้ง 5 ประเภท โดยผู้ชนะจะได้รับรางวัล คือ มงกุฎที่ทำด้วยกิ่งไม้มะกอกที่มีชื่อว่า ช่อลอเรล ซึ่งขึ้นอยู่บนยอดเขาโอลิมปัสนั่นเอง และได้รับเกียรติเดินทางท่องเที่ยวไปทุกรัฐ ในฐานะตัวแทนของพระเจ้า

จากนั้นการแข่งขันก็ได้จัดขึ้น ณ เชิงเขาโอลิมปัส แคว้นอีลิส ที่เดิมเป็นประจำทุก 4 ปี และถือปฏิบัติติดต่อกันมาโดยไม่เว้น เมื่อถึงกำหนดการแข่งขัน ทุกรัฐจะต้องให้เกียรติ หากว่าขณะนั้นกำลังทำสงครามกันอยู่ จะต้องหยุดพักรบ และมาดูนัก

กีฬาของตนแข่งขัน หลังจากเสร็จจากการแข่งขันแล้ว จึงค่อยกลับไปทำสงครามกันใหม่ ประเภทของการแข่งขันได้เปลี่ยนแปลงไปบ้างในระยะต่อๆมา โดยมีการพิจารณา และลดประเภทของกีฬาเรื่อยมา

อย่างไรก็ดีในระยะแรกนี้กรีฑา 5 ประเภทดังกล่าวที่จัดแข่งขันในครั้งแรก ได้รับเกียรติให้คงไว้ ซึ่งเรียกกันว่า เพ็นตาธรอน หรือ ปัญจกรีฑา ทั้งนี้ก็เพื่อเป็นการรำลึกถึงกำเนิดของกรีฑา โดยในปัจจุบันนี้ก็ยังมีการแข่งขันกันอยู่

การแข่งขันได้ดำเนินติดต่อกันมานับเป็นเวลาถึง 1,200 ปี จนมาในปี พ.ศ. 936 (ค.ศ. 393) จักรพรรดิธีโอดอซิดุช แห่งโรมันได้ทรงประกาศให้ยกเลิกการแข่งขันนั้นเสีย เพราะเกิดมีการว่าจ้างกันเข้ามาเล่น เพื่อหวังรางวัล และผู้เล่น

ปรารถนาสินจ้างมากกว่าการเล่น เพื่อสุขภาพของตน รวมทั้งมีการพนันขันต่อ อันเป็นทางวิบัติซึ่งผิดไปจากวัตถุประสงค์เดิมคือ ผู้เข้าแข่งขันทั้งหลายต่างก็อยากได้ ช่อลอเรล ซึ่งเป็นรางวัลของผู้ชนะ ด้วยเหตุนี้เอง พระองค์จึงสั่งให้ล้มเลิกการแข่งขันนี้เสีย

โดยตลอดระยะเวลาที่มีการแข่งขันนั้น ได้จัดขึ้น ณ บริเวณที่แห่งเดียว คือ เชิงเขาโอลิมปัส แคว้นอีลิส จึงเรียกการแข่งขันตามชื่อของสถานที่ว่า "การแข่งขันกีฬาโอลิมปิก"

และทั้งหมดนี้ก็คือจุดเริ่มต้นการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกสมัยโบราณ ซึ่งต้องบอกเลยว่านักกีฬาสมัยก่อนนั้น จะเป็นพวกทหารที่มีพละกำลัง และความสามารถในการต่อสู้ และนักกีฬาแต่ละคน ก็สู้ด้วยจิตใจที่บริสุทธิ์ สมกับการเป็นชายชาติทหาร

ฉบับหน้ามาดูกันว่าโอลิมปิกสมัยใหม่มีจุดเริ่มต้นขึ้นมาได้อย่างไร และใครเป็นคนมีความคิดให้กีฬาโอลิมปิก กลับมาแข่งขันกันอีกครั้ง

เรื่องโดย "SuperBank"

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook