เปิดสัญญาฉาว! ส.บอลยุค "บังยี" ทำสัญญาแกรนด์สปอร์ต ผูกพันยาว 5 ปี
คำที่ถูกค้นบ่อย
    Sanook//s.isanook.com/sr/0/images/logo-new-sanook.png60060
    //s.isanook.com/sp/0/ud/41/209689/e.jpgเปิดสัญญาฉาว! ส.บอลยุค "บังยี" ทำสัญญาแกรนด์สปอร์ต ผูกพันยาว 5 ปี

    เปิดสัญญาฉาว! ส.บอลยุค "บังยี" ทำสัญญาแกรนด์สปอร์ต ผูกพันยาว 5 ปี

    2016-03-05T17:05:00+07:00
    แชร์เรื่องนี้

    สัญญาให้การสนับสนุน สมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ สมัยนายวรวีร์ มะกูดี เป็นนายกสมาคมฯ กับ บริษัท แกรนด์สปอร์ต กรุ๊ป จำกัด ที่จัดทำขึ้นในวันที่ 1 กรกฏาคม พ.ศ.2558

    ถือเป็นสัญญาสุดพิสดาร สะท้านวงการฟุตบอลไทยเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากมีความไม่ชอบมาพากลหลายประการด้วยกัน และอาจจะส่งผลเสียหายต่อสมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ ภายใต้การนำของพลตำรวจเอกสมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง นายกสมาคมฯเป็นอย่างมาก ถึงขนาดที่จะต้องหยิบยกขึ้นมาพิจารณาเนื้อหาในสัญญากันใหม่

    สัญญาดังกล่าวจัดทำขึ้นมาในวันที่ 1 กรกฏาคม พ.ศ.2558 มีเนื้อหาที่น่าสนใจดังนี้ 1.วัตถุประสงค์ของสัญญา ระบุไว้ว่า “1.1. บริษัท ตกลงให้เงินสนับสนุนแก่สมาคมเป็นจำนวน 19 ล้านบาท (สิบเก้าล้านบาทถ้วน) ต่อปี” ซึ่งหลายฝ่ายสงสัยว่ามีฐานการพิจารณาการให้เงินสนับสนุนจำนวนนี้ น้อยไปหรือไม่ อย่างไร มีฐานการคำนวณเงินให้การสนับสนุนมาจากไหน มีการเปิดให้มีการแข่งขันกันอย่างโปร่งใส เป็นธรรม ตามหลักการบริหารจัดการที่ดีมีคุณธรรม หรือที่เรียกว่าหลักธรรมาภิบาลหรือไม่

    1.2 สนับสนุนชุดฝึกซ้อม-แข่งขัน, ชุดลำลอง, ชุดเดินทาง, กระเป๋าเป้, กระเป๋าเดินทาง รวมถึงอุปกรณ์กีฬาสำหรับทีมฟุตบอลชาติไทย ทั้งชายและหญิงทุกชุด ตั้งแต่ระดับเยาวชนไปจนถึงทีมชาติไทย รวมถึงทีมฟุตซอลทีมชายไทยทั้งชายและหญิง ตั้งแต่ระดับเยาวชนไปจนถึงทีมชาติไทยและอุปกรณ์อื่นๆตามที่สมาคมขอมา

    สัญญาข้อ 1.2 นี้ มีการเขียนที่ดูเหมือนจะขาดตกบกพร่อง ขาดๆ เกินๆ อาทิเช่น “รวมถึงทีมฟุตซอลทีมชายไทย ทั้งชายและหญิง” ซึ่งเป็นข้อความที่แปลกประหลาดมาก ข้อความที่ถูกต้อง น่าจะหมายถึง “รวมถึงทีมฟุตซอลทีมชาติไทยทั้งชายและหญิง” มากกว่าหรือไม่ เหตุใดฝ่ายนิติกรของทั้ง 2 ฝ่าย จึงมีการเขียนสัญญาในลักษณะเช่นนี้

    นอกจากนี้ ในสัญญาที่เป็นมาตรฐานที่สมบูรณ์แบบ ควรจะเขียนระบุเรื่องคุณภาพ ขนาด ชนิด วัสดุอุปกรณ์ รูปแบบ ที่นำมาใช้กับนักกีฬาทีมชาติไทย ว่าจะต้องผ่านเกณฑ์ในระดับใด เช่น จะต้องผ่านเกณฑ์ของมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม(มอก.) หรือ ผ่านเกณฑ์ของ สหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ (ฟีฟ่า) หรือ ผ่านเกณฑ์ของ สมาพันธ์ฟุตบอลเอเชีย (เอเอฟซี) แต่เนื้อหาในสัญญากลับไม่มีบอกเอาไว้แม้แต่น้อย รวมถึงการออกแบบนั้นจะใช้ “ดีไซเนอร์” ที่มีมาตรฐานจากที่ใด เพื่อให้เกิดความสบายตัวกับนักฟุตบอลในแต่ละเพศ วัย และ ระดับความกระชับ มากที่สุด

    “ยกตัวอย่างเช่นนักกีฬาว่ายน้ำ ยังต้องอาศัยชุดว่ายน้ำที่มีการออกแบบให้ลู่ไปกับผิวน้ำ ตามสรีระของนักกีฬาแต่ละคน ซึ่งจะช่วยทำความเร็วเพิ่มขึ้นได้แม้เพียงเสี้ยววินาที ก็ชนะกันได้แล้ว ส่วนนักกีฬาฟุตบอล เสื้อผ้าที่สวมใส่ควรจะมีการออกแบบอย่างไร ไปแข่งในสภาพอากาศหนาวเย็นควรจะใส่เสื้อผ้าอย่างไรให้ร่างกายอบอุ่น หรือไปแข่งในที่ร้อนระอุ จะให้นักฟุตบอลใส่เสื้อผ้าอย่างไรให้ระบายความร้อน และซับเหงื่อได้ดี ที่สำคัญควรจะทนต่อการฉีกขาดจากการดึงเสื้อของผู้เล่นอีกฝ่าย หรือ ควรจะฉีกขาดง่ายเมื่อถูกดึงเพื่อให้กรรมการเห็นอย่างชัดเจน เป็นต้น”

    จะเห็นได้ว่าสัญญาในข้อ 1.2 นั้น สมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทย ภายใต้การบริหารของนายวรวีร์ ไม่ได้กระทำให้เงื่อนไขแห่งสัญญาเป็นไปโดยความพิถีพิถัน รัดกุม นอกจากเขียนผิดๆ ถูกๆ แล้ว ยังไม่เขียนข้อสัญญาให้ผูกมัดกับคู่สัญญา เพื่อให้ได้สิ่งที่ดีที่สุดสำหรับนักกีฬาฟุตบอลไทย ในทุกระดับ ทุกเพศ แต่กลับไม่มีการดำเนินการ เหมือนกับว่าสัญญาเปิดกว้างให้ภาคเอกชนจะจัดหาเสื้อผ้าอะไรมาให้นักกีฬาใส่ก็ได้ ขึ้นแต่ความพึงพอใจของภาคเอกชนเป็นหลัก ซึ่งเกิดคำถามขึ้นมาว่านี่หรือคือวิธีการที่ถูกต้อง

    ซึ่งการเขียนสัญญากำหนดดังกล่าว เป็นเหมือนกับข้อสัญญาในข้อ 1.4 ที่ระบุว่า สนับสนุนชุดเครื่องแต่งกายของสถาบันผู้ตัดสินฟุตบอลปีละ 3.5 ล้านบาท รวม 5 ปี มูลค่า 17.5 ล้านบาท (สิบเจ็ดล้านห้าแสนบาทถ้วน) ซึ่งไม่ระบุรายละเอียดว่าสิ่งที่จะให้มีอะไรบ้าง รวมไปถึงขนาด ชนิด และ คุณภาพของสินค้า ที่จะสนับสนุนว่ามีลักษณะอะไรอย่างไร การตีมูลค่าทำในลักษณะใด

    และเช่นเดียวกันในสัญญาข้อ 1.5 ที่ระบุว่า สนับสนุนสินค้าเสื้อผ้าและอุปกรณ์กีฬาสำหรับศูนย์ฝึกฟุตบอลแห่งชาติ สำหรับโรงเรียนชนบทที่ยากจน และผู้มีอุปการะคุณสมาคม เป็นจำนวน 7 ล้านบาทต่อปี ซึ่งไม่ระบุเหมือนกันว่าจะเป็นสินค้าอะไร คุณภาพระดับใด และใครเป็นคนพิจารณาในการอนุมัติ ว่าจะให้โรงเรียนชนบทที่ยากจนคือที่ไหน จังหวัดอะไร จำนวนเท่าใด หรือที่ศูนย์ฝึกฟุตบอลแห่งชาติมีอยู่ที่ไหนและจะต้องใช้จำนวนเท่าใด บริษัทเป็นผู้อนุมัติ หรือ โดยที่ประชุมสมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯเป็นผู้อนุมัติ ก็ไม่มีการเขียนเอาไว้ในสัญญาให้ชัดเจน

    ที่สำคัญที่สุดคือ!!! เงื่อนไขที่ระบุในสัญญา ข้อ 2 ระยะเวลาของสัญญา ระบุเอาไว้ว่า “คู่สัญญาของทั้งสองฝ่ายตกลงให้สัญญาฉบับนี้มีผลใช้บังคับเป็นระยะเวลา 5 ปี นับตั้งแต่ วันที่ 1 กรกฏาคม 2558 ถึง 31 สิงหาคม 2563...”

    ซึ่งเป็นที่รู้กันดีอยู่แล้วว่า นายวรวีร์ และผู้บริหารสมาคม หมดวาระลงไปแล้ว และจะต้องมีการจัดการเลือกตั้งนายกสมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯใหม่ ในระยะเวลาอันใกล้นี้ ทำไมจึงเขียนสัญญาข้ามภพข้ามชาติ ถึง 3 ชั่วนายกสมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯกันอีก

    ในเมื่อเป็นช่วงปลายยุคนายวรวีร์ บริหารสมาคม ต่อไปเป็นยุคของพลตำรวจเอกสมยศ ตลอดสมัย 4 ปี และยุคต่อไปเมื่อพลตำรวจเอกสมยศ หมดวาระลง จึงเป็นเรื่องแปลกประหลาดอย่างมาก ขนาดรัฐบาลในช่วงท้ายๆ เขายังจะต้องมีมารยาท ไม่อนุมัติจัดซื้อจัดจ้างใดๆ ที่จะเป็นงบผูกพันข้ามปี หรือทำสัญญาใดๆ ที่ผูกมัดไปในรัฐบาลหน้า

    ยิ่งไปกว่านั้นในสัญญาในย่อหน้าต่อไป ยังเขียนผูกมัดเอาไว้ในอนาคต ลักษณะให้ภาคเอกชนรายนี้ ได้จับจองสิทธิ์ในการที่จะต่อสัญญาเมื่อหมดระยะเวลา 5 ปี เอาไว้เป็นรายแรกด้วย ว่า

    “ทั้งนี้ก่อนที่ระยะเวลาตามสัญญาฉบับนี้ได้สิ้นสุดลง 90 วัน สมาคมตกลงจะเป็นผู้เสนอเรื่องการต่ออายุสัญญาฉบับนี้ เป็นหนังสือให้แก่ บริษัท ทราบก่อนบุคคล และ/หรือนิติบุคคลอื่นๆ เพื่อให้บริษัทพิจารณาเป็นลำดับแรกก่อนว่าบริษัทมีความประสงค์ที่จะต่ออายุของสัญญาฉบับนี้กับสมาคมต่อไปอีกหรือไม่ และถ้าหากบริษัทมีความประสงค์ที่จะต่ออายุของสัญญาฉบับนี้กับสมาคมต่อไปแล้ว บริษัทตกลงจะแจ้งเป็นหนังสือให้แก่ สมาคม ทราบภายในระยะเวลา 30 วัน นับตั้งแต่วันที่สัญญาฉบับนี้ได้สิ้นสุด และถ้าหากบริษัทไม่แจ้งให้สมาคมทราบถึงการต่ออายุของสัญญาฉบับนี้ ภายในระยะเวลาที่กำหนดแล้ว บริษัทตกลงให้ สมาคม มีสิทธิ์ในการเข้าทำสัญญากับบุคคล และ/หรือนิติบุคคลอื่นได้”

    แบบนี้จะไม่ให้เรียก สัญญาข้ามภพข้ามชาติ หรือ สัญญา 7 ชั่วโคตร ยังไงไหว? เป็นการรอนสิทธิ์สำหรับผู้บริหารสมาคมกีฬาฟุตบอลชุดใหม่ ภายใต้การนำของพลตำรวจเอกสมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง และท่านอื่นๆที่จะมาเป็นผู้บริหารสมาคมในอนาคต นอกจากจะทำสัญญา 5 ปี เอาไว้ยังมีมีการให้สิทธิ์เจ้าเดิมเอาไว้อีกด้วย

    ซึ่งหากเปิดให้มีการแข่งขันหรือการประมูลในรูปแบบสัญญาแต่ละปี แบบโปร่งใส อาจจะมีผู้เสนอรายอื่นให้ราคาและผลประโยชน์ที่มากกว่านี้ แทนที่จะทำสัญญาให้สิทธิ์เจ้าเดิม 5 ปี และจะได้สิทธิ์เป็นลำดับแรกเมื่อสัญญาสิ้นสุดลงจะต้องให้เขาพิจารณาสัญญาใหม่เป็นเจ้าแรกอีกด้วย

    นอกจากนี้ในสัญญาข้อ 3 สิทธิประโยชน์ดูแล้วน่าจะเป็นหมวดที่มีปัญหามากที่สุด มีคำถามที่มากที่สุด ในการระบุเงื่อนไขของสัญญาเอาไว้เป็นข้อย่อยถึง 19 ข้อด้วยกัน ล้วนแต่เป็นข้อเรียกร้องของทางบริษัทเอกชนที่ต้องการสิ่งแลกเปลี่ยนทั้งสิ้น

    ข้อ 3.2.1 จัดให้มีโลโก้ผลิตภัณฑ์ฯบริษัท ซึ่งมีขนาดเท่ากับป้ายชื่อของสมาคม จำนวน 1 โลโก้ บนเวทีแถลงข่าวอย่างเป็นทางการในการจัดการแข่งขันทุกครั้ง รวมทั้งสมาคมจะเชิญตัวแทนของบริษัท เข้าร่วมงานแถลงข่าวในแต่ละครั้งด้วย ทั้งนี้ สมาคม จะแจ้งเป็นหนังสือ เพื่อให้บริษัททราบถึงกำหนดวันแถลงข่าวและกำหนดการแข่งขันในแต่ละแมตช์ล่วงหน้าเป็นระยะเวลาไม่น้อยกว่า 15 วัน ก่อนถึงกำหนดวันแถลงข่าวอย่างเป็นทางการของการจัดการแข่งขันในแมตช์นั้นๆ

    ข้อ 3.2.2 ติดป้ายเพื่อโฆษณาประชาสัมพันธ์ผลิตภัณฑ์ ของกลุ่มบริษัท ตามที่บริษัทเห็นสมควรขนาด 5*0.9 เมตร ณ.บริเวณรอบสนามแข่งขันเป็นจำนวนรวมทั้งสิ้น 2 ป้าย รวมทั้งสมาคมให้บริษัทมีสิทธิ์ติดป้ายเพื่อการโฆษณาประชาสัมพันธ์ผลิตภัณฑ์ฯ ของกลุ่มบริษัทที่มีขนาดใหญ่กว่าป้ายมาตรฐานบริเวณด้านหน้าสนามแข่งขัน

    ข้อ 3.2.3 จัดให้มีโลโก้ผลิตภัณฑ์ฯของกลุ่มบริษัท ซึ่งมีขนาดและจำนวนตามที่บริษัทและสมาคมเห็นสมควรได้ร่วมพิจารณาเห็นสมควรไว้ในพื้นที่ต่างๆในสนามแข่ง ทั้งนี้ ภายใต้กฏระเบียบของสนามแข่งขันและองค์กรผู้ดูแลการจัดการแข่งขันในแมตซ์นั้นๆ อาทิเช่น กฏระเบียบของสหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ (FIFA) หรือกฏระเบียบของสหพันธ์ฟุตบอลแห่งเอเชีย (AFC) เป็นต้น

    ข้อ 3.2.5 ให้สิทธิ์แก่บริษัทแต่เพียงผู้เดียวในการจำหน่ายสินค้าและหรือทำการส่งเสริมการขายสินค้า อาทิ เช่น ติดตั้งร้านค้าชั่วคราวเพื่อจำหน่ายสินค้า และหรือติดป้ายโฆษณาผลิตภัณฑ์ของบริษัท เป็นต้น ภายในบริเวณที่ได้มีการจัดการแข่งขัน ทั้งนี้ภายใต้กฏระเบียบของสนามแข่งขัน

    ข้อ 3.2.6 กรณีที่สมาคมทำการโฆษณาประชาสัมพันธ์การจัดการแข่งขันในแต่ละแมตช์ ไม่ว่าจะเป็นการโฆษณาประชาสัมพันธ์ทางสื่อใดๆก็ตาม (เช่น สปอตโทรทัศน์ หรือ สปอตวิทยุ หรือ หนังสือพิมพ์ เป็นต้น ) สมาคมตกลงดำเนินการใดเพื่อแสดงให้เห็นว่า บริษัทเป็นผู้สนับสนุนหลักอย่างเป็นทางการของสมาคมและของการจัดการแข่งขันในแมตช์นั้นๆ อาทิเช่น จัดให้มีโลโก้ผลิตภัณฑ์ฯของกลุ่มบริษัทตามที่บริษัทเห็นสมควร ในหนังสือพิมพ์ เป็นต้น ทุกครั้งที่ได้มีการโฆษณาประชาสัมพันธ์การจัดการแข่งขันในแมตช์นั้นๆ รวมถึงมีการสรุปข่าวของกิจกรรมนั้นๆ ให้กับบริษัทด้วย

    ข้อ 3.2.7 จัดให้มีโลโก้ผลิตภัณฑ์ของกลุ่มบริษัทบนสิ่งพิมพ์ต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการแข่งขัน เช่น ตั๋วเข้าชมการแข่งขัน โปสเตอร์ บิลบอร์ดเป็นต้น

    ข้อ 3.2.8 ให้สิทธิ์โฆษณาประชาสัมพันธ์ผลิตภัณฑ์ฯของบริษัท 1 หน้า บนสูจิบัตรการแข่งขัน

    ข้อ 3.2.9 สมาคมจะได้สิทธิ์ติดตั้งป้ายผลิตภัณฑ์ฯของบริษัท ตามที่บริษัทเห็นสมควร ณ บริเวณทางเข้าสถานที่ทำการของสมาคมเพื่อแสดงให้เห็นว่า บริษัทเป็นผู้สนับสนุนอย่างเป็นทางการของสมาคม

    ข้อ 3.2.10 สมาคมจะจัดงานแถลงข่าวต่อสื่อมวลชนว่า บริษัทได้เข้าเป็นผู้สนับสนุนอย่างเป็นทางการของสมาคม และเมื่อสมาคมได้กำหนดวันเวลาในการจัดงานแถลงข่าวแล้ว สมาคมจะแจ้งให้บริษัททราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 15 วัน ก่อนถึงกำหนดวันแถลงข่าว โดยบริษัทไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ

    ข้อ 3.2.11 สมาคมจะติดตั้งป้ายเพื่อโฆษณาประชาสัมพันธ์สินค้า หรือผลิตภัณฑ์ของบริษัท ตามที่บริษัทเห็นสมควร ขนาด 5 เมตร X 0.9 เมตร จำนวนทั้งสิ้น 4 ป้าย ณ บริเวณสนามซ้อมของสมาคมทุกสนาม ทั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นสนามซ้อมของสมาคม ซึ่งตั้งอยู่ที่อำเภอแหนองจอก จังหวัดกรุงเทพมหานครหรือสนามซ้อมที่อื่นใด

    ข้อ 3.2.12 สมาคมจะจัดให้มี banner หรือโลโก้ผลิตภัณฑ์ฯใน website ของสมาคม

    ข้อ 3.2.13 สมาคมจะจัดให้สิทธิ์ในการติดตั้งโลโก้บริษัทหรือโลโก้ ผลิตภัณฑ์ รถรับ-ส่งทีมฟุตบอล, ฟุตซอลทีมชาติไทยทุกรุ่น ทุกทีม และทุกประเภท

    ข้อ 3.2.14 สมาคมจะสนับสนุนสินค้าของผู้สนับสนุนที่เกี่ยวข้องกับทีมชาติไทย อาทิ ผลิตภัณฑ์น้ำดื่ม เครื่องดื่ม หรือบัตรกำนัลต่างๆ ฯลฯ ตามความเหมาะสมให้กับบริษัท เพื่อใช้ในกิจกรรมส่งเสริมภาพลักษณ์ของบริษัท

    ข้อ 3.2.15 กรณีที่สมาคมจัดกิจกรรมต่างๆของสมาคม เช่น การอบรมโค้ช soccer camp clinic ฯลฯ สมาคมจะต้องจัดให้มีโลโก้ผลิตภัณฑ์ ในสื่อประชาสัมพันธ์ผลิตภัณฑ์ฯ หรือร่วมกิจกรรมต่างๆ ที่บริษัทจัดขึ้นตามความเหมาะสมพร้อมทั้งพิทักษ์สิทธิประโยชน์ของบริษัท ในการสวมใส่ผลิตภัณฑ์ของบริษัทเท่านั้น

    ข้อ 3.2.16 สมาคมจะจัดให้นักกีฬาฟุตบอลทีมชาติไทยหรือทีมฟุตบอลชาติไทยทั้งชายและหญิง ตั้งแต่ระดับเยาวชนจนถึงทีมชาติไทยชุดใหญ่ เข้ามาร่วมกิจกรรมประชาสัมพันธ์ผลิตภัณฑ์ฯหรือร่วมกิจกรรมส่งเสริมการขายต่างๆ ที่บริษัทจัดขึ้นตามความเหมาะสม โดยบริษัทไม่ต้องชำระค่าตอบแทนใดๆเพิ่มเติมแก่บุคคล, นิติบุคคล หรือองค์กรใดๆ อีก ทั้งนี้จะต้องไม่ขัดต่อสิทธิประโยชน์ ซึ่งนักกีฬาดังกล่าวมีต่อผลิตภัณฑ์หรือสินค้าอื่นๆ

    ข้อ 3.2.17 สมาคมจะต้องรักษาสิทธิประโยชน์ของบริษัท ในการให้นักกีฬา, เจ้าหน้าที่ และสต๊าฟโค้ช รวมไปถึง ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสมาคม ในการสวมใส่ผลิตภัณฑ์ของบริษัทแต่เพียงผู้เดียวในการออกสื่อต่างๆ อาทิ หนังสือพิมพ์, วิทยุ, โทรทัศน์, สื่ออิเลคโทรนิคต่างๆ ทีออกต่อสาธารณะในนามของกิจกรรมสมาคม

    ข้อ 3.2.18 สมาคมจะต้องรักษาสิทธิประโยชน์ของบริษัท ในการสวมใส่ผลิตภัณฑ์ของบริษัทในทีมฟุตซอลและทีมฟุตบอลทีมชาติไทยทุกชุด ตั้งแต่ระดับเยาวชนไปถึงทีมชาติชุดใหญ่ทั้งชายและหญิง รวมถึงจะต้องแต่งตั้งผู้ประสานงานในแต่ละประเภทอายุมาให้ชัดเจน เพื่อให้การทำงานมีประสิทธิภาพ (ข้อนี้ขอนำเสนอ เนื่องจากที่ผ่านมามีปัญหาในการทำงาน และหาผู้รับผิดชอบไม่ได้)

    ข้อ 3.2.19 สมาคม ตกลง ให้บริษัทฯ นำตราสัญลักษณ์ของทีมชาติไทย หมายความรวมไปถึงภาพลักษณ์ของสมาคม ไปใช้ในการประชาสัมพันธ์ และส่งเสริมการขาย อาทิ ชุดแข่งขัน, กระเป๋าเป้, กระเป๋า, กระเป๋าเดินทาง, หมวก, อุปกรณ์กีฬา หรือของที่ระลึกต่างๆ เพื่อเป็นประโยชน์ทั้งสองฝ่าย

    จะเห็นได้ว่า สัญญาสิทธิประโยชน์ ในข้อ 13 ซึ่งมีข้อย่อยทั้งหมด 19 ข้อนั้น เป็นสิ่งที่ภาคเอกชนได้เรียกร้องจำนวนมากมาย อาทิให้ทำป้ายขนาดใหญ่กว่าปกติที่เอกชนรายอื่นจะได้สิทธิ์ และ การติดตั้งป้าย ในสถานที่แข่งขัน สถานที่แถลงข่าว สถานที่ไปปรากฏตัวต่างๆ รวมทั้งการออกสื่อโทรทัศน์ วิทยุ และสื้ออีเลคโทรนิค ต่างๆ จะต้องทำการประชาสัมพันธ์ให้ด้วย โดยทั้งหมดนี้ไม่ได้ถูกนำมาคำนวนว่าแต่ละรายการที่ภาคเอกชนรายนี้เสนอมาเป็นจำนวนเท่าไหร่ และรวมแล้วทั้ง 19 รายการ ภาคเอกชนนี้จะได้สิทธิประโยชน์ กลับไปเป็นจำนวนเท่าใดกันแน่

    "เป็นที่น่าสงสัยว่า ถ้าหากคิดมูลค่าสิทธิประโยชน์ที่ภาคเอกชนได้ไปนั้น เมื่อตีราคาออกมา อาจจะมากกว่าเงินจำนวน 19 ล้านบาทหรือไม่ เพราะมีทั้งป้ายขนาดใหญ่ ในสถานที่ทำการแข่งขัน และสมาคมฟุตบอล ป้ายฉากหลังการแถลงข่าว การออกสื่อต่างๆ พ่วงไปกับสมาคมกีฬาฟุตบอลฯตลอดทั้งปี แล้วไม่มีใครคิดเลยหรือว่าภาคเอกชนควรจะให้สิ่งแลกเปลี่ยนกับสมาคมฟุตบอลฯมากกว่านี้หรือไม่"

    นายชนินทร์ แก่นหิรัญ รองอุปนายกสมาคมกีฬาฟุตบอล กล่าวว่า สัญญาดังกล่าวยังไม่ได้ดูในรายละเอียด แต่พอทราบมาว่า สัญญานี้มีการเขียนผูกมัดเอาไว้ถึง 5 ปี ซึ่งเป็นที่อาจจะสร้างความเสียหายต่อสมาคม ได้เพราะเป็นการทำสัญญาระยะยาวเกินไป ทั้งที่รู้ว่าผู้บริหารชุดเก่ามีเวลาดำรงตำแหน่งแค่ไหน ดังนั้นเรื่องนี้ ทางสมาคมกีฬาฟุตบอลคงจะต้องมีการหารือกันอีกถึงรายละเอียดและรูปแบบต่างๆ

    Onemorenews ได้ชำแหละสัญญาที่สมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทย ได้ทำกับ ภาคเอกชน ซึ่งจะมีการสืบสาวราวเรื่องต่อไปในตอนที่ 3 ขอให้ท่านได้ติดตาม ณ.โอกาสต่อไป

    ที่มา http://www.1morenews.com/1183.html