สเปน ยุคทอง : การปฏิวัติเพื่อแชมป์ฟุตบอลโลกของคนตัวเล็กและ "Tiki-Taka"

สเปน ยุคทอง : การปฏิวัติเพื่อแชมป์ฟุตบอลโลกของคนตัวเล็กและ "Tiki-Taka"

สเปน ยุคทอง : การปฏิวัติเพื่อแชมป์ฟุตบอลโลกของคนตัวเล็กและ "Tiki-Taka"
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ตั้งแต่ก่อร่างสร้างฟุตบอล สเปน มักจะถูกเรียกว่าเป็นชาติที่สร้างนักเตะฝีเท้าดีเทคนิคสูงออกมาได้อยู่เสมอ แต่เมื่อถึงทัวร์นาเมนต์ระดับโลก พวกเขากลับถูกเรียกว่า "หมูสนามจริง สิงห์สนามซ้อม" อยู่เป็นประจำ เพราะมักจะตกรอบแบบไม่น่าตกและมีฟอร์มแย่แบบไม่น่าให้อภัยในหลาย ๆ ทัวร์นาเมนต์อยู่เสมอ   


แต่แล้วจุดเปลี่ยนของฟุตบอลสเปนก็มาถึง พวกเขาก้าวขึ้นมาอยู่บนจุดสูงสุดของโลกด้วยวิธีการที่น่าเหลือเชื่อ สดใหม่ และ ไร้เทียมทานมาก ๆ ณ สมัยนั้น พวกเขาเข้าสู่ฟุตบอลโลก 2010 ด้วยกลุ่มนักเตะตัวเล็กและสไตล์ที่เรียกว่า "Tiki-Taka"

จากหมูสู่ราชา จากปี 1998 ที่ตกรอบแรก สู่ทีมที่คว้าแชมป์โลกในปี 2010 แบบที่โลกต้องซูฮก เกิดขึ้นได้อย่างไร ? 

ติดตามได้ที่ Main Stand

World Cup 1998 และ 2010 ความเหมือนที่แตกต่าง 

ว่ากันว่าในโลกของฟุตบอลไม่มีแผนการเล่นหรือวิธีการเล่นใดที่การันตีความสำเร็จหรือเป็นแชมป์ได้ 100% ... แผนไหนที่คิดว่าดี แผนใดที่คิดว่าเจ๋ง วิธีการใดที่คิดว่าทรงประสิทธิภาพ สิ่งสำคัญมันไม่ได้อยู่ที่ตัวเลข 4-4-2, 4-3-3 หรือ 3-5-2 แต่มันขึ้นอยู่กับว่าแผนเหล่านั้นเหมาะกับนักเตะที่มีอยู่ในทีมหรือไม่ต่างหาก 

ทีมชาติสเปน เคยถูกขนานนามว่าหมูสนามจริงสิงห์สนามซ้อมมายาวนาน แม้ประวัติศาสตร์ฟุตบอลจะเต็มไปด้วยนักเตะเก่ง ๆ มากมาย แต่ก่อนที่พวกเขาจะเดินทางมาถึงยุคที่เรียกว่า "Golden Generation" หรือยุคทอง ซึ่งกินเวลายาวนานถึง 4 ปีเต็ม ๆ ที่สเปนเป็นทีมหมายเลข 1 ของโลกและถูกการันตีด้วยถ้วยแชมป์ พวกเขาก็เคยมีช่วงเวลาที่หาตัวเองไม่เจอและไม่เข้าใจเหมือนกันว่าทำไมพวกเขาที่มีทีมที่ยอดเยี่ยมแต่กลับไม่สามารถคว้าแชมป์ใด ๆ ได้เลย นอกจากแชมป์ยุโรปหนเดียวที่เกิดขึ้นในปี 1964 

ทุกคนต่างรู้พื้นฐานของฟุตบอลสเปน พวกเขาเต็มไปด้วยนักเตะที่มีทักษะยอดเยี่ยมรอบด้าน โดยเฉพาะทักษะที่เกี่ยวกับการครองบอลและเล่นเกมบุก ซึ่งเป็นการผสมผสานกันของหลายๆ อย่างทั้งการเล่นฟุตบอลกับเท้าที่แม่นยำ การขยับยามไม่มีบอล การเอาตัวรอดในสถานการณ์ 1-1 รวมถึงการหาจังหวะเข้าทำแม้จะโดนปิดพื้นที่จนไม่น่าเข้าไปได้

ทีมชาติสเปนนับตั้งแต่ยุค 1990s เป็นต้นมาก็สะท้อนพื้นฐานของพวกเขาออกมาในการแข่งขันเช่นกัน นักเตะอย่าง ราอูล กอนซาเลซ, กูตี, เฟร์นันโด เอียร์โร่ ตัวแทนจากฝั่ง เรอัล มาดริด และ หลุยส์ เอ็นริเก้, เป๊ป กวาร์ดิโอล่า จากฝั่ง บาร์เซโลน่า ต่างก็เป็นนักเตะที่ภาษาบ้าน ๆ เรียกกันว่า "บอลสมอง" ทั้งนั้น 

ทีนี้เราจะมาดูสิ่งที่คล้าย ๆ กันระหว่างสเปนยุคตกต่ำกับยุคทอง ... ภาพที่เปรียบเทียบได้ชัดที่สุดคือฟุตบอลโลกปี 1998 ซึ่งตกรอบแรก และฟุตบอลโลกปี 2010 ที่พวกเขาเป็นแชมป์ ก่อนจะเริ่มทั้งสองทัวร์นาเมนต์นั้นมีอะไรที่คล้าย ๆ กันบางอย่าง และหนึ่งในนั้นคือพวกเขาไปฟุตบอลโลกด้วยการที่สโมสรจากสเปนครองความยิ่งใหญ่ในยุโรปไม่แตกต่างกัน 

ในฤดูกาล 1996-97 ก่อนฟุตบอลโลก 1 ปี บาร์เซโลน่า คว้าแชมป์ คัพ วินเนอร์ส คัพ รายการที่เอาแชมป์ฟุตบอลถ้วยของลีกต่าง ๆ ในยุโรปมาแข่งขันกัน ด้วยการใช้นักเตะสเปนเป็นแกนหลังของทีมถึง 8 คนเป็นอย่างน้อย ขณะที่ เรอัล มาดริด ก็คว้าแชมป์ ยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ลีก ในฤดูกาล 1997-98 ด้วยการใช้นักเตะสเปนเป็นแกนหลักมากกว่าครึ่งทีม 

มันไม่ต่างกันกับฟุตบอลโลกปี 2010 เลยที่ก่อนฟุตบอลโลกจะเริ่มขึ้น บาร์เซโลน่า และ เรอัล มาดริด สมบูรณ์แบบถึงขั้นแย่งกันเป็นเบอร์ 1 ของโลก พวกเขาใช้นักเตะสเปนเป็นแกนหลักและสร้างความสำเร็จได้มากมาย

ทีมชาติสเปนทั้งสองชุด ทั้งฟุตบอลโลกปี 1998 และฟุตบอลโลกปี 2010 ใช้โมเดลในการเลือกนักเตะเข้าสู่ทีมคล้าย ๆ กัน นั่นคือการเลือกเอากระดูกสันหลังของ มาดริด และ บาร์เซโลน่า ติดทีมมาเป็นหลัก ในฟุตบอลโลก 1998 พวกเขาใช้นักเตะจากทั้งสองทีมไปแข่งขันในรอบสุดท้ายรวมทั้งหมด 13 คน ขณะที่ฟุตบอลโลกปี 2010 มีนักเตะของทั้งสองทีมในนามทีมชาติสเปนทั้งหมด 12 คน

ทั้ง ๆ ที่รากฐานจากฟุตบอลในประเทศที่ยอดเยี่ยม มี 2 สโมสรที่เป็นทีมแถวหน้าและประสบความสำเร็จในฟุตบอลยุโรปเหมือนกัน อีกทั้งยังใช้แกนหลักจาก 2 สโมสรที่กล่าวมาเป็นกระดูกสันหลังของทีมไม่แตกต่างกัน แต่ผลที่ออกมากลับตรงกันข้ามแบบสุดขั้วโลก 

นอกเหนือจากนั้นยังมีความเหมือนที่ชวนให้น่าสนใจ ... ทีมชุดปี 1998 เริ่มต้นเกมแรกของทัวร์นาเมนต์ด้วยการแพ้ ไนจีเรีย 2-3 ขณะที่ สเปน ชุดปี 2010 ก็เริ่มทัวร์นาเมนต์ด้วยการแพ้ให้กับ สวิตเซอร์แลนด์ 0-1 

ทว่าทีมทั้งสองชุดจบทัวร์นาเมนต์ด้วยความแตกต่างกันแบบสุดขั้ว ปี 1998 กระทิงดุตกรอบแรกแบบสุดช็อก ขณะที่ทีมชุด 2010 กลับลงเล่นด้วยฟอร์มที่ไร้เทียมทานหลังจากนั้นจนกระทั่งไปชนะในรอบชิงชนะเลิศเหนือ เนเธอร์แลนด์ 1-0 กลายเป็นแชมป์โลกสมัยแรกในประวัติศาสตร์ชาติสเปน ...12 ปีคล้อยหลัง จากทีมสุดล้มเหลว พวกเขาได้พบจุดเปลี่ยนอะไรกันแน่จึงจับถูกจุดจนได้ทีมชุดที่ดีที่สุดในประวัติศาสตร์ขนาดนี้ ?

พวกเราควรเล่นแบบไหน ? 

เหตุผลของความอ่อนแอในทัวร์นาเมนต์ใหญ่เกิดจากอะไรกันแน่ ? ... เรื่องนี้มีมุมมองจากคนในวงการฟุตบอลสเปนหลาย ๆ แบบ แต่ที่น่าสนใจคือหนึ่งในทีมชุดยุคทองอย่าง ดาบิด บีย่า ที่ยอมรับว่าตัวของเขาเป็นผู้เล่นที่คาบเกี่ยวระหว่างยุคทองกับยุคล้มเหลว  

บีย่า นั้นเล่นฟุตบอลอาชีพตั้งแต่ปี 2000 เป็นต้นมา ซึ่งเป็นช่วงที่สเปนล้มเหลวในยูโร 2000 และ 2004 รวมถึงฟุตบอลโลก 2002 และ 2006 ก่อนที่เขาจะมาถึงจุดสูงสุดของอาชีพด้วยการเข้ามาเป็นสมาชิกของ บาเลนเซีย ในปี 2005 และต่อยอดจนกลายเป็นกำลังสำคัญในทีมชาติสเปนชุดแชมป์ยุโรปปี 2008 และยาวมาจนถึงปี 2012 

เขาบอกว่าในยุคที่เขาเริ่มเป็นนักเตะอาชีพใหม่ ๆ ทีมชาติสเปนนั้นให้ความสำคัญกับเรื่องของกายภาพมากกว่า กล่าวคือจะสนใจกับเรื่องความแข็งแรงและความฟิตของร่างกาย เนื่องจากยังมีแนวคิดที่ว่าฟุตบอลโลกหรือฟุตบอลทัวร์นาเมนต์เป็นเกมที่เน้นผลมากกว่าวิธีการ ซึ่งนั่นอาจจะถูกสำหรับชาติอื่น ๆ แต่ไม่ใช่กับสเปน ... สเปนไม่ได้มีจุดแข็งที่เกมรับหรือการเล่นสวนกลับ แต่พวกเขามีจุดแข็งคือบอลคอนโทรลผ่านกลุ่มนักเตะที่มีความสามารถด้านเทคนิคเต็ม 100%

 

เมื่อพวกเขาไม่มั่นใจในแนวทางที่ตัวเองถนัด สิ่งที่ตามมาคือการเล่นแบบจะบุกก็ไม่สุดจะรับก็ไม่แน่น และทำให้สเปนตกม้าตายในทัวร์นาเมนต์ใหญ่ ๆ เป็นประจำ

"ทีมชุดแชมป์โลกปี 2010 คือทีมที่เราสร้างสไตล์ที่แตกต่างออกไปอย่างชัดเจน" บีย่า ที่ยิง 5 ลูกในฟุตบอลโลกครั้งนั้น กล่าว

"ก่อนหน้านี้ผมเห็นทีมชาติสเปนให้ความสำคัญกับเรื่องทางกายภาพของนักเตะมากเกินไป เราพยายามยืดหยุ่นแต่สุดท้ายเราก็ไม่เคยคว้าแชมป์ใดได้เลย ... ทีมของเรา (หมายถึงทีมยุคทอง) เลือกที่จะเปลี่ยนประวัติศาสตร์ชาติ เราไม่สนกายภาพเพราะมีสิ่งที่ดีที่สุดในโลกนั่นคือคุณภาพการเล่นและสไตล์ ซึ่งท้ายที่สุดแล้วฟุตบอลคือเรื่องของความเข้าใจ จะตัวเล็กตัวใหญ่คุณก็สามารถเอาชนะและเป็นแชมเปี้ยนได้เหมือนกัน" บีย่า กล่าว

เรื่องนี้สอดคล้องกับที่กุนซือชุดฟุตบอลโลกปี 1998 อย่าง ฮาเวียร์ เคลเมนเต้ ให้สัมภาษณ์หลังสเปนตกรอบแบ่งกลุ่มว่า ทีมของเขาเสียขวัญอย่างมากจากการออกสตาร์ทด้วยการแพ้ไนจีเรีย ซึ่งจุดนี้มันนำมาซึ่งความไม่แน่ใจในแนวทางของตัวเอง สเปนไม่ได้ประมาทก่อนแข่ง แต่พวกเขาประหม่าที่ต้องเจอกับไนจีเรียยุคทอง นำทัพโดย เจย์ เจย์ โอโคชา, เอ็นวานโก้ คานู และเหล่านักเตะจากชุดแชมป์โอลิมปิก แอตแลนต้า 1996 อีกหลายคน 

เกมนั้น สเปน เริ่มต้นด้วยการครองบอลเล่นแบบทีมที่เหนือกว่าตามหน้าเสื่อ พวกเขาได้ประตูนำไนจีเรีย 2-1 และเริ่มที่จะเปลี่ยนมาตั้งรับเพื่อรักษาสกอร์ ผลสุดท้ายการทำในสิ่งที่ไม่ถนัดทำให้สเปนพลาดเสีย 2 ประตูให้กับไนจีเรีย และพวกเขาก็พลิกกลับมาแพ้ 2-3 โดยประตูทั้ง 3 ของไนจีเรียมาจากการสวนกลับ การทุ่มไกล และลูกเตะมุม ... มันคือการเอาชนะผ่านแทคติกภายในโอกาสไม่กี่ครั้ง 

สิ่งที่เกิดขึ้นกับทีมชุดปี 1998 คือสิ่งที่ทีมชุดปี 2010 ไม่ทำ สเปนกลายเป็นทีมที่เชื่อมั่นในการครองบอล ไม่ว่าจะบอลจะตามหลังหรือขึ้นนำไม่สำคัญ พวกเขาจะเป็นฝ่ายควบคุมเกมและเคลื่อนบอลไปทั่วทั้งสนาม พวกเขาจะหาจังหวะเข้าทำแบบทีเผลอที่มีรูปแบบที่เรียกกันว่า Tiki-Taka ซึ่งเป็นแผนการเล่นที่มีอายุเพียง 2 ปีอย่างเป็นทางการ แต่กลับตอบโจทย์อย่างที่สุดสำหรับนักเตะสเปน เพราะมันมีจุดเริ่มต้นมาจาก DNA ของพวกเขาอย่างแท้จริง

Tiki-Taka สไตล์ที่ใช่ในเวลาที่เพอร์เฟ็กต์ 

Tiki-Taka คือแทคติกหรือวิธีการเล่นที่ถูกสร้างขึ้นและเป็นเครื่องหมายการค้าของ เป๊ป กวาร์ดิโอลา กุนซือของบาร์เซโลน่า ที่เข้ามาคุมทีมในปี 2008 วิธีดังกล่าวถูกต่อยอดมาจากศูนย์ฝึกเยาวชน ลา มาเซีย อันเลื่องชื่อของบาร์เซโลน่า โดยปรัชญาของ Tiki-Taka คือ "กล้าทำ กล้าหาญ สวยงาม สร้างสรรค์ และเฉียบขาด" โดยคำจำกัดความนี้เกิดขึ้นจากคำชมของ ฮอร์เก้ บัลดาโน่ ตำนานของ เรอัล มาดริด ที่ยอมชื่นชมคู่แข่งตลอดกาลของพวกเขา 

Tiki-Taka คือศาสตร์ที่เกิดมาเพื่อนักฟุตบอลสเปนโดยเฉพาะ โดย โยฮัน ครัฟฟ์ ตำนานของทีมบาร์เซโลน่า พูดถึงวิธีดังกล่าวที่ถูกผลักดันมาใช้ในศูนย์ฝึก ลา มาเซีย ว่า "ผมคิดว่าวิธีการเล่นในแบบบาร์เซโลน่ามันต้องออกมาจากความสุขจากคนที่ชอบฟุตบอลอย่างแท้จริง สิ่งสำคัญที่สุดคือมาตรฐานทางเทคนิคที่ต้องมีสูงมาก แต่สิ่งเหล่านี้ทำให้เราฝึกเด็ก ๆ ได้ตั้งแต่อายุยังน้อยโดยไม่ต้องรอให้ร่างกายของพวกเขาแข็งแรงเป็นหนุ่มเลยด้วยซ้ำ"

"เราไม่เคยหาว่าใครสามารถวิ่ง 100 หลาได้ภายใน 9 นาทีเพราะมันไม่สำคัญ ทำไม่ได้ก็ไม่เห็นจะเป็นอะไร เด็กที่วิ่งไม่เร็วไม่แข็งแรงก็สามารถไปฝึกไปสร้างกันได้เมื่อพวกเขาโตขึ้น คุณไม่ต้องตัวใหญ่หรือแข็งแรง คุณแค่ต้องเป็นคนที่สามารถพัฒนาได้ และนั่นคือสิ่งที่ยอดเยี่ยมที่สุดเกี่ยวกับเกมฟุตบอล" ครัฟฟ์ กล่าว 

การฝึกแบบนั้นทำให้บาร์เซโลน่าได้พบ 3 กองกลางที่เป็นแกนของทีมชาติสเปนชุดแชมป์ฟุตบอลโลกปี 2010 ชาบี เอร์นานเดซ, อันเดรส อิเนียสต้า และ เซร์คิโอ บุสเก็ตส์ และเมื่อคุณมีฐานเป็น 3 กองกลางที่ดีที่สุดในโลกเรื่องการเล่นฟุตบอลกับเท้าและแทบจะไม่เสียบอลเลย คุณก็จะสามารถเติมคุณภาพส่วนอื่น ๆ ของทีมชุดนั้นได้ง่ายกว่าเดิม  

สเปนชุดฟุตบอลโลกปี 2010 ที่นำโดยกุนซือ บิเซนเต้ เดล บอสเก้ เลือกใช้วิธีการเล่น Tiki-Taka คล้าย ๆ กับที่บาร์เซโลน่าใช้ครองโลก โดยสเปนใช้นักเตะตัวเล็ก ๆ มากมาย นอกจาก ชาบี, อิเนียสต้า แล้วยังมี เฆซุส นาบาส, เชส ฟาเบรกาส, ฆวน มาต้า, ดาบิด ซิลบา, เปโดร โรดริเกซ และ ดาบิด บีย่า ซึ่งนักเตะเหล่านี้มีความสูงระดับ 170 กว่าเซนติเมตรกันแทบทั้งหมด เพียงแต่พวกเขาได้เจอกับแนวทางที่ชัดเจนแล้ว 

พวกเขาไม่เคยสนใจการเล่นแบบตั้งรับและสวนกลับอีกต่อไป เพราะการครองบอลคือทุกสิ่งตามสไตล์ Tiki-Taka ที่หัวใจสำคัญคือให้ทีมผูกขาดการครอบครองบอลโดยใช้เทคนิคที่เหนือกว่าและความคล่องตัวของแต่ละตำแหน่งเพื่อเอาชนะคู่ต่อสู้ ซึ่งนักเตะตัวเล็ก ๆ ตามตำรับตำราฟุตบอลสเปนนี่แหละตอบโจทย์ที่สุดแล้ว 

"พวกเราเดินทางมาถึงช่วงเวลาที่สมบูรณ์แบบที่สุด เรามีโค้ชที่สร้างทีมและเชื่อมั่นในสไตล์นั้น เรามีผู้เล่นในสไตล์นั้นมากมาย" บีย่า กล่าวกับ Sports Illustrated "สไตล์คือการมีลูกบอลอยู่กับเท้าเป็นส่วนใหญ่ เพื่อไม่ให้เสียบอลเราไม่ต้องรีบร้อนไปถึงเป้าหมาย เราพยายามสร้างบทละครโดยไม่รีบร้อน ไม่มีลูกยาว เก็บบอลทุกครั้ง ส่งบอลระหว่างมิดฟิลด์จนกว่าคุณจะสบโอกาสที่จะเข้าไปทำประตู"

แม้ เป๊ป กวาร์ดิโอล่า และ บาร์เซโลน่า จะเป็นต้นกำเนิดของ Tiki-Taka แต่ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าคนที่กล้าหาญพอที่จะนำมันมาปรับใช้กับทีมชาติสเปนอย่าง บิเซนเต้ เดล บอสเก้ ก็ควรได้รับคำชมไม่ต่างกัน 

เขาอ่านสถานการณ์และคุณภาพนักเตะของเขาได้อย่างเด็ดขาด โดยก่อนที่ฟุตบอลโลกจะเริ่มมีสื่อถามเขาว่าทำไมถึงเลือก บุสเก็ตส์ มาแทน มาร์กอส เซนน่า ตัวรับของทีมชุดแชมป์ยูโร 2008 ซึ่ง เดล บอสเก้ ก็ตอบกลับอย่างง่าย ๆ ว่า "เพราะ บุสเก็สต์ ดีกว่า" และเขาก็แสดงมันออกมาในสนามจริง ๆ 

"การเลือกนักเตะจากชุดแชมป์ยูโร 2008 (หลุยส์ อราโกเนส คุมทีม) เป็นเรื่องยากมาก ๆ เลย เรามีนักเตะที่ยอดเยี่ยมอย่าง มาร์กอส เซนน่า ในแดนกลางและผมรู้ว่าเขาเก่งขนาดไหน แต่ผมก็มีเหตุผลที่ต้องทำ บุสเก็ตส์ จะเป็นสิ่งใหม่ที่นำมาซึ่งสิ่งที่ใหญ่กว่า และเราก็ตัดสินแล้วว่า บุสเก็ตส์ เป็นนักเตะทีดีกว่าจริง ๆ" เดล บอสเก้ เผยก่อนทัวร์นาเมนต์จะเริ่ม

เดล บอสเก้ เปลี่ยนแปลงทีมและเพิ่มวิธีการบางอย่างจากทีมชุดแชมป์ยูโร 2008 ลงไป แม้จะมี Tiki-Taka เป็นวิธีการหลัก แต่ในเรื่องการจัดตัว เขามีตัวเลือกให้ใช้มากมาย บางเกมเขาใส่กองกลางลงพร้อมกัน 5 ตัวโดยไม่มีปีกธรรมชาติแม้แต่คนเดียว, บางเกมยัด 2 กองหน้าอย่าง เฟร์นานโด ตอร์เรส และ บีย่า ลงพร้อมกัน ขณะที่บางเกมไม่ใช้กองหน้าตัวเป้าเลยแม้แต่คนเดียว โดยขยับเอา เชส ฟาเบรกาส มาเป็นกองหน้าที่เรียกกันว่า "ฟอลส์ ไนน์"  

ไม่ต่างกันกับแดนกลางและแนวรับที่ใช้นักเตะแต่ละคนในรูปแบบที่แตกต่างกันไป บางเกมใช้ตัวรับเยอะ บางเกมเอาปีกมาเล่นเป็นแบ็ก บางครั้งก็เล่นระบบ 3 เซ็นเตอร์ฮาล์ฟ ... สิ่งเหล่านี้สะท้อนให้เห็นว่าตัวเลขหรือระบบการเล่นนั้นสามารถหมุนเวียนได้ตามความเหมาะสม แต่สิ่งหนึ่งที่สเปนไม่เปลี่ยนคือเรื่องของ "วิธีการ" พวกเขามาแบบตั้งใจที่จะครองบอล และพวกเขาก็ใช้วิธีนั้นจนไปถึงรอบชิงชนะเลิศ แม้จะต้องผ่านบททดสอบมาบ้างไม่น้อย 

ในเกมนัดแรกของทัวร์นาเมนต์ สเปน ชุด 2010 แพ้ให้กับ สวิตเซอร์แลนด์ 0-1 ตอนนั้นก็เกิดการวิพากษ์วิจารณ์จากแฟน ๆ และสื่อเหมือนกัน โดย บิเซนเต้ ลิซาราซู กองหลังทีมชาติฝรั่งเศสชุดแชมป์โลกปี 1998 ที่รับบทบาทเป็นนักวิจารณ์ในฟุตบอลโลกปี 2010 ถึงกับหลุดคำว่า "น่าเบื่อ" ออกมา เพราะสเปนต่อบอลกันไปมาตลอดทั้งเกมโดยที่ยิงประตูไม่ได้แม้แต่ลูกเดียว

"พูดตรง ๆ นะฟุตบอลของสเปนเหมือนความรักของหนุ่มสาวปั๊ปปี้เลิฟ นั่นคือมีแต่ความรักแต่ไม่มีเซ็กส์ ... มันไม่ใช่เรื่องไม่ดีหรอกนะ ทว่าถ้าเปรียบฟุตบอลกับความรักมันก็ควรจะต้องมีช่วงเวลาที่เผ็ดร้อนกันบ้าง" ลิซาราซู กล่าว 

พวกเขาเริ่มต้นทัวร์นาเมนต์เหมือนกับทีมชุดปี 1998 เป๊ะ แต่สิ่งที่สเปนชุด 2010 เป็นคือพวกเขาเชื่อมั่นในแนวทาง ไม่มีการเปลี่ยนแผนการที่ซ้อมกันมา บิเซนเต้ เดล บอสเก้ บอกว่าลูกทีมเขาไม่ได้เสียขวัญ และการพ่ายแพ้ในเกมนั้นก็ไม่ใช่ลางบอกเหตุ แต่มันคือการได้เห็นปัญหาที่พวกเขาต้องแก้ไขมากกว่า 

"ไม่ใช่เรื่องลางบอกเหตุและไม่ใช่สัญญาณที่ดีที่เราแสดงให้ทีมอื่น ๆ เห็น ... แต่นี่แหละฟุตบอล เราต้องเดินหน้าในเกมถัดไปพยายามเอาชนะและเชื่อมั่นในสปิริตที่ทีม ๆ นี้มี นั่นแหละคือการทำนายอนาคตของเรา ในโลกฟุตบอลคุณมีเรื่องให้ต้องทำและแก้ไขตลอด และคุณต้องแก้ไขมันให้ทันเวลาด้วย"

"เราจะไม่โทษว่าเราแค่โชคร้ายที่แพ้ในเกมนี้ เราจะไตร่ตรองมันให้มากขึ้น และความจริงหลังจากนี้คือเรายังคงมีโอกาสที่จะแก้ไขให้มันถูกต้อง"

ขณะที่ ดาบิด บีย่า ก็พูดถึงเกมนั้นว่า "การเอาชนะในเกมฟุตบอลมันไม่ใช่เรื่องง่าย ๆ เราแพ้ให้สวิตเซอร์แลนด์ เรารีบกลับไปแก้ไขจุดบอด แต่เราไม่เคยคิดเปลี่ยนแปลงเรื่องสไตล์และวิธีการ ที่แอฟริกาใต้ปีนั้นเราไม่สนใจสิ่งที่หลายคนวิจารณ์เราหลังจากเกมเปิดสนาม ทุกคนในทีมรู้ว่าเราอยู่บนเส้นทางที่ถูกต้อง เราดีกว่าสวิตเซอร์แลนด์ในแง่ของคุณภาพเกม เราสร้างโอกาสมากถึง 35 ครั้ง นั่นหมายความว่าเราจะเล่นด้วยวิธีแบบนี้ต่อไป พวกเราเชื่อมั่นในสไตล์ของตัวเองอย่างที่สุด" บีย่า กล่าว 

สิ่งที่ เดล บอสเก้ กับ บีย่า บอกแสดงถึงการเปลี่ยนแปลงจากทีมชุดฟุตบอลโลกปี 1998 และทีมฟุตบอลโลกชุดปี 2010 สเปนหาตัวเองเจอด้วยการต่อยอดจาก Tiki-Taka ฟุตบอลที่เหมาะกับนักเตะของพวกเขาที่สุด "ณ เวลานั้น" พวกเขาเชื่อมั่น ไม่โลเล ทั้งในการซ้อม การอุ่นเครื่อง และเมื่อทัวร์นาเมนต์จริงมาถึง ต่อให้แพ้พวกเขาก็ยังเชื่อมั่นในวิธีการของการผ่านบอลและการเคลื่อนที่ด้วยหมากตัวเล็ก ๆ ที่อยู่ทั่วสนาม 

เราคงไม่ต้องบอกว่าสเปนยุคทองนั้นเก่งขนาดไหน พวกเขาทำในสิ่งที่ตัวเองเชื่อมั่นได้จริง ๆ มีการครองบอลเหนือกว่าทุกทีมที่ลงแข่งขัน การปิดเกมเมื่อทีมได้ประตูขึ้นนำก็ไม่จำเป็นต้องลงไปตั้งรับในแดนเหมือนกับทีมอื่น ๆ  โดยประสิทธิภาพที่แท้จริงของสเปนเกิดขึ้นในรอบน็อกเอาต์ที่ชนะคู่แข่งแบบไม่เสียประตูเลยสักลูกตั้งแต่รอบ 16 ทีมจนไปถึงรอบชิงชนะเลิศที่เอาชนะ เนเธอร์แลนด์ 1-0 

นี่คือช่วงเวลาที่เพอร์เฟ็กต์ที่สุดของฟุตบอลสเปนอย่างแท้จริง การมีนักเตะที่ตอบโจทย์กับแทคติกและวิธีการเล่นที่หลายทีม ณ ตอนนั้นยังจับทางไม่ได้แก้ลำไม่เป็น และที่สุดคือการยึดมั่นในวิธีการเล่นที่เป็นจุดแข็งของตัวเอง 

สุดท้ายแชมป์ฟุตบอลโลก 2010 ก็ตกเป็นของ สเปน โดยสมบูรณ์แบบ และนี่คือทีมที่โลกจะกล่าวถึงไปตลอดกาลทีมหนึ่งอย่างแน่นอน 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook