เล่นด้วยใจแต่ไร้เงิน : คุยกับพ่อผู้จัดการทีมฟุตซอลออสเตรเลีย เบื้องหลังขาลง ฟุตซอลรูส์

เล่นด้วยใจแต่ไร้เงิน : คุยกับพ่อผู้จัดการทีมฟุตซอลออสเตรเลีย เบื้องหลังขาลง ฟุตซอลรูส์

เล่นด้วยใจแต่ไร้เงิน : คุยกับพ่อผู้จัดการทีมฟุตซอลออสเตรเลีย เบื้องหลังขาลง ฟุตซอลรูส์
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

จบลงไปเป็นที่เรียบร้อยแล้วกับการแข่งขันฟุตซอลชิงแชมป์แห่งชาติอาเซียน 2022 ด้วยชัยชนะของทีมชาติไทยเหนืออินโดนีเซียไปอย่างสุดมัน ชนิดที่ต้องลุ้นไล่ตีเสมอกันจนถึงนาทีสุดท้ายของการแข่งขันปกติ ก่อนจะแซงชนะการดวลจุดโทษไปได้ในที่สุด

แต่หนึ่งในแมตช์การแข่งขันที่ผู้เขียนมีความสนใจนั้นเกิดขึ้นก่อนหน้านัดชิงชนะเลิศเกือบ 1 อาทิตย์ด้วยกัน โดยเป็นการโคจรมาพบกับของสองทีมจากฟากตะวันออกของภูมิภาคอย่าง ติมอร์-เลสเต และ ออสเตรเลีย ในเกมประเดิมสนามรอบแบ่งกลุ่มของทั้งคู่

หากมองจากชื่อชั้นคุณอาจคิดว่า ออสเตรเลีย ต้องกินขาดคู่แข่งอย่างแน่นอน แต่กลายเป็น ติมอร์-เลสเต ที่เปิดเกมได้ดีกว่า และยังสามารถเป็นฝ่ายพลิกขึ้นนำทีมจากทวีปโอเชียเนียได้อีกด้วย ก่อนที่ทัพออสซี่จะเริ่มกลับเข้าสู่เกม จนพลิกสถานการณ์กลับมาเป็นฝ่ายชนะไป 7-4 ในท้ายที่สุด

แต่นั่นก็ไม่เพียงพอต่อการเข้ารอบ พวกเขากอดคอตกรอบแรกไปกับ ติมอร์-เลสเต ด้วยการแพ้รวดในอีกสองนัดที่เหลือ ซึ่งคำถามคือ เกิดอะไรขึ้นกับทีมฟุตซอลของ ออสเตรเลีย กันแน่ ?

ทีมฟุตบอลในร่ม

“ผู้คนส่วนมากใน ออสเตรเลีย ไม่รู้ว่าฟุตซอลคืออะไร พวกเขายังเรียกมันว่าเป็นการแข่งฟุตบอลในร่มอยู่เลย” เป็นประโยคเริ่มบทสนทนากับผู้เขียน จากนักข่าวชาวออสซี่เพียงไม่กี่คนในสนามที่เราได้เจอกันระหว่างนั่งรอตรวจผล ATK โดยบังเอิญ

นักข่าวรายนี้เป็นชาวอังกฤษโดยกำเนิด ก่อนจะย้ายมาปักหลักอยู่อาศัยในประเทศออสเตรเลียจวบจนปัจจุบัน และแม้เจ้าตัวจะขอสงวนนามหรือการนำรูปมาเผยแพร่ต่อ แต่สิ่งหนึ่งที่ผู้เขียนสามารถบอกได้คือเจ้าตัวเป็นคุณพ่อของ ซามูเอล มิลนาร์ซ (Samuel Mlynarz) ผู้จัดการทีมชาติออสเตรเลีย ชุดที่เดินทางมาร่วมการแข่งขันในครั้งนี้

เมื่อทราบเช่นนั้นแล้วผู้เขียนจึงได้มีโอกาสพูดคุยกับนักข่าวอาวุโสท่านนี้ระหว่างกำลังชมเกมของ เมียนมา กับ เวียดนาม ซึ่งเป็นคู่ที่แข่งขันกันก่อนการลงสนามของทัพ “ฟุตซอลรูส์” พอดี

“ในออสเตรเลียเราแทบไม่มีนักเตะฟุตซอลอาชีพเลย หลายคนในทีมชุดนี้มีงานประจำของตัวเอง และพวกเขาต้องลางานเพื่อเดินทางมาที่ไทย 3 อาทิตย์โดยไม่ได้รับเงินเดือน”

“ผมไม่แน่ใจว่านักเตะแต่ละคนทำงานอะไรกันบ้าง แต่ลูกชายของผมนั้นทำงานเป็นครูสอนหนังสือ ซึ่งเขาเองก็ต้องลางานเพื่อบินมาคุมทีมเช่นกัน” และเมื่อผู้เขียนถามว่า แซม หรือ ซามูเอล นั้นสอนวิชาอะไร คำตอบที่ได้มาก็คือ “เขาไม่ได้สอนพละศึกษา แซม เป็นครูสอนคณิตศาสตร์ในโรงเรียนมัธยม ฟุตซอลเป็นแพชชั่นของเขามาตั้งแต่ตอนอายุแค่ 5 ขวบ ไม่ต่างไปจากนักเตะเหล่านี้เลย”

แม้นี่จะเป็นการคุมทีมรายการแรกของ แซม และอาจเป็นเพียงรายการเดียวของเจ้าตัวในฐานะรักษาการผู้จัดการทีมชาติด้วย แต่ประวัติของกุนซือหนุ่มรายนี้ถือว่าไม่ใช่ธรรมดาเลย เพราะเจ้าตัวผ่านประสบการณ์มาหมดแล้ว ไม่ว่าจะเป็นนักเตะ ผู้ตัดสิน และเป็นชาวออสเตรเลียเพียงไม่กี่คนที่สอบผ่านใบรับรองของ AFC Level 3 ซึ่งถือเป็นระดับสูงสุดสำหรับการเป็นโค้ชฟุตซอลในทวีปเอเชีย

เข้าใจได้ว่านี่คือช่วงของการผลัดใบสำหรับออสเตรเลีย จากทีมที่เคยเป็นขาประจำในการแข่งขันฟุตซอลโลก สู่การดันนักเตะรุ่นใหม่ ๆ ขึ้นมาแทน แต่ทำไมผลงานทีมฟุตซอลของพวกเขาถึงได้สวนทางกับฟุตบอลหรือกีฬาชนิดอื่นในประเทศได้ขนาดนี้กันล่ะ ?

ไม่มีเงิน ไม่มีทีมชาติ

ก่อนที่นักเตะ ฟุตซอลรูส์ จะก้าวเดินลงสนาม นักข่าวท่านนี้หันมาพูดกับผู้เขียนว่า “คุณรู้ไหม ออสเตรเลียไม่มีทีมชาติฟุตซอลแบบจริงจังมา 2 ปีครึ่งแล้ว”

ในอดีต ทีมชาติออสเตรเลีย ถือเป็นชาติขาประจำของฟุตซอลโลก พวกเขาผ่านเข้าไปแข่งรอบสุดท้ายได้เกือบทุกปี รวมถึงครั้งที่ ไทยเป็นเจ้าภาพด้วยเช่นกัน โดยมีแค่ปี 2008 เท่านั้นที่พวกเขาไม่สามารถทะลุผ่านรอบคัดเลือกได้

ทว่าจุดเปลี่ยนสำคัญมาเกิดขึ้นหลังจากจบฟุตซอลโลก 2016 ที่ โคลอมเบีย เมื่อสมาคมฟุตบอลออสเตรเลียตัดสินใจหั่นงบสนับสนุนลงสำหรับปี 2017/18 ด้วยการระบุเหตุผลว่าเป็น “มาตรการที่จำเป็นในระยะสั้น” จนต้องถอนทีมจากการคัดเลือกฟุตซอลชิงแชมป์เอเชีย ในปี 2018

 

นโยบายดังกล่าวทำให้สโมสรในฟุตซอลลีกของออสเตรเลียได้รับงบประมาณทำทีมน้อยลงไปด้วย สโมสรต่าง ๆ จึงค่อย ๆ ล้มหายไปทีละทีมจนต้องยุติลีกไปในที่สุด เมื่อไม่มีลีกแข่งขันศักยภาพของทีมชาติก็ลดลง ซึ่งพวกเขาไม่เคยผ่านการคัดเลือกไปฟุตซอลชิงแชมป์โลกได้อีกเลยหลังจากนั้น

สำหรับการตัดงบดังกล่าว สมาคมฟุตบอลออสเตรเลีย ระบุว่าพวกเขาต้องนำงบไปสนับสนุนฟุตบอลลีก “A-League” ของนักฟุตบอลอาชีพชาย และ “W-League” ของนักฟุตบอลอาชีพหญิง อันถือว่าเป็น “ปัจจัยสำคัญในการเพิ่มมูลค่าทางการตลาดของฟุตบอลออสเตรเลีย” ตามประกาศของสมาคม 

“ออสเตรเลียมีกีฬาที่หลากหลายมาก และล่าสุดทีมฟุตบอลหญิงกับทีมคริกเกตหญิงของเราก็กำลังทำผลงานได้ดี ซึ่งเป็นเรื่องที่ดีไม่น้อยเลย ข้อเสียก็คือทางสมาคมมีงบก้อนเท่าเดิมแต่ต้องกระจายแบ่งให้ทีมที่เพิ่มมากขึ้น แปลว่างบประมาณที่จะมาสนับสนุนฟุตซอลก็ยิ่งน้อยลงไปอีก”

เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นในสัปดาห์เดียวกันกับที่ฟอร์มูล่าวัน เดินทางกลับไปแข่งขันกันที่อัลเบิร์ต พาร์ค เป็นครั้งแรกในรอบสองปี พร้อมทำสถิติมีผู้เข้าชมรวมกันทั้ง 3 วันมากถึง 419,114 คน มากที่สุดในประวัติศาสตร์การแข่งขันกีฬาของประเทศออสเตรเลียเลยทีเดียว

 

ย้อนกลับไปที่อินดอร์ สเตเดียม หัวหมาก นักข่าวรายนี้พูดแบบติดตลกว่า “ผมไม่ได้แปลกใจที่คนดูเข้ามาในสนามน้อยแบบนี้นะ นักเตะของเราคุ้นชินกับการมีคนดูประมาณนี้อยู่แล้ว และนี่ให้ความรู้สึกเหมือนแข่งที่บ้านตัวเองเลย”

หากนับแค่คนดูที่เข้ามาสนับสนุนทัพฟุตซอลรูส์ในวันนั้นจริง ๆ ผู้เขียนเห็นอยู่แค่ 3-4 คนเท่านั้นเอง ซึ่งน้อยกว่ากองเชียร์จาก ติมอร์-เลสเต ที่ยกกลุ่มเข้ามารับชมเกมกันอย่างน้อยก็ 6-7 คนแล้ว

แต่ก็ยังมีมุมที่เราสามารถเข้าใจได้ ทั้งมาตรการ COVID-19 ที่ต้องมีการตรวจผลเป็นลบก่อนเดินทาง รวมถึงต้องมีการกักตัวเพื่อทำ Test and Go ในไทยอีกหนึ่งคืน ซึ่งเมื่อรวมกับค่าเดินทางที่ค่อนข้างสูงแล้ว คุณต้องมีใจรักและอยากสนับสนุนทีมจริง ๆ (และมีทุนทรัพย์พอสมควร) ถึงจะเดินทางข้ามน้ำข้ามทะเลมาชมเกมได้

แต่อีกนัยหนึ่งความสนใจในฟุตซอลที่ออสเตรเลียนั้นก็ไม่ได้มีมากมายนักเช่นกัน “เรามีลีกการแข่งขันของทีมท้องถิ่นอยู่ ซึ่งเป็นการรวมตัวกันของนักเตะสมัครเล่นเหล่านี้ในช่วงวันหยุดที่แต่ละทีมจะต้องลงขันเช่าสนาม จ่ายค่าเดินทาง และเตรียมอุปกรณ์ทั้งหมดด้วยตัวเอง”

“เราไม่มีสนามในร่มที่ใหญ่เท่าที่นี่ (หัวหมาก) และส่วนมากเราต้องไปเช่าสนามกีฬาในร่มของโรงเรียนมาใช้งาน ซึ่งมีรอยตีเส้นให้กับกีฬาทุกชนิดยกเว้นฟุตซอล!”

 


แต่ถ้านั่นยังเศร้าไม่พอ นักข่าวท่านนี้ยังเสริมข้อมูลต่ออีกด้วยว่า “ด้วยการลงทุนทุกอย่างไป คุณคิดว่าจะมีคนดูเข้ามากันกี่คน สิบคน ? และสโมสรต่าง ๆ ก็เริ่มแบกรับค่าใช้จ่ายไม่ไหวจนต้องยอมถอนทีมหรือเลิกลงแข่งไปในที่สุด”

“การจะคัดนักเตะทีมชาติก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะแต่ละรัฐก็มีสมาคมฟุตซอลท้องถิ่นอยู่ นักเตะบางคนก็ไม่สะดวกที่จะเดินทางข้ามรัฐเพื่อไปคัดตัว จนทำให้ทีมชุดนี้มีแค่นักเตะจากรัฐนิวเซาท์เวลส์และติ่งแถมจากเมืองหลวงมาคนเดียวเท่านั้น”

“บางทีคนดูก็มีความรู้สึกเหมือนกันว่านักเตะคนนี้ที่ไม่ได้มาจากรัฐของตนก็จะไม่ได้อยากเชียร์หรือมีความผูกพันมากนัก แต่เพราะเราไม่มีทั้งงบประมาณหรือเวลาเตรียมตัวที่มากพอ นี่จึงเป็นทีมชาติเท่าที่เราสามารถรวบรวมมาได้ในตอนนี้จริง ๆ”


ทีมชาติออสเตรเลียชุดนี้มีเวลาเตรียมตัวกันเพียงแค่ 3 อาทิตย์ก่อนการแข่งขันจริง เพราะในช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ ผู้จัดการทีมชาติยังต้องทวีตถามอยู่เลยว่ามีข่าวความคืบหน้าการจับสลากหรือไม่ก่อนจะได้เตรียมทีมและจัดหางบประมาณเพื่อเดินทางมายังกรุงเทพมหานคร

เล่นด้วยหัวใจเสมอมา

ด้วยสถานการณ์ในปัจจุบันการกลับไปฟุตซอลโลกคงเป็นเป้าหมายที่ดูไกลตัวสำหรับทัพฟุตซอลรูส์ชุดนี้ เพราะพวกเขาโดนทั้ง เมียนมา และ เวียดนาม เก็บชัยชนะไปได้อย่างไม่ยากเย็น และเกือบเพลี่ยงพล้ำให้กับ ติมอร์-เลสเต มาแล้ว 

แต่สิ่งหนึ่งที่ผู้เขียนสัมผัสได้คือความมุ่งมั่นของนักเตะทุกคนที่แม้จะมีเวลาเตรียมตัวอยู่น้อยนิดและอาจต้องยอมลางานมาแบบไม่ได้เงินเดือนอยู่หลายอาทิตย์ แต่ก็ยังทุ่มทุกอย่างที่มีให้กับการแข่งขันรายการนี้

“ในฟุตบอลการได้ติดทีมชาติอาจเป็นแค่องค์ประกอบหนึ่งของนักเตะอาชีพ แต่กับผู้เล่นเหล่านี้การได้เป็นตัวแทนทีมชาติและสวมใส่เสื้อเหล่านี้ลงสนามอาจเป็นความฝันอันสูงสุดของพวกเขาแล้วก็ได้”

“คุณลองนึกภาพนักบัญชีในงานประจำที่วันหนึ่งได้มาใส่เสื้อทีมชาติออสเตรเลียลงสนามดูสิ มันคงเป็นอะไรที่สุดยอดสำหรับพวกเขาเลยแหละ” ซึ่งก็เป็นเรื่องดีที่เราได้เห็นนักกีฬาสมัครเล่นผู้มีใจรักได้ลงมาวาดลวดลายตามแพชชั่นของตนเอง แต่ในอีกแง่มุมหนึ่งนั่นแปลว่าทัพฟุตซอลรูส์ยังขาดการสนับสนุนอยู่พอสมควร จนแม้แต่นักเตะระดับทีมชาติยังต้องอาศัยการทำงานเสริมด้วยเลยหรือ

หลังจากสัญญาณออดหมดเวลาดังขึ้นพร้อมกับสกอร์ที่จบลงด้วยชัยชนะ 7-4 ของนักเตะชาวออสซี่ นักข่าวท่านนี้ทิ้งท้ายกับผู้เขียนไว้ว่า “ผมยังหวังว่าฟุตซอลจะได้เป็นกีฬาโอลิมปิก เพราะอย่างน้อยนักเตะเหล่านี้จะได้มีเวทีให้แสดงผลงานตนเอง เพื่อเป็นการส่งสัญญาณให้กับทางสมาคมเพื่อเพิ่มความสำคัญกับพวกเขามากขึ้น”


แน่นอนว่าเมื่อการแข่งขันรายการนี้จบลง ออสเตรเลีย อาจได้ผู้จัดการทีมคนใหม่เข้ามาคุมทัพ หรือมีการสนับสนุนที่จริงจังขึ้นเพื่อเตรียมตัวลงแข่งรายการถัดไป หรือสถานการณ์ทั้งหมดอาจจะยังเป็นเหมือนเดิม ทุกสิ่งสามารถเกิดขึ้นได้หมดเลยในประเทศที่มีกีฬาโดดเด่นอยู่มากมายจนรายการฟุตซอลต้องหลบอยู่ในเงาของการแข่งขันอื่น ๆ และเป็นที่รู้จักกันในชื่อว่า “ฟุตบอลในร่ม” ต่อไปโดยปริยาย

แม้ความสนใจ ชื่อเสียง และเงินทองในฐานะนักฟุตซอลของทีมฟุตซอลออสเตรเลียจะไม่มีทางเทียบเท่ากับนักฟุตบอลร่วมชาติได้เลย แต่เราคงไม่อาจปฏิเสธการเล่นด้วยใจของนักเตะเหล่านี้ บนเวทีที่อาจเป็นขั้นสูงสุดในชีวิตการค้าแข้งของพวกเขา และมันยิ่งใหญ่เหลือเกิน… 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook