Blood in the Water : เมื่อความแค้นจากการรุกรานถูกสะสางในสระโปโลน้ำโอลิมปิก

Blood in the Water : เมื่อความแค้นจากการรุกรานถูกสะสางในสระโปโลน้ำโอลิมปิก

Blood in the Water : เมื่อความแค้นจากการรุกรานถูกสะสางในสระโปโลน้ำโอลิมปิก
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

หากจะกล่าวถึงการแข่งกีฬาที่มีเกียรติและอุดมไปด้วยน้ำใจนักกีฬามากที่สุด "โอลิมปิก เกมส์" ย่อมเป็นเวทีแห่งนั้น เพราะมหกรรมกีฬาที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของโลกรายการนี้ไม่เคยเน้นที่เรื่องชัยชนะในการแข่งขัน แต่เน้นหนักไปที่การสานสัมพันธ์ของทุกประเทศทั่วทุกมุมโลก

แต่ครั้งหนึ่ง สระว่ายน้ำในโอลิมปิก เกมส์ กลับเปื้อนไปด้วยเลือดของนักกีฬา เมื่อสองชาติที่กำลังมีปัญหากันมากที่สุดในปี 1956 "สหภาพโซเวียต-ฮังการี" โคจรมาพบกันในกีฬาโปโลน้ำที่ไม่มีคำว่ามิตรภาพอีกต่อไป

นี่คือเรื่องราวของ Blood in the Water หนึ่งในเหตุการณ์อื้อฉาวที่สุดของโอลิมปิก เกมส์ เมื่อชาติที่ถูกรุกรานกำลังเอาคืนมหาอำนาจแห่งโลกตะวันออก ผ่านเกมกีฬาในแบบที่โลกไม่เคยพบเห็นมาก่อน

ความบาดหมางที่ฝังรากลึก

ย้อนกลับไปยังปี 1956 โลกถูกปกคลุมด้วยความตึงเครียดภายใต้ช่วงเวลาของ "สงครามเย็น" การต่อสู้ทางอุดมการณ์และภูมิศาสตร์เพื่อช่วงชิงอิทธิพลระหว่างโลกเสรีนิยมของชาติตะวันตกและโลกคอมมิวนิสต์ของชาติตะวันออก โดยชาติที่เป็นมหาอำนาจของแต่ละฝ่าย ทั้ง สหรัฐอเมริกา และ สหภาพโซเวียต ต่างสร้างสงครามตัวแทนแข่งขันกันในทุกพื้นที่ แม้แต่ในวงการกีฬา ผ่านการช่วงชิงตำแหน่งเจ้าเหรียญทองในมหกรรมกีฬาโอลิมปิก

1แต่มหกรรมกีฬาโอลิมปิกไม่ได้เป็นเวทีแข่งขันระหว่างชาติเสรีนิยมกับชาติคอมมิวนิสต์เท่านั้น เพราะถ้าหากประเทศที่อยู่ในโลกฝั่งเดียวกัน เกิดความขัดแย้งและหํ้าหั่นกันเองบนสังเวียนการเมืองโลก ชาติเหล่านี้พร้อมจะนำสงครามตรงนั้นลงมาสู่สนามกีฬาเช่นเดียวกัน ซึ่งความขัดแย้งของชาติที่อยู่ในฝั่งเดียวกันในสงครามเย็นและมีความคุกรุ่นที่สุดในปี 1956 คือความขัดแย้งระหว่าง "สหภาพโซเวียต-ฮังการี"

แม้ สหภาพโซเวียต และ ฮังการี จะถือเป็นประเทศฝั่งโลกคอมมิวนิสต์มาตั้งแต่ปี 1945 แต่ความสัมพันธ์ของทั้งสองชาติกลับไม่เคยเป็นไปด้วยดี เนื่องจากสหภาพโซเวียตไม่ได้มีอำนาจเหนือฮังการีด้วยความสมัครใจของประชาชน แต่เป็นเพราะมหาอำนาจสีแดงเข้ามาฉวยโอกาสยึดครองประเทศแห่งนี้แทนที่นาซีเยอรมัน หลังความพ่ายแพ้ของฝ่ายอักษะในสงครามโลกครั้งที่สอง

สำหรับสายตาชาวโลก นี่คือการเปลี่ยนผ่านอำนาจในฮังการีจากฟาสซิสต์สู่คอมมิวนิสต์ แต่สำหรับชาวฮังการีมันเป็นแค่การเคยถูกปกครองโดยเผด็จการคนหนึ่งก่อนที่จะเปลี่ยนไปถูกปกครองภายใต้เผด็จการอีกคนหนึ่ง ซึ่งการเข้ามาของสหภาพโซเวียตนำไปสู่การปราบปรามผู้เห็นต่างทางการเมืองในฮังการี ตลอดทศวรรษ 1950s และการบริหารประเทศแบบลัทธิสตาลิน หรือ เผด็จการคอมมิวนิสต์ ยังนำมาสู่ปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำ ซึ่งสร้างความเดือดร้อนแก่ประชาชนฮังการีเป็นอย่างมาก

ชาวฮังการีอดทนต่อการถูกกดขี่โดยสหภาพโซเวียตจนถึงปี 1956 ก่อนจะเกิดการลุกฮือครั้งใหญ่ของนักศึกษามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีและเศรษฐศาสตร์บูดาเปสต์ ที่ตัดสินใจเดินขบวนประท้วงเพื่อเรียกร้องเสรีภาพจากสหภาพโซเวียต เมื่อวันที่ 23 ตุลาคม 1956 โดยมีการโค่นล้มรูปปั้นของ โจเซฟ สตาลิน ในกรุงบูดาเปสต์ และอ่านแถลงการณ์เพื่อปลุกระดมมวลชนผ่านวิทยุกระจายเสียง

2ตำรวจลับและทหารฮังการีเข้าปราบปรามผู้ชุมนุมราว 2 แสนคนด้วยความรุนแรง จนนักศึกษาคนหนึ่งถูกยิงเสียชีวิต นี่คือเหตุการณ์ที่ทำให้การจลาจลขยายวงกว้างไปทั่วประเทศ และนำมาสู่การปฏิวัติฮังการี 1956 (Hungarian Revolution of 1956) อันเป็นการเคลื่อนไหวเพื่อล้มล้างอำนาจของสหภาพโซเวียตในฮังการี

วันที่ 28 ตุลาคม 1956 กำลังทหารสหภาพโซเวียตต้องล่าถอยออกจากฮังการี เนื่องจากถูกโจมตีอย่างหนักด้วยอาวุธปืน และระเบิดเพลิง ประชาชนชาวฮังการีจึงได้ปกครองตัวเองเป็นระยะเวลาหนึ่ง แต่ก็เป็นเพียงช่วงเวลาสั้นๆเท่านั้น เพราะในวันที่ 4 พฤศจิกายน 1956 สหภาพโซเวียตได้บุกโจมตีกรุงบูดาเปสต์แบบเต็มกำลัง ทั้งทางบกและทางอากาศ นำไปสู่การสังหารหมู่ประชาชนชาวฮังการี ราว 3,000 คน ซึ่งถือเป็นจุดสิ้นสุดของการปฏิวัติฮังการี 1956

3การสังหารหมู่ครั้งนั้นสร้างแรงสั่นสะเทือนทางอารมณ์ให้แก่ชาวฮังการีทั้งมวล ไม่เว้นแม้แต่ ทีมโปโลน้ำฮังการี ซึ่งเดินทางมายังนครเมลเบิร์น ประเทศออสเตรเลีย เพื่อเข้าร่วมมหกรรมกีฬาโอลิมปิก 1956 ที่จะเริ่มขึ้นในวันที่ 28 พฤศจิกายน จึงไม่มีโอกาสติดตามความเคลื่อนไหวของการปฏิวัติ แต่ทันทีที่พวกเขาทราบข่าวการเสียชีวิตของเพื่อนร่วมชาติ ความโกรธแค้นจึงพุ่งสูงในใจนักกีฬาเหล่านี้ และพร้อมจะระเบิดมันออกมาทันทีที่ได้เผชิญหน้ากับนักกีฬาโซเวียตในออสเตรเลีย

เกมนี้สู้เพื่อชาติ

ก่อนจะมีเหตุการณ์ปฏิวัติฮังการี ทีมโปโลน้ำฮังการี และ ทีมโปโลน้ำสหภาพโซเวียต ต่างมีความบาดหมางระหว่างกันมาตั้งแต่ต้น เนื่องจากทีมโปโลน้ำฮังการีประสบความสำเร็จมากในโอลิมปิก เกมส์ ในช่วงเวลานั้น ผ่านการคว้า 3 เหรียญทอง และ 1 เหรียญเงิน จากการแข่งขัน 4 ครั้งหลังสุด ส่วนสหภาพโซเวียตนอกจากจะไม่เคยคว้าเหรียญรางวัลได้แล้ว ยังถูกทิ้งห่างเป็นทีมอันดับ 7 ในการแข่งขันโอลิมปิก เกมส์ 1952 ซึ่งถือเป็นเรื่องน่าอับอาย

เพื่อพัฒนาผลงานของทีมโปโลน้ำให้ดีขึ้น สหภาพโซเวียตจึงใช้อำนาจทางการเมืองที่เหนือกว่าบีบบังคับให้ฮังการียอมมอบแผนการฝึกซ้อมและแผนการเล่นของทีมโปโลน้ำฮังการีมาให้กับโซเวียตแต่โดยดี ซึ่งการขโมยเคล็ดลับของคู่แข่งขันด้วยวิธีการสกปรกเช่นนี้ สร้างความไม่พอใจให้กับนักกีฬาชาวฮังการีเป็นอย่างมาก

4"ผมคิดในใจว่า -พระเจ้า เราจะไปสู้กับพวกเขาได้อย่างไร?- เพราะพวกเขาทำทุกอย่างที่พวกเราทำ และในวันถัดมาพวกเขาก็ยังทำทุกอย่างแบบที่พวกเราทำเหมือนเดิม พวกเขาเลียนแบบเรา" อิสต์วาน เฮเวสี (Istvan Hevesi) นักกีฬาทีมโปโลน้ำฮังการี กล่าว

เมื่อบวกกับข่าวการเสียชีวิตของประชาชนชาวฮังการีด้วยน้ำมือของทหารโซเวียต ความโกรธแค้นของนักกีฬาโปโลน้ำฮังการีจึงยิ่งพุ่งสูงขึ้น ซึ่งความรู้สึกของพวกเขาแย่กว่าบุคคลทั่วไปในฮังการีมาก เพราะการเดินทางจากฮังการีสู่ออสเตรเลียด้วยการโดยสารทางเรือนั้นใช้เวลาในการเดินทางเกือบหนึ่งเดือน กว่านักกีฬาเหล่านี้จะถึงที่หมายแล้วทราบข่าวการปฏิวัติทั้งหมด เวลาก็ล่วงเลยสู่วันที่ 20 พฤศจิกายน หรือ กว่าสองสัปดาห์หลังจากการกวาดล้างชาวฮังการีของสหภาพโซเวียต

นักโปโลน้ำชาวฮังการีจึงเห็นตรงกันว่า การแข่งขันครั้งนี้ในโอลิมปิก เกมส์ 1956 ไม่ใช่การลงเล่นเพื่อไล่ล่าเกียรติยศส่วนตัว แต่เป็นการแสดงถึงเกียรติยศและความภาคภูมิใจในประเทศของตน ซึ่งขุนพลโปโลน้ำฮังการีสามารถทำได้ตามความตั้งใจ จากการเอาชนะคู่ต่อสู้สามนัดรวด จนผ่านเข้าสู่รอบรองชนะเลิศไปพบกับสหภาพโซเวียตได้สำเร็จ

"เรารู้สึกเหมือนเรากำลังลงเล่นให้ประเทศฮังการี เพื่อนร่วมทีมของผมรู้สึกพร้อมมากกับการแข่งขันครั้งนี้ เพราะความเกลียดชังจากทุกอย่างที่พวกเขาทำกับประเทศของเราตั้งแต่ปี 1945 ทุกคนที่อยู่ในออสเตรเลียในวันนั้นลงสนามด้วยพลังที่เกรี้ยวกราดเหมือนคนบ้า" เออร์วิน ซาดอร์ (Ervin Zador) นักโปโลน้ำตัวเก่งของฮังการี กล่าว

เพื่อเอาคืนคู่แค้นอย่างสาสม นักกีฬาโปโลน้ำฮังการีต่างวางแผนร่วมกันว่า พวกเขาจะทำทุกอย่างเพื่อยั่วโมโหนักกีฬาสหภาพโซเวียต ซึ่งแผนการของฮังการีได้ผลเป็นอย่างดี เพราะทันทีที่เกมเริ่มต้นขึ้น ทั้งสองฝ่ายซัดกันอุตลุต แต่เป็นโซเวียตที่น็อตหลุดและทำผิดกติกาจนผู้เล่นถูกส่งไปเข้าห้องลงโทษก่อน (Penalty Box ห้องควบคุมผู้เล่นที่ทำผิดกติกาเป็นการชั่วคราว) แถมยังเสียจุดโทษ ส่งผลให้ฮังการีเป็นฝ่ายขึ้นนำ

5ผู้เล่นตัวแสบในเกมนี้ที่สามารถปั่นป่วนผู้เล่นของสหภาพโซเวียตอย่างอยู่หมัด คือ เออร์วิน ซาดอร์ ซึ่งเจ้าตัวไม่เพียงทำ 2 แต้มในเกมดังกล่าวให้ฮังการี แต่หลังจากทำประตูได้ เขายังตะโกนคำว่า "ฮังการี สู้" ซึ่งถือเป็นการเพิ่มอุณหภูมิที่เดือดอยู่แล้วให้เดือดยิ่งขึ้นไปอีก

"พวกเราตะโกนด่าพวกเขา ด่าว่าพวกเขาเป็นไอ้ชาติชั่วที่เข้ามาระเบิดประเทศของเรา ส่วนพวกเขาก็เรียกเราว่าคนทรยศ มันมีการต่อสู้มากมายเกิดขึ้นเหนือน้ำและใต้น้ำ" เออร์วิน ซาดอร์ เล่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริงเมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 1956

เมื่อเหลือเวลาอีกเพียงสองนาทีในการแข่งขัน ฮังการี เป็นฝ่ายขึ้นนำ สหภาพโซเวียต 4-0 ซึ่งในขณะนั้นนักกีฬาทั้งสองฝ่ายต่างสภาพย่ำแย่ราวกับผ่านสงครามที่ไหนมา โดย ปีเตอร์ แมสเวเนียราดเซ (Petre Mshvenieradze) กัปตันทีมโซเวียตถูกชนจนจมูกหักตั้งแต่ต้นเกม ส่วน เออร์วิน ซาดอร์ เพิ่งถูกผู้เล่นโซเวียต วาเลนติน โปรโคปอฟ (Valentin Prokopov) ซัดเข้าไปเต็มกกหู

แต่ความเดือดทั้งหมดที่เล่ามายังไม่เท่ากับเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นต่อไป ซึ่งนำมาสู่การกล่าวขานถึงการแข่งขันครั้งนี้ในนาม Blood in the Water เมื่อเลือดสีแดงของนักกีฬาไหลลงสู่สระน้ำแห่งมหกรรมโอลิมปิก เนื่องจากความเกลียดชังส่วนตัวของทั้งสองชาติ ที่แม้แต่เกียรติยศเรื่องน้ำใจนักกีฬาก็ไม่มีความหมายอีกแล้วในวินาทีนั้น

เมื่อเลือดไหลลงสระน้ำ

แม้จะถูกซัดจนหูแทบพัง แต่ เออร์วิน ซาดอร์ ได้รับหน้าที่ในช่วงท้ายเกมให้ตามประกบ วาเลนติน โปรโคปอฟ ไม่ให้ทำแต้มได้ และเนื่องจากความแค้นที่เพิ่งถูกอัดมาก่อนหน้านี้ ซาดอร์ จึงเข้าไปยั่วโมโหคู่แข่งของเขาอย่างเต็มที่ โดยไม่รู้เลยว่าภัยที่ร้ายกาจกำลังจะเข้ามาถึงตัว

6"ผมด่าว่า เขาเป็นไอ้ขี้แพ้ และแม่ของเขาก็เป็นไอ้ขี้แพ้ ผมด่าเขาแทบทุกอย่างที่นึกออก ก่อนจะบอกเขาว่าเมื่อเกมนี้จบลง เขาก็จะเป็นแค่ไอ้ขี้แพ้ที่มานั่งเสียใจ และมันก็จะจบลงแบบนั้น" ซาดอร์ กล่าวถึงการกระทำที่จะนำไปสู่เหตุการณ์ช็อกโลก

อีกไม่กี่อึดใจถัดมา เสียงนกหวีดยาวดังขึ้นในสนาม ซาดอร์ที่หันหลังให้กับผู้ตัดสินนึกว่าทีมได้จุดโทษอีกครั้ง และกำลังจะหันกลับไปดูเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น แต่ภาพที่เขาเห็นเมื่อหมุนตัวกลับไป กลายเป็น โปรโคปอฟ ที่พุ่งเข้ามาด้วยความโกรธสุดขีด และออกหมัดเข้าไปเต็มหน้าของซาดอร์ ซึ่งเป็นการซัดหน้าคู่ต่อสู้ในแบบที่กีฬาโปโลน้ำไม่เคยมีให้เห็นมาก่อน

"ผมได้ยินเสียงนกหวีด ผมจึงมองไปที่ผู้ตัดสินแล้วถามไปว่า เขาจะเป่านกหวีดทำไมฦ และในวินาทีนั้น ผมถึงรู้ว่าผมทำผิดพลาดมหันต์ เพราะผมหันหลังมาเจอท่อนแขนขนาดใหญ่ เขาซัดเข้ามาเต็มหน้าผมด้วยหมัดที่จะเอาผมร่วงให้ได้" ซาดอร์ บอกเล่าถึงหมัดที่ได้รับจากนักกีฬาโซเวียต

"ผมเห็นดาวประมาณ 4,000 ดวง และผมก็จับไปที่ใบหน้า สัมผัสได้ถึงเลือดที่กำลังไหลออกมา ผมพูดกับตัวเองทันทีว่า พระเจ้า ผมคงไม่ได้เล่นเกมหน้าแล้ว"

7ซาดอร์พยายามพาตัวเองขึ้นจากสระน้ำ ขณะที่เลือดกำลังไหลออกจากบริเวณใต้ตาขวาของเขา ความวุ่นวายเกิดขึ้นทันทีในวินาทีนั้น เพราะเจ้าหน้าที่และแฟน ๆ ของทีมฮังการีต่างประท้วงการกระทำของนักกีฬาโซเวียตจนแทบจะเกิดจลาจล 

เนื่องจากแฟนบางส่วนกระโดดลงมาจากที่นั่ง เพื่อมายืนด่าผู้เล่นโซเวียตริมสระน้ำ บางคนอยากจะกระโดดลงไปซัดกับนักกีฬาโซเวียตในน้ำด้วยซ้ำ ความวุ่นวายครั้งนี้เดือดร้อนถึงขั้นตำรวจต้องเข้ามาควบคุมสถานการณ์ และแยกนักกีฬาออกจากผู้ชม

การแข่งขันยุติลงทันที แม้จะเหลือเวลาการแข่งขันอีก 90 วินาที และฮังการีถูกประกาศว่าเป็นผู้ชนะเกมด้วยสกอร์ 4-0 ภาพของซาดอร์ที่ยืนอยู่ริมสระด้วยเลือดที่ไหลผ่านใบหน้า กลายเป็นภาพที่โด่งดังไปทั่วโลก เช่นเดียวกับข่าวคราวการแข่งขันโปโลน้ำเกมนี้ที่ถูกขนานนามว่า "Blood in the Water" เกมกีฬาที่เลือดสีแดงไหลลงสู่พื้นน้ำ

ท้ายที่สุดแล้ว ขุนพลโปโลน้ำฮังการีก็ก้าวไปคว้าเหรียญทองของการแข่งขัน ด้วยชัยชนะเหนือยูโกสลาเวีย 2-1 แม้จะไม่มีซาดอร์ลงเล่นในเกมชิงชนะเลิศ (ส่วนสหภาพโซเวียตคว้าเหรียญทองแดง)

8แต่ถึงแม้จะได้เอาคืนสหภาพโซเวียตในสนามโปโลน้ำ ความเจ็บปวดที่ชาติถูกย่ำยีและความจริงที่ประเทศยังคงอยู่ภายใต้อำนาจของสหภาพโซเวียตก็ไม่สามารถทำให้นักกีฬาฮังการีหันหลังกลับสู่บ้านเกิดได้อีกต่อไป นักกีฬาบางคนของทีมโปโลน้ำ เช่น ซาดอร์ คือหนึ่งใน 46 นักกีฬาฮังการีที่รับสิทธิลี้ภัยไปอาศัยในประเทศสหรัฐอเมริกา โดย ซาดอร์ ประกอบอาชีพเป็นโค้ชสอนว่ายน้ำอยู่ที่รัฐแคลิฟอร์เนียหลังจากนั้น

นี่คือเรื่องราวของ Blood in the Water เหตุการณ์ประวัติศาสตร์ของโอลิมปิก เกมส์ ที่ไม่ใช่แค่การทะเลาะกันของนักกีฬาสองชาติ แต่เป็นภาพสะท้อนความแค้น การถูกกดขี่ และการถูกปิดกั้นสิทธิเสรีภาพของชาวฮังการีโดยสหภาพโซเวียต ก่อนที่พวกเขาจะปลดปล่อยตัวเองได้สำเร็จในปี 1989 และได้กลายเป็นสาธารณรัฐประชาธิปไตยมาจนถึงปัจจุบัน

อัลบั้มภาพ 8 ภาพ

อัลบั้มภาพ 8 ภาพ ของ Blood in the Water : เมื่อความแค้นจากการรุกรานถูกสะสางในสระโปโลน้ำโอลิมปิก

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook