"ศิริศักดิ์ ยอดญาติไทย" โค้ชและครูของนักฟุตบอล

"ศิริศักดิ์ ยอดญาติไทย" โค้ชและครูของนักฟุตบอล

"ศิริศักดิ์ ยอดญาติไทย" โค้ชและครูของนักฟุตบอล
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ผู้เล่นแบ็กซ้ายทีมการท่าเรือชุดปัจจุบันอย่าง “แม็ก” จตุรพัช สัทธรรม ยังคงจำได้ดีถึงเหตุการณ์ในวันที่เขาได้พบกับ “โค้ชโต่ย” ศิริศักดิ์ ยอดญาติไทย เป็นครั้งแรก

วันนั้นเด็กชายวัย 12 ปีถูกเพื่อนรุ่นพี่ที่ จ. ระยอง ชักชวนให้เดินทางเข้ากรุงเทพฯ ไปทดสอบฝีเท้าเพื่อเข้าโรงเรียนประเทืองทิพย์วิทยา ตอนแรกจตุรพัชไม่ตั้งใจจะคัดตัวด้วย คิดแค่มากับเพื่อนเท่านั้น แต่เป็นโค้ชโต่ยที่เห็นแววของเขาขณะเตะบอลเล่นในสนามหญ้า เลยบอกให้ลงไปคัดตัว

จากนั้นตกลงรับจตุรพัชเข้ามาอยู่ในแคมป์ฝึกหัดนักเตะเยาวชนที่ตนดูแล นับเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญในชีวิตจตุรพัท ทำให้เขาได้เข้ามาเรียนหนังสือในกรุงเทพฯ ผ่านการขัดเกลาฝีเท้าโดยโค้ชโต่ย กระทั่งกลายเป็นนักฟุตบอลอาชีพที่มีดีกรีทีมชาติอย่างทุกวันนี้

แฟนบอลไทยอาจรู้จักชื่อเสียงโค้ชโต่ยจากการเป็นเฮดโค้ชทีมชาติไทย ซึ่งเข้ารับงานแทนที่ มิโลวาน ราเยวัช ที่ถูกปลดออกไป แล้วทำผลงานยอดเยี่ยม สามารถพาทีมชาติไทยเข้าสู่รอบ 16 ทีมสุดท้ายเอเชียนคัพได้ในรอบ 47 ปี รวมถึงการเป็นผู้จัดการทีมฟุตบอลอย่างสโมสรไทยฮอนด้า ลาดกระบัง เอฟซี แต่หลายคนอาจไม่รู้ว่า ที่ผ่านมาโค้ชโต่ยยังทุ่มเทให้กับการฝึกสอนและทำทีมฟุตบอลเยาวชน สวมบทบาทเป็นทั้ง “ครูและโค้ช” ขัดเกลาและปลุกปั้นเด็กๆ ให้กลายเป็นนักฟุตบอลอาชีพมานักต่อนัก

 “ผมเป็นเด็กต่างจังหวัด (มหาสารคาม) ด้วยความรักกีฬาฟุตบอล ผมเริ่มเล่นตั้งแต่อายุ 9 ขวบ ตั้งแต่อยู่ชั้นประถม แต่ตอนนั้นไม่มีโค้ชที่จะมาสอนเรา จนผมได้เข้ามาอยู่ในทีมฟุตบอลโอสถสภาก็เริ่มคิดตลอดว่า สักวันหนึ่งถ้าเราได้เรียนโค้ช เราต้องสร้างประโยชน์ให้สังคม ด้วยการสอนฟุตบอลกับเด็กๆ ที่ไม่มีโอกาส” โค้ชโต่ยเล่าถึงแรงบันดาลใจของตนเอง

โค้ชโต่ยเริ่มเล่นฟุตบอลอาชีพกับโอสถสภาเป็นทีมแรกและทีมเดียวจวบจนแขวนสตั๊ด ก่อนผันตัวมาเป็นทีมงานสตาฟโค้ช “ผมอยู่กับโอสถสภาฯ ตั้งแต่ ม.6 ทั้งเล่นฟุตบอลและทำงานด้วยก็ 22 ปี ผมได้เป็นโค้ชเยาวชนของโอสถสภา เขาให้โอกาสผมสร้างเด็ก พัฒนาเยาวชน แล้วพอมีเหตุการณ์ยุบทีม แต่ตัวผมเองต้องเดินต่อ เราจะทิ้งเด็กไม่ได้ ผมเลยคุยกับน้องที่เป็นโค้ชด้วยกันว่าตรงนี้พี่จะทำต่อ จะคุยกับผู้หลักผู้ใหญ่ของโอสถสภาว่าจะขอเช่าสนามของทีมเพื่อทำอะคาเดมีสอนฟุตบอลให้เด็กๆ”

นับเป็นจุดเริ่มต้นที่โค้ชโต่ยได้ใช้สถานที่สนามฟุตบอลของโอสถสภาย่านสายไหม ปรับปรุงให้เป็น “เอส เอส อะคาเดมี” เปิดสอนฟุตบอลให้กับเด็กๆ ที่มีความฝันอยากเป็นนักฟุตบอลอาชีพ หรือคนที่มุ่งใช้ทักษะฟุตบอลเบิกทางไปสู่การศึกษาที่สูงขึ้น

“แนวทางของเราก็คือ พัฒนาเด็กไปสู่ความเป็นเลิศและนักเตะอาชีพ เท่าที่ผ่านมามีเด็กๆ หลายคนจากที่นี่สามารถต่อยอดและเป็นนักเตะอาชีพได้” โค้ชโต่ยเผย

 “เด็กที่มาฝึกฟุตบอลกับเรา ส่วนหนึ่งอยู่กรุงเทพฯ อีกส่วนหนึ่งมาจากต่างจังหวัด ทั้งภาคใต้ ภาคเหนือ และอีสาน ย้ายมาเรียนหนังสือและกินนอนอยู่ที่นี่ ชีวิตประจำวันคือ ตื่นเช้ามาซ้อม เสร็จแล้วเราจะส่งไปเรียนหนังสือ ตกเย็นเลิกเรียน กลับมาซ้อมอีกรอบ นอกจากนั้นสิ่งที่เด็กต้องทำคือ อ่านหนังสือและทำการบ้าน ผมและทีมงานเห็นความสำคัญกับเรื่องนี้ จะไม่ปล่อยปละละเลย และกำหนดเวลาเข้านอนไม่ให้ดึก”

โค้ชโต่ยเน้นว่าเขาให้ความสำคัญกับการดูแลเด็กอย่างใกล้ชิด “ทุกคืนก่อนนอนผมจะมีประชุมกับเด็ก พูดเรื่องฟุตบอลบ้าง หรือพูดให้พวกเขาผ่อนคลาย บางทีก็แซวเหมือนพ่ออยู่กับลูก หยอกล้อ ให้คำแนะนำสิ่งต่างๆ ไม่ว่าเรื่องในสนาม หรือชีวิตนอกสนาม”

“เด็กมาจากต่างจังหวัด ผมจะถามเขาเลยว่า คิดถึงบ้านมั้ย ถ้าเราอยากเดินไปให้ประสบความสำเร็จต้องอดทน ถ้าคิดถึงพ่อแม่ให้โทรศัพท์ไปคุย เวลาเราขับรถไปส่งเด็กที่โรงเรียน จะไม่ปล่อยกลางทาง ต้องเข้าไปถึงรั้วโรงเรียน รอจนเขาขึ้นห้องเรียนเราถึงกลับ ช่วงที่ผ่านมาเคยมีเด็กดื้อเหมือนกัน โดดเรียนบ้าง หรือสูบบุหรี่ เราใช้วิธีตักเตือน ถ้าไม่ฟังก็ให้ออกจากแคมป์ ไม่ให้อยู่ในทีม เพราะถ้ามีคนหนึ่ง เดี๋ยวมันจะชวนเพื่อน คนเป็นนักกีฬาจะมาสูบบุหรี่ หรือทำสิ่งไม่ดี มันไม่ได้”

โค้ชโต่ยอธิบายว่า การฝึกสอนของเขาให้ความสำคัญอันดับแรกเรื่องเทคนิค ทักษะ อันดับสองคือเรื่องวิธีการ หรือแทคติก รวมถึงการเสริมสร้างความแข็งแกร่งของร่างกายให้เหมาะสมกับแต่ละช่วงวัย

“ในการฝึกซ้อมแต่ละวัน ผมจะแบ่งออกเป็น การวอร์มหรือบอดี้เวท แล้วมาฝึกการผ่านบอล สมอลไซด์ บอลทรานซิชัน วันทัช ทูทัช บังคับเด็กให้เกิดความเคยชิน แล้วก็ลงเกมสิบ-สิบ ทุกวันจะพยายามจบด้วยการฝึกยิงประตู เพราะเด็กๆ เขาจะมีความสุขเวลาได้ทำประตู”

“เด็กไทยมักไม่ค่อยมีวินัยในเกมรับ เราก็ใช้วิธีการคือ หลังเลิกซ้อมจะมาเทรนให้เขา เหมือนอย่างวันนี้ หลังซ้อมยิงประตูเสร็จ ผมจะแยกกองหลังออกมา จัดตำแหน่งการยืนให้เขาในการป้องกันลูกกลางอากาศ หรือลูกครอสบอลจากข้างสนาม ซึ่งมันสำคัญสำหรับอนาคตของเขาในการเป็นนักเตะอาชีพ”

อะคาเดมีฟุตบอลแห่งนี้รับเด็กตั้งแต่รุ่นอายุ 12-18 ปี แน่นอนว่าหลายคนมุ่งหวังอยากเป็นนักฟุตบอลอาชีพ สิ่งที่โค้ชโต่ยเน้นย้ำกับพวกเขาก็คือเรื่องวินัย ความมุ่งมั่น การฝึกซ้อมหนัก รวมทั้งสร้างแรงบันดาลใจกับเด็กๆ ด้วยการยกตัวอย่างเล่าถึงรุ่นพี่ที่เคยผ่านการฝึกสอนของโค้ชโต่ย แล้วสามารถก้าวไปเล่นฟุตบอลอาชีพได้สำเร็จ

“ผมจะยกตัวอย่างนักเตะหลายคนที่เคยฝึกสอนว่าทำไมถึงได้เล่นระดับอาชีพ อย่าง อาร์ม ศุภชัย ใจเด็ด ก็เคยอยู่กับผมที่โอสถสภา ผมเห็นการเล่นบอลเฟิร์สต์ทัชและบอลเท้าสู่เท้าของเขาทำได้ดีมาก สามารถต่อยอดได้ จนทีมบุรีรัมย์มาซื้อตัวตอนอายุ 17 ปี หรือ ธิติ ทุมพร ก็เคยฝึกกับผม แล้วไปเล่นให้ขอนแก่น เอฟซี จนได้พัฒนาตัวเอง ล่าสุดก็ได้เซ็นสัญญากับทีมโคราชสวาทแคท”

รวมถึงลูกศิษย์อย่าง จตุรพัช สัทธรรม ที่โค้ชโต่ยพูดถึงว่า “เจ้าแม็ก ตอนที่ได้พบครั้งแรก เขากับเพื่อนจากระยองมาคัดบอลที่โรงเรียนประเทืองทิพย์ ตัวเขาเองไม่ได้คัด ปรากฏว่าช่วงที่ให้เด็กนั่งพัก เขาเตะบอลเล่นอยู่ในสนาม ผมเรียกเขามาถามว่าทำไมไม่คัด เขาบอกว่าพาเพื่อนมา เขาไม่มีรองเท้า เลยให้ไปยืมรองเท้าคนอื่นมาลองคัด”

“ผมดูแล้วก็บอกว่า โอเค อยู่กับพ่อเลยนะ ผมแทนตัวเองว่าพ่อ ให้ไปบอกพ่อแม่เลยว่ามาอยู่มาเรียนที่นี่ เดี๋ยวจะปั้น ผมบอกอย่างนี้ครับ แล้วก็ส่งเขาเล่นรายการต่างๆ ผมมองว่าเขามีเทคนิคที่ดี เป็นคนที่ตื่นตัวในการเล่น ผมจะสอนเขาตลอดว่า ถ้าอยากเป็นนักเตะอาชีพ ต้องมีความอดทนมุ่งมั่น แล้วก็ใส่ใจดูแลตัวเอง จนปล่อยให้เขาไปเรียนที่กรุงเทพคริสเตียน แล้วได้เซ็นสัญญากับทีมชัยนาท ต่อมาได้เป็นนักเตะของการท่าเรือ”

“ลูกศิษย์ของผมแต่ละคน ถึงออกจากอะคาเดมีไปแล้ว ผมจะติดตามดูฟอร์มตลอด ดูเขาเล่น ใครผิดพลาดอะไร ส่วนมากผมจะอินบ็อกซ์เขาไปคุย ช่วงที่แม็กติดทีมชาติรุ่น 18-19 ปี ผมจะคุยกับเขาว่า ปัญหาของเราคือเรื่องเกมรับนะ เขาเป็นคนมีพรสวรรค์เรื่องเกมรุกอยู่แล้ว เพราะเซนส์ฟุตบอลเขาดี แต่เรื่องเกมรับเราต้องมี ถ้าจะเล่นตำแหน่งแบ็กหรือวิงแบ็ก”

ขณะที่ฝ่ายลูกศิษย์อย่างจตุรพัชก็พูดถึงครูของตนว่า “โค้ชโต่ยสอนผมทุกอย่าง ทั้งเรื่องในสนาม นอกสนาม มาตอนแรกผมยังไม่ค่อยได้ เล่นฟุตบอลแบบบ้านๆ เตะบอลเป็นเฉยๆ แต่ยังไม่รู้วิธีการ แกใส่ความรู้ให้ผมหลายเรื่อง ทั้งเรื่องวินัย วิธีคิดด้วย เฮ้ยแบบนี้ไม่ถูกต้องนะ ถ้าทำไม่ดีโดนลงโทษด้วย อย่างตอนนั้นผมยังเด็ก นอนดึกบ้าง ก็โดนจับมาวิ่งตอนเที่ยงคืน ผมอยากเป็นนักฟุตบอลอาชีพก็ตอนมาอยู่กับโค้ชโต่ยนี่แหละครับ ศาสตร์ฟุตบอลหลายอย่างที่ได้เรียนรู้จากโค้ชโต่ย ทำให้ผมพัฒนาขึ้นมาก”

จตุรพัชยังบอกอีกว่า “ทุกวันนี้เวลาที่ผมเล่นไม่ดี หรือมีปัญหาเรื่องอะไร ผมจะปรึกษากับโค้ชโต่ยตลอดครับ”

ในสายตาของโค้ชซึ่งเห็นเด็กๆ ที่ผ่านการฝึกสอนอบรมจากตนแล้วก้าวไปประสบความสำเร็จมากมาย โค้ชโต่ยสะท้อนความรู้สึกตรงนี้ว่า “ตัวผมจะคุยกับทีมงานตลอดว่า คนที่จะทำบอลเด็กได้ ต้องมีจิตใจที่รักจริงๆ ไม่ใช่แค่ทำตามหน้าที่ การทำงานของเราอยู่กับเด็กๆ บางทีดุ บางทีด่า บางทีบ่น แต่สิ่งที่เราให้กับเขาก็คือความจริงใจ แล้วพอเด็กที่ผ่านการพัฒนาของเราไปประสบความสำเร็จ สิ่งที่เราได้รับกลับมา คือความภูมิใจ และความสุขที่เราเห็นว่า เด็กคนหนึ่ง เราสามารถสร้างเขาให้มีอนาคต และครอบครัวเขาสุขสบาย แค่นี้เราก็มีความสุขกับการพัฒนาเด็กแล้วครับ”

นอกจากนั้นอีกสาเหตุที่ทำให้โค้ชโต่ยมุ่งมั่นพัฒนาฟุตบอลเยาวชน ก็เพราะเขามองว่ามันเป็นรากฐานที่สำคัญสำหรับทีมชาติไทยชุดใหญ่นั่นเอง

 “ทีมชาติไทยชุดใหญ่จะประสบความสำเร็จได้ ต้องมาจากทีมชุดเยาวชนที่มีคุณภาพ พูดง่ายๆ ว่าในระดับอาเซียน เราต้องกินขาดทุกทีม ทุกประเทศ เพราะฉะนั้นผมมองว่า ฟุตบอลเยาวชนคือสิ่งที่สำคัญเลยที่จะเป็นรากฐานแข็งแรง เหมือนเสาเข็มที่ปักแน่น ทุกอย่างก็เกิดขึ้นได้”

 “ผมอยากเชิญชวนให้ทุกอะคาเดมีได้พัฒนาเด็ก ให้มีวิธีการเล่นฟุตบอลที่ถูกหลัก แล้วพยายามให้พวกเขาต่อยอดไปเป็นนักฟุตบอลอาชีพให้ได้ แล้วทีมชาติไทยจะมีทรัพยากรให้เลือกมากขึ้น ก็ขอให้ทุกคนช่วยกันครับ ถ้าเราเป็นโค้ชและเป็นครู” โค้ชโต่ย ศิริศักดิ์ ยอดญาติไทย กล่าวทิ้งท้าย

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook