เช็คทองเก๊, เท่, หรือ ลิ้มรสชัยชนะ : ทำไมนักกีฬาโอลิมปิกต้องกัดเหรียญ ?

เช็คทองเก๊, เท่, หรือ ลิ้มรสชัยชนะ : ทำไมนักกีฬาโอลิมปิกต้องกัดเหรียญ ?

เช็คทองเก๊, เท่, หรือ ลิ้มรสชัยชนะ : ทำไมนักกีฬาโอลิมปิกต้องกัดเหรียญ ?
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ช่วงเวลาที่ความพยายามออกผลกลายเป็นความสำเร็จในฐานะนักกีฬา คือช่วงเวลาที่พวกเขาสามารถชนะรางวัลและได้ขึ้นยืนบนโพเดียม

เสียงเพลงชาติบรรเลง พร้อมเหรียญทองที่ห้อยคออย่างภาคภูมิใจ และทันใดที่เพลงชาติจบ นักกีฬาทุกคนจะต้องทำในสิ่งที่เรียกว่า "ท่าบังคับ" 

ใช่เเล้วครับ ... พวกเขาโพสต์ท่ากับช่างภาพด้วยการ "กัดเหรียญ" 9 ใน 10 ครั้ง ไม่เคยพลาดโพสต์นี้แน่นอน ... ทำไมถึงเป็นแบบนั้น เรื่องที่ดูเหมือนไม่มีอะไร แต่กลับมีอะไรซ่อนอยู่ MainStand จะร่วมหาคำตอบไปพร้อม ๆ กับคุณ

เหรียญโอลิมปิกทำมาจากอะไร ? 

ก่อนจะรู้ว่าเขากัดไปทำไม เราก็ควรจะมารู้กันก่อนว่าเหรียญรางวัลในโอลิมปิกมีที่มาอย่างไร ? และพวกเขากัดอะไรเข้าไป ? 

เพราะเหรียญคือรางวัลสำหรับนักกีฬาที่เข้าเเข่งขัน ตั้งแต่จำความได้ในโอลิมปิกยุคเก่าที่จัดในประเทศกรีซ เมื่อปี 1896 นักกีฬาผู้ชนะเลิศจะไม่ได้เหรียญทอง แต่พวกเขาจะได้เหรียญที่หลอมมาจากเงินเป็นรางวัลพร้อมกับมงกุฎช่อมะกอก 

การแจกเหรียญแบบ ทอง-เงิน-ทองเเดง เริ่มต้นขึ้นครั้งแรกในการแข่งขันโอลิมปิกที่ เซนต์หลุยส์ เมื่อปี 1904 หลังจากนั้นจึงมีการถือเป็นธรรมเนียมปฏิบัติส่งต่อกันเรื่อยมา ทองคำมีค่าที่สุด, เงินคือแร่ที่มีราคารองลงมา ขณะที่แร่ทองเเดงคือแร่ที่มีราคาถูกที่สุดในบรรดาทั้งหมด ดังนั้นจึงเอาเหรียญต่าง ๆ เหล่านี้มาเป็นตัวแทนของ ผู้ชนะ, รองชนะเลิศ และ อันดับ 3 ตามลำดับ


Photo : www.deccanherald.com

 

เหรียญทอง กลายเป็นที่สนใจของชาวโลก ทอง หรือ Gold นั้นแสนจะมีค่าในอดีตกาลหรือแม้กระทั่งในทุกวันนี้ ดังนั้นเมื่อหลายคนได้ยินคำว่า "เหรียญทอง" หรือ Gold Medal ก็จะเกิดคำถามคลาสสิกตามมาว่า แล้วเหรียญทองนี้ทำมาจากทองคำจริง ๆ หรือไม่ ? 

คำตอบคือ ... ใช่ มันทำมาจากทองจริง ๆ แต่ไม่ใช่ทั้งหมด เพราะนับตั้งแต่มีการก่อตั้งคณะกรรมการโอลิมปิกสากล หรือ IOC ก็ได้มีการระบุชัดเจนว่าเหรียญรางวัลในการแข่งขันโอลิมปิก จะต้องมีส่วนประกอบของแร่เงินทั้งหมด 92.5% ส่วนสีด้านนอกอย่าง ทอง เงิน และ ทองแดง นั้นเกิดจากการชุบสีอีกที โดย เหรียญเงิน ทำจากเงินบริสุทธิ์ ในขณะที่เหรียญทองแดง คือ ทองแดง 95 เปอร์เซ็นต์ และ สังกะสี 5 เปอร์เซ็นต์ 

อ่านมาถึงตรงนี้คุณอาจจะงง แล้วไหนบอกว่าทำมาจากทองคำแท้ ๆ ... เพราะนี่คือหนึ่งในหลักการโฆษณาที่ได้ผลเสมอ การพูดถึงสิ่งที่มีค่าที่สุดคือการทำให้คนสนใจ เมื่อได้ยินว่า "ทอง" ใครก็ตาลุก แต่จริง ๆ แล้วเหรียญทองโอลิมปิกนั้นมีทองคำบริสุทธิ์ผสมอยู่ 6 กรัมเท่านั้น ตีเป็นเงินไทยก็จะอยู่ที่ราคา 1-2 พันบาทเท่านั้น 

ศาสตร์แห่งการโฆษณาจะนำเสนอด้วยสิ่งที่น่าสนใจเสมอ อย่างน้อย ๆ เหรียญทองก็มีทองคำผสมจริง ๆ แต่สิ่งสำคัญยิ่งกว่านั้นคือวิธีการนำเสนอของเจ้าภาพแต่ละครั้ง ที่จะใส่กิมมิคต่างๆ เข้าไปเพื่อแสดงถึงอัตลักษณ์และเพิ่มมูลค่าความพิเศษให้เหรียญในการแข่งขันครั้งนั้น ๆ อาทิ เหรียญทองในโอลิมปิก 2008 ที่กรุงปักกิ่ง มีความพิเศษเพื่อบ่งบอกถึงวัฒนธรรมจีน เนื่องจากมีการนำหยกจากมณฑลชิงไห่ มาประกอบเข้าไปด้วย

 

ขณะที่ในการแข่งขันโอลิมปิกที่กรุงโตเกียว ก็มีกิมมิคของเมืองแห่งเทคโนโลยี ด้วยการทำเหรียญรางวัลที่รีไซเคิลจากขยะอิเล็กทรอนิกส์ เช่น สมาร์ตโฟน เป็นต้น ซึ่งในสมาร์ตโฟน 1 เครื่องจะมีส่วนประกอบของทองคำแท้อยู่ราว ๆ 0.048 กรัม, เเร่เงิน 0.26 กรัม และ ทองแดงอีก 12.7 กรัม ... ครบหมดทุกแร่ และครบทุกเหรียญ ถือว่าเป็นการดัดแปลงและใช้ไอเดียได้อย่างลงตัวอย่างแท้จริง 

เมื่อรู้ว่าพวกเขากัดเหรียญรางวัลที่ทำมาจากส่วนผสมใดบ้างแล้ว นำมาสู่คำถามต่อไปนั่นคือ ทำไม 8 หรือ 9 ใน 10 ของนักกีฬาทีได้เหรียญรางวัลจึงต้องกัดเหรียญรางวัลให้คนดูได้เห็นด้วย ? มันเกิดขึ้นเพราะอะไร ?

สมมุติฐานสุดฮา 

เหตุผลที่แท้จริงมีการไขคำตอบไว้เเล้ว แต่ก่อนจะไปถึงตรงนั้น เราจะมาลองดูสมมุติฐานฮา ๆ สักข้อ กลุ่มคนมากหน้าหลายตาในเว็บบอร์ดต่างประเทศอย่าง Quora และ Reddit ที่คล้าย ๆ กับบอร์ดพันทิปของบ้านเรา มักจะมีคอมเมนต์ถึงเรื่องนี้เวลามีคนถามว่า "นักกีฬากัดเหรียญไปทำไม" ว่า "เพราะพวกเขาอยากจะรู้น่ะว่า เหรียญที่พวกเขาได้มาทำมาจากทองคำจริงหรือเปล่า ? "

 

แม้จะดูกาว ๆ แต่มันก็แปลกดีและพอจะมีเหตุผลให้อ้างอิงอยู่บ้าง โดยคนในยุคโบราณจะใช้วิธีกัดเพื่อทดสอบคุณภาพของทองคำ เนื่องจากทองคำนั้นเป็นโลหะอ่อน หากกัดแล้วเป็นรอยฟัน แสดงว่าเป็นทองแท้ 100% มีค่าในทางเงินตราแน่นอน ซึ่งการกัดทองถือเป็นหนึ่งในวิธีสุดฮิตที่บางคนก็ยังทำมาจนถึงทุกวันนี้ 

อย่าเพิ่งส่ายหัวและแอบขำ เพราะแม้แต่เว็บไซต์โอลิมปิก ก็ยังตั้งสมมุติฐานแบบนี้เช่นกัน ก่อนที่พวกเขาจะตบท้ายว่า "มันเป็นแค่มุกตลก" เพราะเหรียญโอลิมปิกไม่ได้ใช้ทองแท้มาตั้งแต่ปี 1912 แล้วใคร ๆ ก็รู้ ด้วยเหตุผลของความสิ้นเปลืองที่มากจนเกินไป หากต้องทำเหรียญทองให้กับทุกชนิดกีฬา อ้างอิงจากโอลิมปิก 2020 ที่มีจำนวนเหรียญ 340 เหรียญแล้ว รับรองว่าไม่ต้องเอาเงินไปสร้างสนามหรือจัดงานจัดการกันพอดี เพราะแค่ค่าเหรียญเจ้าภาพก็อ่วมเเล้ว 

ดังนั้นความจริงก็คือ ต่อให้พวกเขากัดมันก็กัดไม่เข้าหรอก ... แหงล่ะ เพราะอย่างที่บอกนี่คือแร่เงินเกือบทั้งหมดของเหรียญ และนักกีฬาหลายคนก็คงรู้ดีถึงความจริงข้อนี้ อีกทั้งพวกเขาเองก็คงตีค่าเหรียญทองในฐานะของที่มีความหมายแบบที่เงินหาซื้อไม่ได้ แต่มันคือความพยายามอุตสาหะ ทุ่มเทมาตลอดชีวิตกว่าจะได้มันมา ดังนั้นการบอกว่ากัดทองเพื่อทดสอบที่แม้จะมีหลักฐานอ้างอิง แต่มันก็ไม่ใช่เหตุผลที่แท้จริงว่าทำไมนักกีฬาถึงทำมันหรอก

แล้วจริง ๆ คืออะไร ? 

คุณปวดหัวแน่นอนกับคำตอบที่เป็นความจริง เพราะมันสั้นจนเหลือเชื่อ คำตอบก็คือ "เพราะมันเท่" แค่นั้นเลยจริง ๆ

 

ลองมาย้อนประวัติศาสตร์เรื่องการกัดเหรียญกันสักหน่อย ครั้งแรกที่ปรากฏภาพ "กัดเหรียญ" นั้นไม่ทราบแน่ชัด แต่เท่าที่เว็บไซต์อย่าง CNN ได้หาเจอ คือภาพทีมนักวิ่ง 4 คูณ 100 เมตรของสหราชอาณาจักร ที่กัดเหรียญของพวกเขาในรายการชิงแชมป์โลก (World Championships) เมื่อปี 1991 ที่กรุงโตเกียว 


Photo : www.theguardian.com

เมื่อเราเอาช่วงเวลาของปี 1991 มาค้นให้ลึกและสืบไปถึงเรื่องของวงการกล้องและการถ่ายภาพ เราจะพบว่ามันมีความสัมพันธ์กัน เพราะในช่วงเวลานั้น บริษัท Kodak ได้นำกล้อง Kodak DCS-100 ออกวางจำหน่าย  Kodak ได้ให้การนิยามในการเรียกเม็ดสีแต่ละเม็ดของภาพดิจิตอลว่า “พิกเซล” (Pixel) โดยขนาดของไฟล์ภาพของกล้องรุ่นนี้อยู่ที่ 1.3 เมกกะพิกเซล กล้องดังกล่าวมีราคาค่อนข้างสูงและมีเป้าหมายชัดเจนที่จะจำหน่ายให้กับช่างภาพมืออาชีพและนักข่าว ... ชัดเลยทีนี้ 

เราสามารถไขรหัสได้ 1 ข้อเเล้ว ว่าที่พวกเขากัดเหรียญเนื่องจากความเท่ในการโพสต์ท่าให้กับตากล้องในยุคที่ภาพถ่ายกำลังเป็นของที่ไม่ได้มีกันทุกคน ดังนั้นครั้งหนึ่งในชีวิตของนักกีฬาที่ชนะรางวัลแล้วได้รับเหรียญ การจะให้พวกเขายืนนิ่ง ยิ้มมุมปาก เหมือนถ่ายรูปทำบัตรประชาชน มันก็คงจะไม่เท่เท่าไรนัก ดังนั้นแอ็กชันด้วยท่ากัดเหรียญจึงถือเป็นการทำท่าให้ช่างภาพได้ภาพที่แตกต่าง และ "อาจจะ" สื่อความได้ว่า "พวกเขากำลังลิ้มรสชาติของชัยชนะ" 

เดวิด วัลเลชินสกี้ (David Wallechinsky) สมาชิกคณะกรรมการบริหารของ International Society of Olympic Historians บอกกับ CNN ไว้ในปี 2012 ถึงมุมมองของเขาว่า การกัดเหรียญไม่ได้มีอะไรมากไปกว่าการทำให้ตากล้องพอใจ และได้ภาพสวย ๆ

 

"มันเป็นความหลงใหลของภาพถ่ายมากกว่า ผมคิดว่าพวกเขาเข้าใจตรงกันว่านี่เป็นช็อตที่แสดงถึงสัญลักษณ์ของความสำเร็จ มันเป็นภาพที่แปลกใหม่ยิ่งกว่าการยืนตัวตรงหรือเอาเหรียญคล้องคอ .... ผมคิดว่าเรื่องขององค์ประกอบภาพจากมุมมองของตากล้องมีผลมาก ๆ และคิดว่านักกีฬาคงไม่อยู่ ๆ ก็ทำท่านี้ขึ้นมาเองหรอก" เดวิด กล่าว  

มันเริ่มจากความเท่ จากนั้นจึงต่อยอดไปถึงแนวคิดและมุมมองต่าง ๆ ที่แตกแขนงออกไป โทนี่ บิจเกิร์ก เลขาธิการด้านต่างประเทศของโอลิมปิก (Secretary-General of the International Society of Olympic Historians) กล่าวว่าการกัดเหรียญน่าจะเริ่มต้นในยุค 90s และถูกนำเสนอจนกลายเป็นภาพจำ ที่ทำให้นักกีฬาหลาย ๆ คนทำตาม ๆ กันมาจนถึงทุกวันนี้ 

นักกีฬาคิดว่าการกัดคือการสร้างตำหนิในแบบของตัวเอง เพื่อให้เหรียญนี้มีรอยกัดของพวกเขา ยิ่งกัดแรงเท่าไหร่รอยก็ยิ่งชัดไม่มีใครเหมือน ซึ่งเรื่องดังกล่าวก็มีหลักฐานอ้างอิงในการแข่งขันโอลิมปิกฤดูหนาวเมื่อปี 2010  เดวิด โมลเลอร์ นักกีฬาชาวเยอรมันที่ได้เหรียญเงิน ต้องการกัดเหรียญและสร้างรอยเฉพาะให้กับเหรียญของเขา สรุปคือ ฟันหักไปตามระเบียบเพราะดันกัดแรงเกินไปนั่นเอง 

สรุปโดยง่าย ๆ คือพวกเขากัดเหรียญก็เพื่อที่จะให้ได้ภาพถ่ายสวย ๆ ไปลงในหน้าข่าวกีฬา หรือหน้าเว็บไซต์ต่าง ๆ และเราก็ต้องยอมรับว่าการกัดเหรียญมันทำให้ภาพออกมาดูดีจริง ๆ จนตอนนี้มันอาจจะทำให้หลายคนเข้าใจผิดไปแล้วว่านักกีฬาต้องกัดเหรียญหลังจากได้เหรียญรางวัลในการแข่งขันโอลิมปิกกันเป็นปกติ... 

มันเป็นเรื่องของความเท่ ค่านิยม และการทำตามกันมาจนกลายเป็นวัฒนธรรม หากมองให้ดีเรื่องนี้อาจจะมีคำตอบสั้นนิดเดียวอย่าง "ความเท่" แต่ความจริงแล้วมันก็สะท้อนให้เราเห็นถึงความเชื่อ การโฆษณา และการเพิ่มมูลค่าให้กับเหรียญรางวัล ที่ปัจจุบันหากนำไปวางขายในเว็บไซต์จะมีราคาถึง 820 ดอลลาร์สหรัฐ หรือราว ๆ 27,500 บาทไทย

การใส่เรื่องราวแต่งเติมรายละเอียดเฉพาะ ทั้งเรื่องกิมมิคของเจ้าภาพ รอยกัดของนักกีฬา เหรียญทองที่ขายในอินเทอร์เน็ตราคา 100 บาท ก็กลายเป็นของที่มีมูลค่าที่บางทีมีเงินก็หาซื้อไม่ได้ด้วยซ้ำไป... 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook