5 โอลิมปิกฤดูร้อนที่ชาติเจ้าภาพประสบความสำเร็จ จนน่าใช้เป็นกรณีศึกษา

5 โอลิมปิกฤดูร้อนที่ชาติเจ้าภาพประสบความสำเร็จ จนน่าใช้เป็นกรณีศึกษา

5 โอลิมปิกฤดูร้อนที่ชาติเจ้าภาพประสบความสำเร็จ จนน่าใช้เป็นกรณีศึกษา
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

หากนึกถึงมหกรรมกีฬาโอลิมปิกฤดูร้อน ภาพของพิธีเปิดสุดอลังการ หรือการเถลิงชัยของนักกีฬาจากชาติต่าง ๆ คงเป็นสิ่งที่จดจำได้เป็นอย่างดีในสายตาของใครหลายคน


อย่างไรก็ตาม สำหรับชาติเจ้าภาพเหล่านี้ เรื่องราวของพวกเขาก็ยังคงต้องดำเนินต่อไป แม้ว่าแสงไฟบนกระถางคบเพลิงจะถูกดับไปแล้วก็ตาม และตัวของประชาชนของพวกเขา ก็ต้องเผชิญหน้ากับความจริงว่า โอลิมปิกครั้งดังกล่าวมัน เจ๋ง หรือ เจ๊ง กันแน่

มาดู 5 ตัวอย่างการบริหารงานที่ดี อันทำให้มรดกตกทอดจากโอลิมปิกเกมส์ที่จบลงไปแล้ว ยังคงฝังลึกอยู่ในเมืองต่าง ๆ เหล่านี้กัน

โอลิมปิกฤดูร้อน เมืองโตเกียว 1964 
 


Photo : olympics.ca

โอลิมปิกเกมส์ที่โตเกียว เกือบได้เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 1940 แล้ว หากไม่ใช่เพราะสงครามจีน-ญี่ปุ่นครั้งที่สอง อันทำให้มหกรรมกีฬาดังกล่าวต้องถูกยกเลิกไป กระทั่งวันที่สันติภาพได้บังเกิดในแดนตะวันออกแห่งนี้

จากผลกระทบของความพ่ายแพ้ในสงครามโลกครั้งที่ 2 การจัดโอลิมปิกในปี 1964 ถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของประเทศเลยก็ว่าได้ ทั้งในเชิงการเปิดประเทศต้อนรับผู้มาเยือนอีกครั้ง พร้อมกับยกระดับโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ ใหม่หมด ทั้งทางด่วน รถไฟชินคันเซน ที่นำไปสู่การพัฒนาผังเมืองและเศรษฐกิจในประเทศแบบก้าวกระโดด

นอกจากด้านการพัฒนาประเทศแล้ว กระแสจากการเป็นเจ้าภาพโอลิมปิก ยังทำให้ความสนใจในวงการกีฬาของญี่ปุ่นเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ไม่ว่าจะเป็น ฟุตบอล, วอลเล่ย์บอล, เบสบอล, และอื่น ๆ อีกมากมาย ส่งผลไปสู่การเป็นเจ้าภาพร่วมจัด ฟุตบอลโลก ในปี 2002, โอลิมปิกฤดูหนาว ที่ซัปโปโร ปี 1972 กับ ที่นากาโนะ เมื่อปี 1998, และโอลิมปิกฤดูร้อนที่จะหวนคืนสู่โตเกียวอีกครั้ง ในรอบ 57 ปี

โอลิมปิกฤดูร้อน เมืองลอสแอนเจลิส 1984
 


Photo : grantland.com

ท่ามกลางช่วงเวลาที่แทบจะเป็นยุคมืดของโอลิมปิกเลยก็ว่าได้ ทั้งเรื่องของการสิ้นเปลืองงบประมาณเกินควร โดยเฉพาะกรณีศึกษาจากเคสที่มอนทรีออล ปี 1976 ที่ยังต้องชำระหนี้มายาวนานกว่า 30 ปี ไปจนถึงเหตุสังหารหมู่ในหมู่บ้านนักกีฬาที่มิวนิค ปี 1972 ผนวกกับการตัดสินใจบอยคอตการเข้าร่วมของสหภาพโซเวียตและพันธมิตร ที่เป็นการเอาคืน หลังกลุ่มประเทศโลกเสรีบอยคอตโอลิมปิกที่มอสโก ปี 1980 จนทำให้มีเพียงเมืองลอสแอนเจลิส ของสหรัฐอเมริกาเท่านั้น ที่เสนอตัวเป็นเจ้าภาพโอลิมปิก 1984 อย่างจริงจัง

ภายใต้การนำของ ปีเตอร์ เอเบอร์รอธ ที่ตัดสินใจหาเงินทุนในการจัดผ่านฟากของเอกชน โดยใช้การหาสปอนเซอร์ ขายลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสด และไม่รับเงินสนับสนุนจากรัฐเฉกเช่นโอลิมปิกในครั้งก่อน ๆ จนกลายเป็นแบบแผนที่ถูกนำมาปรับใช้กันจนถึงในปัจจุบัน

นอกเหนือจากนั้น ด้วยความที่ลอสแอนเจลิส เคยเป็นเมืองเจ้าภาพมาก่อนแล้วในปี 1932 จึงได้มีการบูรณะปรับแต่งสนามแข่งขันเก่ามาใช้อีกครั้ง เพื่อลดค่าใช้จ่ายให้น้อยที่สุด ควบคู่ไปกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของเมือง และยังมีการออกแบบที่เน้นสีสันอันมีเอกลักษณ์ ซึ่งสร้างความโดดเด่นแตกต่างจากทุกครั้งที่ผ่านมา

และเมื่อลดค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ลงแล้ว กลับสามารถเพิ่มรายได้เข้ามามากยิ่งขึ้น และทำให้คณะผู้จัดมีการจัดสรรงบบางส่วนเข้ามูลนิธิ LA84 ที่ช่วยในการสนับสนุนและพัฒนาด้านกีฬาให้กับเยาวชนของประเทศอีกด้วย ซึ่งนิตยสาร TIME ถึงกับยกให้ ปีเตอร์ เอเบอร์รอธ เป็นบุคคลแห่งปี 1984 เลยทีเดียว

โอลิมปิกฤดูร้อน เมืองบาร์เซโลน่า 1992
 

Photo : olympics.com

บาร์เซโลน่า ประเทศสเปน จุดหมายปลายทางพักร้อนของชาวยุโรปมากมาย ที่ต่างต้องการมารับแสงแดด ณ ริมชายหาดที่ทอดยาวสุดลูกหูลูกตา

แต่ก่อนหน้าที่โอลิมปิกจะมาเยือนแคว้นคาตาลันแห่งนี้ พื้นที่ดังกล่าวเคยเป็นที่ตั้งของโรงงานอุตสาหกรรม อันเรียงรายไปตลอดเส้นทาง ซึ่งเป็นมรดกตกทอดจากยุคสมัยที่ปกครองโดยนายพลฟรังโก ที่ถูกปรับเปลี่ยนและยกระดับใหม่หมด เพื่อเตรียมความพร้อมในการเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันในปี 1992

นอกจากนั้นแล้ว ก็ยังมีถนนหนทางตัดใหม่ พื้นที่สาธารณะ ระบบสาธารณูปโภคที่ถูกยกเครื่องขึ้นมา ถึงแม้จะมีงบประมาณที่บานปลายจากที่คาดกันไว้ แต่ก็ช่วยให้อัตราการว่างงานในท้องถิ่นลดลงไปมากกว่า 50% จนกลายเป็นสถิติใหม่ของเมือง จากการสร้างงานถาวร อันเป็นผลพลอยได้จากโอลิมปิกครั้งนั้น

อีกสิ่งหนึ่งที่ได้มา คือการเปิดตัวเป็นเมืองท่องเที่ยวของบาร์เซโลน่า ที่ขึ้นไปรั้งอันดับเมืองที่มีผู้มาเยี่ยมเยือนสูงถึงอันดับ 17 ของโลก แซงหน้ากรุงมาดริด เมืองหลวงของประเทศไปเป็นที่เรียบร้อย

โอลิมปิกฤดูร้อน เมืองซิดนีย์ 2000
 


Photo : northerndailyleader.com.au

เมื่อโอลิมปิกเดินทางมาสู่ซีกโลกใต้เป็นคำรบที่สอง ซิดนีย์จึงได้รับการปรับเปลี่ยนโฉมเมืองใหม่ เพื่อรองรับผู้คนที่เตรียมหลั่งไหลมาจากทั่วทุกมุมโลก ควบคู่ไปกับการใช้งานพื้นที่ต่าง ๆ อย่างยั่งยืนหลังจากนั้น

มีการปรับปรุงพื้นที่เสื่อมสภาพมากกว่า 1,600 ตารางกิโลเมตร ให้กลายเป็น Olympic Park แห่งใหม่ และระบบรีไซเคิลน้ำขนาดใหญ่ ที่ช่วยลดการสิ้นเปลืองน้ำดื่มมากกว่า 850 ล้านลิตรต่อปี ก็กลายมาเป็นหนึ่งในรากฐานสำคัญของแผนการพัฒนาเมืองในครั้งนี้

เช่นกันกับหลาย ๆ เมืองที่เคยจัดโอลิมปิก ซิดนีย์ได้เปิดรับนักท่องเที่ยวจำนวนมากกว่า 1.6 ล้านรายต่อปี หลังจากที่โอลิมปิกจบลงไปแล้ว และมีการสร้างงานเพิ่มให้กับผู้คนในท้องถิ่นมากกว่า 100,000 อัตราอีกด้วย

หลังจากนั้น ซิดนีย์ ยังได้เป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันรักบี้เวิลด์คัพ ปี 2003 พร้อมกับจัดงานคอนเสิร์ต และอีเวนต์ต่าง ๆ มากมาย ก่อนยุคการระบาดของไวรัส COVID-19

โอลิมปิกฤดูร้อน เมืองลอนดอน 2012
 


Photo : gosquared.com/london-olympics

ลอนดอน ได้ต้อนรับมหกรรมกีฬาโอลิมปิกมาแล้ว 2 ครั้งก่อนหน้านี้ ทั้งในปี 1912 และปี 1948 แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า สูตรสำเร็จที่เคยใช้ในอดีต จะกลับมาได้ผลอีกครั้งโดยไม่ผ่านการปรับปรุงขึ้นมาใหม่

เริ่มจากการใช้สนามแข่งขัน ที่เป็นส่วนผสมระหว่างการใช้สนามที่มีอยู่แล้ว ควบคู่ไปกับการสร้างขึ้นใหม่ แบ่งเป็นสนามชั่วคราว ซึ่งพร้อมถูกรื้อถอนได้ในทันทีหลังจบการแข่งขัน กับสนามแบบถาวร อันมีแผนใช้งานระยะยาวรองรับอยู่

ลอนดอน สเตเดียม ที่เคยถูกใช้ในพิธีเปิด-ปิดการแข่งขัน ก็ได้กลายมาเป็นสนามเหย้าของสโมสรฟุตบอล เวสต์แฮม ยูไนเต็ด ที่พร้อมถูกปรับให้เป็นสนามแข่งกรีฑาได้เมื่อต้องการใช้ เช่นเดียวกับในส่วนของหมู่บ้านนักกีฬา ซึ่งกลายมาเป็นอาคารพักอาศัยไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

นอกเหนือจากนั้น ยังมีแผนพัฒนาระบบการขนส่งในลอนดอน เพื่อรับประกันเวลาเดินทางที่ไม่เกิน 30 นาทีให้กับนักกีฬา ผ่านระบบขนส่งสาธารณะต่าง ๆ ควบคู่ไปกับการตัดถนนระหว่างเมืองขึ้นมาใหม่ เพื่อช่วยบรรเทาการจราจรที่อาจติดขัดได้

สำหรับชาติที่ประสบความสำเร็จนั้น มันก็ไม่ได้เกิดขึ้นมาด้วยคำอธิษฐาน หรือภาวนาให้ทุกอย่างราบรื่นได้ด้วยตัวของมันเอง แต่จำเป็นที่จะต้องมีการวางแผน และคิดล่วงหน้าไปสู่อนาคต ว่าแต่ละรากฐาน การก่อสร้างสิ่งต่าง ๆ นี้จะนำพาเมืองของพวกเขาไปในทิศทางใด

เมื่อโอกาสเข้ามา และสามารถคว้ามันเอาไว้ได้อย่างถูกวิธี ก็จะทำให้ทุกอย่างถูกพัฒนาไปได้ในแบบที่มันควรเป็น ซึ่งก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับทุกฝ่ายนั่นเอง

สำหรับในบ้านเรา อาจไม่ต้องถึงกับจัดโอลิมปิกเพื่อนำบทเรียนเหล่านี้ไปปรับใช้หรอก แค่เริ่มต้นจากการบริหารจัดการสถานการณ์ฉุกเฉินในปัจจุบัน ให้ผ่านพ้นไปได้ในแบบที่ควรจะเป็น ผ่านบทเรียนต่าง ๆ ที่ถูกถ่ายทอดกันมามากมายนี้ ก็ถือเป็นความสำเร็จอย่างยิ่งยวดแล้ว

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook