เปิดเคล็ดลับ : ฟุตบอลแบบครูสอนนักเรียนของ "ฟินแลนด์" แนวทางที่ไม่เหมือนใคร
คำที่ถูกค้นบ่อย
    Sanook//s.isanook.com/sr/0/images/logo-new-sanook.png60060
    //s.isanook.com/sp/0/ud/256/1281781/ww.jpgเปิดเคล็ดลับ : ฟุตบอลแบบครูสอนนักเรียนของ "ฟินแลนด์" แนวทางที่ไม่เหมือนใคร

    เปิดเคล็ดลับ : ฟุตบอลแบบครูสอนนักเรียนของ "ฟินแลนด์" แนวทางที่ไม่เหมือนใคร

    2021-07-17T07:54:00+07:00
    แชร์เรื่องนี้

    ฟินแลนด์ คือ ประเทศขนาดเล็กทางตอนเหนือของทวีปยุโรป มีทรัพยากรมนุษย์จำกัด ด้วยจำนวนประชากรเพียง 5.5 ล้านคน

    ในขณะที่เพื่อนร่วมภูมิภาคสแกนดิเนเวีย ทั้ง เดนมาร์ก, สวีเดน และ นอร์เวย์ ล้วนมีหน้ามีตาบนเวทีลูกหนัง ผ่านเข้าสู่การแข่งขันระดับโลก ฝากเรื่องราวให้แฟนบอลได้จดจำ ฟินแลนด์กลับไม่เคยผ่านเข้ารอบสุดท้าย ฟุตบอลโลก และฟุตบอลยูโรเลยแม้แต่ครั้งเดียว

    แต่ทุกอย่างเปลี่ยนไปในการแข่งขันยูโร 2020 ฟินแลนด์แจ้งเกิดบนทัวร์นาเมนต์ระดับนานาชาติได้สำเร็จ พร้อมกับเก็บชัยชนะตั้งแต่นัดแรกของการแข่งขัน ทั้งที่ย้อนไปในปี 2017 พลพรรค “Huuhkajat” หรือ “เจ้านกฮูก”  ทำอันดับโลกได้ต่ำสุดในประวัติศาสตร์ของชาติ (อันดับ 110)

    จากทีมฟินแลนด์ ชุดอันดับโลกแย่สุด พวกเขาสร้างขุมกำลังใหม่ จนก้าวมาร่วมแข่งฟุตบอลยูโรรอบสุดท้ายได้อย่างไร ภายในระยะเวลาแค่ 2 ปี?

    “ฟุตบอลแบบครูสอนนักเรียน” เกี่ยวข้องกับก้าวที่ยิ่งใหญ่ของฟินแลนด์ได้อย่างไร? ติดตามไปพร้อมกับเรา..

    กีฬาไม่ยอดนิยม

    หากจะหารากฐานถึงเหตุผลที่ชาวฟินแลนด์ไม่เก่งฟุตบอล นั่นเป็นเพราะว่ากีฬายอดนิยมของประเทศนี้ ไม่ใช่เกมลูกหนัง แต่เป็นฮอกกี้น้ำแข็งที่ทรงอิทธิพลมากกว่า 

    ต่างจากเพื่อนร่วมภูมิภาคสแกนดิเนเวียชาติอื่นที่ให้ความสำคัญกับฟุตบอลมากกว่า “ฟินแลนด์” จึงเป็นประเทศที่ขาดแคลนทรัพยากรนักเตะฝีเท้าดีมานานหลายทศวรรษ มีสถานะเป็นทีมไม้ประดับแห่งวงการลูกหนังยุโรปมาอย่างยาวนาน

    กระทั่ง ยารี่ ลิตมาเน่น ได้สร้างปรากฏการณ์ในยุค 90s ด้วยการเป็นนักเตะที่ดีสุดเท่าที่ประเทศนี้เคยมีมา ด้วยความสามารถด้านลูกหนังที่ไม่เป็นสองรองใครในยุโรป แต่ลำพังแค่ผู้เล่นคนเดียวก็ไม่อาจแบก “ฟินแลนด์” ให้ไปถึงรอบสุดท้ายของทัวร์นาเมนต์สำคัญของโลกได้ 

    1

    “ฟินแลนด์” จึงมาเริ่มสร้างนักเตะอย่างจริงจังช่วงผลัดใบจากยุค 90s สู่ยุคมิลเลนเนียม จนได้ผลผลิตออย่าง ซามี่ ฮูเปีย, มิคาเอล ฟอร์สเซลล์, โยนาธาน โยฮันสัน ที่มีดีกรีระดับตัวจริงในพรีเมียร์ลีก อังกฤษ

    ทัพนกฮูก เคยขึ้นไปถึงจุดพีคสุดช่วงปี 2007 ในอันดับ 33 ของโลก แต่ถึงจะอยู่ในช่วงที่เก่งกาจสุด พวกเขาก็ยังดีไม่พอที่จะผ่านเข้ารอบสุดท้ายของทัวร์นาเมนต์นานาชาติ

    เนื่องจากในรอบคัดเลือกยูโร 2008 ฟินแลนด์ดันไปอยู่ในกลุ่มแห่งความตายร่วมกับ โปรตุเกส, โปแลนด์, เซอร์เบีย, เบลเยียม 

    2

    บทสรุปของฟินแลนด์คือการเก็บ 24 แต้ม จาก 14 นัด คะแนนตรงนี้หากอยู่กลุ่มอื่น ก็เพียงพอต่อการเข้ารอบ แต่ไม่ใช่กับกรุ๊ปออฟเดธ เพราะทั้ง โปแลนด์ และ โปรตุเกส ทำแต้มได้มากกว่า ส่งฟินแลนด์ให้ตกรอบไปแบบสุดช้ำ

    ขณะที่รอบคัดเลือกฟุตบอลโลก 2010 ฟินแลนด์ก็ไปไม่ถึงฝันอีกครั้ง แม้เก็บได้ถึง 18 คะแนน จากการแข่งขัน 10 นัด ในรอบคัดเลือก แพ้แค่ 2 เกมเท่านั้น แต่คู่แข่งร่วมกลุ่ม อย่าง เยอรมัน และ รัสเซีย กลับทำแต้มได้มากกว่า ดับความฝันชาวฟินแลนด์ไปอีกครา

    ยุคทองของฟินแลนด์จบลงเพียงเท่านี้ การเปลี่ยนผ่านของผู้เล่นนำมา ซึ่งความตกต่ำของทัพนักฮูก รู้ตัวอีกที พวกเขาก็สร้างสถิติอันดับโลกต่ำสุด ด้วยอันดับ 110 เมื่อปี 2017

    สร้างอนาคตด้วยการส่งไปต่างแดน

    "เมื่อไรจะถึงตาของเราสักที" นี่คือคำพูดติดปากของแฟนบอลฟินแลนด์ หลังทำได้เพียงเชียร์อยู่หน้าจอทีวีทุกครั้งที่ทัวร์นาเมนต์ใหญ่มาถึง ไม่เคยมีโอกาสได้เข้าไปเชียร์ทีมรักในสนามแบบประชาชนชาติอื่น

    ยิ่งมองถึงผลงานในสนามแข่ง การจมอยู่ในฐานะอันดับ 110 ของโลก ยิ่งทำให้ชาวฟินแลนด์แทบไม่หวังถึงการผ่านเข้าสู่รอบสุดท้ายในเร็ววัน เพราะฟุตบอลทีมชาติในยุโรปเป็นที่รู้กันดีว่า มีแต่ทีมระดับโลกของจริงเดินไหล่ชนไหล่กันเต็มไปหมด

    3

    อย่างไรก็ตาม สิ่งหนึ่งที่ฟินแลนด์ยังคงให้ความสำคัญมาตลอด คือการพัฒนาคุณภาพนักฟุตบอลในชาติ ผ่านการสร้างเยาวชนรุ่นใหม่ให้ได้รับการศึกษาด้านลูกหนังด้วยองค์ความรู้ทัดเทียมกับชาติชั้นนำ

    จากอดีตที่นักบอลของฟินแลนด์ต้องเริ่มต้นอาชีพในประเทศ ซึ่งเป็นข้อเสียเปรียบของพวกเขา เนื่องจากไม่ได้มีความสามารถด้านการปลุกปั้นนักเตะได้ดีเท่าชาติอื่น ฟินแลนด์ แก้ปัญหานี้ด้วยการส่งนักเตะออกไปเล่นต่างแดนตั้งแต่วัยเยาว์ เพื่อช่วยดึงศักยภาพของดาวเตะฟินแลนด์ออกมาให้ไวที่สุด

    ลูคัส ฮาราเด็คกี้, เยสซี โยโรเนน, นิโก้ ฮามาไลเน่น, เยเร อูโรเนน, เกล็น คามารา, เฟรดริก แยนเซน, โยแอล โปฮันปาโล, มาร์คัส ฟรอสส์ และ ตีมู ปุกกี ล้วนออกไปค้าแข้งในต่างประเทศตั้งแต่อายุยังน้อย ไม่ว่าจะเป็นที่ อังกฤษ, เยอรมัน, สเปน, สวีเดน, เดนมาร์ก หรือแม้กระทั่ง สหรัฐอเมริกา 

    โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับเด็กรุ่นใหม่ ที่หากคนไหนมีแววเก่งออกมา ตั้งแต่เป็นนักเตะเยาวชน ฟินแลนด์แทบจะส่งเดลิเวอรี่แข้งเหล่านี้ ให้ไปเป็นเด็กฝึกของสโมสรในประเทศอังกฤษ 

    เนื่องจากปัจจุบัน ทีมในอังกฤษโดดเด่นเรื่องการพัฒนาเยาวชน ตั้งแต่ทีมระดับท็อปของพรีเมียร์ลีก จนถึงระดับลีกรอง แม้ว่าเด็กส่วนใหญ่ของฟินแลนด์จะไม่ค่อยได้แจ้งเกิดในลีกระดับบนของอังกฤษ แต่การผ่านช่วงเวลาในฐานะแข้งฝึกหัดก็สามารถสร้างเสริมกระดูก ทั้งในแง่ของฝีเท้า และประสบการณ์การต่อสู้บนเวทีลูกหนังระดับโลกได้เป็นอย่างดี

    4

    หากมองขุมกำลังของฟินแลนด์ในปัจจุบัน พวกเขาไม่มีสตาร์ดังระดับ ซามี ฮูเปีย และ ยารี ลิตมาเนน เหมือนในอดีตสักเกือบ 20 ปีก่อนด้วยซ้ำ แต่ปัจจุบันทีมของฟินแลนด์สมดุลขึ้นมาก นักเตะส่วนใหญ่ของทีมชาติเล่นอยู่ต่างประเทศกระจายไปทั่วยุโรป 

    หมายความว่า ภาพรวมของฟินแลนด์ชุดปัจจุบัน ไม่ได้ไก่กาแบบที่คิด อีกทั้งการที่ดาวเตะของทีมกระจายอยู่ในลีกที่แตกต่างกัน ทำให้นักฟุตบอลของพวกเขาเข้าใจเกมการเล่นที่หลากหลาย ไม่จำกัดอยู่แค่ฟุตบอลสไตล์ใดสไตล์หนึ่งเท่านั้น

    อย่างไรก็ตาม ถ้าจะเป็นทีมฟุตบอลที่แข็งแกร่ง สไตล์การเล่นต้องชัดเจนเช่นกัน และนี่คือโจทย์สำคัญที่ฟินแลนด์ต้องหาให้เจอ เพื่อดึงรสชาติวัตถุดิบที่มีอยู่ในมือให้ออกมาจัดจ้านได้มากที่สุด

    ฟุตบอลแบบครูสอนนักเรียน

    ผู้ที่ต้องมารับโจทย์งานสำคัญครั้งนี้คือ มาร์กคู คาเนอร์วา โค้ชใหญ่ของทีม ที่รับงานมาตั้งแต่ปี 2016 

    ผลงานในช่วงแรกของเขากับ ฟินแลนด์ เรียกได้ว่ายับเยิน เพราะตอนที่ฟินแลนด์ ทำอันดับโลกต่ำสุดในประวัติศาสตร์ ก็มีเขานี่แหละเป็นคนคุมทีม

    กระนั้น คาเนอร์วา มองเป้าหมายในระยะยาวมาตั้งแต่แรก นั่นคือการพาทีมไปลุยยูโร 2020 ให้ได้ ดังนั้น ผลงานระยะสั้นไม่ใช่สิ่งที่เขาต้องการ แต่สิ่งที่โค้ชรายนี้ให้ความสำคัญที่สุด คือการสร้างทีมสปิริตซึ่งจะส่งผลดีในระยะยาว

    5

    โชคดีที่โค้ชรายนี้ เคยผ่านอาชีพการเป็นคุณครูสอนคณิตศาสตร์ในโรงเรียนมาก่อน เขาจึงนำวิธีนั้นมาใช้ในการคุมทัพฟินแลนด์ นั่นคือการเปลี่ยนนักฟุตบอลทุกคนให้กลายเป็นนักเรียนของเขา 

    ไม่สำคัญว่าคุณจะอายุเท่าไร หรือเล่นอยู่ในลีกระดับไหน ทุกคนคือนักเรียนที่จะต้องเชื่อฟังคุณครู รู้จักเรียนรู้ไปพร้อมกัน และเปลี่ยนนักฟุตบอลให้กลายเป็นเพื่อน ไม่ใช่แค่เพื่อนร่วมงาน

    เป้าหมายของการสร้างทีมในรูปแบบนี้ เป็นเพราะคาเนอร์วาเชื่อว่า หากนักเตะของเขาไม่มีทัศนคติที่ดี ก็จะไม่มีทางทำผลงานได้ดีในสนามฟุตบอล แต่ถ้าทุกคนรู้จักรับฟัง เรียนรู้ มีระเบียบวินัย การประสบความสำเร็จในสนามก็ไม่ใช่เรื่องยาก

    การสร้างตัวตนที่ชัดเจนนอกสนาม จึงทำให้การสร้าง DNA ฟุตบอลของฟินแลนด์ไม่ใช่เรื่องยาก ฟุตบอลที่ขยัน และมีระเบียบวินัย ถูกนำมาใช้เป็นแกนหลักของฟินแลนด์

    การเล่นเกมรับอย่างมีระเบียบวินัย ผสมผสานกับการไล่บอลอย่างมุ่งมั่น กลายเป็นจุดเด่นของฟินแลนด์ ในรอบคัดเลือกยูโร 2020 การเสียเพียง 10 ประตู จาก 10 นัด ถือเป็นผลงานที่น่าพอใจอย่างมาก 

    โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อเพื่อนร่วมกลุ่มอย่างอิตาลี ยิงระเบิดถึง 37 ประตูในรอบคัดเลือก แต่ทั้งสองเกมที่พบกัน ฟินแลนด์เสียประตูให้อิตาลี เกมละ 2 ลูกเท่านั้น (ซึ่งไม่มีทีมร่วมกลุ่มทีมไหนเสียน้อยกว่านี้) และในยูโร 2020 รอบสุดท้าย ทุกคนก็คงเห็นแล้วว่า อิตาลี เป็นชาติที่เล่นเกมบุกได้ดุดันแค่ไหน? 

    ส่วนเกมรุกของฟินแลนด์ ถึงจะไม่ใช่จุดขายของพวกเขา แต่แท็กติกที่เน้นให้นักเตะเคลื่อนที่ตลอดเวลา กับเกมสวนกลับที่เฉียบคม ช่วยให้ฟินแลนด์ยิงได้ถึง 16 ประตู โดยมี ตีมู ปุกกี้ เป็นดาวเด่น ยิงคนเดียวถึง 10 ประตู

    6

    ผลงานแค่นี้ก็มากพอที่จะทำให้ฟินแลนด์ปลดล็อกความฝันเข้ามาแข่งในฟุตบอลระดับนานาชาติรอบสุดท้ายได้เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ ด้วยการเก็บ 18 คะแนน จาก 10 นัดในรอบคัดเลือก กลุ่มเจ ตามอิตาลีเข้ารอบไปแบบติดๆ

    ก่อนจะสร้างเซอร์ไพรส์ตั้งแต่เกมแรกใน ยูโร 2020 ด้วยเอาชนะ เดนมาร์ก 1-0 ทั้งที่โอกาสยิงแค่ครั้งเดียวในเกม

    นี่เป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นถึง “ฟุตบอลที่มีระเบียบวินัยและขยันขันแข็ง” ที่กลายเป็นจุดเด่นของฟินแลนด์ยุคใหม่ ซึ่งไม่ว่าพวกเขาจะไปได้ไกลแค่ไหนในศึกชิงแชมป์แห่งชาติยุโรป นี่ก็คือจุดเริ่มต้นที่ดีสุด ในการสร้างตัวตนของฟุตบอลแบบฟินแลนด์อย่างมีประสิทธิภาพให้ผู้คนได้จดจำต่อไป

    อัลบั้มภาพ 8 ภาพ

    อัลบั้มภาพ 8 ภาพ ของ เปิดเคล็ดลับ : ฟุตบอลแบบครูสอนนักเรียนของ "ฟินแลนด์" แนวทางที่ไม่เหมือนใคร