วัฒนธรรมสร้างคน : เหตุใดผู้ช่วยโค้ชเยอรมันจึงประสบความสำเร็จเมื่อเป็นนายใหญ่?

วัฒนธรรมสร้างคน : เหตุใดผู้ช่วยโค้ชเยอรมันจึงประสบความสำเร็จเมื่อเป็นนายใหญ่?

วัฒนธรรมสร้างคน : เหตุใดผู้ช่วยโค้ชเยอรมันจึงประสบความสำเร็จเมื่อเป็นนายใหญ่?
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

การพัฒนาคนให้มีคุณภาพในแต่ละสาขาอาชีพได้นั้น "ครู" คือบุคคลสำคัญในการถ่ายทอดความรู้ไปยังผู้เรียน เช่นเดียวกับฟุตบอล ที่บรรดาชาติมหาอำนาจของโลกลูกหนัง มักมีโค้ชที่เก่งๆก้าวขึ้นมาเสมอ

และจากการที่ เยอร์เก้น คล็อปป์, ฮันซี่ ฟลิค และ โธมัส ทูเคิล เป็นกุนซือชาวเยอรมันที่คว้าแชมป์ ยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ ลีก 3 ปีติดต่อกันแบบไม่ซ้ำหน้า หลังจากที่ ไบรอัน คลัฟ (น็อตติ้งแฮม ฟอเรสต์), บ็อบ เพสลีย์ (ลิเวอร์พูล) และ โทนี่ บาร์ตัน (แอสตัน วิลล่า) เคยทำได้ระหว่างปี 1980-1982 ทำให้ระบบการสร้างโค้ชของเยอรมันกลับมาได้รับความสนใจอีกครั้ง

เป็นที่น่าสังเกตว่า บรรดากุนซือชื่อดังในเยอรมนี มักจะเคยผ่านงานผู้ช่วยโค้ชมาก่อนอย่าง โยอาคิม เลิฟ บุนเดสเทรนเนอร์คนปัจจุบัน เคยเป็นมือขวาของ เยอร์เก้น คลิ้นส์มันน์ ในทีมชาติ เช่นเดียวกับ ฮันซี่ ฟลิค ว่าที่เฮดโค้ชทีมชาติคนใหม่ ก็เคยเป็นผู้ช่วยของ เลิฟ และ นิโก้ โควัช อดีตนายใหญ่ บาเยิร์น มิวนิค 

นอกจากนี้ โธมัส ทูเคิล ผู้จัดการทีมของ เชลซี, ยูเลียน นาเกลส์มันน์ ว่าที่นายใหม่ บาเยิร์น หรือแม้แต่ เอดิน เทอร์ซิช กุนซือขัดตาทัพของดอร์ทมุนด์ที่เพิ่งพาทีมคว้าแชมป์บอลถ้วย เดเอฟเบ โพคาล ก็เคยรับบทพระรองเช่นกัน 

และเมื่อเทียบกับประเทศอื่นอย่าง อังกฤษ, สเปน หรือ อิตาลี ก็นับว่าในเยอรมนี มีอดีตมือขวาที่ผันตัวมาเป็นเฮดโค้ชแล้วประสบความสำเร็จอย่างโดดเด่นเป็นจำนวนไม่น้อย เรื่องราวนี้มีปัจจัยมาจากอะไร? Main Stand มีคำอธิบาย..

ไม่มีทางลัด

"โค้ชประเภทไหนดีกว่ากัน?" ระหว่างคนที่เคยเป็นนักเตะดังมาก่อน กับคนที่แทบจะเริ่มไต่เต้าจากศูนย์? ถือเป็นคำถามโลกแตก แต่เมื่อมองไปยังโค้ชเยอรมันที่ประสบความสำเร็จ ก็ต้องบอกว่ามาจากประเภทหลังเยอะกว่า ไม่ว่าจะเป็น ทูเคิล, นาเกลส์มันน์ และ เทอร์ซิช ต่างก็ไม่ได้มีชื่อเสียงสมัยเป็นนักเตะ 

1

นั่นทำให้พวกเขาต้องเริ่มไต่เต้ามาตามลำดับขั้นตอน เก็บเกี่ยวประสบการณ์จากอะคาเดมีหรือทีมเล็กๆ พร้อมกับนำเทคโนโลยีและสถิติเข้ามาใช้กับการคุมทีม จนมีประสบการณ์ตรงกับสายวิชาชีพโค้ชมากกว่า

อย่างกรณีของ ทูเคิล เขาเคยค้าแข้งกับทีมในลีกล่างอย่าง สตุ๊ตการ์ท คิกเกอร์ส และ อูล์ม ก่อนจะเริ่มจับงานโค้ชกับทีมเยาวชนของ สตุ๊ตการ์ท และเป็นผู้ช่วยผู้ฝึกสอนทีมเยาวชน รุ่นอายุไม่เกิน 19 ปี ซึ่งปลุกปั้น มาริโอ โกเมซ กับ โฮลเกอร์ บาดสตูเบอร์ สองดาวรุ่งในตอนนั้นให้ก้าวไปสู่การติดทีมชาติเยอรมันในเวลาต่อมา

โดยในปี 2005 เจ้าตัวได้กลับไปยัง เอาก์สบวร์ก สโมสรที่เคยเล่นสมัยเป็นเยาวชน และ อันเดรียส เรททิก ผู้อำนวยการกีฬาเห็นแววทางด้านการวางแทคติก จึงให้เจ้าตัวรับหน้าที่เป็นผู้ประสานงานทีมเยาวชน ก่อนจะได้รับโอกาสให้คุมทีมสำรองของ เอาก์สบวร์ก แล้วถูก ไมนซ์ ดึงตัวไปเป็นโค้ชรุ่นอายุไม่เกิน 19 ปี ในปี 2009 และถูกโปรโมตให้คุมทีมชุดใหญ่ในปีถัดมา

2

ขณะที่ ยูเลียน นาเกลส์มันน์ เจ้าของสถิติเฮดโค้ชที่อายุน้อยที่สุดในประวัติศาสตร์บุนเดสลีกา เป็นโค้ชตั้งแต่อายุ 20 ปี เนื่องจากบาดเจ็บหนักบริเวณหัวเข่า และเริ่มต้นเส้นทางสายนี้ด้วยการเป็นแมวมองให้กับ ทูเคิล ที่เอาก์สบวร์ก ก่อนจะเปลี่ยนสายเรียนจากบริหารธุรกิจเป็นวิทยาศาสตร์การกีฬาในมหาวิทยาลัยและเรียนด้านโค้ชเต็มตัว 

ซึ่ง นาเกลส์มันน์ ได้เป็นผู้ช่วยโค้ชให้กับ 1860 มิวนิค รุ่นอายุไม่เกิน 17 ปี ในปี 2008 ก่อนจะย้ายไป ฮอฟเฟ่นไฮม์ ในอีก 2 ปีต่อมา และเป็นโค้ชเยาวชนหลายรุ่น รวมถึงเป็นผู้ช่วยโค้ชทีมชุดใหญ่ในฤดูกาล 2013 ก่อนจะก้าวมาเป็นเฮดโค้ชทีมชุดใหญ่ในปี 2016 ด้วยวัยเพียง 28 ปี

ส่วน โยอาคิม เลิฟ โค้ชทีมชาติเยอรมัน ผู้คุมทีมชาติยาวนานที่สุดในโลกเป็นเวลาถึง 15 ปี ก็เคยผ่านการเป็นมือขวาของ เยอร์เก้น คลิ้นส์มันน์ กุนซือคนก่อน ทั้งที่ เลิฟ ก็เคยรับงานคุมทีมหลายสโมสร แต่มาประสบความสำเร็จสูงสุดตอนรับช่วงต่อจาก คลิ้นส์มันน์ พาทีมคว้าทั้งแชมป์ฟุตบอลโลก 2014 และคอนเฟเดอเรชั่นส์ คัพ 2017 

3

ขณะที่ เทอร์ซิช ซึ่งมีเชื้อสายบอสเนีย-โครเอเชีย ที่เกิดในเยอรมนี ก็ไต่เต้ามาจากการเป็นแมวมองและผู้ช่วยโค้ชเยาวชนของดอร์ทมุนด์ในยุค เยอร์เก้น คล็อปป์ ก่อนจะไปเป็นผู้ช่วยของ สลาเวน บิลิช ที่ เบซิคตัส กับ เวสต์แฮม และกลับมายังดอร์ทมุนด์อีกครั้งในฐานะมือขวาของ ลูเซียง ฟาฟร์ จนถูกดันขึ้นไปเป็นกุนซือชั่วคราวหลังจากที่ ฟาฟร์ โดนปลด และพาทีมคว้าแชมป์บอลถ้วยเป็นครั้งแรกในรอบ 4 ปี ทั้งที่คุมทีมเพียง 5 เดือนเท่านั้น

ความสมบูรณ์แบบ

ในบรรดาอดีตผู้ช่วยที่ก้าวขึ้นมาเป็นกุนซือที่รู้จักกันอีกคนหนึ่งก็คือ ฮันซี่ ฟลิค ว่าที่เทรนเนอร์ทีมชาติเยอรมัน เขาเคยผู้ช่วยของ เลิฟ และเป็นมือขวาของ โจวานนี่ ตราปัตโตนี่ ที่ เร้ด บูล ซัลซ์บวร์ก กับ นิโก้ โควัช ที่ บาเยิร์น มิวนิค ก่อนจะคุมทีม บาเยิร์น คว้า 3 แชมป์ทั้ง บุนเดสลีกา, บอลถ้วยเดเอฟเบ โพคาล และ ยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ ลีก ในฤดูกาล 2019-20

แม้ว่า ฟลิค จะมีเส้นทางอาชีพค้าแข้งที่โดดเด่นกว่า ทูเคิล, นาเกลส์มันน์ และ เลิฟ เมื่อเป็น 1 ในขุนพล บาเยิร์น ชุดแชมป์บุนเดสลีกา 4 สมัย ระหว่างปี 1985-1990 แต่ดีกรีเหล่านี้ก็ไม่ได้เป็นใบเบิกทางให้เขาได้คุมทีมในลีกสูงสุดทันที ฟลิค เริ่มต้นเส้นทางโค้ชด้วยการรับตำแหน่ง ผู้เล่น-ผู้จัดการทีม ให้กับ วิคตอเรีย บัมเมนทัล ในระดับ โอเบอร์ลีกา หรือ ดิวิชั่น 5 ของเยอรมัน ก่อนจะขยับขึ้นมาเป็นผู้ช่วยโค้ช และโค้ช ของทั้งบาเยิร์นและทีมชาติตามลำดับ

4

ความจริงแล้ว ด้วยประสบการณ์ในบุนเดสลีกาและเวทียุโรปของ ฟลิค นั้น น่าจะเริ่มจากการคุมทีมระดับกลางๆได้สบาย แต่เจ้าตัวก็ยังเริ่มต้นการเป็นโค้ชในลีกระดับล่าง ทำให้ได้เจอกับมุมมองใหม่ๆ และนำไปพัฒนาเป็นไอเดียตัวเอง

นั่นหมายความว่า การเป็นผู้ช่วยโค้ชสำหรับคนเยอรมัน ไม่ได้เป็นผู้มีฝีมือไม่พอ หรือไม่เหมาะที่จะขึ้นมาเป็นหัวเรือใหญ่ แต่เป็นส่วนหนึ่งของการเก็บประสบการณ์ เพื่อรอเวลาที่สมบูรณ์แบบ ซึ่งสอดคล้องกับบทความของ Live Science เว็บไซต์เผยแพร่ข่าวสารทางวิทยาศาสตร์ ที่เผยถึงคาแรคเตอร์ของชาวเยอรมันว่า เป็นพวกที่รักความเพอร์เฟ็กต์และความเป๊ะในทุกแง่มุมของชีวิต 

และความจริงก็คือว่า นี่ไม่ใช่เรื่องใหม่สำหรับวงการฟุตบอลบ้านเขา เพราะมันเป็นสิ่งที่ทำกันมานานเกือบร้อยปีในทีมชาติเยอรมัน ตั้งแต่ ออตโต้ แนร์ซ กุนซือคนแรกในประวัติศาสตร์ ที่แต่งตั้ง เซ็ปป์ แฮร์แบร์เกอร์ เป็นมือขวาเมื่อปี 1932 ซึ่งอีก 4 ปีต่อมา แฮร์แบร์เกอร์ ก็สืบทอดตำแหน่งจาก แนร์ซ อีกที (ระบบมือขวาสืบทอดตำแหน่งหยุดไปในยุคของ ฟรานซ์ เบคเคนบาวเออร์, แบร์ตี้ โฟกส์ และ รูดี้ โฟลเลอร์ ขณะที่ เอริค ริบเบ็ค เคยเป็นมือขวาของ จุ๊ปป์ แดร์วัลล์ มาก่อน)

5

และจากระบบนี้ ทำให้เยอรมันมีกุนซือคุณภาพเยี่ยมแทบจะไม่ขาดสาย แม้บางรายจะไม่ได้เป็นโค้ชทีมชาติตัวเอง แต่ก็ประสบความสำเร็จเป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติ ไม่ว่าจะเป็น เด็ตมาร์ คราเมอร์ อดีตกุนซือ บาเยิร์น และ ทีมชาติไทย ผู้วางรากฐานแก่หลายประเทศในเอเชีย, เฮเนส ไวส์เวเลอร์ ผู้พา โบรุสเซีย มึนเช่นกลัดบัค คว้าแชมป์บุนเดสลีกา 4 สมัย และ ยูฟ่า คัพ 1 สมัย ในช่วงทศวรรษที่ 70, อูโด้ ลัทเท็ค ผู้คว้าแชมป์ฟุตบอลถ้วยยุโรปกับ 3 สโมสร (บาเยิร์น, กลัดบัค และ บาร์เซโลน่า)

ในส่วนของยอดโค้ชในอดีต นอกจากสายโค้ชทีมชาติ ที่เคยเป็นผู้ช่วยมาก่อน ก็มี จุ๊ปป์ ไฮย์เกส ซึ่งเริ่มต้นจากการเป็นมือขวาของ ลัทเท็ค ที่กลัดบัค และถูกดันขึ้นมาเป็นบิ๊กบอสด้วยวัยเพียง 34 ปี ก่อนจะพา บาเยิร์น มิวนิค คว้า 3 แชมป์ และนำ เรอัล มาดริด ซิวแชมป์ยุโรปในเวลาต่อมา

วิชาโค้ชที่ทั่วถึง

จากการจัดอบรมโค้ชอย่างทั่วถึงของสหพันธ์ฟุตบอลเยอรมัน (DFB) ทำให้อาชีพโค้ช ไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะนักฟุตบอลชื่อดังเท่านั้น และจาก Club Licensing หรือ ใบอนุญาตสโมสร ที่สหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ (FIFA) บังคับใช้ ทำให้คุณภาพผู้ฝึกสอน วัดกันที่ฝีมือและ Licence โค้ช ไม่ใช่ชื่อเสียงสมัยค้าแข้ง กล่าวคือ ต่อให้คุณเคยเป็นนักเตะดังแค่ไหน แต่ถ้าคุณไม่เรียนโค้ชเพื่อสอบเอาใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ คุณก็หมดสิทธิ์คุมทีม

6

เห็นได้ชัดว่า โค้ชที่เก่ง ไม่จำเป็นต้องเคยเป็นนักฟุตบอลฝีเท้าเยี่ยมเสมอไป เหมือนอย่างที่ อาร์ริโก้ ซาคคี่ ผู้ไม่เคยมีประสบการณ์เล่นฟุตบอลระดับอาชีพ เคยกล่าววลีอมตะไว้ตอนคุมทีมระดับโลกอย่าง เอซี มิลาน ว่า "ผมไม่ยักรู้ว่าก่อนจะเป็นจ็อกกี้ต้องเคยเป็นม้ามาก่อน" ก่อนจะพา มิลาน คว้าแชมป์ลีก 1 สมัย และแชมป์ยุโรปอีก 2 สมัย

จากข้อมูลของสหพันธ์ฟุตบอลยุโรป เยอรมันมีโค้ชระดับ B Licence 28,400 คน, A Licence 5,500 คน และ Pro Licence 1,070 คน (มากกว่า อังกฤษ ที่มี Licence ระดับ Pro, A และ B อยู่ที่ 115, 895 และ 1,759 คนตามลำดับ) นั่นหมายความว่าพวกเขาจะไม่ขาดแคลนโค้ชฝีมือดี ที่ทำงานอยู่กับทั้งสโมสร, DFB และ ระดับรากหญ้า ด้วยเหตุผลนี้ ยิ่งทำให้ระบบไต่เต้าจากการเป็นผู้ช่วยสู่โค้ชทีมชุดใหญ่ สามารถสานต่อได้ง่ายยิ่งขึ้น หลังจากที่เคยขาดแคลนไปช่วงหนึ่งเมื่อประมาณทศวรรษที่ 90 ก่อนจะมีการปูพรมสร้างโค้ชรุ่นใหม่ จากความล้มเหลวใน ยูโร 2000 ที่เยอรมันตกรอบแรกด้วยการเป็นบ๊วยของกลุ่ม

"เมื่อก่อนในเยอรมนี ถ้าคุณเล่นในบุนเดสลีกาสัก 4-5 ปี สโมสรก็จะพูดว่า เราจะให้พวกเขาไปคุมทีมรุ่นอายุไม่เกิน 17 ปี" แฟรงค์ อาร์เนเซ่น อดีตผู้อำนวยการกีฬาของ เชลซี และ สเปอร์ส ผู้เคยทำงานในเยอรมันกับสโมสรฮัมบูร์กกล่าว

"แต่พวกเขาไม่มีความรู้ที่จะเป็นโค้ช บางครั้งสิ่งเดียวกันก็เกิดขึ้นกับอังกฤษ ในสนามนักเตะเหล่านี้เล่นดีมาก แต่ไม่ได้หมายความว่าพวกเขาจะเป็นโค้ชที่ดี" 

"ตอนนี้สิ่งนี้ได้เปลี่ยนไปแล้ว ในเยอรมนีมีโค้ชทั้งรุ่นอายุไม่เกิน 15, 17 และ 19 ปี สโมสรให้เงินเดือนพวกเขาให้สามารถทำงานได้แบบฟูลไทม์ โค้ชมาจากมหาวิทยาลัยที่เรียนด้านกีฬามาโดยตรง พวกเขานำศาสตร์ลูกหนังมาผสมผสานกันและทำให้มันดีขึ้น"

จากการมีโค้ชที่มีคุณภาพ ได้ส่งผลถึงระดับเยาวชนและรากหญ้า ซึ่งท้ายที่สุดประโยชน์ก็จะตกอยู่กับทีมชาติที่มีนักเตะฝีเท้าเยี่ยมเข้าสู่สารบบไม่ขาดสาย อย่างล่าสุดที่แข้งวัยรุ่นอย่าง ไค ฮาแวร์ตซ์ (21 ปี) กับ จามาล มูเซียล่า (18 ปี) ได้ติดทีมชาติเยอรมันไปเล่นใน ยูโร 2020 ซึ่งทั้ง 2 คนก็เป็นเด็กในคาถาของ ทูเคิล และ ฟลิค ในฤดูกาลที่ผ่านมานี่เอง

อัลบั้มภาพ 6 ภาพ

อัลบั้มภาพ 6 ภาพ ของ วัฒนธรรมสร้างคน : เหตุใดผู้ช่วยโค้ชเยอรมันจึงประสบความสำเร็จเมื่อเป็นนายใหญ่?

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook