ยิงนกพิราบทั้งเป็น : การแข่งขันที่นองเลือด, ลำบาก และวุ่นวายที่สุดในโอลิมปิก

ยิงนกพิราบทั้งเป็น : การแข่งขันที่นองเลือด, ลำบาก และวุ่นวายที่สุดในโอลิมปิก

ยิงนกพิราบทั้งเป็น : การแข่งขันที่นองเลือด, ลำบาก และวุ่นวายที่สุดในโอลิมปิก
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

โอลิมปิก คือกีฬาของมนุษยชาติ ฟังแล้วช่างดูยิ่งใหญ่ ทว่าอีกนัยหนึ่งมันก็บอกอยู่แล้วว่าเป็นกีฬาสำหรับเผ่าพันธุ์มนุษย์เท่านั้น เผ่าพันธุ์อื่นเป็นได้แค่ผู้ช่วยหรือตัวประกอบเท่านั้น

ม้า ยังได้รับเกียรติให้คล้องเหรียญ แต่ นกพิราบ นี่สิน่าสงสารที่สุด โดยเฉพาะการแข่งขันในปี 1900 ที่ประเทศฝรั่งเศส 

นี่คือการแข่งขันที่นองเลือดและล้างบางนกพิราบในกรุงปารีส แต่เป็นที่สนุกสนานของคนแข่งและคนดู จนถูกเล่าขานมาจนถึงปัจจุบัน

ติดตามเรื่องราวทั้งหมดกับ Main Stand..

แข่งขันตามไลฟ์สไตล์ 

ย้อนกลับไปในการแข่งขันโอลิมปิกปี 1900 หรือโอลิมปิกครั้งที่ 2 ที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศสนั้น ประเภทการแข่งขันไม่ได้มากได้มายเหมือนปัจจุบัน เนื่องด้วยนักกีฬาจากประเทศต่างๆนั้นเดินทางมาแสนยากเย็น อีกทั้งวิทยาการในสมัยนั้นไม่ได้ล้ำยุคล้ำสมัย ชนิดที่ว่ามีอะไรก็ต้องแข่งๆกันไปก่อน 

หนึ่งในกีฬาที่มีการชิงชัยมากที่สุดคือการแข่งขันยิงปืน เพราะปืนถือเป็นอาวุธคู่กายของมนุษย์โลก และในตอนนั้นใครที่มีอาวุธปืนเป็นของตัวเองก็จัดว่าเจ๋งสุดๆ ดังนั้น จึงเป็นกีฬาที่คัดกรองระหว่างความแตกต่างระหว่างคนธรรมดา กับนักกีฬาได้เป็นอย่างดี 

1

การยิงปืนในโอลิมปิกปี 1900 มีหลายแบบทั้งยืนยิง นอนยิง นั่งยิง หรือแม้จะเป็นการยิงเป้านิ่ง.. ทว่าไม่มีอะไรจะคลาสสิกและถูกพูดถึงมากเท่ากับการแข่งขัน ยิงเป้าบิน

เป้าบินแปลกยังไง? ถ้าปัจจุบันก็ง่ายๆ มีเครื่องยิงจานร่อนขึ้นบนฟ้า ให้นักกีฬาเอาปืนสอยให้จานแตก แต่ยุคนั้นอย่างที่ได้กล่าวไป ไม่มีวิทยาการ ไม่มีเครื่องมืออุตสาหกรรมที่ล้ำสมัยเหมือนในทุกวันนี้ ดังนั้น ง่ายที่สุดสำหรับการทำเป้าบินคือ "ไม่ต้องทำ".. เมื่ออยากได้เป้าบินจะร่อนจานทำไมให้เสียเวลา จับนกพิราบมาปล่อยจากกรง และให้มันบินขึ้นฟ้า และกลายเป็นเป้าบินมีชีวิตไปโดยปริยาย 

แม้จะดูเป็นวิธีที่โหดร้าย แต่สำหรับในช่วงเวลาถือว่าไม่ใช่สิ่งแปลกประหลาดอะไร การแข่งขันยิงเป้าบินในโอลิมปิก 1900 นั้นถูกยกระดับอีกขั้นด้วยการระบุว่าเป็นกีฬาประเภท "Très Aristocratique" (ชนชั้นสูง) เรียกได้ว่าเป็นการถอดเอาไลฟ์สไตล์ของชนชั้นขุนนางในยุโรปยุคนั้นมาแข่งขันกันก็ว่าได้ 

2

เพราะในยุคนั้น การล่าสัตว์ถือเป็นกิจกรรมยอดฮิตของชนชั้นขุนนางเท่านั้น เพราะอาวุธปืนมีราคาแพง และการสะสมพวกอวัยวะสัตว์ หรือการสตัฟฟ์สัตว์ที่ล่ามาเอง ถือเป็นการบ่งบอกถึงอำนาจและฝีมือในการเป็นนักรบอีกด้วย 

ดังนั้น นี่จึงเป็นการแข่งขันที่เหล่าชนชั้นสูงไม่ได้รู้สึกว่ามันเป็นการทรมานสัตว์หรืออย่างใด และมีผู้ร่วมเข้าชิงชัยกันมากกว่า 20 ชาติ ส่วนใหญ่เป็นชาติในยุโรปทั้งนั้น และแต่ละคนมียศมีระดับทั้งสิ้น ซึ่งก็พอจะบอกได้ว่าเพราะความโปรดปรานในการล่าสัตว์ของพวกเขาเหล่านี้ เป็นเหตุผลที่ทำให้ "การฆ่าโดยเจตนา" เกิดขึ้นในโอลิมปิกเป็นครั้งแรกและครั้งเดียวในประวัติศาสตร์การแข่งขันของมนุษยชาติ

ตื่นตาตื่นใจ 

การยิงเป้าบินในโอลิมปิก 1900 มีชื่อเรียกเฉพาะว่า Live Pigeon Shooting หรือแปลเป็นไทยก็คือ "การยิงนกพิราบที่ยังมีชีวิต" 

3

การแข่งขันยิงนกพิราบนั้น มีแบ่งออกเป็น 2 ระยะคือระยะ 25 และ 35 หลา กติกามีอยู่ว่า จะมีการเปิดกรงนกพิราบที่มีอยู่หลายจุด โดยผู้ปล่อยนกจะสุ่มเปิดกรงโดยไม่แจ้งให้นักกีฬาทราบ และเมื่อนกพิราบตัวนั้นๆโดนยิง จนร่วงไปตกบริเวณโซนของนักกีฬาคนไหน นักกีฬาคนนั้นก็จะถูกนับว่าสังหารนกพิราบไป 1 ตัว.. โดยนักกีฬาแต่ละคนจะมีโอกาสยิงกระสุนแค่ 2 นัดเท่านั้น ต่อการปล่อยนก 1 ครั้ง 

การยิงที่มีจำนวนครั้งกำหนด ทำให้การแข่งขันมีความกดดันสำหรับผู้แข่ง อีกทั้งยังมีความน่าตื่นเต้นสำหรับคนดูด้วย เพราะไม่บ่อยนักหรอกที่คนธรรมดาสามัญจะได้เห็นอาวุธปืนชั้นดีใกล้ๆด้วยตาตัวเอง อีกทั้งพวกเขายังได้เห็นนกพิราบที่ร่วงจากท้องฟ้าเป็นร้อยๆตัว แม้จะโหดร้าย แต่ก็ถือว่าเป็นหนึ่งในความบันเทิงของยุคนั้นเช่นกัน 

เงินรางวัลในการแข่งขันยิงนกพิราบที่โอลิมปิก 1900 นั้นไม่ธรรมดา เพราะมีมูลค่าถึง 20,000 ฟรังก์ หรือถ้าเปรียบเทียบเป็นเงินในยุคปัจจุบันโดยตีเป็นเงินไทยจะอยู่ที่ 3.7 ล้านบาทเลยทีเดียว ดังนั้น เดิมพันจึงสูงมาก และขุนนางจากประเทศต่างๆ จึงขนปืนที่ตัวเองคิดว่าเจ๋งที่สุด เอามาแสดงศักยภาพในการแข่งขันครั้งนี้ แม้ต้องจ่ายค่าสมัครเพื่อแข่งขันก็ตาม

และในการแข่งขันยิงนกพิราบที่โอลิมปิก ปี 1900 นั้นมีนกที่ต้องตายมากกว่า 300 ตัว (ต่อการแข่งขัน 1 วัน) ซึ่งผู้ชนะในการแข่งขันคือ เลออน เดอ ลุนเดน จากเบลเยียม ที่สังหารนกพิราบร่วงในเขตของตัวเองได้ถึง 21 ตัว

แม้จะตื่นเต้น ตื่นตา และ ตื่นใจมากที่สุดในการแข่งขันโอลิมปิกครั้งนั้น ทว่านั่นคือครั้งสุดท้ายที่การแข่งขันยิงนกพิราบถูกบรรจุในมหกรรมกีฬาโอลิมปิก เหตุผลไม่ใช่เพราะว่าพวกเขารู้สึกผิดบาป ทว่าเป็นความลำบากและขี้เกียจต่างหาก

ไปแข่งอย่างอื่นง่ายกว่า 

อย่างที่ได้กล่าวไว้ข้างต้น คนในยุคนั้นไม่ได้มองการยิงนกพิราบเป็นๆว่าเป็นการทำบาปหรือทำลายชีวิต เพราะพวกเขามีไลฟ์สไตล์ที่เป็นเช่นนั้นอยู่แล้ว การยิงและสังหารสัตว์ป่าเพื่อความอยู่รอด คือเหตุผลที่ทำให้ชีวิตนกพิราบไม่ได้ทำให้คนยุคนั้นตระหนักถึงมันสักเท่าไหร่

แต่ปัญหาจริงๆนั้นไม่ได้อยู่ที่คนยิงนก แต่มันอยู่ที่แผนกจับนกเอามาใช้ในการแข่งขันมากกว่า เพราะพวกเขาต้องเสียเวลาไปจับนกทุกๆวันเพื่อให้เพียงพอต่อนักกีฬาหลายสิบคน อีกทั้งยังมีนักกีฬาที่ต้องการซ้อมกับเป้าจริงอีกต่างหาก 

4

จริงอยู่ที่การจับนกมันไม่ได้ยากเย็นอะไรเลย แต่คุณลองนึกดีๆว่า นกพิราบที่ทีมจับได้ ภารกิจคือต้องจับโดยละมุนละม่อม สภาพร่างกายแข็งแรง ไม่โดนยิงด้วยปืนหรือแม้กระทั่งหนังสติ๊กมาก่อน เพื่อให้พวกมันบินดี บินเร็ว ในการแข่งขันจริง ตรงนั้นแหละที่มันยากกว่า 

นอกจากนี้ ไม่ใช่แค่แผนกหานกเท่านั้น อีกแผนกที่ลำบากลำบนไม่แพ้กัน คือแผนกเก็บซากนกที่ตายหรือโดนยิงหลังจากการแข่งขันจบลง เพราะมีการรายงานกันว่า ณ สถานที่แข่งขันนั้น ขนนกกระจายเกลื่อนกลาดเต็มไปหมด ไม่ต้องพูดถึงศพของนกอีก 200-300 ศพ ให้ตามเก็บกันทุกวันไม่รู้จักจบจักสิ้น

และที่ลำบากที่สุดคือนกบางตัวที่อึดถึกทนเกินเหตุ โดนยิงแล้วยังไม่ตายนอนพะงาบๆบนพื้นดินนั้น ก็เป็นหน้าที่ของทีมเก็บกวาดที่ต้องสงเคราะห์ให้พวกมันพ้นความทรมานอีกด้วย 

ดังนั้น หลังจากการแข่งขันในปี 1900 จบลง โอลิมปิกก็ไม่เคยบรรจุกีฬายิงนกพิราบอีกเลย คงเหลือไว้เพียงแต่กีฬาแข่งนกพิราบเท่านั้น ซึ่งแน่นอนว่าแข่งนกพิราบนั้นง่ายกว่าเยอะ เพราะผู้แข่งเอานกของตัวเองเข้ามาแข่งขัน เมื่อแข่งขันเสร็จก็เอากลับไปเลี้ยงดูต่อ ไม่เป็นภาระให้กับทีมเก็บกวาดเหมือนกับการต้องมาไล่ซ้ำนกที่ปีกหัก หรือทรมานกับความตายในกีฬายิงนกพิราบเลยนั่นเอง

โหดร้ายแต่ต่อยอดได้ 

แม้จะเป็นการแข่งขันที่สร้างความลำบากให้กับเจ้าหน้าที่และเบียดเบียนชีวิตสัตว์โลก แต่การยิงนกพิราบและล่าสัตว์ยังคงดำเนินต่อไปและเป็นที่นิยมของชาวยุโรปชั้นสูงในยุคปลายศตวรรษที่ 19 ต่อต้นศตวรรษที่ 20 ดังนั้น จากการแข่งขันโอลิมปิกปี 1900 ก็ถือเป็นโอกาสดีที่บริษัทผลิตปืนต่างๆจะได้ออกแบบปืนที่สามารถตอบโจทย์สำหรับเหล่านักล่า สามารถยิงได้ต่อเนื่อง ไม่ขัดลำกล้อง และมีระยะการยิงที่ไกลยิ่งกว่าเดิม 

คริส บาธ่า นักเขียนเกี่ยวกับเรื่องราวของปืน ในเว็บไซต์ Shooting Sportsman เล่าว่า ปืนจากการใช้ล่าสัตว์ และการยิงนกพิราบของชนชั้นสูงในยุคเก่านั้น ถูกต่อยอดให้ดีขึ้นกว่าเดิม และสามารถกลายเป็นสารตั้งต้นอาวุธที่ดีขึ้นกว่าเดิม และอาจรวมถึงอาวุธสงครามที่ใช้ในปัจจุบันด้วย 

5

โดยเฉพาะกลุ่มผู้ผลิตปืนจากประเทศอิตาลีนั้น มีการพัฒนาปืนจนกลายเป็นปืนอย่าง Beretta, ปืนลูกซองแบบหักคออย่าง Fabbri และ Perazzi ที่กลายเป็นที่นิยมในการล่าสัตว์ภายหลัง ซึ่งปืนเหล่านี้มีการแบ่งเกรดจากธรรมดาไปจนถึงพรีเมี่ยม และเกรดที่ดีที่สุดถูกเรียกว่า เกรดนกพิราบ (Pigeon Grade) ซึ่งนั่นชัดเจนว่าการตายของนกพิราบในโอลิมปิกและหลังจากนั้น ถือเป็นสิ่งชี้วัดคุณภาพของปืนได้เป็นอย่างดี

ซึ่งส่วนใหญ่จะหมายถึงพวกนกหรือนกเป็ดน้ำนั่นแหละ เรียกได้ว่าอย่างไรเสียถึงพวกมันไม่ตายในสนาม พวกมันก็ต้องถูกยิงตายในธรรมชาติอยู่ดี แม้กระทั่งทุกวันนี้ที่แม้บางประเทศมีกฎห้ามล่าและห้ามยิงนกพิราบ แต่ก็ยังมีอีกหลายที่หลายประเทศที่ยังคงเป็นที่นิยมอยู่ ได้แก่ สเปน, โปรตุเกส, เม็กซิโก, อาร์เจนติน่า และ สหรัฐอเมริกา ซึ่งในบางรัฐถือว่าเป็นการยิงที่ถูกกฎหมายอีกด้วย 

6

ดูเหมือนว่าแม้จะกล่าวอ้างถึงศีลธรรมอันดีขนาดไหน แต่ที่สุดแล้ว "ปลาใหญ่กินปลาเล็ก" คือวัฏจักรของทุกสิ่งบนโลกนี้ ที่มนุษย์เลือกยิงนกพิราบก็เพราะมันเป็นนกที่มีจำนวนมาก พบได้ในหลายพื้นที่ และบินเก่ง ที่สำคัญคือมันอ่อนแอ.. และผู้อ่อนแอก็มักจะต้องหนีเอาชีวิตอย่างสุดความสามารถ เมื่ออยู่ต่อหน้าผู้ที่แข็งแกร่งกว่าอย่าง มนุษย์

แม้จะน่าเศร้าแต่ก็ต้องยอมรับความจริงเรื่องนี้

อัลบั้มภาพ 6 ภาพ

อัลบั้มภาพ 6 ภาพ ของ ยิงนกพิราบทั้งเป็น : การแข่งขันที่นองเลือด, ลำบาก และวุ่นวายที่สุดในโอลิมปิก

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook