"-20 องศา" : 1963.. ปีที่ฟุตบอลอังกฤษต้องเล่นบนสนามพื้นน้ำแข็ง

"-20 องศา" : 1963.. ปีที่ฟุตบอลอังกฤษต้องเล่นบนสนามพื้นน้ำแข็ง

"-20 องศา" : 1963.. ปีที่ฟุตบอลอังกฤษต้องเล่นบนสนามพื้นน้ำแข็ง
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

บ็อกซิ่งเดย์ คือหนึ่งในธรรมเนียมที่มีมาอย่างยาวนานของฟุตบอลอังกฤษ สโมสรตั้งแต่ลีกบนยันลีกล่าง ต้องมาฟาดแข้งกันท่ามกลางอากาศอันหนาวเหน็บในช่วงปลายปี

อย่างไรก็ดี มีปีหนึ่งที่พวกเขาต้องพ่ายแพ้ให้กับธรรมชาติอันโหดร้าย หลังอุณหภูมิติดลบถึง 20 องศาเซลเซียส ที่ทำให้ทุกอย่างกลายเป็นน้ำแข็ง ไม่เว้นแม้แต่สนามฟุตบอล 

เกิดอะไรขึ้นในตอนนั้น? ร่วมติดตามไปพร้อมกับ Chronicles

ธรรมเนียมกว่า 100 ปี 

เมื่อลมหนาวพัดโชยมา ก็เป็นเหมือนสัญญาณสำหรับประเทศเหนือเส้นศูนย์สูตรว่าฤดูหนาวอันโหดร้ายกำลังคืบคลานมาอีกครั้ง เพราะมันไม่ใช่แค่อุณหภูมิที่ลดต่ำลง แต่ยังมีลมที่พัดแรง รวมไปถึงพายุหิมะในบางครั้ง 

ทำให้ในช่วงปลายปี ลีกน้อยใหญ่ในยุโรปจะหยุดเตะเป็นการชั่วคราว หรือที่รู้จักกันในชื่อ พักเบรกฤดูหนาว (Winter Break) โดยส่วนใหญ่จะเริ่มหยุดตั้งแต่ก่อนคริสต์มาส แล้วไปเปิดลีกกันอีกทีหลังปีใหม่

1

แต่ไม่ใช่สำหรับลีกอังกฤษ พวกเขามีธรรมเนียมที่เรียกกันว่า "บ็อกซิ่งเดย์" หรือวันแกะกล่องของขวัญ ที่ไม่เพียงแต่ลีกจะไม่หยุดพักเบรกเท่านั้น แต่โปรแกรมการแข่งขันจะอัดแน่นเป็นพิเศษในช่วงนี้ จนทำให้หลายทีมต้องลงเตะถึง 3 เกมภายในสัปดาห์เดียว 

อันที่จริง จุดเริ่มต้นของวันบ็อกซิ่งเดย์ ต้องย้อนกลับไปตั้งแต่ปี 1860 หรือเมื่อ 160 ปีก่อน หลัง เชฟฟิลด์ เอฟซี ทีมที่เก่าแก่ที่สุดในโลก ลงเตะกับ ฮัลแลม เอฟซี คู่แข่งร่วมเมือง ในวันที่ 26 ธันวาคม ซึ่งทำให้มันกลายเป็นเกมดาร์บี้แมตช์ที่เก่าแก่ที่สุดอีกด้วย 

ในขณะที่การแข่งขันบ็อกซิ่งเดย์ทั้งลีกของอังกฤษ มีขึ้นเป็นครั้งแรกในฤดูกาล 1888-89 อันเป็นซีซั่นแรกที่ถือกำเนิดระบบฟุตบอลลีก ก่อนที่มันจะกลายเป็นธรรมเนียม ที่ทำให้ฟุตบอลอังกฤษลงเตะกันในวันแกะกล่องของขวัญนับตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นมา 

2

โดยปัจจุบัน บ็อกซิ่งเดย์ ถือเป็นหนึ่งในวันที่แฟนบอลให้ความสนใจมากที่สุด จากสถิติระบุว่าในปี 2016 มีแฟนบอลในอังกฤษและเวลส์ถึง 500,000 คน ที่ออกมาชมเกมในวันแกะกล่องของขวัญ และมียอดผู้ชมในสนามในอัตราสูงถึง 97.22 เปอร์เซ็นต์ของความจุ าก 10 เกมของพรีเมียร์ลีก

ด้วยเหตุผลดังกล่าว ทำให้ไม่ว่าสภาพอากาศจะเลวร้ายแค่ไหน ฟุตบอลอังกฤษ จะยังคงเตะกันต่อไป ที่ทำให้บางครั้งผู้ชมอาจจะได้เห็นนักเตะลงเล่นท่ามกลางหิมะที่โปรยปราย ซึ่งมันก็เป็นเช่นนั้นมาตลอด 100 กว่าปีที่ผ่านมา 

ยกเว้นเพียงแค่ปี 1963..

ฤดูหนาวที่เลวร้ายที่สุด 

ด้วยสภาพภูมิประเทศที่เป็นเกาะ และตั้งอยู่เหนือเส้นศูนย์สูตร ทำให้อังกฤษต้องเผชิญกับสภาพอากาศที่ค่อนข้างแปรปรวน แต่ในทางกลับกัน มันก็ทำให้ผู้คนของพวกเขาเคยชินกับสภาพอากาศที่ไม่แน่นอน

ทว่าอาจไม่ใช่สำหรับปี 1962 ที่ต่อเนื่องมาจนถึงต้นปี 1963 เพราะมันคือฤดูหนาวที่เลวร้ายที่สุดของอังกฤษนับตั้งแต่ปี 1740 

3

 

ในตอนแรก กรมอุตุนิยมวิทยาของพวกเขา พยากรณ์ว่าจะมีเพียงหิมะตกในวันคริสต์มาสปีดังกล่าว ที่ทำให้ผู้คนต่างรอคอย "ไวท์คริสต์มาส" ในช่วงวันส่งท้ายปี  

อย่างไรก็ดี ความเป็นจริงกลับเลวร้ายกว่านั้น เมื่อมันกลายเป็นฤดูหนาวที่มีอุณหภูมิต่ำในระดับติดลบ ตั้งแต่ -8 ไปจนถึง -20 องศาเซลเซียส แถมยังมีพายุหิมะพัดโหมกระหน่ำตั้งแต่เหนือจรดใต้ จนทำให้มีผู้เสียชีวิตหลายรายจากเหตุการณ์นี้ 

มีรายงานว่าพื้นที่หลายแห่งของอังกฤษ มีหิมะตกลงมาสะสมสูงถึง 20 ฟุต (ราว 6 เมตร) จนทางการต้องประกาศห้ามผู้คนออกจากเคหะสถาน ในขณะที่เมืองและหมู่บ้านเล็กๆ ถูกตัดขาดจากโลกภายนอกเนื่องจากถนนโดนหิมะถมสูง 

นอกจากนี้ ทางตอนใต้ของอังกฤษ ยังเผชิญกับพายุหิมะที่รุนแรงที่สุดในรอบ 15 ปี ด้วยความเร็วลมสูงถึง 90 ไมล์ (144 กิโลเมตร) ต่อชั่วโมง จนทำให้ทะเลกลายเป็นน้ำแข็งไปทั่วแนวชายฝั่งของเขตเอสเซ็กซ์

แน่นอนว่า ด้วยสภาพอากาศเช่นนี้ ย่อมส่งผลกระทบต่อฟุตบอลอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยมีเพียงแค่ 5 เกมในดิวิชั่น 1 ที่สามารถเตะจนจบเกมในศึกบ็อกซิ่งเดย์ ในขณะที่ส่วนใหญ่ไม่เลื่อนออกไปก็ถูกยกเลิกกลางคัน 

4

นอกจากนี้ การลงเตะในสภาพสนามที่ย่ำแย่ ยังมีส่วนทำให้เกิดอุบัติเหตุได้ง่าย หนึ่งในนั้นคือเกมระหว่าง ซันเดอร์แลนด์ กับ บิวรี ในเกมดิวิชั่น 2 เมื่อสนามที่เป็นน้ำแข็ง ทำให้ ไบรอัน คลัฟ แข้งทีมแมวดำ ต้องแขวนสตั๊ดด้วยวัย 29 ปี หลังเข้าปะทะกับผู้รักษาประตูคู่แข่งจนเอ็นไขว้หน้าฉีก ก่อนที่เจ้าตัวจะเบนเข็มสู่การเป็นผู้จัดการทีม จนได้ฉายา "กุนซือปากตะไกร" ในเวลาต่อมานั่นเอง

แต่สิ่งเหล่านี้ก็เป็นเพียงแค่จุดเริ่มต้นของความวุ่นวายเท่านั้น..

การแช่แข็งอันยาวนาน 

อากาศที่หนาวเหน็บไม่เพียงทำให้การจราจรของอังกฤษเป็นอัมพาตเท่านั้น แต่มันยังทำให้การแข่งขันฟุตบอลต้องหยุดชะงัก เมื่อหิมะที่ตกติดต่อกันเป็นสิบๆวัน ทำให้หลายสนามต้องจมอยู่ใต้กองหิมะ 

5

ในช่วงแรก แฟนบอลพยายามช่วยกันโกยหิมะออกจากสนาม หวังให้การแข่งขันกลับมาเล่นต่อได้ แต่ในความเป็นจริงกลับไม่ได้เป็นเช่นนั้น เพราะแม้จะเอาหิมะออกจากสนามได้ แต่ด้วยความเย็นจัด ทำให้สนามกลายเป็นน้ำแข็งไม่ต่างจากลานสเก็ต 

"เราขับรถไปซ้อมได้ แต่มันก็เป็นประสบการณ์ที่ไม่ได้สะดวกมากนัก" แฟรงค์ แม็คอินล็อค อดีตกองหลังเลสเตอร์ ซิตี้ ย้อนความหลัง

"บางครั้งในการซ้อมเราลื่นไถลไปไกลกว่า 20 หลา และทำให้หลังเต็มไปด้วยเลือด" 

หลายทีมพยายามแก้ไขปัญหานี้ ไม่ว่าจะเป็นการใช้เครื่องพ่นไฟที่สนามบลูมฟิลด์ โรด ของแบล็คพูล, ใช้เครื่องทำลมร้อนที่สนามฟิลเบิร์ต สตรีต ของเลสเตอร์ ซิตี้ หรือแม้กระทั่งใช้รถโกยหิมะจากเดนมาร์ก ที่สนามเซนต์ แอนดรูว์ส ของเบอร์มิงแฮม แต่ก็ไม่มีใครสามารถเอาชนะธรรมชาติได้

6

นั่นจึงทำให้หลังปีใหม่ ฟุตบอลอังกฤษต้องเผชิญกับการเลื่อนการแข่งขันนับครั้งไม่ถ้วน โดยเฉพาะในศึกเอฟเอคัพ รอบที่ 3 ที่กลายเป็นการแข่งขันรอบเดียวที่ยาวนานที่สุดเท่าที่เคยมีมา นั่นก็คือ 66 วัน

เพราะหลังจากเริ่มเตะในวันที่ 5 มกราคม ก็มีเพียงแค่ 3 คู่จาก 32 คู่ที่สามารถเตะได้จนจบตามโปรแกรมเดิม และมีการเลื่อนการแข่งขันไปทั้งสิ้นถึง 261 ครั้ง โดยเกมระหว่าง ลินคอล์น ซิตี้ กับ โคเวนทรี คือเกมที่มีการเลื่อนมากที่สุดถึง 14 ครั้ง และกว่าจะเตะจบในรอบนี้ก็ต้องรอจนถึงวันที่ 11 มีนาคม 

7

และไม่ใช่แค่ในสนามเท่านั้นที่เจอกับความวุ่นวาย การหยุดชะงักของฟุตบอล ยังทำให้สโมสร, นักเตะ และสตาฟฟ์โค้ช ต้องประสบปัญหาทางการเงิน จากรายได้ที่ขาดหายไปจากค่าตั๋วของแฟนบอล 

ด้วยเหตุนี้ ทำให้ในตอนนั้น หลายสโมสรพยายามเรียกร้องให้ยกเลิกฤดูกาลนี้ และเริ่มกลับมานับหนึ่งใหม่ เมื่อสถานการณ์ดีขึ้น แต่คำขอดังกล่าวก็ไม่เป็นผล 

"มันเป็นสภาพแวดล้อมที่แปลกไป แต่คุณทำอะไรไม่ได้มากในตอนนั้น ดังนั้น เราจำเป็นต้องเตะกันต่อไป" แม็คอินล็อคกล่าวต่อ 

"ผู้มีอำนาจอยากให้เราเตะให้จบฤดูกาล ในขณะที่บางทีมออกมาบ่นและอยากให้การแข่งขันและฤดูกาลยกเลิก" 

8

สุดท้าย เมื่อเอาชนะธรรมชาติไม่ได้ หลายทีมพยายามปรับตัว และหาวิธีแก้ไขปัญหา ยกตัวอย่างเช่น โคเวนทรี ซิตี้ ทีมในดิวิชั่น 3 ที่ตัดสินใจไปลงเตะนัดกระชับมิตรที่ไอร์แลนด์ เพื่อหารายได้เข้าสโมสร 

เช่นเดียวกับ แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ทีมในดิวิชั่น 1 ที่เลือกประเทศเพื่อนบ้านของพวกเขาเป็นหมุดหมายในการหนีหนาว และทำให้พวกเขาได้ลงเตะกับ โคเวนทรี ต่อหน้าแฟนบอล 20,000 คน

ในขณะที่ เชลซี ที่ตอนนั้นอยู่ดิวิชั่น 2 ก็กลายเป็นทีมแรกที่ไปเข้าแคมป์ฝึกซ้อมฤดูหนาวในที่อุ่นกว่า โดยพวกเขาเลือกไปที่มอลต้า ประเทศเกาะเล็กๆ ที่ตั้งอยู่ทางตอนใต้ของอิตาลี 

9

แต่ที่ล้ำหน้าที่สุดคือ ฮาลิแฟ็กซ์ ทาวน์ ทีมในระดับดิวิชั่น 4 ที่เปลี่ยนรังเหย้าของพวกเขาซึ่งกลายเป็นน้ำแข็งเป็นลานสเก็ตชั่วคราว และเปิดให้ผู้คนทั่วไปเข้ามาใช้บริการพร้อมกับเก็บค่าเข้า

มันคือการเอาตัวรอดภายใต้วิกฤติ ในฤดูหนาวที่โหดร้ายกว่าที่เคยเป็นมา ที่ทำให้พวกเขาต้องอยู่ในสภาพแช่แข็งเกือบ 3 เดือน 

แต่แล้วในเดือนมีนาคม พวกเขาก็เริ่มมีสัญญาณที่ดี..

เมื่อหิมะละลาย 

หลังจากเผชิญกับฤดูหนาวอันยาวนาน หรือที่รู้จักกันในชื่อ Big Freeze จนสร้างผลกระทบอย่างมหาศาลในหลายๆด้าน เดือนมีนาคม 1963 ลีกฟุตบอลอังกฤษก็กลับมาเดินเครื่องต่อได้อีกครั้ง 

อย่างไรก็ดี จากการที่แทบไม่มีการแข่งขันมาตลอด 3 เดือน ทำให้หลายทีมต้องเผชิญกับโปรแกรมการแข่งขันที่แน่นเอี๊ยด ที่ไม่ใช่แค่ในเกมลีกเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึง เอฟเอคัพ ที่ต้องอัดให้จบเช่นกัน 

10

ยกตัวอย่างเช่น โคเวนทรี แม้พวกเขาจะอยู่ในดิวิชั่น 3 แต่การเข้ารอบลึกๆในเอฟเอคัพ ทำให้พวกเขาต้องลงเล่นถึง 9 นัดใน 28 วัน หรือเฉลี่ย 3 วันต่อหนึ่งเกม (เกมลีก 3 เกม และฟุตบอลถ้วยอีก 6 เกม) และลงเล่นในจำนวนนัดที่เท่ากันในเดือนเมษายน 

เช่นกันสำหรับ เลสเตอร์ ซิตี้ ที่ตอนแรกอยู่ในกลุ่มลุ้นแชมป์ลีก แต่การต้องลงเตะเอฟเอคัพไปพร้อมกับเกมลีกนั้นหนักเกินไป ทำให้สุดท้าย พวกเขาเลือกที่จะสละโปรแกรมการแข่งขันในลีก และมาโฟกัสกับฟุตบอลถ้วยเป็นหลัก 

อย่างไรก็ดี การแช่แข็งอันยาวนานในปี 1963 ไม่ได้สร้างผลกระทบในแง่ลบเพียงอย่างเดียว เพราะอย่างน้อยก็ไม่ใช่กับ ฟูแลม เอฟซี 

ก่อนคริสต์มาสมาถึง ฟูแลม อยู่ในสถานการณ์ที่เลวร้ายอย่างหนัก หลังความพ่ายแพ้ติดๆกัน ทำให้พวกเขาร่วงลงมาอยู่ในโซนท้ายตาราง และสุ่มเสี่ยงที่จะตกลงไปในดิวิชั่น 2 แต่พวกเขาก็มาได้ Big Freeze เป็นระฆังช่วยชีวิต 

11

"ก่อนหิมะจะมา เรากำลังมีปัญหา เราเล่นได้ไม่ดี และทุกอย่างไม่ได้เป็นไปด้วยดี เรากำลังหนีตกชั้น แต่หลังจากนั้นทุกอย่างก็หยุดลง" จอร์จ โคเฮน อดีตฟูลแบ็กของฟูแลม ที่ต่อมาคว้าแชมป์โลกกับอังกฤษในปี 1965 กล่าวกับ Independent 

"ผมจำได้ว่ามีกลุ่มแฟนบอลช่วยกันเคลียร์หิมะในสนามที่เชสซิงตัน ใกล้กับที่สมาชิกของทีมรวมถึงผมอาศัยอยู่ และในเดือนกุมภาพันธ์ มีทีมจำนวนมากพยายามที่จะเล่นและฝึกซ้อมที่นั่น" 

แต่สถานการณ์ของพวกเขากลับเปลี่ยนไปจากหน้ามือเป็นหลังมือ เมื่อหลังกลับมาลงเล่นในเดือนมีนาคม ฟูแลมสามารถรักษาฟอร์มสดเอาไว้ได้อย่างยอดเยี่ยม จนทำสถิติไม่แพ้ใคร 13 นัดติดต่อกัน ขยับจากโซนหนีตกชั้นมาอยู่กลางตารางได้สำเร็จเมื่อสิ้นฤดูกาล 

"มันช่วยเราไว้มาก ตอนที่เรากลับมา เราฟิตกว่าทุกทีม และบอลจังหวะเดียวของเราก็ดีขึ้น" โคเฮนอธิบาย  

ก่อนที่สุดท้าย ฤดูกาลดังกล่าวจะปิดฉากลงอย่างสมบูรณ์ แม้อาจจะช้ากว่าเดิม 3 สัปดาห์ โดยมี เอฟเวอร์ตัน เป็นเจ้าของตำแหน่งแชมป์ดิวิชั่น 1 ส่วนถ้วยเอฟเอคัพ ตกเป็นของ แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ที่เอาชนะ เลสเตอร์ 3-1 ในนัดชิงชนะเลิศ 

ผ่านมาเกือบ 50 ปี นับตั้งแต่วันนั้น หิมะและสนามที่เป็นน้ำแข็งอาจจะไม่ใช่ปัญหาใหญ่สำหรับวงการลูกหนังอีกแล้ว เมื่อมีกฏบังคับใช้ว่าทุกสนามในพรีเมียร์ลีกจำเป็นต้องมีเครื่องละลายหิมะใต้พื้นสนาม

อย่างไรก็ดี ผู้คนก็อาจจะยังต้องเจอกับเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝันอยู่ดี อย่างปีนี้ก็คือไวรัสโคโรนาสายพันธ์ุใหม่ หรือ COVID-19 ที่ยังต้องจับตามองเป็นพิเศษ หลังกำลังเกิดการระบาดระลอกสองในหลายประเทศ รวมไปถึงอังกฤษ 

ดังนั้น สิ่งสำคัญก็คือเราต้องปรับตัวและอยู่ร่วมกับสิ่งที่จะเกิดขึ้นให้ได้ ที่ทำให้ไม่ว่าจะเป็นสถานการณ์ไหน หรือปัญหาหนักหนาเพียงใด มนุษย์ก็จะผ่านมันไปได้ เหมือนที่ชาวเมืองผู้ดีเคยทำไว้ในอดีตนั่นเอง

อัลบั้มภาพ 11 ภาพ

อัลบั้มภาพ 11 ภาพ ของ "-20 องศา" : 1963.. ปีที่ฟุตบอลอังกฤษต้องเล่นบนสนามพื้นน้ำแข็ง

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook