บูคอม : หมู่บ้านจิ๊กโก๋ชาวประมงในกานา แหล่งผลิตแชมป์มวยโลกแห่งกาฬทวีป
คำที่ถูกค้นบ่อย
    Sanook//s.isanook.com/sr/0/images/logo-new-sanook.png60060
    //s.isanook.com/sp/0/ud/237/1189749/booo.jpgบูคอม : หมู่บ้านจิ๊กโก๋ชาวประมงในกานา แหล่งผลิตแชมป์มวยโลกแห่งกาฬทวีป

    บูคอม : หมู่บ้านจิ๊กโก๋ชาวประมงในกานา แหล่งผลิตแชมป์มวยโลกแห่งกาฬทวีป

    2021-01-31T13:16:00+07:00
    แชร์เรื่องนี้

    เดือนตุลาคม ปี 1982 อาซูมาห์ เนลสัน นักชกที่ดีที่สุดในทวีปแอฟริกา กำลังจะได้ขึ้นชกกับ ซัลวาดอร์ ซานเชซ ที่ เมดิสัน สแควร์ การ์เด้น มหานครนิวยอร์ก

    เนลสัน คือมวยรองและมาในฐานะผู้ท้าชิง เขาโดนนักข่าวถามว่า "คิดว่าจะชนะไฟต์นี้หรือไม่ ?" ...  สิ่งที่เขาตอบพร้อม ๆ กับรอยยิ้มในวันนั้นคือ "ผมชนะตั้งแต่ก้าวออกจาก บูคอม แล้ว"

    "บูคอม" คือย่านสลัมเล็ก ๆ ในประเทศกานา ที่ผู้คนในนั้นมีอาชีพหลักคือการหาปลาด้วยเรือแคนู ... และผู้คนที่นี่หากความคิดเห็นไม่ตรงกัน พวกเขาจะซัดหน้ากันแทนการเถียง 

    อะไรทำให้ที่นี่ผลิตแชมป์โลกได้มากมายหลายคนขนาดนั้น ติดตามพร้อม ๆ กับ Main Stand ที่นี่

    ไม่สู้ก็ซี้ 

    ดี.เค. พอยชั่น (D.K. Poison), อิเค ควาร์เตย์ (Ike Quartey), โจชัว คล็อตตี้ (Joshua Clottey), โจเซป อักเบโก้ (Joseph Agbeko), ริชาร์ด คอมมี่ (Richard Commey) และ อาซูมาห์ เนลสัน (Azumah Nelson) คือชื่อของเหล่านักชกระดับแชมป์โลกที่มีชื่อเสียงของประเทศ กานา ซึ่งมีจุดร่วมคือ พวกเขาเกิดและโตที่ บูคอม (Bukom) ทั้งหมด 


    Photo : dailyguidenetwork.com

    การเป็นแหล่งสร้างนักสู้ระดับแชมป์โลกมากมายขนาดนี้ ย่อมมีเหตุผลจากปัจจัยของเรื่องที่อยู่และสิ่งแวดล้อมอย่างไม่ต้องสงสัย และสำหรับชาว บูคอม ไม่มีใครที่สุขสบาย ไม่สู้ก็ซี้ จะพูดอย่างนั้นคงไม่ผิดอะไร ...

    บูคอม เป็นเหมือนสลัมท่ามกลางเมืองหลวงของประเทศ กานา ชื่อ อักกรา (Accra) ห่างจากชุมชนแห่งนี้ไปไม่กี่ช่วงตึกเป็นย่านเศรษฐกิจของเมือง หากเปรียบเทียบให้เห็นภาพคงต้องบอกว่า บูคอม เปรียบเหมือนย่านคลองเตย ที่ตั้งอยู่ใกล้ย่านเศรษฐกิจอย่างถนนสีลม หรือถนนพระราม 4 ก็คงไม่ผิดนัก 

    แม้จะอยู่ท่ามกลางเมืองใหญ่ แต่ระบบการเมืองในประเทศที่ไม่แน่นอน ย่อมส่งผลต่อคุณภาพชีวิตของคนระดับรากหญ้าที่จะลืมตาอ้าปาก ที่นี่ไม่มีรัฐสวัสดิการ ไม่มีทุนเรียนฟรี ไม่มีอาหารเลี้ยงสำหรับทุกคน หากอยากได้ พวกเขาต้องสู้เพื่อหามันมาครอบครองเอง 

    ดังนั้นอาชีพหลักของผู้คนที่นี่คือการทำประมงขนาดเล็ก พวกเขาไม่ได้มีเรือเดินสมุทรอะไร มีเพียงเรือแคนูที่ทำจากไม้และออกไปหาปลาตามวิถีชาวบ้าน ผู้ชายเป็นคนจับ ผู้หญิงเป็นคนเอาปลามาขาย และประกอบอาหาร นั่นคือภาพรวมทของประชากรใน บูคอม 


    Photo : julienlanoo.com

    อย่างไรก็ตามไม่ว่าจะยากลำบากแค่ไหน ทุกคนล้วนมีโอกาสขึ้นไปสู่ยอดของพีระมิดได้เสมอหากพวกเขาเป็นคนที่เก่งจริง สำหรับเด็กผู้หญิงชาวบูคอม พวกเธอล้วนฝันจะเป็นนักเต้นแบบพื้นเมืองของกานา ที่เป็นโชว์ให้นักท่องเที่ยวได้ดู ส่วนเด็กผู้ชายคือการเป็นนักกีฬา ... ง่ายที่สุดคือการเป็นนักมวย 

    ความไร้การศึกษา และท้องที่หิวนั้น ย่อมนำมาซึ่งการกระทำที่ดูไม่ค่อยเหมาะสมสำหรับคนภายนอก แต่ที่ บูคอม แห่งนี้ หลายเรื่องแปลกตาสำหรับคนย่านอื่นคือเรื่องปกติ เช่น "การชกกันข้างถนน" 

    "บูคอม คือชื่อของถิ่นฐานที่แสดงถึงความอยู่รอด คนที่พร้อมจะสู้เท่านั้นจึงจะรอดในที่แห่งนี้ได้" อาซูมาห์ เนลสัน นักชกที่ได้ฉายาว่า "อันดับ 1 แห่งทวีปแอฟริกา" ว่าไว้

    "เมื่อคุณยังเด็ก คุณก็ต้องเริ่มหาอาหารกินเองแล้ว คุณต้องรู้จักดิ้นรนเพื่อช่วยเติมเต็มปากท้องและเงินในกระเป๋า สิ่งเหล่านี้ทำให้คุณลำบากแน่นอน แต่มันไม่ได้มีทางเลือกอะไรมาก บางครั้งคุณก็ต้องสู้ สู้ที่หมายถึงว่าต่อสู้จริงๆ ที่บ้านของผมการต่อสู้ไม่ใช่เรื่องใหญ่อะไร แค่มองหน้ากันแล้วก็ใส่เลย"


    Photo : www.boxingnewsonline.net

    มวย คือหนึ่งในวัฒนธรรมของชาวบูคอมที่ลูกเด็กเล็กแดงต่างอยากจะเป็น เรื่องนี้มันมีเหตุผลมายาวนานกว่า 80 ปีแล้ว ศาสตราจารย์ด้านคณิตศาสตร์ชาวกานาที่ชื่อว่า แอนโธนี่ ไอดู แห่งมหาวิทยยาลัย อีสต์เทิร์น คอนเนตติคัท ซึ่งชื่นชอบมวยและศึกษาเรื่องนี้เล่าว่า มวยเข้ามานาในกานา ช่วง 70-80 ปีก่อนหน้านี้ อันเป็นช่วงที่ กานา คืออาณานิคมของประเทศอังกฤษ จากนั้น มวย ก็เป็นกีฬายอดนิยมของชาวกานาเป็นอันดับสอง รองจากฟุตบอลนั่นเอง 

    เหตุการณ์ที่ศาสตราจารย์ ไอดู เชื่อว่าเกิดความเปลี่ยนแปลงและสร้างแรงกระเพื่อมใหัมวยในกานาเป็นที่นิยม คือการชกชิงแชมป์โลกของ ฟลอยด์ คลูเต โรเบิร์ตสัน (Floyd Klutei Robertson) ในปี 1964 ซึ่งถือเป็นนักชกกานาคนแรกที่ได้มีสิทธิ์ชิงแชมป์โลกกับ ชูการ์ รามอส นักชกชาวเม็กซิกัน ที่มีชื่ออยู่ในฮอล ออฟ เฟม 


    Photo : tudorvintiloiu.com

    ในไฟต์นั้นสำหรับชาวกานาทุกคนคิดว่า โรเบิร์ตสัน โดนโกง และสร้างความแค้น ทำให้นักชกรุ่นหลังหลายคนอยากจะก้าวมข้ามไปให้ได้ 

    "ตอนนั้นผมน่าจะเรียนอยู่เกรด 6 ตอนนั้นเราไม่มีโทรทัศน์ เราต้องฟังการบรรยายผ่านวิทยุ ไม่ว่าคุณจะเดินไปบนถนนหนทางที่ไหน ทุกคนจะมาล้อมวิทยุกันทั้งนั้น ... แต่ โรเบิร์ตสัน เป็นฝ่ายแพ้ ทุกคนผิดหวังมาก แม้กระทั่งประธานาธิบดีของประเทศยังออกตัวว่า เขาจะตามเรื่องนี้เพื่อให้ได้ผลการแข่งขันที่ถูกต้อง ... ซึ่งแน่นอนว่ามันไม่เกิดขึ้น" 

     

    เกมชีวิตของเด็กหนุ่มที่ บูคอม 

    มีเรื่องราวคลาสสิกที่พูดถึง บูคอม ว่าเป็นสังเวียนนักสู้เวทีแรกของนักชกแชมป์โลกชาวกานาว่า หากคุณเดินเข้าไปในที่แห่งนี้ คุณจะไม่มีทางได้เห็นผู้ชายยืนเถียงกัน เพราะสำหรับพวกเขา เมื่อความเห็นไม่ตรงกันก็แค่ซัดหน้ากันซะจะได้รู้ว่าใครถูกใครผิด จนเป็นสโลแกนติดปากของคนพื้นที่ว่า "ไม่ต้องพูดดดดด... หยุดฝอยน้ำลายแตกฟองแล้วชกกันดีกว่า"


    Photo : theculturetrip.com

    โจเซป อักเบโก้ หนึ่งในนักชกระดับแชมป์ที่มีบ้านเกิดอยู่ที่ บูคอม เล่าว่า สำหรับเด็ก ๆ ที่นั่น การชกกันเหมือนกับเกม ... "พวกเราจัดการกับปัญหาด้วยการแสดงความแข็งแกร่งให้เหนือกว่าศัตรูของเรา" 

    อย่างไรก็ตาม เกมชีวิตเกมนี้ไม่ได้เปิดโอกาสให้ทุกคนได้เล่นตลอดไป หากพวกเขาอยากจะเป็นนักมวยอาชีพ แต่กลับสู้แค่ข้างถนน โดยไม่พัฒนาตัวเอง เมื่ออายุครบ 18 ปี ซึ่งถือว่าเป็นช่วงชีวิตที่ไม่ได้เป็นเด็กอีกต่อไป เกมและทุกอย่างจะจบสิ้นลง พวกเขาจะกลายเป็นแค่นักเลงที่ต้องไปประกอบอาชีพเป็นชาวประมง หรือไม่ก็ทำเรื่องผิดกฎหมาย

    พวกเขาแก้ปัญหาด้วยกำลังก็จริง แต่ที่นี่มีสนามมวยและศูนย์ฝึกมวยมากมาย คนที่อยากจะเอาดี หรือนักมวยแชมป์โลกที่เรากล่าวมาข้างต้น คือคนที่ไม่ได้ชกแบบมวยวัดข้างถนน อย่างเดียว พวกเขาเลือกที่จะต่อยจริงจัง เพราะพวกเขารู้ว่ามวยจะเป็นเครื่องตีตั๋วบินให้พวกเขาได้ออกไปเจอโลกกว้าง และกลับมายังกานาแบบยิ่งใหญ่ ถึงขั้นได้รับการต้อนรับจากผู้นำประเทศนั่นเอง 

    Photo : tudorvintiloiu.com

    "บูคอม บ้านผมมีแต่นักสู้มากมายเต็มไปหมด" อักเบโก้ กล่าวเริ่ม 

    "เราเชื่อมั่นในเรื่องการต่อสู้เสมอ เรามีเรื่องและชกต่อยกันตั้งแต่ยังเด็ก ผมต่อยกับเด็กคนอื่นมามากครั้งจนนับไม่ถ้วน จนผมอายุได้ 14 ปี ผมเริ่มฝึกชกมวยอย่างจริงจัง และจากนั้นก็เริ่มทำเงินได้จากการชกเดิมพันข้างถนน" 

    "ทุกครั้งที่คุณเห็นนักมวยจากกานาขึ้นชก คุณจะเห็นถึงความ 'หิว' ของพวกเขา ซึ่งนั่นคือสาเหตุที่ทำให้นักชกจากที่นี่แต่ละคนทำงานหนักมาตลอด"


    Photo : ireport.com.gh

    "มันไม่ใช่แค่เรื่องเงินเท่านั้น จริงอยู่ที่การชกมวยและเป็นแชมป์จะทำให้คุณได้เงินทอง แต่เหนือสิ่งอื่นใด เมื่อคุณกลับมาที่กานา ทุก ๆ คนจะยกย่องคุณ แต่ถ้าคุณแพ้คุณก็จะไม่ได้รับอะไรกลับไปเลย ... ที่นี่ไม่มีที่ว่างให้ผู้แพ้" อักเบโก้ เล่าถึงความพยายามที่ต้องแข่งกับคนอื่น ๆ และการเป็นเด็กย่าน บูคอม พวกเขากระหายและไม่เคยคิดที่จะหยุด จนกว่ามวยจะพาพวกเขาตีตั๋วออกไปเจอกับโลกกว้าง 

     

    จากสลัมสู่ เมดิสัน สแควร์ การ์เด้น และปัญหาที่แท้จริง 

    ที่ บูคอม มีนักสู้เดินเต็มท้องถนน แต่การที่ใครสักคนจะก้าวออกมาในฐานะนักชกอาชีพได้ไม่ใช่เรื่องง่าย คนที่ประสบความสำเร็จมีเพียงหยิบมือเดียว และคนที่เป็นเหมือนตาวิเศษของที่นี่ชื่อว่า บ็อบบี้ กู้ดแมน ชายชาวอเมริกันที่ทำงานในวงการมวยและมีชื่อเสียงในย่าน บรองซ์ (ย่านกำเนิดแชมป์โลกอย่าง ไมค์ ไทสัน และ อื่น ๆ อีกมากมาย) 

    กู้ดแมน มีหน้าที่มาหาช้างเผือกที่กานา และช้างเผือกแต่ละตัวที่เขาพบ ส่วนใหญ่มาจาก บูคอม ทั้งนั้น การมากานาของเขาคือการทำงานให้กับ ดอน คิง โปรโมเตอร์หัวฟูระดับโลก เพื่อหาคนที่ดีที่สุด และคิดว่าจะไปต่อได้ในวงการมวยโลก ซึ่ง กู้ดแมน นี่แหละเป็นคนที่พบกับ อาซูมาห์ เนลสัน พระเอกอันดับ 1 ของเมืองนี้ 


    Photo : www.graphic.com.gh

    "ผมเห็นเด็กอายุประมาณเขากำลังชกอยู่ ตอนนั้นเขาน่าจะมีประสบการณ์ระดับอาชีพแค่ไม่ถึง 13 ครั้ง ผมถามผู้จัดการของเขาว่า หมอนี่โหดขนาดไหน ? ผู้จัดการของเขาพยักหน้าและบอกว่า แน่นอน ไอ้หนุ่มคนนี้จะกลายเป็นมวยกระดูกเบอร์ต้น ๆ ของโลกในรุ่นเฟเธอร์เวตแบบที่คุณไม่เคยเห็นมาก่อน" กู้ดแมน เล่าถึงการพบเจอกับ เนลสัน ครั้งแรก

    "ผมนั่งดูเขาชกสักพัก ผมต้องอุทานว่าโอ้พระเจ้า ... ไอ้เด็กนี่มันของจริงนี่หว่า ผมเกิดความคิดขึ้นมากมาย และหลังจากไฟต์นั้นผู้จัดการของเขาเดินมาบอกว่า บ็อบ ถ้านายอยากได้นักมวยคนนี้ไป ผมขอบอกก่อนว่านักมวยของผมไม่อยากเจอไฟต์ง่าย ๆ อีกต่อไปแล้ว ... จากนั้น อาซูมาห์ เนลสัน มาอยู่กับเรา เขาก็ผ่านศึกใหญ่ ๆ มากมายจนกลายเป็นแชมป์ที่ยิ่งใหญ่ในท้ายที่สุด" นั่นคือเหตุการณ์ในช่วงปี 80s-90s ที่ อาซูมาห์ เนลสัน ครองแชมป์โลกของมวยรุ่นเล็ก 

    หลังจากการแจ้งเกิดของ อาซูมาห์ เนลสัน นักมวยกานา ที่ เมด อิน บูคอม ก็ก้าวตามหลังไปทีละคน ๆ จากการนำพาของ บ็อบบี้ กู้ดแมน เขาติดใจนักมวยจากที่นี่ เขาชอบนักมวยชาวแอฟริกันโดยเฉพาะที่ บูคอม ... เพราะคุณสมบัติที่เขาได้พบ คือคุณสมบัติของนักมวยที่เกิดมาเพื่อเป็นแชมเปี้ยน

    "นักมวยพวกนี้มีความปรารถนาแรงกล้ามาก หลายคนมีจุดเริ่มต้นด้วยทักษะที่ไม่ดี บางคนซ้อมบนพื้นดินเพื่อฝึกฝนทักษะของพวกเขา แต่พวกนี้แข็งแกร่งมาก พวกเขามีแรงกระหายจากภายใน และความมุ่งมั่นที่ไม่เคยลดละ ซึ่งนั่นแปลว่าพวกเขาก็มีโอกาสจะประสบความสำเร็จได้" บ็อบบี้ กู้ดแมน กล่าว


    Photo : ghanaolympic.org

    แรงบันดาลใจจากผู้บุกป่าฝ่าดง ทำให้เกิดการอยากตามรอยของเยาวชนรุ่นหลัง ที่ บูคอม มวยคือฝันอันดับ 1 ของเด็กที่นี่ ไม่ว่าจะเดินไปทางไหนจะพบป้ายสดุดีแชมป์มวยโลกคนเเล้วคนเล่า มีโรงยิมหลากหลายระดับเพื่อรองรับฝันของคนที่อยากจะก้าวออกไปเจอโลกกว้าง และรัฐบาลกานาพยายามจะช่วยพวกเขา ด้วยการสร้างสนามมวยที่มีความจุ 4,000 ที่นั่งย่านชานเมือง เพื่อช่วยจุดไฟแห่งความกระหายของเด็ก ๆ ที่นี่เพิ่มขึ้นมากกว่าที่เป็นอยู่ และทำให้พวกเขาเห็นเป้าหมายง่ายขึ้นกว่าเดิม 

    อย่างไรก็ตาม สิ่งที่สนามมวยมอบให้คือการต่อเติมฝันเท่านั้น เพราะการจะได้ชกในเวทีสากลนั้นไม่ง่าย และสิ่งที่ชาว บูคอม ต้องการยิ่งกว่า คือการแก้ปัญหาปากท้อง เพราะประชากรที่นี่ไม่สามารถเลี้ยงตัวเองได้ เรื่องนี้คือปัญหาใหญ่ที่สุด ... ส่วนมวยคือเส้นทางหนีแบบเร่งด่วนสำหรับคนที่เก่งจริงและมีพรสวรรค์เท่านั้น ซึ่งมีเพียงแค่หยิบมือเดียว

    กล่าวคือสนามมวยไม่ได้ช่วยให้ชาวบูคอมมีนักมวยเก่งๆเพิ่มขึ้น แต่ไม่ได้หมายความว่าประชากรในเมืองจะได้คุณภาพชีวิตที่ดีกว่าเดิม สำหรับคนที่ไม่ใช่นักมวยพวกเขาทำได้แค่เพียงออกทะเลไปหาปลา และชกกันข้างถนนเหมือนกับ 40-50 ปีที่แล้วเท่านั้น… นี่คือความจริงที่น่าเศร้า 

    เมดิสัน สแควร์ การ์เด้น คือสังเวียนที่นักมวยคนใดได้เหยียบก็มักจะสร้างชื่อเสียงให้กับบ้านเกิดเมืองนอนเสมอ และที่ บูคอม ก็เป็นเช่นนั้นเสมอมา เพียงแต่ว่าความสำเร็จเหล่านี้ ทำให้โฟกัสที่มีของคนภายนอกรวมถึงรัฐบาลของประเทศผิดเพี้ยนไป 


    Photo : www.nikon.co.uk

    คำพูดของ อาซูมาห์ เนลสัน ย้อนกลับมาอีกครั้ง "บูคอม ก็เหมือนกับเวทีการต่อสู้และอยู่รอดของคนที่พร้อมที่สุด คุณต้องหาอาหารกินเองตั้งแต่ยังเด็ก ต้องดิ้นรนผ่านความลำบากมากมาย ... มันไม่ได้มีทางเลือกอะไรมาก บางครั้งคุณก็ต้องสู้ สู้ที่หมายถึงว่าต่อสู้จริง ๆ ที่บ้านของผมการต่อสู้ไม่ใช่เรื่องใหญ่อะไร แค่มองหน้ากันแล้วก็ใส่เลย" 

    ในแง่หนึ่ง คำพูดนี้บ่งบอกถึงความใจสู้ของคนที่นี่ แต่จะดีกว่าไหมหากพวกเขาได้รับการช่วยเหลือและแก้ไขปัญหาที่แท้จริง ให้พวกเขาได้ความรู้ มีการศึกษา มีอาชีพ และไม่ต้องคิดมากถึงมื้ออาหารถัดไป .... 

    ถ้าหากแก้ไขปัญหาปากท้องและช่วยให้ประชากรเลี้ยงตัวเองได้ พวกเขาอาจจะพบว่า บางครั้งการต่อสู้ที่แท้จริงก็ไม่ใช่แค่การต่อยกันด้วยกำลังเท่านั้น ... ชีวิตของพวกเขาสามารถดีขึ้นได้ และมวยก็ไม่ใช่หนทางเดียวอีกต่อไป