"Rooney Rule" : กฎที่ช่วยให้โค้ชผิวสีใน NFL ได้พิสูจน์ตัวเองว่าเก่งไม่แพ้คนขาว
ประเด็นทางสีผิว คือเรื่องราวที่ได้รับความสนใจในสังคมสหรัฐอเมริกาตลอดปี 2020 ข้อถกเถียงมากมายที่เกี่ยวข้องกับสีผิว ถูกนำมาพูดถึง แม้กระทั่งในวงการกีฬา
หนึ่งในนั้นคือโอกาสการทำงานระดับโค้ช และผู้บริหารของลีก NFL ที่แม้ปัจจุบันนักกีฬาอเมริกันฟุตบอลส่วนใหญ่ของลีกจะเป็นคนผิวสี แต่คนกลุ่มนี้กลับแทบไม่มีโอกาสได้จับงานโค้ช หรือผู้บริหารทีม
ก่อนหน้านี้ ข้อถกเถียงข้างต้นเคยเป็นประเด็นร้อนของลีกมาก่อนแล้ว จน NFL ต้องออกกฎที่ชื่อว่า Rooney Rule เมื่อปี 2003 ขึ้นมาเพื่อช่วยเหลือคนผิวสี ให้มีโอกาสทำงานอย่างเท่าเทียมเช่นคนผิวขาว
อย่างไรก็ตาม เมื่อเวลาผ่านไป Rooney Rule ได้กลับมาถูกตั้งคำถามอีกครั้ง หลังจากสถานการณ์ความเท่าเทียมทางสีผิวภายในลีก NFL กลับมาตึงเครียดอีกครั้ง เพราะโค้ชผิวสีหลายคนถูกมองข้ามอย่างไม่เป็นธรรม
อดีตที่โค้ชผิวสีไม่มีที่ยืน
NFL คือหนึ่งในลีกกีฬาที่แนวคิดอนุรักษ์นิยม มีบทบาทภายในลีก แนวคิดสมัยใหม่บางอย่างไม่ได้ถูกเปิดกว้างมากนัก และหนึ่งในนั้นคือการให้โอกาสคนสีผิวในสหรัฐอเมริกา จับงานสำคัญใน NFL
แม้จะมีนักกีฬาผิวสีมากมาย เล่นอยู่ใน NFL แต่ในอดีตไม่บ่อยนักที่เราจะได้เห็นคนผิวสี รับตำแหน่งสำคัญของกีฬานี้ เช่นเป็นควอเตอร์แบ็ค ตำแหน่งผู้เล่นที่สำคัญที่สุดในอเมริกันฟุตบอล รวมถึงการได้คุมทีมในฐานะหัวหน้าโค้ช
สำหรับตำแหน่งโค้ชของ NFL มีโค้ชผิวขาวมากมายที่ได้รับการยกย่องเป็นตำนานของวงการ ไม่ว่าจะเป็น วินซ์ ลอมบาร์ดี (Vince Lombardi), ดอน ชูลา (Don Shula), จอห์น แมดเดน (John Madden), บิล วอลช์ (Bill Walsh), ไมค์ แชนนาแฮน (Mike Shanahan) และ บิล เบลิเช็ค (Bill Belichick)
แต่โค้ชผิวสีอื่นกลับแทบไม่ได้รับการยกย่องในระดับเดียวกับคนผิวขาว ทั้งที่เคยมีโค้ชผิวดำอย่าง ทอม ฟลอเรส (Tom Flores) เคยพิสูจน์ความสามารถของคนผิวสี กับการคว้าแชมป์ซูเปอร์โบวล์มาแล้วถึง 2 ครั้ง
ถึงกระนั้น โค้ชผิวสีใน NFL กลับมีจำนวนน้อยมาก หากนับตั้งแต่ลีก NFL ก่อตั้งจนถึงปี 2002 มีโค้ชที่ไม่ใช่คนผิวขาวเพียง 6 คนเท่านั้น ที่เคยเป็นหัวหน้าโค้ชให้ทีม NFL ทั้งที่คนผิวดำถือเป็นนักกีฬาหลักของลีก NFL และในปัจจุบัน 70 เปอร์เซนต์ของผู้เล่นในลีกเป็นคนผิวดำ
สิ่งที่เกิดขึ้นใน NFL ทำให้หลายฝ่ายไม่พอใจ โดยเฉพาะกลุ่มที่สนับสนุนความเท่าเทียมทางสีผิว เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นใน NFL คือการสะท้อนภาพจำผิด ๆ ของชาวอเมริกันที่มีต่อสีผิว ซึ่งมองว่าคนผิวขาวเหมาะกับงานที่ใช้สมอง นั่นคือการเป็นโค้ช ขณะที่คนผิวสีอื่นเหมาะกับการใช้กำลังมากกว่า ทำให้พวกเขาเหล่านี้ ถูกปิดโอกาสกับการจับงานโค้ชมาตลอด
เรื่องราวมาถึงจุดแตกหักในปี 2002 หลังจากโค้ช NFL ผิวดำ 2 รายถูกปลดจากตำแหน่งหัวหน้าโค้ช ด้วยเหตุผลที่ค้านสายตาแฟนกีฬา รายแรกคือ โทนี ดันจี (Tony Dungy) โค้ชของทีม แทมปาเบย์ บัคคาเนียร์ส ที่ถูกปลดออกจากตำแหน่ง ทั้งที่พาทีมเข้าสู่รอบเพลย์ออฟถึง 3 ฤดูกาลติดต่อกัน
อีกรายคือ เดนนิส กรีน (Dennis Green) ที่ถูก มินนิโซตา ไวกิงส์ ไล่ออกจากตำแหน่ง หลังจากไม่สามารถพาทีมเข้าสู่รอบเพลย์ออฟ ทั้งที่ก่อนหน้านี้เข้าพาทีมเข้ารอบมา 5 ฤดูกาลติดต่อกัน
การปลดโค้ชทั้งสองรายถูกตั้งคำถามถึงความสมเหตุสมผล เหตุใดทั้งสองคนจึงต้องเสียงานของตัวเอง ทั้งที่ทั้งคู่คือโค้ชที่เชื่อใจได้ของวงการ และหลายฝ่ายตั้งข้อสงสัยว่า เหตุผลที่ทั้ง โทนี ดันจี และ เดนนิส กรีน ถูกไล่ออกเป็นเรื่องของสีผิว มากกว่าฝีมือ
หลังจากนั้นไม่นาน ทนายความชาวสหรัฐอเมริกา 2 คน คือ ไซรัส เมห์รี (Cyrus Mehri) และ จอห์นนี่ ค็อคคราน (Johnnie Cochran) ซึ่งคนหลังโด่งดังจากการเป็นหัวหน้าทีมทนายความ ซึ่งช่วยให้ โอเจ ซิมป์สัน (O.J. Simpson) พ้นความผิดจากคดีฆาตกรรมสุดอื้อฉาว ได้ร่วมกันเขียนงานที่แสดงถึงข้อมูลว่า โค้ชผิวสีในลีก NFL มีสิทธิ์ที่จะถูกปลดออกจากตำแหน่ง การเป็นหัวหน้าโค้ชได้ง่ายกว่าคนผิวขาว หากเทียบสถิติ และผลการแข่งขันต่าง ๆ ที่โค้ชผิวขาว และโค้ชผิวสีทำได้
นอกจากนี้ โค้ชผิวสีมักถูกมองข้ามจากทีม NFL ในการจ้างงานเป็นหัวหน้าโค้ชอยู่เสมอ มีโค้ชผิวสีหลายคนที่ไม่ได้รับการว่าจ้างจากทีม ทั้งที่มีผลงานดีเป็นที่ประจักษ์ชัดเจน แต่ทางแฟรนไชส์ NFL มักจะดึงโค้ชผิวขาวมาทำงาน แม้ว่าบางคนจะมีผลงานการคุมทีมในอดีต แย่กว่าโค้ชผิวสีเสียอีก
โอกาสที่คนผิวสีได้พิสูจน์
หลังจากถูกโจมตีอย่างหนัก NFL จึงหาทางออกที่หวังจะผลักดันสร้างความเท่าเทียมทางสีผิว ด้วยการสร้างคณะกรรมการชุดหนึ่งขึ้นมา ที่จะร่วมกันหาทางออกให้กับปัญหานี้
นำโดย แดน รูนีย์ (Dan Rooney) เจ้าของทีม พิตส์เบิร์ก สตีลเลอร์ส ในเวลานั้น ผู้ซึ่งเป็นแกนนำในการสนับสนุนความเท่าเทียมทางสีผิวในลีกมายาวนาน ร่วมกับอดีตผู้เล่นผิวดำของ NFL อย่าง จอห์น วูเทน (John Wooten) และ เคลเลน วินสโลว (Kellen Winslow) รวมถึงเมห์รี และคร็อคคราน สองทนายความที่เปิดโปงความไม่เท่าเทียมทางสีผิวของ NFL
บทสรุปของการแก้ไขปัญหา คือการเกิด Rooney Rule หรือ กฎรูนีย์ ซึ่งตั้งตามชื่อของ แดน รูนีย์ ที่เป็นประธานการสร้างความเท่าเทียมทางสีผิวของ NFL ในเวลานั้น
Rooney Rule คือกฎที่บังคับให้ ทุกทีมใน NFL ต้องสัมภาษณ์โค้ชผิวสีอย่างน้อย 1 คน หากมีตำแหน่งสำคัญของฝ่ายบริหารว่างลง ไม่ว่าจะเป็น ผู้จัดการทั่วไป, หัวหน้าโค้ช ซึ่งบังคับใช้ครั้งแรกในปี 2003
ทันทีที่บังคับใช้ Rooney Rule ได้แสดงศักยภาพทันที ด้วยการช่วยให้ มาร์วิน ลูวิส (Marvin Lewis) โค้ชผิวดำได้รับตำแหน่งเป็นหัวหน้าโค้ชของทีม ซินซิเนติ เบงกอลส์ ในปี 2003 และอยู่ในตำแหน่งยาวจนถึงปี 2018
ขณะเดียวกัน ก็มีทีม NFL ที่ถูกลงโทษจาก Rooney Rule ตั้งแต่ปีแรก นั่นคือ ดีทรอยต์ ไลออนส์ จากการแต่งตังหัวหน้าโค้ชคนใหม่ในปี 2003 โดยไม่มีการสัมภาษณ์โค้ชผิวสีแม้แต่คนเดียว ทำให้ถูก NFL ปรับเงินเป็นจำนวน 2 แสนดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 8.5 ล้านบาทไทยในปัจจุบัน
Rooney Rule มีส่วนช่วยเปิดโอกาสให้โค้ชผิวสีจำนวนไม่น้อยได้คุมทีม NFL และประสบความสำเร็จ ไม่ว่าจะเป็นโค้ชผิวดำ อย่าง ไมค์ ทอมลิน (Mike Tomlin) ที่ได้เป็นหัวหน้าโค้ชของ พิตส์เบิร์ก สตีลเลอร์ส ในปี 2007 ก่อนพาทีมคว้าแชมป์ซูเปอร์โบวล์ ในเวลาต่อมา และยังคงเป็นโค้ชใหญ่ของทัพคนเหล็กจนถึงทุกวันนี้
รวมถึง โทนี ดันจี ที่ได้รับโอกาสเป็นหัวหน้าโค้ชอีกครั้ง กับ อินเดียนาโปลิส โคลต์ส และพาขุนพลเกือกม้าคว้าแชมป์ซูเปอร์โบวล์ได้เช่นกัน ในปี 2007
รวมถึงคนเชื้อสายผิวแดง ที่มีรากฐานมาจากคนพื้นเมืองอเมริกัน อย่าง รอน ริเวียรา (Ron Rivera) ก็ได้รับโอกาสคุมทีม แคโรไลนา แพนเธอร์ส และพาทีมเข้าชิงแชมป์ซูเปอร์โบวล์มาแล้ว
การต่อสู้ที่คงอยู่ต่อไป
Rooney Rule ไม่ได้ถูกตราขึ้นมาเป็นเสือกระดาษ แต่สร้างความเปลี่ยนแปลงได้จริง ไม่ใช่แค่ในลีก NFL แต่โค้ชอเมริกันฟุตบอลผิวสีรุ่นใหม่ ได้รับโอกาสฝึกสอนให้ความรู้ เป็นโค้ชรุ่นใหม่มากขึ้น
กฎนี้ได้เปิดโอกาสให้โค้ชอเมริกันฟุตบอลรุ่นใหม่ ได้มีโอกาสหันมาจับงานโค้ชมากขึ้นกว่าในอดีต และกลายเป็นแรงบันดาลใจให้ลีกกีฬาอื่น หันมาเดินหน้าสนับสนุนให้โค้ชผิวสี ได้มีสิทธิ์เป็นโค้ชใหญ่ของทีมกีฬามากขึ้น ไม่ว่าจะเป็น พรีเมียร์ลีก อังกฤษ และ NCAA ลีกกีฬามหาวิทยาลัยของสหรัฐฯ ซึ่งมีจำนวนโค้ชผิวสีเพิ่มขึ้นจากในอดีตเช่นกัน ผ่านการหยิบ Rooney Rule ไปร่วมใช้ในกีฬาอเมริกันฟุตบอล ระดับมหาวิทยาลัย
อย่างไรก็ตาม Rooney Rule ไม่ใช่กฎที่จะลบล้างความไม่เท่าเทียมทางสีผิวให้หมดไปจากลีกกีฬาอันดับหนึ่งของสหรัฐฯ เพราะหลายฝ่ายยังคงตั้งข้อสงสัยว่า โอกาสของโค้ชผิวสียังคงไม่เท่าเทียมกับคนผิวขาว
รอย จอห์นสัน (Roy Johnson) นักเขียนคอนเทนต์กีฬาผิวดำ ซึ่งผ่านการเรียนด้านการเมืองในระดับมหาวิทยาลัย แสดงความเห็นของเขาว่า บ่อยครั้งที่โค้ชผิวสีมักถูกแต่งตั้งให้เป็นหัวหน้าโค้ชชั่วคราว ยามมีการเปลี่ยนแปลงตำแหน่งโค้ชใหญ่ แต่พอถึงเวลาจริงทีม NFL กลับหันไปแต่งตั้งโค้ชถาวรเป็นคนผิวขาว ซึ่งเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นซ้ำ ๆ ตลอดหลายปี
นอกจากนี้จอห์นสัน ตั้งข้อสงสัยว่า แม้ตำแหน่งหัวหน้าโค้ชคนผิวสีจะได้รับโอกาสมากขึ้น แต่ในตำแหน่งผู้จัดการทั่วไป ซึ่งมีหน้าที่บริหารทีม ดูแลการเซ็นสัญญาผู้เล่น, สิทธิ์การดราฟต์ และเพดานค่าเหนื่อยของทีม แทบไม่มีทีมไหนเลือกคนผิวสีมาทำงาน
ทั้งนี้ จอห์นสันยังมองว่า โค้ชหรือผู้จัดการทั่วไปผิวสี ไม่ว่าจะเป็นคนผิวดำ, ผิวแดง, ไปจนถึงคนเม็กซิกัน มีสิทธิ์ถูกปลดจากตำแหน่งเร็วกว่าคนผิวขาว เพราะภาพลักษณ์ของคนผิวสี มีความฉลาด และความเป็นผู้นำน้อยกว่าคนผิวขาว
ทำให้เมื่อผู้จัดการทั่วไปหรือโค้ชผิวสีทำผลงานได้ไม่ดี พวกเขาจึงมักถูกโจมตีมากเป็นพิเศษ ไม่ว่าจะเป็นจากสื่อ หรือแฟนบอล ทำให้ผู้บริหารทีมนิยมไล่คนเหล่านี้ออกจากตำแหน่งอย่างรวดเร็ว และไม่ได้รับโอกาสพิสูจน์ตัวเองเท่ากับคนผิวขาว
ปัจจุบันในฤดูกาล 2020 ที่กระแสต่อต้านการเหยียดผิวกลับมาเป็นประเด็นร้อนอีกครั้งในสหรัฐฯ ทำให้การพูดถึงโอกาสการทำงานของคนผิวสีในลีก NFL กลายเป็นเรื่องราวที่ถูกพูดถึงมากอีกครั้ง
เพราะก่อนฤดูกาลจะเริ่มขึ้น มีโค้ชผิวสีแค่ 4 คน และผู้จัดการทั่วไปผิวสีอีก 2 คนเท่านั้น จากทั้งหมด 32 ทีม โดยมี ไมอามี ดอลฟินส์ เพียงทีมเดียวที่ใช้บริการคนผิวสี เป็นทั้งโค้ช และผู้จัดการทั่วไป
ทั้งที่มีโค้ชผิวสีถึง 2 คนที่เป็นส่วนสำคัญ กับคู่ชิงซูเปอร์โบวล์ครั้งล่าสุด นั่นคือ อีริค เบียเนียมี (Eric Bieniemy) โค้ชทีมบุกของ แคนซัส ซิตี้ ชีฟส์ และ โรเบิร์ต ซาเลห์ (Robert Saleh) โค้ชทีมรับของ ซานฟรานซิสโก โฟร์ตีไนน์เนอร์ส แต่โค้ชเชื้อสายแอฟริกัน-อเมริกันทั้ง 2 รายกลับถูกมองข้าม และไม่มีทีมไหนตั้งพวกเขาเป็นหัวหน้าโค้ช ทั้งที่มีผลงานที่ชัดเจน ทั้งในแง่ของความสำเร็จ และสถิติ
ประกอบกับจำนวนโค้ช และผู้จัดการทั่วไป ซึ่งเป็นคนผิวสีอันน้อยนิด ทำให้หลายฝ่ายตั้งคำถามกับ Rooney Rule ว่าถึงเวลาหรือยังที่จะต้องปรับเนื้อหา ให้มีความทันสมัยมากขึ้น เพื่อช่วยให้คนผิวสีได้โอกาสจับงานใหญ่ใน NFL มากขึ้น
เดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ทาง NFL ได้ทำการเรียกประชุมผู้บริหารทุกทีมใน NFL เพื่อพูดคุยถึงความเป็นไปได้ของการเปลี่ยนแปลงกฎ Rooney Rule อย่างไรก็ตามเสียงข้างมาก โหวตที่จะไม่แก้กฎ เท่ากับว่าโอกาสของคนผิวสี กับการทำงานใน NFL จะยังคงมีอยู่อย่างจำกัดต่อไป
Rooney Rule คือกฎสำคัญที่ช่วยเปิดโอกาสให้โค้ชผิวสีได้พิสูจน์ตัวเอง เราอาจไม่ได้เห็น ไมค์ ทอมลิน หรือ โทนี ดันจี คว้าแชมป์ซูเปอร์โบวล์ หากไม่มีกฎนี้
อย่างไรก็ตาม อาจจะถึงเวลาอีกครั้งที่ NFL ต้องพิจารณาถึงการหาวิธีการใหม่ ในการสนับสนุนโอกาสของคนผิวสีให้ได้รับตำแหน่งสำคัญในลีกมากกว่านี้ เพราะสุดท้ายความจริงที่ยังไม่เปลี่ยนแปลงคือ NFL ยังคงเป็นลีกที่มีภาพลักษณ์เพิกเฉยต่อการสนับสนุนความเท่าเทียมทางสีผิว ซึ่งไม่ใช่เรื่องดีแม้แต่น้อย
อัลบั้มภาพ 10 ภาพ