วีรบุรุษที่ถูกลืม : "ฟริตซ์ พอลลาร์ด" ผู้กรุยทางให้คนผิวดำมีที่ยืนใน NFL

วีรบุรุษที่ถูกลืม : "ฟริตซ์ พอลลาร์ด" ผู้กรุยทางให้คนผิวดำมีที่ยืนใน NFL

วีรบุรุษที่ถูกลืม : "ฟริตซ์ พอลลาร์ด" ผู้กรุยทางให้คนผิวดำมีที่ยืนใน NFL
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ในปัจจุบัน ถึงแม้ลีกอเมริกันฟุตบอลอันดับหนึ่งของโลกอย่าง NFL จะมีอัตราส่วนของผู้เล่นผิวดำ หรือชาวแอฟริกัน-อเมริกัน มากถึง 70% ก็ตาม

แต่จากเหตุการณ์ "คุกเข่าสะเทือนโลก" เรียกร้องสิทธิเพื่อคนผิวดำของ โคลิน เคเปอร์นิก เมื่อปี 2017 ที่ส่งผลให้เขากลายเป็นผู้เล่นไร้สังกัดตราบถึงทุกวันนี้ ก็น่าจะเป็นบทพิสูจน์ได้ว่าเรื่องสีผิวยังคงเป็นเรื่อง "อ่อนไหว" สำหรับที่แห่งนี้

นอกจากนั้น จำนวนของหัวหน้าผู้ฝึกสอน หรือเฮดโค้ชใน NFL ก็ดูจะน้อยนิดอย่างมีนัยยะสำคัญ ทั้งๆที่จำนวนผู้เล่นผิวดำมีมากกว่า แต่เฮดโค้ชผิวดำกลับมีจำนวนน้อยกว่าผิวขาวเกือบสิบเท่าตัว (10 ปีที่ผ่านมา จำนวนเฮดโค้ชผิวดำเฉลี่ยอยู่ที่ 2-6 คน ในขณะที่เฮดโค้ชผิวขาวเฉลี่ยอยู่ที่ 24-28 คน) ถึงขั้นที่ต้องมี "กฎรูนีย์" (Rooney Rule) ที่บังคับให้แต่ละทีมต้องเรียกคนผิวดำ รวมถึงชนกลุ่มอื่นๆที่ไม่ใช่ผิวขาวมาสัมภาษณ์งานในตำแหน่งเฮดโค้ชก่อนเมื่อมีตำแหน่งว่างเลยทีเดียว

ทั้งๆที่ในตอนนี้ คำว่า Black Lives Matter กำลังเป็นกระแสที่ผู้คนในสังคมให้ความสนใจ และพยายามเรียกร้องอย่างจริงจังก็ตาม ดังนั้น ถ้าย้อนกลับไปเมื่อกว่า 100 ปีที่แล้ว ในยุคที่การเหยียดผิวยังเป็นเรื่องปกติธรรมดา คนผิวดำโดนคนขาวกดขี่ข่มเหงเป็นสิ่งที่เห็นได้ทั่วไปจนชินตา.. คิดว่าสถานการณ์ใน NFL จะเป็นแบบไหน?

ไม่ต้องบอกใบ้ ทุกคนก็คงเดาออกว่าในยุคสมัยดังกล่าว NFL นั้นไม่ต่างอะไรจาก "นรก" สำหรับคนผิวดำ ทว่าไม่เชื่อก็ต้องเชื่อ ท่ามกลางโลกแห่งการเหยียด กลับมีชายผิวดำคนหนึ่งกล้าที่จะยืนหยัดต่อสู้ และที่สำคัญ เขาได้จารึกประวัติศาสตร์การเป็นควอเตอร์แบ็ก รวมถึงเฮดโค้ชผิวดำคนแรกในประวัติศาสตร์ NFL เรียกได้ว่า สิ่งที่เขาทำเป็นการกรุยทางที่นักอเมริกันฟุตบอลผิวดำยุคหลังต้องขอบคุณ

เวลาที่ล่วงเลยไปกว่าศตวรรษอาจทำให้ผู้คนหลงลืมชื่อของเขาไป ครั้งนี้ Main Stand จึงอยากหยิบเรื่องราวของเขามาบอกเล่าให้ทุกคนได้รู้ถึงความกล้าหาญและจิตใจสุภาพบุรุษของชายที่ชื่อว่า ฟริตซ์ พอลลาร์ด

ติดตามเรื่องราวของเขาได้ที่นี่

ใช้ความสามารถชนะใจในเกมคนขาว

ฟริตซ์ พอลลาร์ด ลืมตาดูโลกในปี 1894 ณ เมืองชิคาโก รัฐอิลลินอยส์ ในครอบครัวที่มีพรสวรรค์นักกีฬา เนื่องจากคุณพ่อของเขาที่เป็นผู้อพยพมาจากประเทศอินเดีย เคยสร้างชื่อในฐานะนักมวยระดับแชมป์ของรัฐในสมัยที่สงครามกลางเมือง หรือ Civil War กำลังคุกรุ่น

1

ถึงแม้ ฟริตซ์ จะเป็นลูกชายคนที่ 7 จากจำนวนพี่น้องทั้งหมด 8 คน แต่การเป็นอยู่ของเขาก็ไม่ได้ลำบากขัดสน เพราะพ่อของ ฟริตซ์ เป็นนักธุรกิจท้องถิ่นที่ค่อนข้างประสบความสำเร็จ ส่วนคุณแม่เป็นช่างเย็บผ้าฝีมือดี 

ดังนั้น ชีวิตของเด็กหนุ่ม ฟริตซ์ พอลลาร์ด จึงมีอุปสรรคเพียงอย่างเดียว นั่นคือ "การเหยียดผิว" แต่เพียงเท่านี้มันก็หนักหนาสาหัสมากแล้ว เนื่องจากในช่วงเวลาดังกล่าวการเหยียดสีผิวยังเป็นเรื่องที่เห็นได้จนชินตาในสหรัฐอเมริกา ไม่ใช่เรื่องแปลกที่คนดำจะเดินอยู่ริมถนน แล้วอยู่ๆจะโดนกลุ่มคนขาวเข้ารุมทำร้ายร่างกายโดยไม่มีเหตุผล

การที่ครอบครัวของ ฟริตซ์ เป็นครอบครัวผิวดำเพียงครอบครัวเดียวในละแวกบ้าน เด็กหนุ่มจึงหนีไม่พ้นการถูกกลั่นแกล้งแทบทุกครั้งเมื่อออกไปเล่นกีฬากับพี่น้องในสวนสาธารณะ 

ฟริตซ์ เริ่มเล่นเบสบอลมาตั้งแต่จำความได้ และพรสวรรค์ของเขาก็ถือว่าอยู่ในระดับสูงชนิดหาตัวจับได้ยาก โดยในตอนที่เขาเรียนมัธยมที่ Albert G. Lane Manual Training High School ฟริตซ์ คือแชมป์การวิ่งเข้าแทร็ก 3 สมัยซ้อนของโรงเรียน 

ทว่าสุดท้าย ฟริตซ์ ก็ต้องเลิกเล่นเบสบอลไป เขามองไม่เห็นอนาคต เนื่องจากในยุคนั้น ลีกเบสบอลอาชีพยังห้ามคนผิวดำเข้าร่วมการแข่งขัน 

ฟริตซ์ เบนเข็มมาเล่นอเมริกันฟุตบอลเต็มตัวในช่วงมัธยมปลาย ถึงแม้ลีกอเมริกันฟุตบอลอาชีพ ณ ขณะนั้นจะเต็มไปด้วยคนขาวมากกว่า 90% มีการเหยียดผิวและทำร้ายร่างกายนักกีฬาผิวดำเป็นเรื่องปกติ แต่อย่างน้อยก็ไม่มีกฎห้ามเอาไว้

พี่ชายของ ฟริตซ์  3 คนก็เป็นนักกีฬาอเมริกันฟุตบอลระดับมหาวิทยาลัยเช่นกัน พวกเขามักจะเล่าประสบการณ์แย่ๆที่ต้องเผชิญให้ ฟริตซ์ ฟังบ่อยๆ พร้อมคำสอนที่เด็กหนุ่มจำได้อย่างขึ้นใจ และยึดถือไว้อย่างมั่นคงตลอดช่วงชีวิตที่เป็นนักกีฬา..

"ห้ามตอบโต้ด้วยกำลังเด็ดขาด แม้จะเจอกับการยั่วยุแค่ไหนก็ตาม"

อย่างที่บอกว่า ฟริตซ์ เปี่ยมด้วยพรสวรรค์เรื่องกีฬา เขามีฝีเท้าที่เร็วอย่างน่าเหลือเชื่อ อีกทั้งสายตายังเฉียบคม ดังนั้น ต่อให้เปลี่ยนชนิดกีฬา ความยอดเยี่ยมของ ฟริตซ์ ก็ไม่ได้น้อยลง ตรงกันข้าม เขายังทำได้ดีถึงขั้นที่มหาวิทยาลัยบราวน์ ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยระดับ Ivy League (มหาวิทยาลัยเอกชน 8 แห่ง ซึ่งมีคุณภาพการศึกษาดีเยี่ยม และเป็นที่ต้องการของนักศึกษาตลอดจนผู้จ้างงาน ประกอบด้วย มหาวิทยาลัยบราวน์, มหาวิทยาลัยโคลัมเบีย, มหาวิทยาลัยคอร์เนลล์, วิทยาลัยดาร์ตมัธ, มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด, มหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย, มหาวิทยาลัยปรินซ์ตัน และ มหาวิทยาลัยเยล) มอบทุนการศึกษาให้เขา แลกกับการเข้าร่วมทีมอเมริกันฟุตบอล

แน่นอนว่าตั้งแต่วินาทีแรกที่ ฟริตซ์ กลายเป็นสมาชิกใหม่ของทีมอเมริกันฟุตบอลมหาวิทยาลัยบราวน์ ซึ่งมีเขาเป็นคนดำเพียงคนเดียว เขาก็ต้องเจอกับการเหยียดผิวแบบไม่ยั้งจากบรรดาเพื่อนร่วมทีม

2

"เราพยายามทำให้เขาโกรธ ยั่วยุด้วยการเหยียดผิว แต่ ฟริตซ์ จะยิ้มและหัวเราะกลับมาทุกครั้ง ผมไม่เคยเห็นเขาโกรธเลย" เออร์วิง เฟรเซอร์ เพื่อนร่วมทีมคนหนึ่ง เล่าให้ เจย์ เบอร์รี ผู้เขียนชีวประวัติของ ฟริตซ์ ฟัง

"เพื่อนร่วมทีมของเขาไม่คุยหรือมีปฏิสัมพันธ์กับเขาเลย จนกระทั่งพวกเขาได้เห็นว่าคุณปู่มีความสามารถแค่ไหน" ฟริตซ์ พอลลาร์ด III หลายชายแท้ๆของ ฟริตซ์ กล่าวกับ BBC

แต่หลังจากนั้น บรรดาเพื่อนร่วมทีมก็เปลี่ยนท่าทีที่มีต่อ ฟริตซ์ ไปโดยสิ้นเชิง.. ทำไมน่ะเหรอ? ก็ ฟริตซ์ สามารถวิ่งทำระยะได้ 60-80 หลา ได้ง่ายๆ ราวกับเป็นเรื่องปกติธรรมดาน่ะสิ

"โค้ช เราต้องให้เขาเล่นนะ" เพื่อนร่วมทีมต่างพูดเป็นเสียงเดียวกัน และหลังจากนั้น ฟริตซ์ ก็ขึ้นเป็นดาวเด่นของทีมอเมริกันฟุตบอลมหาวิทยาลัยบราวน์ทันที พร้อมกับฉายาสุดเท่ "มนุษย์ตอร์ปิโด" 

ฟริตซ์ พาทีมโชว์ฟอร์มได้อย่างยอดเยี่ยมจน ม.บราวน์ ได้เข้าร่วมศึก Rose Bowl ซึ่งเป็นศึกใหญ่ที่สุดของอเมริกันฟุตบอลระดับมหาวิทยาลัยในปี 1916 นอกจากนั้น ฟริตซ์ ยังสร้างประวัติศาสตร์เป็นผู้เล่นผิวดำคนแรกที่ได้เหยียบผืนหญ้าของ Rose Bowl อีกด้วย

3

การศึกษาที่ดีไม่ได้ยกระดับศีลธรรมในใจเสมอไป เพราะแม้แต่เหล่านักกีฬาจากมหาวิทยาลัยกลุ่ม Ivy League ก็ยังคงเห็นการเหยียดผิวเป็นเรื่องธรรมดาสามัญ และแน่นอนว่า ฟริตซ์ คนผิวดำเพียงคนเดียวในสนามคือเป้าหมาย

ฟริตซ์ โดนเล่นนอกเกมแทบตลอดเวลา นอกจากนั้น กองเชียร์​ข้างสนามยังตะโกนเหยียดผิวกันอย่างกึกก้อง มีรายงานว่ากองเชียร์ของมหาวิทยาลัยเยลถึงขั้นร้องเพลง "Bye Bye Blackbird" ซึ่งเป็นเพลงที่มีเนื้อหาเหยียดผิวเนื้อหารุนแรงอีกด้วย โชคดีที่คราวนี้เพื่อนร่วมทีมอยู่ข้างเขา ทุกคนช่วยกันปกป้อง ฟริตซ์ เป็นอย่างดี

เสียงนกเสียงกาไม่มีความหมายใดๆ เพราะสุดท้าย ฟริตซ์ สามารถพาทีมคว้าแชมป์ Rose Bowl ได้สำเร็จ ด้วยสถิติ ชนะ 8 แพ้ 1 ก่อนที่ ฟริตซ์ จะกลายเป็นคนผิวดำคนแรกที่ได้รับการเสนอชื่อให้ติดทีม All-America

"หนึ่งในตัววิ่งที่ดีที่สุดเท่าที่ดวงตาคู่นี้เคยเห็นมา" วอลเตอร์ แคมป์ นักเขียนด้านกีฬาชื่อดังกล่าวถึง ฟริตซ์

ในขณะที่ทุกอย่างกำลังไปได้สวย ฟริตซ์ ก็ต้องระเห็จเข้าไปอยู่ในกองทัพตามหน้าที่ เนื่องจากช่วงเวลาดังกล่าวสงครามโลกที่ 1 กำลังดุเดือด โดย ฟริตซ์ ประจำการเป็นผู้อำนวยการฝ่ายกายภาพในค่ายทหารรัฐแมรี่แลนด์ 

ฟริตซ์ ต้องอยู่ในกองทัพนานถึง 2 ปี เขาคิดว่าอนาคตของเขากับอเมริกันฟุตบอลคงจบสิ้นแล้ว จนกระทั่งในปี 1919 เขาก็ได้รับโทรเลขที่ไม่คาดฝันฉบับหนึ่ง

สร้างประวัติศาสตร์ใน NFL 

โทรเลขฉบับดังกล่าวส่งตรงมาจากผู้บริหารของทีม แอครอน โปรส์ (ทีมอเมริกันฟุตบอลใน NFL ที่ยุบทีมไปในปี 1927) แน่นอนว่า ฟริตซ์ ไม่รอช้าที่จะคว้าโอกาสนี้ไว้

4

เมื่อ ฟริตซ์ เดินทางมาถึงแคมป์ฝึกซ้อมของทีมเป็นครั้งแรก ทุกอย่างราวกับเป็นภาพฉายซ้ำ ฟริตซ์ คือหนึ่งในนักกีฬาผิวดำ 2 คนแรกร่วมกับ บ็อบบี้ มาร์แชลล์ ในประวัติศาสตร์ของ NFL (ขณะนั้นใช้ชื่อว่า AFPA) ดังนั้น เรื่องการเหยียดผิวจึงเป็นสิ่งที่เขาหนีไม่พ้น และปราการด่านแรกที่ต้องเผชิญก็มาจากเพื่อนร่วมทีมของเขาเองนั่นแหละ

หนึ่งในคนที่รังแก ฟริตซ์ บ่อยที่สุดคือ จิม ธอร์ป หนึ่งในตำนานนักกีฬาอเมริกันฟุตบอลผู้ยิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์

ตั้งแต่วินาทีแรกที่เห็นหน้า จิม ก็เดินเข้ามาหา ฟริตซ์ พร้อมพูดว่า

"รู้ใช่ไหมว่ากูเป็นใคร?"

"ผมรู้ดีครับ" ฟริตซ์ ตอบกลับไปอย่างสุภาพตามสไตล์

หลังจากนั้น จิม ก็พ่นคำ N-word (ด่าว่าเป็นไอ้มืด) รัวใส่หน้า ฟริตซ์ แบบไม่ยั้ง พร้อมพูดขู่ว่า 

"กูจะฆ่าปู่มึง จะฆ่าครอบครัวมึงทุกคน"

ฟริตซ์ ไม่ได้ตอบโต้ใดๆ เขาตั้งใจที่จะใช้ฝีมือเป็นเครื่องพิสูจน์เหมือนเช่นเคย 

"ผมไม่ได้โกรธพวกเขา ผมแค่ยิ้มให้ และตั้งใจว่าจะทำทัชดาวน์ระยะ 80 หลาเพื่อให้เขายอมรับ" ฟริตซ์ กล่าวในการให้สัมภาษณ์ของ NFL Films

ซึ่งเขาก็ทำมันได้จริงๆ หลังจากนั้น เพื่อนร่วมทีมทุกคนก็เริ่มยอมรับในตัว ฟริตซ์ แม้กระทั่ง จิม ธอร์ป ที่เคยขู่ฆ่าเขาก็ถึงขั้นเดินมาตบไหล่และพูดว่า

"มึงเป็นตัววิ่งที่ดีที่สุดที่กูเคยเห็นเลยว่ะ"

หลังจากนั้น ฟริตซ์ กับ จิม ก็กลายเป็นคู่หู พาทีม แอครอน โปรส์ คว้าแชมป์ในฤดูกาล 1920 ได้สำเร็จ ซึ่งนี่ถือเป็นแชมป์ครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของทีมและของลีกอีกด้วย 

5

ก่อนที่ในปี 1921 ฟริตซ์ จะได้รับเลือกให้เข้ามาทำหน้าเป็นหัวหน้าผู้ฝึกสอน ควบคู่ไปกับการเป็นผู้เล่น ส่งผลให้ ฟริตซ์ ได้จารึกชื่อของตัวเองในตำนานอีกบทหนึ่งที่มีชื่อว่า "หัวหน้าผู้ฝึกสอนผิวดำคนแรกในประวัติศาสตร์" และหลังจากนั้นกว่าที่ NFL จะมีเฮดโค้ชผิวดำอีกครั้งก็ต้องรออีกกว่า 68 ปี เมื่อ ลอสแอนเจลิส เรดเดอร์ส จ้าง อาร์ต เชลล์ ให้เข้ามาทำหน้าที่นี้

"ผมได้รับเกียรติมากๆในหน้าที่นี้" ฟริตซ์ กล่าวกับ NFL Films

ฟริตซ์ ได้รับเลือกให้ติดทีม All-Pro ในทุกฤดูกาลที่เขาเล่น แต่เขากลับไม่เคยถูกเชิญให้ไปงานรับรางวัลเลยสักครั้ง นี่คือหลักฐานที่บ่งบอกถึงทัศนคติที่ NFL มีต่อคนผิวดำในยุคนั้นได้เป็นอย่างดี

หลังจากนั้นในปี 1923 ฟริตซ์ ก็ได้ย้ายไปอยู่กับทีม แฮมมอนด์ โปรส์ และในทีมนี้เขาได้เปลี่ยนตำแหน่งการเล่น จากตัววิ่งเป็นควอเตอร์แบ็ก ส่งผลให้เขากลายเป็นควอเตอร์แบ็กผิวดำคนแรกในประวัติศาสตร์ NFL 

"เขาทำได้ทุกอย่าง เขาวิ่งได้ เตะได้ ขว้างได้ และเข้าใจเกมเป็นอย่างดี เขาเอาเกมนี้อยู่หมัด ดังนั้น ผมจึงให้เขาเล่นเป็นควอเตอร์แบ็ก" อารอน ทาวน์ โค้ชของทีม แฮมมอนด์ โปรส์ กล่าว

ฟริตซ์ อยู่กับ แฮมมอนด์ โปรส์ เพียง 2 ปี ก่อนที่จะย้ายไปอยู่กับ มิลวอกี แบดเจอร์ส, กิลเบอร์ตัน คาดาเมาท์ส, โพรวิเดนซ์ สตีมโรลเลอร์ส ตามลำดับ จนกระทั่งเขาตัดสินใจอำลาวงการในปี 1926 ด้วยอายุ 32 ปี

ทีมผิวดำเพื่อคนผิวดำ

หลังจากรีไทร์ ฟริตซ์ ก็ผันตัวไปเป็นนักธุรกิจ โดยเขาได้ลงทุนในธุรกิจมากมาย 

ฟริตซ์ เปิดสตูดิโอบันทึกเสียงชื่อ Sun Tan ซึ่งต่อมาเป็นที่ที่เหล่าศิลปินระดับตำนานอย่าง ดุ๊ก เอลลิงตัน และ แนท คิง โคล แวะเวียนเข้ามาใช้บริการอยู่บ่อยครั้ง นอกจากนั้น ฟริตซ์ ยังมีธุรกิจหนังสือพิมพ์ ธุรกิจค้าถ่านหิน และธุรกิจที่ปรึกษาด้านการลงทุนอีกด้วย เรียกได้ว่า ฟริตซ์ รุ่งเรืองมากๆ ในฐานะนักธุรกิจ

6

จนกระทั่งในปี 1928 ฟริตซ์ ก็ได้ก่อตั้งทีมอเมริกันฟุตบอลสมัครเล่นขึ้นในชื่อ ชิคาโก แบล็กฮอว์กส์ ซึ่งเป็นทีมที่รวบรวมนักกีฬาดาวรุ่งผิวดำที่ฝีมือดีแต่ขาดโอกาสเนื่องจากเรื่องการเหยียดสีผิว โดยทีมนี้ ฟริตซ์ ดูแลจัดการหมดในทุกกระบวนการ รวมถึงการเป็นโค้ชด้วย

ชิคาโก แบล็กฮอว์กส์ ตระเวนแข่งกับทีมสมัครเล่นผิวขาวอื่นๆในเมืองชิคาโก ก่อนที่จะทีมนี้จะถูกยุบไปในปี 1932 ทว่าหลังจากนั้นเพียง 2 ปี ฟริตซ์ ก็ได้ก่อตั้งทีมอเมริกันฟุตบอลสมัครเล่นที่มีแต่คนผิวดำขึ้นมาอีกครั้งในชื่อ ฮาร์เลม บราวน์บอมเบอร์ส เพียงแต่ครั้งนี้เหตุผลในการก่อตั้งนั้นแตกต่างออกไป

"ในปี 1933 ทาง NFL ได้ออกกฎที่ชื่อว่า ข้อตกลงสุภาพบุรุษ (Gentleman’s Agreement) ขึ้นมา โดยใจความสำคัญของกฎนี้คือแบนผู้เล่นผิวดำทั้งหมดออกจากลีก ฟริตซ์ รู้สึกไม่พอใจกับเรื่องนี้อย่างมาก เขาอยากทำอะไรบางอย่างเพื่อสร้างแรงกระเพื่อมในสังคม"

"ฟริตซ์ จึงก่อตั้งทีม ฮาร์เลม บราวน์บอมเบอร์ส ซึ่งเป็นทีมของคนผิวดำขึ้น และออกตระเวนแข่งขันกับทีมสมัครเล่นผิวขาว เป้าหมายคือชัยชนะเพื่อแสดงให้เห็นว่าคนผิวดำก็เล่นอเมริกันฟุตบอลได้เก่งกาจ แต่ทำไมถึงไม่มีสิทธิ์ที่จะเล่นใน NFL? ผู้บริหารของลีกต้องมีคำตอบกับเรื่องนี้"

"ฟริตซ์ ทุ่มเทให้กับทีมนี้มาก เขาลงมาคุมทีมข้างสนามเองด้วย" ดร.ชาร์ลส์ รอส ผู้อำนวยการฝ่ายการศึกษาแอฟริกันอเมริกันแห่งมหาวิทยาลัยมิสซิสซิปปีกล่าว

ผลก็คือในปีแรก ฮาร์เลม บราวน์บอมเบอร์ส สร้างสถิติชนะ 29 แพ้ 0 และในปีต่อๆมาฟอร์มก็ยังคงยอดเยี่ยม เรียกได้ว่านี่คือทีมสมัครเล่นไร้เทียมทานที่อาจจะสู้กับทีมใน NFL ได้สบายๆด้วยซ้ำ

ฟริตซ์ พยายามอย่างถึงที่สุดแล้วเพื่อสร้างจุดยืนให้กับคนผิวดำในกีฬาอเมริกันฟุตบอล แต่ความจริงอันน่าเศร้าคือ NFL ทำเหมือนไม่เห็นสิ่งนี้ และข้อตกลงสุภาพบุรุษก็ยังคงอยู่จนกระทั่งปี 1946

ส่วนทีม ฮาร์เลม บราวน์บอมเบอร์ส เป็นอันต้องยุบทีมไปในปี 1938 เนื่องด้วยพิษเศรษฐกิจในยุค Great Depression 

หลังจากนั้น ฟริตซ์ ก็ไม่ได้ยุ่งเกี่ยวกับอเมริกันฟุตบอลอีกเลย เขาใช้เวลาทุ่มให้กับธุรกิจและครอบครัวจนกระทั่งเสียชีวิตลงในปี 1986 ด้วยวัย 92 ปี

7

เช่นเดียวกับ NFL ที่ทำเหมือนหลับตาข้างเดียวและพยายามทำเหมือนว่าเขาไม่เคยมีตัวตน เพราะในขณะที่ จิม ธอร์ป, จอร์จ เพรสตัน และ จอร์จ ฮาลาส นักอเมริกันฟุตบอลระดับตำนานรุ่นราวคราวเดียวกับ ฟริตซ์ ได้รับการเสนอชื่อเข้าสู่ Pro Football Hall of Fame ในปี 1963 แต่ชื่อของ ฟริตซ์ กลับไม่เคยถูกพูดถึงเลยสักครั้ง

"มรดกที่เขาฝากไว้มันยิ่งใหญ่มาก แต่เขากลับไม่เคยถูกพูดถึง และยิ่งเขาเป็นคนชอบเก็บตัว มีโลกส่วนตัวสูง จึงมีคนรุ่นหลังน้อยคนเต็มทีที่จะรู้จักเขา" ดร.ชาร์ลส์ รอส กล่าว

ต่อยอดจากสิ่งที่สร้าง

"ทุกครั้งที่มีคนเอ่ยถึงชื่อ ฟริตซ์ พอลลาร์ด มักจะมีเสียงตามว่าทุกครั้งว่า 'ใครนะ?' มันทำให้ผมหัวเสียมากๆ แทบจะระเบิดอารมณ์ตรงนั้น" พอลลาร์ด III กล่าว

ปฏิเสธไม่ได้ว่าสิ่งที่ผู้เป็นหลานคนนี้พูดคือเรื่องจริง เพราะว่าที่โลกจะเริ่มยกย่อง ฟริตซ์ ก็ช่วงบั้นปลายชีวิตของเขาเลย หรือเลวร้ายที่สุดคือหลังจากที่เขาเสียชีวิตไปแล้วด้วยซ้ำ

ในปี 1981 มหาวิทยาลัยบราวน์ได้มอบปริญญานิติศาสตร์ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ (นิติศาสตร์บัณฑิต) ให้แก่ ฟริตซ์ ในฐานะที่เขาเป็นเลิศเรื่องกีฬาและผู้นำ 

หลังจากนั้นในปี 2005 หรือหลังจากที่ ฟริตซ์ เสียชีวิตไปแล้วเกือบ 20 ปี ในที่สุดชื่อของเขาก็ถูกจารึกลงใน Pro Football Hall of Fame เสียที ถึงแม้จะช้ากว่าเพื่อนร่วมรุ่นเกือบ 6 ทศวรรษก็ตาม

8

"ผมดีใจมากที่ชื่อของปู่ได้มาอยู่ในที่อันทรงเกียรติแห่งนี้ ถึงแม้มันจะช้าไปหน่อยก็ตาม ความทรงจำแรกที่ผมมีกับเขาคือตอนที่เขาสอนผมเล่นอเมริกันฟุตบอลในสวนหลังบ้าน เราวิ่งเล่นกันก่อนที่ผมจะล้มลง คุณปู่ถามว่า เป็นไง? เจ็บหรือเปล่า? ถ้าไม่เจ็บก็ลุกขึ้นและสู้ต่อ นั่นแหละคุณปู่ของผม" พอลลาร์ด III กล่าว ในขณะที่เป็นตัวแทนขึ้นรับรางวัล

อีกหนึ่งเกียรติสำคัญที่ ฟริตซ์ ได้รับหลังจากที่เขาเสียชีวิตไปแล้วคือการก่อตั้งองค์กร Fritz Pollard Alliance (FPA) ขึ้นมาในปี 2004 โดยเป็นการร่วมมือกันระหว่างภาคเอกชนกับญาติของ ฟริตซ์ โดยเป้าหมายขององค์กรคือการสร้างความเท่าเทียมระหว่างสีผิวให้เกิดขึ้นใน NFL และสร้างโอกาสทางด้านกีฬาให้กับคนผิวดำ

หนึ่งในบทบาทสำคัญของ FPA ก็คือการเรียกร้องความเป็นธรรมให้กับ โคลิน เคเปอร์นิก หลังจากที่เขาถูกผลักไสออกจากลีก เนื่องด้วยการคุกเข่าเพื่อแสดงจุดยืนเรื่องสีผิว

9

"มันเป็นเรื่องน่าเสียดายจริงๆ ที่ชื่อของเขายังคงอยู่ในเงามืด" 

"เขาสมควรที่จะได้รับการยกย่องมากกว่านี้จากสิ่งที่เขาทำมาทั้งหมด เขาเป็นผู้บุกเบิกอันเก่งกาจ เปี่ยมด้วยสติปัญญา ความกล้าหาญ ความเป็นผู้นำ และสร้างแรงบันดาลใจแก่ผู้คนจำนวนมาก" จอห์น วูเทน ประธาน FPA กล่าว

ถึงแม้ในตอนนี้ชื่อของ ฟริตซ์ พอลลาร์ด จะยังไม่ได้รับการยกย่องเท่าที่ควรเมื่อเทียบกับสิ่งที่เขาทำเอาไว้ แต่สักวันหนึ่ง เมล็ดพันธุ์ที่เขาหว่านเอาไว้ผลิดอกออกผลอย่างงดงาม เมื่อนั้นทั้งโลกจะต้องพร้อมใจกันขอบคุณสุภาพบุรุษนักสู้ผิวดำคนนี้อย่างแน่นอน

อัลบั้มภาพ 9 ภาพ

อัลบั้มภาพ 9 ภาพ ของ วีรบุรุษที่ถูกลืม : "ฟริตซ์ พอลลาร์ด" ผู้กรุยทางให้คนผิวดำมีที่ยืนใน NFL

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook