Project Big Picture : โครงการช่วยเหลือทีมรากหญ้าแต่แท้จริงทำลายประชาธิปไตย

Project Big Picture : โครงการช่วยเหลือทีมรากหญ้าแต่แท้จริงทำลายประชาธิปไตย

Project Big Picture : โครงการช่วยเหลือทีมรากหญ้าแต่แท้จริงทำลายประชาธิปไตย
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

Project Big Picture กลายเป็นเรื่องราวประเด็นร้อนของพรีเมียร์ลีกกับแนวคิดที่สื่อเรียกว่า การทำสัญญากับปีศาจเพื่อให้ฟุตบอลอังกฤษอยู่รอดต่อไป

โปรเจ็คต์นี้เสนอรายได้จำนวนมากเพื่อมอบให้กับลีกฟุตบอลระดับล่างของอังกฤษ กับโอกาสให้สโมสรฟุตบอลได้อยู่รอดต่อไปท่ามกลางวิกฤตทางการเงิน แต่ต้องแลกมากับการสูญเสียประชาธิปไตย และความเท่าเทียมของเกมลูกหนังแดนผู้ดีไปตลอดกาล

Project Big Picture คืออะไร? เหตุใดโครงการนี้จึงไม่ได้รับการยอมรับในหมู่คนอังกฤษ? และโปรเจ็คต์นี้ทำลายประชาธิปไตยในฟุตบอลอังกฤษได้อย่างไร? ติดตามไปพร้อมกับเรา

ทางรอดท่ามกลางวิกฤติ?

Project Big Picture เป็นแนวคิดการช่วยเหลือสโมสรฟุตบอลอาชีพในอังกฤษ ที่ถูกออกแบบโดยสองสโมสรยักษ์ใหญ่ของประเทศ นั่นคือ แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด และ ลิเวอร์พูล

โปรเจ็คต์ถูกคิดขึ้นมาเพื่อเป็นทางออกวิกฤติปัญหาทางการเงิน ที่สโมสรในอังกฤษจำนวนมาก โดยเฉพาะระดับลีกวันและลีกทูต้องเผชิญอยู่ อันเป็นผลกระทบจากการระบาดของไวรัสโควิด-19

1

สื่อได้รายงานว่า ตัวตั้งตัวตีของโครงการนี้ คือ จอห์น ดับเบิลยู. เฮนรี เจ้าของทีมลิเวอร์พูล ที่คิดไอเดียขึ้นมา และนำไปปรึกษากับ โจแอล เกลเซอร์ หนึ่งในเจ้าของทีมแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ซึ่งทั้งสองฝ่ายได้ร่วมกันพัฒนาโปรเจ็คต์นี้ขึ้นมา

เงื่อนไขของโปรเจ็คต์นี้ได้เสนอว่า หากสโมสรพรีเมียร์ลีกตอบรับ Project Big Picture เข้ามาใช้กับลีก เงินจำนวน 250 ล้านปอนด์จะถูกส่งมอบให้กับหน่วยงาน English Football League หรือ EFL ที่ดูแลลีก เดอะ แชมเปียนชิพ, ลีกวัน และ ลีกทู ในทันที เพื่อเป็นเงินทุนก้อนแรกในการช่วยเหลือให้ทีมฟุตบอลรากหญ้ารอดพ้นจากวิกฤติการเงินครั้งนี้ไปได้ 

นอกจากนี้ ในทุกฤดูกาล พรีเมียร์ลีกจะเเบ่งเงินค่าลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสด 25 เปอร์เซ็นต์ หรือหากเทียบจากสัญญาปัจจุบันคือเงิน 750 ล้านปอนด์ มอบให้กับสโมสรในการดูแลของ EFL

จากเนื้อหาข้างต้น ไอเดียของ Project Big Picture ดูดีไม่น้อย กับการเป็นทางสว่างช่วยให้ทีมฟุตบอลขนาดเล็กในอังกฤษสามารถอยู่รอดต่อไปได้

ทว่า เมื่อเกิดการโหวตที่จะตัดสินว่า Project Big Picture จะถูกนำมาใช้กับพรีเมียร์ลีกหรือไม่? เสียงข้างมากกับเลือกโหวตไม่รับโปรเจ็คต์นี้

เพราะเนื้อหาที่บอกว่าจะช่วยเหลือสโมสรขนาดเล็ก เป็นเพียงแค่เปลือกนอกเท่านั้น แต่แก่นแท้ของโปรเจ็คต์นี้ คือการเพิ่มอำนาจสูงสุดให้กับสโมสรชั้นนำ ชนิดที่เรียกว่า ความเป็นประชาธิปไตยของพรีเมียร์ลีก ที่ถูกสร้างขึ้นมาตั้งแต่ปี 1992 จะหายไปตลอดกาล

โปรเจ็คต์ทำลายประชาธิปไตย

Project Big Picture มีข้อดีหลายประการ แต่ยังมีเนื้อหาอีกหลายข้อที่เอื้อประโยชน์ให้กับสโมสรเพียงกลุ่มเดียว นั่นคือทีมระดับแถวหน้าของลีก หรือเจาะจงมากกว่านั้น สื่ออังกฤษเขียนวิจารณ์ว่า โครงการนี้ถูกสร้างมาเพื่อกลุ่ม "BIG 6" ของพรีเมียร์ลีก

2

-  พรีเมียร์ลีกจะต้องลดจำนวนทีมจาก 20 เหลือ 18 ทีม
-  อำนาจในการโหวตการตัดสินใจการเปลี่ยนแปลงในพรีเมียร์ลีก จากที่ทุกสโมสรในลีกมีอำนาจโหวตเท่าเทียมกัน จะเหลือเพียงแค่ 9 สโมสรที่มีระยะเวลารวมอยู่ในพรีเมียร์ลีกมากที่สุดเท่านั้นที่มีอำนาจโหวต โดยใช้เพียงแค่ 6 จาก 9 เสียง ในการอนุมัติข้อเสนอต่างๆ
-  ยกเลิกการแข่งขัน ลีกคัพ และ คอมมิวนิตี ชิลด์
-  เงินชูชีพเพื่อช่วยเหลือสโมสรที่ตกชั้นจากพรีเมียร์ลีกต้องถูกยกเลิก
-  เปลี่ยนกฎการแบ่งรายได้ของสโมสรฟุตบอลในพรีเมียร์ลีกใหม่ โดยสโมสรชั้นนำของลีกต้องได้รับส่วนแบ่งค่าลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดมากกว่าสโมสรอื่นอย่างชัดเจน

เงื่อนไขข้างต้นคือสิ่งที่มอบอำนาจให้กับสโมสรชั้นนำของพรีเมียร์ลีกอย่างชัดเจน ในทางตรงกันข้าม สิทธิ์และเสียงของสโมสรอื่นบนลีกสูงสุดถูกริดรอน จนทำให้โปรเจ็คต์ถูกโหวตไม่รับโดยเสียงข้างมาก

หากมองย้อนถึงจุดตั้งต้นของพรีเมียร์ลีก สิ่งหนึ่งที่เป็นแรงผลักดันทำให้เกิดลีก คือการตกลงกันระหว่างสโมสรบนลีกสูงสุดว่าทุกทีมจะมีสิทธิ์ในการตัดสินใจภายในลีกอย่างเท่าเทียมกัน เพื่อให้ทุกสโมสรได้รับประโยชน์สูงสุดร่วมกัน

แนวทางของพรีเมียร์ลีกได้รับการยกย่องมาตลอดและยังคงเป็นแบบนี้จนถึงปัจจุบัน นอกจากนี้ ยังเป็นแรงบันดาลใจให้ลีกฟุตบอลอื่นนำแนวทางการบริหารอย่างเท่าเทียมโดยสโมสรสมาชิกไปใช้ เช่น บุนเดสลีกา

แต่ถ้า Project Big Picture ได้รับการอนุมัติ อำนาจของโครงการนี้จะทำให้การตัดสินใจอยู่ในมือสโมสรเพียงกลุ่มเดียว ซึ่งทีมชั้นนำจะสามารถเสนอกฎอะไรก็ได้ที่เอื้อประโยชน์ให้กับตัวเองและลงเสียงเห็นชอบได้ด้วยตัวเอง โดยไม่จำเป็นต้องฟังการคัดค้านจากทีมขนาดเล็ก

3

ตัวอย่างสำคัญคือการโหวตเรื่องจำนวนการเปลี่ยนตัวผู้เล่นในแต่ละเกมที่ฤดูกาล 2020/21 มีการเปิดให้โหวตว่าพรีเมียร์ลีกจะสามารถเปลี่ยนตัวได้ 3 คน หรือ 5 คน ตามกฎใหม่ที่ถูกสร้างขึ้นมาในช่วงการระบาดของโควิด-19

ทีมฟุตบอลหัวแถวต่างลงเสียงโหวตให้เปลี่ยนตัวได้ 5 คน แต่สุดท้ายก็ต้องยอมแพ้ให้กับเสียงข้างมากจากสโมสรเล็กที่เลือกโหวตให้เปลี่ยนตัวได้แค่ 3 คน เพราะมองว่าทีมใหญ่ได้ประโยชน์จากการเปลี่ยนตัว 5 คน 

เนื่องจากทีมใหญ่มีผู้เล่นที่มีคุณภาพมากกว่า ยิ่งเปลี่ยนตัวได้มากเท่ากับการเปิดโอกาสให้ทีมอย่าง แมนเชสเตอร์ ซิตี้, ลิเวอร์พูล หรือ เชลซี มีโอกาสส่งผู้เล่นฝีเท้าเยี่ยมลงสนามมากกว่าเดิม

อำนาจโหวตที่เท่าเทียม เป็นสิ่งที่ขัดแข้งขัดขาสโมสรแถวหน้าในพรีเมียร์ลีกมาตลอด เพราะพวกเขาต้องมาเล่นเกมถ่วงดุลอำนาจกับทีมขนาดเล็ก แทนที่จะได้โกยผลประโยชน์ไว้กับตัวเอง

สโมสรระดับหัวแถวของพรีเมียร์ลีกต้องการผลประโยชน์ที่เพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน ดังที่เห็นได้จากข้อเสนอที่ต้องการให้มีการจัดสรรผลประโยชน์การถ่ายทอดสดใหม่ ที่ต้องการให้เงินส่วนมากมากระจุกอยู่กับทีมชั้นนำในฐานะตัวชูโรงของลีก

นอกจากนี้ เงื่อนไขการลดทีมในลีกและยกเลิกฟุตบอลลีกคัพ คือข้อเสนอที่ทีม BIG 6 อย่าง แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด, แมนเชสเตอร์ ซิตี้, ลิเวอร์พูล, ท็อตแน่ม ฮ็อตสเปอร์, อาร์เซน่อล และ เชลซี จะได้รับผลประโยชน์อย่างมาก เพราะเป็นการช่วยลดโปรแกรมการแข่งขันที่เป็นปัญหาของสโมสรเหล่านี้ในการล่าแชมป์ฟุตบอลระดับทวีป เนื่องจากทีมเหล่านี้ได้รับการรับประกันพื้นที่ไปเล่นฟุตบอลยุโรปแทบทุกปี

ในขณะที่สโมสรยักษ์ใหญ่ได้รับประโยชน์หลายประการจากที่ระบุไว้ใน Project Big Picture แต่เราแทบจินตนาการไม่ออกเลยว่า สโมสรอย่าง เลสเตอร์ ซิตี้, คริสตัล พาเลซ, ไบร์ทตันฯ จะได้รับประโยชน์อะไรบ้างจากโปรเจ็คต์นี้?

4

โครงการนี้ไม่เป็นที่พอใจอย่างมากจากคนในวงการฟุตบอล ซึ่งรวมถึงแฟนของทีมในกลุ่ม BIG 6 ด้วยเช่นกัน แฟนบอลจากทั้ง 6 สโมสรได้ร่างจดหมายสนับสนุนแนวคิด "1 ทีม 1 เสียง" เพราะนี่คือแนวคิดรากฐานของฟุตบอลอังกฤษ

"การแบ่งผลประโยชน์อย่างเท่าเทียมคือสิ่งจำเป็น เพื่อให้แน่ใจว่าทุกทีมในพรีเมียร์ลีกจะสามารถแข่งขันได้อย่างเท่าเทียม ในขณะที่ 6 สโมสรใหญ่มีส่วนร่วมกับ Project Big Picture ตามการรายงานของสื่อ เราขอแสดงจุดยืนชัดเจนว่า เราไม่สนับสนุนโครงการนี้" ข้อความบางส่วนจากแถลงการณ์รวมตัวของแฟนบอลทั้ง 6 สโมสรในกลุ่ม BIG 6

ดังนั้นแล้ว สาระสำคัญของ Project Big Picture คือการลดสิทธิ์และเสียงของสโมสรชั้นผู้น้อย และเพิ่มการผูกขาดอำนาจให้กับสโมสรชั้นนำ ซึ่งเป็นการทำลายแนวทางประชาธิปไตยของพรีเมียร์ลีกที่ยึดถือมาตลอด และเปลี่ยนให้ลีกสูงสุดของอังกฤษกลายเป็นเผด็จการที่ผูกขาดผลประโยชน์เพื่อทีมไม่กี่ทีม

รากหญ้าต้องการความช่วยเหลือ

Project Big Picture อาจมีเนื้อหาในการบ่อนทำลายประชาธิปไตยของพรีเมียร์ลีก แต่ในทางกลับกัน ความตั้งใจที่จะช่วยเหลือลีกระดับล่าง คือเรื่องที่ไม่สามารถมองข้ามได้ เพราะว่าสโมสรจำนวนมากกำลังเดือดร้อนจากพิษวิกฤติโควิด-19

5

ริค แพร์รี ประธานของ EFL ออกมากล่าวว่า เขาต้องการความช่วยเหลือจากสโมสรในพรีเมียร์ลีกเพื่อเข้ามาพยุงสโมสรระดับล่าง หากว่า Project Big Picture จะได้รับการอนุมัติก็ถือเป็นเรื่องดี ถึงจะส่งผลเสียกับพรีเมียร์ลีก แต่อย่างน้อยทีมระดับล่างก็ได้ประโยชน์

ทว่าการคิดแบบนั้น ไม่ต่างอะไรจากการรอกินน้ำใต้ศอกของทีมฟุตบอลชนชั้นนำ และยังมีทางเลือกที่ดีกว่าในการช่วยเหลือสโมสรระดับล่าง นั่นคือการให้รัฐบาลเข้ามาแทรกแซงกิจการฟุตบอลในประเทศ

แม้ว่าพรีเมียร์ลีกจะเป็นองค์กรอิสระ แต่เราไม่สามารถปฏิเสธอิทธิพลทางการเมืองเหนือเกมลูกหนังอังกฤษได้.. หากย้อนดูต้นกำเนิดของพรีเมียร์ลีก กลุ่มอำนาจที่คอยเป็นมือที่มองไม่เห็นสนับสนุนการก่อตั้งลีกนี้ขึ้นมาคือ รัฐบาลอังกฤษ ในยุคของมากาเรธ แธตเชอร์ ที่ต้องการจะปฏิวัติฟุตบอลอังกฤษจากปัญหาฮูลิแกนในช่วงยุค 80’s 

หากมองตามหลักแนวคิดทุนนิยม การเข้าไปแทรกแซงกิจการของเอกชนโดยรัฐบาลไม่ถือว่าเป็นเรื่องแปลก เพราะหากภาคเอกชนไม่สามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจและการเงินได้อย่างที่ควร รัฐบาลจำเป็นต้องเข้ามารับบทมือที่มองไม่เห็น คอยช่วยเหลือให้ธุรกิจขับเคลื่อนต่อไปได้

"ผมไม่คิดว่ารัฐบาลควรจะยืนอยู่เฉยๆแล้วมองดูสงครามการเมืองระหว่างประธานสโมสรต่อสู้กัน และทำให้ฟุตบอลอังกฤษเกิดการแตกแยก เพียงเพราะเรื่องแค่ว่า พวกเขาจะหาเงินได้อย่างไรให้มากที่สุด?" แดเมียน คอลลินส์ ประธานคณะกรรมการด้านกีฬาและสมาชิกรัฐสภาของอังกฤษ เรียกร้องให้รัฐบาลออกมาเป็นตัวกลางแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น

6

ในสายตาของคนอังกฤษ เป็นที่ชัดเจนว่าไอเดีย Project Big Picture ไม่เวิร์กอย่างชัดเจน สำหรับประเทศที่ให้ความสำคัญกับระบอบประชาธิปไตย และเป็นประเทศที่เริ่มต้นความเท่าเทียมกันระหว่างประชาชนเป็นชาติแรกๆของโลก ดังนั้น แนวคิดนี้จึงไม่เป็นที่ยอมรับอย่างชัดเจน

คนอังกฤษยังให้ความเคารพและยึดมั่นในระบบรัฐสภาอย่างมาก รัฐบาลถูกมองเป็นความหวังในการแก้ไขปัญหาของสังคม รวมถึงเรื่องของฟุตบอล

"ผมคิดว่ารัฐบาลควรเข้ามาช่วยเหลือและมีส่วนร่วม ต่อให้รัฐบาลจะมองว่าการเข้าไปช่วยเหลือตอนนี้จะต้องใช้เวลานานกว่าจะได้เงินก้อนนั้นกลับมา แต่ตอนนี้หลายสโมสรกำลังเจอปัญหาหนัก และเราไม่รู้เลยว่าอนาคตจะเกิดอะไรขึ้น?"

"สิ่งที่ผมกังวลคือ หลายสโมสรจะยอมรับข้อเสนอนี้ แม้ว่ามันจะสร้างผลประโยชน์ให้กับกลุ่ม BIG 6 แต่ถ้ามันช่วยให้สโมสรเราไม่เจ๊งก็ยอม.. รัฐบาลควรเข้ามามีส่วนร่วม หาทางออกเพื่อให้ทีมระดับลีกวันและลีกทูอยู่รอด"

"ฝรั่งเศสยังมีกฎที่ชัดเจนกับการอนุญาตให้รัฐบาลสามารถมีอำนาจเข้าแทรกแซงการทำงานของลีกฟุตบอลได้ ดังนั้น คุณไม่ต้องกลัวว่านี่จะเป็นการเอาการเมืองมากแทรกแซงฟุตบอลและได้รับการลงโทษจากฟีฟ่า" แดเมียน คอลลินส์ กล่าว

การเกิด Project Big Picture คือการตั้งคำถามครั้งสำคัญกับคนอังกฤษว่า สุดท้ายแล้ว ฟุตบอลคืออะไรกันแน่? ระหว่างเกมที่มอบความสุขให้ผู้คนทุกระดับหรือเครื่องมือหาผลประโยชน์ของกลุ่มชนชั้นนายทุน?

7

"นี่คือสิ่งที่น่ารังเกียจที่สุดที่ผมเคยเจอมาในชีวิต ผมคิดอะไรที่ดีเกี่ยวกับมันไม่ได้เลย นี่คือการเอาปืนมาจ่อหัวพวกเรา ขโมยฟุตบอลไปจากเราเพื่อให้พวกเขารวยมากขึ้น นี่ไม่ใช่ฟุตบอลที่ผมรู้จัก"

"มันเป็นเรื่องที่น่าอับอาย ในช่วงเวลาที่ยากลำบาก กลับมีคนคิดไอเดียแบบนี้ขึ้นมา" เอียน ฮอลโลเวย์ กุนซือของกริมสบี ทาวน์ โจมตี Project Big Picture ว่าสุดท้ายแล้วทีมฟุตบอลรากหญ้าจะไม่ได้ประโยชน์จากโครงการนี้อย่างแน่นอน

อนาคตของ Project Big Picture ยังไม่ได้ถูกตัดสินอย่างถาวร ยังมีความพยายามโดยกลุ่มคนบางส่วนที่จะผลักดันให้โครงการนี้เกิดขึ้นจริง ด้วยการอ้างว่าผลประโยชน์จะเกิดขึ้นกับทุกฝ่าย

อย่างไรก็ตาม หากเรามองถึงรากฐานทางประวัติศาตร์ ทั้งในแง่มุมการเมืองและฟุตบอลของประเทศอังกฤษ โปรเจ็คต์นี้จะไม่ได้รับการยอมรับโดยง่าย

เพราะสำหรับคนอังกฤษ ฟุตบอลคือเกมของทุกคน จะสโมสรเล็กหรือใหญ่ทุกทีมต้องมีสิทธิ์เท่าเทียมกัน และพรีเมียร์ลีกคือลีกที่เกิดขึ้นจากแนวคิดประชาธิปไตยเพื่อการจัดสรรผลประโยชน์อย่างเหมาะสมกับทุกฝ่าย ดังนั้น แนวคิดผูกขาดอำนาจ ไม่ใช่สิ่งที่ฟุตบอลอังกฤษจะเปิดประตูรับกันง่ายๆ

อัลบั้มภาพ 7 ภาพ

อัลบั้มภาพ 7 ภาพ ของ Project Big Picture : โครงการช่วยเหลือทีมรากหญ้าแต่แท้จริงทำลายประชาธิปไตย

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook