ศัตรูที่รัก : ทำไม ดอร์ทมุนด์ ถึงขายนักเตะให้ บาเยิร์น ในราคาไม่แพงเมื่อเทียบกับทีมอื่น

ศัตรูที่รัก : ทำไม ดอร์ทมุนด์ ถึงขายนักเตะให้ บาเยิร์น ในราคาไม่แพงเมื่อเทียบกับทีมอื่น

ศัตรูที่รัก : ทำไม ดอร์ทมุนด์ ถึงขายนักเตะให้ บาเยิร์น ในราคาไม่แพงเมื่อเทียบกับทีมอื่น
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

โรเบิร์ต เลวานดอฟสกี, มัตส์ ฮุมเมิลส์ และ มาริโอ เกิทเซ คือ ชื่อของนักเตะที่ย้ายจาก โบรุสเซีย ดอร์ทมุนด์ สู่ บาเยิร์น มิวนิค สโมสรคู่ปรับร่วมบุนเดสลีกา

ปฏิเสธไม่ได้ว่าการคว้าผู้เล่นเหล่านี้ ส่งผลให้ บาเยิร์น มิวนิค ครองแชมป์ 8 ฤดูกาลติดต่อกัน ขณะที่ โบรุสเซีย ดอร์ทมุนด์ ได้ค่าตอบแทนจากนักเตะแต่ละคนไม่ถึง 40 ล้านยูโร บางรายถึงกับเสียแบบฟรีๆ

การย้ายทีมแต่ละครั้ง ย่อมมาจากความพอใจของทุกฝ่าย น่าสนใจว่าทำไม โบรุสเซีย ดอร์ทมุนด์ จึงขายนักเตะสู่ บาเยิร์น มิวนิค ในราคาไม่แพง แตกต่างจากสโมสรนอกเยอรมัน ที่ต้องควักเงินระดับ 100 ล้านยูโร เพื่อคว้าของดีจากทัพเสือเหลือง

จากเสือเหลืองสู่เสือใต้

ย้อนกลับไปในฤดูกาล 2010-11 โบรุสเซีย ดอร์ทมุนด์ ก้าวขึ้นมาคว้าแชมป์บุนเดสลีกา ภายใต้การนำทีมของ เยอร์เกน คล็อปป์ เฮดโค้ชชาวเยอรมันที่ปลุกปั้นนักเตะสายเลือดใหม่ ไม่ว่าจะเป็น มัตส์ ฮุมเมิลส์, มาริโอ เกิทเซ, ชินจิ คางาวะ, นูริ ซาฮิน, เนเวน ซูโบติช, มาร์เซล ชเมลเซอร์, สเวน เบนเดอร์, และ โรเบิร์ต เลวานดอฟสกี ขึ้นเป็นตัวหลักของทีม

แข้งดาวรุ่งเหล่านี้กลายเป็นส่วนสำคัญพา โบรุสเซีย ดอร์ทมุนด์ ประสบความสำเร็จต่อเนื่องหลายซีซั่น ทั้งการคว้าแชมป์บุนเดสลีกา และเดเอฟเบ โพคาล ในฤดูกาล 2011-12, รองแชมป์บุนเดสลีกาฤดูกาล 2012–13 และ 2013–14 โดยผลงานสำคัญที่สุดคงหนีไม่พ้น การเข้าสู่รอบชิงชนะเลิศ ยูฟ่า แชมเปียนส์ลีก ฤดูกาล 2012–13

การยืนระยะเป็นทีมแถวหน้าอย่างยาวนาน ทำให้ โบรุสเซีย ดอร์ทมุนด์ กลายเป็นคู่แข่งที่สมน้ำสมเนื้อของ บาเยิร์น มิวนิค ยักษ์ใหญ่แห่งเยอรมันมากที่สุดในรอบหลายปี แฟนบอลทั่วโลกคาดหวังว่า ทัพเสือเหลืองจะยกระดับขึ้นมาคู่คี่กับทีมเสือใต้ คล้าย บาร์เซโลนา และ เรอัล มาดริด ในสเปน

แต่เรื่องดังกล่าวกลับไม่เกิดขึ้น เมื่อ โบรุสเซีย ดอร์ทมุนด์ เสียนักเตะตัวหลักให้ บาเยิร์น มิวนิค อย่างต่อเนื่อง เริ่มด้วยการขาย มาริโอ เกิทเซ ในราคา 37 ล้านยูโร เมื่อปี 2013 ตามด้วยการปล่อยตัว โรเบิร์ต เลวานดอฟสกี แบบไม่มีค่าตัว เนื่องจากหมดสัญญาในปี 2014 ลงท้ายด้วยการเสีย มัตส์ ฮุมเมิลส์ ในราคา 35 ล้านยูโร ในปี 2016

สรุปแล้ว โบรุสเซีย ดอร์ทมุนด์ เสียผู้เล่นตัวสำคัญจากชุดคว้าแชมป์บุนเดสลีกา ตั้งแต่ กองหน้า ถึง กองหลัง แลกกับเงินเพียง 72 ล้านยูโร และไม่เคยก้าวขึ้นไปคว้าแชมป์ลีกอีกเลย สวนทางกัน บาเยิร์น มิวนิค นำขุมกำลังชุดนี้เป็นตัวหลักของทีมนานหลายปี กลายเป็นหนึ่งในส่วนสำคัญช่วยให้ทัพเสือใต้ กลายเป็นแชมป์บุนเดสลีกาติดต่อกัน 8 ฤดูกาล

 

ซื้อถูก ขายถูก

เหตุผลแรกที่ โบรุสซีย ดอร์ทมุนด์ ขายนักเตะแก่ บาเยิร์น มิวนิค ในราคาถูกจนน่าตกใจ มาจากการซื้อขายนักเตะส่วนมากในบุนเดสลีกา ไม่ได้มีราคาแพงเหมือนลีกอื่น เช่น พรีเมียร์ลีก หรือ ลาลีกา เนื่องจากสโมสรในเยอรมันถูกควบคุมโดยกฎ 50+1 ปราศจากนายทุน หรือเศรษฐีจากตะวันออกกลาง เข้ามาเป็นนายทุนหนุนหลัง

การย้ายทีมของ มาริโอ เกิทเซ คือตัวอย่างชัดเจนที่สุดในกรณีนี้ ค่าตัว 37 ล้านยูโร ที่ โบรุสเซีย ดอร์ทมุนด์ ระบุไว้ในสัญญาของเกิทเซ ไม่ได้น้อยกว่าความเป็นจริง เพราะไม่มีนักเตะเยอรมันคนใด เคยย้ายทีมด้วยค่าตัวสูงกว่า 37 ล้านยูโร การย้ายสู่ บาเยิร์น มิวนิค ในปี 2013 ทำให้เกิทเซคือนักเตะชาวเยอรมันที่ค่าตัวแพงที่สุดในประวัติศาสตร์ (ก่อนถูกทำลายโดย เมซุต โอซิล ซึ่งย้ายจาก เรอัล มาดริด สู่ อาร์เซนอล ด้วยค่าตัว 47 ล้านยูโร ในปีเดียวกัน)

หากย้อนกลับไปดูตลาดหน้าร้อนปี 2013 ทีมจากบุนเดสลีกาใช้เงินจำนวนไม่มาก ในการซื้อนักเตะฝีมือดีเข้ามาใช้งาน ยกตัวอย่าง ติอาโก อัลคันทารา ที่ บาเยิร์น มิวนิค ซื้อจาก บาร์เซโลนา ด้วยค่าตัว 25 ล้านยูโร และ ซน ฮึง มิน ที่ ไบเออร์ เลเวอร์คูเซน ซื้อจาก ฮัมบูร์ก ด้วยค่าตัว 10 ล้านยูโร

ขณะเดียวกัน มีการซื้อขายด้วยเม็ดเงินมหาศาลในตลาดหน้าร้อนปี 2013 ของสโมสรจากพรีเมียร์ลีก และลาลีกา เช่น การย้ายทีมของ แกเร็ธ เบล จาก ท็อตแนม ฮอทสเปอร์ สู่ เรอัล มาดริด ด้วยค่าตัวสถิติโลก 101 ล้านยูโร หรือการย้ายทีมของ ฆวน มาตา จาก เชลซี สู่ แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ด้วยค่าตัวเฉียด 45 ล้านยูโร

แฟนบอลส่วนใหญ่จึงมองว่าการย้ายทีมของ มาริโอ เกิทเซ มีราคาถูกกว่าความเป็นจริง เมื่อเทียบกับการซื้อขายในลีกอื่น แต่สำหรับทีมในบุนเดสลีกา เม็ดเงิน 37 ล้านยูโร ที่บาเยิร์น มิวนิค จ่ายให้ โบรุสเซีย ดอร์ทมุนด์ ถือเป็นเม็ดเงินที่สมน้ำสมเนื้อทั้งสองฝ่าย ภายใต้กฎ 50+1 ที่ควบคุมไม่ให้สโมสรฟุตบอลเยอรมันใช้จ่ายเกินตัว

การย้ายทีมของ มาริโอ เกิทเซ่ และ มัตส์ ฮุมเมิลส์ ด้วยราคาไม่ถึง 40 ล้านยูโร จึงถือเป็น "บิ๊กดีล" สำหรับการซื้อขายนักเตะภายในบุนเดสลีกา เนื่องจาก ผู้ซื้อ-ผู้ขาย ต่างไม่ใช่ทีมเงินถุงเงินถัง จึงเป็นที่รู้กันว่า ในฟุตบอลเยอรมันจะไม่มีการโก่งราคานักเตะเกินจริง

ตัวอย่างที่เห็นชัด คือการซื้อ มาริโอ เกิทเซ่ และ มัตส์ ฮุมเมิลส์ กลับสู่ โบรุสเซีย ดอร์ทมุนด์ โดย บาเยิร์น มิวนิค ขายนักเตะทั้ง 2 ราย กลับสู่ต้นสังกัดเก่า ด้วยราคา 22 ล้านยูโร และ 30.5 ล้านยูโร ตามลำดับ

โบรุสเซีย ดอร์ทมุนด์ และ บาเยิร์น มิวนิค ซื้อขายนักเตะกันด้วยความมืออาชีพ ไม่มีฝ่ายใดโก่งราคากันและกัน หากมองในมุมของการแข่งขัน ทัพเสือเหลือง อาจเสียเปรียบที่เสียนักเตะตัวหลักในราคาถูก แต่หากมองในมุมธุรกิจ โบรุสเซีย ดอร์ทมุนด์ จะไม่เสี่ยงกับคำว่า ล้มละลาย เหมือนวิกฤติสโมสร ช่วงต้นทศวรรษ 2000s

 

เพื่อนแท้นอกสนาม

อีกหนึ่งเหตุผลสำคัญที่ทำให้ โบรุสเซีย ดอร์ทมุนด์ และ บาเยิร์น มิวนิค ซื้อขายนักเตะกันในราคาถูก มาจากความสัมพันธ์อันดีของผู้บริหารทั้งสองฝ่าย ซึ่งเริ่มต้นขึ้นจากวันอันมืดหม่นของทีมดังจากแคว้นนอร์ทไรน์-เวสท์ฟาเลิน

ย้อนกลับไปในช่วงหน้าหนาวของฤดูกาล 2004-05 โบรุสเซีย ดอร์ทมุนด์ เสี่ยงต่อภาวะล้มละลาย หลังหุ้นของสโมสรมูลค่าตก 80 เปอร์เซ็นต์ เนื่องจากการใช้เงินเกินตัว โดยหวังรายได้ตอบแทนจากค่าลิขสิทธิ์บอลยุโรป แต่การพลาดตั๋วยูฟ่า แชมป์เปียนส์ลีก ฤดูกาล 2003-04 ทำให้สโมสรติดหนี้มหาศาล

"เราเกือบจะล้มละลาย เกือบไปแล้วจริงๆ" ฮันส์ โยอาคิม วัตซ์เก ซีอีโอของโบรุสเซีย ดอร์ทมุนด์ เล่าให้ฟังถึงจุดต่ำสุดของทีม

โบรุสเซีย ดอร์ทมุนด์ ทำทุกวิถีทางเพื่อให้สโมสรรอดจากภาวะวิกฤติ ทั้ง การขายชื่อสนามจาก เวสฟาเลินสตาดิโอน สู่ ซิกนัล อิดูนา พาร์ค และตัดเงินเดือนนักเตะทั้งทีมจำนวน 20 เปอร์เซ็นต์ แต่จนแล้วจนรอด ทัพเสือเหลือง ต้องหลังพิงฝากับสถานะการเงินที่ไม่แน่นอนอยู่หลายปี

หนึ่งทีมที่ยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือ โบรุสเซีย ดอร์ทมุนด์ ยามยาก คือ บาเยิร์น มิวนิค สโมสรจากแคว้นบาวาเรีย ที่เสนอเงินจำนวน 2 ล้านยูโร ให้ทัพเสือเหลืองนำไปยืมโดยไม่คิดดอกเบี้ย เพื่อนำไปจ่ายค่าเหนื่อยนักเตะ ซึ่งเป็นภาระใหญ่ของสโมสร

นับแต่นั้น ความสัมพันธ์ของ โบรุสเซีย ดอร์ทมุนด์ และบาเยิร์น มิวนิค ดำเนินมาด้วยดีตลอด แม้ในวันที่ทั้งสองทีมก้าวขึ้นมาเป็นคู่แข่งแย่งแชมป์บุนเดสลีกาตลอดทศวรรษ 2010s ผู้บริหารทั้ง 2 สโมสร ยังคงทำงานร่วมกันในหลายด้าน โดยเฉพาะการพัฒนาฟุตบอลลีกเยอรมันอย่างยั่งยืน

ดร.ไรห์นฮาร์ด เราบอล ประธานสโมสรโบรุสเซีย ดอร์ทมุนด์ เคยดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมการกำกับ บริษัท เดเอฟแอล จำกัด ช่วงปี 2016-2019 เช่นเดียวกับ บาเยิร์น มิวนิค ที่ส่ง ยาน คริสเตียน ดรีเซน หนึ่งในผู้บริหารของบริษัท เอฟเซ บาเยิร์น มิวนิค จำกัด (มหาชน) เข้ามาเป็นบอร์ดบริหารของเดเอฟแอล ตั้งแต่ปี 2016

หากตัดความบาดหมางในสนามออกไป ทั้ง บาเยิร์น มิวนิค และ โบรุสเซีย ดอร์ทมุนด์ มีเป้าหมายเดียวกันคือพัฒนาฟุตบอลเยอรมัน จึงเป็นเหตุผลสำคัญว่าเหตุใด ทั้งสองฝ่ายจึงซื้อขายนักเตะด้วยราคาถูก รวมถึงยื่นมือช่วยเหลือกันในยามลำบาก

แม้ในปี 2019 ได้มีรายงานจาก Bild สื่อดังของเยอรมันว่า โบรุสเซีย ดอร์ทมุนด์ จะไม่ขายผู้เล่นให้บาเยิร์น มิวนิค อีกต่อไป แต่เหตุผลแท้จริงเบื้องหลังเรื่องนี้ เนื่องจากทัพเสือเหลืองมองเห็นว่า การขายนักเตะออกนอกบุนเดสลีกา สามารถสร้างรายได้ให้พวกเขามากกว่า ไม่ได้มาจากความสัมพันธ์ที่ขาดสะบั้นของ 2 ทีมแต่อย่างใด

ปัจจุบัน โบรุสเซีย ดอร์ทมุนด์ หากำไรมหาศาลจากส่งออกนักเตะสู่ตลาดโลก ไล่ตั้งแต่ ปิแอร์ เอเมอริค โอบาเมยอง, เฮนริกห์ มคิตาร์ยาน, อุสมาน เดมเบเล หรือ คริสเตียน พูลิซิช ด้วยค่าตัวคนละมากกว่า 40 ล้านยูโร เนื่องจาก โบรุสเซีย ดอร์ทมุนด์ มองเห็นว่า ทีมจากอังกฤษ และสเปน มีกำลังเงินมากกว่า และพร้อมจ่ายหนักเพื่อคว้านักเตะที่ต้องการ

สวนทางกัน นักเตะที่กล่าวมาข้างต้น แทบไม่ได้รับความสนใจจาก บาเยิร์น มิวนิค เนื่องจากทัพเสือใต้รู้ดีว่า ไม่มีเงินมากพอจะแย่งผู้เล่นเหล่านั้น บาเยิร์น มิวนิค จึงหันไปค้นหาของดีราคาถูก เช่น แซร์จ นาบรี หรือ อัลฟองโซ เดวีส์ มาปลุกปั้น ด้วยตัวเอง จนผลิดอกออกผลในปัจจุบัน

การขายนักเตะด้วยราคาแพงสู่ต่างประเทศของโบรุสเซีย ดอร์ทมุนด์ จะนำผลดีกับมาสู่ฟุตบอลเยอรมัน เพราะสุดท้าย ทัพเสือเหลืองจะนำเงินที่ได้มาซื้อนักเตะในประเทศต่ออีกที สโมสรในเยอรมันทั้งหมด จะมีสถานะการเงินที่แข็งแกร่งขึ้น เพื่อป้องกันภาวะเสี่ยงล้มละลาย เหมือนที่หลายสโมสรเคยประสบ

เป้าหมายที่ต้องการเห็นฟุตบอลเยอรมันแข็งแกร่ง นำมาสู่การซื้อขายแบบไม่เก็งกำไร ไม่โก่งราคา ระหว่าง โบรุสเซีย ดอร์ทมุนด์ กัย บาเยิร์น มิวนิค ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นจะส่งผลดีต่อใครที่ไหน หากไม่ใช่ 2 สโมสรแห่งนี้ ที่ต้องการพัฒนาสโมสรให้เดินไปข้างหน้าอย่างมั่นคงและยั่งยืน

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook