โมเดลธุรกิจ "โบรุสเซีย ดอร์ทมุนด์" ทีมฟุตบอลชั้นนำที่ไม่มีหนี้แม้ยูโรเดียว

โมเดลธุรกิจ "โบรุสเซีย ดอร์ทมุนด์" ทีมฟุตบอลชั้นนำที่ไม่มีหนี้แม้ยูโรเดียว

โมเดลธุรกิจ "โบรุสเซีย ดอร์ทมุนด์" ทีมฟุตบอลชั้นนำที่ไม่มีหนี้แม้ยูโรเดียว
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

โบรุสเซีย ดอร์ทมุนด์ คือสโมสรฟุตบอลระดับแนวหน้าของโลก ในฐานะทีมชั้นนำของประเทศเยอรมัน แม้จะไม่ใช่ทีมฟุตบอลที่คว้าแชมป์ติดมือได้ทุกปี แต่ด้วยมนต์เสน่ห์บางอย่าง ทำให้ทีมเสือเหลือง มีแฟนคลับมากมายอยู่ทั่วทุกมุมโลก

พูดถึงสโมสรแห่งนี้ แฟนฟุตบอลย่อมนึกถึงจุดเด่นของทีมที่แตกต่างกันออกไป ซึ่งล้วนเป็นเรื่องที่ดีทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็น บรรยากาศในสนามที่ยอดเยี่ยม, ฟุตบอลเกมรุกที่สนุกสนาน, การพัฒนาเยาวชนอย่างมีประสิทธิภาพ ไปจนถึงการมีแฟนบอลคอยตามเชียร์เต็มสนาม แทบทุกนัดกับการเล่นในบ้าน

อย่างไรก็ตาม มีสิ่งหนึ่งที่เป็นเรื่องราวที่ดี ของสโมสรโบรุสเซีย ดอร์ทมุนด์ แต่หลายคนไม่เคยรู้มาก่อน นั่นคือสโมสรแห่งนี้ คือสุดยอดทีมที่บริหารเรื่องการเงินได้อย่างยอดเยี่ยม แม้ผู้ถือหุ้นส่วนใหญ่ของสโมสร จะเป็นแฟนบอลธรรมดา แต่สโมสรแห่งนี้สามารถบริหารทีม โดยไม่มีหนี้แม้แต่ยูโรเดียว และยังคงเป็นทีมระดับแถวหน้าของวงการลูกหนัง

จากการเปิดเผยของหน่วยงาน Soccerex ที่คอยเก็บข้อมูลด้านการเงินของสโมสรฟุตบอล ได้เปิดเผยว่า ดอร์ทมุนด์ เป็นเพียงสโมสรชั้นนำระดับโลกไม่กี่ทีม ร่วมกับ ปารีส แซงต์ แชร์กแมง ที่ไม่มีหนี้สินของสโมสรแม้แต่ยูโรเดียว แต่สำหรับเปแอสเช ถือเป็นเรื่องที่เข้าใจได้ เพราะทีมถูกถือครองโดยกลุ่มทุนจากประเทศกาตาร์ มีเงินทุนมหาศาลคอยสนับสนุน

ทว่ากับ โบรุสเซีย ดอร์ทมุนด์ พวกเขามีวิถีทางอย่างไร ที่บริหารทีมให้ไร้หนี้สิน จนมีความมั่นคงทางการเงินอยู่ในระดับ Top 10 ของโลก และมั่นคงมากกว่า สโมสรชื่อดังอย่าง แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด, บาร์เซโลนา, แอตเลติโก มาดริด หรือ อินเตอร์ มิลาน

ร่วมหาคำตอบไปพร้อมกับ Main Stand

จากคนที่เคยพลาด

หากจะหาเหตุผลข้อสำคัญว่าเหตุใด โบรุสเซีย ดอร์ทมุนด์ จึงมีการบริหารด้านการเงิน ที่ยอดเยี่ยมในปัจจุบัน คำตอบคือในอดีต สโมสรแห่งนี้เคยตกเป็นทาสให้กับเม็ดเงิน จนเกือบล้มละลาย และถูกสั่งยุบสโมสรมาแล้ว

ย้อนไปในยุค 90s คือช่วงเวลารุ่งโรจน์ช่วงหนึ่งของโบรุสเซีย ดอร์ทมุนด์ พวกเขาเป็นทั้งแชมป์บุนเดสลีกา, แชมป์ยูฟ่า แชมเปียนส์ ลีก และแชมป์ ยูฟ่า คัพ (ยูโรปา ลีก ในปัจจุบัน) อีกทั้งมีนักเตะระดับรางวัลบัลลง ดอร์ อยู่ในทีม นั่นคือ มัทธีอัส ซามเมอร์ 

1

ไม่มีช่วงเวลาไหน ที่ดอร์ทมุนด์จะประสบความสำเร็จ มากกว่าช่วงเวลานั้น พวกเขามีความทะเยอทะยานอย่างมาก ที่จะก้าวขึ้นมาเป็นเบอร์หนึ่ง ของวงการลูกหนัง ท่ามกลางโลกทุนนิยม ที่เริ่มเข้ามามีบทบาทในโลกฟุตบอล ช่วงยุค 90s ... ดอร์ทมุนด์จึงเลือกใช้เงิน เป็นเครื่องมือในการปูทางสู่ความสำเร็จ และนั่นคือก้าวแรกที่พวกเขา เดินสู่เส้นทางแห่งหายนะของสโมสร 

จุดเริ่มต้นก้าวที่ผิดพลาด ต้องย้อนไปในปี 1995 โบรุสเซีย ดอร์ทมุนด์ ได้มีแผนการครั้งใหญ่ คือการขยาย เวสต์ฟาเลนสตาดิโอน หรือ ซิกนัล อิดูร์นา ปาร์ค ในปัจจุบัน จาก 54,000 ที่นั่ง ให้เป็น 81,000 ที่นั่ง เพื่อให้สนามเหย้าของทีม เป็นสนามที่ทันสมัย และยิ่งใหญ่ในวงการฟุตบอล พร้อมสำหรับการเป็นเจ้าภาพฟุตบอลทุกรูปแบบ

การขยายสนามครั้งนี้ ทำให้ดอร์ทมุนด์ ต้องเสียเงินถึง 60 ล้านยูโร ในเวลานั้น ถ้าเทียบค่าเงินเป็นปัจจุบัน เท่ากับ 92 ล้านยูโร หรือประมาณ 3,384 ล้านบาท ... การเสียเงินจำนวนมากขนาดนี้ เราคงเห็นในโลกฟุตบอลปัจจุบันแล้วว่า หากมีการปรับปรุงสนาม หรือสร้างสนามใหม่ สิ่งที่สโมสรฟุตบอลต้องทำ คือการรัดเข็มขัดทางการเงิน เพื่อลดรายจ่าย และนำเงินมาใช้หนี้ในเรื่องของสนาม ดังที่ อาร์เซนอล ได้ทำหลังจากสร้างสนามใหม่อย่าง เอมิเรตส์ สเตเดียม หรือ ท็อตแนม ฮ็อตสเปอร์ ในปัจจุบัน หลังสร้าง ท็อตแนม ฮ็อตสเปอร์ สเตเดียม

โบรุสเซีย ดอร์ทมุนด์ ในตอนนั้นเลือกทำสิ่งที่ตรงกันข้าม นั่นคือพยายามดึงนักเตะฝีเท้าดีเข้าสู่ทีม เพื่อล่าความสำเร็จ ... ไฮโค แฮร์ลิช, เปาโล ซูซ่า, เยนส์ เลห์มันน์, เฟรดี โบบิช, คริสเตียน เวิร์นส์, เอวานิลสัน, วิคเตอร์ อิกเปบา, โธมัส โรซิคกี, ซันเดย์ โอลิเซ, มาร์โช อโมโรโซ, แยน โคลเลอร์, อีเวอร์ธอน, ทรอสเทน ฟริงค์ส ทั้งหมดคือนักฟุตบอลชั้นนำ ที่โบรุสเซีย ดอร์ทมุนด์ ดึงมาร่วมทีม 

2

นับตั้งแต่ปี 1995-2002 ทีมต้องสูญเงินมหาศาล ทั้งเรื่องเงินค่าตัว และค่าเหนื่อย แต่ผลลัพธ์ที่ได้กลับมา หลังจากปี 1997 คือแชมป์บุนเดสลีกา แค่สมัยเดียว ในฤดูกาล 2001-02

ฤดูกาลนั้น ถือเป็นฤดูกาลที่ดอร์ทมุนด์ ยอมใช้เงินซื้อความสำเร็จอย่างแท้จริง หลังจากก่อนหน้านี้ ทุ่มไปเท่าไหร่ แชมป์ก็ไปตกอยู่กับ บาเยิร์น มิวนิค ... ทีมยอมทำลายสถิตินักเตะค่าตัวแพงที่สุด ในประวัติศาสตร์สโมสร เพื่อซื้อ มาร์โช อโมโรโซ มาจากปาร์มา ด้วยราคา 25.5 ล้านยูโร และในฤดูกาลนั้น ดอร์ทมุนด์ใช้เงินไป 49.5 ล้านยูโร เพื่อซื้อนักเตะ ทำลายสถิติการใช้เงินซื้อตัวในฤดูกาลเดียว ของสโมสรด้วยเช่นกัน 

ยิ่งไปกว่านั้น นับตั้งแต่ฤดูกาล 1999-2000 จนถึง 2001-02 ดอร์ทมุนด์ซื้อตัวนักฟุตบอล แพงกว่าบาเยิร์นทุกปี เพียงเพราะต้องการเป็นแชมป์บุนเดสลีกา กว่าจะรู้ตัวอีกที พวกเขาได้เดินมาเส้นทางอันดำมืดทางการเงิน เกินกว่าที่ถอยหลังกลับได้แล้ว

แชมป์บุนเดสลีกา 2001-02 คือดอกไม้ไฟลูกใหญ่ และลูกสุดท้าย ที่ทำให้ดอร์ทมุนด์เห็นความจริงอันเลวร้ายที่อยู่ตรงหน้า พวกเขาเริ่มรู้ว่าทีมมีหนี้มหาศาล จากการขยายสนามที่ยังไม่เสร็จ รวมถึงค่าตัวและค่าเหนื่อยนักเตะ ที่สโมสรทุ่มลงไปเพื่อซื้อความสำเร็จ 

รู้ตัวอีกที ดอร์ทมุนด์อยู่ในสภาวะเสี่ยงล้มละลาย ไม่มีเงินจะมาจ่ายค่าจ้างให้กับนักฟุตบอล และพนักงานของสโมสร รวมถึงเกือบถูกพิจารณาปรับตกชั้น จนดอร์ทมุนด์ต้องยอมรับเงินช่วยเหลือ จากบาเยิร์น มิวนิค ที่ให้ยืมเงิน จำนวน 2 ล้านยูโร ในปี 2004 เพื่อนำเงินมาหมุนในสโมสร

3

2 ล้านยูโร คือจำนวนเงินเล็กน้อยมาก ในอดีตสำหรับดอร์ทมุนด์ ทีมเคยใช้เงินซื้อนักเตะตั้งมากมาย แต่ชั่วพริบตาเดียว เงินแค่นี้พวกเขากลับไม่มีปัญหาจะหามาใช้จ่าย จนต้องยอมรับความช่วยเหลือ ยอมยืมเงิน จากทีมคู่ปรับ

ความผิดพลาดในครั้งนั้น คือการตบหน้าให้ดอร์ทมุนด์ลืมตาตื่น มองเห็นความจริงอีกครั้ง และสโมสรแห่งนี้ เริ่มเดินทางครั้งใหม่ โดยไม่หันหลังกลับไปมองอดีตอีกเลย

เปลี่ยนแนวคิด สร้างความสำเร็จ

จากสโมสรที่เคยติดหนี้ถึง 126 ล้านยูโร ในปี 2005 โบรุสเซีย ดอร์ทมุนด์ ใช้เวลาเพียง 6 ปี ใช้หนี้ที่สะสมอยู่ได้ทั้งหมด รวมถึงในปี 2011 ที่สโมสรเคลียร์หนี้จนหมด พวกเขาสามารถกลับไปยืนอยู่จุดสูงสุด ด้วยการเป็นแชมป์บุนเดสลีกา 

จุดเริ่มต้นยุคทองของดอร์ทมุนด์ ต้องย้อนไปในปี 2005 หลังจากสโมสรแต่งตั้ง ฮานส์ โยอาคิม วัตซ์เก ให้รับตำแหน่ง CEO คนใหม่ของสโมสร ... วัตซ์เกรับรู้ทุกความล้มเหลวของสโมสร ไม่ใช่ในฐานะผู้บริหาร แต่ในฐานะแฟนบอลคนหนึ่ง ที่จ่ายเงินสมัครสมาชิกเป็นผู้ถือหุ้นของสโมสร 

จากวิกฤตทางการเงินที่ดอร์ทมุนด์ ต้องเผชิญ แฟนบอลอย่างวัตซ์เก ได้เห็นความจริงว่า สิ่งใดสำคัญที่สุดกับสโมสรฟุตบอล แน่นอนว่าไม่ใช่ถ้วยแชมป์ แต่การทำให้สโมสรอยู่คู่กับแฟนบอลให้นานที่สุด แม้จะเจอวิกฤติใดก็ตาม สโมสรต้องสามารถอยู่รอดได้

4

วัตซ์เก เริ่มต้นกับการวางรากฐาน "แฟนบอลและท้องถิ่นสำคัญที่สุด" เขาพร้อมจะทำทุกทาง ให้สโมสรมีความมั่นคงทางการเงิน เพื่อรักษาสถานภาพของสโมสรเอาไว้ หลังจากเข้ามาทำงานในฐานะ CEO เขาสั่งลดค่าเหนื่อยนักเตะทุกคน 20 เปอร์เซนต์แบบไม่มีข้อแม้ ใครไม่พอใจเชิญเก็บของย้ายทีมได้ทันที 

นอกจากนี้ ในฤดูกาลแรกของวัตซ์เก เขาเซ็นสัญญาผู้เล่นเข้าสู่ทีม 7 ราย แต่ใช้เงินแค่ 1.7 ล้านยูโรเท่านั้น ไม่มีการซื้อผู้เล่นชื่อดังอีกต่อไป นักเตะส่วนใหญ่จะซื้อมาจากเนเธอร์แลนด์ กับสวิตเซอร์แลนด์ ด้วยเหตุผลเดียวคือ "ถูก"

แน่นอนว่า ผลงานของดอร์ทมุนด์ค่อย ๆ ร่วงหล่น จากทีมลุ้นแชมป์ กลายเป็นทีมกลางตาราง และต้องหนีตกชั้นในฤดูกาล 2007-08 จบอันดับที่ 13 ของตาราง

ในขณะที่ผลงานในสนามร่วงหล่น ดอร์ทมุนด์กลับประสบความสำเร็จมากขึ้นเรื่องสถานะการเงิน สโมสรสร้างความมั่นคงด้วยการจับมือกับองค์กรธุรกิจท้องถิ่นอย่าง Evonik Industries ให้เข้ามาเป็นผู้สนับสนุนสโมสร และร่วมถือหุ้นสโมสรในเวลาต่อมา เพราะแม้จะเป็นองค์กรธุรกิจ แต่บริษัท Evonik มีระยะห่างจากสโมสรดอร์ทมุนด์ ประมาณ 38 กิโลเมตรเท่านั้น เรียกได้ว่าอยู่ในท้องถิ่นเดียวกัน ดอร์ทมุนด์จึงความมั่นใจ ที่จะดึงบริษัทท้องถิ่นเข้ามามีส่วนร่วม

การดึงบริษัทท้องถิ่น เข้ามาเป็นผู้สนับสนุนสโมสร คือแนวคิดที่ทางดอร์ทมุนด์เชื่อว่าเหมาะสม กับการทำธุรกิจฟุตบอล เพราะด้วยความผูกพันกับท้องถิ่น บริษัทเหล่านี้จะไม่มีทางทอดทิ้งสโมสร และพร้อมให้การสนับสนุน ซึ่งสโมสรได้เงินจากกลุ่มธุรกิจเหล่านี้ มาช่วยหมุนเงินในสโมสร 

5

หนึ่งในกรณีที่น่าสนใจ คือการที่ดอร์ทมุนด์ ยอมผูกเป็นพันธมิตรทางธุรกิจกับ Puma บริษัทเสื้อผ้ากีฬาชื่อดังสัญชาติเยอรมัน ให้เข้ามาเป็นทั้งผู้สนับสนุน และผู้ถือหุ้นของสโมสร ส่วนหนึ่งเพราะดอร์ทมุนด์เชื่อใจว่า บริษัทเลือดเนื้อเชื้อไขเดียวกัน จะไม่เอาเปรียบสโมสร 

ส่วนอีกด้าน การมีองค์กรยักษ์ใหญ่เข้ามาร่วมถือหุ้น ช่วยให้สโมสรมีความมั่นคงทางการเงินมากขึ้น ถึงจะถือหุ้นเพียง 5 เปอร์เซนต์ก็ตาม

หลังจากเพิ่มรายได้ อีกสิ่งหนึ่งที่จำเป็นต้องควบคู่กัน คือการลดรายจ่าย ... ดอร์ทมุนด์เปลี่ยนแนวทางที่เคยทำในอดีต ซื้อนักเตะชื่อดังจากสโมสรดัง หันมาลงทุนกับการซื้อผู้เล่นดาวรุ่งมาปั้นเพื่อสร้างทีม ไปพร้อมกับการใช้โค้ชหนุ่มที่ยังไม่มีชื่อเสียง แต่เปี่ยมด้วยการกระหายความสำเร็จ

เยอร์เกน คล็อปป์ คือชายหนุ่มที่เดินเข้ามานำทัพโบรุสเซีย ดอร์ทมุนด์ ยุคใหม่ พร้อมกับการดึงผู้เล่นอายุน้อย ฝีเท้าดี ที่ถูกทีมใหญ่มองข้าม ผสมผสานกับการพัฒนาแข้งเยาวชน ผลลัพธ์ที่ตามคือสโมสรมีนักเตะอย่าง นูริ ซาฮิน, มัตส์ ฮุมเมิลส์, ยาคุบ บลาสซีคอฟสกี, มาริโอ เกิตเซ, เนเวน ซูโบติช, มาร์เซล ชเมลเซอร์, ลูคัส บาร์ริออส, โรเบิร์ต เลวาดอฟสกี, ชินจิ คางาวะ, ลูคัส พิซเช็ค 

6

นักเตะทั้งหมดนี้ ดอร์ทมุนด์ใช้เงินดึงตัวพวกเขามาร่วมทีม แค่ 20.5 ล้านยูโร น้อยกว่าค่าตัว มาร์โช อโมโรโซ นักเตะค่าตัวแพงคนเดียวที่ทีมซื้อมาเมื่อฤดูกาล 2001-02 แต่ผลลัพธ์ที่ตามมากลับคุ้มค่ามหาศาล นั่นคือ การเป็นแชมป์บุนเดสลีกา 2 ฤดูกาลติดต่อกัน ในปี 2011 และ 2012

สร้างกำไร จากฟุตบอล

โบรุสเซีย ดอร์ทมุนด์ เจอเคล็ดลับความสำเร็จของตัวเอง ทั้งเรื่องในและนอกสนาม ด้วยแนวคิดง่ายๆ "สร้างรายได้ให้มากที่สุด และลดรายจ่ายให้มากที่สุด" 

สำหรับผลงานในสนาม ถึงจะโดนค่อนขอดว่า ไม่มีความทะเยอะทะยานที่จะทุ่มซื้อนักเตะ เพื่อล่าความสำเร็จ และปล่อยให้บาเยิร์น คว้าแชมป์บุนเดสลีกา 8 สมัยติดต่อกัน ... แต่หากเรามองจริง ๆ แล้ว ทุกอย่างคือเรื่องเข้าใจผิดทั้งหมด

ในความเป็นจริงแล้ว ดอร์ทมุนด์คือทีมที่ให้ความสำคัญ กับแชมป์อย่างมาก แต่ไม่ใช่แชมป์บุนเดสลีกา แต่เป็นแชมเปียนส์ ลีก ... สำหรับดอร์ทมุนด์ เป้าหมายสำคัญของทีม คือการไปเล่นฟุตบอลยุโรปถ้วยใหญ่ให้ได้ เพื่อคว้าเงินก้อนโต และแฟนบอลยังได้ความพึงพอใจ กับการที่สโมสรยังอยู่แถวหน้า ได้โอกาสไปเล่นฟุตบอลรายการใหญ่ที่สุดในระดับสโมสร

10 ฤดูกาลหลังสุดของโบรุสเซีย ดอร์ทมุนด์ ทำอันดับให้ทีมได้ไปเล่นยูฟ่า แชมเปียนส์ ลีก 9 ครั้ง จาก 10 ฤดูกาล มากกว่า ลิเวอร์พูล, แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด, อาร์เซนอล, เชลซี, แอตเลติโก มาดริด แม้แต่ยอดทีมจากฝรั่งเศสอย่าง เปเอสเช และยอดทีมจากอิตาลีอย่าง ยูเวนตุส ยังทำอันดับไปเล่นแชมเปียนส์ ลีก ได้ 9 ครั้ง เทียบเท่ากับ โบรุสเซีย ดอร์ทมุนด์ 

7

การไม่ได้แชมป์ ไม่ใช่เรื่องสำคัญสำหรับดอร์ทมุนด์ แต่สิ่งสำคัญคือดอร์ทมุนด์ สามารถสร้างรายได้ที่มั่นคง รับประกันว่าทุกปี สโมสรจะมีรายได้ก้อนโตเข้ามา จากการไปเล่นฟุตบอลยูฟ่า แชมเปียนส์ ลีก ซึ่งช่วยให้ดอร์ทมุนด์วางแผนทางการเงินได้ง่ายขึ้นอีกมาก 

ไม่เพียงเท่านี้ ดอร์ทมุนด์ยังได้รับบทเรียน จากการเป็นผู้ซื้อในอดีต ที่ทำให้สโมสรติดหนี้มหาศาล ทีมจึงปรับบทบาทกลายมาเป็นผู้ขายในยุคปัจจุบัน ที่นอกจากไม่เป็นหนี้ ยังช่วยให้สโมสรมีเงิน นำไปใช้จ่ายในธุรกิจด้านอื่น ๆ

ดอร์ทมุนด์ยอมสร้างภาพลักษณ์ของทีม ให้กลายเป็นทีมปั้นเยาวชน เพื่อดึงนักเตะราคาถูก อายุน้อย ฝีเท้าดี เข้ามาใช้งาน เมื่อถึงจุดหนึ่งจึงขายนักเตะออกจากทีม เพื่อทำกำไรให้กับสโมสร 

นูริ ซาฮิน ทำกำไร 10 ล้านยูโร (ซื้อ 0 ยูโร เพราะเป็นเด็กปั้นสโมสร ขาย 10 ล้านยูโร), ชินจิ คางาวะ ทำกำไร 15.65 ล้านยูโร (ซื้อ 350,000 ยูโร ขาย 16 ล้านยูโร), มาริโอ เกิตเซ ทำกำไร 37 ล้านยูโร (ซื้อ 0 ยูโร เด็กปั้นสโมสรอีกคน ขาย 37 ล้านยูโร), เฮนริคห์ มคิทาร์ยาน ทำกำไร 14.5 ล้านยูโร (ซื้อ 27.5 ล้านยูโร ขาย 42 ล้านยูโร), มัตส์ ฮุมเมิ่ลส์ ทำกำไร 31 ล้านยูโร (ซื้อ 4 ล้านยูโร ขาย 35 ล้านยูโร), อิลคาย กุนโดกัน ทำกำไร 21.5 ล้านยูโร (ซื้อ 5.5 ล้านยูโร ขาย 27 ล้านยูโร), อุสมาน เด็มเบเล ทำกำไร 123 ล้านยูโร (ซื้อ 15 ล้านยูโร ขาย 138 ล้านยูโร), ปิแอร์ เอเมริค โอบาเมยอง ทำกำไร 50 ล้านยูโร (ซื้อ 13 ล้านยูโร ขาย 63 ล้านยูโร) เป็นต้น

8

มีสโมสรมากมายยอมจ่ายเงินเพื่อทุ่มซื้อนักเตะ ราคาแพงหลายสิบล้าน ไปจนถึงร้อยล้าน จนมีหนี้สะสม แต่ดอร์ทมุนด์ทำในสิ่งที่ตรงกันข้าม ยอมเป็นสโมสรยอดนักขาย เพื่อสร้างความมั่นคงทางการเงินให้กับทีม 

ปฏิเสธไม่ได้ว่า ความมั่นคงทางรายได้ของดอร์ทมุนด์ มาจากผลงานที่สม่ำเสมอของทีม ซึ่งผลงานตรงนี้ ช่วยให้นักเตะดาวรุ่งทั่วโลก อยากมาค้าแข้งให้กับดอร์ทมุนด์ เพราะได้อยู่ในทีมที่มีคุณภาพ มีโอกาสให้เล่น และได้เล่นยูฟ่า แชมเปียนส์ ลีก แทบทุกปี 

เจดอน ซานโช และ เออร์ลิง ฮาลันด์ คือตัวอย่างที่ดี ทั้งสองคนยอมปฏิเสธข้อเสนอจากสโมสรเงินถุง เพื่อมาหาโอกาสที่ดอร์ทมุนด์ และวันหนึ่งนักเตะทั้งสองคนจะตอบแทนดอร์ทมุนด์ ด้วยการมอบเงินมหาศาลเอาไว้ให้ เมื่อถึงเวลาที่ต้องเก็บกระเป๋าจากไป

หนทางที่แท้จริงของฟุตบอล?

เราได้เห็นแล้วว่า ดอร์ทมุนด์ยุคปัจจุบัน มีวิธีสร้างรายได้อย่างไร และเหตุใดสโมสรแห่งนี้จึงไร้หนี้ แนวทางลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ ทำให้สโมสรแห่งนี้แข็งแกร่งด้านการเงิน จนอยู่อันดับที่ 10 จากการจัดอันดับของหน่วยงาน Soccerex ในปี 2020 โดยเหตุผลหลักที่ดอร์ทมุนด์ คว้าอันดับ 10 ไปครอง เพราะสโมสรแห่งนี้ไม่มีหนี้ แม้แต่ยูโรเดียว

การไม่มีหนี้คือเรื่องที่ดี หลายสโมสรที่มีเงินทุนหนากว่าดอร์ทมุนด์ หรือมีเจ้าของมหาเศรษฐีหนุนหลัง กลับมีความมั่นคงทางการเงินน้อยกว่า เพราะมีหนีสะสมมหาศาลอยู่ในสโมสร

9

แอตเลติโก มาดริด มีหนี้สะสม 538 ล้านยูโร, บาร์เซโลนา มีหนี้สะสม 652 ล้านยูโร, แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด มีหนี้สะสม 800 ล้านยูโร, อินเตอร์ มิลาน มีหนี้สะสม 336 ล้านยูโร, บาเลนเซีย มีหนี้สะสม 426 ล้านยูโร สโมสรเหล่านี้ ล้วนมีความมั่นคงทางการเงิน น้อยกว่าดอร์ทมุนด์ 

อย่างไรก็ตาม หลายสโมสรที่มีหนี้สะสมมหาศาล ยังคงมีอันดับความมั่นคงทางการเงิน มากกว่าโบรุสเซีย ดอร์ทมุนด์ ไม่ว่าจะเป็น เรอัล มาดริด มีหนี้สะสม 244 ล้านยูโร, อาร์เซนอล มีหนี้สะสม 272 ล้านยูโร, ลิเวอร์พูล มีหนี้สะสม 292 ล้านยูโร, ยูเวนตุส มีหนี้สะสม 593 ล้านยูโร หรือ ท็อตแนม ฮ็อตสเปอร์ มีหนี้สะสมสูงถึง 898 ล้านยูโร แต่ทุกทีมที่ว่ามา ได้รับการจัดอันดับ ให้มีความมั่นคงทางการเงิน สูงกว่าดอร์ทมุนด์

โดยเฉพาะท็อตแนม ฮ็อตสเปอร์ ที่แม้จะมีหนี้ก้อนโต แต่สโมสรแห่งนี้ กลับเป็นสโมสรฟุตบอล ที่มีความมั่นคงทางการเงิน อันดับ 4 ของโลก ... นั่นเป็นเพราะว่า แม้จะมีหนี้ แต่สโมสรเหล่านี้ ยังมีเงินมหาศาลจากส่วนอื่นมาช่วยเหลือ ไม่ว่าจะเป็น มูลค่าของนักฟุตบอล, ทรัพย์สินของสโมสร รวมถึงเงินอัดฉีดจากเจ้าของสโมสร

ดังนั้น คำถามที่ตามมาคือ แนวทางการใช้เงินอย่างรัดกุมของดอร์ทมุนด์ คือสิ่งถูกต้องหรือไม่ หากสโมสรจะยอมติดหนี้ แต่ทีมมีนักเตะราคาแพงไว้ในครอบครอง มีสนามมูลค่าสูง สิ่งอำนวยความสะดวกราคาแพง บวกกับการเปิดรับให้กลุ่มทุนขนาดใหญ่ เข้ามาเป็นเจ้าของทีม คือสิ่งที่ทำให้สถานะการเงินของทีมมั่นคง มากกว่าการบริหารผ่านแฟนบอล แล้วเน้นการทำทีมแบบหวังกำไร หรือเปล่า ?

10

ดอร์ทมุนด์ พูดถึงเรื่องนี้อย่างชัดเจน ผ่านเว็บไซต์ของสโมสร ว่าเป้าหมายที่สำคัญของสโมสรลำดับต้น ๆ คือการทำสโมสรฟุตบอลแบบไม่มีหนี้ ดังนั้นต่อให้การทุ่มเงิน มีหนี้ติดตัว จะทำให้ทีมมีทรัพย์สินมหาศาล ในรูปแบบต่าง ๆ ดอร์ทมุนด์จะไม่ทำโดยเด็ดขาด

นอกจากนี้ ดอร์ทมุนด์เปิดเผยว่า การทำทีมให้ประสบความสำเร็จ คือเรื่องสำคัญ เพราะแฟนบอลทุกคนต้องการเห็นทีมประสบความสำเร็จ แต่สำหรับดอร์ทมุนด์ ทีมเลือกจะประสบความสำเร็จตามความเหมาะสมของทีม ไม่จำเป็นต้องทุ่มเงินเพื่อล่าความสำเร็จ ซึ่งสโมสรมองว่า เป็นกับดักของฟุตบอลสมัยใหม่

โบรุสเซีย ดอร์ทมุนด์ ยังคงเป็นสโมสรที่ให้ความสำคัญ กับแฟนบอลท้องถิ่นมากที่สุด สิ่งสำคัญในการทำทีมฟุตบอล คือสนามเหย้าต้องเป็นพื้นที่ให้แฟนบอลของทีม มาแสวงหาความสุขในช่วงสุดสัปดาห์ และจะต้องเป็นแบบนี้ไปตลอด สโมสรต้องจริงใจกับแฟนบอล 

ดอร์ทมุนด์ จึงไม่ยอมรับความช่วยเหลือ จากกลุ่มทุนต่างประเทศ ขอเลือกรัดเข็มขัด ทำทีมแบบที่ทำมาตลอด ช่วง 10 ปีที่ผ่านมา นอกจากนี้ ดอร์ทมุนด์ยังต้องการแสดงให้เห็นว่า สโมสรฟุตบอลสามารถอยู่ได้โดยไม่ต้องมีกลุ่มทุนเข้ามาเป็นเจ้าของสโมสร ยังมีอีกหลายช่องทางที่ทีมจะหารายได้ โกยเงินเข้ากระเป๋า ไม่ว่าจะเป็น เงินค่าลิขสิทธิ์ต่าง ๆ, เงินจากการขายนักเตะ, การขายสินค้า, การทำการตลาดต่างประเทศ

ดอร์ทมุนด์เชื่อว่า แนวทางที่ชัดเจน ทั้งแนวทางการสร้างฟุตบอลในสนาม, วิถีการเล่น, การให้ความสำคัญกับแฟนบอล และความจริงใจกับแฟนบอล จะช่วยให้ทีมมีเอกลักษณ์ที่ชัดเจน ไม่เหมือนใคร ซึ่งจะมีผลในการช่วยให้สโมสรมีความมั่นคงมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของฟุตบอล หรือธุรกิจ

11

เห็นได้จากฤดูกาลล่าสุด ที่แม้จะมีวิกฤติไวรัส COVID-19 แต่สถานะการเงินของทีมยังคงแข็งแกร่ง พร้อมกับประกาศว่า จะไม่มีการขายนักเตะตัวหลักของทีมในราคาถูก เพื่อหมุนเงินมาใช้ในสโมสร ทีมไหนอยากได้นักเตะของดอร์ทมุนด์ ต้องจ่ายแพงเหมือนในฤดูกาลก่อนหน้านี้

สิ่งนี้คือผลลัพธ์ ที่ได้มาจากการวางรากฐานอันยาวนานของสโมสร ช่วยให้ทีมไม่มีหนี้สิน มีสถานะการเงินที่มั่นคง และที่สำคัญที่สุด โบรุสเซีย ดอร์ทมุนด์ ได้เดินมาถูกทาง เดินมาในทางที่สโมสรต้องการ นั่นคือการเป็นสโมสรฟุตบอล ที่จะอยู่คู่กับแฟนบอลไปตลอดกาล อันเป็นเป้าหมายสูงสุดของสโมสร

อัลบั้มภาพ 11 ภาพ

อัลบั้มภาพ 11 ภาพ ของ โมเดลธุรกิจ "โบรุสเซีย ดอร์ทมุนด์" ทีมฟุตบอลชั้นนำที่ไม่มีหนี้แม้ยูโรเดียว

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook