"ราชิด เม็กลูฟี" : กบฎลูกหนังที่ใช้ฟุตบอลช่วยปลดปล่อยแอลจีเรีย

"ราชิด เม็กลูฟี" : กบฎลูกหนังที่ใช้ฟุตบอลช่วยปลดปล่อยแอลจีเรีย

"ราชิด เม็กลูฟี" : กบฎลูกหนังที่ใช้ฟุตบอลช่วยปลดปล่อยแอลจีเรีย
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ฟุตบอลโลก ถือเป็นทัวร์นาเมนต์สำคัญของโลก เมื่อมันเป็นรายการที่นักเตะหลายคนต่างปรารถนาจะไปสัมผัสให้ได้สักครั้งในชีวิต

แต่อาจจะไม่ใช่สำหรับ ราชิด เม็กลูฟี ดาวยิงทีมชาติฝรั่งเศส เมื่อเขาปฏิเสธโอกาสรับใช้ทัพตราไก่ในฟุตบอลโลก 1958 เพื่อช่วย "แอลจีเรีย" บ้านเกิดที่แท้จริงประกาศเอกราช 

พบกับเรื่องราวของ "กบฎลูกหนัง" ที่ยอมทิ้งเกียรติยศไว้เบื้องหลัง เพื่อปลดปล่อยประเทศชาติให้เป็นอิสระผ่านฟุตบอล

ดาวยิงมหาประลัย 

18 ปี คืออายุตอนที่ ราชิด เม็กลูฟี ได้รู้จักกับฟุตบอลยุโรปเป็นครั้งแรก 

ย้อนกลับไปก่อนหน้านั้น เขาเกิดที่เมืองเซติฟในดินแดนที่ชื่อว่า เฟรนช์ แอลจีเรีย หรืออาณานิคมแอลจีเรีย จากการที่บ้านเกิดของเขาตกอยู่ภายใต้การยึดครองของฝรั่งเศสมาตั้งแต่ทศวรรษที่ 1830s 

ราชิด เริ่มเข้าสู่วงการฟุตบอลอาชีพ ด้วยการเล่นให้กับทีมที่ชื่อว่า ยูเนียน สปอร์ทีฟ ฟรังโก มุซุลลาเม เดอ เซริฟ สโมสรชั้นนำในบ้านเกิด ก่อนที่ความเก่งกาจของเขาจะไปถึงหูสโมสร แซงต์ เอเตียน จนได้เข้าร่วมทีมในปี 1954 

1

"เราไม่ได้มีเอเยนต์อย่างชัดเจนในตอนนั้น แต่นักข่าวหนังสือพิมพ์ในเมืองเล็กๆ ที่ผมอาศัยอยู่สนใจผม และเขียนไปหาน้องชายของเขาที่แซงต์ เอเตียน เพื่อบอกว่าเขาเจออะไร" เม็กลูฟี บอกกับ FIFA.com  

"น้องชายของเขาไปบอกสโมสรแซงต์ เอเตียน จากนั้นพวกเขาก็ส่งตั๋วเครื่องบินมาให้ วันที่ 4 สิงหาคม 1954 ผมก็เป็นหนึ่งใน เลอ แวร์ส (ฉายาของแซงต์ เอเตียน)"

ราชิด ใช้เวลาไม่นาน ก็สามารถปรับตัวเข้ากับทีมได้อย่างรวดเร็ว ก่อนจะทำผลงานได้อย่างโดดเด่นตั้งแต่ฤดูกาลแรกด้วยการซัดไปถึง 13 ประตูจาก 22 นัด พร้อมช่วยให้ต้นสังกัดใหม่จบในอันดับ 7 ของตาราง 

แต่นั่นก็คือจุดเริ่มต้นเท่านั้น เมื่อในฤดูกาลต่อมา ราชิด ยังซัดตาข่ายคู่แข่งได้อย่างถล่มทลายถึง 21 ประตูจาก 31 นัดในลีก ก่อนจะมาระเบิดฟอร์มสุดขีดในฤดูกาล 1956-57 ด้วยการยิงไปถึง 25 ประตูจาก 30 นัด พร้อมช่วยให้ แซงต์ เอเตียน ผงาดคว้าแชมป์ลีกได้เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ 

ผลงานดังกล่าว ทำให้ ราชิด ถูกเรียกติดทีมชาติฝรั่งเศสชุดลุยศึกฟุตบอลโลกทหาร 1957 ที่ บัวโนสไอเรส ประเทศอาร์เจนตินา และเขาก็ไม่ทำให้ผิดหวัง ด้วยการพาทีมฝรั่งเศสคว้าแชมป์ในรายการนั้นได้สำเร็จ

2

และมันก็ทำให้ให้เขากลายเป็นหนึ่งในนักเตะที่จับตามองของฝรั่งเศสในยุคนั้น เขากลายเป็นความหวังใหม่ของทัพตราไก่ ซึ่งได้ประเดิมรับใช้ทีมชาติฝรั่งเศสมาตั้งแต่ปี 1956 นอกจากนี้ยังเป็นผู้เล่นที่ได้รับการคาดหมายว่าจะถูกเรียกติดธงไปเล่นฟุตบอลโลกในปี 1958 

แต่เขากลับทิ้งมันไว้ข้างหลัง

หนีจากฝรั่งเศส 

14 เมษายน 1958 เม็กลูฟี ได้เดิมพันครั้งสำคัญในชีวิต ด้วยการโดยสารรถยนต์พร้อมกับเพื่อนอีก 3 คนที่ชื่อว่า อัลเดลฮามิด บูชุค, อับเดลฮามิด เคอร์มาลี และ มอร์ตา อาร์ริบี มุ่งหน้าไปทางทิศตะวันออกของฝรั่งเศส 

พวกเขาทั้งสี่ คือนักเตะเชื้อสายแอลจีเรียที่มีชื่อเสียงในฝรั่งเศส แต่ตัดสินใจยอมทิ้งเกียรติยศเหล่านี้ เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของ "สงครามแอลจีเรีย" สงครามเรียกร้องเอกราช หลังตกอยู่ภายใต้การปกครองของฝรั่งเศสมานานกว่า 100 ปี 

3

ภารกิจแรกคือเดินทางออกจากฝรั่งเศส ผ่านทางพรมแดนติดกับสวิตเซอร์แลนด์ เพื่อไปสมทบกับนักเตะอีก 8 คนในทีม "กองกำลังปลดปล่อยแห่งชาติ" หรือ FLN โดยมีเมืองตูนิสของตูนีเซียเป็นจุดหมายปลายทาง 

"เคอร์มาลี และ อาร์ริบี มาหาผมหนึ่งวันก่อนเกมกับเบซิเออร์ และบอกผมว่า 'เรากำลังไปตูนีเซียเพื่อฟอร์มทีมขึ้นมา'" เม็กลูฟี กล่าวกับ France24 

อย่างไรก็ดี เนื่องจากในตอนนั้น เม็กลูฟี ยังคงอยู่ภายใต้กฎหมายการเกณฑ์ทหารของฝรั่งเศส การหลบหนีออกจากประเทศ จึงหมายถึงการหนีทหาร ที่อาจทำให้เขาถูกจำคุกถึง 10 ปี ทำให้เขาลังเลพอสมควร

เช่นเดียวกับผู้เล่นคนอื่น พวกเขาต้องเจอกับความเสี่ยงที่กำลังจะเกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการเป็นกบฎในสายตาชาวฝรั่งเศส หรือการที่เส้นทางการเป็นนักฟุตบอลอาชีพที่รุ่งโรจน์อาจจบลง แต่สุดท้ายพวกเขาก็ยอมทำ 

"ผมบอกกับตัวเองว่ามันเป็นสิ่งที่ดี และพวกเขา (เคอร์มาร์ลิ กับ อาร์ริบี) อาจจะลืมเกี่ยวกับผม แต่จากนั้นในเช้าวันรุ่งขึ้น พวกเขาก็มายืนอยู่หน้าประตูผม ผมยังอยู่ในชุดนอนอยู่เลย" เม็กลูฟีกล่าวกับ France24

4

"ผมบอกพวกเขาว่าผมไปไม่ได้ เพราะว่าหนังสือเดินทางของผมอยู่ที่สำนักงานใหญ่ของ แซงต์ เอเตียน เราต้องไปเอามันที่นั่น ทุกอย่างเป็นไปอย่างเร่งรีบ เราต้องไปถึงชายแดนสวิสฯ ให้เร็วที่สุด เพราะว่านักฟุตบอลคนอื่นอยู่อิตาลีแล้ว ผมไม่รู้ว่าเราจะไปที่ไหน แต่เคอร์มาลี และอาร์ริบี รับรองกับผม" 

โชคดียังดีที่ไม่มีใครจำพวกเขาได้ แม้ว่าทหารที่ด่านตรวจคนเข้าเมืองจะเรียกให้จอด แต่ก็ถามแค่เพียงจุดหมายปลายทางเท่านั้น ก่อนที่พวกเขาจะข้ามพรมแดนไปทางสวิตเซอร์แลนด์ ผ่านอิตาลี ไปจนถึงตูนีเซียได้สำเร็จ 

และนั่นคือจุดเริ่มต้นของภารกิจสำคัญ

ทีมชาติแอลจีเรียโดยพฤตินัย

หลังเดินทางถึงตูนีเซีย เม็กลูฟี ได้เข้ามาอยู่ในทีมฟุตบอลกองกำลังปลดปล่อยแห่งชาติ หรือทีมชาติแอลจีเรียโดยพฤตินัย เพื่อเป็นหนึ่งในกระบวนการเรียกร้องเอกราช 

ไอเดียของทีมนี้มาจาก มูฮัมเหม็ด บูเมอร์รัก อดีตนักเตะเชื้อสายแอลจีเรียที่เคยเล่นอยู่ในฝรั่งเศส และ อาเหม็ด เบน เบลลา อดีตแข้ง โอลิมปิก มาร์กเซย์ มองว่าฟุตบอลสามารถถูกใช้เป็นเครื่องมือในการประกาศอิสรภาพได้ 

พวกเขามองว่าการที่แอลจีเรีย สามารถมีทีมชาติลงแข่ง ทั้งที่ยังไม่ได้รับเอกราช คือข้อพิสูจน์ว่าพวกเขาสามารถยืนหยัดได้ด้วยตัวเอง ในทุกแง่มุมของชีวิต รวมไปถึงกีฬา 

5

บูเมอร์รัก จึงพยายามรวบรวมนักเตะเชื้อสายแอลจีเรีย ที่เล่นอยู่ในฝรั่งเศส มาตั้งเป็นทีม FLN เพื่อลงแข่งกับทีมทั่วโลก โดยมีเป้าหมายให้ผู้คนรับรู้การมีอยู่ของแอลจีเรียให้มากที่สุด และแน่นอนว่าจะต้องเป็นผู้เล่นที่มีชื่อเสียงโด่งดัง หรือเล่นให้ทีมใหญ่ เพื่อสร้างแรงกระเพื่อมให้ได้มากที่สุด และ เม็กลูฟี ก็เป็นหนึ่งในคนที่มีคุณสมบัติที่ครบถ้วน 

"ตั้งแต่ปี 1954-1958 เรามีสงครามแอลจีเรียเพื่อประกาศเอกราช ในปี 1958 แนวร่วมปลดปล่อยแห่งชาติ (FLN) ที่อยู่เบื้องหลังการปฏิวัติในแอลจีเรีย ตัดสินใจเอานักเตะของเรา 10 คนที่มีชื่อเสียงมากที่สุดในลีกฝรั่งเศสออกมา" เม็กลูฟี กล่าวกับ FIFA.com 

"ไอเดียนี้ช่วยปลุกให้ชาวฝรั่งเศสได้รู้ว่าอะไรกำลังเกิดขึ้นในประเทศของเรา เพราะว่าไม่มีใครรู้ว่าอะไรเกิดขึ้นจริงๆ มันเป็นหนึ่งในการตลาดที่ชาญฉลาดของ FLN จากการที่ชาวฝรั่งเศสสงสัยว่านักเตะทั้ง 10 คนไปที่ไหน และทำไมพวกเขาหายไป" 

"การ 'อพยพหนีภัย' แสดงให้คนฝรั่งเศสรู้ว่ามีสงครามกำลังเกิดขึ้นจริงๆ ที่แอลจีเรีย ซึ่งเราคือชาวแอลจีเรียลำดับแรกๆ แถมยังเป็นคนสำคัญ และเราก็อยากส่งข้อความไปให้คนทั้งโลก"

6

และมันก็ได้ผล เมื่อการหายไปของพวกเขากลายเป็นข่าวครึกโครมในฝรั่งเศส ในขณะเดียวกันสหพันธ์ฟุตบอลฝรั่งเศส ก็พยายามกดดันและขู่ว่าหากทีมชาติไหนลงเล่นอาจโดนลงโทษจากฟีฟ่า แต่มันก็หยุดพวกเขาไม่ได้

หลังจากนั้น FLN ที่นำโดย เม็กลูฟี เดินหน้าลงเตะกับทีมทั่วโลก เพื่อทำให้ชื่อของแอลจีเรีย เป็นที่รู้จักมากที่สุด ไล่ตั้งแต่ยุโรปตะวันออก ตะวันออกกลาง ไปจนถึงเอเชีย และลงเล่นไปถึง 100 นัดตลอดระยะเวลา 4 ปี

"เราออกทัวร์เป็นเดือนสองเดือนและลงเล่นหลายเกมมาก เราไปยุโรปตะวันออก อาหรับ หลังจากนั้นก็เอเชีย จีน เวียดนาม" เม็กลูฟี ย้อนความหลัง 

"ผมจำได้ว่าที่เวียดนาม เราได้เจอกับท่านโฮจิมินห์ เขาชวนพวกเรามากินข้าวเช้าตอน 7 โมง โดยรวมเราน่าจะลงเล่นไปเป็น 100 เกม" 

อย่างไรก็ดี พวกเขาไม่ได้แค่เตะทำยอด เมื่อ FLN ที่มีเม็กลูฟี และเหล่ายอดแข้งในลีกฝรั่งเศสเป็นตัวนำทีม ต่างทำผลงานได้อย่างโดดเด่นไม่แพ้ทีมชาติที่ได้รับการรับรอง ด้วยการเอาชนะคู่แข่งถึง 65 นัด เสมอ 13 นัด และแพ้ไปเพียง 13 นัด แม้ว่าจะไม่ได้รับการบันทึกจากฟีฟ่าก็ตาม 

7

โดยหนึ่งในชัยชนะเหล่านั้นคือการไล่ถล่ม ยูโกสลาเวีย 6-1 อัด ฮังการี 6-0 และชนะรัสเซีย 6-0 แน่นอนว่าด้วยฟอร์มขนาดนี้ ย่อมทำให้ชื่อเสียงของแอลจีเรีย กลายเป็นที่รู้จักไปทั่วโลก 

ก่อนที่ในปี 1962 ความพยายามของพวกเขาจะบรรลุผล เมื่อฝรั่งเศสลงนามในข้อตกลงเอเวียง อันหมายถึงการยุติสงคราม และปลดปล่อยแอลจีเรีย จากการเป็นอาณานิคม รวมไปถึงการสิ้นสุดของทีม FLN ก่อนได้รับอิสรภาพไม่นาน 

และมันก็ทำให้ เม็กลูฟี และพวกได้รับการเชิดชูเยี่ยงฮีโร่

วีรบุรุษแห่งฟุตบอลแอลจีเรีย 

แม้ว่าสงครามจะเป็นอันยุติ แต่ใช่ว่าการนองเลือดจะจบลง เมื่อมันยังมีความรุนแรง และการตอบโต้จากคนแอลจีเรียที่สนับสนุนฝรั่งเศส เช่นเดียวกับในประเทศ ที่ยังมีชาวฝรั่งเศสอนุรักษ์นิยม ที่ไม่เห็นด้วยกับการแยกตัวนี้ 

ทำให้ในตอนแรกที่ เม็กลูฟี ตัดสินใจว่าจะกลับมาเล่นให้กับ แซงต์ เอเตียน ทีมเก่า เขารู้สึกไม่แน่ใจ และหวาดกลัวว่าแฟนบอลจะมองว่าเป็นคนทรยศ หลังหนีหายไปจากทีมเมื่อ 4 ปีก่อน 

อย่างไรก็ดี มันกลับตรงข้าม เมื่อเขาได้รับการต้อนรับเยี่ยงฮีโร่ ในวันที่กลับมา แฟนบอลต่างส่งเสียงเรียกชื่อเขา โดยมีรายงานระบุว่า เกิดเสียงเงียบไปชั่วขณะ ตอนที่เม็กลูฟี สัมผัสบอลเป็นครั้งแรก ก่อนจะตามมาด้วยเสียงปรบมือที่ดังสนั่น 

8

หลังจากนั้น เขาได้กลับมาเป็นกำลังสำคัญให้ทีมอีกครั้ง แซงต์ เอเตียน ผงาดคว้าแชมป์ลีกสูงสุดฝรั่งเศสอีก 3 สมัย และ เฟรนช์ คัพ อีก 1 สมัย รวมทั้งสร้างสถิติกลายเป็นนักเตะที่ยิงประตูสูงสุดตลอดกาลเป็นอันดับ 2 ของสโมสร ด้วยผลงาน 150 ประตู 

"ชีวิตนักเตะของผมมีสองส่วน ก่อนและหลัง FLN ตั้งแต่ปี 1954-1958 ผมเป็นดาวยิงอย่างแท้จริง ผมเคยวิ่งผ่านกองหลังแล้วทำประตู และผมก็ได้รับสิ่งต่างๆ มามากกว่าที่สมควรจะได้" เม็กลูฟี กล่าวกับ FIFA.com  

"หลังปี 1962 ผมกลับมาที่ แซงต์ เอเตียน แต่เป็นตัวทำเกมมากกว่า พูดได้แบบนั้น โรเบิร์ต เฮอร์บิน ที่เล่นคู่กับผมในตอนนั้น มอบของขวัญให้ผมอย่างแท้จริง เขาพูดว่า 'การจ่ายบอลของราชิดดีมาก ถึงขนาดคนล็อคประตูสนามก็ยิงประตูจากการผ่านบอลของเขาได้" 

อย่างไรก็ดี จุดสูงสุดของเขาไม่ใช่แค่นี้ แต่มันคือการสวมเสื้อของทีมชาติแอลจีเรียพร้อมกับร้องเพลง "Kassaman" (We Pledge) ที่ต่อมากลายเป็นเพลงชาติของแอลจีเรีย ลงเล่นในเกมอย่างเป็นทางการเป็นครั้งแรกปี 1963 

"มันคือสิ่งที่ได้มาจากทีม FLN เป็นสิ่งที่ของมีค่าใดๆ บนโลกก็ไม่สามารถซื้อได้" เม็กลูฟี กล่าวกับ Al Jazeera 

9

หลังเลิกเล่น เม็กลูฟี ยังคงมีส่วนในการสร้างทีมชาติแอลจีเรีย ด้วยการเข้าไปรับตำแหน่งผู้จัดการทีมในปี 1971 และสามารถพาทีมคว้าโทรฟี แรกในถ้วยเมดิเตอร์เรเนียนคัพในปี 1975 และ ออล แอฟริกา เกมส์ในปี 1978 

ก่อนที่เขาจะประสบความสำเร็จสูงสุดด้วยการพาแอลจีเรีย เข้าไปเล่นในฟุตบอลโลกเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ในปี 1982 รวมถึงสร้างผลงานช็อคโลกด้วยการเอาชนะเยอรมันตะวันตก 2-1 ในรอบสุดท้าย 

"ผมเข้าไปรับตำแหน่งในปี 1975 และส่งเพื่อนของผมจากทีม FLN ไปทั่วประเทศ เพื่อช่วยผมและสร้างทีมที่แข็งแกร่งเท่าที่เป็นไปได้ เราคว้าแชมป์เมดิเตอร์เรเนียน แม้ว่าทีมเราจะยังไม่เป็นที่รู้จัก ผมจำได้ตอนที่เราประกาศรายชื่อ สื่อคิดว่าผมบ้า" เม็กลูฟีกล่าวกับ FIFA.com 

"ผมกลับมาอีกครั้งตอนปี 1982 ตอนที่เราเป็นทีมที่มีฝีมือแล้ว แต่เราปล่อยให้ชัยชนะประวัติศาสตร์เหนือเยอรมันตะวันตกติดค้างในหัวเรา ซึ่งเป็นความสูญเปล่าที่แท้จริง" 

มันจึงทำให้ เม็กลูฟี ได้รับการยกย่องจากชาวแอลจีเรีย ทั้งในฐานะผู้ปฏิวัติ ผู้วางรากฐาน ไปจนถึงผู้เขียนประวัติศาสตร์อย่างแท้จริง และทำให้เขาได้รับเลือกเป็น ประธานสมาพันธ์ฟุตบอลแอลจีเรียในปี 1990 

10

แม้เวลาจะผ่านมานานกว่าครึ่งศตวรรษ แต่สิ่งที่ เม็กลูฟี เคยทำไว้ยังคงสืบทอดมาจนถึงปัจจุบัน เมื่อหลังจากนั้น แอลจีเรีย สามารถผ่านเข้าไปเล่นในฟุตบอลโลกได้อีก 3 ครั้ง ในปี 1986, 2010 และ 2014 รวมไปถึงเพิ่งคว้าแชมป์ แอฟริกันเนชั่นคัพ สมัยที่ 2 มาครองได้สำเร็จเมื่อปี 2019 ที่ผ่านมา 

มันคือจุดเริ่มต้นจากกลุ่มคนเล็กๆ ที่ไม่เพียงมีส่วนทำให้พวกเขาสร้างชาติได้สำเร็จ แต่ยังทำให้ แอลจีเรีย สามารถขึ้นมายืนหยัดในแถวหน้าของวงการลูกหนังโลกได้อย่างทุกวันนี้ 

"การได้พบกับ ประมุขของรัฐ นักปฏิวัติ ผู้คน นักข่าว ทำให้ผมเปิดใจ ก่อนหน้านี้ผมเป็นแค่ลาโง่ เราแค่เล่นฟุตบอล หัวเราะ แซวสาว ไปดูหนังกับเพื่อนๆ และนั่นคือสิ่งที่มันเป็น" 

"ผมพูดได้ว่า 'ขอบคุณพระเจ้า' ที่มอบทีมนี้มาให้ผม เพราะว่าถ้าไม่มีพวกเขา ผมคงจะไม่มีความสามารถมากพอที่จะพูดในสิ่งที่ผมเป็นอย่างในวันนี้" เม็กลูฟีทิ้งทายกับ France24 

อัลบั้มภาพ 10 ภาพ

อัลบั้มภาพ 10 ภาพ ของ "ราชิด เม็กลูฟี" : กบฎลูกหนังที่ใช้ฟุตบอลช่วยปลดปล่อยแอลจีเรีย

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook