หมัดเปล่าเจ้าสังเวียน : "มวยใต้ดิน" เวทีสร้างรายได้ให้นักชกแบบเหลือเชื่อ

หมัดเปล่าเจ้าสังเวียน : "มวยใต้ดิน" เวทีสร้างรายได้ให้นักชกแบบเหลือเชื่อ

หมัดเปล่าเจ้าสังเวียน : "มวยใต้ดิน" เวทีสร้างรายได้ให้นักชกแบบเหลือเชื่อ
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ทุกครั้งที่สื่อภาพยนตร์ หรือสกู๊ปข่าวนำเสนอเรื่องราวของ มวยใต้ดิน รสและกลิ่นแรกซึ่งผู้รับสารสามารถเสพได้ คือความรุนแรงที่หาเหตุผลไม่ได้ว่า "ไปชกกันทำไม?" แต่ความจริงแล้วเวทีเหล่านี้มีเรื่องราวและมีเบื้องหลังซ่อนอยู่ แม้ว่ามันจะผิดกฎหมายก็ตาม

นี่คือเรื่องราวที่จะทำให้คุณเข้าใจมวยใต้ดิน หรือมวยอันเดอร์กราวด์ มากขึ้น หมัดเปล่าๆ เลือดสาดๆ เสียงกระดูกหัก และเงินเดิมพันที่สูงลิบลิ่วชนิดที่ว่าสามารถพลิกชีวิตนักชกได้ง่ายๆ ผ่านการชนะเพียงไฟต์เดียวเท่านั้น

ติดตามเส้นทางสู่การเป็นหมัดเปล่าเจ้าสังเวียนได้ที่นี่..

ด้านสว่าง และ ด้านมืด 

มวยใต้ดินต่อยกันหมัดเปล่า แค่เอ่ยชื่อมาก็ทำให้เรานึกภาพไปถึงคราบเลือด, เสียงกระแทกกับพื้น และ การคด หัก หรืองอของกระดูก แน่นอนว่ามันป่าเถื่อน แต่ความป่าเถื่อนนี้อยู่กับพวกเรามานานจนแทบย้อนเวลากลับไปยืนยันไม่ได้ว่ามันเกิดขึ้นเมื่อไหร่

1

หากจะให้เทียบเป็นยุคเป็นสมัยแล้ว มนุษย์นั้นอยู่อาศัยอยู่กับความป่าเถื่อนมาตั้งแต่ก่อกำเนิดชาติพันธุ์ ในยุคที่ไม่มีเงิน ไม่มีการแลกเปลี่ยนใดๆ มันหมายความว่ามีเพียงผู้แข็งแกร่งกว่าเท่านั้นซึ่งจะได้สิ่งที่ต้องการ และการจะวัดว่าใครแข็งแกร่งกว่ากันนั้น ทางออกมีทางเดียวนั่นคือการ "ต่อสู้" เพื่อให้ได้สิ่งๆ นั้นมาครอบครอง 

หมัดคืออาวุธที่ติดตัวมนุษย์แทบทุกคนเมื่อลืมตาดูโลก พลังทำลายล้างของหมัดอาจจะไม่เท่าคมเขี้ยวหรือเล็บของเหล่าสัตว์ทั้งหลาย แต่หากหมัดได้รับการฝึกฝนจนแข็งแกร่งแล้ว มันก็สามารถเป็นอาวุธที่ชี้เป็นชี้ตายได้ไม่แพ้ใคร โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อใช้ปะทะเข้ากับมนุษย์ด้วยกันเอง

เมื่อกาลเวลาผ่านไป หมัดไม่ได้เป็นสัญลักษณ์แห่งความอยู่รอดเพียงอย่างเดียว แต่มันคือสัญลักษณ์ที่แสดงถึงความเข้มแข็ง และสัญลักษณ์ของการตัดสินกันด้วยกำลัง จากที่เคยใช้หมัดหรือมือเพื่อจับอาวุธ การต่อสู้ก็ถูกเปลี่ยนเป็นความบันเทิงขึ้นมา ในยุค 300 ปีก่อนคริสตกาล มีการบันทึกภาพวาดของนักมวยบันทึกไว้ในโถ Panathenaic จากกรีกโบราณ ปัจจุบันถูกเก็บไว้ที่ บริติช มิวเซียม โดยว่ากันว่าเมื่อบ้านเมืองเริ่มมีกฎมีระเบียบขึ้นมา การต่อสู้กันโดยไร้เหตุผลนั้นเป็นสิ่งที่ผิด ดังนั้นจึงมีการเปิดช่องให้ชกกันอย่างถูกกฎหมายขึ้นมา และถูกบันทึกว่าเป็นการแข่งขันชกมวย (Boxing) ที่สืบทอดมายาวนานจนถึงทุกวันนี้ 

การต่อสู้ของมนุษย์ถูกพัฒนาให้ทรงประสิทธิภาพ เพิ่มความบันเทิง และที่สำคัญคือการลดความป่าเถื่อนลงไป จึงทำให้กลายเป็นกีฬายอดนิยมของโลกไปโดยปริยาย และเมื่อความนิยมเกิดขึ้น ก็ตามมาด้วยมูลค่าของกีฬาชนิดนี้ที่สูงขึ้นเรื่อยๆ นักมวยคนใดสามารถไต่ไปถึงยอดพีรามิด หรือชิงแชมป์โลกได้ ก็จะสามารถได้รับค่าตัวที่สมน้ำสมเนื้อ แม้ว่าปลายทางจะจบลงด้วยความพ่ายแพ้ก็ตาม 

2

ภาพของนักมวยยุคปัจจุบัน จึงถูกสังคมมองในฐานะกลุ่มคนรากหญ้าที่สู้ชีวิตขึ้นมาจนกลายเป็นสตาร์ มีทุกอย่างที่อยากได้ มีทรัพย์สินครอบครองมหาศาล แต่อีกมุมหนึ่ง นี่คือกลุ่มคนเพียงหยิบมือเท่านั้นที่ประสบความสำเร็จ เพราะยังมีคนอีกมากที่อยากจะไปให้ถึงจุดสูงสุดบ้าง แต่องค์ประกอบหลายอย่างไม่เอื้ออำนวย พวกเขาไม่ได้มีชีวิตที่สุขสบาย ครั้นจะถอยก็ถอยไม่ได้ และหากคิดจะไปต่อก็ยากจะไปถึงปลายทาง เราจึงได้เห็นนักมวยหลายคนมีคุณภาพชีวิตที่ไม่ดีนักเมื่อพวกเขาปลดระวางตัวเอง และไม่สามารถชกอาชีพได้ 

อย่างไรก็ตามทุกปัญหานั้นมีทางออก อยู่ที่ว่าคุณนั้นกล้าเสี่ยงหรือเปล่า เมื่อการชกบนเวทีใน ลาส เวกัส หรือที่อื่นๆ ซึ่งเต็มไปด้วยสปอตไลท์ คือด้านสว่างของวงการมวย มันก็ย่อมมีเวทีที่เป็นตัวแทนแห่งความมืดเช่นกัน เวทีที่ไม่มีสมาคมมวยใดๆ รองรับ ขอแค่ขึ้นเวทีมาซัดกันด้วยหมัดเปล่า กลับคืนสู่ความป่าเถื่อนแบบที่เป็นต้นตอของมนุษยชาติอีกครั้ง และแน่นอน เวทีนี้เสี่ยงตายยิ่งกว่าเวทีด้านสว่างเยอะ ซึ่งกลุ่มนักมวยผู้ผิดหวังเรียกเวทีแห่งนี้ว่า อันเดอร์กราวด์ นั่นเอง

โลกของผู้ผิดหวัง

มวยใต้ดิน หรือ มวยอันเดอร์กราวด์ คือเวทีทีมวยชั่วคราวที่คิดอยากจะจัดที่ไหนก็จัดได้ แค่มีพื้นที่กว้างๆพอให้คนสองคนได้ชกกันแค่นี้ก็ทุกที่ก็เปลี่ยนเป็นสนามมวยไปโดยปริยาย ด้วยเหตุผลดังกล่าวจึงเป็นเหตุผลว่าทำไมเราจึงไม่สามารถระบุตัวเลขได้แน่ชัดว่าบนโลกใบนี้มีสนามมวยใต้ดินที่ชกกันจริงจำนวนกี่แห่งกันแน่ 

3

แต่หลักใหญ่ใจความมันไม่ได้อยู่ตรงสถานที่ แต่มันเกี่ยวกับที่มาของกลุ่มนักสู้ที่มารวมตัวกันต่างหาก พวกเขาจะมาที่เวทีประกาศตามหาคู่ชก จากนั้นก็รอเวลาให้ถึงรอบของตัวเองแล้วออกไปซัดกันง่ายๆ แบบนั้น ซึ่งแต่ละเวทีก็มีเดิมพันแตกต่างกันไป บางแห่งอาจจะเป็นแค่ชกเพื่ออกกำลังกายรู้ผลแพ้ชนะแล้วก็จับไม้จับมือเป็นเพื่อนกัน อาทิเวที Underground Combat League ในย่านบรองซ์ มหานครนิวยอร์ก ซึ่งเป็นถิ่นที่ให้กำเนิดแชมป์โลกเฮฟวี่เวตอย่าง ไมค์ ไทสัน และนักชกระดับโลกอีกหลายๆ คน แต่บางแห่งก็กลายเป็นเหมือนศึกชิงแชมป์โลกในรูปแบบของนักสู้ผู้ผิดหวัง ผู้ที่ไม่สามารถขึ้นไปอยู่เวทีบนดินและทำไฟต์เงินล้านได้ และบีบให้พวกเขาลงมาหากินกับเงินเดิมพันในมวยใต้ดินแทน

Daily Mail สำนักข่าวของอังกฤษ ทำสกู๊ปเกี่ยวกับมวยใต้ดินแห่งหนึ่งในสหรัฐอเมริกา เวทีที่นี่ชกกันจริงจัง กินเงินกันเห็นๆ โดยพวกเขาพบว่าสถานที่แห่งนี้มีประวัติศาสตร์ยาวนาน เพราะมันถูกจัดขึ้นโดยกลุ่มมาเฟียท้องถิ่น แต่ละแก๊งจะมีนักมวยในสังกัดของตัวเอง และทุกสัปดาห์พวกเขาจะส่งนักชกที่ดีที่สุดของแก๊ง ขึ้นมาบนเวทีเพื่อคว้าชัยชนะให้ได้ ... นักมวยของแก๊งไหนชนะ นอกจากจะได้เงินเดิมพันกลับไปแล้ว พวกเขาจะได้ทั้งศักดิ์ศรีและสะสมอิทธิพล สามารถเดินแอ็คบนท้องถนนได้จนกว่าที่ศึกแก้มือจะมาถึง 

แดนนี่ โปรเวนซาโน่ และ บ็อบบี้ กันน์ คือเพื่อนซี้ในวัย 51 ปี ที่มีชื่อเสียงในกลุ่มมวยใต้ดินแห่งสหรัฐอเมริกา ในรายของ บ็อบบี้ กันน์ นั้นทำหน้าที่เป็นนักชก แม้ด้วยอายุอานามขนาดนี้หากขึ้นเวทีมวยจริงคงไปได้ไม่ถึงไหน แต่สำหรับเวทีอันเดอร์กราวด์ เขาคือราชาแห่งโลกใต้ดิน สถิติการชกชนะมากกว่า 60 ไฟต์ และชนะในศึกที่เดิมพันเงินถึง 100,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ มาแล้ว จากศึกชิงความเป็นหนึ่งกับกลุ่มมาเฟียรัสเซีย 

4

การร่วมมือกันของ แดนนี่ และ บ็อบบี้ เกิดจากวันที่ แดนนี่ โปรเวนซาโน่ ติดคุก และเมื่อเขาออกมา เขาอยากจะเข้าสู่วงการมวยใต้ดินที่มีเงินสะพัดจากเงินเดิมพันระหว่างฝ่าย รวมถึงเงินแทงพนันจากคนดู แดนนี่ เจอกับ บ็อบบี้ ที่เป็นนักชกที่มีฝีมือ เขาบอกกับ บ็อบบี้ ว่าเราจะร่วมมือกันยึดครองเวทีใต้ดิน และจากนั้นจะพามันขึ้นมาบนดินจนเป็นที่ยอมรับของสังคมให้จนได้ 

"ผมเป็นนักสู้อันเดอร์กราวด์ ชกบนเวทีแห่งความลับ แต่ความจริงคือผมอยากจะให้มันเป็นสิ่งที่ถูกกฎหมาย ซึ่งถ้ามันเป็นเช่นนั้นพวกเราจะได้ค่าจ้างที่เหมาะสม ผมสู้เพื่อครอบครัว ผมสู้มาตั้งแต่หกขวบ ผมเป็นนักสู้ที่แข็งแกร่ง และผมคิดว่าเราสามารถผลักดันมวยอันเดอร์กราวด์ให้กลายเป็นกีฬากระแสหลักได้" บ็อบบี้ อธิบายถึงตัวตนของเขา

แน่นอนว่ามันไม่ง่าย เพราะเมื่อจุดเริ่มต้นมันเป็นเหมือนสงครามแก๊ง ไม่มีกฎหมายรับรอง ความป่าเถื่อนจึงเกิดขึ้นตั้งแต่เริ่มจนถึงตอนจบ บ็อบบี้ เล่าว่าช่วงที่เขาเอาชนะนักชกจากแก๊งของรัสเซียได้ เขานั้นไม่ได้เงิน แต่กลับถูกเอาปืนจ่อหัวแทน 

5

"เราอยู่กันในโกดังแห่งหนึ่งที่บรูกลิน บ็อบบี้ เอาชนะได้ แต่พวกเขาไม่ยอมจ่ายและเอาปืนมาจ่อหัวของเรา" แดนนี่ อดีตนักเลงที่เป็นเพื่อนซี้ของ บ็อบบี้ กล่าว 

"แต่เราบอกกลับว่า ถ้าพวกเขาไม่จ่ายเราจะตามฆ่าพวกเขา ซึ่งผมก็ไม่แน่ใจหรอกว่าผมจะทำตามที่พูดได้ไหม แต่เราไม่ยอมเสียเงิน 200,000 (ฝั่งและแสน) ให้พวกเขาไปแบบฟรีๆ แน่ สุดท้ายพวกเขายอมจ่าย และนั่นคือเหตุการณ์ที่แสนยากลำบากกับการเป็นนักมวยใต้ดิน" แดนนี่ เสริม 

การร่วมมือระหว่าง แดนนี่ และ บ็อบบี้ เริ่มต้นขึ้นตั้งแต่ปี 2011 เป้าหมายการเปลี่ยนมวยใต้ดินให้กลายเป็นที่ยอมรับ มีสมาคมของตัวเอง มีกฎหมายรับรองเป็นเรื่องยาก แต่ทั้งคู่ยังพยายามที่จะเปลี่ยนแปลงภาพลักษณ์ของกลุ่มนักชกใต้ดินให้ดีขึ้น ให้ทุกคนมองว่ามันคือกีฬาชนิดหนึ่งที่ก็ต้องใช้เทคนิค, ทักษะ การฝึกฝน ไม่แพ้มวยจริงๆ   

ดังนั้นแม้จะมีจุดเริ่มต้นจะมาจากกลุ่มมาเฟีย ที่ชกเพื่อชิงความยิ่งใหญ่และคว้าเงินเดิมพัน แต่ด้วยความที่มันเป็นกีฬาของลูกผู้ชาย เป็นรสชาติที่กีฬาบนดินไหนก็ไม่สามารถมอบให้ได้ มวยใต้ดิน จึงกลายเป็นแหล่งดึงดูดกลุ่มคนที่พลังพลุ่งพล่านเข้ามารวมตัวกัน

ช่วงเวลาหลังจากการก่อตั้งได้ไม่นาน แดนนี่ ก็พบว่าเวทีที่พวกเขาจัดขึ้น ไม่ได้เป็นแหล่งรวมตัวของกลุ่มคนที่สังคมเรียกว่า "กุ๊ย" แต่เพียงอย่างเดียวเท่านั้น เขาเล่าว่ามีทั้งอดีตนักมวยสากล เจ้าหน้าที่ตำรวจ นาวิกโยธิน หรือกลุ่มคนจากสายอาชีพอื่นๆ ให้ความสนใจกับเวทีของเขา บางกลุ่มเข้ามาเพื่อเป็นนักสู้เอง และบากกลุ่มก็มาเพื่อเข้าชม.. ซึ่งมันทำให้เขารู้สึกว่าความฝันของเขาใช่ว่าจะเป็นเรื่องเป็นไปไม่ได้เสียทีเดียว

เงิน รอยยิ้ม มิตรภาพ 

เวทีของ แดนนี่ และ บ็อบบี้ คือตัวอย่างที่เห็นภาพของมวยใต้ดินได้ชัดที่สุด มีคนอีกเยอะที่ชอบดูความรุนแรง ชอบเห็นเลือดสาด และภาพช็อตหวาดเสียว ซึ่งนั่นทำให้กระแสมวยใต้ดินเติบโตขึ้นไปทั่วโลก แม้แต่วงการภาพยนตร์ก็ยังเอาวงการมวยใต้ดินไปเป็นตัวดำเนินเรื่องมากมาย อาทิเรื่อง Fight Club หรือ Never Back Down เป็นต้น นอกจากนี้ในเมืองไทยเราก็ยังได้เห็นเวทีใต้ดินที่เรียกว่า "ไฟต์คลับ ไทยแลนด์" ที่เคยเป็นกระแสสังคมในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา 

6

อย่างไรก็ตามสิ่งเหล่านี้ยากจะเป็นเรื่องที่ถูกกฎหมายได้ง่ายๆ เพราะไม่มีอะไรที่เป็นมาตรฐานหรือมีมาตรการความปลอดภัยรองรับผู้ขึ้นเวทีได้เลย นั่นคือสิ่งที่คนภายนอกมองเข้ามาแล้วไม่เข้าใจว่าทำไมต้องสนับสนุนให้เกิดการเสี่ยงตายโดยใช่เหตุ ทั้งๆ ที่เวทีมวย หรือการใส่นวมในแบบถูกต้องก็มีให้ได้ลับฝีมือกันอยู่แล้ว ทั้งๆ ที่ความจริงแล้วมันยังมีอีกหลายด้านที่หากใครไม่เคยได้สัมผัสด้วยตัวเอง ก็จะไม่มีทางเข้าใจเลย ... 

"มวยใต้ดินที่สู้กันด้วยหมัดเปล่า บางทีก็ต้องใช้ทักษะไม่น้อยไปกว่ามวยสากลหรอก เพราะเมื่อคุณปล่อยหมัด คุณต้องคิดเสมอว่าหมัดนี้จะทำให้คู่ชกของคุณโดนนับได้ เราไม่เน้นจำนวนหมัดมากเท่าไหร่ ซึ่งนั่นทำให้มีโอกาสบาดเจ็บสาหัสน้อยลง แม้จะมีบาดแผลฟกช้ำให้เห็นมากกว่ามวยสากล แต่สำคัญที่สุดคือสมองของนักชกแต่ละคนจะได้เสียหายในระยะยาวน้อยลงกว่าการชกแบบใส่นวมแน่นอน" แดนนี่ อดีตมาเฟีย ที่อยากทำให้มวยใต้ดินของเขากลายเป็นเวทีที่ได้รับการยอมรับเหมือนกับศึกศิลปะการต่อสู้แบบผสมผสานอย่าง UFC กล่าว

7

ถึงแม้ความมีมาตรฐานและถูกกฎหมายจะยังไม่เกิดขึ้น แต่เวทีมวยใต้ดินที่เป็นเวทีดังๆ หลายแห่งนั้นก็สามารถทำเงินให้กับผู้จัดได้อย่างน่าตกใจ อาทิเวทีของ แดนนี่ และ บ็อบบี้ ที่ บรูกลิน นั้น เขาเล่าว่าเคยเก็บเงินคนเข้าชมและรับแทงเดิมพันจนทำรายได้ต่อคืนเป็นแสน ๆดอลลาร์มาแล้ว และถึงแม้รายได้จากส่วนนี้จะเป็นรายได้ที่ผิดกฎหมายและมีส่วนที่ทำให้โลกภายนอกไม่ยอมรับมวยใต้ดิน แต่พวกเขาก็จำเป็นจะต้องทำต่อไปเพื่อให้ธุรกิจเดินหน้า และรอจังหวะให้แสงแห่งความหวังส่องมาถึง เมื่อนั้นพวกเขาจะตัดเรื่องการพนันทิ้งไปให้หมดและชุบตัวให้สะอาดก่อนขึ้นไปผงาดอย่างถูกกฎหมาย 

ขณะที่เวทีอื่นๆอย่างที่ Underground Combat League (UCL) นั้นทุกวันนี้ก็มีคนเข้าชมหลายร้อยคน แม้จะทำเงินได้มากมายเท่าเวทีที่กล่าวมาก่อนหน้านี้ แต่การแข่งขัน UCL ก็ถูกทำให้เป็นความบันเทิงมากขึ้น มีโปรดักชั่นจัดแสงสีเสียงให้เวที มีบูธดีเจขึ้นเล่นระหว่างพักยก ซึ่งส่วนประกอบเหล่านี้ก็ดึงให้มีผู้คนเข้ามาสนใจมากขึ้นเรื่อยๆ จนหลังๆ เริ่มมีของรางวัลราคาแพงอย่าง นาฬิกาโรเล็กซ์ หรือแม้กระทั่งรถเมอร์เซเดส เบนซ์ ก็มีมาแล้ว ทั้งหมดนี้ทำให้ The New York Times ให้คำจำกัดความว่า เวที UCL เป็นเวทีที่สนุกตื่นเต้นเร้าใจไม่แพ้เวทีมวยมาตรฐานที่ถูกกฎหมายเลยทีเดียว

8

แม้ทุกวันนี้วงการมวยใต้ดินจะอยู่ได้ด้วยเงินเดิมพันเป็นส่วนใหญ่ แต่ในอีกความหมายหนึ่ง มันคือเวทีล่าฝันของผู้ที่ไปไม่ถึงระดับอาชีพ นักชกที่ล้มเหลวเข้ามาหาลำไพ่พิเศษเอาเงินกลับไปจุนเจือครอบครัว หรือแม้แต่กลุ่มคนอาชีพต่างๆ ที่มาเพื่อออกกำลังกาย ปลดปล่อยความเครียดจากการทำงาน แต่ดูเหมือนว่าภาพลักษณ์เหล่านี้จะถูกตัดสินโดยสังคมไปก่อนจากสิ่งที่ฉาบอยู่เบื้องหน้า นอกจากเลือดและความรุนแรงแล้ว บรรยากาศการไปรวมตัวกันดึกๆ ดื่นๆ ย่อมมีความเสี่ยงที่จะเกิดปัญหาอื่นๆ ตามมา ทั้งการพนัน, ยาเสพติด และอาชญากรรม ซึ่งภาพลักษณ์เหล่านี้เป็นสิ่งที่นักมวยใต้ดินทั้งหลายไม่สามารถเปลี่ยนแปลงมันได้ง่ายๆ 

ซึ่งอันที่จริงแล้ว เมื่อมีกลุ่มนิตยสารหรือสำนักข่าวดังๆ ที่ลงพื้นที่ทำสกู๊ปของมวยใต้ดินนั้น ภาพที่สะท้อนออกมานอกจากความรุนแรงที่กล่าวไปมันยังมีเบื้องหลงซ่อนอยู่ เช่น การกอดกันของคู่ชกที่เพิ่งชกตัดสินกันเสร็จ การร่วมวงดื่มกินที่เต็มไปด้วยรอยยิ้มเหมือนกับกลุ่มอื่นๆ ในสังคมทั้งสิ้น

ภายใต้ความป่าเถื่อนที่โดนตัดสิน มวยใต้ดินก็มีปลายทางไม่ต่างกับกีฬาชนิดอื่นๆ นั่นคือ เงิน, รอยยิ้ม และ มิตรภาพ อยู่ที่ว่าสุดท้ายแล้วใครจะมองมันจากมุมไหนต่างหาก ... ซึ่งท้ายที่สุด แม้มันจะยากที่มวยใต้ดินจะกลายเป็นกีฬาถูกกฎหมาย แต่ เงิน, รอยยิ้ม และ มิตรภาพ ก็จะทำให้กีฬาผิดกฎหมายชนิดนี้หายใจได้ต่อไปเรื่อยๆ อย่างไม่รู้จบ 

อัลบั้มภาพ 8 ภาพ

อัลบั้มภาพ 8 ภาพ ของ หมัดเปล่าเจ้าสังเวียน : "มวยใต้ดิน" เวทีสร้างรายได้ให้นักชกแบบเหลือเชื่อ

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook