7 วันในตำนาน : "จโยตี" สาวน้อยปั่น 1,200 กิโลฯ พาพ่อกลับบ้านจนถูกเรียกคัดทีมชาติ

7 วันในตำนาน : "จโยตี" สาวน้อยปั่น 1,200 กิโลฯ พาพ่อกลับบ้านจนถูกเรียกคัดทีมชาติ

7 วันในตำนาน : "จโยตี" สาวน้อยปั่น 1,200 กิโลฯ พาพ่อกลับบ้านจนถูกเรียกคัดทีมชาติ
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

"ล็อคดาวน์" คำนี้กลายเป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลายในช่วง โควิด-19 ระบาดไปทั่วโลก บางคนก็กลัวตัวสั่น ขณะที่บางรายรู้สึกว่าเป็นเพียงสถานการณ์ที่น่ารำคาญ ... ซึ่งจุดนี้ถูกตัดสินด้วยชีวิตความเป็นอยู่ทั้งสิ้น

และนี่คือเรื่องราวของชนชั้นล่างสุดของอินเดีย ซึ่งแม้จะไม่มีเรื่องวรรณะ แต่ความลำบากก็ยังไม่เปลี่ยนแปลง จโยตี กุมารี สาวน้อยวัย 15 ปี ต้องเดินทางออกจากเมืองหลวงทันทีที่รัฐบาลประกาศล็อกดาวน์ ที่สำคัญเธอต้องเดินทางด้วยการปั่นจักรยาน โดยมีพ่อพิการซ้อนท้ายอีก 1 คน

จักรยานเก่าๆ 1 คัน, เด็กสาว, ชายพิการ และระยะทางกว่า 1,200 กิโลเมตร ... เกิดอะไรขึ้นกับการเดินทางอันแสนลำบากและมหัศจรรย์ครั้งนี้ และตอนจบที่ทุกคนต่างมองว่าโรแมนติก แต่จริงๆ แล้วสำหรับเธอมันเป็นเช่นไร? ติดตามได้ที่นี่

ดีเดย์...จุดเริ่มต้น

ทันทีที่ นเรนทรา โมดี นายกรัฐมนตรีของประเทศอินเดีย ประกาศอย่างเป็นทางการว่า กรุง นิว เดลี เมืองหลวงของประเทศจะทำการล็อคดาวน์อย่างเป็นทางการในวันที่ 24 มีนาคม 2020 เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของ โควิด-19 เมื่อนั้นเมืองทั้งเมืองก็เหมือนผึ้งแตกรัง


Photo : www.therahnuma.com

จริงอยู่ที่เมืองหลวงแห่งนี้คือเมืองเศรษฐกิจอันดับ 1 ของประเทศอินเดีย แต่ภายใต้ดวงไฟและความคึกครื้นของผู้คน ได้ซุกซ่อนปัญหาเอาไว้เบื้องหลัง เพราะนี่คือเมืองที่มือใครยาวสาวได้สาวเอา เมื่อมีผู้ชนะที่ร่ำรวยจากการทำงาน ก็ต้องมีผู้แพ้ที่โดนกดเอาไว้แบบไม่เห็นเดือนเห็นตะวัน

ที่กล่าวมาหมายถึงการที่ อินเดีย ยังมีปัญหาสาธารณสุข ไฟฟ้าและน้ำประปาไม่เพียงพอ ในแง่เศรษฐกิจ มีความเหลื่อมล้ำของรายได้สูง มีชนชั้นกลางและสูงที่มีรายได้มากกว่าหรือพอกับเมืองไทยกว่า 350 ล้านคน ขณะเดียวกันก็มีคนจนที่มีรายได้ต่ำกว่าเส้นความยากจน (Poverty Line) 296 ล้านคน และแน่นอนว่า นิว เดลี เองถึงแม้จะเป็นเมืองหลวงแห่งก็หนีปัญหานี้ไม่พ้น ความเหลื่อมล้ำระหว่างชนชั้นบนและกลางกับชนชั้นล่างนั้นห่างกันสุดขีด โดยย่อส่วนลงมาในรูปแบบของเมืองที่มีประชากร 20 ล้านคน  

เมื่อเกิดการประกาศล็อคดาวน์ขึ้น ความโกลาหลก็ตามมา เพราะกลุ่มคนจนได้พบว่า พวกเขาจะกลายเป็นคนตกงานเนื่องจากนโยบาย Social Distancing ที่ทำให้ธุรกิจหลายชนิดถูกสั่งให้หยุดดำเนินการ และที่หนักไปกว่านั้น คือเหล่าคนจนมีเวลาเพียง 24 ชั่วโมงเท่านั้น หากพวกเขาไม่คิดสู้ต่อในเมืองหลวงและต้องการเดินทางกลับภูมิลำเนา 

แต่ทางเลือกของคนจนมีไม่มากนัก แม้เวลาจะน้อยแต่ก็ต้องรีบอพยพให้ทันเวลา เพราะยิ่งกว่าโรคที่โลกยังไม่รู้จัก ยังไม่น่ากลัวเท่าโรคท้องกิ่วที่พวกเขารู้ตัวดีว่าจะต้องมาเยือนแน่นอน 100% หลังการล็อคดาวน์ นิว เดลี แบบเสร็จสมบูรณ์

"ไม่มีใครกลัวติดโรคแล้วตอนนี้ เรากลัวอดตายมากกว่า ผมยอมรับตรงๆ ว่ายังไม่รู้จะทำอย่างไรต่อไปกับชีวิต" สุเรช กุมาร ชายวัย 60 ปี ที่มีอาชีพเป็นคนปั่นสามล้อถีบ ผู้ทำงานได้เงินวันละ 300 รูปี (132 บาท) พร้อมกับภาระเลี้ยงคนในครอบครัวอีก 6 ชีวิตเผย 


Photo : www.asianews.it

แม้เวลาในการอพยพจะมี 24 ชั่วโมงซึ่งก็ถือว่าไม่มากไม่น้อยเกินไปนัก ทว่าสิ่งที่ยากที่สุดสำหรับกลุ่มคนจนเหล่านี้คือ พวกเขาจะออกจากเมืองได้อย่างไร ในเมื่อสนามบิน, สถานีรถไฟ และ รถบัส แทบจะปิดบริการอย่างสมบูรณ์แบบเรียบร้อยแล้ว นั่นทำให้ทุกคนเหลือทางเลือกเดียว คือไปตายเอาดาบหน้า ดีกว่าอยู่อย่างอดตายในเมืองหลวง 

"ไม่มีใครช่วยเราได้อีกแล้ว บ้านของผมไม่เหลือทั้งนมและอาหาร ผมไม่เห็นทางอยู่รอดในนิว เดลีได้อีกเลย" สุเรช กุมาร ปิดท้ายก่อนยอมรับชะตากรรมด้วยการอยู่ใน นิว เดลี ต่อไป เพราะ 6 คนในบ้านนั้นมากเกินไป หลายคนก็ยังเด็กหรือไม่ก็แก่เกินกว่าการอพยพด้วยการเดินเท้า

ใครที่ตัดสินใจจะยังอยู่ใน นิว เดลี ก็ต้องทำในสิ่งที่เรียกว่า "วัดดวง" พวกเขาจะต้องรออาหารบริจาคจากองค์กรการกุศล หรือการช่วยเหลือจากรัฐที่ไม่รู้ว่าจะมาถึงเร็ว-ช้าเท่าไหร่ ... 

 

หมดทางสู้

มีคนที่ยอมฟ้าดิน ก็มีคนที่ขอฝืนชะตา ... หนึ่งในนั้นคือ จโยตี เด็กสาววัย 15 ปี และพ่อที่เดินไม่ได้จากอุบัติเหตุจากการประกอบอาชีพรับจ้างปั่นรถถีบ ซึ่งเลือกจะวัดดวง เพราะการเดินทางนั้นยากเกินไปกับสภาพของพ่อของเธอ อีกทั้งยังพอมีเงินเก็บอยู่บ้างเล็กน้อย ดังนั้นเธอจึงได้แต่หวังว่าสถานการณ์ล็อคดาวน์จะคงอยู่แค่ไม่กี่สัปดาห์ และทุกอย่างจะกลับมาเป็นเหมือนเดิม ... 


Photo : www.bhaskar.com

เธอและพ่อเลือกใช้เงินอย่างประหยัด วันแล้ววันเล่า คืนแล้วคืนเล่า อิ่มบ้างอดบ้างตามแต่โชคชะตา แต่สุดท้ายสิ่งที่เธอหวังไม่เคยเกิดขึ้นจริง รัฐบาลอินเดียประกาศต่ออายุล็อคดาวน์ออกไปอย่างไม่มีกำหนด เมื่อนั้นเหมือนกับการตัดแขนขาของเธอออกทั้งหมด เธอทำงานรับจ้างไม่ได้ พ่อของเธอก็ด้วย และการอยู่ต่อไปก็รังแต่จะทำให้อดตาย ... 

วันที่ 10 พฤษภาคม คือวันที่ทุกอย่างต้องได้รับคำตอบ เธอเลิกจะรออีกต่อไป ห้องเช่าของเธอถูกตัดไฟฟ้า และถูกขู่ว่าจะไล่ออกถ้าไม่จ่ายค่าเช่า ซึ่งแน่นอนว่าในสถานการณ์แบบนี้เธอไม่มีเงินมาจ่ายแน่นอน และเมื่อคิดได้เช่นนั้น เธอจึงทำในสิ่งที่เรียบง่ายที่สุดเท่าที่เด็กสาววัย 15 ปี ผู้ต้องรับบทหัวหน้าครอบครัวชั่วคราวทำได้ นั่นคือนำเงินทั้งหมดไปซื้อจักรยานมือสอง และเริ่มการเดินทางกลับบ้านด้วยสองเท้าและแรงถีบของเธอเอง  

"สถานการณ์ตอนนั้นมืดมนมากๆ จโยตี บอกผมว่า 'พ่อ ไม่มีรถประจำทางหรือรถอะไรช่วยเราได้แล้วนะ' อาการของผม ณ ตอนนั้นคือเดินไม่ได้เลย และเธอบอกว่า 'ไม่เป็นไร เราจะปั่นจักรยานไปกัน'" โมฮัน ปาชวัน พ่อของ จโยตี เล่าผ่าน DNA India ... อันที่จริง จโยตี เองก็ได้ยินข่าวเรื่องรถไฟขบวนพิเศษที่รัฐบริการส่งคนที่อยากกลับภูมิลำเนาอยู่ แต่ด้วยสภาพของพ่อเธอ ก็เป็นอันลืมได้เลย เพราะถูลู่ถูกังไปชานชาลาก็คงไม่ทันการณ์


Photo : www.ndtv.com

"ผมพยายามหนักมากที่จะบอกจโยตี ว่าปั่นจักรยานกลับบ้านมันไม่ใช่ง่ายๆ มันไม่ใช่ระยะทางแค่ 10, 20 หรือ 100 กิโลเมตร มันไกลกว่านั้น และการเอาผู้ชายที่ตัวหนักกว่าเธอมานั่งซ้อนท้ายมันแทบเป็นไปไม่ได้เลยที่ความคิดนี้จะประสบความสำเร็จ" พ่อของ จโยตี เล่าถึงบรรยากาศก่อนออกเดินทาง ซึ่งทั้งหมดไม่เป็นผล จโยตี ตัดสินใจแล้วว่าเธอจะไม่อยู่ที่ นิว เดลี และรอความช่วยที่มาช้าเกินไปอีกต่อไป 

จักรยานสีชมพูคันละ 600 กว่าบาทที่ขอซื้อต่อจากเพื่อนบ้าน คือสิ่งที่เธอเลือกเดิมพัน จโยตี ไม่เหลือเงินติดตัวอีกแล้วในตอนนี้ จุดมุ่งหมายของเธอคือ ทรภัณคา (Darbhanga) เมืองในรัฐพิหาร บ้านเกิดที่มีแม่และน้องๆ อีก 5 คนรออยู่ ซึ่งถ้าวัดจากระยะทางแล้วคือ 1,200 กิโลเมตร และที่แน่ๆ คือเธอไม่รู้หรอกว่าจะต้องใช้เวลากี่วันกว่าจะถึงเป้าหมาย แต่เมื่อทิ้งไพ่ใบสุดท้ายไปแล้ว ไม่เหลือโอกาสให้เธอหันหลังกลับได้อีก 

"ฉันไม่เหลือทางเลือกอื่นแล้ว เราคงไม่รอดถ้าฉันไม่เลือกปั่นจักรยานกลับหมู่บ้านของเรา" เธอให้สัมภาษณ์กับสื่อของ อินเดีย ในภายหลังของการตัดสินใจครั้งสำคัญ 

 

ตำนานของ จโยตี กุมารี 

ณ ช่วงเวลาเดินทางของ จโยตี สภาพอากาศของประเทศ อินเดีย อยู่ที่ 44 องศาเซลเซียส เรียกได้ว่าร้อนตับแล่บในระดับที่นั่งรถยนต์ก็ยังรู้สึกได้ถึงความร้อนแรง ทว่าเธอก็ยังเดินหน้าปั่นจักรยานโดยมีพ่อซ้อนท้ายต่อไป และอย่างที่ได้กล่าวไว้ข้างต้น เธอไม่มีเงินเหลือแล้ว ดังนั้นทั้งคู่จึงไม่สามารถพักกินข้าวได้บ่อยๆ เพราะต้องกลับบ้านให้เร็วที่สุด เมื่อระยะทางบวกกับอากาศ ไม่ต้องบอกก็รู้ว่าเธอเหนื่อยขนาดไหน 


Photo : liveheed.com | LH

"นี่คือการเดินทางที่ยากลำบากกว่าใครจะจินตนาการ อากาศร้อนเกินไป เราไม่มีทางเลือกมากนักหรอก เป้าหมายเดียวของฉันคือต้องรีบไปให้ถึงบ้าน" เธอว่าต่อกับการเดินทางครั้งนี้ 

ภาพของเด็กสายวัยแค่ 15 ปี ที่ต้องปั่นจักรยานโดยมีผู้พิการซ้อนท้าย ทำให้เป็นที่น่าสงสารของชาวบ้าน ตามที่ต่างๆ ที่เธอปั่นผ่านไป จโยตี โชคดีที่เพื่อนมนุษย์ยังมีคำว่า "เมตตา" เธอและพ่อจึงได้อาหารและน้ำดื่มระหว่างทาง นั่นจึงทำให้เธอยังพอมีแรงไปต่อได้ในแต่ละวัน โดยทุกๆ วันเธอจะส่งข่าวไปให้แม่ที่อยู่ที่บ้านด้วยการยืมโทรศัพท์มือถือของผู้คนที่คอยช่วยเหลือเธอระหว่างทาง ไม่ว่าจะเหนื่อยจะร้อนแค่ไหน แต่เมื่อเธอได้คุยกับแม่ เธอมักจะบอกเสมอว่า "ทุกอย่างกำลังไปได้ด้วยดี"

"ไม่ต้องกังวลนะแม่ หนูจะพาพ่อกลับบ้านได้อย่างปลอดภัยแน่นอน" เธอว่าเช่นนั้น และถูกบอกเล่าต่อโดยเจ้าของโทรศัพท์ที่ให้ จโยตี ยืมโทรกลับบ้าน  

ทุกกิโลเมตรที่ผ่านอย่างลำบาก แต่ก็ไปต่อได้ด้วยพลังขาและกำลังใจของ จโยตี โดยมีพ่อของเธอที่พยายามพูดและให้กำลังใจลูกสาวตลอดทาง ภาพของสองพ่อลูกที่กระเตงกันไปหลายร้อยกิโลเมตรเป็นเหมือนกับภาพยนตร์เรื่อง ฟอเรสต์ กัมพ์ ในตอนที่พระเอกวิ่งรอบสหรัฐอเมริกา ... แรกๆ ทุกคนแค่สนใจว่าเขาจะไปที่ไหน แต่เมื่อเขาบอกว่าจะเดินทางไปทั่วอเมริกาและแสดงท่าทางที่เอาจริงเอาจังจนทุกคนสัมผัสได้ เมื่อนั้นมันก็กลายเป็น ไวรัล 

จากความช่วยเหลือที่มีแค่น้ำและอาหาร แต่เมื่อผ่านหลัก 700 กิโลเมตร คำบอกเล่าเรื่องสองพ่อลูกที่จะปั่นจักรยานกลับบ้านระยะทาง 1,200 กิโลเมตร ก็ถูกบอกเล่าแบบปากต่อปากจนกลายเป็นที่สนใจสำหรับสำนักข่าวในประเทศ เรื่องราวของ จโยตี และพ่อของเธอถูกนำเสนอในวงกว้าง และได้รับความชื่นชมอย่างมากจากการกระทำที่สุดจะบ้าดีเดือดและการเป็นนักสู้ขนาดนี้ 

เมื่อเป็นข่าวก็กลายเป็นความสนใจ มีคนอยากช่วยเหลือพวกเขามากมาย และสุดท้าย 1,200 กิโลเมตรก็สำเร็จจนได้ จโยตี มาถึงบ้านพร้อมกับพ่อ และได้เจอหน้ากับแม่และพี่น้องอีก 4 คนที่รออยู่ 


Photo : www.sakaltimes.com

"มันเหนื่อยสายตัวแทบขาด เราจะแวะสถานที่ที่พอได้รับความช่วยเหลือ ได้รับการแบ่งปันหาอาหารบ้าง บางครั้งฉันก็ไปเกาะท้ายรถบรรทุก ซึ่งคนขับส่วนใหญ่ไม่ด่าเราหรอก พวกเขาสงสารและดึงเราไปส่งจนสุดทางนั่นแหละ" เธอเล่าเมื่อมีรายการโทรทัศน์มารอสัมภาษณ์เธอมาถึงปลายทาง ราวกับมันเป็นรายการเรียลลิตี้โชว์

"ต้องใช้เวลาถึง 7 วัน สุดท้ายเราก็มาอยู่ที่นี่จนได้ ฉันกลับมาถึงบ้านแล้ว" จโยตี กล่าวอย่างโล่งใจ 

สิ่งที่เธอได้นอกจากการเดินทางไกลมาถึงบ้านคือ เรื่องราวของเธอโดนเล่าขานในรูปแบบของตำนานไปเสียแล้ว และสิ่งที่ตามมาคือเธอได้รับสัมภาษณ์ในฐานะคนมีชื่อเสียงระดับประเทศ เมื่อถึงจุดนี้เธอเหมือนกับมีชีวิตใหม่ไปเลย ... จากเด็กที่ต้องลาออกจากโรงเรียนและเป็นชนชั้นที่สังคมมองข้าม กลับกลายเป็นสาวน้อยทรงพลังที่ถูกกล่าวถึงราวกับผู้วิเศษ ใครๆ ก็พร้อมจะเอาใจอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน ...

 

ความช่วยเหลือที่มาตอนจบ 

เรื่องราวการปั่นจักรยานทางไกล 1,200 กิโลเมตรของเธอดังไปทั่วประเทศ จนสมาคมจักรยานแห่งประเทศอินเดียต้องเชิญให้เธอเข้ามาทดสอบเข้าคัดตัวเป็นนักกีฬาปั่นจักรยานของทีมชาติอินเดียในรุ่นอายุไม่เกิน 15 ปี 


Photo : www.bhaskar.com

"การที่เด็กผู้หญิงอายุ 15 ปีปั่นจักรยานระยะทาง 1,200 กิโลเมตรภายในเวลา 7 วันไม่ใช่สิ่งปกติ ผมคิดว่าร่างกายและกล้ามเนื้อของจโยตีแข็งแรงมาก สมาคมกีฬาจักรยานแห่งอินเดียจึงต้องการทดสอบสมรรถนะทางร่างกายของเธอ" นายกสมาคมปั่นจักรยานของ อินเดีย กล่าว อย่างไรก็ตาม จโยตี เองเผยว่า เรื่องคัดตัวติดทีมชาติค่อยว่ากัน เพราะสิ่งที่เธอต้องการ คือการได้กลับไปเรียนหนังสืออีกครั้ง หลังความยากจนได้พรากโอกาสนั้นไป

เรื่องนี้ดังไกลไปทั่วโลก จนถึงขั้นที่ อิวานก้า ทรัมป์ บุตรสาวและที่ปรึกษาประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ บุคคลผู้ทรงอิทธิพลอันดับ 1 ในปัจจุบันของสหรัฐอเมริกาและของโลก ยังทวีตข้อความชื่นชมในความอดทนและความรักที่ จโยตี มีต่อพ่อ ซึ่งทั้งหมดนี้ทำให้เกิดความช่วยเหลือมากมายจากหน่วยงานต่างๆ ที่ไม่เคยแลเหลียวครอบครัวของเธอในวันที่เธออดอยากและเป็นประชากรชั้นล่างของ นิว เดลี 


Photo : @sanjay_saraogi

แต่ความจริงก็คือ จโยตี แค่โชคดีเท่านั้นที่เรื่องราวของเธอเป็นข่าวใหญ่โต เพราะเธอยอมรับด้วยตัวเองว่า เธอปั่นจักรยานประมาณวันละ 30-40 กิโลเมตรเท่านั้น แต่พอเริ่มเป็นข่าวก็มีคนมาช่วยส่งเธอตามจุดต่างๆ มากขึ้น ซึ่งทำให้ภารกิจ 1,200 กิโลเมตรสำเร็จในเวลาแค่ 7 วัน ทั้งๆ ที่ความจริงแล้วหากเอาระยะทางต่อวันที่เธอมาปั่นต่อ 1 วันมาบวกลบคูณหารกับ 1,200 กิโลเมตรนั้น จโยตี จะต้องใช้เวลากว่า 1 เดือนเพื่อได้กลับบ้านเลยทีเดียว ... และแน่นอนว่า ที่เราพูดถึงการเกาะท้ายรถบรรทุกนั้น ที่จริง มันคือการที่เธอและพ่อขึ้นท้ายรถบรรทุกเพื่อไปปั่นต่อในจุดที่ใกล้บ้านขึ้นมาอีกนิดนั่นเอง

มันชัดเจนว่าเมื่อเป็นข่าวแล้วทุกคนก็อยากจะเกาะกระแสเธอไปกันหมด ซึ่งมันเป็นเรื่องตลกร้าย เพราะความจริงแล้วมีคนจนที่อพยพด้วยการเดินเท้าหรือปั่นจักรยานออกจาก นิว เดลี กลับภูมิลำเนาเดิมเหมือนกับที่ จโยตี ทำเป็นล้านๆ ครอบครัว ซึ่งมีอีกมากที่ไม่ได้โชคดีเช่นเธอ เพราะต้องสู้กับความหิว, ความร้อน และอุบัติเหตุ และมีคนจำนวนไม่น้อยต้องเสียชีวิต เดินทางกลับไม่ถึงบ้านเกิด เพียงแต่เรื่องเล่านี้ไม่อิมแพ็คต์พอที่เหล่าสื่อจะหยิบยกมาเล่าในวงกว้างเท่านั้นเอง

ความเหลื่อมล้ำของสังคมเป็นเรื่องที่ยากจะเปลี่ยนแปลง เรื่องราวไวรัลของ จโยตี และพ่อของเธออาจจะเป็นตำนานสุดโรแมนติกในสำหรับคนที่ได้อ่านข่าวของเธอ พวกเขาจะชื่นชมความอดทน และความเข้มแข็งต่อการเผชิญกับสถานการณ์ที่ยากลำบาก แต่ความจริงแล้วไม่มีใครรู้ว่า จโยตี นั้นรู้สึกอย่างไร  

เรื่องราวของชนชั้นล่างที่สู้ตายแบบนี้มักจะเป็นเรื่องราวโรแมนติกของชนชั้นกลางรวมถึงบนเสมอ สำหรับ จโยตี เธอไม่ได้รู้สึกว่ามันเป็นเรื่องวิเศษอะไรนัก ไม่ใช่เรื่องของความสำเร็จหรืออยากโด่งดังเหมือนที่ใครเข้าใจ แต่ทุกสิ่งทุกอย่างของตำนานนักปั่น 1,200 กิโลเมตร ล้วนเกิดขึ้นจากความสิ้นหวังและความช่วยเหลือที่ไม่เคยมาถึงเธอเท่านั้นเอง เธอจึงต้องลงมือทำด้วยตัวเอง


Photo : @teacheranand

"ฉันรู้สึกอ่อนแอทางร่างกายในขณะนี้หลังจากการเดินทางที่แสนยาวนาน" เธอกล่าวเมื่อถึงบ้าน ซึ่งนั่นคือความรู้สึกที่เธอมีจริงๆ มันเรียลโดยไม่ต้องปรุงแต่งอะไร ขณะที่ อิวานก้า ทรัมป์ โพสต์ข้อความว่า "นี่คือความสำเร็จและความรักที่สวยงาม" เพื่อชื่นชม จโยตี ... ทว่าความจริงแล้ว จโยตี ก็รู้ดีว่า ถ้าเลือกได้เธอก็อยากจะอยู่ที่ นิว เดลี มากกว่าที่จะมาปั่นจักรยาน 1,200 กิโลเมตร จนเป็นตำนานแบบนี้ 

"มันเป็นแค่การตัดสินใจที่เกิดขึ้นในภาวะที่สิ้นหวังก็เท่านั้นเอง" เรียบง่ายแต่เป็นคำตอบที่จบทุกข้อสงสัย จโยตี ตอบสั้นๆ กับสำนักข่าว Daily Sabah

ถ้าเลือกได้เธอคงอยากจะได้ความช่วยเหลือตั้งแต่แรกมากกว่า ... จะได้ไม่ต้องมาเหนื่อยเสี่ยงตายจากประสบการณ์ที่เด็กสาวอายุแค่ 15 ปี อย่างเธอไม่ควรเจอเช่นนี้  

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook