ยังไงต้องได้ดู : สมัยสงครามโลกที่ฟุตบอลลีกหยุดแข่งคนอังกฤษหาทางออกอย่างไร?

ยังไงต้องได้ดู : สมัยสงครามโลกที่ฟุตบอลลีกหยุดแข่งคนอังกฤษหาทางออกอย่างไร?

ยังไงต้องได้ดู : สมัยสงครามโลกที่ฟุตบอลลีกหยุดแข่งคนอังกฤษหาทางออกอย่างไร?
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ทั้งๆ ที่ ลิเวอร์พูล นำโด่งชนิดที่ว่าจ่อแชมป์เข้าไปทุกขณะ แต่ฟุตบอลพรีเมียร์ลีกฤดูกาล 2019-20 ก็ยังหาทางลงไม่เจอว่าท้ายที่สุดแล้วท่ามกลางการระบาดของ COVID-19 ที่รุนแรงขึ้น จะทำให้ลีกต้องเลื่อนหรือยกเลิกกันแน่

นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ฟุตบอลอังกฤษต้องประสบกับสถานการณ์ที่ไม่คาดฝัน ที่ทำให้ "ฟุตบอล" ซึ่งเปรียบเสมือนลมหายใจของคนทั้งประเทศไม่สามารถเดินหน้าต่อได้ ... เรื่องดังกล่าวเคยเกิดมาแล้วในช่วงสงครามโลกครั้ง 2 ซึ่งทำให้ประเทศอังกฤษไม่มีฟุตบอลอาชีพแข่งถึง 6 ปีเลยทีเดียว

6 ปีแห่งความว่างเปล่านั้นเกิดอะไรขึ้นบ้าง ทีมนำจ่าฝูงในวันที่ลีกโดนยกเลิกเป็นใคร และกลับมาแข่งอีกครั้งทีมใดเป็นแชมป์

เพราะฟุตบอลมาก่อนสงคราม

สงคราม คือสิ่งที่อยู่คู่มนุษย์โลกมาอย่างช้านานเกินกว่าจะย้อนความได้ แต่อย่างที่รู้ มีสงครามที่สั่นสะเทือนทั้งโลกจนถูกเรียกว่าสงครามโลกเพียงแค่ 2 ครั้งเท่านั้น และทั้งสองครั้งเกิดขึ้นหลังจากยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม (หลังปี 1850) ทั้งสิ้น 

นอกจากสงครามโลกที่เกิดขึ้นหลังยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมของอังกฤษแล้ว ก็มีฟุตบอลลีกนี่แหละที่เกิดก่อนกันไม่นานนัก โดยฟุตบอลอังกฤษมีการแข่งขันอย่างเป็นทางการนัดแรกในปี 1860 ระหว่างทีม เชฟฟิลด์ เอฟซี กับสโมสรฟุตบอล ฮัลลัม ก่อนจะกลายเป็นลีกอาชีพหลังจากนั้นในอีก 20 กว่าปีให้หลัง เมื่อ ฟุตบอลลีก ถือกำเนิดในปี 1888


Photo : Birmingham Mail

หลังจากนั้นฟุตบอลก็กลายเป็นลมหายใจของคนอังกฤษนับตั้งแต่นั้นมา ไม่มีกิจกรรมใดที่จะบันเทิงไปได้มากกว่าฟุตบอลอีกแล้ว เพราะสำหรับพวกเขาฟุตบอลไม่ใช่แค่ผลแพ้ชนะ แต่มันคือความสุข, ความผิดหวัง, ความสมหวัง และความเป็น "พวกเดียวกัน" 

ดังนั้นไม่มีอะไรมาหยุดการดูบอลของคนอังกฤษ แม้กระทั่งสงครามโลกครั้งที่ 1 ที่เกิดขึ้นในศูนย์กลางของทวีปยุโรป เป็นการช่วงชิงความยิ่งใหญ่กันระหว่างฝ่ายสัมพันธมิตร ที่มีพี่ใหญ่เป็น อังกฤษ, ฝรั่งเศส และ รัสเซีย ขณะที่ฝ่ายอำนาจกลางนำโดย เยอรมัน, ออสเตรีย-ฮังการี และ อิตาลี ก็ยังไม่มีบันทึกความเสียหายหรือผลกระทบที่เกี่ยวกับฟุตบอลเท่าไรนัก

ในแง่หนึ่งคือ ณ เวลานั้น หรือปี 1914 ลีกฟุตบอลของอังกฤษอาจจะยังไม่ได้มีระบบการจัดการที่แน่นอนมากมายนัก หรือไม่ก็สันนิษฐานได้ว่าสงครามโลกครั้งที่ 1 ซึ่งมีชื่อเรียกอีกอย่างว่า Great War ที่มีคนเสียชีวิตไปกับมันมากกว่า 1 ล้านคนนี้ คือเรื่องใหญ่ที่สุดเท่าที่คนอังกฤษเคยเจอ ดังนั้นการบันทึกเรื่องราวต่างๆ ของฟุตบอลจึงเป็นเรื่องรองลงมา และทำให้ไม่มีการบันทึกในรายละเอียดมากนักว่าสงครามโลกครั้งที่ 1 ทำอะไรกับฟุตบอลอังกฤษไว้บ้าง 

โดยสิ่งที่เรารู้คือ มีการหยุดการแข่งขันระหว่างปี 1915-1919 และในปีแรกของสงคราม ฟุตบอลลีกอังกฤษก็สามารถแข่งขันฤดูกาล 1914-15 ได้จนจบซีซั่นเสียด้วย


Photo : Football History

ทว่าเมื่อหมอกของ Great War จางหายไป อีก 30 กว่าปีให้หลัง สงครามโลกครั้งที่ 2 ก็มาถึง โดยเริ่มขึ้นในปี 1939 และสิ้นสุดในปี 1945 ซึ่งกินเวลาไปถึง 6 ปี 

ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 นี้มีบันทึกเรื่องราวต่างๆ เกี่ยวกับฟุตบอลในยุโรปไว้มากมาย หลายลีกในยุโรปทยอยปิดลีกในทันที อาทิ เยอรมัน, ฝรั่งเศส ขณะที่ อิตาลี นั้นฝืนแข่งท่ามกลางสงครามได้พักเดียว สุดท้ายก็ปิดลีกหนีไปตามระเบียบ

อังกฤษ ก็เช่นกัน ... ฟุตบอลลีกของอังกฤษ ได้เริ่มต้นฤดูกาล 1939-40 ไปแล้ว แต่เริ่มไปเพียงแค่ 3 เกมเท่านั้น โดยขณะนั้น แบล็กพูล นำเป็นจ่าฝูง ดังนั้นการตัดสินใจยุบการแข่งขันเพื่อเน้นความปลอดภัยจึงกลายเป็นเรื่องไม่ได้ยากลำบากอะไรนัก 

อย่างไรก็ตามขึ้นชื่อว่าอังกฤษ เมืองนี้ไม่เคยขาดฟุตบอล แม้ลีกอาชีพจะปิดไป แต่พวกเขาก็ยังหาฟุตบอลดู หรือหารายการแข่งขันกันได้อยู่ดี ... และนี่คือทางออกของชาติที่บ้าบอล ในยามที่ไม่มีฟุตบอลลงแข่งขัน

ไม่มีฟุตบอลลีก แต่มีฟุตบอลให้ดู 

เหตุผลสำคัญของการพักลีกฟุตบอลในประเทศนั้น ก็เพื่อความปลอดภัยจากสงคราม แต่มีอีกหนึ่งเหตุผลที่หลายคนลืมคิดไปก็คือ นักฟุตบอลอาชีพหลายๆ คน ณ เวลานั้น ก็ต้องกลายเป็นหนึ่งในสมาชิกของกองทัพอังกฤษเพื่อนร่วมรบด้วยนั่นเอง


Photo : SSPL | Getty Image

หลังจากพักการแข่งขันในปี 1939 มีนักฟุตบอลอาชีพถึง 629 คนทั่วประเทศ ที่เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของกองทัพ แม้แต่กลุ่มสตาฟฟ์โค้ชของสโมสร เวสต์บรอมวิช อัลเบี้ยน ในย่านมิดแลนด์ ก็ถูกเกณฑ์เข้ากองทัพไปทำหน้าที่ผู้ฝึกสอนด้านกายภาพของนายทหารคนอื่นๆ อีกด้วย

จะเห็นได้ว่าปัญหาในสงครามได้ส่งบุคลากรฟุตบอลเหล่านี้เข้ามาเป็นทหาร และในช่วงที่ไม่ได้รบกัน นักเตะอาชีพเหล่านี้ก็กลายเป็น 1 ในบุคลากรสำคัญของกองทัพ เพราะแต่ละกองทัพจะมีทีมฟุตบอลของตัวเองเพื่อใช้ในการแข่งขันระหว่างหน่วย ซึ่งทำให้แต่ละหน่วยอยากจะได้นักเตะอาชีพเข้ามาเป็นทหารในสังกัด เพราะนอกจากจะได้คนที่แข็งแรงแล้ว ยังทำให้พวกเขามีทีมฟุตบอลที่แข็งแกร่ง เล่นกินเดิมพันได้อีกด้วย

และเมื่อเวลาผ่านไป ก็ไม่ใช่การแข่งขันระหว่างแต่ละหน่วยในประเทศอีกแล้ว กองทัพอังกฤษยังส่งทีมฟุตบอลตัวแทนไปแข่งขันเพื่อกระชับสัมพันธ์กับชาติพันธ์มิตรอย่าง ฝรั่งเศส และ เบลเยียม เป็นต้น


Photo : Football History

หนึ่งในนักเตะที่ยืนยันตัวตนกับเรื่องดังกล่าวได้คือนักเตะของ อาร์เซน่อล และ เซาธ์แฮมป์ตัน ที่ชื่อว่า เท็ด เดรก ที่กลายมาเป็นทหารในยุคสงครามโลก และสังกัดทีม FA Services XI ก่อนสร้างชื่อด้วยการพาทีมเอาชนะฝรั่งเศส 5-0 และชนะเบลเยียมอีก 3-0 ตามลำดับ  

นอกจากนี้ยังมีเรื่องเล่าว่า นอกจากฟุตบอลจะเป็นกีฬาประจำกองทัพอังกฤษแล้ว มันยังเป็นกีฬาที่ต่อลมหายใจของเหล่าเชลยศึกชาวอังกฤษที่ถูกจับเป็นเชลยอยู่ที่ประเทศโปแลนด์อีกด้วย 

มีหลักฐานยืนยันว่า ลูกฟุตบอลและชุดแข่งขันถูกส่งไปพร้อมกับเครื่องยาต่างๆ ของสภากาชาด ไปให้เชลยศึกตามที่ต่างๆ ซึ่งมีรูปภาพของทีมฟุตบอลเชลยศึกที่ใช้ชื่อว่า แอสตัน วิลล่า ที่ลงแข่งขันกับทีมเชลยศึกชาติอื่นๆ ในค่ายกักกันด้วย 

นอกจากนี้ เบิร์ท เทราท์มันน์ (Bert Trautmann) อดีตผู้รักษาประตูระดับตำนานของ แมนฯ ซิตี้ ก็ถือเป็นหนึ่งในเชลยศึกทหารเยอรมันที่ได้ถูกส่งตัวมาเข้าแคมป์ที่ประเทศอังกฤษ และแม้สงครามจะสงบลง เจ้าตัวก็ตัดสินใจอยู่ที่ประเทศอังกฤษต่อ ก่อนที่ทีมเรือใบสีฟ้าจะมอบโอกาสในการเป็นนักฟุตบอลอาชีพให้ในปี 1949 หลังจากที่สงครามสิ้นสุดลง


Photo : manchester city Fc 

จะเห็นได้ว่าฟุตบอลยังคงมีส่วนเกี่ยวข้องกับสังคมอังกฤษอยู่เสมอ โดยเฉพาะเหล่านักฟุตบอลอาชีพที่ฝีเท้าดีนั้น ก็ไม่ได้เหมือนกับหยุดแข่ง แต่แค่เปลี่ยนลีกจากแข่งกันเอง กลายเป็นแข่งกันในฐานะตัวแทนของกองทัพเท่านั้น

และหลายต่อหลายครั้ง เกมของกองทัพก็มีการเปิดให้มีคนดูเข้าชมการแข่งขัน โดยเงินค่าตั๋วทั้งหมดก็มอบให้กับการกุศล โดยมีการบันทึกไว้ว่าเกมการแข่งขันลีกกองทัพเรืออังกฤษ (Navy Welfare League) ซึ่งเตะกันที่ย่าน เชลซี กรุงลอนดอน นั้น สามารถเก็บเงินค่าตั๋วได้ 8,000 ปอนด์ จากจำนวนคนดูกว่า 50,000 คนเลยทีเดียว

แล้วพวกชาวบ้านตาสีตาสาล่ะทำอะไรกัน?

แม้ฟุตบอลที่แข่งขันกันจะถูกเปลี่ยนจากระบบสโมสร กลายเป็นระบบของกองทัพ แต่สำหรับช่วงเวลาที่สถานการณ์ตึงเครียดแบบนี้ แน่นอนว่าสมาคมฟุตบอลอังกฤษไม่อาจอยู่เฉยกับการหยุดลีกไปดื้อๆ แบบนี้ได้ 

สำหรับคนอังกฤษ ต่อให้ไม่มีฟุตบอลให้ดู พวกก็ยังหาความบันเทิงจากฟุตบอลได้โดยไม่จำเป็นต้องง้อฟุตบอลลีก เพราะการเล่นฟุตบอลหน้าบ้านหรือตามสวนสาธารณะ ก็ยังเป็นกิจกรรมพักผ่อนหย่อนใจยอดนิยมอยู่ดี 


Photo : IWM

ดังนั้น เอฟเอ จึงเริ่มสนับสนุนให้มีการแข่งฟุตบอลแมตช์เล็ก ไม่ได้รวมคนหมู่มากและเสี่ยงอันตรายขึ้นมา ซึ่งจุดเริ่มต้นเล็กๆ จากการเตะกันสนุกๆ ของเพื่อนบ้าน ก็นำมาซึ่งความนิยมในรูปแบบของฟุตบอลกึ่งอาชีพ หรือลีกกันว่าลีกภูมิภาค โดยแต่ละทีมจะเป็นตัวแทนจากหมู่บ้าน ลงแข่งขันกับทีมบ้านใกล้เรือนเคียงกันแทน ซึ่งต่อมาก็กลายเป็นความนิยมที่หยุดไม่อยู่ มีทีมฟุตบอลระดับชุมชนเกิดขึ้นเรื่อยๆ 

นอกจากนี้โรงงานและห้างร้านต่างๆ ก็ยังร่วมมือส่งทีมฟุตบอลหญิงลงแข่งในช่วงเวลาดังกล่าวด้วย ซึ่งกิจวัตรของคนฟุตบอลก็เป็นเช่นนั้นเรื่อยมา กล่าวคือถึงแม้สภาพบ้านเมืองจะสุ่มเสี่ยง แต่สุดท้ายแล้วพวกเขาก็ยังหาทางเสพฟุตบอลได้ไม่ว่าทางใดทางหนึ่งอยู่ดี 

ดังนั้นเมื่อสงครามโลกสิ้นสุดลงในปี 1945 ฟุตบอลลีกของอังกฤษจึงกลับมาคืนร่างในฐานะลีกอาชีพได้ทันทีในปีถัดมา เหตุผลมีหลายอย่างที่ฟุตบอลกลับมาเตะอย่างมีระบบได้รวดเร็วขนาดนั้น แต่ที่แน่ๆ ประการหนึ่งคือพวกเขาหลงใหล และคิดถึงฟุตบอลจนเกินกว่าจะรอได้นั่นเอง 


Photo : FootballCouncil 

ไม่มีการนำคะแนนฤดูกาล 1939-40 มาคิดใหม่ใดๆ ทั้งสิ้น ทุกอย่างเริ่มใหม่หมด และกลับมาสตาร์ทด้วยการเป็นแชมป์ของ ลิเวอร์พูล ในฤดูกาล 1946-47 และเป็นแชมป์ลีกสูงสุดสมัยที่ 5 ของสโมสรนั่นเอง

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook