"มาเธียส คาสซาริโน" : หนุ่มอิตาลีผู้ทิ้งชีวิตสุขสบายมาสร้างอนาคตกับมวยไทย

"มาเธียส คาสซาริโน" : หนุ่มอิตาลีผู้ทิ้งชีวิตสุขสบายมาสร้างอนาคตกับมวยไทย

"มาเธียส คาสซาริโน" : หนุ่มอิตาลีผู้ทิ้งชีวิตสุขสบายมาสร้างอนาคตกับมวยไทย
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

"ชีวิตของผมหลังชกมวย ผมคงหลักปักฐานอยู่เมืองไทยยาวๆ ผมไม่มีแผนที่จะกลับใช้ชีวิตที่อิตาลี เพราะการอยู่ที่นี่ทำให้ผมได้เห็นโลกที่กว้างขึ้น"

อิตาลี คงเป็นแดนสวรรรค์ที่ผู้คนจากซีกโลกตะวันออก อยากไปท่องเที่ยวหรือใช้ชีวิตในประเทศที่มีความเพียบพร้อม ทั้งเจริญก้าวหน้า และสถาปัตยกรรมที่สวยงาม 

แต่ครอบครัว "คาสซาริโน" เลือกจะใช้ชีวิตที่แตกต่างออกไป พวกเขาละทิ้งความสุขสบาย และรายได้ก้อนโตจากการทำธุรกิจ ย้ายมาตั้งรกรากใหม่บนแผ่นดินไทย ก่อนทำให้ผู้คนได้รู้จักพวกเขาผ่านกีฬาต่อสู้ประจำชาติเราอย่าง "มวยไทย"


 
"เซเวนมวยไทยยิม" อ.แกลง จ.ระยอง คือกิจการของตระกูลคาสซาริโน ที่ก่อตั้งโดย โรแบร์โต กัลโล คาสซาริโน (Roberto Gallo Cassarino) ผู้เป็นพ่อ และปัจจุบันกำลังถูกสานต่อโดย "มาเธียส" บุตรชายที่ลงมาช่วยดูแลธุรกิจนี้ ควบคู่การชกมวยไทยอาชีพในนาม "มาเธียส เซเวนมวยไทยยิม" หรือชื่อเดิม "มาเธียส ศิษย์สองพี่น้อง"

อิตาเลียน บอย 

โดยปกติ เส้นเรื่องชีวิตของนักมวยไทย มักจะไม่แตกต่างกันมากนัก ส่วนใหญ่มาเริ่มต้นชกมวยไทย เพราะต้องหาเงิน หนีความยากจน ความลำบาก และหวังจะยึดเป็นอาชีพเมื่อเติบโต

แต่กับ มาเธียส กัลโล คาสซาริโน เขามีเส้นเรื่องชีวิตที่ต่างจากนักมวยไทยทั่วๆไปอย่างสิ้นเชิง จนดูไม่น่าเชื่อว่า สุดท้ายเขาจะได้มาเริ่มต้นชกมวยไทย

 1

"บ้านของเราอยู่ที่ใกล้ๆเมืองตูรินครับ ผมเป็นลูกคนเดียวของครอบครัว คุณพ่อของผมทำธุรกิจเกี่ยวกับอุปกรณ์ทางการแพทย์ ที่ใช้ทางทันตกรรม โดยเปิดบริษัทที่ทั้งผลิตและจัดจำหน่าย ส่วนคุณแม่อยู่บ้านคอยดูแลผมครับ และทำงานบ้าน" มาเธียสกล่าวด้วยภาษาไทยอย่างฉะฉานให้เราฟัง 

"ชีวิตในวัยเด็กของผมสบายมาก ไม่เคยลำบากเลย มีหน้าที่แค่เรียนหนังสืออย่างเดียว ผมเรียนค่อนข้างดีด้วยนะ ผมมีความฝันอยากทำหลายอย่าง หนึ่งในนั้นคือนักกีฬา"

มาเธียสอธิบายให้ฟังว่า คนอิตาลี ชื่นชอบกีฬาฟุตบอลเป็นอันดับ 1 อาจจะเพราะดินแดนรองเท้าบู๊ต มีลีกฟุตบอลอาชีพที่ให้ค่าตอบแทนสูงอย่าง กัลโช เซเรีย อา หรือเกิดจากวัฒนธรรมลูกหนังที่ฝักรากลึกมาหลายอายุคน 

นั่นจึงเป็นเหตุผลที่ทุกครอบครัว ยินดีที่สนับสนุน และส่งเสริมให้ลูกหญิง ลูกชาย เล่นฟุตบอล แม้โอกาสจะไปถึงจุดนั้นเป็นไปได้ยากมาก เพราะมีเด็กที่อยากเป็นนักเตะอาชีพเต็มไปหมด ตามคำบอกเล่าของมาเธียส 

ในทางกลับกัน กีฬาประเภทอื่นๆ นอกเหนือจากฟุตบอล และมอเตอร์สปอร์ต ในอิตาลีกลับไม่ค่อยได้รับความนิยม หรือมองเห็นโอกาสในการยึดมาเป็นอาชีพ

ยิ่งโดยเฉพาะกีฬาการต่อสู้ที่มีข้อจำกัดมากมาย โดยเฉพาะข้อกฎหมายที่ไม่อนุญาตเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปีชกกันอย่างจริงจัง รวมถึงห้ามใช้ศอกในการต่อสู้ ทำให้มวยไทย เป็นกีฬาที่มีเพียงแค่คนจำนวนน้อยในอิตาลีรู้จักหรือฝึกเล่นมัน 

ดังนั้น โอกาสในการเป็นนักมวยไทยอย่างที่มาเธียสเป็นทุกวันนี้ จึงแทบจะเป็นไปไม่ได้เลย หากเขาไม่ได้รับอิทธิพลเรื่องมวยไทยมาจากคุณพ่อ

 2

"ครอบครัวผมจะเดินทางมาเที่ยวและใช้ชีวิตอยู่ที่เมืองไทย ปีละ 2-3 เดือน เป็นประจำทุกปี ตั้งแต่ผมอายุ 1 ขวบ เพราะว่าพ่อชอบมวยไทย และเมืองไทยมาก"

"ท่านเปิดดูคลิปมวยไทย วนดูเป็นล้านๆครั้ง (หัวเราะ) เพราะท่านเองเคยต่อยคิกบอกซิ่งแบบสมัครเล่นที่อิตาลีมาก่อน ทุกครั้งที่ครอบครัวมาเที่ยวเมืองไทย พ่อจะไปฝึกมวยไทยตามค่ายต่างๆ ผมก็จะนั่งรอคุณพ่อ แรกๆ ไม่ค่อยชอบมวยไทยครับ แต่พอเห็นเด็กตัวเล็กๆ เขาฝึกหัดวิ่งเล่นในค่าย ก็ลองฝึกดูบ้าง"

"ตอนเด็กๆ มาเมืองไทยทุกปี ผมชอบเมืองไทยนะ แม้ว่าอากาศจะร้อนมาก เหมือนเข้าตู้อบ (หัวเราะ) แต่ก็มีธรรมชาติที่สวยงาม ผมชอบไปเที่ยวทะเล แต่ถ้าจะให้อยู่ระยะยาว ตอนนั้นผมอยากอยู่ที่อิตาลีมากกว่า เพราะอยู่เมืองไทย ผมไม่มีเพื่อน ไปไหนมาไหนก็ไปกับพ่อแม่ตลอด"

มาเธียสฝึกหัดชกมวยไทยครั้งแรกตอนอายุ 7 ปี ตามคุณพ่อโรแบร์โตในช่วงเวลาที่อยู่เมืองไทย แต่เมื่อกลับอิตาลี วิชามวยไทยที่เขาเรียน ไม่ได้ถูกต่อยอดนำมาใช้ 

ที่เมืองตูริน ไม่มีแม้แต่ยิมที่เปิดสอนมวยไทย กว่ามาเธียสจะได้กลับมาฝึกซ้อมมวยไทยต้องรอช่วงปิดเทอมที่ครอบครัวจะมาพักผ่อนที่เมืองไทยเท่านั้น

จนเมื่ออายุ 13 ปี มาเธียสตัดสินใจที่จะลองมาใช้ชีวิตเป็น "เด็กฝรั่ง" ในเมืองไทยกับครอบครัว เป็นเวลา 1 ปี เพื่อจะได้มีเวลาฝึกมวยไทยอย่างเต็มที่

มวยไทยสอนให้ไม่กลัว 

"ปกติผมเป็นเด็กที่ขี้กลัว กลัวไปหมดทุกอย่าง แต่นิสัยผม ถ้าสิ่งไหนทำให้ผมกลัว ผมจะต้องพยายามเข้าไปสัมผัสให้ได้ อยากเอาชนะความกลัวนั้น"

 3

"ผมเคยกลัวการต่อสู้ เพราะว่าผมไม่เคยชกต่อยกับใครเลย ใครมาแกล้งนิดเดียวก็ตกใจแล้ว เวลาดูเขาชกมวยกัน ก็รู้สึกว่าทำไมมันน่ากลัวจัง? แต่อีกใจหนึ่ง ผมก็อยากดูว่า ผมจะทำได้ไหม ผมลองตัดสินใจขึ้นเวทีมวยชกมวยไทยครั้งแรก ตอนอายุ 12 ปี"

"ความรู้สึกมันอธิบายยากจริงๆ ถ้าคนไม่เคยชกมวยจะไม่เข้าใจ มันเป็นกีฬาตื่นเต้นมาก อันตรายด้วย เจ็บตัว แต่พอถึงช่วงที่ต้องชก ถ้าเราสามารถสู้กับความกลัวเหล่านั้นได้ เวลาลงเวทีความรู้สึกจะเหมือนเป็นซูเปอร์ฮีโร่เลย ผมชอบ Feeling ตรงนั้นมาก ติดใจ ก็เลยบอกคุณพ่อว่า อยากเอาดีทางการชกมวยไทย"

มวยไทย เปลี่ยนแปลงให้เด็กที่ขี้กลัวอย่างมาเธียส ให้กล้าที่จะขึ้นไปเผชิญหน้ากับคู่ต่อสู้บนสังเวียนผืนผ้าใบ และทำให้เขาค้นพบว่า ความกลัวล้วนแล้วแต่เป็นสิ่งที่จิตใจมนุษย์ปรุงแต่งมันขึ้นมา 

หลังได้ยินว่าลูกชายมีความสนใจอยากเป็นนักมวยไทย คุณพ่อโรแบร์โตจึงแนะนำให้มาเธียสมาลองใช้ชีวิตอยู่ที่เมืองไทยเพื่อง่ายต่อการฝึกซ้อม เพราะเด็กไทยที่เก่งมวยไทย ล้วนแล้วแต่เริ่มฝึกหัด และตระเวนชกตั้งแต่อายุยังน้อย 

 4

"ผมตัดสินใจย้ายมาอยู่ที่เมืองไทยตอนอายุ 13 ปี โดยมีครอบครัวตามมาอยู่ด้วย เพราะว่าคุณพ่อท่านอยากพักผ่อน เพราะทำงานหนักมาเป็นเวลา 20 ปี จนมีเงินเก็บเยอะมากแล้ว จึงอยากมาใช้ชีวิตที่เมืองไทย"

"การย้ายอยู่ที่เมืองไทย ทำให้ผมได้เห็นโลกที่กว้างขึ้น ผมเปิดใจรับสิ่งใหม่ได้เยอะมาก จากที่เมื่อก่อน ผมเข้าใจว่า โลกนี้มีแค่บ้านเรา เมืองเราเท่านั้น ทุกๆพื้นที่ในโลกคงเหมือนกันหมด พอผมได้เข้ามาที่โรงเรียนนานาชาติพัทยา ผมได้เจอกับเพื่อนๆหลายสัญชาติ มาจากทั่วทุกมุมโลก มันทำให้ผมได้เข้าใจว่า เพื่อนละคนก็มีความคิด มุมมอง แตกต่างกันออกไป"

"ช่วง 6 เดือนแรก ผมอาจจะปรับตัวยากหน่อย เพราะผมพูดภาษาอังกฤษไม่ค่อยได้ แต่ครูที่นี่สอนด้วยภาษาอังกฤษเป็นหลัก มีภาษาไทยปนบ้าง เราก็ไม่ค่อยเข้าใจ สื่อสารกับเพื่อนไม่ได้อีก แต่หลังผ่านครึ่งปีแรก ผมเริ่มปรับตัวได้ อยู่เมืองไทยได้อย่างสบาย ตอนั้นผมก็ชั่งใจว่า จะอยู่เมืองไทยหรืออยู่อิตาลีดี? สุดท้ายผมลองกลับไปใช้ชีวิตที่อิตาลีอีก 1 ปี เพื่อให้ตัวเองแน่ใจ"

มาเธียส คาสซาริโน ตัดสินใจย้ายกลับบ้านเกิดตอนอายุ 14 ปี ด้วยความรู้สึกและมุมมองที่มีต่ออิตาลีเปลี่ยนแปลงโดยสิ้นเชิง 

จนสุดท้าย มาเธียสเลือกที่จะยุติชีวิตลูกชายครอบครัวนักธุรกิจในยุโรป มาเริ่มต้นใหม่ในเมืองไทย ซึ่งเป็นวิถีชีวิตในแบบที่เขาต้องการมากกว่า 

 5

"มุมมองของผมต่ออิตาลีเปลี่ยนแปลงไปเยอะมาก แต่ในขณะที่คนเมืองผมหลายคนยังใช้ชีวิตและคิดเหมือนเดิม ที่นั่นมีความเชื่อที่ว่า เราต้องขยัน ทำงานให้หนัก ต้องเก็บเงินเยอะๆ ถ้าบ้านข้างๆออกรถเบนซ์ เราก็ต้องออกรถรุ่นที่เหนือกว่า มันเป็นสังคมที่มีความเครียด มีความกดดันสูง แต่ถ้าอยากสำเร็จ คนเราก็ควรต้องเครียด ต้องทำงานหนัก ต้องคิดเยอะ"

"แต่ที่เมืองไทย คนไทยใช้ชีวิตกันค่อนข้างดี ไม่เครียดกันมาก พยายามหาความสุขกันแบบวันต่อวัน ไม่ค่อยมีใครวางแผนระยะยาวว่า 20-30 ปี จะทำอะไรกันบ้าง?"

"เวลาใช้ชีวิตที่เมืองไทย รู้สึกว่าหัวมันโล่งๆ ไม่ต้องแบกอะไรที่หนักๆ ต่างกับที่อิตาลี ทุกอย่างต้องจริงจัง ต้องซีเรียสหมด แม้แต่การเรียน ที่นั่นเรียนหนักมากครับ ผมจึงบอกครอบครัวว่า ต้องการย้ายกลับไปอยู่เมืองไทย พ่อแม่ก็เห็นดีด้วย เพราะคุณพ่อท่านก็อยากเกษียณการทำงาน หากท่านอยู่ที่อิตาลีต่อ ท่านจะไม่สามารถหยุดคิดเรื่องทำงานได้"

อาชีพที่มาแลกด้วยเลือด 

หลังจากอยู่เมืองไทยมาได้อีก 3 ปี จนเรียนจบระดับมัธยมศึกษา "มาเธียส" ตัดสินใจออกไปหาความท้าทายใหม่อีกครั้ง 

เมื่อได้รับการทาบทามจากค่าย "ศิษย์สองพี่น้อง" ให้ไปฝึกซ้อมชกอยู่ที่ค่าย หนุ่ยน้อยจากอิตาลีไม่ลังเลที่จะเข้าเมืองกรุง เพื่อไปชีวิตในแบบนักมวยไทยอาชีพ ที่ กิน-นอน-ซ้อม อยู่ในค่าย

 6

"ถ้าผมอยู่ที่อิตาลี ผมไม่มีทางจะไปบอกพ่อแม่ว่า 'ผมไม่อยากเรียนมหา’ลัย' เพราะต้องการชกมวยไทยหาเลี้ยงชีพ เพราะมันเสี่ยงมากที่คุณจะทิ้งการเรียนเพื่อไปหากินกับกีฬาการต่อสู้ โอเค ถ้าคุณเป็นฟุตบอลอาชีพ ในลีกกัลโชฯ คุณลาออกเลย เยี่ยม แต่หากเป็นกีฬาอื่น ผมไม่คิดว่าผมสามารถทำแบบนี้ได้ ถ้าอยู่อิตาลี"

"แต่ที่เมืองไทย ผมคิดว่าการฝึกซ้อมวันละ 1 ครั้งหลังเลิกเรียน ไม่เพียงพอ หากผมต้องการเป็นนักมวยไทยระดับท็อป เพราะคนเหล่านั้น พวกเขาฝึกซ้อมวันละ 2 มื้อ เช้า-เย็น มาตั้งแต่เด็ก ประกอบกับผมได้รับการติดต่อให้ไปอยู่ในค่ายมวยที่กรุงเทพฯ ผมจึงเลือกที่ไม่เรียนต่อมหา’ลัย"

"ตอนที่ไปถึงค่าย หัวหน้าคณะก็บอกให้ผมไปเช่าหอพักใกล้ๆค่ายดีกว่า คุณอย่ามาอยู่ในห้องพักรวมกับนักมวยไทย แต่ผมอยากลองดูว่า ถ้าผมต้องใช้ชีวิตแบบนักมวยไทยที่อาศัยอยู่ในค่าย ห้องละ 10 คน นอนด้วยกัน ผมจะสามารถอยู่ได้ไหม เพราะในชีวิตที่ผ่านมา ผมไม่เคยลำบากเลย"

 7

มาเธียสหอบข้าวของจากเมืองพัทยา มุ่งสู่ค่ายมวยศิษย์สองพี่น้อง ทุกสิ่งที่อยู่ตรงหน้า คือ ประสบการณ์แปลกใหม่ 

เขาต้องใช้เวลา 24 ชั่วโมงทุกวันในช่วง 6 เดือนนั้น อยู่กับเพื่อนร่วมค่ายชาวไทย ที่เติบโตและมีพื้นฐานชีวิตแตกต่างกับเขา รวมถึงมีไลฟ์สไตล์ต่างกับเพื่อนสมัยเรียนไฮสกูลแบบลิบลับ 

แต่ประสบการณ์ในการได้มาอยู่ค่ายมวย เปรียบเสมือนโรงเรียนชีวิตที่สอนให้เขาได้เรียนรู้การอยู่ร่วมกับคนอื่น การช่วยเหลือตัวเอง รวมถึงได้มีเวลาพัฒนาศักยภาพ และโฟกัสเรื่องมวยไทยเพียงอย่างเดียว โดยไม่มีเรื่องอื่นเข้ามารบกวน 

ที่สำคัญ การได้มาอยู่ในค่ายมวย ยังเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เขาได้ฝึกหัด ฟัง พูด อ่าน เขียนภาษาไทย เพื่อใช้สื่อสารในชีวิตประจำวันกับเพื่อนๆในค่าย และเทรนเนอร์ผู้ทำการฝึกสอน แต่ความยากของมวยไทยสำหรับชาวต่างชาติ ไม่ได้เพียงแค่เรื่องนอกสังเวียนเท่านั้น เพราะเรื่องการต่อสู้ในสังเวียน ก็มีระดับความยากไม่แพ้กัน

 8

"มวยไทยเป็นกีฬาที่มีความยากหลายอย่างนะครับ คุณจำเป็นต้องฝึกซ้อมทุกวัน เพื่อให้ร่างกายแข็งแกร่ง จำเป็นต้องกิน นอนให้เป็นเวลา การดูแล การบำรุงต้องถึง"

"สิ่งที่ยากสุดของการเป็นนักกีฬามวยไทย ไม่ใช่ช่วงฝึกซ้อม 3-4 อาทิตย์ก่อนหน้าชก แต่เป็น 2-3 วันก่อนชก ที่เราต้องลดน้ำหนัก หมายความว่าในช่วงนี้ คุณจะโดนควบคุมอาหาร ลดข้าว ลดน้ำ เพื่อไม่ต้องไปลดน้ำหนักหน้าตาชั่ง ในช่วงเช้าของวันชกเยอะ มันแตกต่างกับมวยสากลนะ ที่ชั่งน้ำหนักก่อนชก 1 วัน ส่วนมวยไทยชั่งวันเดียวกับชก ร่างกายจะฟื้นฟูได้ช้ากว่า"

ทุกๆบทเรียนย่อมมีราคาที่ต้องจ่ายไป ร่องรอยแผลเป็นบริเวณหางคิ้ว และตรงหน้าผาก เป็นพยานหลักฐานอย่างหนึ่งได้ดีว่า มาเธียสต้องจ่ายด้วยอะไรไปบ้างตลอด 90 กว่าไฟต์ที่เขาชกมวยไทย เพื่อเรียนรู้ประสบการณ์ที่หาไม่ได้จากกีฬาอื่นๆ 

 9

"ผมเคยได้ยินคำพูดของ รามอน เดกเคอร์ (นักคิกบ็อกซิ่งชาวเนเธอร์แลนด์ ที่มาโด่งดังในวงการมวยไทย) เขาบอกว่า ฝรั่งถ้าอยากเอาชนะนักมวยไทย ต้องน็อกสถานเดียว ชนะคะแนนไม่ได้ เมื่อก่อนเวลาต่อยมวย ผมก็จะมุทะลุ อยากต่อยอย่างเดียว ไม่ได้สนใจเรื่องป้องกันมาก"

"แต่ประสบการณ์สอนผมว่า ก่อนที่เราจะออกอาวุธ เราต้องให้ความสำคัญการกับป้องกันตัวให้ดีก่อน ลองคิดดูว่า คนเราจะชกมวยไทยได้สักกี่ปีกัน? เต็มที่ก็ 10-20 ปี แต่ร่างกายเรา สมองเรา ยังจะอยู่กับเราไปอีกนาน เราจำเป็นต้องมีสมองและร่างกายที่ดีไว้ทำงานต่อไป เมื่อถึงวันหนึ่งที่เลิกชกมวย"

"สมัยก่อนผมกลัวว่า หน้าจะเป็นแผล แต่พอโดนแผลแตกเป็น 10 ครั้ง ก็เริ่มไม่กลัว จริงอยู่ที่มวยไทยเป็นกีฬาที่มีความอันตราย แต่ถ้าเราฝึกซ้อมดี เตรียมตัวดี รู้จักป้องกันตัว อาการบาดเจ็บมันก็จะไม่เกิดขึ้น หรือเกิดขึ้นน้อย"

เมืองไทยคือบ้านผม

หลังผ่านประสบการณ์การชกมวยไทยในเมืองกรุงมาอย่างโชกโชน "มาเธียส" เลือกจะออกจากระบบค่ายมวย เป็นนักชกอิสระ พร้อมกับแต่งงานกับภรรยาสาว โดยมีพยานรัก 1 คน และใช้ชีวิตอยู่ที่จังหวัดระยอง 

ก่อนที่โรแบร์โต ผู้เป็นพ่อ จะตัดสินใจลงทุนทำค่ายมวยของตัวเองในชื่อ "เซเวนมวยไทยยิม" เพื่อใช้เป็นสถานที่สำหรับเก็บตัวฝึกซ้อมของมาเธียส รวมถึงเป็นการต่อยอดทางธุรกิจสำหรับชาวต่างชาติ และคนไทยที่ต้องการมาฝึกฝนและเรียนรู้ศาสตร์ของมวยไทย 

 10

"ความจริงผมไม่เคยมีความคิดอยากเป็นเจ้าของค่ายมวย แต่พ่อเคยมีความคิดอยากทำค่ายมวยเอง จนกระทั่งเมื่อ 4 ปีก่อน ผมมีความคิดอยากกลับมาอยู่ครอบครัว และซ้อมมวยไปด้วย โอเค ผมเคยไปอยู่ค่ายมวยมาหลายๆแห่ง แต่ละที่ก็มีข้อดี ข้อด้อย แตกต่างกัน ผมสนุกกับช่วงเวลาที่ได้อยู่ในค่ายมวย ได้ชกมวย ได้รู้จักกับเขา"

"แต่ตัวผมอยากมีสักที่ ที่สามารถเรียกว่าบ้านได้เต็มปาก คุณพ่อจึงลงทุนเปิดค่ายมวย เซเวนมวยไทยยิม โดยที่ตอนแรก พ่อเป็นคนดูแลทุกอย่าง แต่ตอนนั้นท่านอายุเยอะมาก จึงเป็นผมกับภรรยามาช่วยกันดูแล"

มาเธียสในวัย 27 ปี จึงรับบททั้งผู้ดูแลค่ายมวยของตนเอง และชกเป็นอาชีพด้วย แม้จะเป็นชีวิตที่ไม่เหมือนกับนักมวยทั่วไป ที่มีหน้าที่แค่ฝึกซ้อม ดูแลร่างกายตัวเอง พัฒนาฝีมือ แต่เขาก็มีความสุขที่ได้ตื่นเช้าจนถึงเข้านอน ทำงานอยู่ภายในบริเวณสถานที่ที่เขาเรียกว่า "บ้าน" มันก็เป็นอะไรที่ประเมินค่าไม่ได้

"บ้าน" ที่เขาไม่ได้หมายถึงแค่สิ่งปลูกสร้างสำหรับอยู่อาศัย แต่ยังหมายถึง บ้านหลังใหญ่ที่ชื่อ "ประเทศไทย" ที่มีวัฒนธรรมอันดีงาม และผู้คนที่มีจิตใจกว้าง พร้อมเปิดต้อนรับชาวต่างชาติให้เข้ามาทำมาหากินบนผืนแผ่นดินนี้ กับกีฬามวยไทย 

 11

"สิ่งที่ผมประทับใจมากสุดของมวยไทย คือการที่นักชกต่างให้การเคารพกัน คุณจะเห็นได้จากทุกครั้งหลังชก นักมวยจะเข้ามากอดกัน ไหว้กัน บางคนเราอาจไม่เคยรู้จักกัน แต่การชกมวยแค่ครั้งเดียว ทำให้เรารู้จักดี มากกว่านั่งกินข้าวบนโต๊ะอาหารร่วมกันอีก ผมได้เพื่อน ได้รู้จักคนมากมายจาการชกมวยไทย"

"นอกจากจะทำให้ร่างกายแข็งแรงขึ้น มวยไทย ยังสอนอะไรผมหลายอย่างๆ มวยไทย ทำให้ผมไม่กลัวที่ต้องเจอปัญหา เราต้องสู้ เราต้องผ่านไปให้ ถ้าเราสามารถผ่านความยากลำบาก ในการเป็นนักมวยไทยได้ ผมคิดว่าเรื่องอื่นๆ เราก็สามารถผ่านไปได้"

"ผมตั้งเป้ากับตัวเองว่าจะเลิกชกมวยก่อนอายุ 30 ปี แต่ขอดูสถานการณ์ไปแบบปีต่อปี เพราะผมต้องการใช้ชีวิตหลายรูปแบบ ทั้งการเป็นนักกีฬา หรือทำงานด้านอื่นๆด้วย ไม่อยากชกมวยไปจนแก่ จนสภาพร่างกายไม่ไหว"

"ตั้งแต่ได้มาอยู่เมืองไทย ผมไม่มีความคิดที่จะกลับไปใช้ชีวิตอยู่อิตาลีเลย เพราะครอบครัวผม ภรรยา ลูก เราทุกคนมีความสุข และสบายใจ ที่ได้ใช้ชีวิตอยู่ที่นี่"

อัลบั้มภาพ 11 ภาพ

อัลบั้มภาพ 11 ภาพ ของ "มาเธียส คาสซาริโน" : หนุ่มอิตาลีผู้ทิ้งชีวิตสุขสบายมาสร้างอนาคตกับมวยไทย

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook