โทนี่ เบนเน็ตต์ : โค้ชยัดห่วงตำนานทีมมหาวิทยาลัย ผู้ปฏิเสธการขึ้นเงินเดือน

โทนี่ เบนเน็ตต์ : โค้ชยัดห่วงตำนานทีมมหาวิทยาลัย ผู้ปฏิเสธการขึ้นเงินเดือน

โทนี่ เบนเน็ตต์ : โค้ชยัดห่วงตำนานทีมมหาวิทยาลัย ผู้ปฏิเสธการขึ้นเงินเดือน
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

“อะไรคือสิ่งสำคัญที่สุดในชีวิต?”

มันน่าจะเป็นหนึ่งในคำถามที่หาคำตอบได้ยากที่สุดคำถามหนึ่ง เพราะแต่ละคนคงมีคำตอบแตกต่างกันออกไป แต่เชื่อว่าหนึ่งในคำตอบยอดฮิตคงหนีไม่พ้น “เงิน” 

อาจจะใช่ที่เงินไม่สามารถซื้อได้ทุกอย่าง แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่ามันซื้อได้หลายอย่างเหมือนกัน รวมถึงความสุขในรูปแบบต่างๆ 

แต่เรื่องราวที่ Main Stand จะนำเสนอในครั้งนี้คือเรื่องราวของผู้ชายคนหนึ่ง ที่ปฏิเสธเสียงแข็งว่าเงินไม่ใช่ความสุขของเขา ถึงขนาดที่ว่ายอมปฏิเสธการขึ้นเงินเดือนเลยทีเดียว

นี่คือเรื่องราวของ “โทนี่ เบนเน็ตต์” โค้ชบาสเกตบอลแห่งมหาวิทยาลัย University of Virginia กับความสุขของเขาที่ไม่สามารถซื้อได้ด้วยเงิน

ค้นพบเส้นทางใหม่จากความผิดหวัง

โทนี่ เบนเน็ตต์ คือหนุ่มใหญ่วัย 50 ปี โดยปัจจุบันเขาดำรงตำแหน่งเฮดโค้ชของ Virginia Cavaliers ทีมบาสเกตบอลประจำมหาวิทยาลัย University of Virginia 


Photo : gojoebruin.com

เรื่องราวในอดีตของ เบนเน็ตต์ ก็ไม่แตกต่างจากเฮดโค้ชทีมบาสเกตบอลทั่วไป ในวัยหนุ่มเขาเคยเป็นนักบาสเกตบอลอาชีพมาก่อน ในตำแหน่งพอยต์การ์ด หรือ การ์ดจ่าย โดยในระดับมหาวิทยาลัยนั้นเขาเล่นให้กับทีม Green Bay Phoenix จากมหาวิทยาลัย University of Wisconsin - Green Bay ซึ่งเป็นทีมที่มี “ดิ๊ก เบนเน็ตต์” คุณพ่อของเขาเป็นเฮดโค้ชอยู่ 

ขณะที่ผลงานของตัวเบนเน็ตต์เองก็ถือว่าโดดเด่นพอสมควร การันตีจากรางวัล “Conference's Player of the Year” ที่เขาได้รับการเสนอชื่อถึง 2 ครั้ง นอกจากนั้นเขายังได้รับรางวัล “Frances Pomeroy Naismith Award” ในปี 1992 โดยรางวัลนี้จะมอบให้กับผู้เล่นที่มีความสูงน้อยกว่า 6 ฟุตที่มีผลงานโดดเด่นที่สุดประจำปีนั้นๆ รวมถึงยังได้รับการรีไทร์เสื้อหมายเลข 25 ที่เขาเคยสวมใส่จากทางสถาบันอีกด้วย ด้วยผลงานที่ค่อนข้างสวยหรูในระดับมหาวิทยาลัย เบนเน็ตต์จึงถูกดราฟต์เข้าสู่ NBA ลีกบาสเกตบอลที่ดีที่สุดของโลกจากทีม Charlotte Hornets ในอันดับที่ 35 ของปี 1992

อย่างไรก็ตาม NBA คือสนามของเหล่าปีศาจ และเบนเน็ตต์ยังไม่แข็งแกร่งพอ ทำใหชีวิต 3 ปีของเขากับทีม Charlotte Hornets จึงไม่ค่อยสวยหรูนัก เขามักจะอยู่ที่ม้านั่งข้างสนามเสียมากกว่าในบทบาทพอยต์การ์ดตัวสำรอง ซ้ำร้ายไปกว่านั้น ในปี 1995 เบนเน็ตต์ได้รับอาการบาดเจ็บที่ข้อเท้าอย่างหนัก หนักถึงขั้นที่ว่าเส้นทางของเขาใน NBA ต้องจบลงโดยทันที ความฝันจะกลายเป็นนักบาสเกตบอลที่ประสบความสำเร็จเป็นอันดับวูบลงไปทันตา


Photo : @hornets

แต่ถึงแม้ร่างกายจะไม่สามารถเล่นบาสเกตบอลในระดับสูงได้อีกแล้ว แต่ด้วยใจที่ยังหลงรักกีฬาชนิดนี้ ในปี 1996 เบนเน็ตต์ จึงตัดสินใจบินลัดฟ้าสู่ประเทศนิวซีแลนด์ มาเล่นให้กับทีม North Harbour Vikings ซึ่งที่นี่เองคือสถานที่ที่เขาได้เพาะบ่มวิชาการคุมทีม เพราะ เบนเน็ตต์ เซ็นสัญญากับทีมดังแห่งนิวซีแลนด์ในรูปแบบ “ผู้เล่น - โค้ช” และ ณ ดินแดนแห่งฟาร์มแกะนี้เอง ความโดดเด่นของ เบนเน็ตต์ ก็ฉายแววขึ้นมาอีกครั้ง เพราะถึงร่างกายจะไม่สมบูรณ์พร้อม แต่ด้วยมาตรฐานการเล่นและแท็คติกที่เขาพกติดตัวมาจาก NBA ก็เพียงพอแล้วที่จะทำให้เขาได้รับรางวัลพอยต์การ์ดยอดเยี่ยม 2 ฤดูกาลซ้อน พ่วงด้วย NBL All-Star อีก 2 สมัย แต่น่าเสียดายที่เขาพาทีมไปได้ไกลที่สุดแค่อันดับที่ 3 

ถึงแม้ชีวิตที่เริ่มต้นใหม่ดูเหมือนว่าจะไปได้สวย แต่หลังจากใช้ชีวิตในนิวซีแลนด์ได้ 3 ปี เบนเน็ตต์ก็รู้ดีแล้วว่าไม่สามารถฝืนร่างกายตัวเองไหว จึงตัดสินใจรีไทร์จากบทบาทผู้เล่นในวัยเพียง 27 ปี ก่อนจะบินกลับบ้านเกิดสหรัฐอเมริกาในปี 1999 โดยเขาตัดสินใจแล้วว่าจะเอาดีด้านการเป็นโค้ชเต็มตัว เพราะอย่างน้อยก็ยังได้อยู่ใกล้กับสิ่งที่รัก ดังนั้นเมื่อเดินทางมาถึง เขาจึงตัดสินใจรับตำแหน่งผู้ช่วยเฮดโค้ชให้กับ Wisconsin Badgers ทีมในลีก NCAA หรือลีกมหาวิทยาลัยของอเมริกา

เวลาล่วงเลยไป เบนเน็ตต์ ก็ตระเวนเก็บเกี่ยววิชาโค้ชจากที่ต่างๆ ไปเรื่อยๆ ตามวิถีชีวิตโค้ชบาสเกตบอล จนกระทั่งปี 2009 ตำนานก็เริ่มต้นขึ้นเมื่อเขาตัดสินใจเข้ารับตำแหน่งเฮดโค้ชให้กับทีม Virginia Cavaliers

  โค้ชผู้สร้างตำนาน

ย้อนกลับไปเมื่อประมาณ 10 ปีก่อน ในช่วงเวลานั้น Virginia Cavaliers ไม่ใช่ทีมที่ยิ่งใหญ่ ตรงกันข้ามพวกเขาไม่มีผลงานที่โดดเด่นในระดับประเทศมาเนิ่นนานแล้วนับตั้งแต่ยุค 90’s


Photo : www.zimbio.com

ไม่มีใครคาดคิดว่าการเข้ามาของโค้ชหนุ่มใหญ่ไฟแรง ณ ขณะนั้นจะสร้างความเปลี่ยนแปลงอะไรได้ แต่มันก็เกิดขึ้นแล้ว ทีม Virginia Cavaliers สามารถเข้าสู่รอบ 16 ทีมสุดท้าย ในศึกบาสเกตบอลชิงแชมป์ระดับมหาวิทยาลัยของสหรัฐอเมริกา หรือ “NCAA March Madness” (ฉายาดังกล่าวได้มาจากที่การแข่งขันนี้จะแข่งกันในช่วงกลางเดือนมีนาคมถึงต้นเดือนเมษายนของทุกปี ทำให้ทีมที่เข้าแข่งขันต้องเจอกับโปรแกรมที่อัดแน่น แข่งแบบน็อกเอาต์นัดเดียวรู้ผลภายในเวลาเพียง 2 สัปดาห์ จนเกิดเหตุพลิกล็อกอยู่บ่อยๆ) ได้ในปี 2014 ซึ่งครั้งล่าสุดที่พวกเขาสามารถทำได้ต้องย้อนไปไกลถึงปี 1995 หรือเกือบ 20 ปีที่แล้ว

“เขา (โทนี่ เบนเน็ตต์) สร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับชีวิตพวกเราอย่างเห็นได้ชัด ไม่ใช่แค่ในเกมบาสเกตบอล” 

“เขามีความเป็นผู้นำที่แตกต่างจากคนอื่น มีไม่กี่คนหรอกที่จะเป็นได้อย่างเขา” รอน ซานเชส อดีตผู้ช่วยเฮดโค้ชทีม Virginia Cavaliers กล่าวกับสื่อ The Athletic


Photo : www.reviewjournal.com

สิ่งสำคัญที่ เบนเน็ตต์ ใช้สร้างทีม Virginia Cavaliers ให้กลับมาเกิดใหม่ได้คือหลักจิตวิทยา เขาดูแลนักกีฬาทุกคนเหมือนคนในครอบครัว สร้างความเชื่อมั่นให้พวกเขา นอกจากนี้ ยังมีหลักการสำคัญที่ เบนเน็ตต์ ยึดถือมาเสมอ คือ 

“โปรแกรมการสอนของผมต้องมีสิ่งเหล่านี้ หนึ่งคือความอ่อนน้อมถ่อมตน รู้จักตัวเองว่าเป็นใคร สองคือความรักที่อบอุ่น สามคือความสามัคคี ต้องไม่มีการแบ่งแยกกันภายในทีม สี่คือการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน และห้าคือหัวใจที่เต็มเปี่ยมด้วยความรู้สึกขอบคุณ”

นอกจากนั้นเบนเน็ตต์ยังนำแทคติกรูปแบบการป้องกันแบบ “แพคไลน์” ที่คุณพ่อของเขาเป็นคนคิดค้นขึ้นมาปรับใช้ให้เข้ากับสไตล์การเล่นของทีม Virginia Cavaliers ราวกับเป็นมรดกสืบทอดที่คุณพ่อมอบเป็นของขวัญให้กับลูกชาย


Photo : www.wvtf.org

หลังจากเข้าสู่รอบ 16 ทีมสุดท้ายของ March Madness ได้ในปี 2014 ในปี 2016 Virginia Cavaliers ก็ไปได้ไกลกว่าเดิมที่รอบ 8 ทีมสุดท้าย อย่างไรก็ตามทุกอย่างก็ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ เพราะในปี 2018 ทีมของพวกเขาก็พลิกล็อกตกรอบรอบแรกของสายใต้ (NCAA แบ่งสายการแข่งขันของ March Madness เป็น 4 สาย ใต้, กลาง-ตะวันตก หรือ มิดเวสท์, ตะวันตก และตะวันออก) อย่างไม่น่าเชื่อ โดยแพ้ให้กับทีม UMBC Retrievers จากมหาวิทยาลัย University of Maryland ทั้งๆ ที่ Virginia Cavaliers ถูกจัดให้เป็นเต็ง 1 ของสายใต้ แถมยังเป็นเต็ง 1 จากทั้งประเทศ ส่วน UMBC Retrievers เป็นทีมเต็ง 16 (ลำดับสุดท้าย) ของสายเดียวกัน

ทุกอย่างที่ เบนเน็ตต์ สร้างมาพังทลายลงแล้วหรือเปล่า?


Photo : www.sbnation.com

“พวกเราพูดถึงความศรัทธาในชัยชนะอยู่เสมอ และเด็กๆ ของเราก็เต็มเปี่ยมไปด้วยความศรัทธา” เบนเน็ตต์ กล่าว และนั่นคือคำตอบว่าต่อให้พวกเขาเผชิญกับสถานการณ์ที่เลวร้าย ก็จะไม่มีการยอมแพ้โดยเด็ดขาด 

หลังจากความพ่ายแพ้ครั้งใหญ่ เบนเน็ตต์ บอกกับลูกทีมอยู่เสมอว่า อย่าพยายามหนีความจริง สถิติที่เราแพ้นั้นแน่นอนว่ามันจะถูกจารึกบนหน้ากระดาษไปตลอดกาล เราทำอะไรไม่ได้ สิ่งเดียวที่เราทำได้คือมองไปข้างหน้าเท่านั้น จงจดจำความพ่ายแพ้ครั้งนี้ไว้ แต่ไม่ต้องแบกมันไว้ในสมอง

หลังจากผ่านพ้นฤดูกาลที่เลวร้าย ในปีถัดมาสิ่งที่ไม่น่าเชื่อก็เกิดขึ้น เมื่อทีม Virginia Cavaliers ที่เต็มเปี่ยมด้วยจิตใจที่อยากลบล้างความผิดพลาด โชว์ผลงานได้อย่างยอดเยี่ยม เอาชนะคู่ต่อสู้ได้ทีมแล้วทีมเล่าจนกระทั่งเข้าสู่รอบ 4 ทีมสุดท้าย หรือ “Final Four” ได้สำเร็จ และมันคือผลงานที่ดีที่สุดในรอบ 35 ปี เพราะครั้งล่าสุดที่ Virginia Cavaliers มาไกลขนาดนี้ต้องย้อนกลับไปเมื่อปี 1984

แต่นั่นยังไม่ใช่ส่วนที่ดีที่สุด เพราะบทสุดท้ายของเรื่องราวนี้ Virginia Cavaliers สามารถคว้าแชมป์ NCAA ได้สำเร็จเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์นับตั้งแต่ก่อตั้งเมื่อปี 1905 โดยการเอาชนะทีม Texas Tech Red Raiders ไปได้อย่างเร้าใจในช่วงต่อเวลาพิเศษด้วยสกอร์ 85-73 


Photo : www.si.com

“นี่คือสิ่งที่เราต้องการ เด็กหนุ่มของเราทุ่มเทเต็มที่เพื่อคว้าแชมป์ และเราทำได้ในที่สุด เราคือแชมป์ ผมรู้สึกขอบคุณมากๆ มันคือเรื่องราวที่ยอดเยี่ยม”

“และผมจะกล่าวแบบลำเอียงเลยว่า นี่คือเรื่องราวที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในวงการกีฬา” เบนเน็ตต์กล่าวหลังได้ลิ้มรสชัยชนะอันหอมหวาน


Photo : www.pbs.org

เชื่อเหลือเกินว่าเรื่องราวของทีม Virginia Cavaliers ในฤดูกาล 2018-19 จะต้องกลายเป็นตำนานเล่าขานไปอีกหลายชั่วอายุคน และด้วยผลงานอันยอดเยี่ยมนี้ทำให้หลังจากคว้าแชมป์ได้ไม่นาน เบนเน็ตต์ ก็ถูกเรียกเข้าพบโดยอธิการบดีมหาวิทยาลัย University of Virginia

ข้อเสนอที่ปฏิเสธได้

เมื่อทำสิ่งยิ่งใหญ่ได้สำเร็จ ก็ย่อมมีรางวัลตอบแทนเสมอ เรื่องราวของ เบนเน็ตต์ เองก็เช่นเดียวกัน หลังจากพาทีมบาสเกตบอล Virginia Cavaliers สร้างประวัติศาสตร์ได้อย่างยิ่งใหญ่ รางวัลที่เขาได้รับคือสัญญาฉบับใหม่ที่มีมูลค่ารวมกว่า 5.2 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ต่อปี โดย จิม ไรอัน อธิการบดี และ คาร์ลา วิลเลี่ยมส์ ผู้อำนวยการฝ่ายกีฬา ซึ่งเป็น 2 ผู้บริหารแห่งมหาวิทยาลัยนำมาเสนอให้เขาถึงที่


Photo : bustingbrackets.com

“ผมมีมากพอแล้ว” คำตอบสั้นๆ ของเบนเน็ตต์ที่ทำให้ฝ่ายตรงข้ามฉงนไม่ใช่น้อย

“จิม ไรอัน กับ คาร์ลา วิลเลี่ยมส์ พวกเขาคือผู้บริหารที่ยอดเยี่ยม พวกเขาได้เสนอสัญญาฉบับใหม่ให้กับผม แต่ผมตอบพวกเขาไปว่าผมมีสัญญาที่ดีมากอยู่แล้ว” 

“ผมอยากให้นำเงินที่จะให้กับผมนำไปพัฒนาส่วนต่างๆ ด้านกีฬาของมหาวิทยาลัยมากกว่า นั่นคือความปรารถนาของผม” เบนเน็ตต์เผยเรื่องนี้กับ CNBC

มูลค่าสัญญาปัจจุบัน เมื่อรวมกับโบนัสต่างๆ จะทำให้ เบนเน็ตต์ มีรายรับสูงถึงปีละ 4.15 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (ประมาณ 124 ล้านบาท) แล้วก็ตาม ดังนั้นด้วยจำนวนเงินขนาดนี้ เบนเน็ตต์ จึงมีชีวิตที่ค่อนข้างสุขสบาย ไม่ขาดเหลืออะไร แม้ในโลกนี้ยังมีคนอีกมากมายที่ร่ำรวยกว่าเขา และยังต้องการเงินเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ แต่แนวคิดเหล่านั้นใช้ไม่ได้กับผู้ชายที่ชื่อ โทนี่ เบนเน็ตต์

“นี่เป็นเรื่องที่แทบไม่เคยเกิดขึ้นเลยในวงการนี้” 

“การตัดสินใจของโทนี่ที่บอกปัดสัญญาฉบับใหม่ของเรา ผมไม่สามารถอธิบายความเป็นผู้นำและหัวใจอันยิ่งใหญ่ในฐานะมนุษย์ของเขาได้เลย โทนี่คือหนึ่งในคนที่เสียสละที่สุดเท่าที่ผมเคยพบเจอ ผมหวังว่าเขาจะอยู่กับ University of Virginia ไปอีกนาน”

“ผมรู้ว่าเขาไม่ต้องการคำยกย่อง แต่ผมแค่อยากขอบคุณเขาจริงๆ” จิม ไรอัน อธิการบดี University of Virginia เผยกับ Virginia News


Photo : cbbtoday.com

การปฏิเสธสัญญาฉบับใหม่กลายเป็นข่าวใหญ่ที่สื่อหลายสำนักให้ความสนใจ ทุกคนต่างอยากทราบเหตุผลของการตัดสินใจเช่นนี้ นอกจากนั้นก็มีการเขียนสกู๊ปชื่นชมยกย่องหัวจิตหัวใจของผู้ชายที่ชื่อ โทนี่ เบนเน็ตต์ อย่างไรก็ตามนี่ไม่ใช่สิ่งที่โค้ชหนุ่มต้องการเลยแม้แต่น้อย 

เขาไม่อยากได้รับคำชื่นชม ตรงกันข้ามเขาเป็นคนที่ค่อนข้างต่อต้านการยกยอเสียด้วยซ้ำ ถึงขาดที่ว่าสำนักข่าว The Athletic เคยต้องออกมากล่าวขอโทษที่มอบรางวัล “บุคคลแห่งปีในวงการบาสเกตบอล” ให้กับเขา ดังนั้นเบนเน็ตต์จึงไม่รอช้า รีบออกมาอธิบายถึงเหตุผลดังกล่าว และชี้แจงว่ามันไม่ได้เป็นอะไรที่ยิ่งใหญ่เลย เป็นเพียงแค่เหตุผลธรรมดาๆ เท่านั้น


Photo : www.richmond.com

“ผมแค่รู้สึกสงบและพอใจอย่างมากในสิ่งที่เป็นอยู่ ไม่ว่าจะเรื่องบาสเกตบอล เรื่องมหาวิทยาลัย ผมชอบที่จะอยู่ที่ University of Virginia เมื่อคุณเจอสถานที่ที่เหมาะกับคุณ ได้ทำในสิ่งที่ตัวเองรัก ทุกคนรักคุณ ให้การสนับสนุนคุณ นั่นคือความสุข คุณอย่าทำลายความสุขนั้นทิ้งไปเด็ดขาด”

“แน่นอนว่ามีโอกาสมากมายเข้ามา แต่ผมรักที่นี่ รักบาสเกตบอลมหาวิทยาลัย รักที่มหาวิทยาลัยสนับสนุนผม รักที่ทุกคนในทีมร่วมแรงร่วมใจกัน มันคือการเดินทาง ใช่ ... มันยาก แต่ผมรักจะอยู่ที่นี่ และสร้างมันต่อไป”

“ผมมีทุกอย่างมากกว่าที่ผมต้องการแล้ว ผมมีความสุขมากกว่าที่ผมสมควรจะได้รับด้วยซ้ำ” นี่แหละคือเหตุผลอันเรียบง่ายในสไตล์ของ โทนี่ เบนเน็ตต์

ความสุขของการเป็นผู้ให้

นอกจากจะการปฏิเสธสัญญาฉบับใหม่ที่มีมูลค่ารวมมากกว่า 5 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยต้องการให้นำเงินส่วนดังกล่าวไปพัฒนาด้านกีฬาของมหาวิทยาลัยแล้ว เบนเน็ตต์ยังทำสิ่งที่ยิ่งใหญ่กว่านั้นโดยการบริจาคเงินส่วนตัวอีกกว่า 5 แสนเหรียญสหรัฐฯ (ประมาณ 15 ล้านบาท) เพื่อริเริ่มโครงการ “Center for Citizen Leaders and Sports Ethics” ซึ่งมีจุดประสงค์เพื่อพัฒนาและสร้างอาชีพให้กับเหล่าอดีตนักกีฬาหลังจากที่พวกเขาสิ้นสุดเส้นทางนักกีฬาอาชีพแล้ว


Photo : alchetron.com

“ผมกับลอร่า (ภรรยา) มักจะพูดคุยกันเสมอว่าเรามีทุกอย่างสมบูรณ์พร้อมแล้ว ดังนั้นมีอะไรบ้างที่เราสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับสังคมได้” เบนเน็ตต์เผยถึงจุดเริ่มต้นของไอเดียดังกล่าว หลังจากนั้นเขาก็ตระหนักได้ว่ามีคำถามหนึ่งที่เขามักจะได้รับจากอดีตลูกศิษย์เสมอคือ

“โค้ชครับ ช่วยผมด้วยครับ”

นั่นทำให้เบนเน็ตต์ตระหนักได้ว่า ปัญหาการไม่มีงานทำหรือขาดทักษะในการประกอบอาชีพต่างๆ คือปัญหาสำคัญที่เกิดขึ้นกับเหล่านักกีฬา เพราะบรรดานักกีฬาในช่วงวัยเรียนนั้นมักจะเมินเฉยต่อการเรียน และทุ่มเทให้กับกีฬา หวังจะใช้มันเลี้ยงชีพ โดยลืมคิดไปว่ามีแค่ส่วนน้อยเท่านั้นที่จะประสบความสำเร็จในเส้นทางดังกล่าว พอให้มีเงินเหลือกินเหลือใช้ทั้งชีวิต

“ด้วยปัญหาเหล่านี้ ผมจึงอยากมอบโอกาสให้พวกเขา”

“ไม่ว่าคุณจะได้เป็นนักกีฬาอาชีพหรือไม่ แต่ 15 ปีหลังจากนั้นทุกอย่างก็จะจบลง สามส่วนสี่ของชีวิตนั้นอยู่นอกสนามแข่งขัน พวกเขาต้องมีงานทำเพื่อตัวเองและครอบครัว” เบนเน็ตต์เผยกับ Virginia News

“เขาไม่ใช่แค่โค้ชบาสเกตบอล แต่เขามอบบทเรียนชีวิตให้กับเราด้วย” อดีตลูกศิษย์ของเบนเน็ตต์คนหนึ่ง ที่ได้เข้าร่วมโครงการ Center for Citizen Leaders and Sports Ethics กล่าวขอบคุณโค้ชในดวงใจของเขา


Photo : www.cbssports.com

ปัจจุบัน โทนี่ เบนเน็ตต์ หนุ่มใหญ่วัย 50 ปี หลังจากเดินทางค้นหาชีวิตมาอย่างยาวนาน ดูเหมือนว่าในที่สุดเขาจะค้นพบปลายทางแห่งความสุขของตัวเองแล้ว ซึ่งสำหรับเขาคำตอบของคำถาม “อะไรคือสิ่งสำคัญที่สุดในชีวิต?” ที่ดูเหมือนจะซับซ้อนกลับเป็นอะไรที่เรียบง่ายอย่างไม่น่าเชื่อ เบนเน็ตต์ไม่ได้พูดออกมาตรงๆ หรอก แต่ถ้าสรุปจากเรื่องราวและสิ่งที่เขาทำมาตลอดชีวิต คำตอบก็คงหนีไม่พ้นการอยู่ในที่ที่ตัวเองมีความสุข และเมื่อตัวเองมีทุกอย่างเพียงพอแล้วก็แบ่งปันให้คนอื่น ง่ายๆ แค่นั้นเอง

“ป่วยการที่จะหาคำตอบว่าเขาทำแบบนี้ไปเพื่ออะไร ก็เพราะเขาเป็นของเขาแบบนี้แหละ เขาคือคนที่ไม่อยากเป็นจุดสนใจที่สุด แต่ดูสิ่งที่เขาทำสิ มันยิ่งใหญ่ สวยงามขนาดนี้ จะห้ามไม่ให้คนอื่นสนใจได้ยังไง”

“เมื่อเขาเสร็จสิ้นภารกิจที่เวอร์จิเนีย เชื่อเหลือเกินว่าผู้คนจะจดจำเขา และไม่ใช่แค่ในฐานะโค้ชบาสเกตบอลด้วย” รอน ซานเชส อดีตโค้ช Virginia Cavaliers และเพื่อนสนิทของ เบนเน็ตต์ กล่าวทิ้งท้าย 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook