จิตวิญญาณแห่งซาฟารี : ภารกิจดัดแปลง "Porsche 911" รุ่นเก๋า สู่รถลุยไปได้ทุกที่

จิตวิญญาณแห่งซาฟารี : ภารกิจดัดแปลง "Porsche 911" รุ่นเก๋า สู่รถลุยไปได้ทุกที่

จิตวิญญาณแห่งซาฟารี : ภารกิจดัดแปลง "Porsche 911" รุ่นเก๋า สู่รถลุยไปได้ทุกที่
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

"บางครั้งคนเราก็ไม่ได้โตขึ้น เพราะของเล่นของพวกเรานับวันจะยิ่งชิ้นใหญ่และแพงขึ้นเรื่อยๆ" ถือเป็นประโยคที่ใช้ได้เสมอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนที่ชื่นชอบใน "รถยนต์" จะยิ่งเข้าใจเป็นอย่างดี

เพราะจากในวัยเยาว์ที่มีของเล่นเป็นรถโมเดลไม่ก็รถเด็ก เมื่อเติบใหญ่ ก็ต้องขยับขยายสู่รถจริงๆ และยิ่งมีทุนทรัพย์ ก็ยิ่งกล้าที่จะลงเงินกับของเล่นชิ้นนี้เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ไม่ว่าจะกับตัวรถ หรือการตกแต่งเพิ่มเติมกับรถคันนั้น

ซึ่งการโมดิฟาย ตกแต่ง ดัดแปลงนี้เอง คือสิ่งที่สะท้อนถึงจินตนาการและความชื่นชอบของแต่ละคนอย่างแท้จริง บางคนอาจชอบรถเดิมๆ บางคนชื่นชอบการดัดแปลงสไตล์รถแข่ง ขณะที่บางคนอาจจะชื่นชอบการแต่งสไตล์ออฟโรดเพื่อลุยเส้นทางอันสมบุกสมบัน

 

แม้ไอเดียในการแต่งรถจะเป็นไปได้อย่างไร้ขอบเขตก็ตาม แต่คงปฏิเสธไม่ได้ว่า รถบางคันก็มี "Stereotype" หรือภาพจำในแบบที่ชัดเจนโดดเด่นเป็นพิเศษ อย่าง 911 รถระดับตำนานจากค่าย Porsche ภาพที่ทุกคนพอจะนึกออก คือการเป็นรถสายคลาสสิก โฉบเฉี่ยวบนถนน ไม่ก็เป็นรถแข่งในสนามทางเรียบ

และนั่นทำให้ภารกิจดัดแปลง Porsche 911 สู่การเป็นรถที่ลุยไปได้ทุกที่ในสไตล์ซาฟารี จึงเป็นอะไรที่มีความพิเศษ โดดเด่นกว่าทั่วไปอย่างไม่ต้องสงสัย...

เจ้าชายกบบนสนามวิบาก

กล่าวมาถึงตรงนี้ หลายคนคงนึกสงสัยว่า 911 กับการโมดิฟายสไตล์ซาฟารี มันเป็นไปได้ด้วยหรือ? เพราะอย่างที่เหล่าคนรักรถทราบกัน DNA ของรถที่ได้รับการขนานนามว่า "เจ้าชายกบ" นั้นจะเด่นชัดกับเรื่องบนถนน หรือสนามแข่งทางเรียบมากกว่า

 1

อย่างไรก็ตาม บนหน้าประวัติศาสตร์ 911 ที่ใช้ลุยบนสนามแข่งทางวิบากนั้นมีอยู่จริงๆ แถมยังประสบความสำเร็จเช่นเดียวกับสนามทางเรียบอีกด้วย

อันที่จริง ในอดีตที่ผ่านมา Porsche ก็ได้ส่ง 911 ยนตรกรรมแห่งความภาคภูมิใจลงสนามแข่งแรลลี่อยู่บ่อยครั้ง แม้ผลลัพธ์ความสำเร็จจะยังไม่ชัดเจนนัก กระทั่งในปี 1984 พวกเขาตัดสินใจที่จะดัดแปลง 911 เพื่อลงสนาม ดาการ์ แรลลี่ การแข่งขันรถวิบากบนเส้นทางที่โหดที่สุดในโลก ด้วยรถการติดตั้งระบบขับเคลื่อน 4 ล้อลงในบอดี้นี้เป็นครั้งแรก หลังใช้ระบบขับเคลื่อนล้อหลังมาโดยตลอด พร้อมกับโมดิฟายเครื่องยนต์บ็อกเซอร์ สูบนอน 6 สูบ เอกลักษณ์ประจำค่ายให้มีกำลังเพิ่มเป็น 300 แรงม้า และเสริมความแข็งแกร่งในส่วนต่างๆ ของรถ เพื่อให้เหมาะสมกับการลุยบนทางวิบาก

 2

911 เวอร์ชั่นขับเคลื่อน 4 ล้อ ซึ่ง Porsche ตั้งชื่อให้ใหม่ว่า 953 ประสบความสำเร็จใน ดาการ์ แรลลี่ ปี 1984 เส้นทาง ปารีส (ฝรั่งเศส) - แอลเจียร์ (แอลจีเรีย) - ดาการ์ (เซเนกัล) อย่างงดงาม เมื่อ เรเน เมทจ์ (René Metge) นักแข่งชาวฝรั่งเศส สามารถคว้าแชมป์โอเวอร์ออลของรายการมาครอง

ผลงานความสำเร็จในแรลลี่ที่หฤโหดที่สุดในโลก ได้กลายเป็นจุดเริ่มต้นของการที่ Porsche ใส่ระบบขับเคลื่อน 4 ล้อให้กับรถรุ่นต่างๆ ในเวลาต่อมา โดยมี 959 หนึ่งในไฮเปอร์คาร์ยุคแรกๆ ของโลกเป็นรุ่นแรก ตามมาด้วย 911 เจเนเรชั่นต่อมาในรหัสตัวถัง 964 กระทั่งทุกวันนี้ แทบทุกโมเดลของ Porsche จะมีรุ่นขับเคลื่อน 4 ล้อเป็นออปชั่นให้ลูกค้ากระเป๋าหนักได้เลือกอยู่เสมอ

สร้างรถที่ "ใช้งานที่ไหนก็ได้"

แม้กาลเวลาผ่านไป จะมีรถรุ่นใหม่ๆ ที่มาพร้อมกับเทคโนโลยีทันสมัยให้เลือกซื้อหา แต่สำหรับหลายคน ความคลาสสิก คือเสน่ห์ที่ทำให้พวกเขาเลือกที่จะมองหารถรุ่นเก๋า เพื่อนำมาตกแต่ง โมดิฟายให้เป็นสไตล์ของตัวเอง

 3

หนึ่งในนั้นคือ Kelly Moss Road And Race หรือ KMR สำนักแต่งรถในรัฐวิสคอนซิน ประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งมีประสบการณ์ทั้งการโมดิฟายรถสำหรับวิ่งบนถนน และสนามแข่งอย่างยาวนาน ทว่าความชื่นชอบของพวกเขาไม่จบเพียงเท่านั้น เพราะพวกเขาเชื่อว่า รถสปอร์ตสุดคลาสสิกอย่าง Porsche 911 เป็นรถที่ "สามารถใช้งานที่ไหนก็ได้" ไม่เว้นแม้แต่สภาพทางวิบากอย่างป่าซาฟารี

นั่นคือที่มาของ "Safari" โปรเจ็คท์สุดคลั่ง ที่จับเอา 911 รุ่นคลาสสิก มาดัดแปลงขนานใหญ่เพื่อให้เหมาะกับการตะลุยทุกสภาพถนน โดยก่อนหน้านี้พวกเขาเคยทำมาแล้ว 3 คัน ประกอบด้วย Porsche 911 "Safari RS", Porsche 964 C4 "Safari RS Version 2.0" และ Porsche 964 Rally Car "VICCI Safari 4"

ด้วยประสบการณ์และฝีมือที่มากขึ้น ที่สุดแล้ว ทาง KMR จึงตัดสินใจเข็นโปรเจ็คท์ Safari ออกมาเป็นคันที่ 4 ซึ่งถือเป็นหนึ่งในผลงานระดับมาสเตอร์พีซตลอดเท่าที่เคยสร้างมา กับโค้ดเนม "Willy Safari"

จุดเริ่มต้นของโปรเจ็คท์ดังกล่าว เริ่มต้นเมื่อ แอนดี้ คิลโคย์น (Andy Kilcoyne) ผู้อำนวยการฝ่ายปฏิบัติการของ KMS ได้ทำความรู้จักกับ วิล โรกเก้ (Will Roegge) ช่างภาพและผู้กำกับภาพยนตร์สารคดีรถ ในตอนที่แอนดี้นำ VICCI Safari 4 ไปถ่ายทำคลิปลงยูทูบช่อง Hoonigan... หลังจากนั้นไม่กี่เดือน วิลตัดสินใจประกาศขาย Porsche 911 3.2 Carrera รุ่นปี 1984 ของเขา ทำให้แอนดี้ตัดสินใจตกลงซื้อรถจากเพื่อนใหม่คนนี้แบบไม่ลังเลเมื่อเดือนมีนาคม 2018 

 4

และด้วยความประทับใจจากตอนที่ได้ขับ VICCI Safari 4 ซึ่งสามารถลุยได้ทุกสภาพถนน ไม่ว่าจะเป็นทางเรียบ ทางฝุ่น หรือแม้แต่บนแผ่นน้ำแข็งเหมือนอย่างตอนที่ถ่ายทำคลิปกับ Hoonigan แอนดี้จึงไม่ลังเลที่จะส่งรถใหม่ของตัวเองเข้าสำนักแต่ง เพื่อสร้างรถในโปรเจ็คท์ Safari คันใหม่ทันที ดังที่เจ้าตัวเผยว่า "ผมใช้เวลาไม่นานเลยกับการตัดสินใจทำรถคันนี้ให้เป็นสไตล์ซาฟารี คือถ้าคุณเคยลองขับรถแบบนี้สักครั้ง ก็จะเข้าใจเอง"

ทว่าด้วยอายุอานามของรถที่มากกว่า 30 ปี แน่นอนว่าหลายสิ่งย่อมเสื่อมถอยไปตามกาลเวลา การสร้างรถคันนี้ให้มีคุณสมบัติที่เอาไว้ลุยทุกสภาพถนนได้อย่างฉลุย จึงย่อมต้องมีการดูแลและปรับปรุงเป็นพิเศษ ซึ่งหากจะเรียกว่า "รื้อแล้วสร้างใหม่ทั้งคัน" ก็ไม่ผิดอะไร

 5

สิ่งแรกที่ต้องทำ คือการเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับตัวรถ ทาง KMR ตัดสินใจรื้อรถทุกจุดให้เหลือแต่เพียงตัวถังเปล่าๆ สปอตตัวถังใหม่ทั้งหมด แล้วจัดการเชื่อมโรลเคจทั้งในส่วนของห้องโดยสาร และส่วนหน้าซึ่งว่างเปล่าจากการที่ 911 วางเครื่องยนต์ด้านหลังของตัวรถ ไม่เพียงเท่านั้น ยังขยายซุ้มล้อทั้ง 4 ล้อให้ใหญ่ขึ้น เพื่อรองรับกับล้อขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 17 นิ้ว ซึ่งเมื่อใส่ยางแบบ All-Terrain ลุยได้ทุกสภาพถนนแล้ว ก็จะมีขนาดใหญ่โตรวมกันถึง 31 นิ้ว นอกจากนี้ ยังเพิ่มเติมหลอดไฟ LED ตามจุดต่างๆ ทั้งกันชนหน้า-หลัง และหลังคา เพื่อพร้อมส่องสว่างในที่มืดอีกด้วย

เมื่อพูดถึงรถแรลลี่หรือซาฟารี สิ่งหนึ่งที่สำคัญไม่ยิ่งหย่อนกว่ากันคือ ช่วงล่าง ด้วยเหตุดังกล่าว ทาง KMR จึงต้องพิถีพินกับการเลือกอุปกรณ์ที่ใช้เป็นพิเศษ โดยใช้โช้คอัพของ EXE-TC บวกกับสปริงของ Eibach รวมถึงสร้างข้อต่อ จุดเชื่อมต่างๆ ขึ้นใหม่ตามสเปคของ KMR เองเพื่อรองรับ เช่นเดียวกับระบบเบรกจาก Brembo

 6

จบในส่วนของช่วงล่างกับเบรกไปแล้ว เครื่องยนต์และระบบส่งกำลัง ก็เป็นอีกสิ่งสำคัญ โดย KMR เลือกที่จะโมดิฟายเครื่องยนต์บ็อกเซอร์ 6 สูบ 3.2 ลิตรที่ติดมากับตัวรถ ด้วยการขยายความจุเป็น 3.4 ลิตร เสริมด้วยอุปกรณ์เพิ่มสมรรถนะ จนได้กำลังเพิ่มเป็น 340 แรงม้า โดยที่ไม่เสริมระบบอัดอากาศอย่าง เทอร์โบ หรือ ซูเปอร์ชาร์จเจอร์ เข้าไป พร้อมสั่งชุดเกียร์พิเศษจาก BRM เพื่อถ่ายทอดม้าทุกตัวให้ลงพื้น อย่างไรก็ตาม สิ่งที่น่าสังเกตคือ KMR เลือกที่จะคงระบบขับเคลื่อนล้อหลังซึ่งติดมากับรถเอาไว้ ไม่ได้ดัดแปลงใส่ระบบขับเคลื่อน 4 ล้อแต่อย่างใด

 7

แม้จะทำรถให้พร้อมลุยแค่ไหนก็ตาม ถึงกระนั้น ความสะดวกสบายก็ต้องคงไว้ นั่นทำให้ Willy Safari ยังคงมีอุปกรณ์อำนวจความสะดวกครบครัน ทั้งระบบแอร์กับฮีตเตอร์ และเครื่องเสียง ถือได้ว่า 911 สเปคลุยซาฟารีคันนี้ครบเครื่อง ไม่ว่าจะลุยสภาพถนนโหดๆ ไปพร้อมกับการหาความสุนทรีย์ในการขับขี่ รถคันนี้ก็พร้อมบริการทุกรูปแบบอย่างแท้จริง

ผลลัพธ์สมดั่งตั้งใจ

การสร้างรถเพื่อวัตถุประสงค์ที่สุดขั้ว ใช้ของที่ดีที่สุด และละเอียดละออทุกขั้นตอน ไม่แปลกที่เรื่องเช่นนี้ต้องใช้เวลาและงบประมาณไม่น้อย โดยสำหรับโปรเจ็คท์ Willy Safari นั้นต้องใช้เวลาทั้งโปรเจ็คท์ราว 10 เดือน และงบประมาณมากกว่า 300,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ (ราว 9 ล้านบาท)

 8

แต่ผลลัพธ์สุดท้ายของมัน ถือได้ว่า "สมดั่งตั้งใจ" เพราะไม่ว่าจะเป็นสภาพใด จะหนาวระดับหิมะตก อุณหภูมิติดลบเหมือนในรัฐวิสคอนซิน, เส้นทางบุกป่าฝ่าดงในรัฐเท็กซัส หรือทุ่งอันแห้งแล้งในรัฐแคลิฟอร์เนีย Porsche 911 3.2 Carrera ที่ได้รับการโมดิฟายจาก KMR มาเต็มเหยียดคันนี้ก็ลุยได้หมด

ไม่เพียงเท่านั้น การเสริมความแข็งแกร่งในทุกส่วนของรถ ยังช่วยให้ Willy Safari สามารถทำในสิ่งที่หลายคนไม่คิดว่ารถอย่าง Porsche จะทำได้ โดยแร็คหลังคาที่เสริมขึ้นมา สามารถรับน้ำหนักของเตนท์ทั้งหลัง แม้กระทั่งรถแข่ง Porsche 911 GT3 Cup รหัสตัวถัง 991 ทั้งคัน ก็รับได้แบบสบายๆ

 9

อย่างไรก็ตาม การทำรถเพื่อให้ตัวเองชื่นชมอย่างเดียว ดูจะไม่ใช่วิถีของ KMR ... เนื่องจากสำนักแต่งนี้ มีรถในโปรเจ็คท์ Safari อยู่ก่อนหน้านี้แล้วหลายคัน รวมถึงเพื่อมีทุนต่อยอดสำหรับโปรเจ็คท์ต่อๆ ไป แอนดี้ เจ้าของรถจึงตัดสินใจ ยอมปล่อย Willy Safari 911 ฉบับแต่งลุยเต็มเหนี่ยวคันนี้ด้วยราคา 375,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือราว 11.5 ล้านบาท เรียกได้ว่าแทบไม่บวกกำไรจากราคารถต้นแบบและของแต่งเลยแม้แต่น้อย

ด้วยการโมดิฟายที่ทำมาทุกเม็ด แสนคุ้มค่าเมื่อเทียบกับราคา จึงไม่แปลกที่รถคันนี้จะมีผู้ซื้อไปในเวลาอันรวดเร็ว แถมเจ้าของคนใหม่ยังไม่ธรรมดา เพราะเขาคือ จิมมี่ แกรห์ม (Jimmy Graham) ปีกในคนดังของ กรีนเบย์ แพ็คเกอร์ส ในศึกอเมริกันฟุตบอล NFL... ด้วยเครดิตของผู้ซื้อคนใหม่ ยิ่งทำให้ KMR กลายเป็นที่รู้จักของเหล่าคนรักรถยิ่งขึ้นไปอีก

มาถึงตรงนี้ หลายคนคงคิดว่า การจะเอารถแพงๆ มาแต่งแบบจัดเต็มเช่นนี้คงจะเกินกำลังทรัพย์ แต่อย่างที่กล่าวไปข้างต้นว่า การแต่งรถนั้นคือสิ่งที่สะท้อนถึงจินตนาการอันไม่จำกัดของแต่ละคน เรื่องราวของ Kelly Moss Road And Race กับโปรเจ็คท์ดัดแปลง Porsche 911 ให้เป็นรถสายลุยจึงน่าจะเป็นแรงบันดาลให้ให้เหล่าคนรักรถได้จับยานพาหนะคู่ใจมาแต่งเพื่อสะท้อนตัวตน

และบางที ผลงานในการโมดิฟายยังอาจสร้างชื่อเสียง สร้างรายได้ให้กับคุณได้แบบที่ใครต่อใครอาจนึกไม่ถึง ... เพราะหากสิ่งที่คุณทำมีคุณค่า ย่อมมีคนเห็นค่าของมันเสมอ

อัลบั้มภาพ 10 ภาพ

อัลบั้มภาพ 10 ภาพ ของ จิตวิญญาณแห่งซาฟารี : ภารกิจดัดแปลง "Porsche 911" รุ่นเก๋า สู่รถลุยไปได้ทุกที่

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook