"เคมนิทเซอร์ เอฟเซ" : สโมสรฟุตบอลของกลุ่มนีโอ-นาซี ที่โด่งดังเรื่องต่อยตีและเหยียดผิว

"เคมนิทเซอร์ เอฟเซ" : สโมสรฟุตบอลของกลุ่มนีโอ-นาซี ที่โด่งดังเรื่องต่อยตีและเหยียดผิว

"เคมนิทเซอร์ เอฟเซ" : สโมสรฟุตบอลของกลุ่มนีโอ-นาซี ที่โด่งดังเรื่องต่อยตีและเหยียดผิว
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

สโมสรฟุตบอลคือทีมกีฬา ที่มีไว้สร้างความสุขให้กับผู้ชมและกองเชียร์ กับการไล่ล่า คว้าชัยชนะให้กับแฟนบอล

แต่ในบางพื้นที่สโมสรฟุตบอลมีความหมายกับแฟนบอลมากกว่าแค่ทีมกีฬา แต่เป็นพื้นที่ให้แสดงออกตัวตนและความคิดออกมาสู่พื้นที่สาธารณะ

ทางตะวันออกของเยอรมัน มีสโมสรฟุตบอลขนาดเล็กจากลีกา 3 (ลีกลำดับ 3) ชื่อ เคมนิทเซอร์ เอฟเซ เป็นสโมสรที่เป็นพื้นที่ ให้แฟนบอลแสดงจุดยืนความคิดทางการเมือง ซึ่งเป็นสิ่งที่สโมสรแห่งนี้ แสดงออกมาโดยตลอด

ไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่ของฟุตบอลลีกเยอรมัน ที่มีสโมสรซังค์ เพาลี หรือยูนิโอน เบอร์ลิน เป็นสโมสรที่แสดงออกทางการเมือง ในฐานะสโมสรฟุตบอลฝ่ายซ้าย

 

ตรงกันข้ามกับสองสโมสรข้างต้น เคมนิทเซอร์ เอฟเซ คือสโมสรที่ถูกเรียกว่า เป็นทีมฟุตบอลของพวกขวาจัดและนีโอ-นาซี แนวคิดทางการเมืองสุดโต่ง โด่งดังในเรื่องต่อยตี สร้างความวุ่นวาย และการเหยียดผิว ที่ขัดแย้งกับความคิดในโลกฟุตบอลสมัยใหม่

ทีมฟุตบอลที่ล่มสลายด้วยภัยสงคราม

ทีมเคมนิทเซอร์ เอฟซี มีจุดเริ่มต้น ไม่ต่างกับสโมสรฟุตบอลทั่วไป ในภาคพื้นทวีปยุโรป นั่นคือการรวมกลุ่มกันของคนที่รักฟุตบอล...โดยกลุ่มนักศึกษา ประจำเมืองเคมนิทซ์ (Chemnitz) ที่ให้ความสนใจในกีฬาลูกหนัง ได้ตัดสินใจตั้งสโมสร เคมนิทเซอร์ เอสเซ บริทแทนเนีย (Chemnitzer SC Britannia) ในปีค.ศ. 1899

 1

หลังจากนั้นเพียง 1 ปี สโมสรแห่งนี้ถูกเปลี่ยนชื่อเป็น เคมนิทเซอร์ เบเซ (Chemnitzer BC) และเป็นหนึ่งในสโมสรที่ร่วมก่อตั้ง สมาคมฟุตบอลของประเทศเยอรมัน หรือเดเอฟเบ (DFB) อันเป็นชื่อที่คุ้นหูของคอลูกหนังในปัจจุบัน

หากให้พูดถึงความสำเร็จของสโมสรแห่งนี้ คงต้องบอกว่าว่างเปล่า พวกเขาทำได้ดีที่สุด แค่การเป็นรองแชมป์ของการแข่งขันชิงแชมป์โซนภาคกลาง ประจำประเทศเยอรมันเท่านั้น

มิหนำซ้ำ สภาพเศรษฐกิจที่ย่ำแย่ของเยอรมัน อันเป็นผลพวงมาจากความพ่ายแพ้ ในการเปิดศึกสงครามโลกครั้งที่ 1 ยังทำให้เศรษฐกิจของประเทศ ย่ำแย่ถึงขีดสุด และส่งผลกระทบมาถึงสโมสรฟุตบอลด้วยเช่นกัน 

ปี 1933 สโมสรฟุตบอลแห่งนี้ ถูกธนาคารเข้ายึดและควบคุมกิจการ ก่อนที่จะถูกลดบทบาทลงในสังคม หลังจากประเทศเยอรมัน ตัดสินใจเปิดฉากสงครามโลกครั้งที่ 2...นักฟุตบอลถูกเกณฑ์ไปเป็นทหาร ออกเดินทางเพื่อยึดทวีปยุโรป และทิ้งลูกฟุตบอลไว้เบื้องหลัง

สงคราม ไม่เคยนำมาสู่สิ่งดีงาม ความพ่ายแพ้ของเยอรมันในสงครามโลก ทำให้ประเทศถูกควบคุมโดยกลุ่มชาติสัมพันธมิตร อันประกอบไปด้วย สหรัฐอเมริกา, อังกฤษ, ฝรั่งเศส และสหภาพโซเวียต (รัสเซียในปัจจุบัน)

ความวุ่นวายทางการเมือง ไปจนถึงการแย่งชิงผลประโยชน์ในเยอรมัน ทำให้ “กีฬา” กลายเป็นส่วนเกินของสังคม สโมสรเคมนิทเซอร์ เบเซ ถูกยุบอย่างเจ็บปวดในปี ค.ศ. 1945 ตามคำสั่งของชาติสัมพันธมิตร

 2

ไม่ใช่ทุกสโมสร ที่ต้องโชคร้ายแบบเคมนิทเซอร์ เบเซ แต่เนื่องจากเมืองเคมนิทซ์ เป็นหนึ่งในเมืองศูนย์กลางของกองทัพนาซี ในฐานะฐานทัพผลิตเครื่องมืออุปกรณ์ ด้านอิเล็กทรอนิคให้กับกองทัพ รวมถึงเป็นแหล่งน้ำมัน ที่คอยสนับสนุนให้กับนาซี เยอรมันอีกด้วย

ด้วยเหตุผลนี้ ทำให้กองกำลังฝ่ายสัมพันธมิตร ภายใต้การนำของสหภาพโซเวียต จึงเข้าควบคุมเมืองเคมนิทซ์อย่างเข้มงวด เพื่อยึดครองทุกอย่างที่หลงเหลือ จากกองทัพนาซี...ในขณะที่ชาวเมืองกลับต้องทนทุกข์กับสภาวะหลังสงคราม พื้นที่ของเมืองกว่า 41 เปอร์เซ็นต์ กลายเป็นซากปรักหักพัง จากการถูกทิ้งระเบิด ผู้คนมากมายกลายเป็นคนไร้บ้าน ด้วยพิษของสงคราม

ขณะที่สโมสรฟุตบอล หนึ่งเดียวของชาวเมือง ก็ไม่เหลือให้เป็นที่ยึดเหนี่ยวอีกต่อไป

ด้วยจิตวิญญาณของสังคมนิยม

ท่ามกลางความวุ่นวายทางการเมือง และการแบ่งแยกประเทศ ความรักในกีฬาลูกหนังของชาวเคมนิทซ์ ไม่เคยจางหายไปไหน แม้จะต้องก่อตั้งและยุบสโมสร เปลี่ยนชื่อไปมาอยู่หลายครั้ง...กระทั่งในปี 1966 สโมสรฟุตบอลของชาวเมืองเคมนิทซ์ จะถูกตั้งขึ้นอย่างเป็นทางการ ด้วยชื่อสุดแปลกประหลาดว่า เอฟเซ คาร์ล-มาร์กซ์-ชตัดท์ (FC Karl-Marx-Stadt)

 3

ที่ว่าแปลกก็เพราะว่า คาร์ล มาร์กซ์ คือชื่อของนักปรัชญาการเมืองชื่อดังชาวเยอรมัน ผู้ได้รับการยกย่องว่าเป็น “บิดาของการเมืองแบบสังคมนิยม” แนวคิดทางการเมืองแบบสังคมนิยม ล้วนมีอิทธิพลมาจากแนวคิดของผู้ชายคนนี้ทั้งสิ้น

การเอาชื่อของบุคคล มาตั้งเป็นชื่อทีมฟุตบอลดูจะแปลกไม่น้อย สำหรับวงการลูกหนัง...อย่างไรก็ตามที่แปลก อาจจะไม่ใช่แค่การเอาชื่อของคาร์ล มาร์กซ์ มาตั้งเป็นชื่อสโมสร แต่แปลกตั้งแต่เอามาตั้งเป็นชื่อเมืองแล้วต่างหาก

ย้อนกลับไปในปี 1949 เมืองเคมนิทซ์ ถูกแยกออกจากประเทศเยอรมัน มาอยู่กับประเทศเยอรมันตะวันออก ภายใต้การปกครองของสหภาพโซเวียต และท่ามกลางบรรยากาศสงครามครั้งใหม่ อย่างสงครามเย็น ประเทศเยอรมันตะวันออก จึงต้องรับรูปแบบการปกครองแบบคอมมิวนิสต์ ตามลูกพี่ใหญ่โซเวียตอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

เนื่องจากแนวคิดการเมืองแบบคอมมิวนิสต์ ได้รับอิทธิพลมาจากปรัชญาการเมืองจากคาร์ล มาร์กซ์ อยู่พอสมควร ทำให้ในปี 1953 เมืองเคมนิทซ์ถูกเปลี่ยนชื่อเมืองเป็น “คาร์ล-มาร์ก-ชตัดท์” หรือที่แปลเป็นไทยได้ว่า “เมืองของคาร์ล มาร์กซ์”

 4

ไม่ใช่ครั้งแรกที่ชาวเมืองเคมนิตซ์ ต้องถูกอิทธิพลทางการเมืองเข้ามาบังคับ ปรับเปลี่ยนเรื่องราวของเมือง...หากแต่ว่าในครั้งนี้ ไม่เหมือนกับครั้งก่อน การถูกเปลี่ยนชื่อเมือง เป็นเรื่องที่ชาวเมืองเต็มใจยอมรับ

ย้อนไปตั้งแต่ช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 เมืองเคมนิทซ์ ถือเป็นแหล่งรวมคนรักแนวคิดแบบสังคมนิยม ที่ว่ากันว่า ใหญ่ที่สุดในประเทศเยอรมัน ด้วยจำนวนสมาชิกพรรคสังคมนิยมเยอรมัน มากกว่า 10,000 คน 

ชื่อ คาร์ล-มาร์กซ์-ชตัดท์ เป็นเหมือนการเกิดใหม่ของเมืองนี้อีกครั้ง รวมไปถึงสโมสรฟุตบอลประจำเมือง...ท่ามกลางสังคม ที่ปกครองด้วยระบอบเผด็จการคอมมิวนิสต์ ไปจนถึงทีมฟุตบอล สโมสรฟุตบอลหลายทีม ที่ได้รับการสนับสนุนแบบลำเอียง โดยรัฐบาล 

เอฟเซ คาร์ล-มาร์กซ์-ชตัดท์ ทีมของประชาชน ผู้รักสังคมนิยม ผงาดคว้าแชมป์ใหญ่ใบแรกของสโมสร ในฐานะแชมป์ลีกสูงสุดของประเทศเยอรมันตะวันออก ในปี 1967 ประกาศถึงความภูมิใจของสโมสรฟุตบอล ที่มาจากตัวตน และจิตวิญญาณของแฟนบอล

จากสังคมนิยม สู่นีโอ-นาซี

พฤติกรรมและตัวตนของสโมสรฟุตบอล ซึ่งสะท้อนมาจากตัวตนของแฟนบอล อันเป็นภาพสะท้อนจากสังคมรอบตัว ทั้งในแง่ของเศรษฐกิจ และสังคม

 5

สำหรับชาวเมืองคาร์ล-มาร์กซ์-ชตัดท์ หรือเคมนิทซ์ ในช่วงหลายสิบปี พวกเขาต้องอยู่ภายใต้การปกครองแบบเผด็จการ นับตั้งแต่ยุคนาซี จนถึงช่วงเยอรมันตะวันออก ...ชีวิตที่ยากจน ทำให้พวกเขา พยายามหาชีวิตใหม่ที่ดีขึ้น นอกกรอบการเมืองที่ต้องเผชิญอยู่ในชีวิตจริง และหันหน้าเข้าหาแนวคิดสังคมนิยม เดินหน้าด้วยความเชื่อทางการเมืองฝ่ายซ้าย ที่ตรงข้ามแนวคิดเผด็จการ

อย่างไรก็ตาม หลังจากประเทศเยอรมัน กลับมารวมชาติกันอีกครั้ง ในปี 1990 เมืองคาร์ล-มาร์กซ์-ชตัดท์ ถูกเปลี่ยนชื่อกลับ เป็นชื่อเดิม เคมนิทซ์  รวมถึงสโมสรฟุตบอล ที่เปลี่ยนชื่อเป็น เคมนิทเซอร์ เอฟเซ ทุกสิ่งทุกอย่างเริ่มเปลี่ยนไป

สิ่งที่ชาวเยอรมันตะวันออก ต้องพบเจอหลังการรวมประเทศ คือความเหลื่อมล้ำ...ภายใต้การปกครองของเผด็จการ ทำให้เยอรมันตะวันออก ล้าหลังเยอรมันตะวันตกอย่างมาก โดยเฉพาะการพัฒนาด้านเศรษฐกิจ และคุณภาพชีวิตของประชาชน

ชาวตะวันออกต้องจากบ้านและครอบครัว ไปหางานทำในฝั่งตะวันตก เพราะพื้นที่ฝั่งตะวันออก ไม่มีงานที่ให้ค่าตอบแทนที่ดีพอ กับประชาชนในท้องถิ่น 

นอกจากนี้ ชาวเยอรมันตะวันออกอยู่ภายใต้การปกครอบแบบเผด็จการ มายาวนานมากกว่า 50 ปี เมื่อต้องเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งกับสังคมประชาธิปไตย หลายคนไม่สามารถปรับตัว ให้เข้ากับแนวคิดโลกเสรีได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การเปิดรับผู้อพยพ ที่ชาวเยอรมันตะวันออก มองว่าเป็นกลุ่มคนที่เข้ามาแย่งงาน แย่งโอกาสในการทำมาหากินของพวกเขา

ถึงจุดหนึ่ง ที่ชาวเยอรมันตะวันออก รู้สึกว่าชีวิตใหม่ ภายใต้สังคมประชาธิปไตย เริ่มไม่ตอบโจทย์ พวกเขาจึงเริ่มเรียกร้องโหยหาชีวิตเก่าในวันวาน ที่เคยคุ้นชินและเป็นปกติสุขมากกว่านี้ เรียกร้องการกลับมาของแนวคิดฝ่ายขวา แบบนีโอ-นาซี

กลางยุค 90’s สโมสรเคมนิทเซอร์ ได้ให้กำเนิดกลุ่มแฟนบอลที่ชื่อ ฮูนาเเร (HooNaRa) ซึ่งเป็นการรวมกันของคำสามคำ มาจาก Hooligan (ฮูลิแกน), Nazis (นาซี) และ Racists (เหยียดผิว) 

 6

ทั้งสามคำอาจเรียกได้ว่า เป็นคำต้องห้ามของวงการฟุตบอล แต่กลับกลายมาเป็นชื่อของกลุ่มแฟนบอล ที่ประกาศกร้าวว่า จะยืนหยัดแสดงตัวตน ในฐานะฮูลิแกน ผู้สนับสนุนแนวคิดทางการเมืองแบบนีโอ-นาซี ซึ่งชื่นชอบการเหยียดผิวเป็นชีวิตจิตใจ

เวลาผ่านไปไม่นาน กลุ่มฮูนาแร สามารถสร้างชื่อเป็นกลุ่มแฟนบอลเจ้าปัญหา ของประเทศเยอรมัน โดยเฉพาะในเรื่องของการต่อยตีกับแฟนบอลฝ่ายตรงข้าม ไปทั่วประเทศ จนกลายเป็นที่หมายหัวของตำรวจเยอรมัน และมีการไล่ตามจับตัวมาสอบสวน หรือจับเข้าคุกอยู่บ่อยครั้ง

กระนั้นดีกรีความซ่า ของกลุ่มฮูนาแรกลับไม่เคยลดถอยลง พวกเขาได้รับความนิยมอย่างมาก จากเหล่าแฟนบอลของเคมนิทเซอร์ จนในปี 2006 สโมสรตัดสินใจแบนกลุ่มฮูนาแรจากสนามเหย้าของพวกเขาเป็นการชั่วคราว เพราะมองว่าแฟนบอลกลุ่มนี้ สร้างเรื่องเลวร้าย จนภาพลักษณ์ของสโมสรป่นปี้ กลายเป็นสโมสรที่ถูกจดจำว่า เป็นทีมฟุตบอลของพวกนาซีไปเสียแล้ว

ฝ่ายขวาที่สุดโต่ง

นอกจากสร้างความปั่นป่วนในโลกฟุตบอล อีกหนึ่งจุดยืน ที่กลุ่มแฟนบอลเคมนิทเซอร์ส่วนใหญ่ พยายามเรียกร้อง คือการเอาการเมืองฝ่ายขวา หรือแนวคิดแบบอนุรักษ์นิยมสุดโต่ง กลับมาในเยอรมันอีกครั้ง หลังจากตายไป นับตั้งแต่การสิ้นยุคสมัยของนาซีเยอรมัน

 7

เพราะแม้เวลาจะผ่านไปนานเพียงใด ความเจริญของพื้นที่เยอรมันตะวันออกเดิม ไม่เคยเจริญเทียบเท่ากับพื้นที่ฝั่งเยอรมันตะวันตก...ความเหลื่อมล้ำไม่เคยจางหายไปไหน และชาวเยอรมันตะวันออก โดยเฉพาะที่เมืองเคมนิทซ์ ต้องการการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง ที่จะมาช่วยให้ชีวิตของพวกเขาดียิ่งขึ้น

กลุ่มแฟนบอลของเคมนิทเซอร์ จึงกลายเป็นตัวตั้งตัวตี ให้การสนับสนุนพรรค AfD หรือ Alternative for Germany พรรคการเมืองอนุรักษ์นิยมสุดโต่งพรรคแรก นับตั้งแต่สมัยนาซี ด้วยนโยบายต่อต้านผู้อพยพ และชูลัทธิชาตินิยมให้กลับมามีอำนาจในสังคมเยอรมัน

จากผลการเลือกตั้ง นายกรัฐมนตรีของประเทศเยอรมัน ในปี 2017 แคว้นซัคเซิน ซึ่งเป็นแคว้นของเมืองเคมนิทเซอร์ เป็นแคว้นเดียวในประเทศ ที่เลือกพรรค AfD มากเป็นอันดับหนึ่ง และส่งพรรคฝ่ายขวา เข้าไปมีที่นั่งในสภาเป็นอันดับที่ 3 สร้างความหวาดหวั่นไปทั่วยุโรป กับการกลับมาของแนวคิดชาตินิยมเยอรมัน ครั้งแรกนับตั้งแต่การจากไปของนาซี

ถัดมาเพียงหนึ่งปี เหตุการณ์เลวร้ายได้บังเกิดขึ้น เมื่อแดเนียล ฮิลลิก (Daniel Hillig) แฟนบอลของสโมสรเคมนิทเซอร์ ซึ่งเป็นหนึ่งในแกนนำผู้เคลื่อนไหว สนับสนุนแนวคิดทางการเมืองแบบฝ่ายขวา ถูกแทงเสียชีวิต โดยมีผู้ต้องสงสัย เป็นผู้อพยพ ชาวอิรักและซีเรีย 

นำไปสู่การประท้วงครั้งใหญ่ ภายในเมือง โดยกลุ่มขวาจัด และนีโอ-นาซี ซึ่งหนึ่งในผู้นำการชุมนุม คือเหล่าแฟนบอลของสโมสรเคมนิทเซอร์ ที่ต้องการล้างแค้นให้กับเพื่อนแฟนบอล บริเวณรังเหย้าของสโมสร กลายเป็นพื้นที่ในการชุมนุม ซึ่งมีแฟนบอลมากกว่า 900 คน มารวมตัวกัน

 8

นั่นเป็นเพียงส่วนเล็กน้อยของการชุมนุมเท่านั้น เพราะการชุมนุมในเมืองกินเวลา ร่วมหนึ่งสัปดาห์ มีผู้คนอย่างน้อย 8,000 คน เข้าร่วมเดินขบวน แสดงสัญลักษณ์นีโอ-นาซี ขณะเดียวกันโลกฟุตบอลก็ได้รับผลกระทบไปด้วย เพราะแมทช์การแข่งขันระหว่าง ดินาโม เดรสเดน กับ ฮัมบวร์ก เอสเฟา ต้องเลื่อนออกไป เพื่อความปลอดภัยของแฟนบอล (สโมสรดินาโม เดราสเดน ตั้งอยู่ในเขตแคว้นซัคเซิน)

ขณะที่เรื่องในสนามฟุตบอล แฟนบอลเคมนิทเซอร์ ได้สร้างเรื่องงามหน้าไม่หยุด จากการจัดงานไว้อาลัย ให้กับ โธมัส ฮัลเลอร์ (Thomas Haller) ผู้นำกลุ่มนีโอ-นาซี ประจำเมือง ซึ่งเป็นแฟนบอลของเคมนิทเซอร์ เมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2019 กับเกมการแข่งขันในศึกลีกา 4 

ขณะที่กองหน้าของทีม แดเนียล ฟราห์น (Daniel Frahn) ได้ใส่เสื้อยืดยกย่องผู้นำลัทธินีโอ-นาซีรายนี้ จนทำให้หัวหน้าฝ่ายบริหารของสโมสรอย่าง โธมัส อุห์ลิก (Thomas Uhlig) ต้องประกาศลาออกจากตำแหน่ง เพื่อรับผิดชอบกับภาพลักษณ์อันเลวร้ายของสโมสร เพราะจากเหตุการณ์นี้ สโมสรต้องสูญเสียสปอนเซอร์หลายราย ที่ประกาศถอนตัว เพราะไม่ต้องการสนับสนุนทีมฟุตบอล ที่เชิดชูกลุ่มนีโอ-นาซี

 9

สำหรับแดเนียล ฟราห์น ดูเหมือนเขาจะไม่สนใจ กับผลกระทบที่เกิดขึ้นกับสโมสร แม้จะโดนแบนเพื่อเป็นการลงโทษก่อนหน้านี้ไป 4 เกม 

เพราะนักเตะรายนี้ ได้ออกมาให้การสนับสนุนกลุ่มแฟนบอลนีโอ-นาซีของทีม ในช่วงต้นฤดูกาล 2019/20 ด้วยการไปร่วมนั่งดูบอลด้วยกัน จนทำให้สโมสรตัดสินใจปลดกองหน้าวัย 32 ปี ออกจากการเป็นกัปตันทีม เพื่อเป็นการลงโทษ

“เขาสามารถเลือกได้ ว่าจะเป็นนักฟุตบอล ที่มีหรือไม่มีความรับผิดชอบ แต่ในฐานะกัปตันทีม คุณต้องเป็นมากกว่ากองหน้าที่ทำประตูได้ หรือเป็นคนที่ได้รับการสนับสนุนจากแฟนบอล เพราะคุณต้องเป็นแบบอย่างให้กับคนอื่น และมีทัศนคติที่ดี” โรมี พอลสเตอร์ หนึ่งในผู้บริหารเผยถึงเหตุผล การปลดฟราห์น ออกจากตำแหน่งกัปตันทีม

หรือในวันที่ 24 สิงหาคมที่ผ่านมา แฟนบอลของเคมนิทเซอร์ ตกเป็นข่าวอีกครั้งกับพฤติกรรมเหยียดผิว ผู้เล่นในสนามฟุตบอล แต่ที่แปลกไปกว่าเดิม คือพวกเขาตะโกนเหยียดผิวนักเตะของทีมตัวเอง

 10

เรื่องราวที่เกิดขึ้น กับวีรกรรมหลากหลายของแฟนบอล จากสโมสรเล็กๆในลีกา 3 เยอรมัน...เราไม่สามารถที่จะบอกได้ว่า เป็นเรื่องถูกหรือผิด และปัจจุบันสโมสรเคมนิทเซอร์ ยังคงเป็นทีมฟุตบอล ที่เต็มไปด้วยแฟนบอลฝั่งขวาจัด และนีโอ-นาซีต่อไป แม้จะถูกต่อต้าน จากสังคมบางส่วนของโลกฟุตบอล

แต่ในมุมหนึ่ง พวกเขาคือตัวอย่างที่ดี ที่แสดงให้เราเห็นว่า ฟุตบอลไม่ได้มีเรื่องของผลแพ้-ชนะ ไม่ได้มีแค่เรื่องการแข่งขันในสนาม

จากวันที่สโมสรแห่งนี้สะท้อนตัวตน ของแฟนบอลฝ่ายซ้าย จนถึงช่วงเวลาที่สโมสร เต็มไปด้วยแฟนบอล ที่แสดงจุดยืนทางการเมืองแบบขวาจัด สโมสรฟุตบอลเคมนิทเซอร์ ไม่เคยหยุดทำหน้าที่ เป็นกระจกสะท้อนตัวตนหรือจุดยืนของแฟนบอล ที่แสดงออกไปสู่พื้นที่สาธารณะ 

สำหรับแฟนบอลเคมนิทเซอร์ พวกเขายังคงยืนหยัดสนับสนุนทีมต่อไป แม้จะไร้นักเตะซุปเปอร์สตาร์ ไม่มีถ้วยแชมป์ใหญ่ระดับประเทศติดมือ ตั้งแต่ปี 1967 ก็ไม่ใช่เรื่องสำคัญ

เพราะสโมสรแห่งนี้คือตัวตนของพวกเขา และไม่มีสิ่งใดจะสำคัญไปมากกว่านี้อีกแล้ว

อัลบั้มภาพ 10 ภาพ

อัลบั้มภาพ 10 ภาพ ของ "เคมนิทเซอร์ เอฟเซ" : สโมสรฟุตบอลของกลุ่มนีโอ-นาซี ที่โด่งดังเรื่องต่อยตีและเหยียดผิว

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook