คนละไม้คนละมือ : 9 นวัตกรรมเสื้อผ้า-อุปกรณ์กีฬา ที่ช่วยให้โลกดีขึ้นกว่าเดิม

คนละไม้คนละมือ : 9 นวัตกรรมเสื้อผ้า-อุปกรณ์กีฬา ที่ช่วยให้โลกดีขึ้นกว่าเดิม

คนละไม้คนละมือ : 9 นวัตกรรมเสื้อผ้า-อุปกรณ์กีฬา ที่ช่วยให้โลกดีขึ้นกว่าเดิม
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ได้กลายเป็นกระแสที่กำลังมาแรงขึ้นเรื่อยๆ ในทั่วทุกมุมโลก แม้กระทั่งในประเทศไทย ซึ่งเหตุการณ์ปัญหาสิ่งแวดล้อมต่างๆ ที่เกิดขึ้นทุกหัวระแหงในปัจจุบันคือบทพิสูจน์ว่า หากไม่รีบปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ปัญหาดังกล่าวอาจลุกลามจนสายเกินแก้

และวงการกีฬา ก็ถือเป็นอีกวงการที่ต้องปรับตัวให้เข้ากับกระแสดังกล่าว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เสื้อผ้ากับอุปกรณ์กีฬา ที่ต้องสวมใส่และใช้อยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน นี่คือ "นวัตกรรมรักษ์โลก" ที่เกี่ยวข้องกับวงการกีฬาแบบที่เราสัมผัสได้

ชุดกีฬาจากขวดพลาสติก


Photo : www.telegraph.co.uk

นี่คือนวัตกรรมรักษ์โลกที่น่าจะคุ้นเคยกันดี กับการนำขวดพลาสติกที่ใช้แล้วมาทำเป็นชุดกีฬา ซึ่งเสื้อ 1 ตัวจะใช้ขวดพลาสติกประมาณ 8-17 ขวดในการผลิต โดย Nike แบรนด์อุปกรณ์กีฬาใหญ่อันดับ 1 ของโลก ริเริ่มแนวคิดนี้มาตั้งแต่ช่วงฟุตบอลโลก 2010 จนกลายเป็นเทรนด์ให้หลายๆ เจ้าทำตาม ไม่เว้นแม้แต่ บุรีรัมย์ ยูไนเต็ด มหาอำนาจวงการฟุตบอลไทย ที่นำร่องในฤดูกาล 2019 ด้วยเสื้อรุ่นฉลองครบ 10 ปีของสโมสร ก่อนที่เสื้อทุกตัวของทีมปราสาทสายฟ้า จะผลิตจากขวดพลาสติกใช้แล้วตั้งแต่ฤดูกาล 2020 เป็นต้นไป

ป้ายราคา-บรรจุภัณฑ์ปลูกได้


Photo : BURIRAM UNITED

ป้ายราคาและบรรจุภัณฑ์ แม้จะมีขนาดเล็ก แต่ปริมาณของมันในการสร้างขยะกลับมีมากอย่างไม่น่าเชื่อ เพราะนี่คือสิ่งที่ผู้ซื้อจำต้องทิ้งไปแบบเสียเปล่าแทบทันทีหลังได้สินค้าใหม่เพียงไม่นาน แต่ไอเดียของ บุรีรัมย์ ยูไนเต็ด ได้กลายเป็นอีกหนึ่งวิธีเพิ่มพื้นที่สีเขียว โดยป้ายราคาและบรรจุภัณฑ์ของสินค้าคอลเลคชั่น 10 ปีสโมสร ทำมาจากกระดาษฟางข้าวซึ่งผสมเมล็ดพันธุ์พืชไว้ สามารถนำไปแช่น้ำนำไปปลูกเป็นต้นไม้ต่อได้ทันที

ประโยชน์เกินคาดจากต้นไผ่


Photo : www.redbull.com

Danny Shane ผู้ผลิตชุดสำหรับกีฬาจักรยานจากสหรัฐอเมริกา ได้นำเยื่อจากต้นไผ่มาใช้เป็นส่วนประกอบสำคัญในการทำอาภรณ์สำหรับนักปั่น ซึ่งนอกจากจะให้สัมผัสที่นุ่มแล้ว ยังระบายอากาศ, ซึมซับเหงื่อ และระงับกลิ่นกายได้ดี ไม่เพียงเท่านั้น นี่คือทรัพยากรที่สามารถนำมาผลิตเป็นเส้นใยในการถักทอเสื้อผ้าได้อย่างไม่จำกัดอีกด้วย

จากขยะทะเลสู่เสื้อ-รองเท้า


Photo : ecowarriorprincess.net

การนำขวดน้ำพลาสติกใช้แล้วมาทำเป็นชุดกีฬาอาจเป็นสิ่งที่เราได้ยินมาบ่อย แต่สำหรับ adidas อีกหนึ่งแบรนด์กีฬาชั้นนำของโลก พวกเขาเลือกที่จะคิดต่างจากเดิมเล็กน้อย ด้วยการจับมือกับ Parley for the Oceans องค์กรที่ให้ความสำคัญกับการอนุรักษ์ท้องทะเล ทำคอลเลคชั่นสินค้าที่ผลิตจากขยะพลาสติกจากทะเลและชายหาด โดยนอกจากเสื้อผ้ากีฬาแล้ว ยังมีรองเท้าหลายรุ่นจากค่ายสามแถบที่ใช้ขยะพลาสติกเป็นส่วนประกอบอีกด้วย

ชุดแห้งไว-ดูดกลิ่นจากกากกาแฟ


Photo : www.bicycles.net.au

กากกาแฟจากการชงสด คืออีกหนึ่งสิ่งที่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้หลากหลาย ซึ่งการผลิตเป็นชุดกีฬาคือหนึ่งในนั้น โดย OORR แบรนด์เสื้อผ้าสำหรับกีฬาจักรยานจากออสเตรเลียเผยว่า เส้นใยที่ทำมาจากกากกาแฟ สามารถช่วยให้ชุดจักรยานของพวกเขาแห้งเร็วกว่า 50% อีกทั้งยังดูดกลิ่นกายอันไม่พึงประสงค์ได้ดีกว่าคู่แข่งถึง 250% อีกด้วย

เสื้อที่ไม่ต้องตัดต้นไม้มาผลิต


Photo : www.consciouslifeandstyle.com

Threads 4 Thought แบรนด์เสื้อผ้าไลฟ์สไตล์และกีฬา ได้นำ Lenzing Modal ซึ่งเป็นเส้นใยเซลลูโลสชนิดหนึ่งมาใช้ในการผลิต ความพิเศษและรักษ์โลกของเส้นใยชนิดนี้คือ มันทำมาจากเยื่อไม้อย่าง ยูคาลิปตัส ซึ่งเพียงแค่กิ่งของมันก็สามารถนำมาผลิตได้ จึงทำให้ไม่มีความจำเป็นต้องโค่นต้นไม้ลงมาทั้งต้นแต่อย่างใด

ข้าวโพดไม่ใช่แค่กินได้


Photo : road.cc

Howies แบรนด์เสื้อผ้าสายออกกำลังกาย ได้เลือกเส้นใยไฟเบอร์ชื่อ Sorona มาเป็นส่วนประกอบในการผลิต ซึ่งที่มาของมันถือเป็นอะไรที่น่าสนใจยิ่ง เพราะทำมาจากแป้งข้าวโพด แถมยังมีคุณสมบัติช่วยรักษาความอบอุ่นในร่างกายและแห้งได้ในเวลาอันรวดเร็วอีกด้วย จึงกลายเป็นอีกตัวเลือกที่น่าสนใจ หากไม่คิดที่จะใช้เส้นใยที่มีพื้นฐานจากน้ำมันเช่นพลาสติกที่เราคุ้นเคย

เสื่อโยคะจากยางธรรมชาติ


Photo : fabfitfun.com

โดยปกติแล้ว เสื่อโยคะส่วนใหญ่จะทำมาจากพลาสติกซึ่งมีน้ำหนักเบาและราคาถูก แต่สำหรับ Manduka อีกหนึ่งแบรนด์ชั้นนำในสายโยคะ พวกเขาเลือกที่จะใช้ยางพาราในการผลิต ซึ่งนอกจากจะเป็นการใช้วัสดุจากธรรมชาติแล้ว เสื่อโยคะจากค่ายนี้ยังถือเป็นหนึ่งในเรื่องของความทนทาน แถมยังให้สัมผัสที่แน่นหนึบ ไม่ลื่นง่ายๆ จากเหงื่ออีกด้วย

เซ็กซี่รักษ์โลก


Photo : fms-mag.com

อวนแห ถือเป็นอีกหนึ่งขยะที่สร้างปัญหาให้กับท้องทะเล เมื่อมันได้กลายสภาพเป็นขยะตกค้างเฉลี่ยสูงถึง 640,000 ตันในทุกๆ ปี ด้วยความจริงอันคาดไม่ถึงว่า พลาสติกจากอวน 1 ตัน สามารถนำมาแยกย่อยเป็นเส้นใยไนลอนที่ผลิตชุดว่ายน้ำได้มากกว่า 10,000 ตัว Davy J จึงได้นำอวนแหมาใช้ในการผลิตชุดว่ายน้ำสำหรับสุภาพสตรี 100% ซึ่งนอกจากสาวๆ จะได้ชุดว่ายน้ำดีไซน์สวยเซ็กซี่แล้ว ยังมีส่วนช่วยในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอีกด้วย

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook