สาวมองอะไรไม่ชัดมา 38 ปี จักษุแพทย์ตรวจเจอ "โรคผักบุ้ง" ร้ายแรงเสี่ยงตาบอด

สาวมองอะไรไม่ชัดมา 38 ปี จักษุแพทย์ตรวจเจอ "โรคผักบุ้ง" ร้ายแรงเสี่ยงตาบอด

สาวมองอะไรไม่ชัดมา 38 ปี จักษุแพทย์ตรวจเจอ "โรคผักบุ้ง" ร้ายแรงเสี่ยงตาบอด
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

สาวมองอะไรไม่ชัดมา 38 ปี จักษุแพทย์ตรวจเจอ "โรคผักบุ้ง" เป็นมาตั้งแต่กำเนิด ร้ายแรงเสี่ยงตาบอด 

หญิงชาวเมืองอู่ฮั่น ประเทศจีนคนหนึ่งมีปัญหาทางสายตามาตั้งแต่เด็ก แต่ไม่เคยตรวจอย่างจริงจัง จนกระทั่งผ่านไปถึง 38 ปี เพิ่งจะพบว่า ในดวงตามีลักษณะคล้าย “ดอกผักบุ้ง” งอกอยู่ หลังเข้ารับการผ่าตัดก็สามารถยับยั้งการเสื่อมของสายตาได้สำเร็จ

ตามรายงานจาก Jimu News หญิงรายนี้มีปัญหาทางตาตั้งแต่เกิด เช่น ตาโตไม่เท่ากัน ลูกตาสั่นตลอดเวลา มักมองคนด้วยสายตาเฉียง ๆ และถึงแม้นั่งแถวหน้าสุดในห้องเรียนก็ยังมองไม่ชัด กระทั่งในปี 2024 สายตาเริ่มแย่ลงจากที่เคยมองเห็นหน้าจอมือถือ กลายเป็นมองเห็นแค่จำนวนของนิ้วมือที่อยู่ตรงหน้า เธอถูกวินิจฉัยว่าเป็นต้อกระจก แต่แพทย์ปฏิเสธการผ่าตัดเพราะมีความเสี่ยงสูง จึงต้องไปรักษาต่อที่โรงพยาบาลอื่น

หลังการตรวจอย่างละเอียด พบว่าเธอป่วยด้วยโรคหายากชนิดหนึ่งที่เรียกว่า Morning Glory Disc Anomaly (MGDA)  หรือ โรคผักบุ้ง เป็นโรคตาแต่กำเนิดที่ทำให้เส้นประสาทตาพัฒนาไม่สมบูรณ์ และมักมีความผิดปกติร่วมกับการพัฒนาสมองและดวงตาอื่น ๆ โดยเป็นสาเหตุให้เกิดต้อกระจกก่อนวัยอันควรในหญิงรายนี้ ซึ่งมีลักษณะเฉพาะคือ จุดเชื่อมของเส้นประสาทตา (optic disc) มีรูปร่างผิดปกติคล้ายดอกผักบุ้ง (morning glory flower)

แพทย์เตือนว่า หากไม่รักษา อาจเสี่ยงต่อการเกิดโรคจอประสาทตาหลุดลอก ต้อหิน และอาจนำไปสู่การสูญเสียการมองเห็นอย่างถาวร หญิงรายนี้จึงตัดสินใจเข้ารับการผ่าตัดต้อกระจก และสามารถฟื้นฟูการเคลื่อนไหวของลูกตาได้สำเร็จ ตรวจวันรุ่งขึ้นพบว่าสายตาข้างขวาดีขึ้นเป็น 0.1 และคาดว่าจะดีขึ้นเป็น 0.2 หลังอาการบวมน้ำที่กระจกตาลดลง โดยเธอมีกำหนดผ่าตัดตาซ้ายในอีก 1 สัปดาห์ และจะต้องใส่แว่นแก้ไขสายตาร่วมกับการตรวจติดตามสภาพตาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งน่าจะช่วยให้คุณภาพชีวิตดีขึ้น

ผู้อำนวยการโรงพยาบาลตา Wuhan AIER Eye Hospital นายแพทย์เฉิง ซูคัง ระบุว่า โรค MGDA เป็นโรคทางตาแต่กำเนิดที่มักถูกละเลยในเด็ก เนื่องจากเด็กไม่สามารถให้ความร่วมมือในการตรวจหรือรักษาได้เต็มที่ จึงพลาดโอกาสทองในการพัฒนาสายตา เมื่อปล่อยไว้นาน อาจเกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น สายตาสั้นขั้นรุนแรง หรือภาวะตาเข และหากไม่ได้รับการรักษาทันท่วงที จะทำให้สายตาเสียหายถาวร

แม้ในปัจจุบันจะยังไม่มีวิธีรักษาโรคนี้อย่างสมบูรณ์ แต่หากมีการสร้างประวัติสุขภาพดวงตาของเด็กตั้งแต่เนิ่น ๆ พร้อมกับฝึกฝนสายตาอย่างเหมาะสม จะสามารถพัฒนาการมองเห็นได้ นอกจากนี้ยังควรตรวจติดตามเป็นระยะ เพื่อป้องกันโรคร้ายแรงอย่างต้อหินหรือจอประสาทตาหลุดลอก ซึ่งจะช่วยรักษาสายตาและลดความเสี่ยงต่อการตาบอดได้ในระยะยาว

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
กำลังโหลดข้อมูล