ทลายเหมืองบิทคอยน์ลักไฟหลวง หลัง จนท. สงสัยใช้ไฟมากผิดปกติ

ทลายเหมืองบิทคอยน์ลักไฟหลวง หลัง จนท. สงสัยใช้ไฟมากผิดปกติ

ทลายเหมืองบิทคอยน์ลักไฟหลวง หลัง จนท. สงสัยใช้ไฟมากผิดปกติ
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ตำรวจไซเบอร์บุก 2 เหมืองบิทคอยน์ลักใช้ไฟหลวงกว่า 2 เดือน ยึดเครื่องขุด 652 เครื่อง มูลค่ากว่า 200 ล้าน

สืบเนื่องจากตำรวจไซเบอร์ได้สืบสวนพบว่ามีกรณีเกิดการหลอกลวงลงทุน ซื้อ หรือ เช่ากำลังขุดเหมืองสกุลเงินดิจิทัล (Cryptocurrency) แบบ Cloud Mining ซึ่งสร้างความเสียหายเป็นวงกว้างโดยมิจฉาชีพชักชวนซื้อขายเครื่องขุดบิทคอยน์ในราคาต่ำกว่าราคาท้องตลาดมากจนน่าสงสัย และยังมีการรับฝากวางเครื่องขุดดังกล่าว โดยเก็บค่าดูแลและค่าไฟฟ้าต่ำกว่าความเป็นจริง และคาดว่าอาจจะมีการลักลอบนำเข้ามาในราชอาณาจักรโดยผิดกฎหมายด้วย จึงรายงานให้ผู้บังคับบัญชาทราบ

พล.ต.ท.วรวัฒน์ วัฒน์นครบัญชา ผบช.สอท. จึงมอบหมายให้ พล.ต.ต.ชัชปัณฑกาณฑ์ คล้ายคลึง ผบก.สอท.1 จัดเจ้าหน้าที่ออกสืบสวนกรณีดังกล่าว โดย กก.วิเคราะห์ข่าวและเครื่องมือพิเศษ บก.สอท.1 ได้ประสานงานกับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค เขต 1 (ภาคใต้) จังหวัดเพชรบุรี จนพบข้อมูลว่า มีการซื้อขายเครื่องขุดบิทคอยน์ และรับฝากวางทำเป็นเหมืองขุดที่โรงเจของศาลเจ้าพ่อแห่งหนึ่งในพื้นที่ ต.หนองสองห้อง อ.บ้านแพ้ว จ.สมุทรสาคร

 ต่อมาเจ้าหน้าที่ได้ลงพื้นที่สืบสวนหาข่าว พบว่าโรงเจดังกล่าวมีปริมาณการใช้ไฟฟ้ามากในลักษณะผิดปกติโดยผู้ที่ขายและรับฝากวางเครื่องขุดดังกล่าว คือนายสมหวัง (สงวนนามสกุล) จึงได้ทำการสืบต่อไปจนพบว่า นอกจากที่โรงเจของศาลเจ้าพ่อดังกล่าวแล้ว ยังพบสถานที่ที่มีปริมาณการใช้ไฟฟ้ามากอย่างผิดปกติอีกหนึ่งแห่ง คือ บริเวณโกดัง 2 อาคารแห่งหนึ่ง ในพื้นที่เขาแก่นจันทร์ อ.เมือง จ.ราชบุรี ซึ่งคาดว่าเป็นการทำเหมืองบิทคอยน์ด้วยเช่นกัน จึงได้รวบรวมพยานหลักฐานขออำนาจศาลออกหมายค้นทั้ง 2 จุด

ต่อมาเจ้าหน้าที่ตำรวจ กก.วิเคราะห์ข่าวฯ บก.สอท.1 จึงได้นำกำลังบุกตรวจค้นเป้าหมายพร้อมกันทั้ง 2 จุด โดยได้ประสานเจ้าหน้าที่การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคเข้าทำการตรวจสอบด้วย จากผลการตรวจค้น พบข้อมูลดังนี้

 จุดที่ 1 โรงเจของศาลเจ้าแห่งหนึ่ง ต.หนองสองห้อง อ.บ้านแพ้ว จ.สมุทรสาคร ตรวจพบเหมืองบิทคอยน์ โดยทำเป็นอาคารทึบ อยู่บริเวณโรงจอดรถของศาลเจ้าดังกล่าว มีนายสมบัติ (ขอสงวนนามสกุล) แสดงตัวเป็นผู้ควบคุมดูแล จากการตรวจค้นพบ อุปกรณ์คอมพิวเตอร์และอุปกรณ์อิเลกทรอนิกส์สำหรับขุดบิทคอยน์ประกอบกันในลักษณะเป็นเหมืองขุด จำนวน 187 เครื่อง และจากการตรวจสอบของเจ้าหน้าที่การไฟฟ้ายังพบว่า มีการดัดแปลงบริเวณมิเตอร์ไฟฟ้าซึ่งทำให้กระแสไฟฟ้าผิดปกติ

จุดที่ 2 โกดัง บริเวณเขาแก่นจันทร์ อ.เมือง จ.ราชบุรี พบเหมืองบิทคอยน์ ทำเป็นอาคารทึบ มีนายสมหวัง (ขอสงวนนามสกุล) แสดงตัวเป็นผู้ควบคุมดูแลเหมือง และมีนายนายเกียรติก้อง (ขอสงวนนามสกุล) ทำหน้าที่เป็นผู้ควบคุมดูแลอาคารและเครื่องขุดดังกล่าว จากการตรวจค้น พบอุปกรณ์คอมพิวเตอร์และอุปกรณ์อิเลกทรอนิกส์สำหรับขุดบิทคอยน์ประกอบกันในลักษณะเป็นเหมืองขุด จำนวน 465 เครื่อง และจากการตรวจสอบของเจ้าหน้าที่การไฟฟ้า พบว่ามีการดัดแปลงมิเตอร์ไฟฟ้าซึ่งทำให้กระแสไฟฟ้าผิดปกติ

รวมของกลางที่ตรวจยึดได้คือเครื่องขุดบิทคอยน์ มูลค่าประมาณ 3.5 แสนบาท จำนวน 652 เครื่อง รวมมูลค่าประมาณ 200 ล้านบาท และมิเตอร์ไฟฟ้าที่ถูกดัดแปลง จำนวน 2 มิเตอร์ จึงนำส่งพนักงานสอบสวนดำเนินการต่อไป

จากการสอบถามเบื้องต้น นายสมบัติฯ และนายสมหวังฯ ให้ข้อมูลว่า ได้เปิดเหมืองมาแล้วประมาณ 2 เดือน ได้ประกอบการขายเครื่องขุดบิทคอยน์ โดยได้นำเข้าเครื่องมาจากประเทศจีนโดยผ่านพิธีศุลกากรถูกต้อง และนำมาจำหน่ายให้แก่บุคคลทั่วไป หากลูกค้าที่ซื้อเครื่องขุดแล้ว ตนเองจะรับฝากเครื่อง โดยคิดค่ารับฝากรวมค่าไฟฟ้า เป็นเงิน 6,200 บาท เท่านั้น ซึ่งจากการตรวจสอบพบว่า ปกติแล้วเครื่องขุดบิทคอย์ดังกล่าว หากเปิดขุดตลอดทั้งเดือน จะเสียค่าไฟฟ้าประมาณ 9,000 บาท ต่อ 1 เครื่อง จึงมีจุดสังเกตว่าในการรับฝากวางนั้น การคิดราคาค่าไฟฟ้าและค่าดูแลเพียง 6,200 บาท นั้นก็เพื่อจูงใจลูกค้า

นอกจากนี้ จากการตรวจสอบของเจ้าหน้าที่การไฟฟ้า พบว่ามีการดัดแปลงมิเตอร์ไฟฟ้าเพื่อให้กระแสไฟฟ้าผ่านมิเตอร์ไม่เต็มตามที่ใช้จริง และมีบางส่วนเป็นการต่อกระแสไฟฟ้าโดยไม่ผ่านมิเตอร์ เพื่อเป็นการลดต้นทุนสำหรับค่าไฟฟ้า โดยจากการคำนวณค่าไฟฟ้าที่รัฐเสียหายจากทั้ง 2 จุด พบว่ามีมูลค่าประมาณ 5 ล้านบาท

สำหรับ Cryptocurrency หรือ สกุลเงินดิจิทัล นั้น เป็นสินทรัพย์ดิจิทัลประเภทหนึ่งที่มีการเข้ารหัส โดยใช้โค้ดคอมพิวเตอร์เป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนมูลค่าผ่านอินเทอร์เน็ต มีราคากลางในการซื้อขายแปรผันตามกลไกตลาด ซึ่งในปัจจุบันได้เข้ามามีบทบาทจนเป็นกระแสสังคม และเป็นที่นิยมในหมู่นักลงทุนหน้าใหม่ที่ต้องการเก็งกำไรในตลาด และยังเป็นหนึ่งในแผนประทุษกรรมที่มิจฉาชีพมักฉวยโอกาสหาช่องว่างในการหลอกลวงผู้เสียหาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการหลอกลวงชักชวนให้เข้ามาร่วมลงทุนในธุรกิจการขุดเหมืองสกุลเงินดิจิทัล (Cryptocurrency) หรือการเช่าหรือซื้อกำลังขุดสกุลเงินดิจิทัลต่างๆ เช่น Bitcoin (BTC), Ethereum (ETH), Tether (USDT), Binance Coin (BNB), Dogecoin (DOGE) เป็นต้น

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook