ถอนตัว-เปิดสภาบันไดลงเสื้อแดง

ถอนตัว-เปิดสภาบันไดลงเสื้อแดง

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
ถึงวันที่ 16 มี.ค.ก็ล่วงเข้าสู่วันที่ 3 ที่คนเสื้อแดงได้ปักหลักชุมนุมเชิงสะพานผ่านฟ้าลีลาศ เรียกร้องให้รัฐบาล นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ยุบสภา สถานการณ์ ณ วันที่ 16 มี.ค. ดูตามหน้าเสื่อจะพบว่า แกนนำคนเสื้อแดงเริ่มเปลี่ยนยุทธวิธีการเคลื่อนไหวจากเดิมที่เน้นการใช้มวลชนเป็น หลัก อย่างการเคลื่อนไหวไปฟังคำตอบ ยุบสภา ที่หน้ากรมทหารราบที่ 11 รักษาพระองค์เมื่อวันที่ 15 มี.ค.ที่ผ่านมา หรือล่าสุดกิจกรรม ละเลงเลือด 1 ล้านซีซี หน้าประตูทำเนียบรัฐบาล เรื่อยไปถึงที่ทำการพรรคประชาธิปัตย์และบ้านพักนายกรัฐมนตรี

ทั้ง 2 กิจกรรมเคลื่อนไหวนี้ถูกปรามาสว่า เป็นแค่การสร้างข่าวและทำให้เกิดความคึกคักฮึกเหิมเท่านั้น

แต่หากสังเกตเนื้อหาบนเวทีปราศรัยเมื่อค่ำวันที่ 15 มี.ค.จะพบว่า มีการเปิดประเด็นใหม่ขึ้นมา

นายวีระ มุสิกพงศ์ ประธาน นปช.แดงทั้งแผ่นดิน ปราศรัยตอนหนึ่งไว้ว่า ขอเรียกร้องให้ ส.ส.ลาออกเกินกว่าครึ่งของรัฐสภาเพื่อให้เกิดการยุบสภาโดยอัตโนมัติ โดยขอให้พี่น้องเสื้อแดงโทรฯบอก ส.ส.ในพื้นที่ให้ลาออกเสีย

ขณะที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี แดงตัวพ่อ พูดผ่านวิดีโอลิงก์เป็นครั้งที่ 2 เมื่อคืนวันที่ 15 มี.ค.ว่า ขอฝากพรรคร่วมโดยเฉพาะนายบรรหาร ศิลปอาชา วันนี้พี่น้อง มาเยอะจะเป็นไม้ค้ำให้นายอภิสิทธิ์อยู่ทำไม ต้นไม้กำลังจะตาย ไม่สง่างามถอยออกเถอะ นายชัย ชิดชอบ ในชีวิตได้เป็นประธานสภาก็เพียงพอแล้ว ไปบอกนายเนวิน ชิดชอบ ถอยออกมาซะ มีอีกหลายท่านที่เป็นนักการเมืองที่คร่ำหวอดค้ำต้นไม้กำลังจะตาย ไม่ว่าจะนายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ นายสมศักดิ์ เทพสุทิน นายพินิจ จารุสมบัติ ขอให้เห็นแก่บ้านเมือง ให้ประชาธิปไตยคงอยู่เถอะนักการเมืองจะได้มีเวทีเล่น วันนี้อาจจะหวานมันหน่อย แต่ว่าอดทนหน่อยเถอะเพื่อประชาชน

หรือเป็นเพราะการใช้ มวลชน กดดันรัฐบาลเริ่มจะลดความร้อนแรงลง เนื่องมาจากระยะเวลาการชุมนุมที่เนิ่นนาน สภาพอากาศที่ร้อนจัด หมดสัญญา ขาดปัจจัย จึงหันมาใช้มาตรการกดดันทางอื่น

กรณี กดดัน พรรคร่วมรัฐบาลถอนตัวนั้น ชั่วโมงนี้ทุกพรรคร่วมรัฐบาลยืนยันหนักแน่นว่าพร้สนับสนุนรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ ต่อไป ขณะที่กรณีเสนอให้ ส.ส.พรรคเพื่อไทย ถอนตัวเพื่อให้เกิดการยุบสภานั้น ดูจะไม่ได้รับการตอบรับ

ดูอย่าง นายจตุพร พรหมพันธุ์ แกนนำ นปช. และ ส.ส.สัดส่วน ที่ระบุว่า จะนำเรื่องเข้าหารือพรรคเพื่อไทยและมองว่าวันนี้สภาผู้แทนราษฎรทำงานไม่ได้ และนับวันจะยิ่งสะท้อนว่าประชาชนเริ่มไม่เอารัฐบาล แต่เจ้าตัวก็ไม่แสดงออกเป็นคนแรกด้วยการประกาศลาออกโดยอ้างว่า เป็นการไปกดดัน ส.ส.พรรคคนอื่น

ขณะที่ ส.ส.ของพรรคเพื่อไทย อย่าง นายนิรมิต สุจารี ส.ส.ร้อยเอ็ด พรรคเพื่อไทย ระบุว่า มี ส.ส.พูดคุยกันจริง แต่เชื่อว่าไม่สามารถกดดันนายอภิสิทธิ์ได้และถ้าลาออกจริงจะมีผลทำให้ ญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจตกไปทันที หรือ นายไพจิต ศรีวรขาน ส.ส.นครพนม พรรคเพื่อไทย ที่ระบุว่า แนวทางการทำงานของพรรคจะดูที่ประโยชน์ของส่วนรวมเป็นหลัก แต่ไม่มีแนวทางยุบสภาเพื่อหวังกดดันรัฐบาล ทั้งนี้ข้อเสนอของกลุ่มคนเสื้อแดงถือว่าเป็น ไปได้ยาก แต่หากจำกันได้สมัยที่ตนอยู่พรรคความหวังใหม่ ส.ส.ฝ่ายค้านประท้วงด้วยการลาออก เพื่อให้ยุบสภาแต่รัฐบาลนายชวนใน สมัยนั้นกลับยิ่งเฉยและไม่ดำเนินการใด

ข้อเรียกร้อง ส.ส.ลาออก น่าจะมาผิดจังหวะมากกว่า เพราะน่าจะเกิดในช่วงหลังการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ที่ ส.ส.ฝ่ายรัฐบาล อุ้มรัฐมนตรีในรัฐบาลที่สังคมกังขา ซึ่งตอนนั้นกระแสสังคมจะขานรับในการทำหน้าที่ของ ส.ส.ฝ่ายค้านมากกว่า

ที่สำคัญ การลาออกจะทำให้เกิดการเลือกตั้งซ่อมซึ่งจะทำให้ถูกครหาถึงการใช้เงินภาษีประชาชนไปเล่นการเมือง

การโยนประเด็นออกมาในครั้งนี้ จึงเป็นแค่ประเด็นหวังให้ เกิดการ ถกเถียง และสร้างแรงกดดันในพรรคเพื่อไทยมากกว่าสร้างแรงกดดันให้รัฐบาลนายอภิสิทธิ์

อีก 1 แนวทางออกของสถานการณ์คือท่าทีของ ส.ว.กลุ่ม หนึ่งที่แถลงหลังการประชุมร่วมรัฐบาลที่ต้อง เลื่อนไป เมื่อวันที่ 16 มี.ค.

นางนฤมล ศิริวัฒน์ ส.ว.อุตรดิตถ์ ระบุว่า สมาชิกวุฒิสภาจะเข้าชื่อตามมาตรา 161 เพื่อเปิดอภิปรายทั่วไปให้คณะรัฐมนตรีมาแถลงข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นโดยไม่มีการลงมติ ด้วยการใช้เสียง 1 ใน 3 หรือ 50 เสียง จาก ส.ทั้งหมด 150 คน

กรณีมาตรา 161 นี้เคยมี ส.ว.ยื่นให้ ครม.มาชี้แจงแล้วในสมัยรัฐบาลนายสมัคร สุนทรเวช และรัฐบาลนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ หรือแม้รัฐบาลนายอภิสิทธิ์ ในเหตุการณ์ เม.ย. 2552 ที่ผ่านมา

ไม่ใหม่ และน่าจะเป็นรูระบาย อุณหภูมิ ทางการเมืองได้วิธีหนึ่ง และอาจจะเป็นการทอดบันไดให้คนเสื้อแดงประกาศยุติการชุมนุม

เพราะสถานการณ์วันนี้ อะไรก็เกิดขึ้นได้ เหตุการณ์เดือน เม.ย. ปี 2552 นายวีระไม่เอ่ยปากซักแอะว่าจะยุติการชุมนุม แต่ จู่ ๆ ก็ประกาศมอบตัว ยอมรับ ความพ่ายแพ้ แต่ไม่ได้ยอมรับว่าตัวเอง แพ้

ความเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้นทั้งหมดจึงเป็นความพยายามเปิดศึกรอบด้านกับรัฐบาล

นั่นก็เป็นสถานการณ์ด้านหนึ่ง ขณะที่อีกด้าน เกมใต้ดิน ก็เริ่มปรากฏตัวออกมาเรื่อย ๆ ล่าสุดเกิดเหตุยิงเอ็ม 79 บริเวณใกล้บ้านพัก นายอักขราทร จุฬารัตน ประธานศาลปกครองสูงสุด และบ้านพักของ นายคะแนน สุภา ซึ่งเป็นพ่อตาของ นายเนวิน ชิดชอบ แกนนำพรรคภูมิใจไทย ที่ จ.เชียงใหม่

เป็นแนวทางที่คู่ขนานกันไป

เชื่อว่า เมื่อแนวโน้มของสถานการณ์เป็นอย่างนี้ การชุมนุม อาจจะจบลงในเร็ว ๆ วันนี้ หรือประมาณ 7-10 วัน ขณะที่การต่อสู้ทางการเมืองยังจะดำเนินต่อไป

อย่าลืมว่าวันนี้ คนเสื้อแดง รุกไล่รัฐบาล ขณะที่รัฐบาลก็ตั้งรับและไม่พยายามสร้างเงื่อนไข

คนเสื้อแดงดูเหมือนจะเดินสะเปะสะปะ แต่อย่าลืมที่หลายท่านชอบพูดกันว่า

ไร้กระบวนท่าคือ กระบวนท่าที่ร้ายกาจที่สุด.

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook