ศูนย์ความเป็นเลิศด้านฟิสิกส์ เตรียมรวบรวมนักฟิสิกส์-วิศวกรทั่วประเทศพัฒนาเครื่องตรวจวัตถุระเบิดสัญชา

ศูนย์ความเป็นเลิศด้านฟิสิกส์ เตรียมรวบรวมนักฟิสิกส์-วิศวกรทั่วประเทศพัฒนาเครื่องตรวจวัตถุระเบิดสัญชา

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
ศูนย์ความเป็นเลิศด้านฟิสิกส์ เตรียมรวบรวมนักฟิสิกส์-วิศวกรทั่วประเทศพัฒนาเครื่องตรวจวัตถุระเบิดสัญชาติไทย ด้วยเทคนิคคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าตรวจหาวัตถุได้ในระยะไกล ศ.เกียรติคุณ ดร.ถิรพัฒน์ วิลัยทอง ผู้อำนวยการศูนย์ความเป็นเลิศด้านฟิสิกส์ สำนักงานคณะกรรมการอุดมศึกษาแห่งชาติ อดีตผู้อำนวยการศูนย์วิจัยนิวตรอนพลังงานสูง ภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า ขณะนี้ประเทศไทยจำเป็นที่จะต้องพัฒนาเครื่องตรวจวัตถุระเบิดขึ้นมา เพื่อให้เจ้าหน้าที่ในพื้นที่ชายแดนใต้ใช้เสริมศักยภาพการทำงาน และต้องเหมาะสมกับการใช้งานตรวจวัตถุระเบิดในระยะไกล เนื่องจากที่ผ่านมา ทั้งยุโรป สหรัฐอเมริกา ได้มุ่งพัฒนาเครื่องมือที่เหมาะกับการใช้งานของแต่ละประเทศ ส่วนใหญ่จะใช้ตรวจสอบสารเสพติดที่มากับเรือบรรทุกสินค้า และวัตถุระเบิดตามสนามบิน ซึ่งไม่เหมาะกับการใช้งานในประเทศไทย ดังนั้น ที่ประชุมคณะกรรมกรรมการบริหารของศูนย์ความเป็นเลิศด้านฟิสิกส์จึงได้มีมติให้ศูนย์พัฒนาเครื่องตรวจวัตถุระเบิดระยะไกล โดยจะรวบรวบกลุ่มนักฟิสิกส์และวิศวกรทั่วประเทศจำนวน 30 คน ร่วมกันพัฒนาเครื่องดังกล่าวขึ้น ซึ่งต้องไม่ใช้เทคนิคนิวตรอน เนื่องจากหลายฝ่ายกังวลเรื่องรังสีที่แผ่ออกมาสู่ผู้ใช้ เบื้องต้นมีแนวคิดพัฒนาด้วยเทคนิคที่ใช้คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าในการตรวจจับหาสาร โดยจะมีการส่งคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าที่เหมาะสมเข้าไปกระตุ้นสารที่ต้องการจะตรวจให้ปลดปล่อยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าออกมา ซึ่งจะระบุลักษณะเฉพาะว่ามีสารประกอบวัตถุระเบิดชนิดใดอยู่หรือไม่ ทั้งนี้ เครื่องดังกล่าวจะมีคุณสมบัติตรวจวัตถุระเบิดได้ในระยะห่างไกล เคลื่อนย้ายได้ และมีความสะดวกกับการพกพา แต่ยังไม่ถึงขั้นอยู่ในรูปแบบมือถือ อย่างไรก็ตาม คาดว่าจะใช้งบประมาณในการวิจัยโครงการดังกล่าวไม่ต่ำกว่า 10-20 ล้านบาท ในระยะเวลา 1-2 ปี เบื้องต้นจะใช้งบภายใต้ที่คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติให้ศูนย์ความเป็นเลิศด้านฟิสิกส์ดำเนินการวิจัยพัฒนางานวิจัยและนวัตกรรมที่ได้รับในปีนี้ 117 ล้านบาท เนื่องจากเป็นเรื่องเร่งด่วน ทั้งนี้ จะมีการเสนอแผนโครงการต่อคณะกรรมการอำนวยการชุดใหญ่ในต้นเดือนเมษายนก่อนดำเนินการพัฒนาเครื่องนี้ต่อไป
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook