สธ.ขึ้นทะเบียนคุมมาตรฐานผู้ลงบันทึกรหัสโรคผู้ป่วย

สธ.ขึ้นทะเบียนคุมมาตรฐานผู้ลงบันทึกรหัสโรคผู้ป่วย

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
กระทรวงสาธารณสุข ขึ้นทะเบียนคุมมาตรฐานผู้ลงบันทึกรหัสโรคผู้ป่วย เพื่อให้ได้ข้อมูลป่วย-ตายแม่นยำ นายแพทย์ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ขณะนี้กระทรวงสาธารณสุขได้เร่งพัฒนาคุณภาพมาตรฐานของเจ้าหน้าที่ที่เก็บบันทึกข้อมูลสาเหตุการป่วยการตายของประชาชนในโรงพยาบาลทุกแห่งทั้งรัฐและเอกชน ซึ่งข้อมูลดังกล่าวมีความสำคัญมากต่อการพัฒนาระบบสาธารณสุขของไทยและระดับโลก รวมทั้งจัดแผนเฝ้าระวังโรค วางแผนการดูแลสุขภาพของประชาชนได้อย่างถูกต้อง มีประสิทธิภาพ โดยได้ทำข้อตกลงความร่วมมือกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) จัดทำโครงการพัฒนาคุณภาพผู้ลงรหัสโรค และขึ้นทะเบียนรับรองมาตรฐานผู้ลงรหัสโรค ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2548 ให้เป็นมาตรฐานเดียวกันทั่วประเทศ ขณะนี้ประเทศไทยมีผู้สอบผ่านแล้ว 514คน ทั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุข มีเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานด้านการลงรหัสโรคผู้ป่วยมากกว่า 1,500 คน โดยสำนักนโยบายและยุทธศาสตร์เป็นหน่วยงานหลักของประเทศในการรวบรวมวิเคราะห์จำนวนและสาเหตุการป่วยและการเสียชีวิตทั่วประเทศ พร้อมทั้งควบคุมคุณภาพการให้รหัสโรคด้วย ซึ่งมีรหัสแยกรายโรครวมกว่า 30,000 รหัส ซึ่งในปี 2552 มีผู้ป่วยใช้บริการตรวจรักษาที่แผนกผู้ป่วยนอก 190 ล้านครั้ง เฉลี่ยคนไทยป่วย 2.98 ครั้งต่อคน มีผู้ป่วยที่ต้องนอนรักษาในโรงพยาบาล 13 ล้านครั้ง โดยในปี 2551 ทั่วประเทศมีผู้เสียชีวิตทั้งหมด 397,327 คน จำแนกสาเหตุการป่วยและเสียชีวิตนั้น กระทรวงสาธารณสุขได้จัดทำรายงานตามบัญชีจำแนกโรคระหว่างประเทศ พ.ศ. 2537 ซึ่งใช้เหมือนกันทั่วโลก สาเหตุหลักที่คนไทยตายมากที่สุดได้แก่มะเร็ง จำนวน 55,403 คน ส่วนสาเหตุที่คนป่วยที่ไม่ต้องนอนโรงพยาบาลที่พบมากที่สุดได้แก่โรคทางเดินหายใจเช่นไขหวัด หลอดลมอักเสบ จำนวน 26 ล้านครั้ง รองลงมาคือระบบไหลเวียนเลือดและระบบย่อยอาหาร 16 ล้านครั้ง ส่วนผู้ป่วยใน สาเหตุการป่วยอันดับ 1 ได้แก่ ความผิดปกติต่อมไร้ท่อ โภชนาการ จำนวน 7.7 แสนกว่าครั้ง รองลงมาคือความดันโลหิตสูง 7.1 แสนครั้ง เบาหวาน 5 แสนกว่าครั้ง
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook