สำรอง2.2แสนล้านรับตรุษจีน

สำรอง2.2แสนล้านรับตรุษจีน

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
เงินสะพัด2เทศกาล4หมื่นล้าน

นางจิตติมา ดุริยะประพันธ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายออกบัตรธนาคาร ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยถึงปริมาณธนบัตรสำรองในช่วงเทศกาลตรุษจีนระหว่างวันที่ 1-12 ก.พ.นี้ว่า มีมูลค่า 221,000 ล้านบาท โดยเป็นธนบัตรใหม่ 180,300 ล้านบาท ที่เหลือมูลค่า 407,000 ล้านบาท เป็นธนบัตรเก่า ซึ่งธนบัตรสำรองส่วนใหญ่จะเป็นชนิดราคา 1,000 บาท และ 100 บาท เนื่องจากชาวไทยเชื้อสายจีนนิยมใช้ในช่วงตรุษจีน เนื่องจากเป็นสีแดงถือว่าเป็นสีสิริมงคล และปีนี้คาดว่าจะมีการเบิกจ่าย 95,200 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 10% หากเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา เป็นผลมาจากภาวะเศรษฐกิจเริ่มปรับตัวดีขึ้นจึงเชื่อว่าการจับจ่ายใช้สอยและการท่องเที่ยวในช่วงตรุษจีนปีนี้จะเพิ่มขึ้น ส่วนวันวาเลนไทน์ซึ่งปีนี้ตรงกับวันตรุษจีน 14 ก.พ.นี้ ไม่มีผลต่อการเบิกจ่ายธนบัตร เพราะวันวาเลนไทน์ส่วนใหญ่เป็นการใช้จ่าย ซื้อของขวัญและของที่ระลึกมากกว่า

รายงานข่าวจากธนาคารพาณิชย์แจ้งว่า ธนาคารกสิกรไทยได้สำรองธนบัตรในช่วงตรุษจีนเป็นธนบัตรใหม่วงิน 9,000 ล้านบาทธนาคารกรุงเทพวงเงิน 30,000 ล้านบาท เป็นธนบัตรใหม่ 5,000 ล้านบาท ธนาคารไทยสำรองธนบัตรในตู้เอทีเอ็ม 8,000 ล้านบาท สาขา 6,000 ล้านบาท ซีไอเอ็มบีไทยสำรองธนบัตร 1,300 ล้านบาท ไทยพาณิชย์ธนบัตรใหม่ 6,000 ล้านบาท ผ่านเอทีเอ็มและสาขาทั่วประเทศ ขณะที่กรุงไทยสำรองธนบัตรไว้ที่ 16,900 ล้านบาท มากกว่าปีที่ผ่านมาที่สำรองธนบัตรไว้ 9,200 ล้านบาท

นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหา วิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวถึงผลสำรวจพฤติกรรมการใช้จ่ายในช่วงเทศกาลตรุษจีน และวันวาเลนไทน์ ว่า จะมีเงินสะพัดจากทั้ง 2 เทศกาลรวม 39,000-40,000 ล้านบาท แบ่งเป็นการจับจ่ายในช่วงตรุษจีน 36,264 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 4.4% และการใช้จ่ายวันวาเลนไทน์ 2,450 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 5.35% ซึ่งขยายตัวต่ำสุดในรอบ 3 ปี

บรรยากาศตรุษจีน และวาเลนไทน์ ปีนี้ไม่คึกคักนัก เพราะประชาชนยังระวังการใช้จ่าย โดยซื้อสินค้าปริมาณเท่าเดิม เพราะ ยังวิตกเรื่องของแพง การฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่ยังไม่ชัดเจน รวมถึงความวิตกจากปัญหาการเมือง จึงไม่ใช่ข่าวดีของพ่อค้าแม่ค้ามากนัก เพราะสินค้ายังขายยาก และการที่ทั้ง 2 เทศกาลใหญ่อยู่ตรงวันเดียวกัน ไม่ใช่แรงหนุนสำคัญให้เกิดการใช้จ่ายมาก เพราะกำลังซื้อทั้ง 2 เทศกาลจะแย่งกันเอง คนส่วนใหญ่ยังเลือกที่จะใช้จ่ายแค่เทศกาลเดียว เช่น คนทำงาน ผู้ใหญ่เลือกใช้จ่ายตรุษจีน แต่วัยรุ่นจะใช้จ่ายวาเลนไทน์ ซึ่งหากทั้ง 2 วันไม่ตรงกันน่าจะกระตุ้นกำลังซื้อได้ดีกว่า

สำหรับพฤติกรรมใช้จ่ายช่วงตรุษจีน จะใช้จ่ายเพื่อการเซ่นไหว้มากที่สุดที่คนละ 2,486 บาท รองลงมาคือทำบุญ 1,367 บาท และซื้อสินค้าอุปโภคบริโภค 2,873 บาท ส่วนผู้ตอบแบบสอบถาม 57% ระบุซื้อสินค้าปริมาณเท่าเดิม แต่อีก 33% ระบุลดการใช้จ่าย เพราะของมีราคาแพงขึ้น.

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook