มหาจุฬาฯรื้อหลักสูตรพุทธทั้งประถม-มัธยม

มหาจุฬาฯรื้อหลักสูตรพุทธทั้งประถม-มัธยม

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
ปรับรูปแบบการสอนล้างภาพน่าเบื่อ เน้นปฏิบัติใช้ประโยชน์ในชีวิตได้จริง

พระธรรมโกศาจารย์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณ ราชวิทยาลัย (มจร.) เปิดเผยว่า กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ได้มอบหมายให้ มจร. ปรับปรุงหลักสูตรวิชาพระพุทธศาสนา เพื่อให้การเรียนการสอนวิชาพระพุทธศาสนาในโรงเรียนเป็นไปในทิศทางเดียวกัน และสอดคล้องกับสภาพของท้องถิ่นนั้น ๆ เนื่องจากที่ผ่านมาแต่ละโรงเรียนพบปัญหาการเรียนการสอนพระพุทธศาสนา 2 เรื่อง คือ 1.จัดเวลาเรียนน้อย และในระดับ ม.ปลาย โดยเฉพาะชั้น ม.5-6 มีการสอนสังคมศึกษาแบบรวม ๆ โดยไม่ได้มีการสอนวิชาพระพุทธ ศาสนาเป็นการเฉพาะ และ 2.หลักสูตรไม่ทันสมัย เด็กเรียนแล้วรู้สึกเบื่อ ซึ่งขณะนี้ มจร. ได้ปรับปรุงหลักสูตรวิชาพระพุทธศาสนาฉบับใหม่เสร็จเรียบร้อยแล้ว และจะเริ่มใช้ในเดือนพฤษภาคมนี้

พระธรรมโกศาจารย์ กล่าวต่อไปว่า เนื้อหาหลักสูตรการเรียนการสอนวิชาพระพุศาสนาฉบับใหม่จะใช้หลักของภาวนา 4 คือ กายภาวนา หมายถึง พฤติกรรม ร่างกายที่แข็งแรง ศีลภาวนา หมายถึง หลักการอยู่ร่วมกับผู้อื่น จิตภาวนา หมายถึง สุขภาพจิตที่ดี ปัญญา หมายถึง การรู้ เข้าใจ สิ่งที่เกิดขึ้น และทางแก้ปัญหา เป็นแกนหลัก ควบคู่กับการทำกิจกรรมพัฒนาผู้เรียนมากขึ้น รวมทั้งจะมีการฝึกวิธีคิดให้แก่เด็ก ซึ่งในระดับชั้นป.1-3 จะเน้นเรื่องการบริหารจิตเจริญปัญญา เช่น การร้องเพลงสร้างสมาธิ เป็นต้น ชั้นป.4-6 เน้นการปฏิบัติตนเองการเป็นชาวพุทธที่ดี การเป็นคนดีควรทำอย่างไร ม.1-3 เรียนรู้เรื่องของการเข้าสังคมร่วมกับผู้อื่น และระดับชั้นม.4-6 จะเน้นนักเรียนให้เรียนรู้เพื่อพัฒนาตนเองศึกษาต่อ ทั้งนี้หลักสูตรใหม่ยังคงจะต้องมีเรียนพุทธประวัติ หน้าที่ชาวพุทธ และหลักธรรมคำสอนเป็นความรู้พื้นฐาน เพื่อให้เด็กเกิดความศรัทธาในพระพุทธศาสนาด้วย

สิ่งที่เราจะเน้นในหลักสูตรใหม่ คือ กิจกรรมพัฒนาผู้เรียนที่มีมากขึ้นเพื่อให้เด็กได้เห็นของจริงที่จะนำไปใช้กับชีวิตประจำวันได้ โดยเฉพาะนักเรียนม.1-3 นั้น หลักสูตรใหม่จะเน้นให้ได้เรียนรู้ว่าอะไรควรเชื่อและอะไรไม่ควรเชื่อ โดยนำหลักเหตุผลทางพระพุทธ ศาสนามาสอน พร้อมยกตัวอย่างที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน เช่น การไม่หลงเชื่อคนในเว็บไซต์จนเป็นเหตุไปสู่การถูกหลอกลวง เป็นต้น ส่วนในระดับม.4-6 จะเน้นกิจกรรมที่ทำให้เด็กรู้ตัวตนของตนเองมากขึ้น เช่น คิดว่าตนเองชอบอะไรอยากเป็นอะไร อยากที่จะศึกษาต่อด้านไหน เป็นต้น ซึ่งอาตมาหวังว่าการปรับหลักสูตรวิชาพระพุทธศาสนาครั้งนี้น่าจะช่วยให้เด็กไทย มีคุณธรรม จริยธรรม และรู้จักคิดแก้ปัญหาของตนเองได้มากขึ้น อธิการบดีมจร.กล่าว.

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook