พบฟอสซิล ลิงสยาม เก่าสุดของโลก

พบฟอสซิล ลิงสยาม เก่าสุดของโลก

พบฟอสซิล ลิงสยาม เก่าสุดของโลก
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

กรมธรณีเผยพบฟอสซิล ลิงสยาม เก่าสุดของโลก 35 ล้านปีที่ จ.กระบี่ แกะรอยต่อหวังต่อยอดทางวิชาการ

วันนี้(6 ม.ค.) นายอดิศักด์ ทองไข่มุกต์ อธิบดีกรมทรัพยากรธรณี กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เปิดเผยในงานวันสถาปนากรมทรัพยากรธรณีครบรอบ 118 ปี ว่า ขณะนี้มีเรื่องน่ายินดีอีกครั้งในแวดวงธรณีวิทยาของไทย เนื่องจากนักวิจัยของกรมฯได้ค้นพบซากดึกดำบรรพ์ไพรเมตชั้นสูงอายุ 35 ล้านปี ที่เหมืองถ่านหินเหนือคลอง จ.กระบี่ ชื่อ สยามโมพิเธคัส อีโอซีนัส (Siamopithecus eocaenus) หรือ "ลิงสยาม" เป็นชิ้นส่วนกรามล่างด้านขวาพร้อมฟัน และกรามบน 2 ข้างที่มีกระดูกเบ้าตาติดอยู่ ทั้งนี้ถือเป็นซากดึกดำบรรพ์ไพรเมตชั้นสูงที่มีความสมบูรณ์ที่สุดเท่าที่เคยสำรวจพบมา และถือว่ามีอายุเก่าแก่ที่สุดของโลก ซึ่งผลการศึกษาได้รับการยอมรับ และได้ตีพิมพ์เผยแพร่ผลการศึกษาในวารสารวิทยาศาสตร์ Anatomical Record ฉบับที่ 292 หน้าที่ 1734-1744 เมื่อเดือน พ.ย. 2552

นายอดิศักดิ์ กล่าวอีกว่า อย่างไรก็ตามลิงสยามถูกค้นพบมาตั้งแต่ปี 2538 โดยพบเพียงชิ้นส่วนของกรามบนและกรามล่างพร้อมฟันเพียงไม่กี่ซี่เท่านั้น และได้ตีพิมพ์เผยแพร่การค้นพบนี้ในวารสารวิทยาศาสตร์ เนเจอร์ เมื่อปี 2540 เนื่องจากเป็นลิงชนิดใหม่ของโลก และเป็นบรรพบุรุษของไพรเมตชั้นสูง ซึ่งรวมถึงลิงมีหาง ลิงไม่มีหาง และมนุษย์ มีขนาดเท่าชะนี น้ำหนักตัวประมาณ 6-7 กก. อยู่ในตระกูลแอมฟิพิเธซิเด (Amphipithecidae) ต่อมาในปี 2539 น.ส. ศศิธร ขันสุภา นักธรณีวิทยาชำนาญการ สำนักวิจัยซากดึกดำบรรพ์และพิพิธภัณฑ์ธรณีวิทยา กรมทรัพยากรธรณี ได้สำรวจพบซากดึกดำบรรพ์เพิ่มเติม โดยพบกรามล่างด้านขวาพร้อมฟันที่สมบูรณ์ และชิ้นส่วนกรามบน 2 ข้างพร้อมฟัน และมีกระดูกเบ้าตาติดอยู่ด้วยกัน โดยซากที่ค้นพบครั้งนี้มีความบอบบางมากถูกบีบอัดจนแบนอยู่ในชั้นถ่านหินยากที่จะแกะเอาออกมาให้มีในสภาพสมบูรณ์ได้โดยไม่ชำรุดเสียหาย

ด้านนางเยาวลักษณ์ ชัยมณี นักธรณีวิทยาชำนาญการพิเศษ กรมทรัพยากรธรณี กล่าวว่า จากการศึกษาตัวอย่างฟอสซิลที่ค้นพบ โดยนำตัวอย่างทั้งหมดสแกน โดยใช้เครื่องมือไมโคร CT scan และใช้โปรแกรมด้านคอมพิวเตอร์ 3 มิติ ช่วยในการศึกษา ทำให้ได้ภาพเหมือนจริงของตัวอย่างซากดึกดำบรรพ์ดังกล่าว ผลการศึกษาวิจัยครั้งนี้ ยืนยันว่าลิงสยามเป็นบรรพบุรุษของไพรเมตชั้นสูง ต้นสายพันธุ์ของลิงมีหาง เอป และมนุษย์ มีวิวัฒนาการสูงมาก มีใบหน้าหดสั้น เบ้าตาอยู่ข้างหน้า และอยู่ชิดกัน คล้ายคลึงชะนีปัจจุบัน เป็นสัตว์ที่หากินกลางวัน และกินอาหารค่อนข้างแข็ง รวมทั้งเป็นหลักฐานยืนยันว่าไพรเมตชั้นสูงมีกำเนิดและวิวัฒนาการในทวีปเอเชีย ทั้งนี้ไพรเมตชั้นสูงในประเทศไทย พบเฉพาะที่เหมืองถ่านหินเหนือคลอง จ.กระบี่ เท่านั้น

"การค้นพบครั้งนี้ นับเป็นหลักฐานชิ้นสำคัญที่เน้นย้ำว่าทวีปเอเชียเป็นแหล่งสำคัญที่มีไพรเมต และเอป ซึ่งเป็นต้นตระกูลของมนุษย์ และล้มล้างทฤษฎีเก่าว่าไพรเมต และเอปมีถิ่นกำเนิดจากแอฟริกา ซึ่งก่อนหน้านี้เคยมีรายงานการค้นพบซากฟอสซิลไพรเมตอายุ 32 ล้านปีเท่านั้น รวมทั้งที่ผ่านมาในทวีปเอเชีย คือ จีน พม่า ก็เคยพบไพรเมตชั้นสูงแต่เป็นคนละชนิดกับลิงสยามที่พบในไทย ดังนั้นจึงกล่าวได้ว่าลิงสยามของไทย มีความสมบูรณ์มากที่สุดของโลกของสายพันธุ์ลิงชนิดดังกล่าว ทั้งนี้ทีมนักธรณีวิทยายังคงแกะรอยเหมืองถ่านหินแห่งนี้อย่างต่อเนื่องมาตลอด 10 ปี โดยคาดหวังว่าอาจจะเจอซากฟอสซิลส่วนอื่นๆ ทั้งตัวลิง เพื่อที่นำมาต่อยอดทางวิชาการต่อไป " นางเยาวลักษณ์ กล่าว

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook