อิสราเอลพบ "ลูกเต๋ากระดูกข้อนิ้ว" เก่าแก่ 2,300 ปี ใช้ประกอบพิธีทำนายโชคชะตา
เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา (16 ส.ค.) องค์การโบราณวัตถุอิสราเอล เปิดเผยการค้นพบชุดลูกเต๋าทำจากกระดูกข้อนิ้วหรือ “แอสตรากาลี” (astragali) จำนวน 530 ชิ้น สำหรับเล่นเกมและทำนายโชคชะตา อายุราว 2,300 ปี จากถ้ำใต้ดินขนาดใหญ่ทางตอนใต้ของภูมิภาคเชิงเขาจูเดีย ซึ่งเป็นที่ตั้งของมาเรชา (Maresha) เมืองในสมัยเฮลเลนิสติก (Hellenistic)
คณะนักโบราณคดีจากมหาวิทยาลัยชั้นนำหลายแห่งของอิสราเอล ระบุว่า กระดูกของแพะ แกะ และวัวควายเหล่านี้ ส่วนใหญ่ถูกใช้เป็นลูกเต๋าโดยผู้หญิงและเด็กเป็นหลัก สำหรับเล่นเกมและประกอบพิธีทำนายโชคชะตา โดยกระดูกบางส่วนถูกเหลา เจาะรู หรือเติมตะกั่ว เพื่อโยนเป็นลูกเต๋าได้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
ลูกเต๋าหลายสิบชิ้นปรากฏจารึกภาษากรีก ซึ่งรวมถึงชื่อของเทพและเทพีที่เกี่ยวกับการขอพรและความปรารถนาของมนุษย์ในยุคโบราณ อาทิ อะโฟรไดต์ (Aphrodite) อีรอส (Eros) เฮอร์มีส (Hermes) เฮรา (Hera) และไนกี (Nike) ขณะลูกเต๋าชิ้นอื่นๆ ปรากฎจารึกอธิบายวิธีการเล่นและบทบาทในเกม เช่น “โจร” “หยุด” และ “เจ้าถูกเผา” เป็นต้น
ลี เพอร์รี-กัล นักโบราณคดีสัตว์ กล่าวว่า ลูกเต๋าเหล่านี้สะท้อนว่ายุคโบราณที่เต็มไปด้วยความลำบากและความไม่แน่นอน ผู้คนต่างแสวงหาความช่วยเหลือจากปัจจัยภายนอก อย่างเวทมนตร์ คาถา และโลกลี้ลับ โดยมีการใช้ “แอสตรากาลี” เพื่อเล่นเกม และยังมีการพบตัวอย่างเด็กที่ถูกฝังพร้อมลูกเต๋าลักษณะคล้ายกัน ด้วยความเชื่อว่าเด็กจะได้ใช้ลูกเต๋าในภพภูมิหน้า