กลุ่มศิลปินพื้นบ้านตรัง เรียกร้องจังหวัดให้ความสำคัญกับศิลปะประจำถิ่นเพิ่มขึ้น
คำที่ถูกค้นบ่อย
    Sanook//s.isanook.com/sr/0/images/logo-new-sanook.png60060

    กลุ่มศิลปินพื้นบ้านตรัง เรียกร้องจังหวัดให้ความสำคัญกับศิลปะประจำถิ่นเพิ่มขึ้น

    2009-12-14T17:45:31+07:00
    แชร์เรื่องนี้
    กลุ่มศิลปินหนังตะลุงจังหวัดตรัง เรียกร้องผู้รับผิดชอบในจังหวัดตรัง ให้ความสำคัญกับหนังตะลุงมโนราห์ ซึ่งเป็นศิลปะประจำถิ่นมากขึ้น หลังได้เข้าร่วมการแสดงในงานเฉลิมพระชนมพรรษา เพียง 2 คืนจากการจัดงาน 10 คืน กลุ่มศิลปินพื้นบ้านจังหวัดตรัง นำโดยหนังตะลุงอาจารย์ณรงค์ ตะลุงบัณฑิต หรือนายณรงค์ จันทร์พุ่ม หนังตะลุงชื่อดังของภาคใต้ เปิดเผยว่า การจัดงานเฉลิมพระชนมพรรษา ฉลองรัฐธรรมนูญ และงานกาชาดประจำปีของจังหวัดตรังปีนี้ กลุ่มศิลปินพื้นบ้านจังหวัดตรังไม่ได้รับความสำคัญเท่าที่ควรโดยทางผู้จัดงานได้จัดให้มีการแสดงหนังตะลุงเพียง 2 คืนเท่านั้น ส่วนมโนราห์แม้จะมีการแสดงทุกคืน แต่ก็มีเพียงคณะเดียวและเป็นคณะที่มาจากต่างจังหวัด ซึ่งผิดกับปีก่อน ๆ ที่มีหนังตะลุงและมโนราห์ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันมาแสดงทุกคืนตลอดงาน นายณรงค์ จันทร์พุ่ม ซึ่งเป็นตัวแทนของกลุ่มศิลปินพื้นบ้านจังหวัดตรัง กล่าวว่า การออกมาแถลงผ่านสื่อครั้งนี้ ไม่ได้ต้องการตำหนิใคร แต่ต้องการให้ผู้รับผิดชอบได้เห็นความสำคัญของศิลปะพื้นบ้านในจังหวัดตรัง ซึ่งเป็นวัฒนธรรมทางสังคมที่อยู่คู่กับจังหวัดตรังมายาวนาน เช่นเดียวกับศิลปะพื้นบ้านของภาคอื่น ๆ ที่ได้รับการสืบทอดและส่งเสริมจากภาคส่วนต่าง ๆ อย่างเข้มแข็ง แต่ไม่ค่อยปรากฏที่จังหวัดตรัง ทั้ง ๆ ที่ปัจจุบันจังหวัดตรังเป็นต้นแบบของการแสดง ทั้งหนังตะลุงและมโนราห์ และมีคณะศิลปินแต่ละประเภทอยู่ไม่น้อยกว่า 50 คณะที่ยังทำการแสดงสร้างความบันเทิง และถ่ายทอดเรื่องราววิถีชีวิตของท้องถิ่นแก่เยาวชนและประชาชนตลอดมา นายณรงค์ กล่าวด้วยว่า งานเฉลิมพระชนมพรรษา ฉลองรัฐธรรมนูญ ของจังหวัดตรัง เป็นงานเทศกาลที่อยู่คู่กับจังหวัดตรังมายาวนานกว่า 70 ปี ซึ่งถือว่าเป็นงานมหรสพ ที่ยิ่งใหญ่สุดของจังหวัดตรังและเป็นอัตลักษณ์เฉพาะไม่เหมือนจังหวัดอื่น ๆ เปรียบเหมือนงานประเพณีบุญเดือน 10 ของจังหวัดนครศรีธรรมราช ที่เป็นความภาคภูมิใจของผู้คนทั่วทั้งจังหวัด ซึ่งควรจะให้ทุกภาคส่วนเข้าไปมีส่วนร่วมอย่างเต็มที่ โดยเฉพาะงานที่เกี่ยวข้องกับวัฒนธรรม เพราะถือเป็นมรดกของชาติ ที่ไม่ควรเอาผลกำไรมาเป็นตัวกำหนดว่าควรจะมีพื้นที่ให้กับหนังตะลุง และมโนราห์ รวมทั้งศิลปะท้องถิ่นแขนงอื่น ๆ ได้ทำหน้าที่ของตัวเองต่อไปหรือไม่