ปัญหามาบตาพุดบทเรียนสำคัญ

ปัญหามาบตาพุดบทเรียนสำคัญ

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
นายกฯสอนพัฒนา''ศก.''

อภิสิทธิ์รับปัญหามาบตาพุดเป็นบทเรียนสำคัญสอนทุกฝ่ายพัฒนาเศรษฐกิจต้องเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ร่วมรับภาระจัดการเรื่องสิ่งแวดล้อม กอร์ปศักดิ์ ดันเอกชนติดป้ายโชว์ความผิด พร้อมตีกลับแผนตั้งสถานีวัดคุณภาพอากาศ ชี้ไม่ชัดเจน-ใช้งบสูงเกิน ด้าน ขุนคลัง หวั่นคำสั่งศาลระงับโครงการมาบตาพุด กระทบสถาบันการเงินเจ้าหนี้ จี้ทำอีไอเอ เชื่อทุกโครงการมีสิทธิเดินต่อได้ ฟาก กนอ. ร่อนหนังสือระงับโครงการตามคำสั่งศาล ส่วนเอกชนน้อมรับคำสั่ง เร่งหารือหน่วยงานเกี่ยวข้อง หาแนวทางปฏิบัติกระทบน้อยสุด

ตามที่ศาลปกครองสูงสุด มีมติแก้คำสั่งคุ้มครองชั่วคราวให้ 11 โครงการมาบตาพุด จ.ระยอง เดินหน้าต่อได้ และให้ระงับอีก 65 โครงการต่อไปนั้น ความคืบหน้า เมื่อวันที่ 3 ธ.ค. ที่โรงแรมเซ็นทารา แกรนด์ เซ็นทรัลเวิลด์ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี กล่าวปาฐกถาพิเศษหัวข้อ ยุทธศาสตร์ประเทศไทย Thailand Green Strategy ตอนหนึ่งว่า จากนี้ไปเอกชนที่จะลงทุน จะต้องพิจารณาเรื่องการพัฒนาอุตสาหกรรมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม บทเรียนสำคัญที่เราเห็นในขณะนี้คือ ปัญหานิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด เป็นตัวอย่างชัดเจน การพัฒนาพื้นที่มาบตาพุด หรือบริเวณชายฝั่งทะเลภาคตะวันออก เดิมมีการวางแผนค่อนข้างครอบคลุมในการดูแลสิ่งแวดล้อม แต่เกิดปัญหาย่อ หย่อนเรื่องของผังเมือง และการบังคับใช้กฎหมาย จนนำไปสู่ปัญหาความขัดแย้งระหว่างประชาชน ส่วนหนึ่งที่ได้รับความเดือดร้อนหรือความทุกข์ในเรื่องคุณภาพชีวิต มาเผชิญหน้ากับกระบวนการพัฒนาอุตสาหกรรม

นายกฯ กล่าวต่อว่าเมื่อวันที่ 1 ธ.ค. ที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรีอนุมัติเงินอีกเกือบพันล้านบาท เพื่อใช้สะสางปัญหาเดิม ๆ ที่ไม่ได้รับการแก้ไขมานับสิบปี เช่น เรื่อง บริการสาธารณสุข การขยายบริการน้ำประปาให้ประชาชนในพื้นที่ได้มีน้ำดื่มน้ำใช้ ทั้งนี้ยังไม่นับการเข้าไปช่วยดูแลผู้รับผลกระทบจากการแย่งชิงทรัพยากรน้ำ อย่างไรก็ตาม การแก้ปัญหาความขัดแย้งดังกล่าวต้องมีกติกา ยืนยันว่ารัฐบาลต้องการดำเนินการตามรัฐธรรมนูญในเรื่องของสิทธิของชุมชน และแก้ไขปัญหานี้อย่างยั่งยืน แต่กรณีที่เกิดขึ้น เมื่อศาลมีคำวินิจฉัยที่อาจใช้ดุลพินิจแตกต่างจากหน่วยงานของรัฐในเรื่องของโครงการที่มีผลกระทบรุนแรงหรือไม่ เมื่อศาลมีคำวินิจฉัยชัดเจนแล้วก็เป็นหน้าที่ฝ่ายบริหารที่ต้องเร่งดำเนินการให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญที่จะดูแลเรื่องของผลกระทบด้าน สุขภาพและสิ่งแวดล้อม รวมถึงให้ประชาชนพื้นที่มีส่วนร่วม

ด้านนายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการพัฒนาพื้นที่บริเวณชายฝั่งทะเลภาคตะวันออก (อีสเทิร์นซีบอร์ด) ว่า ที่ประชุมได้หารือแผนงานพัฒนาระบบเฝ้าระวังคุณภาพสิ่งแวดล้อมในพื้นที่มาบตา พุดและบริเวณใกล้เคียง จ.ระยอง และสั่งการให้การนิคมอุตสาหกรรม (กนอ.) ไปหารือกับผู้ประกอบการในนิคมอุตสาหกรรม และพื้นที่ใกล้เคียง ให้ขึ้นป้ายแสดงการถูกเตือนจากกรมควบคุมมลพิษ ว่าในแต่ละเดือนถูกเตือนเรื่องมลพิษแล้วกี่ครั้ง ให้ชุมชนรับทราบเพื่อแสดงความตั้งใจจริง โดยที่ประชุมเห็นว่าจากนี้ไปทุกโรงงานจะต้องแจ้งให้กรมควบคุมมลพิษทราบทุกครั้งหลังจากที่ไม่เคยแจ้งมาก่อน

นายกอร์ปศักดิ์ กล่าวต่อว่านอกจากนี้ที่ประชุมยังเห็นชอบให้กรมควบคุมมลพิษ กรมโรงงานอุตสาหกรรม และ กนอ.กลับไปจัดทำรายละเอียดโครงการจัดตั้งสถานีวัดคุณภาพอากาศมาใหม่อีกครั้ง เพราะยังไม่ชัดเจน และใช้งบประมาณสูงถึง 250 ล้านบาท จากเดิมใช้เพียง 16 ล้านบาท และให้ไปหารือกับประชาชนในพื้นที่ว่า ต้องการนำไปวางที่จุดใดเพื่อให้ตรงความต้องการ ซึ่งมาตรการทั้งหมดเป็นหนึ่งในวิธีการให้ผู้ประกอบการให้ความร่วมมือแก้ปัญหามลพิษ หากทำได้จะเป็นผลดี และแนวทางการดำเนินอุตสาหกรรมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมก็เกิดขึ้นได้

นายกรณ์ จาติกวณิช รมว.คลัง เปิดเผยว่า กรณีศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษาโครงการในมาบตาพุด อาจทำให้สถาบันการเงินต้องเจรจากับลูกหนี้เจ้าของโครงการ เพื่อยืดเวลาชำระเงินออกไป เนื่องจากคำตัดสินอาจกระทบกระแสเงินสดของลูกหนี้ แต่ยังเชื่อว่าทุกโครงการยังมีความเป็นไปได้ และดำเนินการได้ต่อ หากผ่านการพิจารณากระบวน การสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) จึงไม่น่าจะกระทบต่อฐานะสถาบันการเงินที่ให้กู้มากนัก ขั้นตอนต่อไปสำหรับ 65 โครงการ ต้องเร่งทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม เพื่อให้ทุกโครงการกลับสู่กระบวนการและเดินหน้าต่อได้

ด้านนายประสาน ตันประเสริฐ ประธาน กรรมการ กนอ.กล่าวว่าเตรียมทำหนังสือส่งให้ผู้ประกอบการเอกชนทั้ง 53 โครงการที่ กนอ. ดูแล ให้ระงับก่อสร้างและดำเนินกิจการเชิงพาณิชย์ตามคำสั่งศาลปกครองสูงสุดภายในสัปดาห์นี้ ส่วนที่ไม่ได้แจ้งให้ระงับช่วงก่อนหน้านี้ เพราะ กนอ.ไม่มีอำนาจสั่งระงับจึงจำเป็นต้องนำคำสั่งศาลไประงับเอกชนก่อน ขณะเดียวกันวันที่ 4 ธ.ค.นี้ จะเชิญผู้ประกอบการเอกชนที่ได้รับผลกระทบเข้ามาหารือร่วมกันแก้ปัญหา หากภาคเอกชนจะฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายกับ กนอ. ที่ออกใบอนุญาตก่อสร้างและดำเนินกิจการก็ทำได้ แต่ที่ผ่านมา กนอ.ได้ทำตามกระบวนการของกฤษฎีกาแล้ว

นายชายน้อย เผื่อนโกสุม กรรมการ ผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท.อะโรเมติกส์และการกลั่น จำกัด (มหาชน) หรือ พีทีทีเออาร์ กล่าวว่า ผู้บริหารกลุ่ม ปตท.ได้หารือกัน หลัง ศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งเรื่องมาบตาพุด โดย พร้อมปฏิบัติตามคำสั่งศาล เดิมโครงการของ ปตท.มี 25 โครงการ เงินลงทุน 1.3 แสนล้านบาท จากทั้งหมด 76 โครงการ แต่หลัง มีคำสั่งศาลสูงสุดทำให้โครงการส่วนใหญ่ของ ปตท. เดินหน้าต่อไปได้ ส่วนโครงการที่ได้รับผลกระทบมีมูลค่ารวม 6 หมื่นล้านบาท

ด้านนายรุ่งโรจน์ รังสิโยภาส ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) หรือเอสซีซี แจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ว่าหลังศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งให้ 11 โครงการ ดำเนินการต่อไปได้ ที่เหลืออีก 65 โครงการให้ระงับไว้ตามคำสั่งของศาลปกครองกลาง พบว่ามีชื่อโครงการในกลุ่มบริษัทเอสซีจี เคมิคอลส์ ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของเอสซีซี 18 โครงการ ที่จะถูกระงับชั่วคราว จากเดิม 20 โครงการตามรายชื่อยื่นฟ้องทั้งหมด 76 โครงการ ซึ่ง 18 โครงการ เป็นโครงการใหม่ ขอขยายกำลังการผลิต หรือขอเปลี่ยนแปลงรายละเอียดของโครงการ เงินลงทุนรวม 57,500 ล้านบาท

ขณะที่นายประเสริฐ บุญสัมพันธ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัด การใหญ่ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ใน 11 โครงการที่ให้ดำเนินการต่อได้ เป็นโครงการของ ปตท. และกลุ่ม ปตท. 7 โครงการ ประกอบด้วยบริษัท ปตท. โครง การโรงแยกก๊าซธรรมชาติ หน่วยที่ 6, บริษัท ปตท. อะโรเมติกส์และการกลั่น หรือ ปตท. เออาร์ มีโครงการเชื้อเพลิงสะอาดและปรับปรุงคุณภาพผลิตภัณฑ์ โครงการติดตั้งระบบควบคุมไอน้ำมันเชื้อเพลิงและเพิ่มประเภทผลิตภัณฑ์ไบโอดีเซล, บริษัท ปตท.เคมิคอล มีโครงการเปลี่ยนแปลงรายละเอียด โครงการท่าเทียบเรือและคลังผลิตภัณฑ์ โครงการปรับปรุงระบบหมุนเวียนก๊าซกลับคืนของโรงงานผลิตเม็ดพลาสติกชนิด, บริษัท เอ็ชเอ็มซี โปลีเมอส์ โครงการโพลิโพรพิลีน และบริษัท สตาร์ ปิโตรเลียม รีไฟน์นิ่ง โครงการผลิตเชื้อเพลิงสะอาด ติดตั้งหน่วยควบคุมไอน้ำมันเชื้อเพลิง และเพิ่มประเภทผลิตภัณฑ์ไบโอดีเซล

บทวิเคราะห์ บล.ฟินันเซีย ไซรัส ระบุว่า ในแง่เลวร้ายสุดหากต้องเลื่อนโครงการ ไป 1 ปีจะกระทบกำไรบริษัทที่เกี่ยวข้องร้อยละ 20-30 โดย ปตท.เคมิคอล ได้รับผลกระทบหนักสุด (กำไรลด 27 เปอร์เซ็นต์ ราคาเป้าหมายเหลือ 72 บาท จากเดิม 95 บาท) ขณะที่ราคาเป้าหมายของ ปตท. จะลดลงเป็น 265 บาท ปตท.เออาร์ เหลือ 22 บาท และปูนซิเมนต์ไทย เหลือ 209 บาท และยังได้รับผลจากการถือหุ้นร้อยละ 20 ใน ปตท.เคมิ คอล ด้วย ส่วนธนาคารที่ปล่อยสินเชื่อในโครงการมาบตาพุดมากสุดคือธนาคารกรุงไทย.

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook